คิริมานันทสูตร – สัญญา ๑๐ ประการเป็นไฉน???

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงโปรดให้พระอานนท์ไปแสดงธรรม
เรื่องสัญญา ๑๐ ประการแก่พระคิริมานนท์ ซึ่งป่วยหนัก เพื่อแก้ทุกขเวทนา
อันเป็นเหตุให้ทุกขเวทนาสงบระงับลงโดยเร็ว
ซึ่งพระอานนท์ก็ได้นำไปแสดงให้ฟัง
พอจบลง ทุกขเวทนาของพระคิริมานนท์ก็ระงับหายลงทันที

รายละเอียดของสัญญา ๑๐ ประการ มีดังนี้

๑.อนิจจสัญญา ตั้งสติพิจารณาขันธ์ ๕ ที่ถูกจิตยึดไว้ ( อุปาทานขันธ์ ๕ )

๒.อนัตตสัญญา ตั้งสติพิจารณาการรับรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง ๖ ว่า ไม่ใช่ตัวตน

๓.อสุภสัญญา ตั้งสติพิจารณารูปกาย ข้างบน -- นับตั้งแต่พื้นฝ่าเท้าขึ้นไป
และข้างล่าง -- ตั้งแต่ปลายเส้นผมลงมา อันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ ว่าเป็นของไม่สะอาด

๔.อาทีนวสัญญา ตั้งสติพิจารณาว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก
ความเจ็บไข้ได้ป่วยย่อมอาศัยเกิดขึ้นที่กายนี้
มีโรคในตา โรคในหู โรคในจมูก โรคในลิ้น โรคในฟัน ฯลฯ เป็นต้น

สัญญาตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ นี้ เป็นตัวทุกข์
ซึ่งจิตมิได้เป็นตัวทุกข์เลย แต่โง่เขลาเข้าไปยึดตัวทุกข์ไว้
ก็เลยพลอยเป็นทุกข์ไปด้วย


๕.ปหานสัญญา ตั้งสติไม่เข้าไปยึดทุกข์ คือ
ไม่รับไว้ สละเสีย ถ่ายถอนทำความยึดถือให้พินาศ
และทำไม่ให้เกิดความยึดถือในกามวิตก พยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก อีกต่อไป

๖.วิราคสัญญา ตั้งสติให้เข้าถึงสภาพสำรอกกิเลสเครื่องย้อมจิตออกให้หมดสิ้น

๗.นิโรธสัญญา ตั้งสติที่จะเข้าให้ถึงสภาพดับกิเลส ให้ทุกข์ดับสนิทที่จิต

๘.สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ตั้งสติละอุบายอันเป็นเหตุให้ถือมั่นในโลก

๙.สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา
ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมระอา เกลียดชังสังขารที่เกิดจากการปรุงแต่งทั้งปวง

๑๐.อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างต่อเนื่อง
ที่ฐานลมกระทบในเมื่อมีอารมณ์มากระทบอายตนะ ๖
และรู้จักวิธีทำลมหายใจที่หยาบให้ละเอียดและสงบ จนชำนาญทันการ
เพื่อให้จิตสงบ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เป็นจิตที่ควรแก่การงาน
คือ สงบที่ฌาน ๔ โดยไม่ใช้เวลาเลย ( คือ ชั่วลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น )

***

ผู้ศึกษาธรรมะย่อมสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่า
จิตนั้น ไม่ว่าจะเป็นจิตของสามัญชน หรือจิตของพระอริยเจ้าก็ตาม
ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์-จำอารมณ์เหมือนๆกัน

แต่ต่างกันตรงที่…
จิตสามัญชนรู้อารมณ์ แล้วจำอารมณ์ไว้ปรุงแต่งให้เกิดกิเลสรักชัง
มากหรือน้อยสุดแต่กำลังยึดถืออารมณ์นั้นๆไว้มากหรือน้อยเสมอ
กล่าวคือ สัญญาจำได้ในทางยึดถืออารมณ์ไว้ฝ่ายเดียวเท่านั้น


แต่จิตพระอริยเจ้านั้น ได้ศึกษาเรื่องอารมณ์มาแล้ว จึงเกิดสัญญา ๑๐ ประการ
อันเป็นเหตุให้ถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้
ตามกำลังของมรรคที่ได้ปฏิบัติไว้
จนมีความคล่องแคล่วในการตั้งสติไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ
และดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจ ณ ฐานดังกล่าวนี้
แทนที่การดูอารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะทั้ง ๖ เสีย
จิตจึงยึดหน้าที่ดูแต่เพียงลมหายใจเพียงอย่างเดียวแทนที่อารมณ์
ซึ่งกลายเป็นรู้อารมณ์ก็สักแต่ว่ารู้ อารมณ์เท่านั้น.

สำหรับลมหายใจที่จิตยกเข้ามาดูขณะนี้ ก็เป็นสังขารธรรม
ที่ยิ่งเพ่งดู ก็ยิ่งเปลี่ยนสภาพจากลมหยาบ ซึ่งเป็นลมของสามัญชน
เป็นลมละเอียด ซึ่งเป็นลมของพระอริยเจ้า
จนผู้ปฏิบัติไม่สามารถจับความเคลื่อนไหวไปมาที่กระทบฐานที่ตั้งสติได้อีกในที่สุด
จิตจึงอยู่ในสภาพสุญญตา ที่ไม่มีอะไรเป็นนิมิตหมายต่อไป
คือ หมดสิ่งที่จะยึดถือไว้ดังแต่ก่อน


***

ดังนั้น สัญญา ๑๐ ประการจึงทำให้เกิดปัญญา ดังรายละเอียดต่อไปนี้

สัญญาข้อที่ ๑-๔ เป็นสัญญาที่จำสิ่งที่รู้เห็นและรับเอาเข้ามาไว้นั้นเป็นทุกข์<
ซึ่งต้องกำหนดรู้ ( ปริญเญยยะกิจ )


สัญญาข้อที่ ๕ สมุทัย เป็นสัญญาที่จำได้ว่า จะต้องสละ ถ่ายถอน
ตัดความยึดถือให้พินาศ จนไม่มีความยึดถืออีกต่อไป ( เป็นปหาตัพพะกิจ )


สัญญาข้อที่ ๖-๗ เป็นผลมาจากการละสมุทัย
ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องทำให้แจ้ง ( เป็น สัจฉิกาตัพพะกิจ )
ทุกข์จึงดับลงอย่างสิ้นเชิง จิตจึงสงบประณีต


สัญญาข้อที่ ๘-๙-๑๐ เป็นความจำได้หมายรู้ที่จะแยกจิตออกจากอารมณ์
ไปตั้งไว้ที่ฐานที่ลมหายใจกระทบ ภายในช่องจมูกได้โดยคล่องแคล่ว เด็ดขาด รวดเร็ว
โดยไม่ปล่อยให้จิตแลบออกไปหาอารมณ์หรือร่างกายส่วนอื่นได้อีก
( เป็นภาเวตัพพะกิจ )


จิตพระคิริมานนท์ จึงแยกออกจากร่างกายที่ถูกความป่วยครอบงำได้โดยเด็ดขาด
จิตจึงไม่ป่วยไปตามร่างกายอีกต่อไป ร่างกายเท่านั้นที่ป่วย.


เขียนโดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ เสนอมา ณ วันวิสาขบูชา ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑



ปล.ในเวบ 84,000 สูตรนี้ ใช้ชื่อ อาพาธสูตร
แต่ในหนังสือสวดมนต์แปล โดยพระศาสนโสภณ ใช้ชื่อ คิริมานันทสูตร





Create Date : 19 พฤษภาคม 2551
Last Update : 9 ตุลาคม 2552 19:17:45 น. 5 comments
Counter : 1130 Pageviews.  

 
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖
อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

อาพาธสูตร

[๖๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตะวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ก็สมัยนั้นแล ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก
ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอนุเคราะห์เสด็จเยี่ยม
ท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่เถิด พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหาแล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการแก่คิริมานันทภิกษุไซร้
ข้อที่อาพาธของคิริมานันทภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน
เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้

สัญญา ๑๐ประการเป็นไฉน คือ
อนิจจสัญญา ๑
อนัตตสัญญา ๑
อสุภสัญญา ๑
อาทีนวสัญญา ๑
ปหานสัญญา ๑
วิราคสัญญา ๑
นิโรธสัญญา ๑
สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑
สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑
อนาปานัสสติ ๑ ฯ

ดูกรอานนท์ ก็อนิจจสัญญาเป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้
ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่า อนิจจสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ ก็อนัตตสัญญาเป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา
หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา
จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา
ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา
กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา
ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา
ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย
ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้
ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ ก็อสุภสัญญาเป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้นั่นแล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆว่า
ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ
ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด
เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร
ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้
ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอสุภสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ ก็อาทีนวสัญญาเป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ
โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก
ฯลฯ
ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้
ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอาทีนวสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ ก็ปหานสัญญาเป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป
ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป
ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งพยาบาทวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป
ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งวิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป
ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้นแล้ว
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าปหานสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ ก็วิราคสัญญา เป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ
ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง
ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา
ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส
ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าวิราคสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ นิโรธสัญญา เป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ
ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง
ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา
ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ
ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่านิโรธสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา เป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ละอุบาย(คือ ตัณหาและทิฐิ)
และอุปาทาน (คือ อุปาทาน ๔) ในโลก อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น
และเป็นอนุสัยแห่งจิต
ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพโลเกอนภิรตสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา เป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังแต่สังขารทั้งปวง
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ฯ

ดูกรอานนท์ อานาปานัสสติเป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอเป็นผู้มีสติหายใจออก เป็นผู้มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็ รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวง(ลมหายใจ) หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมศึกษาว่า จักระงับกายสังขาร (ลมหายใจ) หายใจออก
ย่อมศึกษาว่าจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
ฯลฯ
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอานาปานัสสติ ฯ

ดูกรอานนท์
ถ้าเธอพึงเข้าไปหาแล้ว กล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้แก่คิริมานนทภิกษุไซร้
ข้อที่อาพาธของคิริมานนทภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน
เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ

ลำดับนั้นแล
ท่านพระอานนท์ได้เรียนสัญญา ๑๐ ประการนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ได้เข้าไปหาท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่
ครั้นแล้วได้กล่าวสัญญา ๑๐ ประการแก่ท่านพระคิริมานนท์

ครั้งนั้นแล อาพาธนั้นของท่านพระคิริมานนท์สงบระงับโดยพลัน
เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้

ท่านพระคิริมานนท์หายจากอาพาธนั้น
ก็แลอาพาธนั้นเป็นโรคอันท่านพระคิริมานนท์ละได้แล้ว ด้วยประการนั้นแล ฯ

//www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=24&A=2597&Z=2711&pagebreak=0


โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 19 พฤษภาคม 2551 เวลา:7:24:29 น.  

 
สาธุครับ


โดย: เอก IP: 125.26.117.47 วันที่: 19 พฤษภาคม 2551 เวลา:11:23:40 น.  

 



โดย: travelaround (travelaround ) วันที่: 19 พฤษภาคม 2551 เวลา:11:34:42 น.  

 
สาธุครับ ผมขออนุญาตนำไปเผยแพร่ในกระทู้ แต่คงมีมารมาผจญเหมือนเดิมครับพี่ พวกมันไม่รู้จักกลัวบาปกรรมเลยครับ


โดย: rxkku IP: 58.9.95.218 วันที่: 19 พฤษภาคม 2551 เวลา:14:06:07 น.  

 
คนที่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง จะไม่เข้าใจครับว่าสัญญามี ๒ แบบ

สัญญาฝ่ายยึด...จดจำอารมณ์...ยึดอารมณ์...ปรุงแต่งต่อไป...( คนทั่วๆไป )

กับ สัญญาฝ่ายปล่อย...จดจำรู้ว่านี่คืออารมณ์...ปล่อยวางอารมณ์...ไม่ปรุงแต่งต่อไป...( คนปฏิบัติ )
ซึ่งต้องหมั่นฝึกให้ชำนาญจนเป็นวสี กระทบอารมณ์ปุ๊บ...รู้...ปล่อยได้ปั๊บ



โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 21 พฤษภาคม 2551 เวลา:8:31:10 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]