Each time history repeats itself, the price goes up. ~Author Unknown
Group Blog
 
All Blogs
 
เดอะเกรทอีสเทิร์น ราชันย์แห่งท้องทะเลตะวันออก– ตอนที่สี่ (จบ)

พิรัส จันทรเวคิน

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงให้กำเนิดกองทัพเรือไทยสมัยใหม่


หลังจากที่ปล่อยลงน้ำได้ไม่นาน งานสร้างตัวเรือส่วนบน (superstructure) และงานติดตั้งเครื่องจักรตลอดจนอุปกรณ์สำคัญในการเดินเรือก็เริ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าสิบแปดเดือนจึงแล้วเสร็จ ด้วยงบประมาณที่บานปลายจากที่เคยคาดการณ์ไว้แต่แรกถึงสี่เท่า ทำให้ทั้งตัวบรูเนลและอีสเทิร์นนาวิเกชั่นมีภาระที่หนักอึ้งรออยู่เบื้องหน้า นั่นก็คือการถอนทุนคืนจากเจ้าเรือยักษ์ลำนี้

6 กันยายน ปี 1859 และแล้วก็ถึงวันที่เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นจะได้ฤกษ์ออกทะเลเป็นครั้งแรก บรูเนลในฐานะที่เป็นเจ้าของโปรเจคเดินทางมาถึงที่เรือและเข้าเลือกห้องพักที่ใต้ดาดฟ้า สุขภาพของเขาในตอนนี้ทรุดโทรมลงจากเดิมเป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการตรากตรำงานหนักตลอดระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา และในระหว่างที่เขากำลังยืนเป็นแบบให้ช่างภาพหนังสือพิมพ์ถ่ายภาพอยู่ที่บนดาดฟ้าเรือนั้นก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น บรูเนลมีอาการโรคหัวใจกำเริบจนต้องหามส่งโรงพยาบาล ทำให้สก๊อตต์ รัสเซลต้องเข้ามารับหน้าที่เป็นหัวหน้างานแทนในการนำเรือออกทะเล

เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นแล่นตัดคลื่นในมหาสมุทรมุ่งหน้าสู่เมืองโฮลี่เฮดด์ทางตอนเหนือของแคว้นเวลส์ เมืองนี้จะเป็นบ้านแห่งใหม่ของมันในการขนส่งผู้โดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อไปยังทวีปอเมริกา กัปตันคนแรกของเรือมีชื่อว่าวิลเลียม แฮริสัน กัปตันแฮริสันเคยทำงานให้กับสายการเดินเรือคูนาร์ดมาก่อนและเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเส้นทางเดินเรือระหว่างยุโรปกับอเมริกา ในวันที่ 9 กันยายน ขณะที่เรือกำลังแล่นผ่านเมืองเฮสติ้งในช่องแคบอังกฤษ หม้อน้ำของเรือก็ได้เกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสนั่นหวั่นไหว คร่าชีวิตคนงานไปห้าคนและทำให้อีกหลายสิบคนต้องได้รับบาดเจ็บ แรงระเบิดทำให้พื้นดาดฟ้าเรือส่วนหน้าฉีกขาดและส่งให้ปล่องควัน (Funnel) หมายเลข 1 กระเด็นสูงขึ้นไปในอากาศ ระเบิดที่มีความรุนแรงในระดับนี้สามารถที่จะฉีกลำตัวเรือออกเป็นชิ้นๆและทำให้เรือลำอื่นจมลงสู่ท้องมหาสมุทร แต่ไม่ใช่กับเรือเดอะเกรทอีสเทิร์นของบรูเนลที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี ให้มีผนังลำตัวเรือสองชั้นและจัดแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นห้าสิบส่วนแยกออกจากกันด้วยผนังกั้นน้ำ (Bulkhead) เมื่อข่าวการระเบิดแพร่สะพัดออกไปตามหน้าหนังสือพิมพ์ สังคมก็เริ่มตั้งคำถามและเรียกร้องหาตัวคนที่รับผิดชอบกับโศกนาฎกรรม รัสเซลในฐานะที่เป็นหัวหน้าวิศวกรและสถาปนิกผู้ออกแบบจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะตกเป็นเป้าของข้อกล่าวหาและเป็นจำเลยของสังคม เขารอดจากตะรางมาได้อย่างหวุดหวิด แต่ก็ไม่ได้รับการว่าจ้างให้ทำการสร้างเรือใดๆอีกเลยไปจนตลอดชีวิต



แรกเริ่มเดิมทีนั้นเรือเดอะเกรทอีสเทิร์นถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางเดินเรือระยะไกลระหว่างยุโรปกับออสเตรเลีย แต่ด้วยงบประมาณการสร้างที่บานปลายทำให้บริษัทอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่นไม่สามารถวิ่งเรือในเส้นทางสายนี้ได้ ด้วยเหตุนี้เรือจึงถูกใช้วิ่งในเส้นทางสายข้ามแอตแลนติก (transatlantic route) สำหรับการเดินทางระหว่างยุโรปกับอเมริกา แต่ก็ต้องประสพกับปัญหาตามมาอีก เนื่องจากว่าเรือไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้วิ่งในเส้นทางเดินเรือสายนี้ ความเร็วสูงสุดที่ 14 นอตของมันยังต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับเรือเดินสมุทรลำอื่นที่สามารถทำความเร็วได้สูงกว่า ในส่วนของเส้นทางสายยุโรปกับออสเตรเลียนั้น เมื่อมีการเปิดใช้คลองสุเอซในปี 1869 เป็นผลให้สามารถร่นระยะทางเดินเรือระหว่างยุโรปกับเอเชียลงไปได้เกือบครึ่ง ซึ่งเมื่อมองโดยผิวเผินแล้วก็น่าจะเป็นผลดีกับเรือเดอะเกรทอีสเทิร์น เพราะว่าเรือสามารถจะบรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้นเนื่องจากใช้ถ่านหินน้อยลงในการเดินทาง ทว่าโชคร้ายที่ด้วยขนาดความกว้างของลำตัวเรือทำให้เจ้ายักษ์ใหญ่ลำนี้ไม่สามารถแล่นผ่านคลองสุเอซที่แคบกว่าได้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าความได้เปรียบทางด้านความเร็วของมันถูกทำให้หมดค่าไปในทันทีที่มีการเปิดใช้คลอง

ดูเหมือนว่าโชคชะตาจะไม่เข้าข้างเรือที่ถือได้ว่าเป็นมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของโลกลำนี้เอาเสียเลย เพราะหลังจากที่เปิดสายการเดินเรือข้ามแอตแลนติกได้ไม่นาน ก็เกิดสงครามกลางเมืองอเมริกาขึ้น ทำให้จำนวนผู้โดยสารหดหายลงจนไม่อาจที่จะทำกำไรได้ ซ้ำร้ายยังเกิดอุบัติเหตุเรือชนกับหินโสโครกที่นอกฝั่งลองไอส์แลนด์ เป็นผลให้ตัวเรือเกิดรอยฉีกขาดเป็นทางยาว 85 ฟุต ซึ่งเมื่อเทียบกับอุบัติเหตุที่เรือไตตานิคชนกับภูเขาน้ำแข็งในอีกห้าสิบกว่าปีให้หลังแล้ว ถือได้ว่ารุนแรงกว่าหลายสิบเท่า แต่เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นก็สามารถเอาตัวรอดมาได้อย่างง่ายดาย เป็นเพราะผลของการออกแบบชั้นยอดของบรูเนลผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวิศวกรมือหนึ่งแห่งยุค ทว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่สูงถึง 70,000 ปอนด์สเตอริงประกอบกับสงครามตัดราคาค่าโดยสารของบรรดาเหล่าสายการเดินเรือยักษ์ใหญ่ ทำให้บริษัทอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่นจำต้องถอนตัวออกจากการแข่งขันและประกาศขายเรือลำนี้ทิ้งในปี 1864

ดูเหมือนว่าโชคชะตาจะเล่นตลกกับเรือยักษ์ลำนี้เข้าให้แล้ว หลังจากที่ประสพความล้มเหลวกับบทบาทของเรือขนส่งผู้โดยสารข้ามมหาสมุทร เดอะเกรทอีสเทิร์นกำลังจะได้พบกับบทบาทใหม่ของมัน บทบาทซึ่งเหมาะสมและคู่ควรกับศักดิ์ศรี และจะทำให้มันกลายเป็นที่จดจำของคนรุ่นหลังสืบมาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน โลกในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมล้วนเต็มไปด้วยนวัตกรรมแปลกใหม่ที่สร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิต หนึ่งในนั้นก็คือระบบสื่อสารทางโทรเลข เป็นครั้งแรกที่มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกันในรูปแบบที่เรียกว่าเกือบจะโดยทันทีทันใดโดยปราศจากข้อจำกัดทางด้านระยะทาง ทว่าการใช้โทรเลขในยุคนั้นยังคงมีจำกัดอยู่เฉพาะบนผืนแผ่นดินใหญ่ ด้วยความกว้างของท้องมหาสมุทรทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างทวีปยุโรปกับอเมริกายังคงต้องพึ่งพาระบบไปรษณีย์เป็นหลัก ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นแรมอาทิตย์ในการรับส่งข้อความ ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อบริษัททรานส์แอตแลนติกเคเบิ้ลมีโครงการที่จะวางสายโทรเลขใต้ทะเลเพื่อเชื่อมระหว่างทั้งสองทวีป ด้วยลำตัวเรือที่ได้รับการออกแบบมาให้มีความคงทนต่อสภาพคลื่นลมในทะเลเป็นเยี่ยม ผนวกกับระบบขับเคลื่อนทั้งแบบกังหันข้างและแบบใบจักรท้ายของมัน ทำให้เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นมีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงในการรับภาระหน้าที่ที่มีความสำคัญยิ่งต่อมนุษยชาตินี้



หลังจากที่ถูกขายให้กับเจ้าของใหม่ได้ไม่นาน เรือก็ถูกเช่าโดยบริษัททรานส์แอตแลนติกเคเบิ้ลสำหรับภาระกิจวางสายโทรเลขข้ามแอตแลนติก (transatlantic telegraph cable) เส้นที่สอง จากไอร์แลนด์ถึงริมฝั่งนิวฟันด์แลนด์ในแคนาดา เรือได้รับการดัดแปลงโดยนำห้องพักผู้โดยสารบางส่วนออกเพื่อให้เหลือพื้นที่ว่างสำหรับม้วนเคเบิ้ลที่มีความยาวนับพันไมล์ และแล้วในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 1865 เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นก็ออกทะเลอีกครั้ง ภายใต้การบังคับการของกัปตันเรือคนใหม่ - เซอร์เจมส์ แอนเดอร์สัน ภายในระวางบรรทุกของมันเต็มไปด้วยม้วนเคเบิ้ลที่มีน้ำหนักร่วม 7,000 ตัน ภาระกิจที่มีความยากลำบากครั้งนี้ต้องใช้เวลายาวนานถึงสองปีจึงแล้วเสร็จ โดยเรือได้วางสายเคเบิ้ลไปเป็นระยะทางทั้งสิ้น 2,700 ไมล์ แม้ว่าจะไม่ใช่สายโทรเลขข้ามแอตแลนติกเส้นแรกของโลก แต่ก็เป็นสายที่มีกำลังส่งสูงกว่าเส้นแรกถึง 50 เท่า สามารถส่งข้อความเข้าระหัสได้เป็นจำนวน 8 คำภายในเวลาหนึ่งนาที เมื่อเทียบกับสายโทรเลขเส้นแรกที่ต้องใช้เวลาในการส่งสัญญาณที่ยาวนานถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หลังจากความสำเร็จครั้งนี้ เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นก็ได้ออกปฏิบัติภารกิจวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลเพื่อเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆของโลกเข้าด้วยกัน เรือได้ออกปฏิบัติการทางทะเลอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 1866 - 1878 โดยรวมแล้วมันได้วางสายเคเบิ้ลไปทั้งสิ้นเป็นระยะทางกว่า 26,000 ไมล์ ทว่าวันชื่นคืนสุขของเจ้าเรือยักษ์ลำนี้กำลังจะหมดลงเมื่อเซอร์วิลเลียม ซีเมนส์ ได้สร้างเรือวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลลำแรกของโลกขึ้น ชื่อ ซีเอส ฟาราเดย์

เมื่อมีเรือรุ่นใหม่ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเข้ามาแทนที่ ยุคทองของเรือเดอะเกรทอีสเทิร์นก็เป็นอันต้องสิ้นสุดลง มีความพยายามที่จะนำมันกลับมาใช้ขนส่งผู้โดยสารข้ามแอตแลนติกอีกครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะไม่สามารถจะแข่งขันกับเรือลำอื่นได้ ด้วยเหตุนี้เรือจึงถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆอยู่เป็นเวลาถึงสิบสองปี จนกระทั่งถูกขายต่อให้กับเจ้าของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเมืองลิเวอร์พูล เพื่อนำไปใช้เป็นป้ายโฆษณาลอยน้ำขนาดใหญ่ ต่อมาเรือได้ถูกขายทิ้งในปี 1888 เพื่อนำไปรื้อซากเป็นเศษเหล็ก การรื้อซากเรือเป็นไปด้วยความยากลำบากและต้องใช้เวลาอยู่ถึงสองปี เนื่องจากเรือมีผนังลำตัวสองชั้นและมีการจัดแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นหลายส่วน และแล้วในที่สุดชะตาชีวิตของเรือที่ถือได้ว่าเป็นมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของโลกลำนี้ก็มีอันต้องปิดฉากลง เนื่องจากมันไม่ได้เป็นที่ต้องการของใครอีกต่อไป เหลือทิ้งไว้ก็เพียงตำนานให้เป็นที่เล่าขานจดจำของคนรุ่นหลัง ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี่การสร้างและการออกแบบที่ล้ำหน้าเกินยุคสมัย ตลอดจนถึงเรื่องอาถรรพ์ของเรือที่ทำให้ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับมันต้องประสพกับเคราะห์กรรมต่างๆนาๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวผู้ที่สร้างมันขึ้นมาอย่างมิสเตอร์บรูเนลเอง เพราะว่าเขาได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา จากอาการของโรคหัวใจกำเริบบนเรือในครั้งนั้น



"There in the crowds stood I, and singled you out with attachment;
Nor forget I to sing of the wonder, the ship as she swam up my bay,
Well-shaped and stately the Great Eastern swam up my bay, she was 600 feet long,
Her moving swiftly surrounded by myriads of small craft I forget not to sing."
WALT WHITMAN's Year of Meteors


<จบบริบรูณ์>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย




Create Date : 19 สิงหาคม 2553
Last Update : 30 สิงหาคม 2553 9:48:54 น. 1 comments
Counter : 2231 Pageviews.

 
150th year Commemoration of Transatlantic Cable



โดย: piras วันที่: 28 สิงหาคม 2553 เวลา:20:11:20 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

piras
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความสวยงาม ไม่แพ้ภาษาของชนชาติใดในโลก

free counters
Friends' blogs
[Add piras's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.