Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
6 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 

เศรษฐกิจจีน : ภาวะฟองสบู่และค่าเงินหยวน

บทความนี้เป็นฉบับแรกที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หลังจากที่ผมย้ายสังกัดมาอยู่ที่ไทยธนาคาร โดยผมจะยังคงเขียนในคอลัมน์นี้เดือนละครั้งเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามความเห็นต่างๆที่ผมเขียนยังคงเป็นความเห็นส่วนตัวและไม่จำเป็นที่ต้นสังกัดของผมจะเห็นแบบเดียวกัน
สำหรับฉบับนี้ผมขอเขียนถึงเรื่องที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยไม่แพ้เรื่องอื่นๆ นั่นคือเศรษฐกิจของประเทศจีน ซึ่งเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญของไทย ผมจะกล่าวถึงสาเหตุของการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ และความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจฟองสบู่กับค่าเงินหยวน โดยหวังว่าจะช่วยให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเศรษฐกิจจีนได้ดียิ่งขึ้น
เนื้อหาของบทความฉบับนี้ส่วนใหญ่มาจากแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลก 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์โกลด์สไตน์ (Morris Goldstein) นักวิจัยอาวุโสประจำสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Institute for International Economics: IIE) ของสหรัฐฯ และ ดร.วอล์คเกอร์ (Jim Walker) จากบริษัทวาณิชธนกิจ CLSA ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจชั้นนำของโลก นอกจากนี้ยังได้ความคิดจากผลงานของนักเศรษฐศาสตร์และสำนักวิจัยอื่นๆ อีกหลายฉบับ
สาเหตุหลักของการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ของจีน มี 2 ประการ คือ การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากสังคมนิยมมาเป็นทุนนิยมโดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ และการที่เงินหยวนมีค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก
การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจเป็นทุนนิยมและการให้ประชาชนทั่วไปสามารถถือครองทรัพย์สินได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ จากการศึกษาของศาสตราจารย์ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter) พบว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจมักจะนำไปสู่วัฎจักรเศรษฐกิจ ซึ่งนำมาทั้งภาวะเจริญรุ่งเรืองและภาวะถดถอยของเศรษฐกิจ ในระยะแรกเนื่องจากมีโอกาสที่ธุรกิจใหม่จะทำกำไรได้สูง จึงเกิดการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆอย่างมาก ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูงในช่วงต้นของวัฎจักร อย่างไรก็ตามการขยายการลงทุนจำนวนมากทำให้เกิดการลงทุนเกินความจำเป็น และนำไปสู่กำลังการผลิตและอุปทานส่วนเกินตามมา ในช่วงสุดท้ายของวัฏจักร กำลังการผลิตและอุปทานส่วนเกินทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในระดับต่ำกว่าต้นทุนที่สูงขึ้น การลงทุนจึงหดตัวลง และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในที่สุด
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในระยะยาวเศรษฐกิจจะปรับไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงคริสต์ศตวรรษ 1800 ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมากในสหรัฐฯและยุโรปตามมา และสุดท้ายนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (The Great Depression) ในต้นคริสต์ศตวรรษ 1900 แต่ผลในทางบวกคือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง
เศรษฐกิจครั้งใหญ่จากระบบเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม หรือที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไปสู่เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) ซึ่งนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ ITในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2001 แต่ IT ก็ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในหลายๆด้านตามมา โดยรวมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้ง 2 ครั้งทำให้มีประโยชน์มากกว่าผลเสีย
กรณีประเทศจีนก็เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนโครงสร้างดังกล่าวส่งผลให้มีการลงทุนใหม่ๆจำนวนมาก ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะในกรณีที่แรงงานจีนที่เรียนรู้ทักษะการผลิตสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เคยทำงานอยู่และหันมาเป็นผู้ประกอบการเอง ประกอบกับการที่จีนไม่มีการบังคับใช้มาตรการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้มีการเลียนแบบการผลิตอย่างแพร่หลาย และก่อให้เกิดการขยายการลงทุนในการผลิตสินค้าลอกเลียนแบบอย่างรวดเร็ว
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือ การที่ค่าเงินหยวนมีระดับต่ำกว่าค่าที่ควรจะเป็นมาก ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมากทั้งเพื่อการลงทุนและเก็งกำไรค่าเงิน ประกอบกับการที่จีนมีความสามารถในการแข่งขันสูงและการที่เงินหยวนมีค่าต่ำ ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวสูงและมีการเกินดุลการค้ามูลค่ามหาศาล การไหลเข้าของเงินทุนและการเกินดุลการค้าจำนวนมาก ทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงมากใน 5 ปีที่ผ่านมา จากประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปลายปี 2545 เป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2550
การเพิ่มขึ้นของเงินสำรองระหว่างประเทศมูลค่ามหาศาลส่งผลให้เกิดสภาพคล่องท่วมระบบธนาคาร จึงมีการเร่งปล่อยสินเชื่อ การกระทำดังกล่าวเป็นตัวเร่งการขยายตัวของการลงทุนที่เกิดจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้รุนแรงขึ้นอย่างมาก จนเกิดปัญหาการลงทุนเกินความจำเป็นและกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมเกือบทุกสาขา และอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ที่รุนแรงในทั้ง 2 ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญดังกล่าว นอกจากปัญหาฟองสบู่ยังได้ลุกลามไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ โดยตั้งแต่ต้นปี 2549 ถึงปัจจุบัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของจีนปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 3 เท่า และอัตราส่วนราคาต่อผลกำไร (P/E ratio) ปรับสูงขึ้นจนถึงเกือบ 50 เท่า
ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนเข้าสู่สภาวะฟองสบู่เต็มตัว มีอุปทานส่วนเกินในอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก และกำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมเกือบทุกสาขา รวมทั้งฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยส่วนตัวผมคิดว่าเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ช่วงท้ายของเศรษฐกิจฟองสบู่แล้ว เนื่องจากทั้งกำลังการผลิตและอุปทานส่วนเกินทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในระดับต่ำขณะที่ต้นทุนต่างๆปรับตัวสูงขึ้น การที่ธุรกิจจีนส่วนใหญ่ยังมีกำไรก็เพราะประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นเร็วกว่าต้นทุน อย่างไรก็ตาม มีหลายองค์กร เช่น CLSA, BCA และมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้ความเห็นตรงกันว่าในปี 2550 ประสิทธิภาพการผลิตของจีนจะเพิ่มช้ากว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นและอัตรากำไรของธุรกิจลดลง
ที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามชะลอเศรษฐกิจไม่ให้ขยายตัวร้อนแรงเกินไป แต่ก็ยังไม่มีผลอย่างจริงจัง ซึ่งผมคิดว่า เป็นเพราะรัฐบาลคิดว่ายังไม่มีปัญหาเสถียรภาพภายในประเทศเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ โดยตั้งแต่ปี 2545 – 2549 อัตราเงินเฟ้อของจีนอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 1 เท่านั้น รัฐบาลจึงไม่มีมาตรการเข้มข้นในการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ แต่ทว่าภาวะการณ์เริ่มเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี 2550 โดยล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับร้อยละ 3 การที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้รัฐบาลจีนต้องหันมาใช้มาตรการเศรษฐกิจที่เข้มงวดทั้งมาตรการทางการเงิน ค่าเงินและอื่นๆ เพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะนโยบายค่าเงินที่เป็นปัจจัยหลักของปัญหา
รัฐบาลจีนเริ่มใช้มาตรการการเงินและค่าเงิน เพื่อชะลอเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2548 แต่เพิ่งจะเข้มงวดมากขึ้นในปี 2550 โดยเริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทางการจากร้อยละ 5.44 จนมาอยู่ที่ร้อยละ 6.66 ในปัจจุบัน และปรับเพิ่มอัตราการดำรงเงินสดสำรองของธนาคาร (Required Reserve Ratio) 8 ครั้ง จากร้อยละ 6.0 เป็นร้อยละ 11.5 ซึ่งในจำนวนการปรับทั้งหมด 8 ครั้งนั้น 4 ครั้งเป็นการปรับที่เกิดขึ้นในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ที่สำคัญคือรัฐบาลจีนเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากการผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นระบบตะกร้าเงิน และให้ค่าเงินหยวนเปลี่ยนแปลงได้ร้อยละ 0.3 ต่อวัน และล่าสุดปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 0.5 ต่อวัน เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าเพื่อการเก็งกำไร
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการที่ล่าช้า ตั้งแต่การเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เริ่มเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 จนกระทั่งถึงวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนปรับเพิ่มจาก 8.27 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 6.747 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 7.5 เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ประมาณร้อยละ 20 ทำให้ยังคงมีเงินทุนไหลเข้าประเทศจีนอย่างต่อเนื่องมิได้ชะลอลง เศรษฐกิจจีนจึงมิได้ชะลอตัวลงอย่างที่คาดไว้ นอกจากนี้ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การที่ค่าเงินไม่มีความยืดหยุ่นทำให้นโยบายการเงินไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเนื่องจากเมื่อมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีเงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรส่วนต่างของดอกเบี้ยในที่สุดปริมาณเงินก็กลับมาเหมือนเดิม
ผมขอสรุปว่า รัฐบาลจีนจะพยายามชะลอเศรษฐกิจโดยหันมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นและให้ค่าเงินหยวนค่อยๆแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตามจากข้อจำกัดต่างๆเช่น ค่าเงินที่ไม่ยืดหยุ่น ขนาดของปัญหาที่ใหญ่มากเกินกว่ารัฐบาลใดๆจะจัดการได้ ตลาดการเงินที่ยังไม่พัฒนามากนักทำให้ขาดกลไกที่จะรองรับระบบค่าเงินที่ยืดหยุ่น ผมจึงขอคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวอย่างร้อนแรงต่อไปอีกอย่างน้อยอีก 2 ไตรมาสจากการไหลเข้าของเงินทุน แม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงบ้างก็ตาม แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนแบบนี้ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาที่รุนแรงขึ้นในอนาคต




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2550
6 comments
Last Update : 6 มิถุนายน 2550 9:06:52 น.
Counter : 650 Pageviews.

 

เขียนบทความนี้เองหรือคะ
หรือคัดลอกมา พอดีไม่เห็นชื่อคนเขียนคะ

 

โดย: อุ๋งอิ๋ง (อิ๋ง ณ มอ. ) 6 มิถุนายน 2550 9:24:18 น.  

 

เดี๋ยวมาอ่านนะ ลงชื่อไว้ก่อน

 

โดย: เอ๊กกี่ 6 มิถุนายน 2550 14:24:40 น.  

 

ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ ^ ^

 

โดย: พีทคุง (redistuO ) 6 มิถุนายน 2550 15:15:34 น.  

 

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: จี้ IP: 202.91.19.205 1 มกราคม 2551 18:58:03 น.  

 

ดีคับ กำลังหาบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เลย

 

โดย: 4 IP: 203.144.184.61 23 มกราคม 2551 10:38:16 น.  

 

ฮะฮะฮะ
พี่อยู่จีนมาสามปีกว่าล๊ะ เดิมทีพี่ก็เชื่อการวิเคราะห์ของพวกสำนักดังๆ อ๊ะนะ Morgan stanley อะไรประมาณนี้ แต่พอมาอยู่จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่อ๊ะ ฐานเศรษฐกิิจจีนหน่ะ แข็งมาก มันไม่ใช่ฟองสบู่แบบบ้านเรา
ถ้าจะมีัปัญหาก็ปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยอ๊ะ
จะทำใ้ห้กลุ่มคนชนบทเข้ามาในเมืองและเศรษฐกิจเสรีลงได้
ผู้บริหารจีนเก่งกว่าที่ฝรั่งคิด อย่างตัวเลขการนำเข้างี้ จีนเอาผลผลิตที่เกิดจากการผลิตของบริษัทข้ามชาติในประเทศจีน รวมเป็นข้อมูลการนำเข้าจากต่างประเทศนะ
เช่น P&G ผลิตและขายในจีน จีนก็เอาตัวเลขนี้มาเป็นตัวเลขการนำเข้าด้วย เหอะ เหอะ
ทีแรกพี่ก็เฮ้ยยย ทำได้ไงวะ มิน่าัถึงได้ทะเลาะกับอเมริกาซะแทบเป็นแทบตาย ก็ข้อมูลที่ึคุยกันมันคนละตัวอ๊ะ

หุ้นหน่ะ คนต่างชาติก็ห้ามเล่น ภาษีก็สูงมาก ภาษีนำเข้า 17% บวก ภาษีเพื่อการบริโภค 17% บวกกับภาษีมูลค่าเพิ่ม 13-17% ฮะฮะฮะ
คนบริโภคสินค้านำเข้า ก็จ่ายไป ลงโทษซะ 50% ของราคาซื้อ หุหุ
อ๊ะ เรามาวัดดวงกัน ว่าใครจะแม่นกว่ากัน
พี่ว่าจีนไม่ล่มแน่ เค้าเตรียมการพัฒนามาตั้งแต่ปี 1978 ยากค่ะ ยากที่จะล่ม
โอ้ยยย เขียนยาวเน๊อะ กำลังหาข้อมูลค่าเงินหยวนอยู่ค่ะ เห็นว่าปลายปีมีเป้าหมายที่ 6.5 หยวน ต่อ ดอลล่าร์ ตอนนี้ 6.8 หยวน
ชาวฟันเฟือนรวงข้าว ลูกแม่โดม ขอฟันธงด้วยคน ฮะฮะ

 

โดย: น่าคิด IP: 221.217.14.58 21 สิงหาคม 2551 13:47:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


psak28
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]





คนเราเกิดมาจากเหตุปัจจัยจากกรรมที่เราสร้างขึ้น และด้วยอนุสัยที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตกาล ย่อมมีความสุข และความทุกข์เป็นธรรมดา เราก็แค่เป็นเพียงผู้ดูสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น เปรียบเสมือนการดูละคร ดูแล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องไปยึดติดกับมัน เคยสงสัยเหมือนกันว่าคนเราเกิดมาทำไมกัน แล้วทำไมคนเราจึงไม่เหมือนกันเลย ทั้งรูปร่าง หน้าตา กิริยา และการดำเนินชีวิต ที่กล่าวมาล้วนมีกรรมสรรสร้างให้เป็นอย่างนั้น หน้าที่ของเราก็คือ ละเว้นความชั่ว ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ขาวรอบ


อันนี้ลองดูนะครับ หากใครสนใจหวยหุ้น หวยรัฐบาล นี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ ได้มากกว่า ^_^



อันนี้น่าสนใจดีครับ จุ๊บลมยางที่สามารถบอกเราได้ว่าลมยางตอนนี้เป็นเท่าไหร่ และเตือนเราในกรณีลมยางอ่อนได้ ลองดูกันนะครับ




: Users Online

Friends' blogs
[Add psak28's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.