"ธนาคารเลือด" ของน้องหมา
สิ่งสำคัญที่ต้องรักษา สามารถยืดชีวิตเพื่อนรักไว้ให้ยาวนานที่สุดก็คือ "สุขภาพ" แต่บางครั้งโรคภัยไข้เจ็บก็อยู่เหนือการควบคุม เช่น ในกรณีที่สุนัขแสนรักป่วยหนักต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่ความต้องการถ่ายเลือดในการรักษาสุนัขป่วยในแต่ละครั้งมีปริมาณมาก อีกทั้งการขาดแคลนเลือดสำรองในกรณีฉุกเฉินหรือการผ่าตัดต่างๆ

เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด "ธนาคารเลือดสุนัข" อีกหนึ่งบริการของโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

สำหรับเลือดที่ได้มาแล้ว จำเป็นต้องมีกระบวนการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเลือดทุกหยดมีคุณค่า ทางโรงพยาบาลจึงต้องจัดเก็บอย่างดี ต้องแยกและจัดเก็บเลือดไว้ให้นาน เพื่อที่จะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าการถ่ายเลือดเพียงหนึ่งครั้ง ในทุกปีที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลจึงต้องขอบริจาคเลือดอยู่ตลอด เพราะว่าการผ่าตัดในบางครั้งสุนัขที่ผ่าตัดเสียเลือดมาก หรือกรณีอุบัติเหตุ โรคพยาธิในเม็ดเลือดอย่างรุนแรงก็จำเป็นที่จะต้องมีเลือดที่จะรองรับในจุดนี้ด้วย


การให้เลือดปลอดภัยไร้ปัญหา
เลือดของสุนัขก็คล้ายกับเลือดของมนุษย์คือ ประกอบด้วยเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดและน้ำเลือด และเลือดที่ได้รับบริจาคจากสุนัขก็สามารถแยกออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ เพื่อการใช้งานตามวัตถุประสงค์ความต้องการของสุนัขป่วยที่ต้องการที่จำเพาะ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของเลือดที่ได้รับบริจาคสุนัข แต่โดยทั่วไปสุนัขที่ต้องการเลือดมักจะต้องการเม็ดเลือดแดง หรือน้ำเลือดมากที่สุด

การให้เลือด หรือเม็ดเลือดแดง มักจะใช้กรณีเพื่อการรักษาโรคโลหิตจาง (anemia) นอกจากนี้แล้ว สุนัขอาจจะต้องการเลือดในกรณีที่ได้รับอุบัติเหตุ หรือกรณีผ่าตัดศัลยกรรม หรือกรณีที่สัตว์ป่วยไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงได้ หรือกรณีที่เม็ดเลือดแดงในร่างกายถูกทำลายอย่างรุนแรง (จากโรค เช่น พยาธิในเม็ดเลือดแดง เป็นต้น)

สำหรับน้ำเลือด (plasma) ประกอบด้วย โปรตีน หรือเอนไซม์ต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับการทำให้เลือดมีการแข็งตัว (clot) มักมีความจำเป็นสำหรับการรักษาภาวะเลือดออก (bleeding) อันเนื่องมาจากโรคตับ หรือกรณีที่เกิดเลือดออกจากการได้รับสารหนู (rodent poison) นอกจากนี้ น้ำเลือดยังมีความจำเป็นสำหรับสุนัขป่วยที่มีระดับโปรตีน หรืออัลบูมินในเลือดต่ำ ส่วนประกอบอื่นๆ ของน้ำเลือด เช่น cryoprecipitate จะใช้สำหรับการรักษาโรคเลือดไหลไม่หยุด (hemophillia) หรือโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาภาวะเลือดออกไม่หยุดอันเนื่องมาจากพันธุกรรม

ทางโรงพยาบาลได้จัดมาตรการต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของสุนัข ผู้มาบริจาคเลือด เช่น ตรวจสุขภาพก่อนเก็บเลือดทุกครั้ง และการให้ยาซึมก็ไม่มีผลใดๆ ต่อสัตว์ การบริจาคเลือดกลับเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่สัตว์ที่มาอีกทางหนึ่ง เพราะเท่ากับเป็นการถ่ายเลือดเก่าออกไปและทำให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมา


ที่มาของเลือด
เลือดในธนาคารเลือด ณ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้รับมาจากสุนัขที่มาบริจาคเลือด มีสุนัขหลายพันธุ์ที่มาให้เลือดเป็นประจำ ซึ่งมีปรากฏในรายชื่อสุนัขใจบุญ โดยผู้นำสุนัขมาบริจาคเลือดให้มาติดต่อหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลสัตว์ จากนั้นจะมีการตรวจร่างกาย ถ้าไม่มีปัญหาใดๆ การเก็บเลือดก็จะเกิดขึ้น โดยสุนัขที่บริจาคเลือดจะไม่ได้รับความเจ็บปวดใดๆ การเก็บเลือดจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5-15 นาที ขั้นตอนต่างๆ จะมีความคล้ายคลึงกับกระบวนการในธนาคารเลือดของคน

สุนัขที่มาบริจาคเลือดจะได้รับการตรวจกรอง (screened) โรคที่สามารถติดต่อกันได้ทางเลือด เพื่อเป็นหลักประกันว่าสุนัขที่เข้าสู่กระบวนการบริจาคเลือดมีสุขภาพดี โดยปกติแล้วเราจะรับสุนัขที่มีหมู่เลือดในกลุ่ม "universal blood type" หรือสุนัขที่มีหมู่เลือดที่สามารถเข้ากับหมู่เลือดอื่นๆ ได้ทั้งหมด ถ้าเปรียบเทียบกันในคนก็คือคนหมู่เลือด โอ เท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงปฏิกิริยาทางเคมีของการเข้ากันไม่ได้ของหมู่เลือดจากการให้เลือด แต่เนื่องจากเราไม่สามารถเลือกสุนัขที่มาบริจาคได้ การรับบริจาคจึงไม่จำกัด เพียงแต่ก่อนการให้เลือดจะต้องมีตรวจการเข้ากันได้ของหมู่เลือดเท่านั้นเอง เลือดที่เก็บจากสุนัขใจบุญจะถูกเก็บไว้ในถุงพลาสติกที่ปราศจากเชื้อโรค

ขั้นตอนการเก็บและรักษาจะทำให้เลือดปราศจากการปนเปื้อนเชื้อโรคและเก็บไว้ในตู้เก็บเลือดเช่นเดียวกับธนาคารเลือดของคน โดยปกติเลือดที่ได้รับบริจาคมีการกำหนดวันหมดอายุปรากฏอยู่ และทำลายเมื่อหมดอายุ แต่เนื่องจากความต้องการเลือดยังมีอยู่มาก เลือดจึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้ก่อนการให้เลือด หรือองค์ประกอบของเลือดอื่นๆ กับสุนัข สัตวแพทย์จะตรวจการเข้ากันได้ของหมู่เลือด (crossmatch) เสียก่อน เพื่อความมั่นใจว่า เลือดที่จะให้กับสุนัขไม่มีปฏิกิริยาต่อสุนัขที่ได้รับเลือด เลือดจะถูกถ่ายให้กับสุนัขที่ต้องการเลือดด้วยการให้ทางสายยางผ่านเข้าหลอดโลหิตดำ (ในลักษณะเดียวกับการให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำ) อย่างช้าๆ อัตราเร็วของการให้และปริมาณเลือดที่จะให้กับสุนัขจะขึ้นอยู่กับความจำเป็น ความต้องการและขนาดของสุนัข


คุณสมบัติของสุนัขที่สามารถบริจาคเลือด
เลือดที่ได้จากการบริจาคจะเป็นเลือด ล้วนมาจากสุนัขที่มีสุขภาพดี ก่อนการให้เลือดกับสุนัขตัวรับเลือดจะได้รับการตรวจถึงความเข้ากันได้ของหมู่เลือด ดังนั้น ความเสี่ยงต่อการให้เลือดจึงมีน้อยมาก แต่สุนัขบางตัวเมื่อได้รับเลือดแล้วอาจจะมีไข้เกิดขึ้นได้ หรืออาจจะพบว่าหน้าบวมเล็กน้อย (mild facial swelling) ในระหว่าง หรือหลังการให้เลือดก็ได้ ภาวะนี้สัตวแพทย์สามารถแก้ไขได้ สุนัขที่ป่วยด้วยโรคที่ค่อนข้างรุนแรงและต้องได้รับการให้เลือดซ้ำอาจจะพัฒนาปฏิกิริยาการตอบสนองต่อการได้รับเลือดได้


สำหรับสุนัขที่สามารถบริจาคเลือดได้ ควรมีคุณสมบัติดังนี้
เป็นสุนัขอายุระหว่าง 1-6 ปี ไม่จำกัดเพศ พันธุ์ (ถ้าเป็นเพศเมียต้องรอให้หมดประจำเดือนก่อน)
มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 20 กิโลกรัม
มีประวัติการทำวัคซีน ได้แก่ ป้องกันวัคซีนรวม เช่น ลำไส้อักเสบ ไข้หัด ตับอักเสบ เลปโตสไปโรซีส วัคซีนพิษสุนัขบ้า โรคพยาธิหนอนหัวใจ
ไม่มีประวัติของโรคพยาธิในเม็ดเลือด
ไม่เคยรับการผ่าตัดใหญ่ในระยะ 1-2 เดือน ก่อนบริจาคโลหิต
สุนัขมีสุขภาพแข็งแรง

ทั้งนี้ หากสุนัขมีคุณสมบัติครบถ้วน ก่อนถึงวันนัดบริจาคโลหิตควรงดน้ำและอาหาร เพื่อความปลอดภัยในการให้ยาซึม และเมื่อท่านนำสุนัขมาบริจาคโลหิตให้กับทางโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนได้ จากนั้นสุนัขก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการให้เลือดเพื่อช่วยเหลือชีวิตสุนัขตัวอื่นๆ ต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โรงพบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

เลขที่ 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ (02) 942-8756-59 (ให้บริการ วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี 08.30-15.30 น. วันศุกร์ 08.30-11.00 น. วันหยุดราชการ 08.30-11.00 น. บริการตรวจรักษาสัตว์ฉุกเฉินนอกเวลา 18.00-20.00 น. )


*วิธีการในการบริจาคเลือดสุนัข
หลังจากเจ้าของตัดสินใจนำสุนัขแสนรักร่วมกันทำบุญ โดยติดต่อยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลสัตว์ มก. แล้ว เจ้าหน้าที่จะนำสุนัขมาตรวจเช็กสุขภาพและตรวจเลือดกับสัตวแพทย์ หากสุนัขมีผลตรวจเลือดผิดปกติทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้ทราบทันที

เมื่อตรวจเรียบร้อยแล้ว สัตวแพทย์จะให้ยาซึม เพื่อป้องกันสุนัขดิ้นระหว่างการเจาะเลือด เนื่องจากบริเวณที่ใช้ในการเจาะเลือดคือบริเวณลำคอ ถ้าสุนัขดิ้นอาจเกิดอันตรายได้ การวางยาซึมนี้จะไม่มีผลข้างเคียงใดๆ หากแต่สุนัขจะมีอาการง่วงซึมเท่านั้น

ในการบริจาค 1 ครั้ง จะเก็บเลือดปริมาณ 1 Unit หรือ 350 ซีซี ซึ่งโดยปกติความสามารถในการให้เลือดจะอยู่ระหว่าง 10-20 ซีซี ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม และความถี่ในการบริจาคเลือดทุกๆ 4-6 เดือน เมื่อสามารถเก็บผลเลือดได้ตามความต้องการแล้ว สัตวแพทย์จะให้ยาบำรุงเลือดพร้อมบัตรประจำตัวผู้บริจาคเลือด โดยการบริจาคจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

จากวิธีการนี้ ท่านกับเจ้าตูบแสนรักก็ถือว่าได้ ทำบุญช่วยเหลือสัตว์อื่นๆ ได้แล้วค่ะ


*กลุ่มเลือดสุนัข
ส่วนกลุ่มเลือดของสุนัข มีทั้งหมด 8 กรุ๊ป คือ DEA 1.1, DEA 1.2, DEA 3, DEA 4, DEA 5, DEA 6, DEA 7, DEA 8 ต่างจากมนุษย์คือ สุนัขจะไม่มี Antibody ในน้ำเลือด (Plasma) แต่จะมีสารเคลือบผิวเม็ดเลือด Antigen สำหรับหมู่เลือด DEA 1.1, DEA 1.2 ไม่สามารถเป็นผู้บริจาคเลือดได้ แต่สามารถรับเลือดได้คล้ายกลุ่ม AB ในมนุษย์ ส่วนกรุ๊ปเลือดอื่นๆ สามารถเป็นผู้บริจาคเลือดหรือรับเลือดกันได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นกรุ๊ปเลือดเดียวกัน แต่จะต้องมีการตรวจเลือดว่าเข้ากันได้หรือไม่ ส่วนกลุ่มที่สามารถบริจาคโลหิตให้กับทุกกลุ่มเลือด (Universal dohor) คือกลุ่ม DEA 4

โดยประโยชน์ของเลือด สำคัญมากในการผ่าตัดกรณีที่สุนัขอยู่ในภาวะเสียเลือดมากๆ เช่น ตัดม้าม ตัดตับ ตัดไต การตัดก้อนเนื้อในช่องท้อง หรือใช้ในกรณีสัตว์จำเป็นต้องผ่าตัด แต่สภาพสัตว์ป่วยหนัก หรือไม่พร้อมสำหรับการผ่าตัด เช่น โลหิตจาง หรือมีปัญหาการแข็งตัวของเลือด

นอกจากนี้ เลือดสุนัขยังใช้ช่วยชีวิตสัตว์ที่ได้รับยาเบื่อหนูกลุ่ม Wafarin ซึ่งฤทธิ์ของยาจะไปยับยั้งสารที่ช่วยการแข็งตัวของเลือด ทำให้สุนัขเลือดจะไหลไม่หยุด อีกทั้งใช้รักษาโรคทางกรรมพันธุ์บางโรค ใช้รักษาสภาวะที่สัตว์มีภาวะขาดอาหารอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในลูกสัตว์ หรือแม้แต่ใช้รักษาสัตว์ในสภาวะฉุกเฉินที่มีภาวะเลือดออกในอวัยวะภายใน เช่น ในช่องท้อง หรือในช่วงอก เป็นต้น



ที่มาwww.ee43.com



Create Date : 30 มกราคม 2554
Last Update : 30 มกราคม 2554 18:25:04 น.
Counter : 1157 Pageviews.

0 comments

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
มกราคม 2554

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
31
 
 
All Blog