>>>>> ถ้ายังรัก ก็ต้องยังไหว ...... แล้วตอนนี้ไหวหรือเปล่า <<<<<
Group Blog
 
<<
เมษายน 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
19 เมษายน 2551
 
All Blogs
 
ปิดตำนานบริการโทรเลข

ถึงเวลาเกษียณรหัส 'มอร์ส'

30 เม.ย. 2551 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะยกเลิกการให้บริการโทรเลขอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ !!! ปิดตำนานบริการโทรเลขที่ให้บริการมากว่า 133 ปี (พ.ศ. 2418-พ.ศ. 2551)

สาเหตุก็เพราะทนแบกรับค่าใช้จ่ายเดือนละ 25 ล้านบาท เพื่อจ้างบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้เป็นผู้ให้บริการไม่ไหว ทั้งเป็นกิจการที่ไม่ทำกำไรและมีผู้ใช้บริการโทรเลขลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริการโทรเลขเคยมียอดผู้ใช้สูงสุดอยู่ที่ปีละ 3 ล้านฉบับ หรือเฉลี่ยเดือนละ 2.5 แสนฉบับ แต่ปัจจุบันมียอดใช้งานวันละไม่ถึง 100 ฉบับ หรือประมาณปีละ 4,000 ฉบับ และมีรายได้เพียงเดือนละ 5,000 บาท โดยข้อความในโทรเลขส่วนใหญ่เป็นจดหมายทวงหนี้!

นายขจรศักดิ์ สิงหเสนี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (สายงานกลยุทธ์องค์กร) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ไม่มีบริษัทผลิตเครื่องโทรเลขเพื่อใช้งานแล้ว ดังนั้นประเทศไทยจึงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พีซีแทนเครื่องโทรเลข โดยเขียนโปรแกรมให้ทำหน้าที่เหมือนโทรเลข โดยเครื่องโทรเลขที่ยังเหลืออยู่อาจส่งขายต่อให้กับประเทศที่ยังเปิดให้บริการโทรเลข อาทิ ซาอุดีอาระเบีย และ มาเลเซีย



กำเนิดโทรเลขในประเทศไทย

สำหรับสังคมไทยรู้จักโทรเลขในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงมีพระราชดำริให้จัดทำไปรษณีย์ขึ้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่าง วงศ์ ร่วมกับเจ้าหมื่นเสมอใจราช เตรียมการต่าง ๆ เพื่อเปิดทำการไปรษณีย์

โดยโทรเลขถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2418 จากการที่รัฐบาลไทยมอบหมายให้กรมกลาโหมสร้าง ทางสายโทรเลขสายแรก จากกรุงเทพฯ ไปปากน้ำ (จ.สมุทรปราการ)

กระทั่งปี พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมโทรเลขขึ้นเพื่อรับช่วงงานโทรเลขต่อจากกรมกลาโหม ซึ่งกิจการโทรเลขในประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นอย่างเป็นลำดับ

จนเข้าสู่ยุควิทยุโทรเลขในประเทศไทย ซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยจอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารเรือและได้มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุโทรเลขแบบมาร์โคนีใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 โดยวิทยาการด้านวิทยุรู้จักแพร่หลายมากขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยุโทรเลข พ.ศ. 2457 โดยกำหนดให้กรมไปรษณีย์โทรเลขมีอำนาจหน้าที่ในการตั้งเครื่องและใช้วิทยุโทรเลข วิทยุโทรศัพท์ในประเทศไทย และให้ข้าราชการทหารเรือทำความตกลงกับกรมไปรษณีย์โทรเลขให้ประชาชนใช้วิทยุโทรเลขได้

ปี พ.ศ. 2471 กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลขเปิดการสื่อสารทางวิทยุโทรเลขโดยตรงกับทวีปยุโรป โดยติดต่อกับกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถส่งข่าวสารทางโทรเลขกับต่างประเทศด้วยคลื่นวิทยุ โดยไม่ต้องอาศัยประเทศต่าง ๆ ให้ช่วยถ่ายทอดโทรเลขอีกต่อหนึ่ง

เดิมนั้นการส่งโทรเลขจากประเทศไทยไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปต้องอาศัยส่งผ่านทางสายโทรเลข ของต่างประเทศ เช่น จากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่ เข้าประเทศมาเลเซีย ซึ่งอังกฤษปกครอง หรือ จากกรุงเทพฯ ผ่านแม่สอดเข้าประเทศพม่า ซึ่งทำให้เสียเวลาและล่าช้ามาก

สำหรับการเปิดการสื่อสารทางวิทยุโทรเลขกับต่างประเทศครั้งแรกโดยไม่ต้องผ่านประเทศอื่น ๆ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงกระทำพิธีเปิด

ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2490-2496 กรมไปรษณีย์โทรเลขเปิดการติดต่อทางวิทยุโทรเลขกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ได้แก่ เวียดนาม, ไต้หวัน, อินเดีย, ญี่ปุ่น และเดนมาร์ก

ในปี พ.ศ. 2496 นายสมาน บุณยรัตพันธ์ นายช่างโทรเลขของไทยได้คิดค้นเครื่องโทรพิมพ์ภาษาไทยได้สำเร็จ โดยคิดระบบกลไก (SPACING CONTROL MECHANISM) ต่อมาได้ผลิตเครื่องโทรพิมพ์ทำงานได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเครื่องเดียว โดยใช้ชื่อว่า “เครื่อง โทรพิมพ์ไทยแบบ S.P.”

กรมไปรษณีย์โทรเลขได้รับรองเครื่องพิมพ์ไทยแบบ S.P. ในปี พ.ศ. 2498 และเริ่มสั่งสร้างเครื่องโทรพิมพ์ไทยจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาใช้งานรับ-ส่งโทรเลขเป็นรุ่นแรก ระหว่างกรุงเทพฯ-นครสวรรค์, กรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์-เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2500 ซึ่งต่อมาได้ขยายการรับ-ส่งโทรเลขโดยใช้เครื่องโทรพิมพ์ออกไปทั่วประ เทศ

อุปกรณ์โทรเลขต่าง ๆ ได้ดำเนินการติดตั้งปี พ.ศ. 2504 และเปิดรับ-ส่งใช้งานโทรเลขติดต่อกับต่างประเทศด้วยวงจร HF 1 ARQ เป็นต้นมา โดยเริ่มทำการติดต่อกับโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เป็นวงจรแรก

พ.ศ. 2520 กรมไปรษณีย์โทร เลขได้โอนส่วนปฏิบัติการบริการโทรคมนาคมของประเทศไปอยู่ในความรับผิดชอบของการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นผลให้การให้บริการขยายตัวออกไปอย่าง กว้างขวาง

การสื่อสารแห่งประเทศไทยได้ทำการปรับปรุงและเปลี่ยนระบบการรับ-ส่งโทรเลขในประเทศ และระหว่างประเทศจากระบบ MANUAL มาเป็นระบบถ่ายทอดโทรเลขแบบอัตโนมัติ โดยในวันที่ 20 พ.ย. 2521 ได้ทำการขยายการติดต่อโทรเลขระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด จำนวน 80 แห่ง พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดโทรเลขย่อยในระบบ TORN TAPE ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข 7 แห่ง ต่อมาได้จัดตั้งชุมสายโทรเลขอัตโนมัติเพิ่มขึ้นในส่วนภูมิภาคอีก 3 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับ-ส่ง โทรเลข

โดยกำหนดให้ชุมสายที่หาดใหญ่เป็นศูนย์ถ่ายทอดโทรเลขภาคใต้ ขอนแก่นเป็นศูนย์ถ่ายทอดโทรเลขภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนครสวรรค์เป็นศูนย์ถ่ายทอดโทรเลขภาคเหนือ ซึ่งชุมสาย อัตโนมัติทั้ง 4 แห่ง รวมทั้งกรุงเทพฯ และบางรัก สามารถติดต่อกันด้วยระบบสื่อสารทางดาวเทียมและทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2531 ซึ่งเป็นผลให้การรับ-ส่ง โทรเลขรวดเร็วยิ่งขึ้น

ความหมายของโทรเลข
โทรเลข (Telegraph Service) คือ ระบบโทรคมนาคมซึ่งใช้อุปกรณ์ทางไฟฟ้าทำหน้าที่ส่งข้อความจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เดิมส่งโดยอาศัยสายตัวนำที่โยงติดต่อถึงกัน และอาศัยอำนาจแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสำคัญ แต่ระยะหลังมีการใช้วิธีการส่งไร้สายหรือที่รู้จักกันในชื่อ “วิทยุโทรเลข” (Radio Telegraph, Wireless Telegraph หรือ Continuous Wave หรือ CW)

ทั้งนี้ โทรเลขเป็นบริการรับ-ส่ง ข่าวสารที่จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อกันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้ประสงค์จะใช้โทรสารต้องมาใช้บริการ ณ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขเท่านั้น เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ฝากส่งจะขอส่งโทรเลขทางเทเล็กซ์ หรือ โทรศัพท์



หลักการทำงานของเครื่องโทรเลข

การทำงานของเครื่องส่ง และเครื่องรับโทรเลข เกิดจากคันเคาะของเครื่องส่งให้วงจรไฟฟ้าปิด จากนั้นกระแสไฟจะไหลเข้าไปในขดลวดของเครื่องรับ ทำให้ขดลวดของเครื่องรับเกิดสนามแม่เหล็ก และดูดแผ่นเหล็กมากระทบแกนเหล็ก ทำให้เกิดเสียงที่มีจังหวะเดียวกับคันเคาะ ซึ่งการเปิด-ปิด วงจรนี้ทำให้เกิดเสียงเป็นสัญญาณโทรเลข แล้วจึงแปลงสัญญาณโทรเลขให้เป็นข้อความ โดยมีการกำหนดรหัสในโทรเลขไว้ 2 ลักษณะ คือ เคาะแล้วกดไว้ (กดยาว) กับ เคาะแล้วปล่อย (กดสั้น) ซึ่งแทนด้วย - กับ . ( ขีด กับ จุด ) เรียกรหัสที่ใช้ในการส่งโทรเลขว่ารหัส “มอร์ส”



สำหรับเครื่องรับ-ส่ง โทรเลขประกอบด้วย แบตเตอรี่, คันเคาะ หรือเครื่องส่ง, เครื่องรับ และสายไฟ

โดยมีการให้บริการโทรเลขในประเทศ 7 ชนิด ภายใต้ข้อบังคับของการสื่อสารฯ ในขณะนั้น ได้แก่ โทรเลขแจ้งเหตุสาธารณภัย, โทรเลขรัฐบาล, โทรเลขบริการ, โทรเลขอุตุนิยมวิทยา, โทรเลขสามัญ, โทรเลขข่าวหนังสือพิมพ์ และโทรเลขร้องทุกข์ ส่วนการใช้บริการโทรเลขในประเทศสำหรับประชาชนทั่วไปมี 2 ชนิด คือ โทรเลขบริการ (โทรเลขบริการเสียเงิน) และโทรเลขสามัญ คือโทรเลขที่รับ-ส่ง ไปมาเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว

ขณะที่การให้บริการโทรเลขต่างประเทศมี 8 ชนิด โดยเพิ่มโทรเลขเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งได้รับความคุ้มครองในระหว่างสงคราม ตามอนุสัญญาเจนีวา (ลงวันที่ 14 ส.ค. 2492) และโทรเลขสาร โดยไม่มีโทรเลขร้องทุกข์ ส่วนการให้บริการโทรเลขต่างประเทศสำหรับประชาชนทั่วไปมี 3 ชนิด คือ โทรเลขสามัญ, โทรเลขบริการ และโทรเลขสาร.






ข่าวนี้ ก็รู้มาตั้งแต่เมื่อปลายเดือนก่อน
ตอนไปเที่ยวหัวหิน แล้วส่ง postcard กลับบ้านหาตัวเอง ซึ่งทำมันทุกครั้งที่ไปเที่ยว...
พี่ชายเห็น postcard ก็เลยบอกข่าวนี้
"เห็นแกบ้าไปรษณีย์ อย่าลืมไปส่งโทรเลขหาตัวเองด้วยนะ.. เขาจะยกเลิกแล้ว"

picmee ยังไม่เคยมีโทรเลขเป็นของตัวเองเลยนะ ไม่ว่ารับหรือส่ง
จำได้ลางๆ ว่าตอนเด็กๆ มีเรียนเขียนโทรเลขในวิชาภาษาไทยด้วย....

พอข่าวนี้ออกมา มีอะไรหลายอย่างผุดมาในหัว
จำฉากนึงในเรื่อง Independent Day (ID4) ได้ไหม... ที่ทหารติดต่อกันด้วยระบบวิทยุหรือโทรศัพท์ไม่ได้ และย้อนกลับมาใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม คือ Morse code น่ะ....

มองในมุมมองประวัติศาสตร์ picmee ออกจะเสียใจอยู่ไม่น้อย..ไม่รู้ว่า Morse code ในเมืองไทยจะยังอยู่ไหม... จะยังเหลือคนศึกษามันอยู่หรือเปล่า
ตัวเครื่อง ก็เก็บๆ ไว้ในรุ่นหลังได้เห็น ได้ศึกษากันบ้างนะคะ อย่าขายกันหมด

แต่มองในมุมมองการบริหารภาครัฐ picmee สนับสนุนอย่างยิ่งที่จะยกเลิก
ก็ดูรายรับ-รายจ่ายอันไม่สัมพันธ์กันนั่นปะไร

So long นะ...โทรเลข emo


Create Date : 19 เมษายน 2551
Last Update : 19 เมษายน 2551 13:19:53 น. 7 comments
Counter : 1626 Pageviews.

 
แต่ก่อนเคยใช้บริการบ่อยเหมือนกัน คงเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลานะคับ


โดย: The Kop Civil วันที่: 19 เมษายน 2551 เวลา:16:23:30 น.  

 
จบกันไปแล้ว...สำหรับโทรเลข บริการสุดฮิตในอดีต...ปัจจุบันมือถือก็ครองโลกไปแล้ว....เก็บไว้เป็นตำนานให้เล่าขานในรุ่นต่อๆ ไปก็แล้วกันนะ.....
แวะมาขอบคุณที่ไปชมภาพถ่ายที่ blog มาด้วยนะ


โดย: ถปรร วันที่: 19 เมษายน 2551 เวลา:16:31:15 น.  

 


โดย: shame_of_sins วันที่: 19 เมษายน 2551 เวลา:17:43:50 น.  

 
สวัสดีค่ะ เข้ามาอ่านได้ความรู้ดีมากๆ เลย วิสกี้เองไม่เคยใช้โทรเลขนะค๊ะ แต่ก็ได้มีโอกาสตอนช่วงทำงานใหม่ๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน ได้รู้จักกับเครื่องเทเล็กซ์ส่งข้ามประเทศ รู้สึกอาลัยเหมือนกัน พอความก้าวหน้าเข้ามาของเก่าๆ ก็ต้องหมดไปนะค๊ะ


โดย: วิสกี้โซดา วันที่: 19 เมษายน 2551 เวลา:23:59:38 น.  

 
ในฐานะคนเก่าคนแก่ เสียดายเหมือนกันนะ การได้รับโทรเลขเนี่ยะเป็นเรื่องตื่นเต้นเรื่องหนึ่งในชีวิตทีเดียว
ปัจจุบันนี้กล่องรับจดหมายเหมือนมีไว้ใส่ใบแจ้งหนี้อย่างเดียว วันไหนได้รับโปสการ์ดซักใบ ตื่นเต้นจะตาย ว่าไม๊


โดย: นางฟ้าปากกว้าง วันที่: 20 เมษายน 2551 เวลา:19:23:51 น.  

 
นางฟ้าปากกว้าง >>>> แกส่งที่อยู่มาสิ
ฉันมันชอบส่ง postcard


โดย: picmee วันที่: 20 เมษายน 2551 เวลา:20:06:33 น.  

 
ผมก็ว่าจะไปส่งหาตัวเองอยู่เหมือนกันล่ะครับ

คบเพลิงโอลิมปิกครับพี่


โดย: Skyman (Analayo ) วันที่: 21 เมษายน 2551 เวลา:8:23:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

picmee
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ฝากให้เธอช่วยดูแล ช่วยดูแลเธอให้ฉัน
ในวันนี้ที่เราต้องไกลกัน คงทำได้แค่ส่งหัวใจ

ฝากให้เธอช่วยดูแล ไม่ว่าเธออยู่ที่ไหน
ให้คุณพระคุ้มครอง ให้ปลอดภัย
ในไม่ช้า เราคงได้กลับมาพบกัน

Emo น้องเพนกวิน
X
Friends' blogs
[Add picmee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.