การทำจิตให้ผ่องแผ้วในหัวใจพระพุทธศาสนานั้น คือองค์แห่งสมาธิในอริยมรรค ๘ นั่นเอง
หัวใจพระพุทธศาสนา คือ อะไร ??? เราชาวพุทธทั่วทุกตัวคน ย่อมรู้ดีว่า หัวใจพุทธศาสนานั้นมีอะไรบ้าง พวกเราท่องจำกันจนขึ้นใจ ๑.ละชั่ว ๒.ทำดี ๓.ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว แต่กลับนำไปปฏิบัติได้ไม่ครบทั้ง ๓ ประการ พวกเรามักพากันเมินเฉยข้อ ๓ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เพราะอะไร?

เพราะเกียจคร้านที่จะลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจัง และคิดกลัวไปเองว่าจะเป็นการติดในฌานแบบฤาษีชีไพรทั้งหลายในสมัยพุทธกาล โดยไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงว่า ฌานสมาบัติ ๘ ที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นนั้น แตกต่างจากสัมมาสมาธิในอริยมรรค ๘ ของพระพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง

ฌานสมาบัติ ๘ ทำให้กิเลสเบาบางลงได้ แต่จิตไม่สามารถหลุดพ้นจากอุปกิเลสอย่างละเอียดได้ จิตไม่มีพลังเพียงพอที่จะควบคุมอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นอุปกิเลสที่เข้ามาเป็นแขกจร ทำให้จิตหลงใหลไปตามอุปกิเลสต่างๆได้ง่าย แต่สัมมาสมาธิในพระพุทธศาสนา อบรมจิตให้มีพลังสลัดอารมณ์ต่างๆที่เป็นอุปกิเลสที่เข้ามากระทบจิต จิตสงบตั้งมั่นไม่หลงใหลไปตามอุปกิเลสต่างๆได้


การปฏิบัติตามโอวาทปาฏิโมกข์อย่างจริงจัง ก็คือ การลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนานั่นเอง ซึ่งผู้ปฏิบัติจริง ย่อมพอที่จะแยกออกมาได้ว่า ในการปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องของ “จิตกับอารมณ์” เท่านั้น ในพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรอื่นนอกเหนือไปจากเรื่อง “จิตกับอารมณ์” นี้เลย

ผู้ปฏิบัติจะเห็นได้เองว่า หัวใจพุทธศาสนาในข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้น พูดถึงอารมณ์ที่เป็นฝ่ายอกุศล(อกุศลจิต) ข้อ๑ และอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุศล(กุศลจิต) ข้อ ๒ ตามลำดับ ส่วนในข้อ ๓ นั้นพระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า “จิต” นั้นเราสามารถฝึกฝนอบรมชำระให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากอุปกิเลสทั้งหลาย(กุศลและอกุศล)ได้จริง มีพระพุทธพจน์รับรองไว้มากมายหลายพระสูตร

ปัญหาหลักอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรจิตจึงจะสร้างสติให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง? จึงจะชำระจิตที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองที่เป็นแขกจรเข้ามาได้ เพราะจิตชอบแส่ส่ายออกไปรู้รับอารมณ์ต่างๆ และยึดเข้ามาสู่จิตของตน จนทำให้จิตเกิดความเศร้าหมองขึ้นที่จิต

มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า เดิมทีนั้น จิตมีสภาพประภัสสรผ่องใส ที่เศร้าหมองไป เหตุเพราะมีกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง ขณะจิตที่ยังไม่มีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามานั้น มีสภาพผ่องใสอยู่เดิมแต่ยังไม่ได้รับความบริสุทธิ์ จะทำอย่างไร ให้จิตหลุดพ้น ไม่เศร้าหมองไปเพราะกิเลสเป็นแขกจร ???


เราชาวพุทธฝ่ายสายปฏิบัติ ย่อมรู้ดีกันทั่วทุกตัวคนว่า องค์แห่งสมาธินั้นประกอบไปด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เมื่อทั้ง ๓ องค์ทำหน้าที่ร่วมกัน จิตย่อมรวมลงตัวเป็น สมาธิ ตั้งมั่นโดยลำพังตนเองได้ โดยไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ใดๆทั้งสิ้น

เมื่อได้พิจารณาองค์แห่ง สมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) เทียบเคียงกับ โอวาทปาฏิโมกข์ (ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว) ด้วยความรอบคอบแล้ว จะเห็นว่าลงกันได้เป็นอย่างดี ดังรายละเอียด ต่อไปนี้

สัมมาวายามะ
ย่อมยังความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองตั้งจิตไว้เพื่อที่จะ
-ละบาปที่ยังไม่เกิดขึ้น-ไม่ให้เกิดขึ้น
-ละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว- ให้หมดไป
-ยังกุศลที่ยังไม่เกิด- ให้เกิดขึ้น
-ยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว- ให้เจริญงอกงาม.

เราพอจะเห็นเค้าเงื่อนได้ว่า องค์แห่งสัมมาวายามะนั้น เป็นการปฏิบัติตามหลักหัวใจพุทธศาสนาในข้อ ๑ ละบาปอกุศลทั้งปวง (ละชั่ว) และข้อ ๒ สร้างกุศลให้เกิดขึ้น (ทำดี) และเพื่อจะได้เข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนาใน ข้อที่ ๓ นั้น ต้องอาศัยองค์ธรรมอีกสองข้อคือ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ

สัมมาสติ ตั้งสติไว้ ณ ที่ฐานกาย เวทนา จิต ธรรม หรือเรียกว่าสติปัฏฐาน คือฐานที่ของสติอันเกิดขึ้นที่จิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อจิตมีสติต่อเนื่อง-ไม่ขาดสาย โดยต้องเริ่มต้นด้วยพิจารณาจากกายในกายเป็นภายในให้สำเร็จก่อน แล้วเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม จะปรากฏตามมาอย่างต่อเนื่องเอง

สัมมาสติเป็นไฉน?
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า”

สัมมาสมาธิ เป็นไฉน?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มี”สติ”อยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ

มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า
“สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถา ภูตัง ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว(สัมมาสมาธิ) ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง(สัมมาทิฐิ) ดังนี้”

เมื่อผู้ปฏิบัติได้อ่านพระพุทธพจน์นี้แล้ว พอที่จะทำความเข้าใจได้ว่า
“เธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด” ก็แสดงให้เห็นว่าสมาธิที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้นั้นคือองค์สมาธิในพระอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งประกอบด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นั่นเอง จิตจึงจะรวมลงเป็นสมาธิ

สัมมาวายามะ เป็นการเพียรประคองจิต(วิจารณ์) ให้ระลึกรู้(วิตก) อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ(สัมมาสติ) จิตจึงจะรวมลงเป็นสมาธิได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วขึ้น

ซึ่งต้องเพียรพยายามฝึกฝนอบรมให้คล่องแคล่วคุ้นชินจนเป็นวสี เพียงแค่นึกน้อมเท่านั้น(ลืมตา) จิตก็สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ทันที

ให้ระลึกสภาวะธรรมในขณะที่จิตสงบตั้งมั่นนั้นไว้ เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเรากระทบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ จิตใจก็จะหวั่นไหวไปตามอารมณ์เหล่านั้น

ให้เรานำผลที่เคยปฏิบัติได้ (ขณะนั่งสมาธิ) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ที่ต้องประสบพบเจออยู่ทุกวัน โดยหัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดและกิเลสเครื่องเศร้าต่างๆเหล่านั้น เพื่อทำจิตให้สงบตั้งมั่นอย่างรวดเร็วเท่าที่จะทำได้

ซึ่งใหม่ๆ คงทำไม่ได้ง่ายนัก เพราะกำลังแห่ง สติ สมาธิ ปัญญายังมีไม่พอ ต้องเพียรพยายามทำให้เกิดขึ้นให้ได้..........

“ความเพียรมีผล ความพยายามมีผล”(พระพุทธพจน์)


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 19 มกราคม 2558 20:22:25 น.
Counter : 902 Pageviews.

1 comments
  
อนุโมทนาสาธุครับ
โดย: shadee829 วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:2:43:35 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์