Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
4 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
ข้อคิดธรรมะ และปร้ชญา

วิ่งตามอะไรกันในชีวิต


มีเรื่องเล่าว่า… มีพระองค์หนึ่ง…ชอบทำอะไรแปลกๆ…
วันหนึ่ง…พวกกรุงเทพฯ…เอากฐินไปทอดที่วัด…


จัดงานกันใหญ่โต…มีหนัง…มีลิเก…มีดนตรี…ผู้คนแห่กันมามืดฟ้ามัวดิน…
ก่อนทอดกฐิน..ผู้คนมารวมกันเต็มศาลา…
หลวงพ่อเรียกเด็กวัดมา…
บอกให้ไปเอาเนื้อจากโรงครัวมาก้อนหนึ่ง…แล้วเอาเชือกมาด้วย…
หลวงพ่อจัดการ…เอาเนื้อ…ผูกติดกับหลังหมา…

ผูกเสร็จ…ก็ปล่อยหมา …
หมาเห็นเนื้ออยู่บนหลัง…ก็ไล่งับ…
พอหัวโดดงับ…ตัวก็ขยับหนี…
เพราะหมามันกัดหลังตัวเองไม่ถึง…
ยิ่งโดดงับเร็ว…ก้อนเนื้อก็หนีเร็ว…
โดดไม่หยุด…เนื้อก็หนีไม่หยุด…น่าสงสารหมามาก…

หมาโดดอยู่นาน…งับเท่าไหร่…เนื้อก็ไม่เข้าปากสักที…
ผู้คนบนศาลา…พากันหัวเราะชอบใจ…
หัวเราะเยาะหมา…ว่าทำไมมันถึงโง่ยังงี้…
ไล่งับ…จะกินเนื้อ…ที่ตัวเองไม่มีทางไล่ตามทัน ตลอดชีวิต…

หลวงพ่อ…มองดูด้วยความสนุกสนานจนหนำใจแล้ว…
ก็แก้เชือกออกมากหลังหมา…
แล้วหันมาพูดกับญาติโยมว่า…

มนุษย์เรา…มีความรู้สึกว่า…ตัวเองพร่อง…ตัวเองยังไม่เต็ม…
ต้องเติมตลอดเวลา…เติมไม่หยุด…เพื่อให้ตัวเองเต็ม…

เราอยากสวย…อยากทันสมัย…
ไปหาซื้อเสื้อผ้าที่สวยที่สุด…ทันสมัยที่สุดใส่…
ดีใจได้เดือนเดียว…มีรุ่นใหม่ออกมาอีกแล้ว…สวยกว่า…ทันสมัยกว่า…
อยากได้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่…
ซื้อเสร็จ ๓ เดือน…รุ่นใหม่ก็โผล่มาอีกแล้ว…

ซื้อคอมพิวเตอร์ทันสมัยที่สุด…
๒ เดือนต่อมา…มีรุ่นใหม่กว่าออกมา…ของเราตกรุ่น…

ซื้อรถเบนซ์…ทันสมัยที่สุด…แพงมาก…
ขับได้ ๖ เดือน…มีรุ่นใหม่ออกมาอีกแล้ว…
ทันสมัยกว่า…แพงกว่า…ของเรากลายเป็นเชย…

เราต้องก้มหน้าก้มตา…ทำงานทั้งวัน ทั้งคืน…หาเงินมา…
เพื่อมาทำให้ตัวเองทันสมัย…
ซื้อเสื้อผ้าใหม่…มือถือใหม่…คอมพิวเตอร์ใหม่…รถยนต์คันใหม่…
เหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส…
เพื่อไม่ให้ตัวเองตกรุ่น…

ปัจจุบัน…
เรากำลังไล่งับความทันสมัย…เหมือนหมาที่ไล่งับเนื้อบนหลังของมัน…
ทั้งที่รู้ว่า…ต่อให้ไล่งับทั้งชีวิต…ก็ไม่มีทางตามทัน…
น่าสงสารไหมโยม…

คนเต็มศาลา…เมื่อกี้หัวเราะครึกครื้น…
ด่าว่า…หมามันโง่…
ตอนนี้เงียบสนิท…เหมือนไม่มีคนอยู่…

ไม่รู้ว่า…กำลังสงสารหมา…
หรือ…กำลังทบทวนความโง่…ตัวเอง…

(จาก ทำดี)
ข้อคิด ธรรมะ ..ปร้ชญา..โดย Zyberni@

-----------------------------------------------------------------------------



Create Date : 04 กรกฎาคม 2552
Last Update : 6 กรกฎาคม 2552 18:58:28 น. 4 comments
Counter : 395 Pageviews.

 
ให้ ....

มากผู้คนเอ่ยขานถึงการให้
นิยามไว้แตกต่างสร้างสีสัน
สรุปลงตรงที่มีเหมือนกัน
คือแบ่งปันแบ่งไปให้เจือจาน

สิ่งที่ให้นั้นต่างไปตามใจคิด
บ้างก็ให้ยาพิษมุ่งสังหาร
บ้างก็ให้ยาหอมเพิ่มชื่นบาน
บ้างให้ทานทรัพย์สินรินน้ำใจ

สิ่งที่รับผู้หยิบจับยินดีจิต
กระชับมิตรเกี่ยวข้องต้องนิสัย
ยิ่งเป็นสิ่งได้รับที่ถูกใจ
ความยินดียิ่งใหญ่ประทับตรา

คุณค่าของการให้ในเบื้องแรก
คือปลดแอกทุกข์ผู้รับดับปัญหา
ได้ถูกตรงต้องสถานกาลเวลา
ถูกจริตนำพาสุขเพิ่มพูน

คุณค่าของการให้อาจไร้ค่า
หากอุดหนุนตัณหาไม่สิ้นสูญ
มุ่งบำเรอเปรอปรนจนเทิดทูน
ทวีคูณโซ่กรรมจำจองใจ

คุณค่าของการให้ด้วยรักแท้
คือช่วยแก้ทุกข์ประจำปลดเงื่อนไข
เท่ากับลดทุกข์จรควบคู่ไป
คือการให้ธรรมเป็นทานสารปัญญา

เป็นการให้ด้วยรักสมัครจิต
ไร้สิ่งพิษผลข้างเคียงเสี่ยงปัญหา
ให้โอกาสด้วยรักที่เมตตา
ปลอบขวัญให้เก่งกล้าไม่กลัวภัย

เป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ด้วยความรัก
หมายสมัครเสริมกุศลบนนิสัย
ผู้ให้อาจเหน็ดเหนื่อยสักเท่าใด
ก็สุขใจแม้นไร้ผู้กู่ชื่นชม

จากพี่ดอกแก้ว ลานกวี


โดย: Nunoynaruk วันที่: 6 กรกฎาคม 2552 เวลา:19:00:52 น.  

 
ผู้ฝึกตน

ทุกข์ระทมก้มหน้าน้ำตาไหล
มีรอยเจ็บที่ใจยากรักษา
คำนึงครวญหวนคิดเรื่องผ่านมา
ร่ำร้องหาสุขดังเก่ามาเคล้าคลอ

แล้วพร่ำโกรธโทษคนทำตนทุกข์
ชีพสิ้นสุขเพราะใจใฝ่ร้องขอ
ตั้งโจทย์ให้ผู้อื่นมาพะนอ
มอบความผิดว่าเขาก่อเป็นตัวการ

ครั้นโทษเขาเฝ้าคิดแล้วอภัย
พอที่จะทำใจอย่างกล้าหาญ
ไม่ถือโทษโกรธใครให้ยาวนาน
เพราะใจนั้นคิดอ่านว่า..ตนดี

ความที่คิดว่าตนถูกผูกปัญหา
กลายเป็นว่าคนอื่นร้ายน่าหน่ายหนี
ยึดมั่นในชีวิตตนเป็นคนดี
จึงไม่มีการตรวจตราสิ่งน่าชัง

ความขัดแย้งเกิดขึ้นในสองฝ่าย
วิเคราะห์ได้ถึงสาเหตุในเบื้องหลัง
เกิดจากใจที่ไม่ระมัดระวัง
จึงชอบชังสวนทางสร้างแยกซอย

หากมุ่งคิดว่าเขาผิดเรายิ่งพลาด
ต้องฉลาดแก้ปัญหาอย่าท้อถอย
มองหาความผิดตนบนร่องรอย
จะมากน้อยก็ต้องพบประสบกล

เมื่อรู้ถึงความผิดคิดแก้ไข
ไม่ถือตนเป็นใหญ่ไร้เหตุผล
คอยระวังไม่ก่อเหตุร้อนรน
ฝึกใจตนมีสติปัญญาครอง

ใครเขาทำไม่ดีก็ช่างเขา
แก้ใจเราออกจากบาปให้พ้นหมอง
เกิดที่ตน.. แก้ที่ตน ..หมั่นตรึกตรอง
สุขทั้งผองจักคืนสู่ผู้ฝึกตน

จากคุณดอกแก้วลานธรรมมะ




โดย: Nunoynaruk วันที่: 6 กรกฎาคม 2552 เวลา:19:01:59 น.  

 
การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาและได้บุญเยอะที่สุด......
การปฏิบัติธรรมนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธีสมาธิแบ่งเป็นสมถะและวิปัสสนา
สมถะนั้นมี 40 วิธี แต่วิปัสสนา เป็นเพียงกำหนด รูป-นาม และสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งตัวเราเองนั้นมีประสบการณ์ในการปฏิบัติมามากซึ่งถ้ามีอารมณ์
ของกรรมฐานในการปฏิบัติสามารถปรึกษาสอบถามได้ตลอดเวลา
จะรับสอบอารมณ์กรรมฐานเท่านั้น และจะรับปรึกษาเรื่องธรรมะเท่านั้น

ซึ่งถ้าจะปฏิบัติให้ได้นิพพานจริงๆนั้นต้องวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น
ซึ่งในชีวิตประจำวันนั้นสามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา คือ
การกำหนดอิริยาบทย่อยนั่นเอง
ขอยกตัวอย่าง เช่น
ในการเดินไปทำงาน ขณะเดินนั้นก็กำหนดสติว่า ขวา-ซ้าย พร้อมกับ
เอาสติไปไว้ที่เท้าพร้อมระลึกรู้อยู่ในขณะที่กำหนด

ถ้าตอนเรียนหนังสอนตอนที่อาจารย์สอนก็กำหนดว่า ฟังหนอ

ถ้าโกรธก็กำหนดว่าโกรธหนอ

ถ้าปั่นจักรยานก็อาจจะกำหนด ขวา-ซ้าย หรือ ถีบหนอก็ได้

ซึ่งถ้าว่าตามจริงแล้วถ้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น
แม้แค่เซี่ยววินาทีเดียวก็ได้บุญเยอะกว่าการบวช

แม้จะบวชมาล้านๆชาติก็สู้วิปัสสนาแค่เซี่ยววินาทีไม่ได้

แม้ให้ทานมาล้านๆชาติก็สู้วิปัสสนาเซี่ยววินาทีไม่ได้

แม้แต่การปฏิบัติสมถะมาล้านๆชาติก็สู้วิปัสสนาแค่เซี่ยววินาทีไม่ได้

ขอไล่การทำความดีที่ได้บุญเยอะบุญน้อยให้ดู

การทำทาน<การรักษาศีลหรือบวช<ปฏิบัติสมถะ<วิปัสสนากรรมฐานบุญสูงสุดในบรรดาการทำความดีทั้งหลาย

ในขณะปฏิบัติอย่าลืมว่าเราสามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา
แม้ขณะรับประทานอาหารก็ทำได้คือ ยกไปจับ(ช้อน)-ยกมาใส่-อ้า(ปาก)-อม-รสหนอ-หุบ(ปาก)-ปล่อย(ช้อน)-เคียวหนอ-รสหนอ-กลืน

ถ้าการปฏิบัติลืมกำหนดก็กำหนดว่า-เผลอหนอ
ถ้าคิดก็กำหนดว่าคิดหนอ

ถ้าการกำหนดอย่าที่บอกยากไปก็ค่อยๆฝึกไป
ถ้ามันยากจะแนะนำให้คือ กำหนดอย่างเดียวก่อนในอายตนะ 6
แบ่งเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
สมมุติว่า ในขณะที่ได้ยินเสียงก็กำหนดว่า ยินหนอโดยไม่ต้องกำหนด
ทางทวารอื่นเลย ถ้าคิดว่าการกำหนดยินหนอชินแล้วค่อยเพื่อไปเป็น2 อย่าง
คือกำหนดยินหนอ และเพิ่มเห็นหนอซึ่งกำลังปรากฏทางตา เมื่อชินแล้วก็เพิ่มไปอีก จนครบหก การปฏิบัตินั้นอาจจะเอาอายตนะใดก่อนก็ได้ไม่จำเป็นต้อง
เอายินหนอขึ้นก่อน
ขอให้ทุกท่านที่อ่านปฏิบติตามที่บอกไปซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา




โดย: Nunoynaruk วันที่: 17 กรกฎาคม 2552 เวลา:17:33:52 น.  

 
ทำบุญละลายบาป จะได้หรือไม่ ?

มีปัญหาที่คนทั่วไปสนใจมากอยู่ข้อหนึ่ง คือการทำบุญล้างบาปหรือทำบุญละลายบาป จะได้หรือไม่?

การทำบุญละลายบาปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คือใช้ความดีละลายความชั่วให้เจือจาง เช่นความชั่วเกิดขึ้นในใจ เมื่อความคิดดีขึ้น ความชั่วย่อมถอยไป ถ้าความดีเกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่ให้โอกาสแก่ความชั่ว ความชั่วก็เกิดขึ้นไม่ได้ เรียกว่าเอาความดีมาไล่ความชั่วหรือละลายความชั่ว

อีกอย่างหนึ่ง ความชั่วที่บุคคลทำลงไปแล้ว ซึ่งจะมีผลในโอกาสต่อไป ถ้าผู้นั้นเร่งทำความดีให้มากขึ้น จนท่วมท้นความชั่ว ผลของกรรมชั่วก็ค่อยๆ จางลงจนไม่มีอนุภาพในการทำอันตรายให้ทุกข์ เปรียบเหมือนกรด(เอซิด) ซึ่งมีคุณสมบัติทำลายชีวิตได้ แต่ถ้าเติมด่าง(อัลคอไลน์)ลงไปเรื่อยๆ กรดนั้นก็เจือจางลง หมดคุณสมบัติในการทำลายให้โทษ

เปรียบอีกอย่างหนึ่ง เหมือนเกลือกับน้ำ สมมุติว่าเอาเกลือกำมือหนึ่งใส่ลงไปในน้ำแก้วหนึ่ง น้ำนั้นจะเค็มมากเพราะน้ำน้อย แต่ถ้าเราเอาเกลือจำนวนนั้นใส่ลงไปในถังใหญ่ๆ ความเค็มจะไม่ปรากฎแม้เกลือจะยังมีอยู่เท่าเดิม มันกลายเป็นมีเหมือนไม่มี ที่ทางพระท่านเรียก"อัพโพหาริก" แปลว่า"มีเหมือนไม่มี" เรียกไม่ได้ว่ามีเหมือนไม่มี เหมือนน้ำในก้อนดินแห้งหรือเนี้อไม้ เรารู้ได้ว่าความชื้นเป็นคุณสมบัติของน้ำ เมื่อเราจุดไฟเผามีควันขึ้นมา

เอาน้ำเกลือในแก้วซึ่งเค็มมากนั้น เทลงในถังใหญ่ๆ แล้วเติมน้ำลงไปเรื่อยๆ โดยไม่เติมเกลือ ในที่สุดน้ำก็จะไม่ปรากฎความเค็มเลยเพราะจำนวนเหนือจำนวนเกลือมากนัก ข้อนี้ฉันใด การทำความดีละลายความชั่ว หรือละลายผลแห่งกรรมชั่วก็เป็นฉันนั้น ในที่นี้ความชั่วเปรียบเหมือนเกลือ ความดีเปรียบเหมือนน้ำ ในทางกลับกัน กรรมดีเล็กน้อยอาจถูกกรรมชั่วละลายได้เช่นกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีพุทธสุภาษิตอ้างอิงดังนี้

"ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำบาปเพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นนำเขาไปสู่นรก บางคนทำบาปเพียงเล็กน้อยเหมือนกัน แต่บาปกรรมให้ผลเพียงในปัจจุบันชาติเท่านั้น (ทิฏฺฐธมฺมเวทนีย์)ไม่ปรากฎผลอีกต่อไป

บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก? คือบุคคลที่ไม่ได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้อบรมปัญญา มีคุณธรรมน้อย ใจต่ำ บุคคลเช่นนี้แหละ ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก

บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อย แต่บาปนั้นให้ผลอันแสบเผ็ด เพียงในชาติปัจจุบันแล้วไม่ให้ผลอีกต่อไป? คือบุคคลผู้ที่ได้อบรมกายแล้ว อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณธรรมมาก มีใจใหญ่อยู่ด้วยคุณ มีเมตตาเป็นต้น อันหาประมาณมิได้

เปรียบเหมือนบุคคลใส่ก้อนเกลือลงไปในจอกน้ำเล็กๆ น้ำนั้นย่อมเค็ม เพราะน้ำน้อย แต่ถ้าใส่ก้อนเกลือลงไปในแม่น้ำคงคา น้ำในแม่น้ำคงคาจะไม่เค็มเพราะก้อนเกลือนั้นเลย เพราะน้ำมีมาก ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำบาปเพียงเล็กน้อย บาปนั้นนำเขาไปสู่นรก(เพราะเขามีคุณน้อย) บางคนทำบาปเพียงเล็กน้อย บาปนั้นให้ผลเพียงในปัจจุบัน ไม่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป(เพราะเขามีคุณมาก)ฉันนั้น" ๑

คนที่มีคุณธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงเพียงเล็กน้อยเหมือนในน้ำในถ้วยใบเล็กๆ เมื่อทำบาป บาปย่อมให้ผลมาก ส่วนคนมีคุณมากเหมือนน้ำในแม่น้ำ เมื่อทำบาป บาปให้ผลเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่ให้ผลเลยก็ได้ คุณธรรมหรือความดี จึงมีอานุภาพทำลายบาป ล้างบาปไปในตัว

บุคคลยิ่งมีคุณธรรมสูงมากขึ้นเพียงใด โอกาสที่จะล้างบาปหรือละลายบาปมากขึ้นเพียงนั้น เพราะคุณความดีหรือความบริสุทธิ์ของใจนั้น มีคุณสมบัติ มีอานุภาพในการทำลายบาป ดังพุทธภาษิตว่า

"หม้อที่คว่ำ ย่อมคายน้ำออก ไม่ทำให้น้ำเข้าไปข้างใน ฉันได ผู้อบรมแล้ว ทำให้ได้มากแล้วซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ย่อมคายบาปคายอกุศลธรรมออก ไม่ให้บาปอกุศลธรรมเข้าไปข้างใน ฉันนั้น"๒

"ผู้มีกายสะอาด วาจาสะอาด ใจสะอาด ไม่มีอาสวะ คือกิเลสที่หมักหมม นักปราชญ์เรียกผู้สะอาด สมบูรณ์ด้วยความสะอาดเช่นนั้นว่าเป็นผู้ล้างบาปได้"๓

ด้วยประการดังกล่าวมานี้ แสดงว่าการทำความดีละลายความชั่วในใจ และการทำความดีละลายผลแห่งกรรมชั่วที่ทำลงไปแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนผู้เคยผิดพลาดได้กลับตัว

ในเรื่องชีวิตธรรมดา สมมติว่าเคยมีใครคนหนึ่งเคยทำความเดือดร้อน เจ็บช้ำใจให้แก่เรา ต่อมาเขารู้สีกตัวรีบทำความดีต่อเรา และทำเป็นการใหญ่ เราเห็นใจเขา กลับรักเขา ให้อภัยในความผิดพลาดของเขา จริงอยู่สิ่งที่เขาทำลงไปแล้วนั้นก็เป็นอันทำแล้ว ทำคืนไม่ได้ แต่ความดีใหม่ที่เขาทำลงไปเป็นอันมากนั้นย่อมมีผลลบล้างความชั่วได้ นอกจากย่อมมีกำไรเสียออีก

อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนคนเคยเป็นหนี้ เมื่อได้ใช้หนี้แล้ว ใช้หมดแล้ว ยังมีเงินเหลือให้ผู้ที่เขาเคยเป็นหนี้อีกมากมาย อย่างนี้เจ้าหนี้ย่อมจะพอใจเป็นอันมาก เขาได้ชื่อว่าเคยเป็นหนี้เท่านั้น หนี้สินหาได้ติดตัวเขาอยู่จนบัดนี้ไม่ การทำชั่วเหมือนการก่อหนี้ ส่วนการทำความดีเหมือนการปลดเปลื้องหนี้ และการให้หนี้ การทำความดีจึงดีกว่าการทำความชั่ว

อีกตอนหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงปรารภพระองคุลิมาลแล้วตรัสว่า
"บาปกรรมที่บุคคลทำแล้ว ย่อมละเสียได้ด้วยกุศลกรรม บุคคลเช่นนั้นย่อมยังโลกให้สว่างเหมือนดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอกฉะนั้น"

นี้แสดงว่าบุคคลสามารถละลายบาปหรือล้างบาปกรรมด้วยกุศลกรรมได้
ความจริงเรื่องนี้ ทำให้ผู้ที่เคยทำชั่ว มีกำลังใจในการทำความดีในการกลับตัว ไม่ถลำลึกลงไปในความชั่ว คนที่เคยทำความชั่วมา ถ้าเขารู้สึกตัวแล้วและพยายามทำความดี อาจทำความดีได้มากกว่าและเป็นคนดีได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยทำชั่วมาเสียอีก

"การทำผิดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่ถ้าค้นพบความผิดแล้วแก้ไขและตั้งใจว่าจะไม่ทำอีกเป็นซ้ำสอง ก็น่ายกย่องนับถือยิ่งขึ้น"

รวมความว่า ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น บาปย่อมล้างได้ด้วยบุญ กรรมชั่วล้างได้หรือละลายได้ด้วยกรรมดี แต่ต้องใช้เวลานาน กุศลกรรมที่แรงๆ เช่น อรหัตมรรค อรหัตผล สามารถลบล้างความชั่วในใจได้หมดและมีอานุภาพห้ามผลแห่งกรรมชั่วเก่าๆ ที่เคยทำมาแล้วได้หมดสิ้น จะให้ผลอยู่บ้างก็เฉพาะเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น พอท่านนิพพานแล้วผลกรรมต่างๆ ก็เป็นอโหสิกรรมไปหมดสิ้น


บทความนี้คัดมาจากหนังสือ "หลักกรรม และ การเวียนว่ายตายเกิด เขียนโดย สศิน อินทสระ ..







โดย: Nunoynaruk วันที่: 17 กรกฎาคม 2552 เวลา:17:36:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nunoynaruk
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Nunoynaruk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.