ปีใหม่ญี่ปุ่น


ปาเข้ามาจะหมดเดือนอยู่แล้ว ยังจะมาพูดเรื่องปีใหม่อยู่อีก > < ประเทศพิธีรีตองเยอะ เรื่องก็ต้องแยะเป็นธรรมดาค่ะ

บางบ้านเคร่งมาก ทำตามประเพณีดั้งเดิมเป๊ะๆก็มี บางบ้านเอาแค่คร่าวๆพอเป็นพิธีเฉยๆก็มีไม่น้อย แล้วที่จะเขียนนี่ก็เอาเท่าที่ตัวเองรู้เท่านั้นนะคะ บางอย่างมันก็ยิบย่ิอยมากเกินนนนน ก็ข้ามๆไปบ้างแล้วกัน ...เนอะ

ปีใหม่ญี่ปุ่นก็เหมือนปีใหม่สากลทั่วไป คือ วันที่ 1 ม.ค.ของทุกปี และโดยทั่วไปแล้วช่วงที่ถือว่ายังอยู่ในช่วงปีใหม่ก็ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 7 ม.ค.
วันที่ 1 ก็เรียกว่า Ganjitsu (元日
) แปลว่าวันแรก ส่วนเช้าของวันแรก เค้าก็เรียกว่า Gantan (元旦)
ส่วนวันที่ 1 – 3 ม.ค. เค้าก็เรียกรวมว่า San ga Nichi (三が日)
และตั้งแต่วันที่ 1 – 7 ม.ค. (แต่ก่อนจะลากยาวถึง 15 ม.ค.กันเลย) เค้าก็เรียกว่า Matsu no Uchi (松の内) ...ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวญี่ปุ่นจะประดับกิ่งสน หรือที่เรียกว่า Kadomatsu (門松) ไว้หน้าบ้านหรือหน้าร้านค้าต่างๆ เพื่อเป็นการอัญเชิญเทพเข้ามา ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเริ่มประดับกันหลังวันคริสต์มาส ก่อนวันที่ 28 ธ.ค.


ตัวอย่าง Kadomatsu ที่ประดับไว้ตามสถานที่ต่างๆ ตรงกลางก็จะเป็นไผ่ ประดับด้วยกิ่งสน และดอกไม้ประดับอื่นๆ

ช่วงปีใหม่ันี้ นอกจาก Kadomatsu แล้ว ก็ยังมีของประดับอื่นๆอีก เช่น

“มัดเชือกศักดิ์สิทธิ์ (しめ縄)” เป็นของประดับเพื่อเป็นการเชิญเทพเข้าบ้านเช่นกัน ช่วงเวลาในการประดับก็เช่นเดียวกับ Kadomatsu คือ ควรเริ่มประดับภายในวันที่ 28 ธ.ค. เพราะตัวอักษรคันจิของเลข 8 คือ รูปร่างเป็นลักษณะของการแผ่ขยายออกไป ซึ่งหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง ส่วนวันที่ 29 และ 30 ธ.ค. เป็นวันไม่ดี ถ้าไปประดับเอาวันที่ 31 ธ.ค.เลยก็ดูจะเป็นการผิดต่อเทพ ให้ท่านรีบมาแล้วก็รีบไป


“มัดเชือกศักดิ์สิทธิ์” ตามบ้าน


ส่วนตามศาลเจ้าก็จะขึ้น “มัดเชือกศักดิ์สิทธิ์” อันใหม่ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ก็ยังมี “โมจิกระจก หรือ Kagami-mochi (鏡餅)” จะว่าเป็นของประดับก็ไม่เชิง ปกติก็จะใช้ถวายหิ้งพระหรือไม่ก็วางไว้ที่ “เวิ้งห้อง หรือที่เรียกว่า Tokonoma (床の間

ที่เรียกกันว่า “โมจิกระจก” ก็เพราะลักษณะของโมจินี้ไปคล้ายกับกระจกในสมัยโบราณ ซึ่งจขบ.ก็ไม่เคยเห็นเหมือนกันค่ะว่ากระจกสมัยโบราณหน้าตามันเป็นยังไง

ช่วงเวลาในการเริ่มถวายหิ้งพระก็เช่นเดียวกับ “มัดเชือกศักดิ์สิทธิ์” แต่จะถวายจนถึงวันที่ 11 ม.ค.


ด้านบนโมจิประดับด้วยส้มพันธุ์ Daidai (ダイダイ) ซึ่งพ้องเสียงกับคำที่แปลว่า “จากรุ่นสู่รุ่น”

เอาเรื่องของประดับกันพอหอมปากหอมคอ มาต่อกันที่กิจกรรมมากมายหลายหลากในช่วงปีใหม่นี้กันดีกว่า

“การทำความสะอาดครั้งใหญ่” ก็ทำนองเดียวกับการ “ล้างบ้าน” ในช่วงตรุษจีนของชาวจีน แต่ก็ไม่ได้กำหนดแน่นอนตายตัวว่าต้องเป็นวันสิ้นปีเท่านั้น ว่างวันไหน สะดวกเมื่อไหร่ ก็ค่อยๆทำกันไป เอาให้เสร็จก่อนต้อนรับปีใหม่เป็นใช้ได้

ธรรมเนียมการ “ส่งการ์ดปีใหม่” ซึ่งถือว่าเป็นธรรมเนียมระดับชาติเลยทีเดียว 5555 เพราะอย่างตามร้านถ่ายรูปก็จะมีแคมเปญออกมาต่างๆนานาเกี่ยวกับการพิมพ์การ์ด ไปรษณีย์ก็ออกมาประกาศว่าให้ส่งการ์ดภายในวันนั้นวันนี้ (โดยปกติก็จะเป็นภายในวันที่ 25 ธ.ค. แล้วการ์ดของคุณจะไปถึงผู้รับในวันที่ 1 ม.ค.อย่างแน่นอน)

ส่วนการ์ดที่ใช้นี่ก็เป็นไปรษณียบัตรที่ทางไปรษณีย์ญี่ปุ่นจำหน่ายเพื่อใช้สำหรับทำการ์ดปีใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งก็จะเริ่มวางขายประมาณเดือนต.ค.

ส่วนหน้าการ์ดนี่ดีไซน์ได้ตามใจชอบ บางคนก็ทำการ์ดเรียบๆง่ายๆไม่มีอะไรหวือหวา บางคนก็เตรียมถ่ายรูปไว้สำหรับทำการ์ดกันเลยทีเดียว


ตัวอย่างการ์ดปีใหม่ของจขบ.เองค่ะ ^ ^

แต่อยากส่งก็ไม่ใช่ว่าจะเขียนอะไรส่งไปก็ได้นะคะ อย่าลืมว่าญี่ปุ่นนี่... ไม่ธรรมดา มีข้อควรระมัดระวังอยู่เหมือนกัน เท่าที่จขบ.รู้ก็คือ
คำว่า “ปีที่แล้ว” เค้าจะไม่ใช้คำว่า Kyonen (去年) เพราะคันจิตัวแรกของคำนี้มีความหมายว่า “การจากลา” เค้าจะใช้คำว่า Kyunen (旧年) หรือ Sakunen (昨年) แทน
คำว่า “อวยพรปีใหม่” “ต้อนรับปีใหม่” ที่เป็นคำสั้นๆคันจิ 2 ตัว เช่น Gasho (賀正), Geishun (迎春), Gashun (賀春) ...เหล่านี้ ก็ไม่ใช้สำหรับการ์ดที่ส่งให้ผู้ใหญ่

และถ้าเราได้รับการ์ดแจ้ง “ยกเลิกการอวยพรเนื่องจากไว้ทุกข์ (喪中欠礼)” แล้วล่ะก็ ...ก็เป็นการไม่สมควรที่จะส่งการ์ดไปให้กับคนนั้นๆในปีนั้น

แล้วถ้าเราได้รับการ์ดจากคนที่เราไม่ได้ส่งการ์ดไปให้ ถ้าอยากจะส่ง “การ์ดปีใหม่” ของเรากลับไปบ้างก็สามารถทำได้ ซึ่งก็เรียกว่า Kaeri Nenga (返り年賀) แต่ถ้าเลยวันที่ 7 ม.ค.ไปแล้วก็มักส่งเป็น “การ์ดเยี่ยมช่วงฤดูหนาว (寒中見舞い) แทน

กิจกรรมต่อมา “การตีระฆังในคืนวันสิ้นปี (除夜の鐘)” ซึ่งจะจัดขึ้นที่วัด เริ่มตีกันก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 31 ม.ค. เป็นจำนวน 108 ที (ตามจำนวนกิเลสทางโลกของมนุษย์) จขบ.เคยตื่นเต้นไปตีกับเค้าเหมือนกันเมื่อสมัยมาเรียนที่นี่ (นานนนนนนนมาแล้ว) ทางวัดให้ขึ้นไปตีได้คนละ 1 ครั้ง มาก่อนมีสิทธิ์ก่อน มีแจกเบอร์รอคิวกันด้วย ^ ^

โดยทั่วไปจะตีให้ครบ 107 ทีก่อนที่จะเข้าวันปีใหม่ ที่เหลืออีกหนึ่งทีก็จะไปตีเมื่อเลยเวลาเที่ยงคืนไปแล้ว

เข้ามาเช้าวันปีใหม่กันแล้ว...

ใครที่ศรัทธาแรงกล้า (จขบ.ตอนสมัยเรียนก็เคยแรงกล้ากับเขาด้วย) ก็ไป “Hatsu-moude (初詣)” กันต่อเลย ... Hatsu-moude คือการไปไหว้พระ (จะที่ศาลเจ้า ที่วัด หรือที่โบสถ์ก็ได้) ครั้งแรกของปี ญี่ปุ่นบางคนก็ตื่นข้ามคืนรอดูพระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกของปีด้วยเลย (บ้านช่องไม่ต้องกลับกันล่ะ)

แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่เค้าก็ทำกันแต่พอดี ใช่ว่าทุกคนจะไปตีระฆังข้ามคืนกันซะทั้งหมด ใช่ว่าทุกคนจะไป Hatsu-moude กันตั้งแต่ยังไม่สว่าง

โดยทั่วไป Hatsu-moude จะทำกันตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 3 ม.ค. จะไปวัดเดียว ศาลเจ้าเดียว หรือจะไปไหว้หลายๆแห่งก็ได้ ส่วนถ้าใครไปวัดหรือศาลเจ้าดังๆใหญ่ๆในวันที่ 1 นี่ก็รอกันจนอาจจะลืมไปเลยว่ามารออะไร 55


เข้าไปในศาลเจ้ากันแล้ว ก็ต้องล้างมือล้างปากกันก่อน ที่ถูกต้องก็คือ ใช้กระบวยตักน้ำด้วยมือขวา ล้างมือซ้าย เปลี่ยนมาถือด้วยมือซ้าย ล้างมือขวา จากนั้นก็ล้างปาก แล้วก็เทน้ำที่เหลือให้ไหลตามด้ามจับเพื่อเป็นการล้างกระบวย

เมื่อสามารถทะลุทะลวงเข้าไปถึงด้านหน้าศาลเจ้าได้แล้ว ก็ให้โยนเหรียญทำบุญก่อนการอธิษฐานขอพร จะให้เท่าไหร่นี่ไม่จำกัด บางคนเค้าก็โยนเหรียญ 5 เยน เพราะเสียงไปพ้องกับคำที่แปลว่า “การเชื่อมต่อกัน (ご縁)” หรืออาจจะให้ 45 เยน เพราะเสียงไปคล้ายกับคำที่แปลว่า “การเชื่อมต่อกันตลอดไป (始終ご縁

จากนั้นการไหว้ศาลเจ้าก็มีพิธีนิดนึง คือ จับเชือกตีระฆัง 3 ครั้ง คำนับ 2 ครั้ง ตบมือ 2 ครั้ง แล้วค่อยอธิษฐาน เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วก็จบด้วยการคำนับอีก 1 ครั้ง

...จขบ.ทำไม่เคยถูกเลยค่ัะ 55


นี่ก็อีกแห่งหนึ่ง คนเยอะกว่าที่แรก รอคิวกันไม่ไหว เลยไปเข้าทางออกกันซะอย่างนั้น แต่เราไม่ได้ไปแทรกแถวเค้านะคะ เข้าไปไหว้อยู่ห่างๆเฉยๆ

ประดับบ้านแล้ว ทำกิจกรรมต้อนรับวันปีใหม่กันแล้ว ที่นี้ก็มาถึงเรื่องใหญ่ค่ะ .... เรื่องกิน

ในวันขึ้นปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นจะทานอาหารชุดที่เรียกว่า “Osechi Ryori (おせち料理)” กัน

ในปัจจุบัน Osechi Ryori ก็จะเป็นอาหารที่ทำขึ้นมาแล้้วสามารถเก็บไว้ได้หลายวัน โดยจะเริ่มเตรียมกันไว้ก่อนวันปีใหม่ พอถึงวันปีใหม่แล้วจะได้ไม่ยุ่ง ไม่ใช่ว่าทุกคนได้พักผ่อนวันปีใหม่กันสบายใจ แต่คุณแม่บ้านต้องมาหน้ามันเข้าครัวอยู่คนเดียว

และแน่นอนค่ะ นอกจากอาหารนั้นๆจะสามารถเก็บไว้ได้หลายวันแล้ว อาหารชุดนี้ยังเต็มไปด้วยความหมายในการเริ่มต้นปีดีๆอีกด้วย


อย่างแรกเลยก็ตัวภาชนะที่นำมาใส่ Osechi Ryori จะมีลักษณะเป็นชั้นๆ หมายถึง ความสุขที่พอกพูน (แต่บ้านจขบ.ไม่มีเซ็ทที่ว่านี้ ก็ใช้ภาชนะธรรมดาไม่แตก ไม่บิ่น ไม่มีคราบ ...เท่านั้นเองค่ะ)

ส่วนตัวอาหาร หลักๆเลย คิดว่าบ้านไหนๆในญี่ปุ่นก็ต้องกินเจ้านี่รับวันขึ้นปีใหม่อย่างแน่นอน

... โมจิในน้ำซุป หรือที่เรียกว่า Zouni (雑煮) ค่ะ

ใน Zouni เค้าใส่อะไรกันบ้าง.... ก็ขึ้นอยู่กับภูมิภาคไหน จังหวัดไหน และ... บ้านไหน เพราะแต่ละที่ก็มี Zouni เป็นของตัวเอง แต่ที่แน่ๆคือ ในนั้นจะต้องมีโมจินอนลอยคออยู่


บ้านจขบ.กิน Zouni แบบจ.นีงาตะค่ะ เพราะแฟนเป็นคนที่นั่น ก็จะเป็น Zouni น้ำข้น มีเครื่องมากมายอย่างที่เห็น เมนูอื่นก็เอาโมจิมากินกับถั่วแดงต้ม หรือที่เรียกว่า O-Shiruko (お汁粉) ไม่ก็คลุกกับถั่วเหลืองบดผสมน้ำตาลที่เรียกว่า Kinako (黄粉)

ต่อมาก็เป็นพวกเครื่องเคียงต่างๆ เช่น


- Tatsukuri (田作り) ทำมาจากปลาแอนโชวี่ตากแห้ง กินเพื่อขอให้การเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์
- Kazunoko (数の子) หรือไข่ปลาเฮอร์ริ่ง กินเพื่อขอให้มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง
- ถั่วดำ หรือ Kuro-Mame (黒豆) ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า Mame ที่แปลว่า ขยันขันแข็ง และที่เป็นถั่วดำ ก็เพราะเค้าเชื่อกันว่าสีดำเป็นสีที่มีพลังปัดป้องสิ่งเลวร้าย
- รากโกโบทุบ (たたき牛蒡) กินเพื่อขอให้การเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์
- ปลาอัด Kamaboko (かまぼこ) สีขาวและสีแดง (ชมพู) เนื่องจากเป็นสีที่ใช้ในงานมงคล
- ไข่ม้วน เป็นตัวแทนของม้วนหนังสือในสมัยโบราณ หมายถึง ความรู้ที่พอกพูน
- เกาลัดหวาน หรือ Kuri-Kinton (栗金団) คันจิ ย่อมาจาก 黄金 แปลว่า ทอง นั่นก็หมายถึงความร่ำรวยเงินทองนั่นเอง
- สาหร่าย Kombu (こんぶ) เพราะเสียงใกล้เคียงกับคำว่า Yorokobu ที่แปลว่า ความยินดี
- ถั่ว Otafuku-Mame (お多福豆) ถั่วปากอ้าหรือ Sora-Mame (蚕豆) ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคำว่า Fuku แปลว่า “ความสุข” อยู่
- ของหมักน้ำส้มสายชูต่างๆ ซึ่งจะใช้ผักดิบหรือผ่านความร้อนนิดๆหน่อยๆ ไม่ใส่น้ำมัน เพื่อสุขภาพที่ดี

มาต่อที่ของปิ้งย่างค่ะ ก็เช่น
- ปลาสำลีทะเล หรือปลา Buri (ブリ) เนื่องจากเป็นปลาที่มีการพัฒนา เค้าไม่ได้เป็น Buri มาตั้งแต่เกิดนะคะ แรกเกิดเค้าชื่อว่า ปลา “Wakashi” โตขึ้นมาหน่อยก็กลายเป็น ปลา “Inada” ยาวขึ้นมาอีกนิดก็กลายเป็น ปลา “Warasa” ท้ายสุดเมื่อโตเต็มที่ถึงจะเรียกเค้าว่า “Buri”
- ปลาตะเพียนทะเล หรือปลา Tai () เนื่องจากเสียงไปคล้ายกับคำว่า “Medetai (めでたい)” ซึ่งแปลว่า “ความยินดี”
- กุ้ง เพื่อให้มีอายุยืนยาว เพราะหนวดที่ยาวและลำตัวคดงอของกุ้งแทนภาพของผู้สูงอายุนั่นเอง (แต่จขบ.ไม่อยากหลังคดงอนี่ไม่รู้จะกินอะไรแทนได้นะคะ)


แต่บ้านนี้ไม่กินปลา Buri ค่ะ แม่เค้าว่าเหม็นคาว แถมไม่กินกุ้งกันอีกต่างหาก แต่หันมากินปลาหมึกแทน ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีความหมายว่าอะไรนะคะ

ต่อไปเป็นของต้มค่ะ


- แห้ว หรือ Kuwai (クワイ) เรียกเป็นภาษาไทยก็ความหมายไม่ดี เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นก็..... อย่าเรียกเสียงดังนักแล้วกันค่ะ > < แต่ในความหมายของชาวญี่ปุ่นแล้ว หน่อขนาดใหญ่ของแห้ว หมายถึง “การแตกหน่อ” “การประสบความสำเร็จ”
- รากบัว หรือ Renkon (レンコン) เนื่องจากมีรูให้มองผ่านทะลุไปได้ จึงหมายถึง “การมองการณ์ไกล”
- รากโกโบ (牛蒡) เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมต้องเป็นรากโกโบด้วย
- เผือก หรือ Sato-imo (里芋) เนื่องจากเผือกมีหน่ออยู่รอบๆมากมาย แทนความหมายของ “การมีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง”
- หอย Tokobushi (トコブシ) ลักษณะคล้ายหอยเป๋าฮื้อ (アワビ) แต่มีขนาดเล็กกว่า ตัวแทนของความโชคดี

นี่แค่คร่าวๆนะคะ ...บางบ้านมีมากมายกว่านี้เยอะ

ทำกิจกรรมดีๆก็แล้ว กินอาหารดีๆต้อนรับปีใหม่ก็แล้ว หวังว่าปีนี้จะมีอะไรดีๆตลอดทั้งปีนะคะ สา.....ธุ

... สุขสันต์วันปีใหม่ (ย้อนหลัง) ค่ะ ^ ^



Create Date : 20 มกราคม 2553
Last Update : 20 มกราคม 2553 13:57:04 น. 2 comments
Counter : 2757 Pageviews.

 


โดย: ผมชอบกินข้าวมันไก่ วันที่: 20 มกราคม 2553 เวลา:16:23:22 น.  

 
อ่านแล้วชอบมากๆเลยค่ะ เลยได้เข้าใจว่า ozouni มีความหมายอย่างไร ปีใหม่ที่ผ่านมาก็ได้ทำครบหมดตั้งแต่ระฆัง นั่งรอดูพระอาทิตย์ที่ยอดเขา :) แล้วจะตามอ่านต่อนะคะ


โดย: นุกิ IP: 118.17.2.86 วันที่: 3 มีนาคม 2553 เวลา:22:47:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

HappyToBeMe*
Location :
Shizuoka Japan

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




เรียนเอกญี่ปุ่น ทำงานบริษัทญี่ปุ่น แต่งงานกับคนญี่ปุ่น มาใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น บางช่วงก็เกลียดญี่ปุ่นเข้าไส้ บางช่วงก็รักใจจะขาด ไม่นึกว่าญี่ปุ่นจะมายุ่งเกี่ยวกับชีวิตมากมายขนาดนี้เลยนะเนี่ย

เพื่อการอ่านหน้าบล็อคให้ได้ตามความตั้งใจของจขบ. ลองดาว์นโหลดฟอนต์ดู ที่นี่ เลยค่ะ
ขอขอบคุณคุณ iannnnn มากๆที่สร้างสรรค์ฟอนต์สวยๆให้ได้ใช้กันนะคะ

**สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 ห้ามผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของรูปภาพ และ ข้อความใน blog แห่งนี้ไปใช้ ทั้งโดยเผยแพร่และเพื่อการอ้างอิง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุดนะคะ**

New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add HappyToBeMe*'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.