ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
กันยายน 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 กันยายน 2563
 
All Blogs
 
ตระพัง

ตระพัง
“8 คันดินบังคับน้ำ-ทำนบเก็บน้ำ” ร่องรอยการจัดการน้ำหลาก ของเมืองโบราณสุโขทัย
เมืองโบราณสุโขทัย ตั้งอยู่บนลานตะพักฝั่งตะวันตก มุมทิศเหนือสุดของเชิงเขาหลวง (ยอดเขาหลวงความสูง 1,200 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง) ลาดเทจากเชิงเขาไปไปทางตะวันออก ที่ระดับความสูงจากทะเลปานกลาง ประมาณ 60 – 65 เมตร มีลำน้ำสำคัญ 2 สาย คือ “คลองแม่รำพัน-แม่ลำพัน” ที่รับน้ำจากคลองในแขกและคลองแม่ลูกอ่อน ไหลอ้อมเขาหลวงลงมาจากทางทิศเหนือ และ “คลองเสาหอ” ที่มีต้นกำเนิดจาก "โซกพระร่วงลองขรรค์" บนเขาหลวง  ไหลลงมาระหว่างช่องเขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา ในช่วงหน้าฝนฤดูน้ำหลาก จะมีมวลน้ำป่าสะสมเป็นจำนวนมหาศาลลงมาจากเขาหลวง ไหลหลากผ่านพื้นที่เมืองโบราณ ซึ่งบางปีก็เชี่ยวกรากรุนแรง บางปีก็ท่วมขังเป็นเวลานานสร้างความเสียให้กับบ้านเรือนและวัดวาอารามมาตั้งแต่โบราณ ก่อนจะไหลลาดลงสู่แม่น้ำยมที่อยู่ในระดับความสูง 52 เมตร ทางทิศตะวันตก  
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 อาจได้ช่วงเริ่มแรกที่มีการตั้งถิ่นฐานขึ้นในเขตตัวเมืองอย่างชัดเจน บริเวณใกล้กับพื้นที่สบน้ำระหว่างคลองแม่รำพันกับคลองเสาหอ แต่ยังไม่มีระบบการจัดการน้ำหลาก ต่อมาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ชุมชนสุโขทัยในวัฒนธรรมเขมรเริ่มขยายตัวขึ้น  อาจได้มีการสร้างปราสาทกลางเมือง 3 หลังตามคติฮินดูไศวนิกายและขุดสระน้ำ (ตระเปรียง) ด้านหน้า เพื่อใช้ในหน้าแล้ง ที่ต่อมาได้ปรับกลายมาเป็นวัดมหาธาตุและตระพังทองครับ  
ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ชุมชนขยายมากขึ้น มีการปราสาทศาลตาผาแดง ตามคติฮินดู “ไวษณพนิกาย” (Vaishnavism) อันเป็นที่มาของคติ “รามราชา” (Ramaraja)  ทั้งยังมีการขุดสระน้ำด้านหน้าตามแบบขนบเขมร ที่ต่อมาคือ “ตระพังสอ” จนถึงในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ได้มีการสร้างปราสาท (วัด) พระพายหลวง 3 หลัง ตามคติพุทธศาสนาวัชรยานตันตระ ได้ปรับเปลี่ยนแนวลำน้ำโจนเดิม ขุดป็นคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบศาสนสถาน ตามความนิยมการสร้างคูน้ำล้อมราชวิหารจากเมืองพระนครในช่วงยุคบายน ไม่ได้ขุดสระน้ำไว้ด้านหน้าแบบในยุคก่อน 
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 นี้เอง อาจได้เริ่มมีระบบการจัดการน้ำที่ไหลหลาก ที่ลงมาจากเทือกเขาในช่วงฤดูฝนขึ้นครั้งแรก ที่แต่เดิมนั้น น้ำจากคลองเสาหอจะไหลลงไปทางทิศใต้ ส่วนคลองแม่รำพันจะไหลโค้งออกไปทางตะวันตก ในช่วงนี้จึงได้เริ่มมีการขุดคันเมือง (คูน้ำ -คันดิน) รูป 4 สี่เหลี่ยม  ความกว้างประมาณ 1,360 เมตร ยาวประมาณ 1,800 เมตร ขึ้นเพื่อใช้เป็นคันกั้นน้ำและผันน้ำ โดยปรับเส้นทางน้ำเดิมของคลองเสาหอผันมาทำเป็นคูเมืองทางทิศใต้ กั้นให้น้ำไหลไปกักเก็บไว้ในคูเมืองตะวันตกและทิศเหนือ รวมทั้งการขุดคูเมืองทางตะวันออกชิดกับคลองแม่รำพัน เพื่อให้น้ำจากคลองไหลเข้าคูเมืองครับ 
เมื่อใกล้หน้าแล้งปริมาณน้ำไหลหลากจากคลองน้ำทั้งสองจะเริ่มลดลง จึงได้มีการก่อเขื่อนเรียงหินเป็นทำนบใหญ่ (Barrage) ระหว่างเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายมา เรียกว่า “สรีดภงส์” (ทำนบพระร่วง) โดยปล่อยน้ำที่กักไว้ล้นออกมาทางคูเมือง  จนเมื่อน้ำหลากลดระดับลง น้ำในคลองเสาหอจะถูกกักเก็บไว้ภายในทำนบเพื่อใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง
ส่วนคลองแม่รำพันทางทิศเหนือ จากแผนที่เส้นชั้นความสูง (Contour) ที่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จะไหลลงมาเข้าสู่ร่องของช่องที่มีระดับต่ำกว่าใกล้กับมุมตะวันออกของคูน้ำวัดพระพายหลวง  ซึ่งในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ช่วง 50 ปี ในสมัยของ “พญาเลอไท (อุทกโชตถตรา – พญาจมน้ำ) และพญางั่วนำถุม (พระนามนำถุง หมายถึง น้ำหลากท่วม) ” อาจเกิดอุทกภัย น้ำหลากจากเขาหลวงคงมีปริมาณมากกว่าปกติ ได้ไหลท่วมผ่านจากฝั่งตะวันของเมืองไปทางตะวันออก ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับบ้านเรือนและวัดวาอาราม  จึงได้เกิดการขุดดินถมเป็นคันผันน้ำ (Levee) ขึ้นหลายแห่ง โดยทางตะวันออกของคูน้ำวัดพระพายหลวง  มุมตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ได้มีการสร้างคันผันน้ำ – เก็บน้ำ ที่ในปัจจุบันเรียกว่า “ทำนบ 7 อ.” (ธงชัย สาโค  2560) ถมคันดินสูง คันดินทางเหนือยาวประมาณ 1400 เมตร ความสูง ประมาณ 2 เมตร บังคับน้ำจากคลองแม่รำพัน ให้ลงมาทางทิศใต้ เข้าไปตามคันดินเมือง ทำคันดินด้านตะวันออกและใต้ มีความสูงกว่า 4 เมตร มากกว่าทิศเหนือ ให้น้ำที่ล้นมาจากคลองแม่รำพันเข้าไปกักเก็บไว้ในทำนบ เผื่อใช้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ได้มีการถมดินสูง 2.5 เมตร (ตามระดับน้ำที่สามารถกักเก็บ) ใกล้กับมุมตะวันออกเฉียงใต้ของทำนบ เพื่อสร้างวัดกลางน้ำ เรียกว่า “วัดโบสถ์” ในปัจจุบันครับ 
ส่วนทางตะวันตกของเมืองโบราณ พื้นที่มีความลาดเทเฉียงไปทางเหนือ จึงได้มีการสร้างคันผันน้ำ – ทดน้ำ (ทำนบ 3 ทำนบ 5 ทำนบ  6 และทำนบ 3/2) เพื่อผันน้ำหลากจากเขาหลวงให้ไหลลงมาทางใต้ ลงสู่คลองเสาหอ โดยทำนบ  5 และทำนบ 6 เป็นคันบังคับน้ำให้ไปลงคูเมืองทางทิศใต้ ไม่ให้หลากเข้าคลองน้ำโจนจนอาจข้ามเข้าท่วม สร้างความเสียหายให้กับวัดพระพายหลวง
โดยทางทิศใต้ของเมืองโบราณ ได้มีการยกคันเป็นทางยาว  (ทำนบ 4 ต. -บึงคอกช้าง) ความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ตามแนวเหนือใต้ ขนานไปกับแนวเส้นชั้นความสูงที่ 65 เมตร เพื่อให้น้ำจากเขาหลวงผันหลากออกไปทางช่องคันดินโคกมน ใกล้ทำนบ 2 (สรีดภงส์ 2- เหมืองยายอึ่ง)  ระหว่างหัวเขามนต์คีรี กับ เขาสะพานเรือ – นายาว ไม่หลากเข้าท่วมชุมชนและวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ตามแนวถนนพระร่วงครับ
แต่เนื่องจากน้ำหลากถูกบังคับทางให้มาลงคูเมืองตะวันออกเข้าสู่คลองแม่รำพันเป็นปริมาณมาก  จึงได้มีการยกคันดินผันน้ำ (ทำนบ 8 อ.) เชื่อมต่อกับคันดินทำนบ 7 อ. วางตามแนวคูเมืองตะวันออก ตรงบริเวณที่เป็นพื้นที่ต่ำกว่า เพื่อผันน้ำหลากที่ล้นจากคลองแม่รำพันและคูเมืองทั้งหมดให้ ไหลลงไปตามระดับความสูงของพื้นที่ ลาดลงไปลงแม่น้ำยมทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไม่หลากเข้าท่วมชุมชนและกลุ่มวัดที่ตั้งอยู่ริมคลองแม่รำพันทางตะวันออกของเมือง
*** ส่วนการจัดการน้ำภายในเมืองโบราณสุโขทัย ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19  ได้มีการขุดตระพังขนาดใหญ่ขึ้นอีก 2 แห่ง คือตระพังศรี (สระศรี) และตระพังเงิน เพิ่มขึ้นจากตระพังทองและตระพังสอที่ขุดมาแล้วในยุคก่อนหน้า เป็นการจัดการน้ำให้เพียงพอใช้ในหน้าแล้ง นอกเหนือจากการกักเก็บน้ำจากน้ำฝนธรรมชาติโดยผันน้ำเติมผ่านคลองเล็กเชื่อมต่อคูเมืองทางตะวันตกใกล้กับประตูอ้อ ให้น้ำไหลลงตระพังเงินที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับสูงกว่า ต่อท่อดินเผาลอดไปทางตระพังศรี (สระศรี) เชื่อมต่อด้วยคูนำและท่อน้ำดินเผา ลงไปยังตระพังสอและตระพังทอง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับต่ำกว่าประมาณ 2 -3 เมตร ทางตะวันตกของเมือง  
ซึ่งต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 เมื่อรัฐสุโขทัยถูกผนวกเข้าไปอยู่ในอาณาจักรอยุทธยา จึงได้เริ่มมีการขุดแนวคูเมืองเพิ่มขึ้นจนมี 3 ชั้น (ตรีบูร – ตรีปุระ- ติรุปุรัม) อาจมาจากสาเหตุของการตั้งเมืองป้อมเพื่อการศึกสงคราม มากกว่าจะเป็นการจัดการน้ำอย่างในอดีตครับ 
เครดิต
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy


Create Date : 05 กันยายน 2563
Last Update : 5 กันยายน 2563 8:55:11 น. 0 comments
Counter : 259 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.