พฤษภาคม 2556

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
21
22
23
24
25
26
27
28
29
31
 
 
All Blog
ตรงกับที่ (กำลัง) เรียนพอดี

ช่วงที่กำลังนั่งเขียนไดอารี่ทบทวนตัวเอง ในสิ่งที่ได้จากการอบรมเรื่องสิทธิทางเพศเมื่อครั้งแรกที่ผ่านมาก็ไปอ่านเจอบทความ “ความปกติของแฮรี่” ในคอลัมน์ “เธอ*เขา*เรา*ผม” ของโตมร ศุขปรีชา ในเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 21 ฉบับ 1092 วันที่ 3 พฤษภาคม 2556

เราว่าบทความเรื่องนี้ ถ้าเราไม่ได้อบรมเรื่องสิทธิทางเพศในรอบแรก จาก อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ อ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ พี่จิ๋ว ประชาไท และพี่ๆ คนทำงานด้านเอดส์ ด้านสุขภาพมาก่อน เราคงอ่านไม่รู้เรื่องแน่ๆ

เลือกที่จะก้อปปี้เรื่องทั้งหมดมาลง เพราะอยากแชร์บทความที่ตัวเองสนใจที่มีนักเขียนได้มาเล่าเรื่องความปกติบนความหลากหลาย (ทางเพศ) ที่หลายคนมองว่ามันไม่ปกติ (เริ่มงงตัวเองแล้ว)

เป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวเองว่า อีกหน่อยเราน่าจะได้เขียนบทความที่ปกติๆ แบบนี้ได้สักชิ้น เราจะได้ช่วยกันเข้าใจความ “ต่าง”ที่ทุกคนมีอยู่ “เหมือนกัน”

----------------------------------------------------------------

ความปกติของแฮรี่


วันก่อนได้ดูซีรีย์เรื่องหนึ่งชื่อ Harry’s Law เป็นเรื่องราวของทนายความผู้หญิงที่รับบทโดยนักแสดงระดับออสการ์อย่าง แครี่ เบตส์เธอมาเล่นเป็นทรายชื่อแฮร์เรียล แต่ได้ฉายาว่า “แฮรี่” ซึ่งเป็นชื่อผู้ชาย

สำหรับผมแค่ชื่อเรื่องก็มีความ “แหลมคม” แล้วนะครับ เพราะมันคือการ “เล่น”กับการสลับบทบาทชายหญิง เหมือนที่หลายคนเคยพูดเอาไว้ว่า การที่ผู้หญิงจะ“ประสบความสำเร็จ” ได้ในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่นั้น เธอจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้“เปลี่ยนเพศ” ไปเป็นผู้ชายเสียก่อน

เรื่องนี้เห็นได้ชัดในบรรดานักการเมืองใหญ่ๆทั้งหลาย ตัวอย่างที่คนชอบยกกันก็คือมาร์กาเร็ต แธ็ตเชอร์ ผู้ล่วงลับว่าผู้หญิงไม่มีทางใช้ “ความเป็นผู้หญิง”ตามขนบเดิมเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเป็นผู้นำได้เลย เว้นแต่ว่าเธอจะต้อง“แปลงเพศ” ไปเป็นผู้ชายเสียก่อน ไม่ใช่ด้วยคมมีดหมอแต่ด้วยการสร้างบุคลิกให้กร้าวแกร่งแบบผู้ชาย เพื่อทำให้คนอื่นๆ เห็นและยอมรับว่าเธอ “เก่งไม่แพ้ชาย” เธอก็จะประสบความสำเร็จได้

แฮร์เรียลที่กลายเป็นแฮรี่ ก็เป็นอย่างนั้นเช่นกัน ดังนั้น แค่ “ชื่อเรื่อง” จึงบ่งชี้ให้เราเห็นว่าผู้สร้างสรรค์เรื่องขึ้นนั้นมี “ต้นทุน” ในการคิดมากมายขนาดไหน

เห็นแล้วอดนึกถึงละครหลังข่าวของเราไม่ได้ไม่ได้คิดจะต่อว่าต่อขานอะไรหรอกนะครับเพียงแต่เมื่อลองเปรียบเทียบกันแล้วก็จะเห็นว่า ต้นทุนคนละแบบก็ย่อมให้ผลผลิตออกมากคนละแบบเท่านั้นเอง

ในตอนที่ผมได้ดูนั้น  Harry’s Law ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศอีกเรื่องหนึ่งเอาไว้แหลมคมพอๆกับชื่อเรื่องด้วยนะครับ เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่รีบเดินทางมายังโรงพยาบาลเพราะรู้ข่าวว่าน้องชายของเขาประสบอุบัติเหตุ

แพทย์แจ้งเขาว่าน้องชายของเขาอาหารหนักมาก เสียเลือดไปไม่น้อย และอาจจะเสียชีวิตได้ในอีกไม่กี่ชั่วโมงหากไม่ได้รับเลือดสำรอง แต่ปัญหาก็คือ ในคืนที่น้องชายของเขาประสบอุบัติเหตุนั้นที่อีกฟากของเมืองก็เกิดอุบัติเหตุใหญ่เหมือนกัน มีคนตายและบาดเจ็บมากมาย ดังนั้นธนาคารเลือดจึงต้องนำเลือดสำรองทั้งหมดไปใช้กับผู้บาดเจ็บในกรณีนั้น จนไม่เหลือเลือดในธนาคารเลือดเลยที่แย่กว่านั้นก็คือน้องชายของเขามีเลือดกรุ๊ปโอเนกาทีฟ ซึ่งเป็นเลือดหมู่ที่หาได้ยากมาก

ชายคนนั้นไม่ลังเลใจเลยเขาบอกแพทย์ว่าเขามีหมู่เลือดเดียวกับน้องชาย และขอเป็นผู้บริจาคเลือดให้ทันที

แต่กระนั้นแพทย์ก็บอกว่าจะต้องตรวจเลือดก่อน เพื่อดูว่าเลือดนั้นสะอาดปลอดภัยหรือเปล่าโดยเฉพาะกับเชื้อเอชไอวี ซึ่งขั้นตอนการตรวจเลือดเพื่อหาเอชไอวีอาจต้องใช้เวลานานทำให้อาจไม่ทันการณ์ได้ แต่ชายคนนั้นบอกว่าเขาพึ่งไปตรวจเลือดมาเมื่อเดือนก่อนและพบว่าเลือดของเขาสะอาด และหลังจากการตรวจเลือดแล้วเขาก็ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับใครเลย

แพทย์ดีใจ แต่ก็ต้องขอถามต่อว่าทำไมเขาถึงไปตรวจเลือด เพราะปกติคนทั่วไปย่อมไม่ไปตรวจเลือดถ้าไม่มีสาเหตุ

ชายคนนั้นบอกว่าเขาเป็นเกย์เขาจึงเลือกที่จะตรวจเลือดเป็นประจำทุกปีเพื่อดูว่าตัวเองปลอดภัยไหม

เมื่อแพทย์ได้ฟังดังนั้นแพทย์จึงแจ้งแก่เขาว่าไม่อาจรับบริจาคเลือดของเขาได้ไม่ว่าเลือดของเขาจะได้รับการรับรองว่าสะอาดบริสุทธิ์เพียงใด เพราะกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าไม่ให้รับบริจาคเลือดจากคนที่เป็นเกย์!

แน่นอนเรื่องนี้กลายเป็นการต่อสู้ทางกฎหมายทันทีเพราะถ้าน้องชายไม่ได้รับเลือดจากพี่ชายที่เป็นเกย์ เขาจะตายแต่กฎหมายระบุว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะไม่ “ไว้ใจ” คนที่มีเพศสภาวะเกย์เนื่องจากมีความเห็นว่าเกย์นั้นมีโอกาสรับเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนอื่นๆซึ่งเรื่องนี้จะเป็นแค่ “อคติ” หรือ “มายาคติ” หรือเป็นเรื่องที่มี “สถิติ”รองรับจริงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป

ที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือการที่ซีรี่ย์ชุดนี้พยายาม “สร้าง” เงื่อนไขต่างๆ ขึ้นมา (แม้จะมีความบังเอิญหลายชั้นจนอาจแลดูไม่ “สมจริง” ได้ในสายตาของคนดูบางคน) เพื่อชี้ให้เห็นว่าเมื่อ “ผลัก” ไปจนถึงสถานการณ์ที่ “สุดขั้ว” แล้วกฎเกณฑ์หวังดีบางอย่างที่ไม่ได้ “คิดให้ครบ” อาจ “ทำร้าย” คนได้มากขนาดไหน

ในซีรี่ย์เรื่องนี้เขาบอกว่า คำว่าเกย์ (ที่ไม่สามารถบริจาคเลือดได้) หมายถึงผู้ชายที่นอนกับผู้ชายไม่ว่าจะกี่ครั้งหรือหยุดมีเพศสัมพันธ์มานานแค่ไหนแล้วก็ตาม ก็ถือว่าไม่ “ปลอดภัย” พอจะบริจาคเลือดได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากจะบริจาคเลือด ก็ “โกหก” ว่าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายมาก่อนเพื่อจะได้บริจาคเลือดได้

แต่ในเวลาเดียวกันถ้าคุณเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงที่สำส่อน นอนกับคนมาไม่เลือกหน้าเป็นร้อยเป็นพันคนแต่ถ้าตรวจแล้วพบว่าเลือดนั้นสะอาดพอ ก็สามารถบริจาคเลือดได้โดยไม่ต้องถูกตั้งคำถามเรื่องเพศใดๆ ในขณะที่ถ้าเป็นเกย์ เพียง “รู้” เท่านั้นว่าเป็นเกย์ก็จะถูกกีดกันจาก “สิทธิ” ในการบริจาคเลือดไปในทันที

คำถามที่ซีรีย์เรื่องนี้ตั้งขึ้นจึงคือการโจมตีไปยัง “เกณฑ์” ที่ใช้ในการตัดสินว่าใครจะบริจาคเลือดได้หรือไม่ โดยใช้“เพศสภาวะ” เป็นเครื่องตัดสินมากกว่า “พฤติกรรม”

ผมคิดว่าประเด็นของซีรีย์เรื่องนี้พาเราย้อนกลับไปสู่ “ราก” ของการ “แยก” ผู้คนออกเป็นกลุ่มที่ “ปกติ” และ “ไม่ปกติ” ถ้าดูในสถานการณ์ทั่วๆ ไป คนสองกลุ่มนี้ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ เกย์กับคนทั่วไปก็มีชีวิตอยู่ร่วมกันได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบ “สุดขั้ว” ขึ้นเราจะพบว่าผู้คนก็ยังย้อนกลับไปหา “นอร์ม” ของสังคมแบบรักต่างเพศเป็นให ญ่โดยถือว่าคนที่เป็นรักต่างเพศนั้นเป็นกลุ่มคนที่ “ปกติ” ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นคือกลุ่มคนที่ “ไม่ปกติ” เมื่อเห็นว่าไม่ปกติเสียแล้วการที่จะ “ยอมรับ” ให้คนเหล่านี้บริจาคเลือด ก็เท่ากับยอมเปิดให้เกิดโอกาสที่เลือดของคนไม่ปกติจะเข้าไปอยู่ในร่างของคนปกติ ดังนั้น ไม่ว่าเลือดจะปลอดเชื้อเอชไอวี (หรือเชื้ออื่นๆ) หรือไม่ ที่สุดก็ยังถือว่าเป็นเลือดที่ “สกปรก” อยู่ดี เพราะมันเป็นเลือดที่มาจากคน “ไม่ปกติ” นั่นเอง

ถ้าคุณติดตามข่าวคราวของคนรักเพศเดียวกัน หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศในเมืองไทยอยู่บ้าง คุณอาจรู้ว่าตอนนี้กำลังมีร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต เพื่อให้คนรักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ กับเรื่องนี้หลายคนอาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมถึงขั้นต้องออกกฎหมายจดทะเบียนให้คนเหล่านี้ด้วย ในเมื่อสังคมก็ยอมรับคนกลุ่มนี้แล้วพอสมควรไม่ใช่หรือ แต่ละคนเลือกจะอยู่หรือไม่อยู่ด้วยกันได้ไม่ใช่หรือ จะต้องมาเรียกร้องการจดทะเบียนทำไม

คำตอบเรื่องนี้คล้ายกับในซีรีย์เรื่อง Harry’s Law ไม่น้อย นั้นคือถ้าเป็นสภาพการณ์ปกติทั่วไป คนรักเพศเดียวกันก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ แต่ถ้าเมื่อใด “ถูกผลัก” เข้าสู่สถานการณ์สุดขั้ว (ซึ่งอาจไม่ “สมจริง” เหมือนในซีรีย์ แต่มัก “เกิดขึ้นได้จริง” บ่อยๆในชีวิตของเรา) เช่น คู่ที่อยู่ด้วยกันประสบอุบัติเหตุหมดสติต้องเข้าโรงพยาบาล คู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันมีอำนาจตามกฎหมายในการลงนามแทนเพื่อเข้ารับการรักษาได้ไหม หรือต้องรอญาติที่อยู่ห่างไกลมาลงนามให้ ซึ่งอาจไม่ทันการณ์หรือหากคู่ชีวิตคนใดคนหนึ่งตายไป สมบัติที่หามาร่วมกันจะตกเป็นของใครตามกฎหมายระหว่าง “คู่” (เป็น “สินสมรส” เหมือนคู่แต่งงานทั่วไป) หรือต้องย้อนกลับไปตกอยู่กับ “ญาติ” ร่วมสายเลือดเช่นพ่อแม่พี่น้องที่อาจรังเกียจความเป็นคนรักเพศเดียวกัน หรือแม้แต่คู่นั้นจะมีบ้านร่วมกันโดยการกู้เงินร่วมกัน ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย เป็นต้น

ประเด็นที่แลดูสุดขั้วเหล่านี้ แท้จริงแล้วเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่ใครคิดนะครับ ดังนั้นการต่อสู้เพื่อให้เกิดการจดทะเบียนสมรสได้จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนบางกลุ่มที่ยังอาจถูกมองว่า “ไม่ปกติ” เท่าไหร่อยู่

ผมเคยคุยกับนักกฎหมายบางคนเรื่องนี้เขาบอกว่าแรงต้านเรื่องนี้น้อยกว่าที่คิดเพราะดูเหมือนว่าสังคมไทยจะยอมรับความรักของคนเพศเดียวกันได้มากทีเดียวกฎหมายจึงน่าจะออกมารองรับได้แล้ว แต่ประเด็นที่เขาเป็นห่วงก็คือ “เพดานแก้ว” (Ceiling Glass) หรือ “ขีดจำกัด” ของการยอมรับนั้นอยู่ตรงไหน ดูเผินๆ สังคมไทยอาจยอมรับคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น จนถึงขั้น“อนุญาต” ให้จดทะเบียนกันได้ แต่ถ้าเลยไปถึงเรื่องมีลูกหรือรับเลี้ยงลูกบุญธรรมล่ะ สังคมไทยเห็นว่าคนเหล่านี้ “ปกติ” พอจะยอมรับได้ไหม เขาคิดว่าบางทีขีดจำกัดในการยอมรับของสังคมไทยอาจอยู่ตรงนั้นกล่าวคือ ถ้าดูเผินๆ เหมือนสังคมไทยเห็นว่าคนเหล่านี้ “ปกติ” แต่เมื่อถึงสถานการณ์เฉพาะบางอย่าง การตัดสินใจอย่างเป็นทางการก็ยังแสดงให้เห็นว่าเรายังไม่รู้สึกว่าคนเหล่านี้ “ปกติ” เหมือนคนทั่วไปอยู่ดี

ที่จริงแล้วทุกคนและทุกสิ่งในโลกล้วน “ผิดปกติ” และ “ผิดประหลาด” ในสายตาของใครบางคนทั้งนั้นโลกนี้จึงไม่มีอะไรที่ “ปกติ” ยกเว้นความไม่ปกติ และความลื่นไหลเปลี่ยนผันของความไม่ปกตินั้นๆ เราอาจคิดว่าสิ่งที่เราทำคือสิ่งปกติ และมักเอาไม้บรรทัด “ความปกติ” ของเราไปทาบเทียบ เพื่อวัดความไม่ปกติของคนอื่นอยู่เสมอ แต่ถ้าเราเข้าใจเสียแล้วว่าโลกนี้ไม่มีอะไรปกติ ความไม่ปกติทั้งหลายก็จะกลายเป็นความปกติ ไม่มีอะไรผิดปกติจนต้องแปลกใจ เลิกคิ้ว หรือชี้นิ้วสั่งให้ใคร “เป็น” หรือ “ทำ” อะไรตามไม้บรรทัดของเรา

ซีรีย์เรื่อง Harry’s Law บอกเราได้ในพริบตาเดียวถึง “วิธีคิด” ว่าด้วยความปกติและไม่ปกติต่างๆที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ ทั้งยังสนุกและตื่นเต้นด้วย

ดูแล้วทำให้คิดถึง“ความปกติ” ของโมเดลละครหลังข่าว ที่กลายเป็นต้นแบบวิธีคิดของสังคมไทยส่วนใหญ่ไม่น้อย!

--------------------------

แหล่งที่มาของบทความ
คอลัมน์ “เธอ*เขา*เรา*ผม”ของโตมร ศุขปรีชา หน้าที่ 26
เนชั่นสุดสัปดาห์ปีที่ 21 ฉบับ 1092 วันที่ 3 พฤษภาคม 2556




Create Date : 19 พฤษภาคม 2556
Last Update : 23 พฤษภาคม 2556 10:23:22 น.
Counter : 919 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กระต่ายแต่งหน้า
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]