ดูจิตติดเฉยโง่ อัญญาณุเบกขา
จากคำถาม พี่ธรรมภูตครับ 1.เฉยโง่มีอะไรเป็นมูล 2.ดับเฉยโง่แล้วก้าวสู่อะไร 3.ดับเฉยโง่ด้วยธรรมใด


๑."เฉยโง่" ก่อนอื่น ต้องมารู้จักคำว่า "เฉยโง่" ที่เป็น "อัญญาณุเบกขา"

๒."รู้สึกเฉยๆ" เฉยตัวต่อมาที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะสบายๆ ง่ายๆ และลัดสั้น "รู้สึกเฉยๆ" หรือ "รู้สักแต่ว่ารู้" และ "เห็นสักแต่ว่าเห็น" ที่เกิดจาก "ถิรสัญญา" จัดเป็น "อัญญาณุเบกขา" เช่นกัน

๓."รู้ว่างวางเฉย" แต่สุดยอดเฉยต้อง "รู้ว่างวางเฉย" ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน "ภาวนามยปัญญา" ที่เป็น "อุเบกขาที่มีสภาวะเดียว" เพราะเป็นสาระสำคัญของผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามพระพุทธวจนะ


๑.ความรู้สึกเฉยๆ เป็นความเฉยที่คนส่วนมาก ล้วนต้องเคยเจอะเจอมาแล้วทั้งนั้น เป็นความเฉยเพราะยังไม่รู้จักอารมณ์นั้นๆ เช่น เมื่อพบเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ยังไม่เคยข้องแวะกับสิ่งนั้นมาก่อน จะรู้สึกเฉยๆกับอารมณ์นั้น แต่เฉยได้ไม่นาน จัดเป็น "อทุกขมสุขเวทนา"

เป็น "อุเบกขาเวทนา" หรือ ที่เรียกเป็นทางพระศาสนาว่า "อัพยากตธรรม" คือ ธรรมที่เป็นกลางๆ เป็นธรรมที่ยังไม่ตกไปในฝ่ายกุศลธรรม หรือฝ่ายอกุศลธรรม จัดเป็น "เฉยโง่" ความที่จิตยังไม่รู้จักอารมณ์นั้น จึงยังไม่ตกลงไปในอารมณ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากยังไม่คุ้นกับอารมณ์นั้น

"อุเบกขาเวทนา" ของคนในโลกเป็น "อัญญาณุเบกขา" แปลว่า "เฉยโง่" เฉยไม่รู้จักอะไร ไม่รู้คุณค่าของอุเบกขานั้น เพราะไม่ได้ศึกษาปฏิบัติธรรม ไม่รู้จักอุเบกขาธรรมที่แท้จริง ที่เป็นสภาวะ "อุเบกขาที่มีสภาวะธรรมเดียว"

"อุเบกขาเวทนา" ยังสู้สุขทุกข์ไม่ได้ (สุขเวทนา-ทุกขเวทนา) ถึงจะเฉยได้ ก็เฉยได้ไม่นาน ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ก็กลับไปคลุกเคล้าอยู่กับสุขทุกข์ เป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนาอีก

ในจุลเวทัลละสูตร จึงมีพระพุทธพจน์แสดงไว้ว่า เป็นอุเบกขาที่นอนเนื่องของอวิชชา คือความไม่รู้จักอริยสัจ ๔ แปลว่า เฉยโง่ ไม่รู้จักอุเบกขาธรรมที่เป็นของดีที่ถูกต้อง ที่จักนำพาไปสู่พระนิพพานได้ตามพระพุทธวจนะ เพราะขาดการศึกษาปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา

"อุเบกขาธรรมที่มีสภาวะเดียว" เปรียบเหมือนน้ำที่ไม่มีลูกคลื่น ยุบดับสงบราบคาบลงไป อุเบกขานั้นเป็นไวพจน์ของ สันติ สงบ สุขทุกข์ดับลง เพราะไม่มีอารมณ์ (อนาระมะณัง) เป็นสภาพธรรมของจิตที่แท้จริง เป็นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นเรื่องนอกโลก พ้นโลก โลกุตตรจิต โลกุตรธรรม ซึ่งแตกต่างกับเฉยโง่เป็นคนละเรื่องเลย

ส่วน"อัญญาณุเบกขา"นั้น เกิดขึ้นได้ประเดี๋ยว พอจิตเริ่มได้รู้จัก จิตก็เริ่มแสดงอาการของจิตออกมาให้ปรากฎ ถึงความรัก ชอบ ไม่พอใจ ชิงชัง ฯลฯ

แต่ก็ยังมีความสับสนเกิดขึ้นมาในผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาจนได้ ได้นำเอา "อัพยากตธรรม" ธรรมที่เป็นกลางๆ เพราะจิตยังไม่รู้จัก หรือตกไปในอารมณ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น ซึ่งจัดเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่ง ที่จิตยังไม่รู้จักอารมณ์ จึงรู้สึกเฉยๆในขณะนั้น

แต่กลับไปจัดสภาพธรรมที่เกิดนั้น "อัพยากตธรรม" เป็นสภาวะ "พระนิพพาน" ซึ่งเมื่อพิจารณาให้รอบคอบแล้ว จะเห็นว่า มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสถึงเรื่องนี้ ไว้ในหมวดเวทนา ความว่า

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นสุขก็ดี (กุศลธรรม) เป็นทุกข์ก็ดี (อกุศลธรรม)
ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี (อัพยากตธรรม)
ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น

เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายก็ดับไป
เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ เพราะภพดับ ชาติก็ดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสของภิกษุนั้นก็ดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นย่อมมีได้ อย่างนี้


(มหาตัณหาสังขยสูตร)

จากพระพุทธพจน์ จะเห็นได้ว่า "อัพยากตธรรม" นั้น จัดอยู่ในหมวดของเวทนา จะเป็น "พระนิพพาน" ไปได้อย่างไร



๒.ความรู้สึกเฉยๆ ที่เกิดจากความคิด (สัญญา) ของตนที่สร้างขึ้นมาเอง คือ เมื่อผัสสะกับอารมณ์ต่างๆ ที่คุ้นชินบ่อยๆแล้ว ให้ "รู้สึกเฉยๆ" เป็นความรู้สึกเฉยๆที่เป็น "วิปัสสนูกิเลส" หรือ ที่นิยมปฏิบัติกันมากตามความเชื่อในปัจจุบัน เรียกว่า "ถิรสัญญา" เฉยเพราะสัญญาอารมณ์ ก็จัดเป็น "อัญญาณุเบกขา" เฉยโง่เช่นกัน

เป็นความรู้สึกเฉยๆ ที่เกิดจากการเสพอารมณ์เหล่านั้นจนคุ้นชินแล้ว และจดจำได้อย่างแม่นยำ (ถิรสัญญา) ต่ออารมณ์กิเลสความรู้สึกเหล่านั้น เมื่อรู้จักกับอารมณ์กิเลสเหล่านั้นจนคุ้นชิน และจดจำได้อย่างแม่นยำ (ถิรสัญญา) ย่อมรู้จักการวิธีจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นเป็นอย่างดี

ยิ่งนานวันยิ่งแยบยลยิ่งเนียนขึ้น จึงรู้สึกเฉยๆได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เฉยเพราะปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้ แต่เป็นความรู้สึกเฉยๆ เพราะเปลี่ยนอารมณ์ได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งเมื่อนำมาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงแล้ว จะลงกันได้กับรูปฌาน และ อรูปฌาน ที่มีมาก่อนพระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้น ล้วนเป็นกิจ(ฌาน)ที่สำเร็จได้ด้วยสัญญา จนเป็น "ถิรสัญญา" คือจดจำในอารมณ์รูปฌานและอรูปฌานที่เป็นอารมณ์ละเอียดนั้นได้อย่างแม่นยำ ซึ่งมีพระพุทธพจน์ทรงตรัสรับรองไว้ว่า ไม่สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้ แต่ช่วยให้กิเลสเบาบางลงได้เท่านั้น

แต่ "อัญญาณุเบกขา" เฉยโง่ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติในปัจจุบันนั้น ทำให้นักปฏิบัติที่ยังเข้าไม่ถึงสภาวะธรรมที่ถูกต้องแท้จริง มักจะมีความสงสัยคาใจว่า แล้วมัน "ผิด" ตรงไหน? เพราะได้ลองสมาทานนำมาปฏิบัติดู แล้วรู้สึกว่าตนเองดีขึ้นกว่าเดิมมาก

ข้อนี้เป็นเรื่องธรรมดามาก จากการที่ตนเองไม่เคยให้ความใส่ใจระมัดระวังสำรวมกายใจของตน พอหันกลับมาสังวรระวังเข้า ย่อมบังเกิดผลอย่างแน่นอน และต้องขอตอบว่า เป็นสิ่งที่ดีที่ควรมีในประชุมชนคนทั่วไป

แต่ที่สำคัญเมื่อปฏิบัติธรรมในลักษณะนี้ ยิ่งนานยิ่งเนียนจนเป็นกลายเป็น "ถิรสัญญา" ทำให้เป็น "พวกติดดีในดี" เป็นกลุ่มคนที่แก้ได้ยากมาก เพราะเป็น "วิปัสสนูกิเลส" อย่างหนึ่งที่เนียนพอใช้ได้ แต่ความเนียนก็ยังหย่อนกว่า "ถิรสัญญา" ในรูปฌานและอรูปฌาน

ผู้ปฏิบัติแบบนี้มักมีความเข้าใจผิดไปว่า "ตนได้ซึ่งอะไรแล้ว" หลงไหลได้ปลื้มอยู่ในความดีที่ตนเองติดอยู่ เพราะเข้าใจว่ารู้จักวิธีอันชาญฉลาดในการจัดการกับอารมณ์ที่ตนได้ผัสสะอยู่บ่อยๆ

แต่ก็ลืมไปว่า อะไรที่เกิดจาก "สัญญา" ที่ไม่ใช่ "ปัญญา" นั้น เมื่อนานวันไป ล้วนจืดจางลงได้ทั้งสิ้น



๓.รู้ชัดว่าว่างวางเฉย (วิมุตติ) ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาตามขั้นตอนอริยมรรค จนกระทั่งจิตมีสติสัมปชัญญะ สงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว สามารถปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายออกไปได้หมด บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว อ่อนควรแก่การงาน ที่เรียกว่า"อุเบกขาธรรมที่มีสภาวะเดียว" หรือ "อุเบกขาสัมโพชฌงค์"

เป็นอุเบกขาที่เกิดจาก จิตที่มีสติสัปชัญญะกำกับอยู่ตลอดเวลาเป็นสันตติ หรือ ที่เรียกว่า "ชาคโร" ตื่นอยู่เสมอ อันอาศัยวิเวก เป็นวิราคะ คือธรรมที่แยกแล้ว ดับสนิทจากอาสวะทั้งหลาย เพราะละตัณหา คือความทะยานยากได้ จึงละกรรมได้ เพราะละกรรมได้จึงละทุกข์ทั้งปวงได้ ซึ่งเป็นธรรมที่สงบสังขารทั้งปวง สลัดอุปธิทั้งปวง

ไม่ใช่ "อัญญาณุเบกขา" เฉยโง่ เหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (ข้อ ๑,๒) เพราะเป็นอุเบกขา เฉยได้เพราะปล่อยวางอารมณ์กิเลสทั้งหลายออกไปได้ นำไปสู่พระนิพพานในเบื้องหน้า



สุดท้ายนี้ บทความนี้พอให้เห็นแนวทางได้ว่า "รู้ว่างวางเฉย" อุเบกขาธรรม กับ "เฉยโง่" อัญญาณุเบกขา ต่างกันอย่างไร จะแก้ "อัญญาณุเบกขา" ได้ด้วยธรรมอะไร

เพื่อเป็นการป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จากการฟัง อ่าน ศึกษา ควรนำความรู้ หรือบทความนั้น มาสอบสวน ตรวจสอบ เทียบเคียงในหลายๆแหล่งความรู้ อย่าเพิ่งปักใจเชื่ออะไรลงไปง่ายๆ (กาลามสูตร) เก็บความเป็นใหญ่ในเรื่องที่จะเชื่ออะไรนั้น ให้มันเป็นใหญ่เฉพาะตน(มหรคต)

และควรปูพื้นฐาน และ สมาทานการปฏิบัติธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญให้ถูกต้อง ควรมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง เที่ยงตรงต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว

เพราะปัจจุบันในบอร์ดทั้งหลาย มักมีพวกที่ชอบรับสมอ้าง เที่ยวแอบอ้างตน ทั้งทีความรู้ที่นำเสนอนั้น เกิดจากสัญญาที่พิจารณาจนตกผลึก ไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจากการปล่อยวางได้จริง เพราะธรรมที่นำเสนอมักขาดเหตุผลที่ตริตรองตามได้ ไม่อาจสอบสวน เทียบเคียงลงได้กับพระพุทธพจน์ หรือ ธรรมะของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เลย แต่กลับพยายามวางตัวให้สูงส่ง (ด้วยคำพูด) จนหาทางลงให้กับตนเองไม่ได้ มีเยอะมากจนนับไม่ถ้วนเลยจริงๆ

ฉะนั้น ควรพิจารณาธรรมที่สมควรแก่ธรรมที่นำไปปฏิบัตได้จริง

เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 01 กรกฎาคม 2556
Last Update : 30 สิงหาคม 2561 12:00:44 น.
Counter : 4449 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์