มิถุนายน 2556

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
พะเยาเปิดเวทีสาธารณะ “เสาส่งสัญญาณการสื่อสาร: ความปลอดภัยหรืออันตรายสำหรับผู้บริโภค”

เมื่อวันที่14 มิถุนายน 2556 เครือข่ายผู้บริโภค 14 จังหวัดภาคเหนือ เครือข่ายผู้บริโภค จ.พะเยา ร่วมกับมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา จัดเวทีสาธารณะภาคเหนือในประเด็น “เสาส่งสัญญาณการสื่อสาร: ความปลอดภัยหรืออันตรายสำหรับผู้บริโภค”ที่หอประชุมโรงเรียนเชียงคำวิทยา อ.เชียงคำ จ.พะเยา โดยมีนายภูมิชัย ตะพานแก้ว นายอำเภอเชียงคำ เป็นประธานในการเปิดเวทีเสาวนา


ดร.สุเมธวงศ์ พานิชเลิศ นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อสุขภาพว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมือนกันหมด แต่ระดับความถี่มีความเข้มข้นต่างกันไป เช่น เครื่องเป่าผม จะมีความเข้มข้นของคลื่นต่ำ ถัดไปจึงเป็นโทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์มือถือ ไมโครเวฟ เครื่องส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สาย หรือเร้าเตอร์ (Router) เสาส่งสัญญาณ และเครื่องเอ็กซ์เรย์ ตามลำดับ

จากงานวิจัย “ผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” ระบุว่าผู้ที่อยู่ใกล้เสาส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นสายส่งไฟฟ้าแรงสูง สถานีจ่ายไฟ ในระยะ 200 เมตร เสาออกอากาศโทรทัศน์ เสาส่งสัญญาณวิทยุในระยะ 2 – 4 กิโลเมตร รวมถึงเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในระยะ 400 เมตร ย่อมมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพด้านระบบประสาท ทั้งอาการนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ซึมเศร้า กล้ามเนื้อกระตุก สายตาพร่ามัว สมาธิสั้นในเด็ก และมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือในแต่ละครั้งที่ใช้เวลานาน และใช้โทรศัพท์บ่อยๆ ย่อมมีโอกาสเป็นมะเร็งในสมอง เส้นประสาทหู และต่อมน้ำลาย เนื่องจากคลื่นความถี่และความร้อนจะผ่านหูไปยังสมอง ถ้าเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 5 – 18 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนา คลื่นความถี่จะเข้าไปยังสมองได้มากที่สุด เนื่องจากโครงสร้างของศีรษะยังโตไม่เต็มที่ ส่วนใหญ่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ ทำให้กะโหลกและสมองนุ่มซึมซับคลื่นความถี่ได้มากกว่าผู้ใหญ่

ดังนั้น โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไร้สายต้องใช้เท่าที่จำเป็น หากต้องคุยนานให้เปิดปุ่มเสียง หรือใช้สายหูฟัง หลีกเลี่ยงไม่ใช้มือถือในที่อับสัญญาณ เพราะต้องใช้คลื่นความถี่ที่มีความเข้มข้นสูงในการค้นหาสัญญาณ และให้ปิดอุปกรณ์เร้าเตอร์ทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน เหมือนที่ประเทศฝรั่งเศสที่ขณะนี้ในระบบโรงเรียนมีการยกเลิกใช้ระบบไร้สาย (Wireless) และให้ใช้ระบบสายแลนเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแทน

ส่วนเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ควรย้ายห่างชุมชนอย่างน้อย 400 เมตร หรือปรับลดระดับการแผ่คลื่นความถี่ให้ปลอดภัยมากขึ้น เช่น เหลือ 1 มิลลิเมตรวัตต์ต่อตารางเมตร (ปรับลดหมื่นเท่าจากคลื่นความถี่ปกติ) แต่หากในพื้นที่ไม่ต้องการให้มีการตั้งเสาส่งสัญญาณในชุมชนเลย ต้องใช้พลังมวลชนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิผู้บริโภค โดยให้บริษัทมีการตั้งเสาส่งสัญญาณที่มีคุณภาพและต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย


นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงษา กรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า การสื่อสารในยุค 3บนคลื่นความถี่ 2,100 เมกะเฮิรตซ์ แม้คลื่นจะแรงกว่าความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ แต่ระยะทางในการส่งสัญญาณจะไปได้แคบกว่า จึงต้องติดตั้งจำนวนเสาส่งสัญญาณให้มากขึ้น เพื่อให้บริการครอบคลุมเต็มพื้นที่ ซึ่งผู้ให้บริการที่จะติดตั้งเสาส่งสัญญาณใหม่ จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนคลายความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทางบริษัทจำเป็นต้องให้ข้อมูลเรื่องการติดตั้งเสาส่งสัญญาณอย่างรอบด้าน ซึ่งไม่ใช่แค่ติดป้ายประกาศบริเวณพื้นที่ที่กำลังจะตั้งเสาเท่านั้น แต่ต้องลงไปทำความเข้าใจในระดับพื้นที่เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในชุมชนหรือไม่

สำหรับเสาส่งสัญญาณที่มีการติดตั้งไปแล้วโดยคนในชุมชนไม่ทราบเรื่องมาก่อน ประชาชนก็สามารถส่งเรื่องร้องเรียนมายังกทสช. ได้ แต่หากพบว่าผลการตัดสินของ กทสช. ไม่สร้างความชอบธรรมให้กับชุมชนก็สามารถฟ้องศาลปกครองต่อได้

นายต่วนกฤษ จันทนะ ประธานสภา อบต. น้ำแวน ในฐานะตัวแทนประชาชนบ้านน้ำแวนหมู่ 2 อ.เชียงคำจ.พะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการรวมตัวของประชาชนอย่างเข้มแข็ง ในการเคลื่อนไหวให้ย้ายเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ออกจากกลางชุมชนกล่าวว่า 3 ปี ให้หลังจากเสาส่งสัญญาณมาตั้งอยู่ในชุมชน (ตั้งเสาประมาณปี 2547 )พบว่าสุขภาพของคนในชุมชนเริ่มผิดปกติ ทั้งหน้ามืด วิงเวียน หลงลืม นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อกระตุก อีกทั้งวัวนมของคนในหมู่บ้านก็ให้น้ำนมลดลง


ประกอบกับเห็นข่าวต่างประเทศว่ามีการเผาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ประชาชนจึงเริ่มสงสัยว่าเสาส่งสัญญาณมีผลกระทบต่อสุขภาพจริงหรือไม่ จึงให้ลูกหลานหาข้อมูลให้และคนในชุมชนเองก็หาหนังสืออ่านเพิ่มเติม จึงพบว่าอาการผิดปกติของคนในชุมชนหลายอย่างตรงตามข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือ

คนในชุมชนจึงเริ่มขับเคลื่อนเรื่องการย้ายเสาส่งสัญญาณให้ออกห่างจากชุมชนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากที่ตั้งเสาอยู่ใกล้กับสถานีอนามัยบ้านเรือนประชาชน และศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก จึงเกรงว่าคลื่นความถี่จะมีผล กระทบต่อสุขภาพลูกหลานของคนในชุมชน


นายศรีสะเกษ สมาน อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (รท.) กล่าวว่า กรณีการร้องเรียนของบ้านน้ำแวนทาง กทสช. ได้ทำการเปรียบเทียบปรับกับบริษัทไปแล้ว 9,000 บาท แต่ยังไม่ได้ระงับการส่งคลื่นความถี่ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะให้ประชาชนบ้านน้ำแวนให้เดินหน้าเคลื่อนไหวเรื่องการย้ายเสาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการดำเนินการฟ้องศาลปกครอง เพื่อดำเนินคดีกับ กสทช. ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของประชาชน อีกทั้งให้มีการเชื่อมประสานการทำงานในรูปแบบที่เป็นเครือข่ายมากขึ้น ทั้งกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หน่วยงานสาธารณสุข และองค์กรท้องถิ่น เพื่อให้การเคลื่อนไหวมีความเข้มแข็งมากขึ้น


หลังนั้นได้มีประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนโรงเรียนเชียงคำวิทยา เครือข่ายผู้บริโภคจาก จ.พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย พิจิตร แกนนำชุมชน และผู้ที่อยู่ใกล้กับเสาส่งสัญญาณ แสดงความเห็นต่อเรื่องเสาส่งสัญญาณ ดังนี้

  • ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้เครื่องมือสื่อสารโดยคำนึงถึงความจำเป็นไม่ใช่ใช้ให้คุ้มตามโปรโมชั่น
  • ให้โรงเรียนกำหนดระยะเวลาเปิดปิดเร้าเตอร์ส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย
  • กลับไปสื่อสารข้อมูลต่อให้คนในครอบครัวรวมถึงชุมชนให้เห็นถึงผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  • ให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการความรู้เรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วยการบรรจุเป็นข้อบัญญัติของท้องถิ่น
  • การแก้ไขปัญหาต้องไม่ใช่ทำในระดับพื้นที่ที่ได้รับการแก้ไขแค่รายกรณีไปแต่ต้องยกระดับให้เกิดการแก้ไขในภาพรวมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

------------------------------------------------




Create Date : 15 มิถุนายน 2556
Last Update : 15 มิถุนายน 2556 15:02:12 น.
Counter : 2774 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กระต่ายแต่งหน้า
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]