ยามว่าง ไม่ว่าง ก็วาดรูป^^
Group Blog
 
All blogs
 

อสุภะ กรรมฐานที่ยังให้เข้าถึงพระอนาคามีเป็นอย่างแน่นอน

ที่มาของบทความ คุณพุทธภูมิ สมาชิกบอร์ด www.dhammajak.net ถอดความจาก เทปอสุภกรรมฐาน ม้วน 2 หน้า B

ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีลสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปก็ได้โปรดตั้งใจสดับเรื่องอสุภกรรมฐาน สำหรับอสุภกรรมฐานวันนี้เป็นวันจบ

เมื่อวันที่แล้วมาได้แนะนำท่านทั้งหลาย ให้พยายามใช้การพิจารณาอสุภกรรมฐานให้เป็นกสิณ ถ้าบังเอิญใครเขาจะมาพูดว่าอสุภกรรมฐานเป็นกสิณไม่ได้ ก็จงอย่าเถียงกับเขา

ทั้งนี้ก็แสดงว่าท่านผู้นั้นไม่เคยเจริญอสุภกรรมฐานเป็นฌานเลยเป็นเรื่องของเขา ทีนี้การเจริญอสุภกรรมฐานให้เป็นกสิณ

คำว่าอสุภกรรมฐานนี้แปลว่าจิตตั้งอยู่ในอารมณ์ที่เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่สวยไม่งาม แล้วก็จงจำภาพของคนตาย ภาพของสัตว์ตายที่มีสภาพเน่าเละให้ปรากฏ

แต่ความจริงลักษณะของอสุภกรรมฐานนี้มี ๑๐ อย่าง จะมีอะไรบ้างนั้นของท่านทั้งหลายไปตรวจค้นเอาตามตำราเพราะว่าตำรามีครบแล้ว ชอบแบบไหน ทำแบบนั้น ทำจนกระทั้งให้จิตใจของเราเห็นสภาวะความจำของรูปอสุภคือคนตาย มีสภาพติดใจอยู่เป็นปกติ

แต่เพียงว่าติดใจเท่านี้ยังถือว่าใช้ไม่ได้ ถ้าจะใช้ได้จริงๆ จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าเห็นคนก็ดีเห็นสัตว์ก็ดีให้มีสภาพมีความรู้สึกว่าเหมือนสภาพกับศพที่เราเห็น แม้แต่มาพิจารณาตัวเราเองนึกถึงตัวเราเองก็เช่นเดียวกัน มีสภาพเหมือนกับศพที่เราเคยเห็นมา มันเป็นภาระที่น่าเกลียดที่สุด ไม่มีอะไรจะน่ารัก ความรู้สึกแบบนี้ให้เกิดขึ้นทุกขณะจิตที่เรานึกถึงรูป คือ

รูปคนหรือว่ารูปสัตว์ หรือว่าเห็นคนหรือว่าเห็นสัตว์ อย่างนี้ชื่อว่ามีอสุภกรรมฐานเป็นฌานทรงตัว และคำว่าทรงตัวนี้ให้มีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ว่าคนก็ดีสัตว์ก็ดีไม่มีสภาพจะน่ารักในขันธ์ห้าแต่ประการใด แต่ว่าเราจะรักเขาได้เพราะอาศัยที่มีจิตเมตตาปรานีมีความสงเคราะห์ ปรารถนาสงเคราะห์จะให้เขาเป็นสุขนี่มันด้านหนึ่งคือเป็นธรรมะ ตัวนี้เรารักได้ แต่ว่าเราไม่รักขันธ์ห้าของเขา คิดแต่เพียงว่าในเมื่อเขามีขันธ์ห้าเรามีขันธ์ห้า

คำว่าขันธ์ห้าก็คือร่างกาย ในเมื่อสภาวะของร่างกายมีสภาวะเป็นซากศพ แต่ทว่าชีวิตินทรีย์ของเขายังมีอยู่ ความสุขความทุกข์มันยังมีแก่ขันธ์ห้าฉันใด ความปรารถนารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด เรามีความรักความเมตตาสงสารเขาได้ แต่ว่าเราไม่ติดใจในรูปขันธ์ห้าของเขา เห็นขันธ์ห้าของเขาขันธ์ห้าของเรามันเน่าเละไปหมด เมื่อมีอารมณ์จิตเป็นฌานอย่างนี้

การเจริญอสุภกรรมฐาน ถ้าท่านผู้ใดเจริญอสุภกรรมฐานจนมีอารมณ์จิตเป็นฌานอย่างนี้ แล้วก็อารมณ์จิตของท่านตั้งอยู่ในพระโสดาฯ หรือพระสกิทาฯ ถ้าไปเจริญด้านวิปัสสนาญาณ อย่างนี้ขอพูดตรงๆว่าคนนั้นห่วยเต็มที นี่ภาษาศัพท์พระกรรมฐานเขาไม่พูดกันนะแต่อัตมาพูด ว่าเลวเต็มที ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะอสุภกรรมฐานนี่ถ้าทำจิตเป็นฌาน จนกระทั่งสภาพอารมณ์เป็นอย่างนั้น ถ้าเราน้อมจิตเข้าไปในด้านของวิปัสสนาญาณ อารมณ์แรกที่มันจะเข้าถึงก็คือ พระอนาคามี

นี่เป็นอารมณ์แรกเบื้องต้นนะ โดยมากเขาไม่อยู่กันหรอก ส่วนใหญ่แล้วไม่มีใครตั้งอยู่ในพระอนาคามี ที่มันจะพึงได้จริงๆก็คืออรหัตผล นี่ถือว่าเป็นอารมณ์เล็กจริงๆ แต่ถึงแม้ว่าจะจิตตั้งอยู่ในอารมณ์เล็กคืออนาคามีก็ยังน่าสรรเสริญ ขอได้โปรดจำไว้ว่าถ้าบุคคลใดเจริญอสุภกรรมฐานเป็นฌานแล้ว จนกระทั่งจิตใจมองเห็นคน มองเห็นหรือว่านึกถึง ยิ่งแต่งตัวสวยเท่าไร เก๋เท่าไรก็นึกสงสารมากเท่านั้น รู้สึกว่าเขาเอาอาภรณ์มาพอกสิ่งที่มันเน่าเฟะอยู่ตลอดเวลา เห็นคน เห็นหน้า เห็นผิว ไม่มีความรู้สึกในความยินดีว่ามันสวยงาม เพราะมีสภาพเป็นซากศพ อารมณ์อย่างนี้มันเป็นตัวตัดกามฉันทะเสียแล้ว ความรู้สึกพอใจในเพศไม่มี แต่ว่าจงระวัง ถ้าเอาจิตเป็นฌานโลกีย์ประเดี๋ยวเถอะมันก็โผล่ เผลอไม่ได้ เผลอกิเลสคือกามฉันทะมันโผล่ ฉะนั้นเมื่อท่านทรงจิตเป็นฌาน ฌานนี้ถ้ามันทรงขึ้นมาแล้วปัญญามันดี

เอาปัญญาไปใช้อะไรล่ะ ตอนนี้ก็ต้องใช้แบบพระพุทธเจ้า
อย่าถือว่าสูงเกินไปนะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนใครว่าสูงว่าต่ำ แบบของท่านเป็นแบบสากล จะใช้ได้กับคนทุกคน ท่านไม่ได้ทำมาโดยเฉพาะของท่าน หากว่าท่านทำมาเพื่อของท่านแล้วละก็ ท่านไม่สอนชาวบ้านหรอก

คือแบบของพระพุทธเจ้าคืออย่างไรก็คือ 1 ว่าพิจารณาว่าร่างกายของคนนี้มันสกปรก มันมีสภาพเป็นซากศพ เมื่อยังไม่สิ้นลมปราณมันก็สกปรก อย่างนี้เป็นกายคตานุสติกรรมฐาน ร่างกายของคนทุกคนสกปรกทั้งภายในและภายนอก อุจจาระที่อยู่ภายในก็สกปรก ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองทุกอย่างมันสกปรก

แต่ถ้าสิ้นลมปราณแล้วสภาพมันก็เน่าอืดน้ำเหลืองไหลแบบนี้สิ่งที่หลั่งไหลออกมานี้มันมีสภาพสกปรก นี่ว่ากันเรื่องสกปรก ในเมื่อมันสกปรกอย่างนี้การทรงตัวของขันธ์ห้าที่มีอยู่มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถามตัวเองดูซิ จะได้รู้ใจตัวเองว่าใจโง่หรือว่าใจฉลาด

การปวดอุจจาระเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ความหิว ความกระหาย หนาวเกินไป ร้อนเกินไป ต้องเหน็ดเหนื่อยในการงานเพื่อหวังจะเลี้ยงชีพเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การมีสามีภรรยา มีเพื่อความโง่หรือมีเพื่อความฉลาด การมีสามีภรรยาเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขหรือความทุกข์ ถามใจมันเอง ความเจ็บปวดที่เกิดมาในระหว่างร่างกายเกิดขึ้น มีร่างกายประกอบไปด้วยโรค โรคภัยไข้เจ็บ ความแก่เข้ามาถึงตัว ดูความทรุดโทรมของร่างกาย การเคลื่อนไหว การกระทบกับอารมณ์ที่ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้างมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถามใจมันดู จะได้รู้ว่าโง่หรือฉลาด

ถ้าชาวบ้านที่เขามีความฉลาดและคนที่มีอารมณ์จิตเป็นฌาน ไม่ต้องมานั่งพิจารณาไล่เบี้ยอย่างนี้หรอก อาการทุกอย่างที่มีการเคลื่อนไหวเมื่อทรงกายอยู่มันเต็มไปด้วยความทุกข์ทุกอย่าง อยู่คนเดียวก็ทุกข์ อยู่สองคนก็ทุกข์ อยู่มากคนก็ทุกข์ มากเท่าไรทุกข์เท่านั้น

เพราะว่านิพัทธทุกข์ ความหิวความกระหายมันเป็นทุกข์ ถ้าอยากได้ผัวอยากได้เมียนี่เขาเรียกว่าอยากได้ทุกข์ ทุกข์ที่มันไม่มีที่สิ้นสุด มันจะก้าวขึ้นไปสู่ทุกข์ที่สูงขึ้นตามลำดับ เพราะอะไร ได้ผัวมาคนนึง ได้เมียมาคนนึง ก็ได้คนมาอีกฝูงหนึ่ง การต้องเอาอกเอาใจกับคนอีกฝูงหนึ่งคนก็เพิ่มความทุกข์ขึ้นเป็นฝูงๆ และมีลูกมีหลานมีเหลนออกมามันก็เพิ่มความทุกข์ ไอ้ตัวแก่ามันก็ทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายมันก็ทุกข์ ความตายที่จะเข้ามาถึงมันก็ทุกข์ เฮ้อ! เลิกกัน ถ้าทุกข์เสียแล้วก็ต้องลาโรง

ในเมื่อสิ่งใดก็ตามถ้ามันหาทุกข์มาให้เรา เราจะปรารถนามันเพื่ออะไร ที่มันมีทุกข์อยู่เพราะอะไร มีทุกข์เพราะร่างกายคือขันธห้า ถ้าเราไม่เกิดมาเป็นคนเสียอย่างเดียวสภาพอย่างนี้มันจะมีกับเราได้ไหม นี่ก็มาลองพิจารณาว่าทำไมมันจึงทุกข์

ทุกข์เพราะตัณหา พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น ไอ้ตัณหานี่แปลว่าอยาก อยากอะไร อยากมีทุกข์ อยากมีทุกข์มันมาจากไหน ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ เราอยากเกิด ชราปิทุกขา ความแก่เป็นทุกข์เพราะเราอยากแก่ มรณัมปิทุกขัง ความตายเป็นทุกข์เพราะเราอยากตาย ทำไมจึงอยากเกิด อยากแก่ อยากเจ็บ อยากตาย ก็เพราะว่าเรา
อยากหาอารมณ์ที่เป็นอกุศล เป็นบ่อเกิดของความเกิดคือ หนึ่งโลภะความโลภ เราอยากโลภ ตะเกียกตะกายหาที่สิ้นสุดมิได้ ไม่ได้มองดูสภาพของตนว่าไอ้ความโลภที่เราหามาได้ มันจะรวยแสนรวยขนาดไหน มันได้มาจากความทุกข์ แล้วคนที่ตายใครเขาแบกทรัพย์สินไปได้บ้าง แต่ในเมื่อขันธ์ห้าคือร่างกายมันยังทรงอยู่ก็มีความจำเป็น มีความจำเป็นจริงๆที่มันจะต้องหา เมื่อหามาแล้วก็ต้องมีความรู้สึกว่าหาเพื่อประทังชีวิต เป็นการบรรเทาทุกขเวทนา ไม่ใช่ว่ามีเงินตั้งหมื่นล้านแสนล้านแล้วยังไม่รู้จักพอ นั่นแหละตัวบรมโง่ที่สุด เราหามาแล้วทำงานตามหน้าที่ มีสามี มีภรรยา มีบุตร มีธิดา มีหลานมีเหลนมีลูก มันมีขึ้นมาแล้วก็แล้วกันไป เพราะว่ามันมีขึ้นมาได้เพราะอาศัยความโง่ของเราเป็นปัจจัย ถ้าเราไม่โง่เสียอย่างเดียว ไอ้ตัวระยำอย่างนี้มันก็ไม่มี นั่นมีเพราะความอยากคือตัณหาคิดว่าการครองคู่เป็นของดี คิดว่าการมีลูกดี คิดว่าการมีหลานดี ไอ้อารมณ์อย่างนี้มันเป็นอารมณ์จอมโง่

มันโง่แล้วก็แล้วกันไป เราก็เริ่มฉลาดเสียใหม่ คิดว่าการมีร่างกายอย่างนี้อาศัยความโลภเป็นปัจจัย เราจะเลิกกันเสียทีไอ้การมีร่างกายแบบนี้ นี่จะเลิกแบบไหนก็เลิกโลภ ทำมาหากินเป็นปกติ ค้าขายเป็นปกติ รับราชการ เป็นลูกจ้าง ทำไร่ไถนาเป็นปกติ ตามหน้าที่ในฐานะที่มีขันธ์ห้า แต่อารมณ์ของเราจะไม่คดไม่โกงใคร ไม่ตะเกียกตะกายเกินไปให้มันเป็นความทุกข์ มีความรู้สึกอยู่ว่า เมื่อมีขันธ์ห้าแล้วต้องหากินตามหน้าที่ แต่ว่าขันธ์ห้าคือร่างกายของเรานี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันแก่ลงไปทุกวัน ไม่ช้ามันก็จะพัง

นี่ตัดเหตุของความเกิดเสียหนึ่งตัว พูดให้พังย่อๆแบบนี้นะ คิดให้มันยาว คิดให้มันเห็น คิดให้มันซึ้ง ไอ้ตัวโลภนี่หละเป็นตัวเหตุให้เกิดมามีความทุกข์

ตัวที่สองก็คือความโกรธ ไอ้ตัวโกรธนี่เพราะว่าโง่มันจึงโกรธ ฉลาดจะโกรธทำไม ก็คนในโลกที่เกิดมานี้มันไม่มีอิสรภาพ มันเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม กิเลสคือความชั่วของจิต ตัณหามีความทะยานอยากได้มาด้วยความโง่ อุปทานยึดถือความชั่วและความโง่เป็นสรณะ อกุศลกรรมเพราะอาศัยมีความชั่วและความโง่เป็นสรณะ มีอุปทานเป็นจุดจับเขาจึงทำกรรม ทำหรือพูดในเหตุของความชั่ว เป็นตัวชั่วจริงๆ ทีนี้ในเมื่ออารมณ์เขามันชั่วอย่างนี้แล้ว ทั้งชั่วทั้งโง่ การกระทำทุกอย่างย่อมไม่เป็นที่ถูกใจของคนดี คือ
ไม่ทำเหตุของความดี ชอบสร้างเหตุของความชั่ว ในเมื่อเราไปกระทบกระทั่งกับคนอารมณ์เลวมีชั่วเป็นสรณะ เราก็ยิ้มๆ

นึกในใจว่าโอ้หนอ เขาทั้งหลายเหล่านี้เป็นคนที่น่าสงสาร เพราะว่าชาตินี้เขาเกิดมาแล้วเขาก็มีทุกข์ เขายังแสวงหาอารมณ์แห่งการเกิดต่อไป ทั้งการทำอะไรที่เป็นที่ขัดใจคน คดโกงเขาก็ดี ประทุษร้ายเขาก็ดี อาการที่ทำอย่างนี้เป็นลักษณะอาการที่สร้างทุกข์ให้เกิดแก่ตัว เพราะว่าไปประกาศตนเป็นศัตรูกับชาวบ้านเขาหมด น่าสลดใจที่เขาไม่แสวงหาความสุข นี่เราคิดว่าในเมื่อเขาเป็นทาสนี่ เขาไม่ได้เป็นไทย เราจะไปโกรธอะไรกับทาส เพราะเจ้านายของเขาบังคับ เจ้านายก็คือกิเลสอารมณ์ของความชั่ว ตัณหาอารมณ์ของความชั่วอยากไม่มีที่สิ้นสุด อุปาทานยึดความชั่วว่าเป็นของดีนี่มันโง่บัดซบ

และอกุศลกรรมการทำไม่ดีอย่างนี้เพราะเจ้านายคือกิเลสบังคับ เรารู้ว่าเขาเป็นคนโง่อย่างนี้ มีเจ้านายคือความชั่วบังคับ เราก็มีอารมณ์ให้อภัย คิดว่าเชิญเถิด อยากจะเลวก็เชิญเลวไปตามอัทธยาศรัย เราจะไม่ยอมเลวด้วย ไม่ช่วยกระพือความเลวของเราให้มันสูงขึ้น เขาจะด่าก็เชิญด่า เขาจะนินทาก็เชิญนินทา ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าการด่าการนินทาของเขา

มันไม่ศักดิ์สิทธิ คนที่ด่าคน คนที่นินทาคนเป็นคนเลว ในเมื่อเขาอยากเลวก็เชิญเลวไปคนเดียว ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงโต้ตอบกับพราหมณ์ พราหมณ์สามสี่คนเรียงลำดับกันมาด่าพระพุทธเจ้าต่อหน้าธารกำนัล คือต่อหน้าพระอริยสาวกนับแสน เมื่อพระพุทธเจ้าถูกด่า ชี้หน้าด่าพระองค์ก็ทรงนิ่ง มีอารมณ์ปกติ ไม่ใช่อดกลั้นใจ ใจเป็นปกติ

เมื่อเขาด่าเสร็จเหนื่อยเต็มแล้ว จึงกล่าวกับองค์สมเด็จพระชินศรีว่าพระสมณโคดม แกแพ้ฉันแล้ว พระพุทธเจ้าถามว่าแพ้ตรงไหน ก็บอกว่าแพ้ที่ฉันด่าแก แกไม่เถียงฉันนะซิ แกไม่ด่าตอบ พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า พราหมณ์นะ ดูก่อนพราหมณ์ เราคิดว่าใครด่าเรา แล้วถ้าเราด่าคนนั้นตอบ เราคิดว่าเราเลวกว่าคนที่เขาด่าเราแล้ว นี่ถ้อยคำขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วพูดออกไปด้วยอารมณ์ปกติ ไม่มีความโกรธ ในที่สุดพราหมณ์คนนั้นก็คิดได้ว่าเราเลวไปเสียแล้ว จึงได้ขอขมาโทษแด่องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ขอเป็นพระสาวก พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ละความโกรธเพียงชั่วขณะเดียวท่านก็เป็นอรหัตผล

นี่เห็นไหม นินทาปะสังสา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัส ว่าการจะดีจะชั่วไม่ได้อยู่ที่ปากชาวบ้าน เราจะดีหรือว่าเราจะเลวมันอยู่ที่การกระทำของเราเป็นสำคัญ องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ให้อภัยทานได้ฉันใด จิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงถือเอาตามแบบพระพุทธเจ้า เห็นว่าถ้าเขาด่าเขานินทาเรา เราก็คิดว่าซากศพมันด่ามันนินทาเรา

หากว่าทำอะไรไม่ชอบใจ เราก็คิดว่าศพที่เน่า มันเป็นเรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา เราก็ปล่อยใจ มีอารมณ์สบาย ไม่ยึดถืออารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสรณะ จิตใจก็เป็นสุข

แค่นี้ เราก็เป็นพระอนาคามี เป็นของไม่ยาก และหลังจากนั้นไปเราก็มานั่งพิจารณาว่า ทุกข์นี้เพราะอาศัยความเกาะเป็นเหตุ เกาะปัจจัยของความทุกข์เราก็ไม่เกาะมันอีก ส่วนที่เราจะพึงได้ต่อไปก็คืออรหัตผล

มาน้อมจิตถึงองค์สมเด็จพระทศพลว่าการเป็นอรหันต์มีอะไรบ้างเป็นเหตุ ก็ดูใจความที่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ทรงตรัสกับพราหมณ์ พราหมณ์ถามเรียงชื่อของกิเลสหลายสิบอย่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่ากิเลสทั้งหมดที่เธอถามมาทั้งหมดนี้จะตัดได้เพราะ หนึ่ง การเห็นว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีเราในร่างกาย ไม่มีร่างกายในเรา เพราะว่าร่างกายนี้มันเป็นธาตุสี่ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มาประชุมกัน แบ่งอาการออกเป็นสามสิบสองอย่างที่เรียกว่าอาการสามสิบสอง

ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสกปรก ร่างกายเป็นโรคนิทธัง มันเป็นรังของโรค มีร่างกายก็ต้องมีโรค มันจะต้องเปื่อยเน่าเป็นธรรมดา เราถ้ายังมีร่างกายอยู่ ยังยึดถือร่างกายอยู่ คนประเภทนี้หาความสุขมิได้ ถ้าเราวางภาระร่างกายเสียแล้วเมื่อไหร่เมื่อนั่นแหละ เราเป็นสุข ตามที่พระท่านบังสุกุล ว่าอนิจจัง วต สังขารา ซึ่งแปลเป็นใจความว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มันไม่เที่ยงตรงไหน ที่มันเคลื่อนไปหาความทุกข์ทุกวัน มันแก่ลงไปทุกวัน มันทรุดโทรมทุกวัน มันมีอารมณ์ภายนอกมากระทบกระทั่งให้ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้างทุกวัน

ในที่สุดมันก็ตาย อุปปาทะวะยะธรรมมิโน เมื่อมีความเกิดขึ้นแล้วมันก็เสื่อมไป อุปัชชิตะวานิรุชชันติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปคือมีความตาย ก็หมายความว่ามันไม่เที่ยง ก้าวไปหาความแก่ มันเสื่อมลงไปทุกวันๆ ทั้งในที่สุดมันก็ดับไป

ข้อสุดท้ายองค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า เตสังวู ปะสะโมสุขโข ขึ้นชื่อว่าเข้าไปสงบกายนั่นชื่อว่าเป็นสุข มันเป็นสุขตอนไหน เป็นสุขตอนที่เราสงบกาย คือใจเราไม่ติดใจขันธ์ห้า ใจของเราไม่ติดในกาย ไม่พอใจคือไม่รักในร่างกายยึดถือมันเป็นสรณะต่อไป มีความรู้สึกว่าร่างกายของเรานี่มันทรุดโทรมไปตามลำดับ ในทื่สุดมันก็พัง เมื่อมันพังแล้ว จิตใจถ้ายังเลวอยู่ก็ถือภพถือชาติต่อไป เราไม่ต้องการ ขึ้นชื่อว่าร่างกายเลวๆอย่างนี้ เป็นร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุใดๆก็ดี อันเป็นสมบัติของโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ เราไม่ต้องการมันอีก เราต้องการความสุขคืออารมณ์ปกติ อารมณ์ปกติเป็นอย่างไร อารมณ์ที่ยอมรับนับถือกฏของธรรมดา

แล้วก็ไม่ยอมรับนับถือกฏของธรรมดาที่มันจะเป็นเรา เป็นของเราต่อไป กฏธรรมดามีอะไร สมบัติของโลกมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วธรรมดาของมันก็มีการเสื่อม คนหรือว่าสัตว์แก่ลงไปทุกวัน วัตถุธาตุต่างๆ ต้นไม่บ้านเรือนโรงแก่ไปทุกวันเสื่อมไปทุกวัน ค่อยๆทำลายตัวของมันไปเองทุกวัน ทุกขัง ถ้าเราเอาจิตเข้าไปจับว่ามันจะต้องทรงตัวมันก็เป็นทุกข์ หลบทุกข์มันเสีย ธรรมดาของเธอเป็นอย่างนี้ อยากจะเป็นก็เชิญเป็นไปเถิด เธออยากจะแก่ก็เชิญแก่ เธออยากจะป่วยก็เชิญป่วย เธออยากจะตายก็เชิญตาย

เธอกับฉันนี้ขอหย่าขาดจากกันมีชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ขึ้นชื่อว่าร่างกายคือขันธ์ห้าอย่างนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก เราไม่มีความปรารถนา เราก็ตัดอารมณ์ความรักในระหว่างเพศ ไปรักหอกอะไรอีก เห็นเป็นซากศพแล้วยังจะรักซากศพมันก็ซวย เราก็ตัดอารมณ์ของความโลภ เมื่อรู้ว่าคนทุกคนมีสภาพเป็นซากศพจะต้องตายในวันหน้า แล้วทำไมจึงจะทะเยอทะยานอยากจะรวย คำว่ารวยในที่นี้หมายความว่าโลภ โลภทะเยอทะยานคดโกงเขา ถ้าหากินในสัมมาอาชีวะไม่ชื่อว่าโลภ แล้วเราก็ไม่ต้องการความโกรธ จะโกรธอะไร คนทุกคนเกิดมาเป็นทาส ถ้าโกรธก็ต้องโกรธเจ้านายที่บังคับบัญชาคือ กิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม เราไม่ยอมคบกับกิเลศคืออารมณ์ของความชั่ว ตัณหาคือความทะยานอยากเกินไป อุปาทาน อารมณ์ที่ยึดถือว่า ความชั่วเป็นของดี อกุศลกรรมการกระทำความชั่วทุกอย่างเราไม่ทำ นี่เรียกว่าเราไม่คบ

อารมณ์จิตของท่านมีเท่านี้ก็ขึ้นชื่อว่าจบกิจพระพุทธศาสนา มีอารมณ์เบามีใจสบายไม่ผูกรัดกับสิ่งใดๆ มีอารมณ์ใจเป็นสุข มีความรู้สึกอยู่อย่างเดียวว่า ทุกอย่างที่เราประสบมันเป็นของธรรมดา จิตใจโปร่งมีความสบาย ตอนนี้เรียกว่า อัพยากฤต คืออารมณ์ของพระนิพพาน

คือใจเป็นสุข เห็นอะไรเกิดมันก็ไม่ทุกข์ สบายใจสดชื่นหรรษา ไม่เกาะหน้าไม่เกาะหลัง คือจิตไม่ติดอยู่ในอารมณ์ของความรักไม่ติดอยู่ในอารมณ์ของความโลภ ความโกรธ และความหลง มีใจโปร่ง มีความสุขที่สุด ในสบายไม่มีอะไรเข้ามาข้องใจแม้แต่นิดเดียว อย่างนี้เป็นอารมณ์ของพระอรหัตผล

เอาละบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้ศึกษา เวลานี้การแนะนำกันก็หมดเวลา แล้วก็แนะนำเข้าถึงอรหันต์พอดีก็จบแต่เพียงเท่านี้ สำหรับต่อแต่นี้ไปขอบรรดาพุทธบริษัททั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น อยู่ในอิริยาบถที่ท่านปรารถนาจนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร

สวัสดี




 

Create Date : 22 ตุลาคม 2549    
Last Update : 24 มีนาคม 2552 14:15:45 น.
Counter : 311 Pageviews.  

อานิสงส์ ๑๐ ข้อ ของการไม่กินเนื้อสัตว์

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อานิสงส์ขั้นต้นของการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์และไม่เบียดเบียนสัตว์คือ จะทำให้ชีวิตของเราไม่ต้องตายด้วย ปืนผาหน้าไม้ คมหอกคมดาบ ไม่ตายด้วยเหตุกาณ์อันน่าสยดสยอง หรือภัยพิบัติ ต่างๆ ทั้งยังสามารถตัดกรรมในเรื่องการฆ่าและยุติการจองเวรกับสรรพสัตว์ ทั้งหลายอีกด้วย

องค์สมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระผู้เปี่ยมล้นด้วย พระเมตตาอันมิอาจประมาณได้ทรงรักใคร่สรรพสัตว์ทั้งหลายประดุจลูกในอุทรของพระองค์เอง เมื่อได้บรรลุอนุตตรสัมโพธิญาณสูงสุดแล้ว ก็ยังทรงมีพระทัย ห่วงใยปรารถนาให้เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ได้หลุดพ้นออกจากบ่วงกรรม และระงับดับการจองเวรซึ่งกันและกัน

ในบรรดาบาปกรรมทั้งหลายที่คนหลงผิดกระทำไปการเบียดเบียนฆ่า ทำลาย ชีวิตผู้อื่นถือเป็นบาปกรรมที่ร้ายแรงที่สุดแม้ว่าจะกระทำลงไปโดยไม่เจตนา ก็ยังต้องไปรับโทษ นับประสาอะไรกับการจงใจเจตนาฆ่าเขาให้ตายโทษทัณฑ์ นั้นจะยิ่งใหญ่หลวงและไม่อาจให้อภัยได้

ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์ให้เราทุกคนละเว้นจากการ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และเลิกเบียดเบียนผู้อื่นโดยเด็ดขาด พระองค์จึงทรงบัญญัติศีลข้อ “ปาณาติบาต” คือห้ามการฆ่าเป็นข้อที่สำคัญอันดับหนึ่ง

ขอให้เราจงมาร่วมกันศึกษาพิจารณาพระพุทธวจนะว่าด้วยเรื่อง “อานิสงส์ ๑๐ ข้อของการไม่กินเนื้อสัตว์” เพื่อจักได้นำไปเป็นแนวทางในการ ปฏิบัติและบำเพ็ญธรรมให้สูงขึ้นไป

ในพระสูตรของพระพุทธศาสนามหายานเล่าว่า

“สมัยหนึ่ง... องค์สมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จไปเทศนาโปรดบรรดาเหล่าพญานาคทั้งหลาย พระพุทธองค์ได้ทรงตรัส ธรรมกถาวิสัชนาแสดงแก่พญานาคราชความว่า

“บุคคลใดหยุดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และงดเว้นเสียจากการ เสพเลือดเนื้อสัตว์ อีกทั้งยังชี้นำส่งเสริมให้หมู่ชนทั้งหลายหยุดฆ่า หยุดเสพชีวิตเลือดเนื้อผู้อื่น”

บุคคลผู้นั้นย่อมห่างไกลจากอกุศลมูลทั้งปวง และบริบูรณ์พร้อม ด้วยอานิสงส์ทั้ง ๑๐ ประการอันได้แก่:

๑.เป็นที่รักใคร่ของบรรดาเทพพรมตลอดจนมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย

๒.จิตอันเป็นมหาเมตตาย่อมบังเกิดขึ้น

๓.สามารถตัดขาดความอาฆาตดับอารมณ์เหี้ยมโหดเครียดแค้นในใจลงได้

๔.ปราศจากโรคภัยร้ายแรงมาเบียดเบียนร่างกาย

๕.มีอายุมั่นขวัญยืน

๖.ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากวัชรเทพทั้งแปด

๗.ยามหลับนิมิตรเห็นแต่สิ่งที่ดีงามเป็นศิริมงคล

๘.ย่อมระงับการจองเวร สลายความอาฆาตแค้นซึ่งกันและกัน

๙.สามารถดำรงอยู่ในกระแสแห่งนิพพาน ไม่พลัดหลงตกลงสู่อบายภูมิ

๑๐.ทันทีที่ละสังขารจากโลกนี้ จิตญาณจะมู่งสู่คติภพ


ที่มาของบทความ www.mindcyber.com





 

Create Date : 21 ตุลาคม 2549    
Last Update : 24 มีนาคม 2552 13:57:35 น.
Counter : 325 Pageviews.  

ประวัติการกินเจเดือนเก้าจีนเก้าอ๊วงเจ

พิธีการกินเจเดือนเก้า หรือ เทศกาลกินเจกำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๔ ค่ำ ตามปฏิทินจีนทุกๆปี รวม ๙ วัน ๙ คืน

ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีอรรถาธิบายว่า

“เป็นการประกอบ พิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล ๗ พระองค์ และพระมหา โพธิสัตว์อีก ๒ พระองค์ รวมเป็น ๙ พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ อันมี พระอาทิตย์, พระจันทร์, ดาวพระอังคาร, ดาวพระพุธ, ดาวพระพฤหัสบดี, ดาวพระศุกร์, ดาวพระเสาร์, พระราหู และพระเกตุ”

ในพิธีกรรมสักการบูชาพุทธเจ้า ๗ พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก ๒ พระองค์นี้ สาธุชนในพุทธศาสนา ต่างสละเวลาและกิจทางโลกมาบำเพ็ญศีล ตั้งปณิธานกินเจ บริโภคต่ออาหารผักและผลไม้งดเว้นอาหารเนื้อของสดคาว ด้วยการสมาทานรักษาศีล ๓ ข้อ กล่าวคือ

๑.เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาบำรุงชีวิตตน

๒.เว้นจากการเอาเลือดของส้ตว์มาเพิ่มเลือดตน

๓.เว้นจากการเอาเนี้อของสัตว์มาเป็นเนื้อตน



เพื่อซักฟอกมลทินออกจากร่างกาย วาจาและใจ ต่างสวมเสื้อผ้าสีขาว สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากจุดด่างพร้อยพากันเดินทางสู่วัดวาอารามพร้อมด้วย ดอกไม้, ธูป และเทียนไปนมัสการน้อมบูชาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ อีกทั้งพระมหาโพธิสัตว์ ๒ พระองค์ พร้อมจัดหา เครื่องกระดาษทำเป็นรูปเครื่องทรงเสื้อผ้า, หมวก, รองเท้า, กระดาษเงิน, กระดาษ ทองต่างๆไปน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะเป็นกุศลษมาทาน

(ในอดีตจำเดิมแท้นั้น จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ปัจจัย ๔ นำไปถวายนักบวช พระเณรผู้ทรงศีล และแจกทานด้วย เสื้อผ้าเงินทองที่เป็นของจริงๆแก่คนทุกข์ คนยากจน ภายหลัง ด้วยความไม่เที่ยงของอุปทานกาลเวลา ประเพณีผันแปรไปกลายมาใช้กระดาษ แทนของจริง เป็นโมหะกรรมของมนุษย์เอง)

หลังจากนั้นจะร่วมกันสวดมนต์ ทำสมาธิภาวนาแผ่เมตตาจิตขอพรเพื่อความเจริญสมบูรณ์พูนสุข

ที่มาของบทความ www.mindcyber.com




 

Create Date : 21 ตุลาคม 2549    
Last Update : 24 มีนาคม 2552 14:27:56 น.
Counter : 299 Pageviews.  

ธรรมชนะข้าศึกทั้งปวง

บุคคลผู้มีหลักธรรม 4 ประการ ย่อมชนะข้าศึกได้ คือ
1. สัจจะ ความจริง
2. ธรรม ความประพฤติชอบ
3. ธิติ ความเพียร
4. จาคะ ความเสียสละ




++++++++

1. สัจจะ ได้แก่ ความจริงแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ

1. ความจริงใจ

จริงใจ นั้น ได้แก่ การตั้งใจมั่น คือ มีจิตจำนงที่จะทำการสิ่งใด ก็พยายามทำไปจนการสิ่งนั้นสำเร็จสมประสงค์แม้จะมีอุปสรรคอันใดเข้ามาขัดขวาง ก็ไม่ย่อท้อ หวาดหวั่นต่ออุปสรรคอันตรายนั้นๆ ดุจภูเขาศิลาล้วนมีแท่งทึบ ไม่หวั่นไหว เพราะลมและแดด ฉะนั้น ลักษณะเช่นนี้ ชื่อว่า ความจริงใจ

2. จริงวาจา

ส่วน จริงวาจา นั้น คือ เจรจาแต่คำจริง ไม่นำเอาสิ่งเท็จมาหลอกลวงให้ชาวโลกลุ่มหลง เจรจาคำใดไปแล้วก็มั่นคงไม่กลับกลอก เป็นวาจาที่คงที่ อันที่จริงการเจรจาถ้อยคำจริงนั้น ง่ายกว่าการพูดเท็จ ไม่ต้องกลัวจะผิด แต่การพูดเท็จนั้นต้องระวังตัว เพราะว่ากลัวเขาจะจับพิรุธได้ คนที่ชอบพูดเท็จมักจะเอาตัวไม่รอด สักวันหนึ่งเขาต้องจับได้ ต่อไปก็ไม่มีใครเชื่อถือ ยิ่งคำเท็จนั้นเป็นการหลอกลวงให้ผู้อื่นเสื่อมเสียจากประโยชน์ด้วยแล้ว ก็จะทำให้ผู้คนหมดความเคารพนับถือคุณธรรมใดๆ ที่เคยมีอยู่ ก็จะพลอยสูญสิ้นไปด้วยเพราะตนเองขาดสัจจะคือความจริง วาจาสัตย์เช่นนี้ เป็นวาจาที่ดี มีรสหวาน ไม่มีสิ่งใดจะลบล้างได้ ดีกว่ารสหวานทั้งปวง


++++++++

2. ธรรมะ แปลว่า สภาพผู้ทรงไว้ คือทรงผู้ปฏิบัติไว้ผู้ใดประพฤติธรรม ธรรมก็ย่อมรักษาผู้นั้นไว้ ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ความจริง คำว่า ธรรม นั้น เป็นคำกลางๆ มีมาแล้วแต่ โบราณกาล หากแต่ขาดผู้ปรีชาญาณเลือกสรรเอามาใช้ เป็นได้ทั้งส่วนดีและส่วนชั่ว ถ้าต้องการหมายความข้างดีก็เติมคำว่ากุศล เข้าเป็นกุศลธรรม หมายถึงธรรมส่วนข้างดี เมื่อกล่าวโดยทางธรรมก็คือสุจริต เช่น ความประพฤติชอบด้วยกาย วาจา และใจ ถ้าต้องการหมายความข้างชั่ว ก็เติมคำว่า อกุศลเข้าเป็นอกุศลธรรม หมายถึงธรรมส่วนข้างชั่ว เมื่อกล่าวโดยทางธรรม ก็คือ ทุจริต เช่น ความประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา และใจ


++++++++

3. ธิติ แปลว่า ความเพียรเป็นเครื่องตั้งมั่น อันได้แก่ความพยายาม ความบากบั่น ความก้าวหน้า บุคคลผู้พากเพียรเพื่อจะตั้งตัวในทางใดทางหนึ่ง ถ้ายังไม่ทันได้ลุถึงสิ่งนั้น ไม่ควรถอยหลัง ควรพยายามต่อไป เพราะมีบางท่านว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นเมื่อพยายามทำไปแล้วแม้จะไม่สำเร็จผลที่หมายก็ยังได้รับความสบายใจว่า ตนเองได้ทำจนสุดกำลังความสามารถแล้ว

ผู้ปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เมื่อได้สมาทานศีลอย่างเคร่งครัดแล้วบำเพ็ญ ปฏิบัติ ภาวนาอย่างแข็งแรงแล้ว ก็ไม่ควรละการสมาทานนั้นๆ ควรพากเพียร บากบั่นต่อไป ประพฤติให้ยั่งยืนจนกว่าจะได้รับผล


++++++++

4. จาคะ ได้แก่ การบริจาคทรัพย์ ธรรมดาผู้คนอยู่ด้วยกันเป็นหมู่ ต้องมีการสงเคราะห์เกื้อกูลกันตามฐานะ ในตระกูลอันหนึ่ง มารดาบิดากับบุตร สามีกับภรรยา ญาติกับญาติ มิตรกับมิตร ยังต้องเจือจานกันด้วยการให้สิ่งของ การให้อย่างนี้นับว่าการสงเคราะห์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน เพราะบุคคลผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้ ส่วนความเหนียวแน่นหวงแหนเสียดายทรัพย์สมบัติของตน ไม่ปรารถนาที่จะแบ่งปันให้คนอื่น ที่สุดตนเองก็เบียดเบียนตนเอง เรียกว่า ความตระหนี่ ซึ่งตรงกันข้ามกับจาคะ ธรรมดาคนตระหนี่ ย่อมไม่ต้องการที่จะเจือจานสงเคราะห์ใคร มีแต่เห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คนเช่นนี้ย่อมกลัวความหมดเปลือง ไม่ประสงค์จะคบค้าสมาคมกับใคร มีอัธยาศัยคับแคบ เมื่อการงานเกิดขึ้น ย่อมต้องทนทำแต่ผู้เดียว ไม่ค่อยมีใครช่วยเหลือ ถึงบางครั้งต้องเสื่อมจากประโยชน์นั้นๆ

ธรรมทั้ง 4 ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ นี้ เมื่อมีใครบุคคลผู้ใด ย่อมทำให้บุคคลผุ้นั้น เป็นผู้มีความสัตย์ มีธรรมเมื่อจะประกอบกิจการใดๆ ก็ตั้งใจทำจริงไม่ย่อท้อ มีความพากเพียรพยายามไปจนกว่าประโยชน์จะสำเร็จ บุคคลเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นที่รังเกียจของใครๆ แม้ผู้ที่เป็นศัตรูอยู่ก่อนเมื่อได้ประสบอัธยาศัยอันดีงาม ย่อมละจากความเป็นศัตรู มีแต่จะอุปถัมภ์ค้ำชูให้ได้รับความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป


++++++++

ผู้ที่ได้ยึดถือประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมแล

ติลมตฺตํ ปเรสํ ว อปฺปโทสญฺจ ปสฺสติ
นาฬิเกรํปิ สโทสํ ขลชาโต น ปสฺสติ


คนเรามักจะมองเห็นแต่โทษของคนอื่น
ส่วนโทษของตนมองไม่เห็น
โทษคนอื่นเพียงเท่าเม็ดงา ก็ยกขึ้นมาว่ากล่าวไม่รู้จบ
ส่วนความเลวของตนใหญ่เท่าลูกมะพร้าว มองไม่เห็น

ที่มาของบทความ คุณ kamon173 หนึ่งใน สมาชิกเว็บบอร์ด Thaiware.com




 

Create Date : 07 ตุลาคม 2549    
Last Update : 12 เมษายน 2552 13:39:45 น.
Counter : 301 Pageviews.  

อานิสงส์ ของความประพฤติธรรม ๑๐ ประการ

ความประพฤติธรรม ๑๐ ประการ คือ กุศลกรรมบท

ได้แก่

1. การเว้นจากการฆ่าสัตว์

2. การเว้นจากการลักทรัพย์

3. การเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

4. การเว้นจากการพูดคำไม่เป็นจริง

5. การเว้นจากการพูดคำหยาบคาย

6. การเว้นจากการพูดยุยงให้คนแตกสามัคคี

7. การเว้นจากการพูดไร้สาระ

8. การเว้นจากความคิดอยากได้ทรัพย์สินของคนอื่น

9. การเว้นจากการผูกโกรธ คิดร้าย พยาบาท

10. การเว้นจากความเห็นผิด เชื่อกรรม ผลของกรรม และคำสอนของพระพุทธเจ้า



++++++++

อานิสงส์ของความประพฤติดังกล่าว

มหาบุรุษย่อมให้อภัยทานแก่สรรพสัตว์ด้วยไม่ประพฤติเบียดเบียน.ยังเมตตาภาวนาให้สมบูรณ์โดยไม่ยาก. ย่อมบรรลุอานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการ.มีอาพาธน้อย ไม่ป่วยเจ็บ มีอายุยืน มีสุขมากย่อมถึงลักษณวิเศษ. และตัดวาสนาอันเป็นโทษได้.

อนึ่ง เพราะไม่ลักทรัพย์จึงได้โภคสมบัติอันไม่ทั่วไปด้วยโจรเป็นต้น.คนอื่นไม่รังเกียจ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ น่าคบหามีใจไม่ข้องวิภวสมบัติ ชอบบริจาค และตัดวาสนาอันเป็นโลภะได้.

เพราะไม่ประพฤติผิดพรหมจรรย์จึงเป็นผู้ไม่โลเลมีกายใจสงบ.เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจ ไม่เป็นที่รังเกียจของสัตว์ทั้งหลาย. กิตติศัพท์อันงามของเขาย่อมฟุ้งไป.ไม่มีจิตข้องในมาตุคามทั้งหลาย มีอัธยาศัยไม่โลภ.มากไปด้วยเนกขัมมะย่อมได้ลักษณะวิเศษและตัดวาสนาอันเป็นโลภะได้.


เพราะไม่พูดเท็จจึงเป็นประมาณของสัตว์ทั้งหลาย เป็นที่เชื่อถือได้ไว้ใจได้มีถ้อยคำควรถือได้.เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของทวยเทพ. มีปากหอมรักษากายสมาจาร วจีสมาจาร.ย่อมได้ลักษณวิเศษ.และตัดวาสนาอันเป็นกิเลสได้.


เพราะไม่พูดส่อเสียดจึงมีกายไม่แตกแยก มีบริวารไม่แตกแยก แม้ด้วยความพยายามของคนอื่น.มีเสียงไม่แตกแยกในพระสัทธรรม.มีมิตร มั่นคง เป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลายโดยส่วนเดียวดุจสะสมไว้ในระหว่างภพ มากด้วยความไม่เศร้าหมอง.

เพราะไม่พูดหยาบ จึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย มีปกติอยู่เป็นสุข พูดเพราะ น่ายกย่อง มีเสียงเพราะ

เพราะไม่พูดเพ้อเจ้อจึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ น่าเคารพ น่ายกย่องของสัตว์ทั้งหลาย มีถ้อยคำควรเชื่อถือได้ พูดพอประมาณ. ถึงความเป็นผู้มีศักดิ์และอานุภาพมากเพราะไม่พูดเพ้อเจ้อ.ฉลาดในการแก้ปัญหาด้วยปฏิภาณฉับพลัน.


เพราะเป็นผู้ไม่โลภ จึงมีลาภที่ต้องการ.ได้ความชอบใจในโภคะมากมาย. เป็นที่ยอมรับของกษัตริย์มหาศาลเป็นต้น. ข้าศึกครอบงำไม่ได้.ไม่ถึงความเป็นผู้มีอินทรีย์พิกลพิการ.


เพราะไม่พยาบาทจึงเป็นผู้ดูน่ารัก. เป็นที่ยกย่องของสัตว์ทั้งหลาย ให้สัตว์เลื่อมใสโดยไม่ยาก เพราะเป็นผู้พอใจยิ่งในประโยชน์ของผู้อื่น.อนึ่งเป็นผู้มีสภาวะไม่เศร้าหมอง อยู่ด้วยเมตตา. เป็นผู้มีศักดิ์มีอานุภาพมาก.


เพราะเป็นผู้ไม่เห็นผิดจึงย่อมได้สหายดี.แม้จะถึงตัดศีรษะก็ไม่ทำกรรมชั่ว.เป็นผู้ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าวเพราะเห็นความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน. ศรัทธาของเราเป็นรากตั้งมั่นในพระสัทธรรม. เชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคต.ไม่ยินดีในลัทธิอื่นดุจพระยาหงส์ ไม่ยินดีในที่มีขยะฉะนั้น.

ที่มาของบทความ คุณ SpiritWithin หนึ่งใน สมาชิกเว็บบอร์ด Thaiware.com




 

Create Date : 06 ตุลาคม 2549    
Last Update : 12 เมษายน 2552 15:49:57 น.
Counter : 275 Pageviews.  

1  2  3  

killerqueen
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ถ้า up blog แสดงว่าว่างมาก แต่ถ้าไม่ว่างแต่ยัง up แสดงว่า อู้งานเท่านั้นค่ะ
ยินดีต้อนรับทุกคนจ้า ^O^♥ cursor
Friends' blogs
[Add killerqueen's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.