กรรมฐาน คือ ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต
เมื่อกล่าวถึงเรื่องกรรมฐานแล้ว มักเป็นที่เข้าใจว่า ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเข้าวัดอาราม สำนักสงฆ์หรือศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆที่มีการฝึกฝนอบรมการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา และมักได้ยินได้ฟังจนคุ้นหูจากนักปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาทั้งหลายที่ได้ผ่านการอบรมมา ปฏิบัติมาแล้วว่า ได้องค์กรรมฐานภาวนามาบ้าง ได้ไปเข้ากรรมฐานมาบ้าง ได้ฐานที่ตั้งมาแล้วบ้าง ฯลฯ

มีความเข้าใจกันไปตามมติของตนเอง หรือจากนักปริยัติที่ยึดถือตามตำราว่า การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นพวกฝ่ายสมถะกรรมฐานหรือกรรมฐานหินทับหญ้า เอาแต่ติดสุขสงบสบายอยู่แต่ในกรรมฐานนั้น ไม่ทำให้เกิดปัญญาใดๆขึ้นมาได้เลย ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด ที่เป็นการคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในทางพระพุทธศาสนา

คำว่า "กรรมฐาน" นั้น ประกอบไปด้วยคำว่า "กรรม" บวกกับคำว่า "ฐาน" ซึ่งแปลได้ว่า "ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต" ทำไมถึงต้องมีฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตด้วยล่ะ??? เพราะกาย วาจาของเรานั้น ล้วนมีการเคลื่อนไหวกระทำการใดๆออกไปตามเรื่องราวต่างๆ ภายใต้การบังคับบัญชาของจิตใจ หรือ ตกอยู่ในอำนาจของจิตใจที่ครอบครองกายกรรม วจีกรรมนี้อยู่ กรรมฐานจึงเป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ ที่ทำให้เป็นไป ทำให้เกิดขึ้น มีขึ้น นั่นเอง


ในทางโลกนั้น ก็มีกรรมฐานด้วยเช่นกัน แต่กรรมฐานหรือฐานที่ตั้งการงานทางจิตในโลก ล้วนเป็นเรื่องราวความรู้สึกนึกคิด ที่เกิดขึ้นจากการทำงานทั้งหลาย หรือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นการงานทางจิตที่ตนเองได้หมายเอาไว้ และกระทำลงไปด้วยความตั้งใจ เพื่อให้จิตมีฐานที่ตั้งแห่งการงานนั้น และเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามเนื้องาน เหตุการณ์ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผ่านเข้ามาในขณะนั้นๆ

ซึ่งกรรมฐานเหล่านี้ไม่สามารถใช้สอยประโยชน์ หรือก่อให้เกิดสติปัฏฐานขึ้นมาได้เลย เนื่องจากเป็นฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตที่เกิดขึ้น ณ.ภายนอก หรือเป็นเพียงธรรมารมณ์ที่ได้หมายเอาไว้ และเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ หรือระยะเวลาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ

ซึ่งในบางครั้ง อาจประกอบด้วยวัตถุกาม หรือเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดกิเลสกามและอกุศลธรรมขึ้นมาได้ ล้วนเป็นเรื่องธรรมดาของโลก ที่มักต้องคลุกคลีอยู่กับ กิเลส กรรม วิบากของตนเอง ที่เกิดขึ้นได้เสมอๆเป็นธรรมดา

ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตดังกล่าว ไม่สามารถก่อให้เกิดสติ สมาธิ ปัญญาขึ้นมาได้เลย และยังเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดกิเลสกามและอกุศลธรรมขึ้นมาที่จิตได้อีกด้วย


จึงได้ปรากฏมีพวกนักบวช หรือพวกที่เบื่อหน่ายในทางโลก ที่ประสงค์จะออกจากกาม และอกุศลธรรม หรือ กิเลส กรรม วิบากทั้งหลาย ได้ออกบวช ถือบวช ปลีกวิเวก ทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ ฯลฯ เพื่อค้นหาอุบายธรรม ออกปฏิบัติค้นหารูปแบบต่างๆนานาๆ มาปฏิบัติ เพื่อหาวิธีขจัดปัดเป่ากิเลสกามและอกุศลธรรมทั้งหลายให้หมดไปจากจิต

ได้เกิดมีเจ้าลัทธิต่างๆ เกิดขึ้นมาอย่างมากมายในโลก มีด้วยกันหลายลัทธิ หลายความเชื่อด้วยกัน เจ้าลัทธิทั้งหลายล้วนมีการอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ ว่าตนสามารถค้นพบหนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ จากกาม และอกุศลธรรมได้ และประกาศตนเป็นเจ้าลัทธิต่างๆ ที่ได้บรรลุคุณธรรมอันเลิศแล้ว


ส่วนพระพุทธองค์ได้ทรงศึกษาลัทธิต่างๆ เหล่านี้มาแล้ว และรู้ได้ด้วยตนเองว่า ความเชื่อทั้งหมดของเจ้าลัทธิทั้งหลายนั้น ยังไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นจากทุกข์ที่แท้จริงเลย

ดังมีพระพุทธพจน์ในจูฬทุกขักขันธสูตรว่า
"เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น(สัมมาสมาธิ) เราจึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม มิได้ก่อน"

เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้(ตรัสว่ารู้) แล้ว ทรงตรัสว่า
"เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข และกุศลอื่นที่สงบกว่านั้น(สัมมาสมาธิ) เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม"


พระพุทธองค์ได้ทรงแบ่งหลักการปฏิบัติธรรมของเจ้าลัทธิทั้งหลาย ออกเป็นทางที่สุด ๒ ส่วน ที่ภิกษุไม่ควรเข้าใกล้ หรือไม่ควรเสพนั่นเอง คือ อัตตกิลมถานุโยค ๑ กามสุขัลลิกานุโยค ๑ ได้ทรงบัญญัติขยายความไว้ดังนี้

อัตตกิลมถานุโยค เป็นการประกอบความเหน็ดเหนื่อยเปล่าด้วยตนเอง ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้ประกอบ ไม่ใช่ไกลจากข้าศึกคือกิเลส ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

กามสุขัลลิกานุโยค เป็นการประกอบตนให้พัวพันด้วยกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นของปุถุชนคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ไกลจากข้าศึกคือกิเลส ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

พระพุทธองค์ทรงแสดงผลของการเสพธรรมทั้ง ๒ ส่วนนี้ และได้ทรงกล่าวไว้กว้างๆ พอให้เห็นโทษภัยของการเสพทาง ๒ ส่วนนั้น

ส่วนกามสุขในส่วนที่ละเอียดลึกซึ้งระดับฌาน ที่เกิดจากรูปฌาน-อรูปฌานที่เรียกว่า ฌานสมาบัติ ๘ นั้น ก็จัดอยู่ในส่วนของ "กามสุขัลลิกานุโยค" ซึ่งเป็นกามสุขในส่วนที่ละเอียดมาก ผู้ปฏิบัติได้ล้วนเป็นพวกที่มีกิเลสเบาบาง เป็นโลกียปัญญาชั้นสูง อย่างพวกพราหมณ์

ซึ่งพระพุทธองค์ได้มีปรารภไว้ ในตอนที่ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ และเล็งเห็นด้วยพระญาณของพระองค์ว่า อาจารย์ทั้งสอง(ท่านอาฬารดาบสและท่านอุทกดาบส) ได้อรูปฌาน ๗ และ ๘ นั้น เป็นผู้มีกิเลสเบาบางอย่างมาก เพียงแค่ฟังธรรมก็สามารถบรรลุธรรมได้โดยไว ชักนำให้เข้าสู่ทางสายกลางหรืออริยมรรคได้โดยง่าย น่าเสียดายที่ท่านจากโลกนี้ไปเสียแล้ว เพราะท่านเหล่านั้น ได้ผ่านการฝึกฝนอบรมทางจิตมาอย่างช่ำชองโชกโชน และชำนาญแล้วเป็นอย่างยิ่งนั่นเอง

ฌานโลกีย์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพุทธกาลเสียอีก รูปฌาน-อรูปฌาน เป็นการไปนำเอาอารมณ์ภายนอกกาย ที่เป็นรูปซึ่งปราศจากกามมาเป็นองค์ (อารมณ์) แห่งการภาวนา หรือเป็นฐานที่ตั้งของสติ ไม่จัดเป็นสัมมาสติในมหาสติปัฏฐาน๔

เพราะอารมณ์ที่ว่านี้ เมื่อยิ่งฝึกฝนจนช่ำชองชำนาญคล่องแคล่ว จิตก็ยิ่งยึดมั่นถือมั่น ด้วยความยินดีในอารมณ์นั้นๆอย่างเหนียวแน่น แนบแน่นมากยิ่งๆขึ้น ที่เรียกว่า "ฌานสมาบัติ"

ยังถูกอารมณ์ที่ละเอียดเหล่านี้ คอยปรุงแต่งครอบงำจิต ให้เกิดความหวั่นไหวอยู่โดยไม่รู้ตัว เพราะยังให้มีความรู้สึกกังวลลึกๆ เกิดขึ้นที่จิตของตนอยู่ตลอดเวลา เกรงว่าอารมณ์ฌานเหล่านั้น จะหายไป หรือจืดจางไปจากจิตของตนนั่นเอง เรียกว่า ยังเป็นทุกข์อยู่ ไม่อาจจะพ้นจากทุกข์ไปได้ เพราะปล่อยวางอารมณ์ฌานที่ละเอียดไม่เป็นนั่นเอง


ซึ่งแตกต่างจากกรรมฐานที่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ในสัมมาสมาธิอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการสร้างฐานที่ตั้งของสติ จากมหาสติปัฏฐาน ๔ อันมี กาย เวทนา จิต ธรรม อันเป็นอารมณ์ธรรม ณ.ภายใน ล้วนเป็นฐานที่ตั้งของสติ อันเกิดจากภายในกาย หรือที่เรียกว่าพิจารณากายในกายนั่นเอง ทำให้เห็นพระไตรลักษณ์ในองค์ธรรมเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน

โดยต้องเริ่มที่อานาปานสติ หรือคำภาวนาต่างๆ ที่ทำให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสงฆคุณ เป็นสำคัญ เพราะองค์ธรรมเหล่านี้ ล้วนจัดอยู่ในกายสังขาร (กายในกาย) ทั้งสิ้น และต้องเริ่มจากฐานกายเท่านั้น ที่จะทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ได้


มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างแน่นหนาในพระสูตร เมื่อได้ฐานที่ตั้งของสติแล้ว ย่อมเชื่อมโยงถึงฐานอื่นๆที่เหลือได้เองโดยอัตโนมัติ เรียกว่า สติปัฏฐานบริบูรณ์ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในท้ายมหาสติปัฏฐาน ๔ ทุกบรรพะว่า "สักแต่ว่าเป็นที่ระลึกรู้ สักแต่เป็นว่าที่อาศัยเท่านั้น"


เมื่อสิ่งที่เป็นเพียง "สักแต่ว่า" ก็แสดงว่ากรรมฐานนั้นมีไว้ให้ใช้สอยเท่านั้น ไม่ใช่มีไว้ให้ยินดี หรือไม่ใช่มีไว้ให้ยึดถือเอาเป็นของๆตน

เมื่อเป็นสิ่งที่สักแต่ว่า เมื่อหมดงาน ก็หมดกิจ กิจอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว จิตจึงรู้จักการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆทั้งหลายลงได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อใช้เป็น และรู้จักการใช้ได้อย่างคล่องแคล่วดีแล้ว ก็จะรู้เองเห็นเองโดยปราศจากข้อลังเลสงสัยใดๆอีกต่อไป ว่าเพราะอะไรจึง "สักแต่ว่า"....




บทส่งท้าย

บทความนี้อ้างอิงพระพุทธพจน์ ที่มาจากพระพุทธประวัติและพระสูตรบางส่วน ที่ต้องอ้างอิงเพราะเห็นว่า มีความเข้าใจผิดๆอย่างมากเกี่ยวกับฌานสมาบัติ ๘ ซึ่งเป็นฌานที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าสมณะโคดมจะอุบัติขึ้นมาก่อนเสียอีก แต่ไปเข้าใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับฌานในสัมมาสมาธิที่เป็นหนึ่งในอริยมรรค นั่นมันคนละเรื่องกันเลย

ฌานที่เกิดจากสมาบัติ ๘ นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธไปแล้วโดยสิ้นเชิงแล้วก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้ว่า ไม่ใช่หนทางแห่งความพ้นทุกข์ เป็นเพียงโลกียปัญญา และได้ปฏิเสธอย่างหนักแน่นอีกทีในตอนประกาศพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรว่า "อันธรรมที่เราได้ตรัสรู้ด้วยตนเองมานั้น เป็นธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อนเลย" ก็เป็นที่ยืนยันแน่นอนแล้วว่าฌานสมาบัติ ๘ เป็นสมาธิที่ไม่ใช่สัมมาสมาธิกรรมฐานภาวนา ดังนี้

"เมื่อภิกษุมีความเพียรเป็นเครื่องตื่น มีสติสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น เบิกบานผ่องใส
เห็นแจ้งในกุศลธรรมทั้งหลายสมควรแก่กาลในการประกอบกรรมฐานนั้นเนืองๆ
พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ความเป็นพระอนาคามี ฯ"


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต




Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 19 มกราคม 2558 15:02:35 น.
Counter : 1421 Pageviews.

2 comments
  
ขอบคุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
โดย: moopanda23 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:7:43:02 น.
  
สวัสดีค่ะ

มาทักทายค่ะ เคยได้ยินคำกล่าวว่า
"อย่าไปอะไร อะไร ก็จะไม่อะไร อะไร" ค่ะ
อนุโมทนากับธรรมที่แสดงนะคะ
โดย: พ่อระนาด วันที่: 8 มิถุนายน 2555 เวลา:14:19:31 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์