อจินตัยไม่ควรคิด

ข้อธรรมหมวดหนึ่งมีชื่อเรียกว่า อจินตัย แปลว่า สิ่งที่ไม่ควรคิด
โดยอธิบายว่า สิ่งนั้นเรื่องนั้นพ้นวิสัยปัญญาของมวลมนุษย์ที่จะคิดได้
ขืนคิดไปก็ไม่เห็นเหตุผล จะเป็นบ้าเสียคนเสียเปล่าๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร

เป็นข้อธรรมที่กรุณาคนคิดกลัวจะเป็นบ้า แสดงไว้ ๔ ประการ คือ
๑.พุทธวิสัย ๒. ฌานวิสัย ๓. กรรมวิบาก ๔. โลกจินตะ

ข้อ ๑ พุทธวิสัย หมายถึง พุทธอำนาจ พุทธานุภาพ

ซึ่งทรงสามารถบันดาลสรรพสิ่งสรรพเหตุการณ์ต่างๆอันแปลกประหลาด
ให้มีได้เป็นได้ ตามพระพุทธประสงค์ทุกสิ่งทุกอย่าง อันพ้นวิสัยของโลก
มวลมนุษย์ที่พึงจะกระทำได้ และไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น เป็นของอัศจรรย์
แปลว่าเรื่องแปลกๆประหลาดอันเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เกิดจากพระพุทธเจ้าแล้ว
เป็นอจินตัย ไม่ควรคิด อย่าคิด หยุด ขืนคิดไปจะบ้านะจะบอกให้ฯ

ข้อ ๒ ฌานวิสัย หมายถึง อำนาจฌาน ฌานานุภาพ
พวกนักวิปัสสนากรรมฐานเจริญฌาน ได้ฌานแล้ว
สามารถบันดาลสรรพสิ่งสรรพเหตุการณ์ต่างๆอันแปลกประหลาด
ซึ่งเกิดด้วยอำนาจฌานของผู้ได้ฌาน อันพ้นวิสัยของโลกมวลมนุษย์จะทำได้แล้ว
เป็นอจินตัย ไม่ควรคิด อย่าคิด หยุด ขืนคิดไปบ้านะจะบอกให้ฯ

ข้อ ๓ กรรมวิบาก หมายถึง อำนาจของกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล กรรมานุภาพ
ซึ่งสามารถบันดาลวิบากผลให้แก่คนผู้สร้างกรรม เจ้าของกรรม แปลกๆประหลาด
นานาประการได้ ไม่ควรมีไม่ควรเป็นก็มีได้ก็เป็นได้ พบเห็นแล้ว
เป็นอจินตัย ไม่ควรคิด อย่าคิด หยุดขืนคิดไปจะบ้านะจะบอกให้ฯ

ข้อ ๔ โลกจินตะ หมายถึง การคิดเรื่องในโลกของพวกนักคิด
เรื่องในโลกซึ่งปรากฏเห็นแปลกๆเกี่ยวกับพื้นดินโลกพิภพ และสรรพสิ่งต่างๆ
ที่มีอยู่ในพื้นพิภพตลอดถึงอากาศเมฆหมอกจันทร์อาทิตย์ดารากรทั้งปวง
เป็นอจินตัย ไม่ควรคิด อย่าคิด หยุดขืนคิดไปจะบ้านะจะบอกให้ฯ

ข้อธรรม ๔ ประการนี้ ไม่เห็นเป็นธรรมะ เป็นทางความประพฤติให้เกิดผลอะไรเลย
ทำให้ผู้เชื่อถือให้กลายเป็นคนโง่ อบรมคนให้โง่ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าแน่ๆ


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหนักในเหตุผลในสัปปุริสธรรมว่า
ธมฺมญฺญู รู้จักเหตุ
อตฺถญฺญู รู้จักผล

ทรงต้องการให้คนรู้แจ้งเจนจบในสิ่งทั้งปวงที่ปรากฏแล้ว ดังตรัสว่า
สพฺพาภิภู สพฺพวิทู หมสฺสมิ
เราอยู่เหนือโลก นอกโลก เรารู้แจ้งจบเรื่องของโลกหมดแล้ว

ในบทพุทธคุณก็ตราพระปัญญาสามารถไว้ว่า
โลกฺวิทู ทรงรู้แจ้งซึ่งโลก

พระองค์ทรงยกย่องคนที่มีปัญญาสามารถนานาประการในพระพุทธศาสนา เช่น
ปญฺญา นรานํ รตฺตนํ ปัญญาเป็นรัตนะของตน

ทรงแสดงคุณภาพของปัญญาไว้เป็นส่วนยิ่งใหญ่
เด่นกว่าคุณธรรมทั้งปวง ก็มากหลาย เช่น
ปญฺญา โลกสฺสมิ ปชฺโชโต ปัญญาเหมือนแสงสว่างโชนในโลก
ปญฺญาย ปริสุชฺชติ คนบริสุทธิ์ได้เพราะปัญญา

ทรงชี้ทางเจริญทางเสื่อมสูญแห่งปัญญาไว้ก็มากเหมือนกัน เช่นว่า
โยคา เว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริ สงฺขโย
ปัญญาจะเกิดเพราะอาศัยการประกอบทางแห่งปัญญา
ปัญญาจะเสื่อมสิ้นหมดไป ก็เพราะการไม่ประกอบทาง มีอาทิ
ดังนี้

ข้อธรรม ๔ ประการนี้ คงจะเพิ่มเติมขึ้นไว้เมื่อภายหลัง ป้องกันความคิดของคนภายหลัง
ไม่ให้คิดถึงเรื่องอภินิหารต่างๆที่ได้พูดไว้เกินกว่าเหตุ เกินความจริง เกินสมควร
แทรกเสริมเติมต่อเข้าไว้ในพระพุทธศาสนามากมาย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับคำสอนอะไรเลย


ตัวอย่างเช่น ฌานวิสัย อำนาจฌาน กล่าวไว้ว่า
พระโมคคัลลานเถระ ผู้เยี่ยมยิ่งในทางฌานกำอิทธิฤทธิ์ไว้ได้หลายประการ
ครั้งหนึ่ง ท่านประสงค์จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ปรากฏแก่สายตาโลกมวลมนุษย์
เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลขอประทานอนุญาตจะสำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เธอจะทำอย่างไร
ท่านทูลว่า จะเข้าฌานแล้วม้วนเสื่อ
เพราะคนในยุคนั้นเข้าใจว่าพื้นดินหรือพื้นพิภพที่เราเกิดอาศัยอยู่นี่
มันแบนเหมือนผืนเสื่อปูอยู่บนหลังปลาอนนต์

พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า เธอจะม้วนแผ่นดิน
แล้วสัตว์โลก เช่น หมู่มนุษย์ เป็นต้น เธอจะทำอย่างไร มิตายหมดหรือ

ท่านทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ให้ตาย จะกวาดคุมสัตว์โลกเข้าไว้ในฝ่ามือข้างหนึ่ง

พระพุทธองค์ตรัสรับรองว่า
เธอสามารถทำได้อยู่ แต่เราไม่อนุญาต เราจะทำปาฏิหาริย์เอง
แล้วต่อมาพระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัตถกถา

เสร็จยมกปาฏหาริย์แล้ว เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาพระเมรุ คือ พระยาเขาสิเนรุหรือเทวันคีรี
พระพุทธองค์เสด็จขึ้นเพียงก้าว ๓ ก้าวถึงสุทัสสนะเทพธานี สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เสด็จประทับ ณ พระแท่นปัณฑุกัมพลสิลาอาสน์
ทรงแสดงพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดากับมวลเทวดาในหมื่นแสนจักรวาล
สิ้นเวลา ๓ เดือน จึงเสด็จกลับลงมายังมนุษย์โลก ดังนี้


พระผู้ดำรงพระพุทธศาสนาจำทรงพระพุทธวจนะ ซึ่งได้นามว่า พหูสูตบุคคล
เอาประโยคเป็นดีกรีตั้งแต่ ๑-๙ ประโยค เมื่อมีผู้สงสัยคิดไม่เห็นในเรื่องมัวๆมืดๆ
เสียเหตุผล เกินความจริง และเป็นเรื่องอภินิหารต่างๆในพระพุทธศาสนา
ถามขึ้นแล้วอธิบายให้เขาไม่ได้ ก็ต้องยกเรื่องอจินตัย ๔ นี้ ขึ้นระงับดับอธิกรณ์
ดับคำถาม เป็นเครื่องมือดีสำคัญ จะต้องถูกห้ามด้วยคำว่า

เรื่องนี้เป็นอจินตัย นักปราชญ์เขาห้ามไม่ให้คิด ขืนคิดไปจะบ้าคลั่ง

อีกทีหนึ่งก็มักผลักไปให้เป็นวิสัยของพระอรหันต์
เราเป็นปุถุชนคนธรรมดาสามัญคิดไม่เห็น ไม่มีญาณ จนอีกหมดทางจะรู้


อันที่จริงทางที่ถูก พระอรหันต์ท่านสิ้นคิดหมดคิดที่จะรู้แล้ว ท่านรู้แจ้งจบหมดแล้ว
ไม่ใช่พระอรหันต์นั้นเป็นเหตุแห่งการคิดพินิจพิจารณา
การคิดพินิจพิจารณาต่างหากเป็นเหตุให้ได้พระอรหันต์
อย่างอริยมรรค ตัวต้น คือ สมฺมาทิฏฺฐิ ปัญญาเห็นอริยสัจจ์ ๔


แต่ปุถุชนคนธรรมดาสามัญ ต้องใช้ความคิดพินิจพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างไป
พระอรหันต์เป็นพวกหมดคิดแล้ว สิ่งต่างๆก็ดี เรื่องราวต่างๆก็ดี ข้อธรรมต่างๆก็ดี
ตื้นลึกหยาบละเอียดอย่างไรไม่กำหนด เมื่อเกิดปรากฏขึ้นแก่ผู้รู้คือจิตแล้ว
ที่จะไม่ควรคิดพินิจพิจารณาให้รู้ เหตุ-ผล ดี-ชั่ว จริง-เท็จ คุณ-โทษ
ประโยชน์-มิใช่ประโยชน์ นั้น ไม่มี ยังไม่รู้ต้องการจะรู้ เป็นเรื่องควรคิดหมดทั้งสิ้น


เรื่องที่จะยกขึ้นเป็นส่วนพิเศษว่าเป็นเรื่องอจินตัยไม่ควรคิดนั้น ไม่รู้
ถ้าใครพูดห้ามว่า เรื่องนี้เรื่องนั้นไม่ควรคิด
กลับจะชวนให้เกิดความคิดมากขึ้น ว่าเป็นเพราะอะไรเขาจึงห้าม
คนห้ามไม่ใช่กลัวคนคิดจะเป็นบ้า เขากลัวคนคิดจะจับเท็จต่างหาก

การคิดค้นพินิจพิจารณาเหตุผลดีชั่วจริงเท็จคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์
ในสิ่งต่างๆก็ดี เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆก็ดี ข้อธรรมต่างๆก็ดี
เป็นการอบรมปัญญาให้เกิดกว้างขวาง พัฒนาการให้เจริญยิ่งขึ้น


คนไม่หมั่นคิดโทษก็ตรงกันข้าม
การคิดพินิจพิจารณาเป็นเหตุให้เกิดปัญญาความฉลาด
ปัญญาก็เป็นเหตุอุดหนุนความคิดพิจารณาให้กว้างขวาง ดังภาษิตนี้ว่า
นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน แปลว่า
ความเพ่งพินิจไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาเล่าก็ไม่มีแก่ผู้ไม่เพ่งพินิจ ดังนี้

โดยอธิบายว่า คนไม่มีปัญญา การเพ่งพินิจอึดอัดติดขัดไม่คล่องในเบื้องต้น
แต่ก็เลิกเสียไม่ได้ เพราะการเพ่งพินิจนั้นเป็นเหตุให้เกิดปัญญา
การคิดเพ่งพินิจกับปัญญาต่างเป็นเหตุอุดหนุนกัน
ถ้าเว้นการเพ่งพินิจเสียแล้ว ปัญญาก็ไม่มี
ดังนี้

การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ดี มรรคผลนิพพานของพระอรหันต์พุทธสาวกก็ดี
คงจะไม่ยากยิ่งกว่าอจินตัย ๔ ที่ท่านกรุณาพูดห้ามไว้
เพราะท่านสามารถใช้ความคิดสำเร็จมรรคผลนิพพานได้ นับเป็นร้อยๆองค์
พระอรหันต์บ้าๆเพราะเหตุพยายามสำเร็จมรรคผลนิพพานก็ไม่มี


อจิยตัย ๔ นั้น คงจะยากยิ่งกว่ามรรคผลนิพพานนั้นมากมายทีเดียว ท่านจึงห้ามไว้
ยาก เพราะอะไรหนอ น่าจะเห็นว่า พูดเกินสมควร เกินกว่าเหตุ เกินความจริงไว้มากมาย
เป็นเรื่องเก็บขังมุสาวาทไว้มากเป็นเอนกอนันตัง
ท่านจึงจัดเป็นอจินตัย ไม่ให้คิดพินิจพิจารณา ขืนคิดไปจะเป็นบ้าเสียเปล่าๆ

เรื่องที่เราจะต้องคิดเป็นข้อคิดต่างๆ ไม่เป็นเหตุทำคนผู้คิดให้เป็นบ้า
การไม่รู้จักใช้ความคิดและไม่ฉลาดในการคิดต่างหาก อาจเป็นเหตุให้คนผู้คิดเป็นบ้าได้

เช่น คิดหักโหมกำลังเครื่องใช้ความคิดเกินไป
อย่างช่างไม้ใจร้อนเอาเร็วเข้าว่า ใช้เครื่องมือเช่น กบและเลื่อยเป็นต้น
หักโหมผิดๆพลาดๆหักพังพินาศ บิ่น บิดเบี้ยว ชวนให้เกิดโทสะต่อไปอีก ไม่รู้จักพอดี

คนใช้ความคิดก็เช่นกัน ต้องทำใจเย็นๆเป็นกลางๆอย่าเอียงไปทางกลัวทางโทษ
และทางรัก ปิดเรื่องอื่นๆ มุ่งเอาเรื่องที่ต้องการรู้เป็นสำคัญ
ใช้กำลังกาย คือ ประสาทและสมองพอดีไม่เร่งเร้า
เดินตามกฎของวิชานึกคิด(ตรรกวิทยา) แต่งจิตให้มีกำลังเหมาะสมก่อนในเบื้องต้น

ดังพระบาลีพุทธภาษิตว่า
อุเบกขา สติสงฺสุทฺธํ ธมฺมตกฺก ปุเรชวํ
ทำจิตให้บริสุทธิ์ ปราศจากอารมณ์ที่เป็นโทษ มีสติกุมเฉยแล้วตรึกธรรม
คือ คิดข้อคิดนั้น เดินหน้า ก้าวหน้า
เมื่อรู้จักทำ รู้จักคิดพอดีแล้ว คงไม่บ้าแน่

ยึดถือสุภาษิตอีกบทหนึ่งว่า
มตฺตญฺญุตา สทาสาธุ
ความรู้จักพอดี ให้สำเร็จประโยชน์ได้ดีทุกสมัย ดังนี้ ฯ

ความพอดี มีขนาด ไม่ขาดเหลือ
เป็นคุณเกื้อ ธุรกิจ ประสิทธิผล
กินอาหาร พอประมาณ แก่ท้องตน
ย่อมเกิดผล อย่างเดียว เป็นเรี่ยวแรง

ประกอบกิจ คิดเพลิน อย่าเกินส่วน
พอสมควร แก่กำลัง ที่เข้มแข็ง
ถ้าเกินส่วน ชวนชัก หักเรี่ยวแรง
รู้จักแบ่ง ผ่อนหนัก พักสบาย

จ่ายทรัพย์ อย่าให้มาก ยากภายหน้า
กล่าวาจา พอดี เป็นที่หมาย
การเดินนั่ง ถ้าเหนื่อย ยากมากมาย
ไม่สบาย โรคา เข้ามาตั้ง

การทำ แม้ว่าหย่อน อ่อนพอดี
ถึงผลมี ก็ไม่สม อารมณ์หวัง
ถ้าเกินเล่า เสียประโยชน์ โทษประดัง
จึงต้องตั้ง ใจทำ พอดีเอย

------เปมงฺกโร ภิกขุ-------

คัดลอกจากหนังสือ ชุมนุมบทความ...เปมงฺกโร ภิกฺขุ เรียบเรียง
ข้อ ๑๕ เรื่องอจินตัยไม่ควรคิด






Create Date : 19 กรกฎาคม 2551
Last Update : 20 ตุลาคม 2552 7:17:31 น. 1 comments
Counter : 1346 Pageviews.  

 


โดย: Opey วันที่: 19 กรกฎาคม 2551 เวลา:10:10:39 น.  

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]