All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
16 กันยายน 2552
 
All Blogs
 
วิธีการอย่างง่าย ในการเก็บเงิน กรณีที่มีการหารเฉลี่ยกันภายในกลุ่ม

วิธีการอย่างง่าย (ของผมเอง) ในการเก็บเงิน
กรณีที่มีการหารเฉลี่ยกันภายในกลุ่ม




สวัสดีครับ คือเรื่องมันมีอยู่ว่า แม่ของผมให้ผมช่วยคิดโครงงานคณิตศาสตร์สำหรับเด็กมัธยม ให้หนึ่งโครงงาน ผมจึงนึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่ง ซึ่งผมคิดได้ตอนมัธยมต้น ขณะทำงานกลุ่ม ซึ่งมักจะวุ่นวายด้วยการเก็บเงิน


จริงๆแล้วเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะที่จะนำไปทำเป็นโครงงานหรอกครับ แต่คิดว่ามันน่าสนใจ เลยเอามาเล่าสู่กันฟัง



******************



คิดว่าทุกคนคงเคยผ่านการทำ “กิจกรรมกลุ่ม” ที่มีการหารเฉลี่ยค่าใช้จ่ายนะครับ อย่างเช่น การหารค่าห้องพัก เมื่อไปเที่ยวต่างจังหวัด การหารค่าอาหาร เป็นต้น


สำหรับในบางกิจกรรม เพื่อความสะดวก สมาชิกในกลุ่มบางคน จะออกค่าใช้จ่ายไปก่อน แล้วค่อยมาคิดยอดรวมแล้วหาค่าเฉลี่ยทีหลัง ในกรณีที่คนจ่าย เป็นคนเดียวกันทั้งงาน ก็คงจะไม่ยุ่งยากอะไร แต่กรณีที่มีคนจ่ายหลายคน แถมสมาชิกในกลุ่มก็เยอะ ปัญหาเรื่องการคำนวณ การเก็บเงินก็จะวุ่นวายตามมา



ผมเลยขอเสนอวิธีง่ายๆ ในการจัดการกับปัญหาครับ



ก่อนอื่น เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ผมขอสมมติสถานการณ์ขึ้นมานะครับ



ในการจัดบอร์ดให้ความรู้ของนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีสมาชิก 6 คน มีรายการค่าใช้จ่ายดังนี้



นาย A จ่ายค่า เทปกาว 50 บาท


นาย B จ่ายค่า กระดาษสี 80 บาท


นาย C จ่ายค่า กรรไกร คัตเตอร์ ที่เย็บกระดาษ 120 บาท


นาย D ไม่ได้จ่ายค่าอะไรเลย 0 บาท


นาย E จ่ายค่า สีและพู่กัน 110 บาท


นาย F จ่ายค่า บอร์ดพลาสติก 180 บาท





ดังนั้นยอดรวมค่าใช้จ่าย เท่ากับ 540 บาท

เมื่อทำการ หารเฉลี่ย จะตกคนละ 90 บาท






นั่นก็คือ



นาย A ต้องจ่ายเพิ่ม 40 บาท


นาย B ต้องจ่ายเพิ่ม 10 บาท


นาย C ต้องได้คืน 30 บาท


นาย D ต้องจ่ายเพิ่ม 90 บาท


นาย E ต้องได้คืน 20 บาท


นาย F ต้องได้คืน 90 บาท





ทีนี้ การเคลียร์ค่าใช้จ่ายก็จะวุ่นวาย คนนั้นให้คนนี้เท่านี้ คนนี้ให้คนนั้นเท่านั้น ที่เหลือให้คนนู้น ซึ่งนี่คงจะเป็นความวุ่นวายที่ทุกคนเคยชินซะแล้ว (นี่ขนาดแค่ 6 คน นะเนี่ย )





*** ทีนี้มาดูวิธีการของผมกันบ้าง ***




วิธีนี้มีความเป็นระบบ และง่ายมากๆ


ขั้นแรก ก็รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดว่าเป็นเท่าไหร่ จัดการหารเฉลี่ย ว่าต้องจ่ายคนละเท่าไหร่



ขั้นที่สอง ทุกคนต้องจ่ายเงินใหม่อีกครั้ง ไม่ต้องสนใจว่าใครจะจ่ายไปแล้วเท่าไหร่ แค่ทุกคนจ่ายอีกหนึ่งครั้ง ตามค่าเฉลี่ยที่คำนวณได้



ในกรณีนี้ ก็คือ ทั้ง 6 คน ต้องจ่ายเงินอีก คนละ 90 บาท

ทีนี้ ก็จะมีเงินมากองรวมกันทั้งหมด 540 บาท พอดี



ขั้นสุดท้าย ก็คือ ใครออกเงินงวดแรกไปเท่าไหร่ ก็เอาคืนกลับไปเท่านั้น



ทีนี้ การหารเฉลี่ยภายในกลุ่มก็จบลงง่ายๆ ไม่วุ่นวาย



******************



อาจมีข้อสงสัยว่า วิธีนี้ใช้ได้จริงเหรอ ?

เรามาตรวจสอบดีกว่า ว่าวิธีนี้ถูกต้อง จริงหรือไม่



ผมจะแสดงให้เห็น รายรับ-รายจ่าย โดยยกตัวอย่างซัก 3 คน ว่าทำไมวิธีนี้ถึงถูกต้อง



นาย A จ่ายงวดแรก 50 บาท จ่ายเพิ่มอีก 90 บาท แล้วเอาคืน 50 บาท

สรุป จ่ายไป 90 บาท


นาย B จ่ายงวดแรก 80 บาท จ่ายเพิ่มอีก 90 บาท แล้วเอาคืน 80 บาท

สรุป จ่ายไป 90 บาท


นาย C จ่ายงวดแรก 120 บาท จ่ายเพิ่มอีก 90 บาท แล้วเอาคืน 120 บาท

สรุป จ่ายไป 90 บาท



ลองทำกับทุกคนก็จะพบว่า ในท้ายที่สุดแล้วทุกคน จ่าย 90 บาท แน่นอน


ซึ่งเขียนเป็นสมการง่ายๆ ก็คือ


X + 90 – X = 90


นั่นเอง




******************



หลักการของวิธีนี้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ผมขอเรียกว่า “การทดแทนเงินทุน” แล้วกัน


นั่นก็คือ สร้างเงินทุนขึ้นมาใหม่ ให้มีมูลค่า เท่าเดิม แล้วก็เอาเงินทุนเก่า กลับคืนมา


เงินทุนงวดแรก หรือเงินทุนเก่า เกิดจากการรวมเงินทุนที่สมาชิกแต่ละคน ออกเงินไม่เท่ากัน


ดังนั้นเราจึงสร้าง เงินทุนใหม่ ซึ่งคราวนี้ เป็นเงินทุนที่ สมาชิกทุกคนออกเงินเท่ากัน



เมื่อเอาเงินทุนใหม่ ไปแทนที่เงินทุนเก่าแล้ว (จริงๆแล้วไม่ได้แทนที่จริงๆ แต่แทนที่โดยนามธรรม เพราะมูลค่ามันเท่ากัน แต่โครงสร้างการรวมทุนไม่เท่ากัน) เราก็แจกเงินทุนเก่าคืนสมาชิกทุกคน ตามที่แต่ละคนจ่ายมาในงวดแรก





อธิบายด้วยรูปได้ดังนี้



รูปที่ 1 การรวมเงินทุนรอบแรก สมาชิกแต่ละคนออกเงินไม่เท่ากัน








รูปที่ 2 การรวมเงินทุนครั้งใหม่ กำหนดให้สมาชิกแต่ละคนออกเงินเท่ากัน








รูปที่ 3 จ่ายเงินทุนรอบแรกคืน ตามที่สมาชิกแต่ละคนได้ออกเงินไป






******************



สรุปง่ายๆ วิธีของผมก็คือ



1. หาค่าเฉลี่ยว่าต้องจ่ายคนละเท่าไหร่


2. ทุกคนจ่ายเงินไปตามค่าเฉลี่ยที่คำนวณได้ในข้อแรก รวมเป็นเงินกองกลาง


3. ใครออกงวดแรกเท่าไหร่ ก็หยิบคืนจากกองกลางเท่านั้น




******************




ปล.


ผมคิดว่าวิธีนี้เหมาะมากกับกลุ่มที่มีคนเยอะๆ ผมก็ไม่รู้ว่าจริงๆแล้ว มีที่ไหนเขาทำกันแบบนี้มาก่อนหรือเปล่า เพราะประสบการณ์ที่ผมพบเจอมายังไม่เคยมีใครใช้วิธีนี้เลย และตัวผมเองก็ไม่เคยเอาไปใช้ เพราะส่วนใหญ่ ผมไม่ชอบวุ่นวายเรื่องเงินๆทองๆ ผมก็ทำตามวิธีเดิมๆ



อ่อ ใครพบจุดผิดพลาด หรือจุดบกพร่องของวิธีนี้ (ทางทฤษฎีนะครับ ไม่เอากรณีที่ เพื่อนเม้มเงิน หรือ เพื่อนไม่มีเงินจ่ายงวดใหม่นะครับ ) ก็เสนอแนะ มาได้ครับ

แล้วก็ใครคิดว่าจะมีปัญหาอย่างไร ในการปฏิบัติจริง ก็ลองเสนอแนะมาครับ

หรือ ใครที่มีวิธีที่ง่ายกว่านี้ก็ลองมาแชร์ความคิดกัน




Create Date : 16 กันยายน 2552
Last Update : 17 กันยายน 2552 2:43:49 น. 25 comments
Counter : 4658 Pageviews.

 
ไม่งง ไม่งง ดี ดี

แต่ก็ไม่แน่อีกอ่ะ อาจเจอคนชอบคิดในใจ
เช่น นาย A อาจบอกว่า ก็ทุกคนต้องออกคนละ 90 บาท ฉันออกไปแล้ว 50 บาท งันก็เอาไปอีก 40 บาท จัดการลบให้แล้ว ไม่เห็นต้องให้ฉันไปหาเงินมาลงกองกลางอีก 90 บาทเลย ไม่มีตังค์แล้ว แบบนี้อ่ะ


โดย: math IP: 125.25.173.215 วันที่: 16 กันยายน 2552 เวลา:8:14:48 น.  

 
เป็นวิธีที่ง่ายและดูสะดวกรวดเร็วดีครับ

แต่อาจติดตรงที่ต้องใช้ทุนเยอะหน่อยคือต้องจ่ายทั้งรอบแรกและรอบสองที่เป็นค่้าเฉลี่ย

ฉะนั้นแล้วในหมู่นักเรียนที่เงินทุนน้อยๆ วิธีนี้อาจเป็นปัญหาได้

ขอคิดมากอีกคน 555+


โดย: Seam - C IP: 58.9.186.151 วันที่: 16 กันยายน 2552 เวลา:9:57:58 น.  

 
ผมไปตั้งกระทู้ไว้ในห้อง หว้ากอ ใน Pantip มาครับ


ขอเอาความเห็นที่น่าสนใจมาลงไว้ครับ


โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:36:19 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 12

เข้าใจง่ายดีครับ...


แต่พวกผมคิดแค่...


" กินเท่าไหร่ จ่ายเท่ากัน "





ปล.ปกติมีเรื่องหารกันแค่เรื่องกินเรื่องเดียว...

จากคุณ : i_teep
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 05:00:23
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:36:47 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 13

ขอบคุณสำหรับกระทู้ความคิดดี ๆ

เคยคิดเหมือนกัน แต่พบว่าข้อเสียของวิธีนี้ (เท่าที่เคยพยายามใช้จริง) คือ

ตอนเก็บตังค์อีกรอบ เพื่อน ๆ ไม่มีเศษตังค์ เช่น ทุกคนมีแต่แบงค์ร้อย (ในตัวอย่างข้างต้น)

สุดท้ายก็ต้องคิดในกระดาษก่อน แล้วหักลบกัน


ส่วนตัว คิดว่า คิดในกระดาษ แล้วเก็บเงินตอนสุดท้าย สะดวกกว่า

เพราะมีหลงเหลือหลักฐานการคำนวณด้วย (เผื่อใครคิดผิด จะสามารถทักท้วง

ได้ภายหลัง)

จากคุณ : nonlocality
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 05:12:08
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:37:03 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 14

ถ้าเป็นเพื่อนผม รับรองว่าบ่นกันหูดับแน่ครับ วิธีนี้

คนไทยไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงครับ หุหุ

จากคุณ : Lekfoto
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 05:14:35
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:37:17 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 15

สมัยเรียน เอามาก่อนเลยคนละสองร้อย ไม่พอเก็บเพิ่ม เหลือก็เป็นขนมเลี้ยง

จากคุณ : 0vvaynar0
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 06:04:03
ถูกใจ : LemonCoffee, Seydlitz, แฟนสวย



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:37:29 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 16

ช่างคิดดี ชื่นชม

ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผมเจอตอนทำงานแล้วคือ บางคนออกไปก่อนเยอะมาก เสร็จแล้วไม่กล้าทวง ต้องมีใครสักคนลุกขึ้นมาช่วยทวงทุกคนแทนให้ เพราะเจ้าของเงินจะไปเอ่ยปากทวงทีละคนก็รู้สึกว่ากระดาก

แต่บางทีไม่มีใครช่างคิดลุกขึ้นมาทำหน้าที่ให้

แก้ไขเมื่อ 16 ก.ย. 52 07:46:48

จากคุณ : ดีดลูกคิดแล้ว
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 07:44:42
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:37:44 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 17

วงแชร์หลายวง ก็บังคับจ่ายให้ครบทุกมือก่อน เปียทีหลัง

ประเภทมามือเปล่า หวังว่าจะเปียงวดนี้แล้วค่อยหักยอด ไม่ได้เด็ดขาด

เพราะมีหลายมือจ้องจะเปีย แต่จะมีมือเดียวที่สมหวัง

จากคุณ : PV
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 08:13:43 A:124.120.12.220 X: TicketID:102349




โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:38:01 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 18

ของผมเหมือนกับคุณ #15 ครับ
แต่จะทำเป็นโครงการ แล้วตั้งเป็น budget คร่าวๆ ไว้ก่อน
เมื่อเก็บมาจะทำการรวมไว้ที่ เหรัญญิก
ใครซื้ออะไรต้องเอาใบเสร็จมาแสดงเพื่อทำเบิก
ตอนจบจะสรุปว่าเหลือเท่าไหร่
ถ้าเหลือไม่มาก ก้อปันขนมกินกัน

จากคุณ : LemonCoffee
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 09:18:43
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:38:16 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 19

วิธีของ จขกท. ยุ่งยากโดยไม่จำเป็นครับ
อย่างในโจทย์ของ จขกท.

นาย A ต้องจ่ายเพิ่ม 40 บาท
นาย B ต้องจ่ายเพิ่ม 10 บาท
นาย C ต้องได้คืน 30 บาท
นาย D ต้องจ่ายเพิ่ม 90 บาท
นาย E ต้องได้คืน 20 บาท
นาย F ต้องได้คืน 90 บาท

วิธีก็ง่ายมากครับ คนที่จ่ายก็จ่ายตามจำนวนมาลงในกองกลาง
คนที่ต้องได้คืนก็หยิบเงินคืนแค่นั้นครับ เพราะ
นาย A นาย B นาย D ต้องจ่ายรวม 140 บาท
นาย C นาย E นาย F ต้องได้เงินคืน 140 บาทเท่ากัน

ปล. ปัญหาของการทำงานกลุ่ม จริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ตอนหารเงิน
แต่อยู่ที่เจอเบี้ยว ไม่จ่างเงินต่างหาก วิธีที่น่าจะดีที่สุดคือการเก็บเงินก่อน หารคืนที่หลังครับ ง่ายสุดด้วย

จากคุณ : vandalism
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 09:40:28
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:38:29 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 20

ตามข้างบนเลยครับ ง่ายกว่า

แก้ไขเมื่อ 16 ก.ย. 52 09:53:52

จากคุณ : go2thanawat (go2thanawat)
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 09:52:32
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:38:43 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 21

วิธีของผมง่ายกว่านั้นครับ
เรียกเก็บเงินเป็นรายเดือนเลย จะเอาไปซื้ออะไรว่ากันทีหลัง

จากคุณ : unholy
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 11:46:11
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:38:56 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 22

จขกท.ใช้กับสถาณการณ์จริงของผมสมัยเรียนไม่ได้อ่ะครับ
ได้เงินครั้งนึงถึงจะขอกะตังแม่มาทำบอร์ดคงได้ไม่เกิน สองร้อย แล้วดันไปจ่าย ค่าบอร์ดพลาสติก 180 (เพราะแม่ดันตั้งชื่อว่า F) ก็ไม่มีตัง 90 บาท จะมาจ่ายรอบสองแล้วอ่ะครับ ยอมเปลืองหมอง หรือกดเครื่องคิดเลข ตามวิธี คห.19 ก็น่าจะดีกว่า ลดขั้นตอนให้น้อยลง เอาเวลาไปทำบอร์ด ไปเตะบอลสนามบาส หรือว่าผมควรจะไปยืม นาย G มา 70 บาท บวกกับที่เหลืออีก20 บาท จะได้ไปวางกองเพื่อแบ่งกันอีกที.......

จากคุณ : คินดะอิจิ
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 13:04:41
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:39:10 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 23

ตอบคุณ vandalism คห 19


อืม ของผม ผมว่าง่ายกว่านะครับ

แต่ละคนไม่ต้องคำนวนเลยว่า จะต้องจ่ายเพิ่มเท่าไหร จะต้องได้คืนเท่าไหร



ซึ่งวิธีที่คุณว่า ต้องคำนวนว่าเราต้องจ่ายเพิ่ม หรือ ต้องได้คืนเท่าไหร (แม้ว่าจะคำนวนไม่ยากก็ตาม)



วิธีผมตัดการคำนวนส่วนนี้ไปเลยเพราะไม่สนใจ คุณแค่ลงเงินไปใหม่ เท่าที่หารเฉลี่ย แล้วเก็บเงินที่เคยลงไปแล้วคืน



ในทางทฤษฎี แล้ว ถ้าเขียนวิธีเป็นข้อๆ ผมใช้วิธีการสั้นกว่าครับ




แต่ในทางปฏิบัติ อาจมีปัญหาหลายอย่างแบบที่หลายๆความเห็นว่าครับ เช่น ไม่มีเศษ ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายลงไปใหม่

จากคุณ : navagan
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 13:04:44




โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:39:24 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 24

ผมว่าตามที่คนตั้งกระทู้ว่ามามันก็ดีครับ
เป็นระบบดี

ชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอน

แต่ปัญหาของคนไทยคือ
ไม่มีระบบใด ๆ จะจัดการได้ นอกจากการเอาสิ่งไม่เป็นระบบมาจัดการ
เช่น คอมมิวนิสต์

พอ ๆ นอกเรื่อง

พวกที่ไม่ชอบเปลี่ยนจะมองว่า วุ่นวายยุ่งยากน่ะสิครับ
และมักจะอวดภูมิ โชว์เหนือด้วยการ คิดเอง เออเองมาเสร็จสรรพ
แล้วทำตามรูปแบบของความคิดเห็นที่ 19
ซึ่งมักมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดสูง
โดยเฉพาะคนที่อยากจะมัวนิ่มด้วยแล้ว
นิสัยคนไทยหลาย ๆ คนจะหยวน ๆ เพราะ
มึน งง และไม่อยากเรื่องมาก
เลยปล่อยให้คนที่เสียผลประโยชน์ ก็เสียต่อไป
คนที่ได้ประโยชน์ก็ได้ต่อไป

ปล. 1
ความคิดเห็นที่ 19 ครับขออภัยที่พาดพิง แต่ผมไม่ได้คิดอะไรนะครับ

ปล. 2
วิธีนี้บางกลุ่มก็ใช้กันอยู่แล้ว เป็นลักษณะของ การเล่นแชร์แบบดอกหักครับ

จากคุณ : SuperTee (itCrazy)
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 13:08:05
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:39:40 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 25

คคห 23,24
อ๋อ... เข้าใจแล้วครับ ผมอ่านของ จขกท. ไม่เคลียร์เองครับ
ขออภัยครับ

จากคุณ : vandalism
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 13:27:36




โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:39:53 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 26

วิธีคิดแบบไหนก็ไรประโยชน์ในความจริง เพราะปัญหาสำคัญไม่ใช่การคำนวน ไม่เคยมีสูตรอะไร ถึงเวลาคำนวนก็ค่อยๆคำนวนไปก็ได้มาใช้สูตรไหนก็ไม่ช่วยให้ใช้เวลาน้อยลงจนเป็นประเด็น คิดแบบลูกทุ่งก็ไม่เกิน 5 นาทีอยู่แล้ว ปัญหาสำคัญคือความพร้อมในจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ล่ะคนต่างหาก แบบแบงค์ 1000 บ้าง แบงค์ 500 บ้าง ไม่มีเศษบ้าง ไอ้เนี่ยตัวสำคัญสุดท้ายต้องมีสักคนบอก เออไม่เป็นไรไม่ต้องทอนตู แบบสรุปก็คละๆ มีคนขาดทุนน้อยบ้างมากบ้างนิดๆหน่อยๆตามกำลังแต่ก็ไม่มากขนาดมาติดใจเพราะคราวหน้าก็เป็นคราวคนอื่นบ้างตามโอกาส

จากคุณ : ravasear
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 15:18:37




โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:40:10 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 27

ผมก็ยังจะยืนยันวิธีตาม #19 อยู่ดีครับท่าน

ในเมื่อเมื่อจ่ายเงินไป ทุกคนย่อมรู้ว่าตัวเองจ่ายไปเท่าไหร่แล้ว

แล้วพอคำนวณเงินเฉลี่ยน 540/6 = 90 บาท << ในส่วนนี้วิธีของ จขกท. ก็ต้องคำนวนเช่นกัน

ก็บอกเพื่้อนๆไปว่า คนละ 90 บาท แล้วทุกจะรู้ด้วยตัวเองว่า ต้องจ่ายอีกเท่าไหร่ หรือต้องคืนอีกเท่าไหร่

แล้วก็ให้คนที่ยังจ่ายไม่ครบจ่ายมาให้หมด แล้วคนที่ต้องได้คืนค่อยหยิบไป

ประเด็นมันอยู่ที่ว่า แต่ละคนจะคำนวณส่วนต่างของเงินตัวเอง แล้วจ่ายหรือหยิบคืนให้ครบพอดี



สำหรับข้อดีของวิธีนี้คือ คนอื่นๆไม่ต้องรับรู้ว่า ใครจ่ายเท่าไหร่ รู้เพียงว่าตัวเองจ่ายไปเท่าไหร่ ก็สามารถเคลียร์เงินได้ลงตัว และไม่ต้องมีเงินสำรองในกระเป๋าเยอะพอที่จะจ่ายซ้ำไปอีกรอบได้

ลองนึกถึงสถานการณ์อยู่ในผับ มีบิลมา ไม่มีเวลาให้หาร + ความมืด แต่ละคนก็เอาเงินตุ๊บๆกัน คนละ 5-6 ร้อย แล้วพอครบก็จ่ายไป แล้วรอรอเงินทอนมา แล้วเอาเงินทอนให้ใครเก็บไว้ก็ได้

ทีนี้ พอวันรุ่งขึ้น ต่างคนต่างหายเมา บางคนเงินในกระเป๋าเหลือกันไม่ถึง 100 บาท เพราะเมื่อคืนควักไปจนหมดตัว

ก็แค่เอาราคามาหาร แล้วบอกว่าต้องจ่ายคนละเท่านี้ ใครยังไม่จ่ายก็จ่ายให้ครบ ใครจ่ายเงินเกินก็เอาเงินคืน แค่นี้ทุกอย่างก็ลงตัว และไม่มีปัญหากับคนที่ไม่เหลือเงินมาสำรองจ่ายด้วย

จากคุณ : ฉันมีค่าแค่ไหน
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 17:59:19
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:40:29 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 28

เก็บก่อน คนละ 100 เงินขาด เก็บเพิ่ม เงินเหลือ หารกัน ไม่จ่าย คัดชื่อออกจากกลุ่ม ไม่ช่วยงาน จ่ายเพิ่มพิเศษเป็นค่าแรงคนอื่นในกลุ่ม

จากคุณ : AIM-9X
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 20:23:24




โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:40:41 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 29

เท่าที่อธิบายมา มันก็ซับซ้อน และยุ่งยากในการปฏิบัติจริง อยู่ดี คนไทยชอบอะไรง่ายๆ รู้สึกได้เปรียบจะชอบมาก โกงได้หน่อยหนึ่งจะดีใจมากขึ้น

จากคุณ : 3D Acid
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 20:35:04
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:40:54 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 30

ตอบ คห.29

ที่อธิบายมา มันยุ่งยากเพราะว่า ผมจะอธิบายให้เข้าใจหลักการน่ะครับ


วิธีปฎิบัติจริงๆ มีแค่ 3 ขั้นตอน


โดยให้ มีผู้จัดการแค่ 1 คน คอยทำดังนี้


1. คำนวณ: รวบรวมค่าใช้จ่ายว่า ทั้งหมดกี่บาท หาค่าเฉลี่ยว่าต้องออกคนละกี่บาท

2. จ่าย: ทุกคนจ่ายเงินตามค่าเฉลี่ยนั้น เป็นเงินกองใหม่

3. คืน: ทุกคนหยิบเงินคืนตามที่ตัวเองจ่ายไปในงวดแรก



แทบจะไม่ต้องคิดมากอะไร แค่มีคนคิดคนเดียวก็ พอแล้วครับ





แต่มันก็จะมีปัญหาเวลาปฏิบัติจริง อย่างที่หลายความเห็นว่ามาครับว่า ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายรอบสอง

จากคุณ : navagan
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 20:51:45




โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:41:07 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 31

ตอบ คห.27 ครับ


ผมก็ยืนยันเช่นกันครับว่า วิธีของผม "ขั้นตอนน้อยกว่า" และ "คำนวณน้อยกว่า" จริงๆ


แม้ว่า "การคิดในใจ" ว่า "จะต้องจ่ายเพิ่ม" หรือ "ต้องได้คืน" เท่าไหร่นั้น จะไม่ได้ยุ่งยาก หรือซับซ้อน ก็ตาม (บวก ลบ เลข ไม่เกิน 20 วินาทีก็เสร็จ)

แต่ในวิธีของผมนั้น ตัดกระบวนการนี้ทิ้งไปได้เลย (ซึ่งวิธีใน คห.19 ยังต้องมีกระบวนการนี้อยู่)





แต่มันก็อาจจะยุ่งยากจริงๆ ในการปฏิบัติ แบบที่คุณว่าครับ ^_^

จากคุณ : navagan
เขียนเมื่อ : 16 ก.ย. 52 21:01:32




โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:41:20 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 32

ระบบบริษัท เงินเข้า เงินออกคนละส่วนกัน ป้องกันความผิดพลาดสูงก็จริง


แต่เอามาใช้กับกลุ่มคน แชร์ค่าเหล้า ค่าอาหาร ตามท้องถนนที่ไม่มีสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น่าจะเหมาะ..

จากคุณ : tenno
เขียนเมื่อ : 17 ก.ย. 52 13:29:56
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:41:37 น.  

 
ความคิดเห็นที่ 33

เป็นผมจะไปเช็คราคาของที่ต้องใช้ทั้งหมดก่อนครับ
แล้วรวมว่าต้องจ่ายทั้งหมดเท่าไหร่ แล้วก็หารว่าตกคนละเท่าไหร่
แล้วค่อยเก็บเงินทีเดียวครับ

จากคุณ : ทาคุ (samith_k)
เขียนเมื่อ : 17 ก.ย. 52 13:47:28
ถูกใจ : navagan



โดย: navagan วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:0:41:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.