ถ้า “อัตตาตัวตน” ไม่มีจริงๆแล้ว คำบัญญัติสมมุติ “อัตตาตัวตน” จะมีขึ้นได้อย่างไร?

ความหมายของ อัตตา และ อนัตตา

คำว่า อัตตา และ อนัตตา เป็นคำบัญญัติสมมุติในหลักทวินิยมเช่นกัน
กล่าวคือ
อัตตา แปลว่า ตัวตน
อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน

แต่ในปัจจุบัน มักแปล อนัตตา ว่า ไม่มีตัวตน
ซึ่งมีความหมายผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงอย่างมาก


ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า
คำบัญญัติสมมุติตั้งขึ้น เพื่อเรียกขานสิ่งที่มีอยู่ในโลกตามปกติ
ถ้าไม่มีสิ่งนั้นๆในโลก ก็ย่อมจะไม่มีการบัญญัติสมมุติขึ้นมา

ถ้าไม่มีตัวตนจริงๆแล้ว
ก็ย่อมจะบัญญัติสมมุติคำว่า “อัตตา (ตัวตน)” ขึ้นมาเพื่อประโยชน์อันใดมิได้
.

การเข้าใจความหมายของ “อนัตตา” ผิดเพี้ยนไป ว่า“ไม่มีตัวตน”
ย่อมทำให้ผู้ศึกษาธรรมะไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากพระพุทธศาสนา.

ไม่ใช่ตัวตน คนละความหมายกับ ไม่มีตัวตน

คำว่า ไม่ใช่ตัวตน
หมายความว่า ตัวตนที่แท้จริงมีอยู่
แต่กลับหลงไปยึดเอาขันธ์ ๕ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน
เข้ามาเป็นตัวตนด้วยความเข้าใจผิด เพราะไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง.

ส่วนคำว่า ไม่มีตัวตน นั้น
หมายความว่า “ไม่มีสิ่งใดเลย”ที่มีชีวิตจิตใจ นอกจากก้อนดิน ก้อนอิฐ ก้อนกรวด
ต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ ซึ่งเป็นวัตถุตามธรรมชาติเท่านั้น
ซึ่งเป็นผลให ้เข้าใจผิดว่าไม่มีผู้กระทำกรรม และ ไม่มีผู้รับผลของกรรมนั้นๆด้วย
ดังที่มักจะได้ยินกันว่า
บรรดาธรรมทั้งหลายนั้น มีแต่การกระทำอย่างเดียวเท่านั้น ผู้กระทำหามีไม่ เป็นต้น
จัดเป็น นัตถิกทิฐิ ในพระพุทธศาสนานี้
ซึ่งไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับคำว่าอนัตตาแต่ประการใดเลย.

เงื่อนไขในการบัญญัติคำว่า อัตตา และ อนัตตา ในพระพุทธศาสนา

มีพุทธพจน์ตรัสไว้ในอนัตตลักขณสูตรดังนี้
รูปญฺจ หิทํ ภิกฺขเว อตฺตา อภวิสฺส นยิทํ รูปํ อาพาธาย สงฺวตฺเตยฺย
แปลว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้เป็นอัตตาแล้ว รูปนี้ก็ไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย

พุทธพจน์ข้อนี้ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนรวม ๒ นัย คือ
สิ่งใดที่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ทรงจัดว่าเป็นอนัตตา
อันได้แก่ รูป ( ทั้งนี้ทรงสอนรวมทั้ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วย )
นัยหนึ่ง.

และสิ่งใดที่ไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ทรงจัดว่าเป็นอัตตา
อันได้แก่ จิตผู้รู้ชั้นพุทโธ ซึ่งไม่พลอยหวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบ
อีกนัยหนึ่ง.

ผู้ที่ศึกษาธรรมะยังไม่เข้าใจสภาพของจิตผู้รู้,ชั้นพุทโธ ซึ่งตั้งมั่นไม่หวั่นไหวนี้
จึงเหมาเอาเองว่าพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงสอนเรื่องอัตตา.

ตัวอย่างเรื่องอนัตตาที่สอนกันอย่างผิดๆในปัจจุบัน

ตามธรรมดาแล้ว
ธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศสั่งสอนพุทธบริษัท ๔ แล้วนั้น
ย่อมเป็นสัจธรรมที่มีเหตุมีผลสอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งหลาย
ไม่มีขัดแย้งซึ่งกันและกันเลย

ดังนั้น ธรรมะข้อใดที่สอนถ่ายทอดต่อๆกันมาโดยไม่สอบเทียบกับหลักของเหตุผล
ธรรมะข้อนั้นย่อมสะดุดความรู้สึกของผู้ที่รับถ่ายทอด ว่าขาดเหตุผลทันที
ถึงแม้จะไม่รู้ในขณะนั้น ก็จะต้องมีผู้พบเห็นในภายหลัง
และจะต้องถูกปฏิเสธทันทีเช่นเดียวกัน.

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่สอนเรื่องอนัตตาผิดๆว่าไม่มีตัวตนนั้น
จึงกระทำไป เพราะไม่รู้จักตัวตน
แต่กล่าวออกมาเช่นนี้ เพราะเรียนท่องจำมาอย่างแน่นสนิท
ซึ่งจะต้องได้รับการปฏิเสธจากอนุชนในภายหลังอย่างไม่มีปัญหา.

โปรดดูตัวอย่าง การสอนเรื่องไม่มีตัวตน:-
ในที่สุดแห่งการบรรยายธรรมเรื่องอนัตตานี้
พอสรุปได้ว่า การทำความเห็นว่าไม่มีตัวตนนั้น,เป็นสิ่งที่ดี
เราจะได้รับผลอันน่าพึงพอใจ ตนนั่นแหละจะมีความสุขทุกทิพาราตรีกาล
อาตมาจึงขอยุติการบรรยายเรื่องไม่มีตัวตนไว้แต่เพียงเท่านี้
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


การบรรยายธรรมะเช่นนี้ ย่อมฟังยากฟังเย็นเสียเหลือเกิน
พูดวกวนเป็นน้ำในอ่าง เหมือนลวงคนเล่นต่อหน้าต่อตา
เพราะพูดว่าตัวตนเราเขาไม่มีไปแล้ว
ก็กลับพูดวนมาหาตน,หาเรา,หาอาตมา ให้มีความสุขเข้าอีกจนได้
จนกลายเป็นเรื่องขัดแย้งกันเองขึ้นมา
เพราะหยอดท้ายคำบรรยายว่าอาตมาขอยุติการบรรยายเรื่องไม่มีตัวตนไว้เพียงเท่านี้ ?

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่าได้บรรยายธรรมะสืบต่อกันมาโดยไม่ถูกต้อง
จนบางทีถึงกับอบรมให้เกลียดตัวเกลียดตนกัน
เพราะไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงซึ่งมีอยู่จริงๆก็มี
พอทักท้วงเข้าก็แก้ตัวอุตลุดไม่ยอมรับว่ามีตัวตน
แต่กลับยิ่งกล่าวบิดเบือนเถลไถลว่า

อัตตา(ตัวตน) เป็นแต่เพียงคำสมมุติบัญญัติ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีอะไร
ถ้าไม่มีอะไรจริงๆอย่างว่าแล้ว ก็ย่อมสมมุติบัญญัติคำว่า อัตตา ออกมาไม่ได้เลย.

กล่าวตามข้อเท็จจริง
พระพุทธองค์มิได้ทรงสอนให้ถอนคำบัญญัติทิ้งเสีย
หรือทรงสอนให้ทำลายสิ่งที่รองรับคำบัญญัติ ให้ละลายหายสูญไปด้วย
แต่ประการใดเลย

เนื่องจากทุกข์โทษทั้งหลาย มิได้เกิดจากการใช้คำบัญญัติ
แต่เกิดจากการเข้าไปยึดถือสิ่งรองรับคำบัญญัติ
ด้วยความเข้าใจผิด ว่ามีแก่นสารสาระเป็นอัตตา(ตัวตน)ต่างหาก
.

พระองค์ทรงสอนให้ ถอนความยึดถือ สิ่งรองรับคำบัญญัติ ด้วยความเข้าใจผิดนั้นเสีย
เมื่อถอนความยึดถือสิ่งที่รองรับคำบัญญัติเสียแล้ว
ก็ย่อมหลุดพ้นจากวัตถุหรืออารมณ์ที่รองรับคำบัญญัติทั้งหลายได้อย่างสิ้นเชิง
จิตก็ย่อมผ่องแผ้วบริสุทธิ์ไม่หลงไปพลอยเกิดพลอยตายกับสิ่งที่รองรับคำบัญญัติด้วย.

คัดลอกจากหนังสือธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์

download ไฟล์หนังสือธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ คลิกที่นี่เลยครับ


Create Date : 02 สิงหาคม 2551
Last Update : 2 สิงหาคม 2551 8:14:06 น. 0 comments
Counter : 743 Pageviews.  

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]