(การ์ดคำสอน) เพราะฉันเลือกที่จะมอบให้ ไม่ได้หวังจะได้อะไรตอบแทน







ไม่ยึดติดในกันเเละกัน ทำดีทุกๆอย่างให้กับทุกคน
เเต่ไม่เคยหวังผลว่าจะต้องได้อะไรตอบเเทน "เเม้เเต่ความรักตอบ"
ถ้าอย่างนี้ก็ไม่มีทางทุกข์ใช่ไหม



เเต่ถ้าคนที่เขาได้รับความรักความปรารถนาดีที่เรามอบให้
เเละเขาสัมผัสได้ถึงความดี เเล้วเขารักตอบหรือตอบเเทนความดีมา
ก็เป็นเรื่องดีที่ตัวผู้นั้นเองเขาจะเกิดกุศลจิตขึ้น
ส่วนเราก็เพียงอนุโมทนาที่เขาได้เข้าใจในความดี ก็เเค่นั้นเอง



ไม่ได้อยากได้อะไรอีกเเล้วเเม้เเต่ความดีหรือบุญ
เพราะนั่นก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์อยู่ดี





อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ "ดูจิตหนึ่งพรรษา"
//suanyindee.lnwshop.com/product/12/ดูจิตหนึ่งพรรษา

ศึกษาข้อธรรมะเพิ่มเติมจาก อ.ประเสริฐ อุทัยเฉลิม ได้ที่นี่ค่ะ
//www.suanyindee.net
//dhammaway.wordpress.com/tag/อ-ประเสริฐ-อุทัยเฉลิม/





Create Date : 21 ตุลาคม 2557
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2557 14:02:06 น.
Counter : 743 Pageviews.

อ่านการ์ตูนเรื่องนี้กันค่ะ "กรรมพยากรณ์" กับฟังเรื่อง "7 เดือนบรรลุธรรม"







อ่านการ์ตูนเรื่องนี้กันค่ะ "กรรมพยากรณ์" โดย "ดังตฤณ"



น่าอ่านมากๆค่ะ



//cartoondhamma.com/?cat=4



พอเข้าไปแล้ว ตอนที่ 1 เริ่มอ่านจากด้านล่างขึ้นมานะ



(^_____^)








แล้วก็มีเสียงอ่านหนังสือนวนิยาย แบบ mp3 ให้ดาวโหลดฟังได้ด้วยค่ะ

อยู่ที่เว็บไซต์นี้

//www.fungdham.com/book/dungtrin.html






เราแนะนำเล่ม "7 เดือนบรรลุธรรม" เล่มนี้เป็นพิเศษเลยค่ะ

มีเสียง mp3 ให้ฟังด้วย ได้ฟังนวนิยายสนุกๆ ได้เรียนธรรมะพื้นฐานไปด้วย

เราแนะนำเลยค่ะ





ดาวโหลดเสียงอ่านหนังสือนวนิยายเรื่องนี้ ฟังที่นี่เลยค่ะ



//www.fungdham.com/book/dungtrin-7months.html









(^______^) ดีมากๆๆๆๆ เลยนะ











Create Date : 03 ตุลาคม 2557
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2558 9:31:22 น.
Counter : 806 Pageviews.

อ่านเรื่อง "บุญมี กับ กรรมบัง"




boonme-kambang




เรื่องของ "บุญมี กับ กรรมบัง"

เพื่อนสองคนนี้รักกันมาก
เพื่อนคนหนึ่งชื่อบุญมี บุญมีเป็นผู้มีปัญญาแบบปิ๊งปั้งเลย
ส่วนกรรมบังจะทึบๆ ทื่อๆ แต่สองคนนี้เป็นเพื่อนซี้กัน
เพราะฉะนั้นกรรมบังมีอะไรก็จะปรึกษาบุญมี
เพราะว่าเชื่อในสติปัญญาของบุญมี

มีอยู่วันหนึ่ง กรรมบังก็มาเล่าให้บุญมีฟังว่า

"ฉันเบื่อจังเลย อึดอัดมากด้วย
ห้องที่ฉันอยู่เนี่ยมันเล็กนิดเดียว
เงินก็มีอยู่แค่นี้ ที่จะไปเช่าห้องอยู่ก็มีอยู่แค่นี้
แต่ไม่ชอบเลย ห้องมันเล็ก
ทำยังไงเงินที่มีอยู่นี่ ถึงจะไปเช่าห้องได้ใหญ่กว่านี้"

บุญมีพอได้ยินเพื่อนก็เลยถามกลับไปว่า
"แล้วเงินมีเท่าไหร่"

กรรมบัง : "มีอยู่ 500 เนี่ย"

บุญมี : "500 หรอ ตอนนี้เช่าห้องแล้วใช่ไหม"

กรรมบัง : "เช่าไปแล้ว"

บุญมี : "แล้วเหลือเท่าไหร่"

กรรมบัง : "เหลือ 500 เนี่ย กินทั้งเดือนเลย

บุญมี : "อืม เอางี้ๆ ไปซื้อแพะตัวหนึ่ง"

กรรมบัง: "ซื้อแพะ? ตัวนึง 200 เลยนะ?"

บุญมี : "อืม ไปซื้อแพะมา เอาตัวผู้นะ ต้องตัวผู้ด้วย"

กรรมบัง : "ซื้อมาทำไม เดี๋ยวเงินหมด"

บุญมีก็หันไปมองหน้าแบบจ้องตา

กรรมบัง : "โอเคๆๆๆ"



...ก็เดินไปซื้อแพะ...



กรรมบัง : "ซื้อมาแล้วทำยังไง?"

บุญมี : "ก็เอาไปเลี้ยง"

กรรมบัง : "หา?? เลี้ยงที่ไหน อยู่ห้องพัก"

บุญมี : "เออ ก็เลี้ยงในห้องนั่นแหละ"

กรรมบัง : "เอ้า?"

บุญมี : "เออเลี้ยงไปเหอะ ถามอยู่นั่นล่ะ"



ก็เอาแพะเข้าไปเลี้ยง

ตกกลางคืนแพะก็เดินไม่หยุด
ทั้งฉี่ ทั้งขี้ ทั้งเยี่ยว ทั้งวิ่งจะออกไปข้างนอก
ไปมาจับขังไว้ในห้องสี่เหลี่ยม
โอย...ไม่ต้องหลับไม่ต้องนอนกัน
รำคาญก็รำคาญ เหม็นก็เหม็น ห้องก็เล็กอยู่แล้ว
เที่ยวนี้ทำไมทำอย่างนี้ เจ็บใจ นอนแค้นทั้งคืน

ตื่นมาก็ลากแพะไปหาบุญมีแต่เช้าเลย
(ตาโหลเลยเมื่อคืนไม่ได้นอน)
ไปถึงก็ต่อว่าไม่หยุดเลย

บุญมีก็นั่งฟังอยู่พักหนึ่ง
พอเห็นเพื่อนพูดจนเหนื่อยแล้วด่าเสร็จแล้ว

บุญมี : "อืม แล้วจะเอาไงล่ะ"

กรรมบัง : "ก็ใช่สิ! แล้วจะเอายังไงเนี่ย!"

บุญมี : "เอางี้ ไปซื้อตัวเมียอีกตัวหนึ่ง"

กรรมบังยั้วสุดขีดเลย

กรรมบัง : "นี่พูดจริงพูดเล่นเนี่ย"

บุญมี : "พูดจริง เคยพูดเล่นที่ไหน"

กรรมบัง : "นี่จะแกล้งกันหรือเปล่าเนี่ย?"

บุญมี : "ไม่แกล้ง แล้วเหลือตังค์เท่าไหร่ล่ะ"

กรรมบัง : "ก็เหลือ 300 เนี่ย ซื้อไปแล้ว 200"

บุญมี : "ไปซื้อตัวเมียนะ เที่ยวนี้ตัวเมีย"

กรรมบัง : "ทำไมต้องตัวเมีย??"

บุญมี : "เออ ตัวเมียนั่นแหละ"



...ก็ไปตลาด เพราะเชื่อบุญมี...



ไปได้มาอีกตัว เลยเหลือร้อยเดียวเลยทีนี้
ลากกลับมาพะรุงพะรังสองตัว
ตกกลางคืนลากเข้าห้องอีก โอ๊ยทีนี้
ตัวเดียวก็จะแย่แล้ว ทีนี้ตัวผู้ได้ตัวเมียเลย
ยุ่งกันใหญ่เลยในห้อง มันวุ่นวายมาก
ทั้งขี้ทั้งเยี่ยวเต็มไปหมด
รำคาญสุดๆ กว่าเดิมทีนี้
ไม่ต้องหลับไม่ต้องนอน มันเดินย่ำเอาเลย

เช้ามานี่แค้นสุดๆ ลากไปทั้งคู่เลยด้วยความแค้น
กระชากลากถูกไปหาบุญมี
แล้วทีนี้ว่าด่าแล้วก็สาธยายความทุกข์ให้ได้ฟัง
เมื่อคืนเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เป็นชั่วโมง
จนเหนื่อย ถามจะเอายังไงทีนี้

บุญมี : "เอาอย่างนี้ละกัน ขอโทษที เอาไปขายเหอะ"

กรรมบัง : "หา?? เอาไปขายหรอ
เหลือตัวละร้อยยังไม่รู้จะได้รึเปล่า"

บุญมี : "เออ ขายไปเหอะถ้างั้น"

กรรมบัง : "อะไร! ทีหลังไม่ฟังแล้ว! แกล้งกันรึเปล่า"

บุญมี : "ขอโทษที ไปขายเหอะไป"
แล้วบุญมีก็เดินหลบเข้าบ้านไปเลย

กรรมบัง : "อื้มมมม..."



ก็ลากแพะไปตลาด ไปนั่งขายอีก



กว่าจะมีคนซื้อ ขายได้ตังค์มาตัวละ 100
ซื้อมาตัวละ 200 ขาดทุนเฉยๆ เลย
เหลือตัวละร้อย ขาดทุนไปสองร้อย
แค้นเพื่อน ใจอกุศลเลย

กลับบ้าน ไม่ไหวแล้ว เพลีย
ไม่ได้หลับไม่ได้นอนมาสองคืน

พอเปิดห้องโอโห... ขี้แพะเต็มไปหมด
ล้างห้องกว่าจะหมด

พอล้างเสร็จก็เอนตัวลงนอนเลย

"เฮ้อออ... ห้องค่อยกว้างขึ้นหน่อย...

เอาแพะไปขาย ค่อยหลับสบายหน่อย..."

...พึ่งรู้สึกว่าห้องมันกว้างขึ้น...

...แล้วก็นอนหลับอย่างมีความสุข...



กรรมบังเอ๋ย... เจอบุญมีเล่นซะห้องกว้างเลย

เสียไป 200 ห้องกว้างเลย
เห็นหรือยังการทำห้องให้กว้างโดยใช้ปัญญา

เพราะอะไรรู้ไหม

ผมลองให้ท่านคิดดูให้เป็นธรรมะ
แสดงว่ามันต้องมีสภาพธรรมอยู่ข้างใน

เพราะจิตทุกคนมีโมหะ(ความหลง) แต่เราไม่เห็นเลย
ผมถามความรู้สึกวันแรกที่ท่านเรียนจบ
แล้วท่านเข้าไปสมัครงาน
สมมุติว่าตอนนี้แล้วกัน
เขาบอกว่าปริญญาตรีจะได้หมื่นห้า
เราเรียนมาก็มีแต่เสียเงินค่าเทอม
จบปริญญา นี่ครั้งแรกจะได้เงินเดือนแล้ว

เจ้านายบอก "หมื่นสี่ เอาไหม ทดลองงานก่อน"

"เอา"

เพราะเราจะได้เงินตั้งหมื่นสี่
เราไม่เคยได้เงินเดือนมาก่อน นี่คือเงินเดือนที่เราจะได้มาฟรีๆ

เราทำงานไปได้เงินเดือนเดือนแรก
ดีใจมาก หมื่นสี่
เดือนที่สอง ได้มาอีกหมื่นสี่
เราก็เริ่มไปซื้อข้าวซื้อของ
เดือนที่สาม ได้หมื่นสี่
เพราะยังอยู่ใน Probation (ช่วงทดลองงาน)

พอถึงช่วงพ้นโปร นึกว่าจะได้หมื่นห้า
เจ้านายบอก
"งานของคุณแค่นี้ เอาไปแค่หมื่นสี่ละกัน จะเอาไม่เอา?"

"เฮ้ย โกงฉันพันนึง"

เอาล่ะมันโกงฉันพันนึงล่ะ

แล้วถ้าเขาบอกว่า
"ตกลงเราจ้างได้แค่หมื่นสาม"

...นี่มันโกงเรานะเนี่ย...

"ถ้าไม่เอาคุณก็คงต้องออกไป"

...งั้นออก...

กลับไปอยู่ที่ศูนย์

...ไม่ได้ มันโกงเรา...



เพราะว่าทุกครั้งจิตจะไปเกาะ
เกาะ เกาะ เกาะ
แล้วมันไม่ยอมรีเซ็ตตัวเองกลับมาที่ศูนย์
มนุษย์จึงมีแต่ความโลภ
แล้วก็อยากได้เพิ่มขึ้น อยากได้เพิ่มขึ้น
เพราะจิตไม่ยอมรีเซ็ตตัวเองกลับมาที่ศูนย์

ถ้าจิตรีเซ็ตตัวเองกลับมาที่ศูนย์เมื่อไหร่
ทุกบาททุกสตางค์ จะกลายเป็นได้ฟรีทุกขณะ
ตลอดการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้

คนๆ นั้นจึงมีความสุข






เรียบเรียงจากเรื่องเล่าในคอร์สปฏิบัติธรรม
มัคคานุคาเข้ม ชื่อคอร์สว่า "ไฟลุกกลางหอธรรม"
ธรรมบรรยายโดย อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม

สามารถดูธรรมบรรยายคอร์สนี้ฉบับเต็มได้ที่นี่ค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=lB5iN17oKJI&list=PLg335evdAUbb0ARKin2CuNvkRkiAV3_uh&index=1


และสามารถศึกษาธรรมะเพิ่มเติมจาก อ.ประเสริฐ อุทัยเฉลิม ได้ที่
https://makkanuka.wordpress.com/


สมัครเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมได้ที่
//www.suanyindee.net/


ติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook: ผู้เดินตามมรรค
https://www.facebook.com/groups/605097869545632/




หมายเหตุ: บทความนี้ประกอบด้วยเรื่องเล่า
ที่ไม่ทราบท่านใดได้เป็นผู้ประพันธ์ไว้ เป็นเรื่องราวที่มีเนื้อหาที่ดีมาก
ขอขอบคุณผู้ประพันธ์ไว้ ณ ที่นี้ที่ได้รังสรรค์ผลงานนี้ไว้

ขออนุญาตนำเรื่องนี้มาเล่า เพื่อเป็นอุทาหรณ์
และใช้ในการเรียนการสอนต่อไป
(ทั้งนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนไปบ้าง
เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อหาในการสอนขณะนั้นๆ)




Create Date : 25 กันยายน 2557
Last Update : 1 สิงหาคม 2558 23:16:41 น.
Counter : 754 Pageviews.

(ภาพการ์ตูน) เพียงแค่ปล่อยมือ




"ภาพต่อไปนี้" จะมีขนาดยาว
อาจใช้เวลาในการโหลดหน้านี้ซักครู่นะ แต่ว่าคุ้มค่ามากๆๆๆ



just-let-it-go-th-pramote-pamojjo.png



เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ "วิธีการปฏิบัติธรรม"
พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

สามารถศึกษาธรรมะข้อธรรมเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์
//www.dhamma.com/

ดาวโหลดหนังสือ "วิธีการปฏิบัติธรรม" อ่านได้ที่นี่ค่ะ
//media.dhamma.com/pramote/books/patibudtham.pdf


และสามารถแชร์ภาพนี้ทาง FB ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้เลยค่ะ
https://www.facebook.com/notes/กลม-กลม/ภาพการ์ตูน-เพียงแค่ปล่อยมือ/668575769894885


หมายเหตุจากผู้จัดทำ
หากท่านสนใจนำไปเผยแผ่ต่อขอได้โปรดเผยแผ่ทั้งหมดในภาพเดียว
เพื่อให้เนื้อหาและภาพอยู่ด้วยกันครบถ้วนในกาลเวลาต่อๆไป




Create Date : 25 กันยายน 2557
Last Update : 30 ตุลาคม 2557 0:52:43 น.
Counter : 763 Pageviews.

...เพียงวางความถือตัวถือตนที่แบกไว้ เพียงวางลงซะ ...

เครดิตบทความ: //dhammaway.wordpress.com/2014/09/02/just-put-down/



just-put-down-v2-1-6



เวลาตีระฆังทำวัตรเช้า – เย็น หมาทุกตัวในวัดจะหอนเป็นจังหวะตามจังหวะระฆัง พอหยุดตีมันก็หยุดหอนไปด้วย แต่ถ้าตีเมื่อไหร่ก็หอนอีก มันคุมตัวเองไม่ได้ เห็นแล้วก็อดขำและอดสมเพชไม่ได้ที่มันกลายเป็นทาสของระฆังไปแล้ว



แต่มานึกดูให้ดีบ่อยครั้งเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกันนะ เพียงแต่ว่าเราอาจไม่ได้มีปฏิกิริยากับเสียงระฆัง แต่มีปฏิกิริยากับเสียงอย่างอื่นแทน เช่นเสียงดัง เสียงตำหนิ พอได้ยินคนต่อว่าเราก็ตอบโต้หรือต่อว่ากลับไปทันที มันเป็นกิริยาโดยอัตโนมัติ หรือถึงแม้ไม่พูดตอบโต้ให้ได้ยินแต่ความรู้สึกขุ่นเคืองก็ผุดขึ้นมาทันที ได้ยินปุ๊บก็โกรธปั๊บเลย เห็นไหมว่าคนเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นกับสัตว์เท่านั้น



ถามว่าเราเลือกที่จะไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้เสียงที่มากระทบทันทีได้ไหม เราทำได้นะถ้าฝึกใจไว้ดี เวลาหูได้ยินเสียงก็เกิดเวทนาขึ้นมา จะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาก็ตาม ตรงนั้นแหละถ้ามีสติ มันก็หยุดอยู่แค่เวทนา ไม่ปรุงแต่งออกไปเป็นความโกรธ ความฉุนเฉียว มันไม่ปรุงแต่งออกไปเป็นพฤติกรรมต่อว่า ผลักไส ทำร้าย



การมีสติกำกับจิตโดยเฉพาะเวลาเกิดผัสสะขึ้นมา ตอนที่ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น กายได้สัมผัส อย่างมากก็มีแค่เวทนาทางกายเกิดขึ้น แต่ไม่ปรุงแต่งเป็นเวทนาทางใจ หรือแม้ว่าจะมีเวทนาทางใจ พอมีสติเข้าไปรู้ มันก็หยุดแค่นั้น หลวงพ่อเทียนท่านเปรียบเหมือนกับเอาดินร่วนขว้างไปที่ข้างฝา พอกระทบกับข้างฝา มันก็ตกลงมา แต่ถ้าเป็นคนธรรมดา พอมีผัสสะเกิดขึ้นก็เปรียบเหมือนกับเอาดินเหนียวขว้างไปที่ข้างฝา มันก็ติดข้างฝาเลย คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นคือเมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ก็ปรุงต่อไปเป็นตัณหา อุปาทาน เวลาได้ยินเสียงต่อว่า แทนที่จะปล่อยผ่านเลยไป ปรากฏว่าเสียงด่าก็ยังติดแน่นที่ใจ ผ่านไปเป็นวันเป็นอาทิตย์ ก็ยังไม่หลุด เก็บเอามาคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นึกถึงทีไรเสียงก็ยังดังชัดเจนในความรู้สึกเหมือนกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อกี้


just-put-down-v2-2



ไม่ใช่คำต่อว่าเท่านั้น เหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ความพลัดพรากสูญเสีย การประสบกับสิ่งไม่น่าพอใจ เมื่อเกิดผัสสะขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ มันไม่ได้เกิดขึ้นแล้วดับ แต่ยังค้างคาติดตรึงในจิตใจ ผ่านไปเป็นวันก็ยังประทับแน่นอยู่ นี่แหละที่เขาเรียกว่าอุปาทานหรือความยึดติด หลวงพ่อเทียนจึงเปรียบเหมือนดินเหนียวที่ขว้างไปแล้วติดข้างฝา



แต่ถ้าเรามีสติกำกับจิต เมื่อมีผัสสะแล้ว ก็ไม่มีการปรุงแต่งยืดยาวต่อไป เมื่อตาเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียง ก็สักแต่ว่าได้ยิน มีอยู่แค่นั้น ไม่ปรุงแต่งเป็นความยินดีหรือยินร้าย อยากได้หรืออยากผลักไส ถ้าเป็นดิน ก็เป็นดินทรายที่พอกระทบข้างฝาก็ตกลงมาเท่านั้นเอง



ความปรุงแต่งของจิตมันเกิดขึ้นเมื่อไม่มีสติกำกับใจ โดยเฉพาะเมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ผัสสะเป็นขั้นตอนสำคัญไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ ย่อมเกิดเวทนาหรือความรู้สึกตามมา เช่น รู้สึกสบาย ไม่สบาย เมื่อกายเจอลมเย็นก็รู้สึกสบาย เรียกว่าสุขเวทนา เจอแดดเผาก็รู้สึกไม่สบายคือเกิดทุกขเวทนา นึกถึงคนที่เรารักก็เกิดความชื่นใจ นี่คือสุขเวทนา นึกถึงคนที่เราโกรธเกลียด ก็รู้สึกเร่าร้อนหรือเจ็บปวด นี่คือทุกขเวทนา ปัญหาคือคนเราไม่ได้ยุติแค่นี้ เมื่อไม่มีสติเข้าไปรู้ทันในเวทนา ก็จะปรุงแต่งต่อไปเป็นตัณหาคือความอยาก อะไรที่ทำให้เราชื่นใจก็อยากได้หรืออยากครอบครอง อะไรที่ทำให้เราเจ็บปวดไม่สบาย ก็อยากผลักไสออกไป หรืออยากให้สภาพเช่นนั้นหมดไป ถือว่าเป็นตัณหาด้วยเหมือนกัน เรียกว่าวิภวตัณหา


just-put-down-v2-3-2



พอเกิดตัณหาแล้ว ถ้าปล่อยเลยตามเลย ก็จะปรุงแต่งต่อไปเป็นอุปาทานคือความยึดติด เช่น อยากได้อะไร ก็เฝ้านึกถึงสิ่งนั้น คิดหาหนทางให้ได้มา บางทีหลับไปแล้วก็ยังฝันถึงสิ่งนั้น ชอบใครก็นึกถึงแต่คนนั้น พยายามทุกอย่างเพื่อจะได้อยู่ใกล้เขา เห็นหน้าเขา หรือแม้แต่เห็นหลังคาบ้านเขาก็ยังดี ในทางตรงกันข้าม เกลียดใครก็เฝ้าแต่นึกคิดถึงคนนั้น ทั้ง ๆ ที่ทุกข์แต่ก็ยังวนเวียนคิดถึงคนนั้น โกรธใคร เศร้าโศกเสียใจเรื่องอะไร ก็จะวนคิดถึงเรื่องนั้น อุปาทานมันทำให้ติดแน่นในใจ กินข้าวก็คิด อาบน้ำก็คิด นอนก็คิด นี่คืออาการของอุปาทานหรือความยึดติด



กระบวนการปรุงแต่งของจิตเริ่มต้นมาจากการที่ไม่มีสติเมื่อเกิดผัสสะขึ้นมา แต่ถ้าเรามีสติทันทีที่เกิดผัสสะ มันก็ไม่ปรุงแต่งเป็นเวทนาโดยเฉพาะเวทนาทางใจ หรือเมื่อเวทนาเกิดขึ้นแล้วถึงค่อยมีสติ มันก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ปรุงต่อ เหมือนกับว่าสะเก็ดไฟเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่มีเชื้อ ก็เลยไม่ลามต่อไปหรือลุกเป็นเปลว มันหยุดแค่นั้น ปล่อยไว้ไม่นานก็ดับ แต่ถ้ามีเชื้อ สะเก็ดไฟก็จะลามหรือลุกเป็นเปลว ตอนนี้แหละที่อารมณ์เกิดขึ้นต่อจากเวทนา ถ้ายังมีเชื้ออีก ไฟก็จะโหมไหม้ เวลาเกิดอารมณ์ขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นอกุศล ถ้าปล่อยให้มันปรุงแต่งหรือลุกลามต่อไป ก็จะกลายเป็นพายุอารมณ์ที่เผาไหม้จิตจนไม่อยากจะอยู่ในโลกนี้ นี่เป็นเพราะไม่มีสติรักษาใจ




ทีนี้ถ้าไม่มีสติ มันก็จะปรุงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกยึดมั่นเป็นตัวเป็นตนขึ้น ความรู้สึกยึดมั่นเป็นตัวตนหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า เกิดความรู้สึก “ตัวกู ของกู”ขึ้นมา เช่น เมื่อความโกรธเกิดขึ้น แทนที่จะมีสติเห็นความโกรธ เราลืมตัวก็เลยไปสำคัญมั่นหมายว่า ฉันโกรธ หรือฉันเป็นผู้โกรธ นี่เรียกว่าตัวตนเกิดขึ้นแล้ว ตรงนี้แหละที่ทางพระเรียกว่า “ชาติ” เกิดขึ้นแล้ว คือเกิดความรู้สึกว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ นี้เป็นเพราะไม่มีสติเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น เลยเข้าไปยึดและปรุงจนเกิดตัวตนขึ้นมาว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ หรือมีตัวฉันเข้าไปเป็นเจ้าของอารมณ์เหล่านั้น แต่ถ้ามีสติ ก็เพียงแค่เห็นเฉย ๆ การปรุงว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ก็ไม่เกิดขึ้น ถ้าเห็นความโกรธ ผู้โกรธก็ไม่เกิดขึ้น เห็นความโกรธกับเป็นผู้โกรธต่างกันมากนะ เห็นความเศร้ากับเป็นผู้เศร้าก็ต่างกันมากเช่นกัน


just-put-down-v2-3-1



มีผู้หญิงคนหนึ่งปฏิบัติกับหลวงพ่อคำเขียน พอทำไปได้สองสามวันก็มาปรึกษาหลวงพ่อว่า “ทำอย่างไรดี หนูเครียดจังเลย” เธอทำด้วยความตั้งใจมากจึงเครียด หลวงพ่อไม่ตอบแต่บอกว่า “ ถามไม่ถูก ให้ถามใหม่ ” เธอได้คิดขึ้นมาเพราะว่าฟังเทศน์หลวงพ่อมาหลายวันแล้ว จึงถามใหม่ว่า “ทำอย่างไรดี ในใจหนูมีความเครียดมากเลย”



มันต่างกันนะ “หนูเครียดจังเลย” กับ “ในใจหนูมีความเครียดมากเลย” ประโยคแรกแสดงว่าเข้าไปเป็นผู้เครียดแล้ว แต่ประโยคที่สองแสดงว่าเขาเห็นความเครียด แต่อาจเป็นเพราะยังเห็นไม่ตลอด เห็นแล้วยังเผลอเข้าไปเป็น เป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ก็เลยทุกข์ แต่ก็ยังดีที่พอเห็นอยู่บ้าง แต่ถ้าเห็นล้วน ๆ ไม่เข้าไปเป็นเลยก็จะไม่ทุกข์เท่าไหร่ นี่แหละ “ผู้เห็น” กับ “ผู้เป็น” มันต่างกัน ถ้าเราเข้าไปเป็นแล้วแสดงว่าตัวกูเกิดขึ้นแล้ว ความรู้สึกยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตัวกูเกิดขึ้นแล้ว พอตัวกูเกิดขึ้น ความรู้สึกว่าเป็นของกูก็ตามมา เช่น เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ปรุงไปเป็นผู้โกรธ ทีนี้ก็จะไปยึดเอาความโกรธเป็นของฉันด้วย



การเกิดที่ว่ามาเป็นการเกิดทางจิตใจซึ่งเกิดขึ้นได้มากมายวันละหลายครั้ง ตรงข้ามกับการเกิดเป็นรูปเป็นร่างซึ่งเกิดได้เพียงครั้งเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือการเกิดทางกายและทางใจต้องอาศัยพ่อและแม่ พระพุทธเจ้าเรียกตัณหาและมานะว่าเป็นพ่อและแม่ มีพระรูปหนึ่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แล้วมาทูลลาพระพุทธเจ้า เมื่อพระรูปนั้นเดินออกไปก็มีพระกลุ่มใหม่เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสกับพระกลุ่มนี้ว่า พระที่เพิ่งเดินผ่านไปนั้นบรรลุธรรมแล้วเพราะได้ฆ่าพ่อฆ่าแม่ พระที่ได้ยินก็ตกใจว่าฆ่าพ่อฆ่าแม่แล้วจะบรรลุธรรมได้หรือ พระพุทธเจ้าก็อธิบายว่าท่านได้ฆ่าตัณหาและมานะแล้ว



ตัณหาและมานะเปรียบเสมือนพ่อและแม่ เพราะเป็นปัจจัยทำให้เกิดตัวตนขึ้นมา เป็นเพราะตัณหาและมานะ จึงเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกูขึ้นมา เกิดความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ และถือเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาเป็นของฉันตลอดเวลา นอกจากความรู้สึกว่าเป็นผู้ทุกข์ ผู้เศร้า แล้ว ความรู้สึกฉันเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นนักปฏิบัติ เป็นพระ เป็นผู้ชนะหรือเป็นผู้แพ้ ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเป็นตัวกูของกู และขึ้นชื่อว่าตัวกูของกู เกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ทุกข์ก็เพราะว่าความรู้สึกสำคัญมั่นหมายนั้นมีกิเลสเจือปนอยู่เสมอ คืออยากให้เป็นไปตามใจฉัน พอมันไม่เป็นไปตามใจฉันก็ทุกข์ เช่นเป็นผู้ชนะ ดูเผิน ๆ ก็มีความสุขดี แต่ลึก ๆ ก็มีความหวั่นกลัวว่าความเป็นผู้ชนะจะถูกแย่งชิงไป เห็นใครเก่งกว่าก็ทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะรู้สึกถูกคุกคาม รู้สึกว่าตัวเองจะสูญเสียความเป็นผู้ชนะไป เห็นไหมว่าไม่ใช่ผู้แพ้เท่านั้นที่ทุกข์ เป็นผู้ชนะก็ทุกข์


just-put-down-v2-4




เป็นพ่อเป็นแม่ก็ทุกข์เวลาลูกพูดจาไม่ดีกับตน หรือเป็นทุกข์เมื่อลูกไม่เป็นไปตามใจตน นี่เป็นเพราะยังมีกิเลสและอุปาทานของความเป็นแม่อยู่ บางคนถึงกับฆ่าตัวตายเพราะลูกไม่พูดไม่คุยด้วย ลูกเอาแต่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แม่จะพูดอย่างไรก็ไม่สนใจ แม่ขู่ว่าจะโดดตึกลูกก็ยังไม่สนใจ แม่ก็เลยน้อยใจโดดตึกตาย ตายเพราะว่ายึดมั่นในความเป็นแม่มาก จึงมีความอยากจะให้ลูกปฏิบัติกับตนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอลูกไม่ทำตาม ความเป็นแม่ก็ถูกกระทบอย่างแรง จนทนไม่ได้อีกต่อไป



เป็นอะไรก็ตามก็ทุกข์ได้ทั้งนั้น เป็นพระก็ทุกข์เวลาญาติโยมพูดจาไม่มีสัมมาคารวะ แค่เขาไม่กราบไม่ไหว้เราก็ไม่พอใจแล้ว นึกในใจว่า เอ๊ะ ฉันเป็นพระนะ เธอเป็นฆราวาสทำไมไม่ไหว้ฉัน อาการอย่างนี้เกิดขึ้นเพราะไปยึดมั่นสำคัญหมายในความเป็นพระโดยมีกิเลสเจือปนอยู่ด้วย และถ้าสังเกตให้ดีความยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อยู่ในวัดฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม พอออกไปในหมู่บ้าน เจอชาวบ้าน ก็เกิดความรู้สึกว่าฉันเป็นคนเมือง แต่ถ้าไปเจอฝรั่งหรือญี่ปุ่น ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนไทยก็เกิดขึ้นแทนที่ กลับไปบ้านเจอลูก ก็เกิดความรู้สึกว่าเป็นพ่อแม่ เห็นไหมว่า ความรู้สึกเป็นนั่นเป็นนี่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเป็นฉันมันไม่เที่ยง และไม่ใช่ตัวตนก็เพราะเหตุนี้



ที่ว่าตัวตนเป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นมาก็เพราะเหตุนี้ แต่เราไม่รู้ เรานึกอยู่เสมอว่าตัวฉันนั้นมันเที่ยง หรือมีอยู่จริง ๆ แต่ความจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ถูกปรุงขึ้นในใจเราสุดแท้แต่เหตุปัจจัย เช่น ไปเจอคนต่างชาติต่างภาษา ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนไทยก็เกิดขึ้น แต่พอเจอคนใต้ ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนกรุงเทพ ฯ หรือคนอีสานก็เกิดขึ้น แม้แต่คนอีสาน พอมาเจอกัน ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนชัยภูมิก็เกิดขึ้น หากว่าอีกคนเป็นคนขอนแก่น เราปรุงเราสร้างความเป็นตัวฉันอยู่ตลอดเวลาสุดแท้แต่เหตุปัจจัย อันนี้แหละที่เราเรียกว่าตัวตนเป็นสิ่งสมมุติ เพราะมันไม่ได้มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่ง ความปรุงแต่งเหล่านี้เราไม่รู้ทัน ก็เลยไปยึดด้วยความหลงว่าตัวฉันนี้มีอยู่จริง แล้วยังยึดต่อไปด้วยความอยากว่าตัวฉันเป็นของเที่ยง ต้องคงอยู่ตลอดไป เราจึงยอมรับความตายไม่ได้


just-put-down-v2-5



มีนายทหารคนหนึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ เป็นวีรบุรุษชายแดน เขาเคยพูดว่าทหารที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่ชายชาติทหาร เขายังบอกอีกว่าคนอย่างเขาไม่มีวันฆ่าตัวตาย ความรู้สึกว่าฉันเป็นชายชาติทหารฝังแน่นในใจจนเขามั่นใจว่าจะไม่มีวันฆ่าตัวตายเด็ดขาด แล้ววันหนึ่งเขาก็เป็นมะเร็ง เจ็บปวดทรมานมาก เขาทนความเจ็บปวดอยู่หลายปี ในที่สุดก็ยิงตัวตาย ทีแรกใคร ๆ ก็นึกว่าเป็นฆาตกรรม เพราะไม่คิดว่าคนอย่างเขาจะฆ่าตัวตายได้ เพราะเคยลั่นวาจาว่าคนที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่ชายชาติทหาร แต่ในที่สุดหลักฐานก็บ่งชี้ว่าเขาฆ่าตัวตายจริง ๆ คำถามคือชายชาติทหารอย่างเขาฆ่าตัวตายได้อย่างไร คำตอบก็คือว่าตอนนั้นเขาไม่รู้สึกว่าตัวเป็นชายชาติทหารแล้ว แต่เป็นผู้ป่วย เป็นผู้เจ็บปวดทรมาน ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นชายชาติทหารได้หมดไป ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนป่วยที่ทุกข์ทรมานมาแทนที่ ความสำคัญมั่นหมายอย่างหลังนี้เองที่ทำให้เขาตัดสินใจยิงตัวตาย



กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ไม่มีความเที่ยงแท้ แม้เขาจะเคยมั่นใจอย่างแรงกล้าว่าตัวตนของฉันคือชายชาติทหาร แต่ตัวตนนี้ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเรื่องที่ปรุงขึ้นมาตามเหตุปัจจัย ถึงเวลาเหตุปัจจัยเปลี่ยน ตัวตนที่ว่าก็เปลี่ยนไปด้วย และอาจเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้ามก็ได้ และพอรู้สึกว่าตัวฉันคือผู้ป่วยที่เจ็บทรมาน อย่างเดียวที่ต้องการก็คือพ้นจากความเจ็บปวดทุกวิถีทาง แม้จะต้องฆ่าตัวตายก็ยอม



ความเป็นตัวตนมันไม่ยั่งยืนถาวรเพราะมันเกิดขึ้นจากการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย พอเหตุปัจจัยเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนไปด้วย เหตุปัจจัยนี้อาจจะได้แก่ปัจจัยภายใน เช่น ความรู้สึกนึกคิด และปัจจัยภายนอก เช่น ผู้คนแวดล้อม ทั้งหมดนี้ล้วนไม่เที่ยงทั้งนั้น โดยเฉพาะใจของเราเอาแน่เอานอนไม่ได้อยู่แล้ว ความเป็นตัวฉันก็เลยผันแปร เปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ และอย่างที่บอกไว้แล้ว เป็นอะไรก็ตามมันก็ทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าเป็นในทางที่ดี หรือไม่ดีก็ตาม เป็นผู้แพ้ก็แน่อยู่แล้วว่าต้องทุกข์ แต่เป็นผู้ชนะหรือคนเก่งก็หนีความทุกข์ไม่พ้นเช่นกัน เจอใครที่เก่งแม้จะไม่เท่าเรา แต่ก็ระแวงว่าเขาจะมาแย่งชิงความเป็นผู้ชนะไปจากเรา และถ้าเขาแย่งชิงไปได้ ก็จะเป็นทุกข์ยิ่งขึ้น เพราะสูญเสียความเป็นผู้ชนะไป พูดอีกอย่างคือตัวฉันที่เป็นผู้ชนะได้ตายไป อันนี้คือความตายอย่างหนึ่งที่เราเจออยู่บ่อย ๆ แม้จะยังไม่หมดลม



เป็นอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น ถ้าจะให้ดีก็คือไม่เป็นอะไรเลย ไม่เป็นอะไรเลยหมายความว่าอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรเลยใช่ไหม ไม่ใช่ แต่หมายความว่าเราจะทำอะไรก็ตามเราอย่าไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ ใครเขาจะเรียกเราว่าเป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็รู้ว่านั่นเป็นสมมุติ แม้เราจะบอกกับคนอื่นว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ แต่ก็ไม่ได้ไปยึดมั่นนั่นคือตัวฉันจริง ๆ ถ้าไปคิดเช่นนั้นก็เรียกว่าหลงแล้ว และเตรียมตัวทุกข์ได้เลย


just-put-down-v2-6



มีเรื่องเล่าว่าครูคนหนึ่งสอนหนังสืออยู่แถววัดสระเกศ วันหนึ่งรู้สึกกลุ้มใจจึงเดินขึ้นไปบนภูเขาทอง พอถึงยอดภูเขาทองแล้วมองออกไปไกล ๆ เห็นโลกกว้างสุดสายตา ก็รู้สึกเบาสบาย ความกลุ้มใจก็คลายไป ทีนี้พอแกเครียดทีไรก็จะขึ้นไปบนภูเขาทอง ขึ้นแล้วก็รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย บางวันขึ้นสองสามรอบ ทำเช่นนั้นเป็นปี
เผอิญมีนักข่าวคนหนึ่งไปเที่ยวภูเขาทอง ได้ยินเรื่องเล่าจากเจ้าหน้าที่ที่นั่นว่ามีครูคนหนึ่งขึ้นภูเขาทองวันหนึ่งไม่รู้กี่เที่ยว ก็เลยสนใจไปทำข่าว พอเรื่องราวของเขาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เขาก็ได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ จึงดังเข้าไปใหญ่ ได้รางวัลหลายรางวัล ได้รับสมญานามว่าเป็นนักขึ้นภูเขาทองที่ไม่มีใครเทียบทาน



ถึงตอนนี้ก็มีหลายคนอยากเป็นนักขึ้นภูเขาทองบ้าง หลายคนอยากลบสถิติของเขาซึ่งขึ้นภูเขาทองมาเป็นพัน ๆ ครั้ง ครูคนนี้ทีแรกขึ้นภูเขาทองโดยไม่ได้นึกอะไรแต่พอมีคนยกย่องว่าเขาเป็นนักขึ้นภูเขาทอง ความรู้สึกว่าฉันเป็นนักขึ้นภูเขาทองก็เกิดขึ้นกับครูคนนี้ รู้สึกภูมิใจเพราะโลกนี้มีคนเดียวที่เป็นนักขึ้นภูเขาทอง แต่พอรู้ว่ามีคนจะมาลบสถิติ ก็ไม่สบายใจขึ้นมา เพราะกลัวว่าความเป็นนักขึ้นภูเขาทองจะถูกแย่งชิงไป เขาจึงต้องขึ้นภูเขาทองให้บ่อยขึ้น แต่ก่อนพอขึ้นแล้วมีความสุข สบายใจ แต่ตอนนี้กลายเป็นหน้าที่ไปแล้ว ต้องขึ้นเพื่อที่จะไม่ให้ใครมาลบสถิติหรือแย่งชิงตำแหน่งนักขึ้นภูเขาทองไป เขาเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นเมื่อมีคนหนึ่งขึ้นภูเขาทองมากเกือบเท่าเขา ถึงตอนนี้เขาก็เริ่มนอนไม่หลับ คิดแต่ว่าจะต้องขึ้นให้บ่อยขึ้นแม้งานจะเยอะก็ตาม



นี่เป็นเรื่องแต่ง แต่ว่าก็สอดคล้องกับชีวิตจริงของคนเรา คนเราเวลาทำอะไรก็ตามถ้าไม่ได้นึกว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ก็ไม่ทุกข์นะ แต่พอรู้สึกว่าเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาก็เป็นทุกข์ อย่างเช่นครูในเรื่องนี้ ตอนแรก ๆ ขึ้นภูเขาทองโดยไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักขึ้นภูเขาทอง แต่พอผู้คนเรียกขานว่าเขาเป็นนักขึ้นภูเขาทอง ก็เลยเกิดความรู้สึกขึ้นมาจริง ๆ ว่าฉันเป็นนักขึ้นภูเขาทอง พอคิดแบบนี้แล้วก็ไม่อยากสูญเสียความเป็นนักขึ้นภูเขาทอง ดังนั้นจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาตัวตนอันนี้ไว้



เพราะเหตุนี้ถึงบอกว่าความมีความเป็นทำให้เราทุกข์ได้ มีก็ทุกข์ เพราะอยากจะรักษาเอาไว้ไม่ให้มันหายไป พอหายไปก็ทุกข์อีก มีอะไรก็ตาม ถ้าไปยึดมั่นกับมัน ก็ทำให้ทุกข์ แม้จะเป็นสุขแต่ก็มีทุกข์เจือปน ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรหนึ่งเล่าถึงการโต้ตอบระหว่างเทวดากับพระพุทธเจ้า เทวดาว่า มีลูกก็เป็นสุขเพราะลูก มีวัวก็เป็นสุขเพราะวัว แต่พระพุทธเจ้าก็พูดแย้งว่า มีลูกก็ทุกข์เพราะลูก มีวัวก็ทุกข์เพราะวัว มีอะไรก็ตามย่อมทุกข์เพราะสิ่งนั้น โดยเฉพาะเมื่อไปสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็นของฉัน บ้านของฉัน ลูกของฉัน ก็เตรียมทุกข์ไว้ได้เลยเพราะว่าสักวันหนึ่งก็จะต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้น ถ้าเราไม่พลัดพรากจากสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็พลัดพรากจากเรา มันก็มีสองอย่างเท่านั้นแหละทันทีรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งนั้น



เพราะฉะนั้นจะมีหรือจะเป็นอะไรก็ตามต้องมีหรือเป็นให้ถูกต้อง มีให้เป็น เป็นให้เป็น คือมีโดยไม่ยึดมั่นว่าเป็นของฉัน และเป็นโดยไม่ไปยึดมั่นว่าเป็นตัวฉัน เดี๋ยวนี้เรามีกันไม่เป็น และก็เป็นกันอย่างไม่ถูกต้อง คือเป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่น มีด้วยความหลงก็เลยทุกข์ ดีที่สุดก็คือไม่มีไม่เป็นอะไรเลย


just-put-down-v2-7



มีพราหมณ์คนหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้ามีรูปลักษณะดี มีสง่าราศีมาก ไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน ก็แปลกใจ ถามว่าท่านเป็นเทวดาหรือ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าไม่ใช่ ถามว่าท่านเป็นคนธรรพ์หรือ พระพุทธเจ้าก็ปฏิเสธ งั้นเป็นยักษ์ใช่ไหม พระพุทธเจ้าก็ปฏิเสธอีก เขาถามว่าท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า พระพุทธเจ้าก็บอกไม่ใช่ พราหมณ์งงก็งงเลยถามว่าแล้วท่านเป็นใคร พระพุทธเจ้าก็ไม่ตอบตรง ๆ แต่ตรัสว่าให้ถือว่าพระองค์เป็น “ พุทธะ” แล้วกัน เพราะกิเลสที่จะทำให้พระองค์เป็นเทวดา คนธรรพ์ ยักษ์ หรือมนุษย์ พระองค์ละได้หมดแล้ว จึงไม่เป็นอะไรทั้งสิ้น



พระพุทธองค์ไม่ถือว่าพระองค์เป็นอะไรเลย แม้แต่ “ พุทธะ” ก็เป็นสมมุติที่มีไว้เพื่อใช้เรียกเท่านั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงถือว่าพระองค์เป็นอะไรแม้กระทั่งพุทธะด้วยซ้ำ แต่ว่าเพื่อความสะดวกในการสื่อสารก็ให้เรียกพระองค์ว่าพุทธะ อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าแม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น ถ้าจะเป็นนั่นเป็นนี่ก็เพราะคนอื่นเรียกทั้งนั้น ในจิตใจของพระองค์ก็ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไร เพราะว่าตัณหามานะหมดไปแล้ว กิเลสที่จะทำให้เป็นนั่นเป็นนี่ก็ไม่มีแล้ว



ดังนั้นเราจึงควรระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ว่าเราเป็นอะไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสมมุติทั้งนั้น จึงไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น เพราะถ้ายึดมั่นถือมั่นเราก็จะเป็นทุกข์ เพราะตัณหามานะจะแฝงซ่อนอยู่กับความเป็นนั่นเป็นนี่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม เป็นผู้แพ้ก็ทุกข์ เป็นผู้ชนะก็ทุกข์ เป็นคนชั่วก็ทุกข์ เป็นคนดีก็ทุกข์ เป็นนักปฏิบัติธรรมก็ทุกข์ทันทีที่ไปยึดมั่นว่าฉันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ใครที่สำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็น นักปฏิบัติธรรม พอมีคนมาพูดว่า “ เธอไม่มีสติเลย ” จะโกรธและเป็นทุกข์มาก ว่าอย่างอื่นไม่ว่ามาว่าฉันไม่มีสติ นี้แหละเป็นเพราะเราไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม เลยถูกตัณหาที่แฝงอยู่ในความเป็นนักปฏิบัติธรรมเล่นงานเอา



มองให้เห็นว่าความเป็นนั่นเป็นนี่เป็นสิ่งสมมุติที่ถูกปรุงขึ้นมา ไม่ใช่ของจริง แต่ถึงแม้จะยังมองไม่เห็นว่าเป็นสิ่งสมมุติ อย่างน้อยก็ให้เราตระหนักว่าความเป็นนั่นเป็นนี่มันไม่เที่ยง ถ้าไปยึดมั่นให้มันเที่ยงเราเองนั่นแหละจะเป็นทุกข์ ความยึดมั่นถือมั่นเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ แต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องมองให้ลึกลงไปจนกระทั่งรู้ว่านี่มันเป็นสมมุติจริง ๆ เป็นสิ่งที่เราปรุงขึ้นมา ทั้งหมดนี้เริ่มตั้งแต่ผัสสะเกิดขึ้น เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ผัสสะเกิดขึ้นมาแล้วไม่มีสติ ก็จะเกิดเวทนาทางใจ เวทนาเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีสติอีก มันก็จะปรุงต่อไปเป็นตัณหา ถ้าสติยังตามไม่ทัน คราวนี้ก็จะปรุงเป็นอุปาทาน แล้วเลยไปเป็นภพชาติเลย เป็นภพชาติแล้วมันไม่จบแค่นั้น สิ่งที่ตามมาก็คือเกิดชรา มรณะ และความทุกข์ในที่สุด ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม มันไม่เที่ยง ต้องแปรเปลี่ยน อาการที่แปรเปลี่ยนนั้นก็คือชรามรณะนั่นเอง


just-put-down-v2-8



ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกคุกคามด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ต้องแปรเปลี่ยนหรือสูญสลายไป ไม่ว่าเป็นนักขึ้นภูเขาทองหรือชายชาติทหารก็ตาม จะยึดมั่นถือมั่นแค่ไหนก็ตาม สักวันความเป็นนักขึ้นภูเขาทองหรือความเป็นชายชาติทหาร ก็ต้องหมดไป หรือถูกพรากไป เช่น พอถูกมะเร็งเล่นงาน ความรู้สึกว่าเป็นชายชาติทหารก็หมดไป ความเป็นผู้เจ็บ ผู้ทุกข์ทรมานก็มาแทนที่ เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ที่ไม่มีศักดิ์ศรี น่าหยามหยัน เกิดความทุกข์ท่วมท้น



อย่าให้เกิดการปรุงแต่งจนไปสู่ความทุกข์ ควรเริ่มต้นด้วยการมีสติตั้งแต่ตอนเกิดผัสสะ แต่ถึงแม้สติตามไม่ทันในผัสสะ ก็ขอให้มีสติรู้ทันในเวทนา และในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เห็นความโกรธเกิดขึ้น ความอยากเกิดขึ้น แต่ไม่เข้าไปเป็นผู้โกรธผู้อยาก แม้กระทั่งเวลาปฏิบัติธรรม เราเดินจงกรมหรือสร้างจังหวะก็ดี ควรเห็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รู้ตัวว่ากำลังเดินอยู่แต่อย่าเผลอคิดว่าฉันกำลังเดิน อย่าให้ความเป็นผู้เดินเกิดขึ้น ให้รู้แต่ว่ามีการเดิน มีการเคลื่อนไหวมือไปมา แต่ไม่ใช่ไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันกำลังเดิน ฉันกำลังเคลื่อนไหวมือไปมา ฉันกำลังตามลมหายใจ นั่นไม่ถูกแล้ว เรากำลังปล่อยให้ตัวตนเกิดขึ้นแล้ว อย่าไปปรุงแต่งเป็นตัวตนอย่างนั้น


just-put-down-v2-9



แม้กระทั่งความทุกข์เมื่อเกิดขึ้นก็เห็นความทุกข์ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ทุกข์ เมื่อตากระทบรูป การเห็นเกิดขึ้น แต่อย่าให้มีฉันเป็นผู้เห็น เมื่อหูได้ยินเสียง การได้ยินเกิดขึ้น แต่อย่าให้มีฉันเป็นผู้ได้ยิน เพราะถ้ามีตัวฉันเป็นผู้ได้ยิน เดี๋ยวก็มีตัวฉันเป็นผู้ทุกข์เพราะได้ยินเสียงดัง หรือคำตำหนิ เวลาร่างกายมีแผล ก็รู้ว่ามีแผลเกิดขึ้นกับร่างกาย อย่าไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันมีแผล มีดบาดนิ้วก็ให้รู้ว่ามีดบาดนิ้วไม่ใช่ไปปรุงแต่งว่ามีดบาดฉัน อย่าปล่อยให้มีตัวฉันหรือตัวกู เพราะถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีตัวฉันเป็นผู้ทุกข์ในที่สุด หรือมีตัวฉันเป็นผู้รับแรงกระทบกระแทกต่าง ๆ ถ้าไม่มีตัวฉันเกิดข้นแล้ว เราจะมีชีวิตที่โปร่งเบา เป็นอิสระ ความทุกข์ไม่มีที่ตั้ง เพราะไม่มีตัวฉันมาเป็นเจ้าของความทุกข์



ใหม่ ๆ เรายังไม่สามารถที่จะมองเห็นตรงนี้ได้ แต่ว่าเมื่อเราดูและเห็นอยู่เรื่อย ๆ ปัญญาหรือความประจักษ์ในความจริงเหล่านี้ก็ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น ชัดเจนขึ้น แล้วเราก็จะรู้ว่า เราทุกข์เพราะปล่อยให้ตัวกูของกูเกิดขึ้นโดยแท้ นี่แหละคือต้นแห่งความทุกข์ทั้งปวง


just-put-down-v2-10





เนื้อหาจากหนังสือ "ตื่นรู้ที่ภูหลง" พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
จากตอนที่ชื่อว่า "เหนือตัวตน พ้นสมมุติ"

สามารถฟังคลิปเสียงอ่านหนังสือ เรื่องนี้ได้ทีนี่ค่ะ
https://dhammaway.files.wordpress.com/2014/09/just-put-down.mp3




Create Date : 13 กันยายน 2557
Last Update : 13 กันยายน 2557 13:48:03 น.
Counter : 831 Pageviews.

1  2  3  4  

อาณาจักรสีเขียว
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]



ขอบพระคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมคะ

แล้วแวะเข้ามาเยี่ยมชมที่บล็อก ลิงค์นี้กันนะ
http://dhammaway.wordpress.com
แนะนำมากๆ
All Blog
  •  Bloggang.com