Group Blog
 
All Blogs
 

ปรากฏการณ์เรือนกระจกในบรรยากาศ

ทฤษฎีมนุษย์ทำให้โลกร้อน - Anthropogenic Global warming (AGW)มีข้อบกพร่องหลายอย่างที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางส่วนไม่เชื่อถือ หนึ่งในข้อบกพร่องนั้น คือขีดจำกัดของการเกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก

Greenhouse Effect

ปรากฏการณ์เรือนกระจกในบรรยากาศ หมายถึงปรากฎการณ์ที่ก๊าซดูดซับพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แล้วเปลี่ยนเป็นความร้อน ทำให้มวลของอากาศอุ่นขึ้น

คำว่ากาซเรือนกระจก เป็นชื่อที่ไม่ตรงนัก เรือนกระจกจริงๆ ทำให้อากาศข้างในโรงเรือนอุ่นได้ โดยการด้วยการสะท้อนรังสีความร้อนกลับ ไม่ให้ผ่านออกไปข้างนอก

บรรดากาซที่เรียกว่า กาซเรือนกระจกนั้นเป็นเพราะมีคุณสมบัติ สามารถดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และทำให้มวลอากาศอุ่นขึ้น แม้จะมีหลักการทางวิทยาศาสตร์ต่างจากหลักการของเรือนกระจกจริงๆ แต่ก็ทำให้อากาศอุ่นขึ้นได้เหมือนกัน จึงอนุโลมเรียกเป็นปรากฏการณ์เรือนกระจก

กาซเกือบทุกชนิดจะดูดกลืนรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าได้ แต่จะดูดกลืนรังสีเฉพาะในย่านความยาวคลื่นจำเพาะของตนเท่านั้น เรียกว่า absorption band กาซไนโตรเจนจะดูกลืนรังสีในย่าน UV ที่ความยาวคลื่นสั้นมากซึ่งไม่ค่อยจะมีในธรรมชาติ ก๊าซออกซิเจน(ในรูปโิอโซน)จะ่ดูดกลืนรังสีในย่านของ UV ที่มาจากดวงอาทิตย์ ไอน้ำจะดูดคลื่นได้ในหลายย่านความยาวคลื่นและกระจายเป็นหลายช่วง กาซคาร์บอนไดออกไซด์จะดูดกลืนรังสีความร้อนในช่วงคลื่นยาวซึ่งพบในธรรมชาติได้ดี

กาซเรือนกระจกในบรรยากาศตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่คือ
- ไอน้ำ ซึ่งมีไม่คงที่แต่อาจจะมีสูงได้มากถึง 4% (40,000 ppm)
- คาร์บอนไดออกไซด์ 370 ppm
- มีเธน 1.7 ppm
- โอโซน 0.01 ppm

ก่อนยุคอุตสาหกรรมโลกเคยมีกาซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 280 ppm ปัจจุบัน บรรยากาศ มีกาซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 370 ppm (370 ส่วนในล้านส่วน หรือ 0.037 %)

หากพิจารณาประสิทธิภาพของโมเลกุลต่อโมเลกุลไอน้ำจะมีพลังเรือนกระจกน้อยกว่าของกาซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่บรรยากาศมี ไอน้ำ มากกว่า กาซคาร์บอนไดออกไซด์หลายสิบเท่า ในสภาวะที่หมาะสม อากาศสามารถจะมีไอน้ำเป็นองค์ประกอบได้มากที่สุดถึง 4 % โดยปริมาตร พลังเรือนกระจกโดยรวมของบรรยากาศจึงมาจากไอน้ำเป็นส่วนใหญ่

ไอน้ำ ยังมีความพิเศษ คือสามารถกลั่นตัวเป็นละอองน้ำ ได้แก่ เมฆ ไอน้ำซึ่งเมื่ออยู่ในสภาพละอองน้ำ จะมีความสามารถดูดซับรังสีความร้อนได้ดีขึ้นมาก ทำให้พลังเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ขีดจำกัดของปรากฏการณ์เรือนกระจก

เป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยทราบว่า กาซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถดูดซับรังสีความร้อนได้ในย่านความยาวคลื่นที่ค่อนข้างจำกัด การเพิ่มความเข้มข้นของกาซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ได้ทำให้เกิดการดูซับรังสีความร้อนเพิ่มเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณของกาซที่เพิ่ม เพราะรังสีความร้อนในย่านที่กาซคาร์บอนไดออกไซดจะดูดซับได้เหลืออยู่ในธรรมชาติไม่มาก ประสิทธิภาพการดูดซับจึงลดลงเรื่อยๆแบบ logarithmic



ปรากฏการณ์เรือนกระจกในบรรยากาศดาวศุกร์

ดาวศุกร์ มีบรรยากาศเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เกือบร้อยเปอร์เซนต์ และมีความหนาแน่นราว 100 เท่าของบรรยากาศโลก รวมทั้งมีเมฆของสารประกอบหลายชนิดที่ดูดซับรังสีความร้อนได้ดี อิทธิพลของปรากฏการณ์เรือนกระจกในบรรยากาศของดาวศุกร์จึงมีพลังสูงอย่างมหาศาล มักจะถูกยกมาใช้เป็นตัวอย่างให้คนเข้าใจถึงผลของปรากฏการณ์เรือนกระจกในบรรยากาศ

ปรากฏการณ์เรือนกระจกในบรรยากาศโลก

บรรยากาศโลก มีปรากฏการณ์เรือนกระจกเกิดขึ้นเล็กน้อยตามธรรมชาติ ช่วยรักษาอุณหภูมิของอากาศ ไม่ให้หนาวจัดในเวลากลางคืน พลังของปรากฏการณ์เรือนกระจกตามธรรมชาติของบรรยากาศโลก ส่วนใหญ่มาจากไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และออกซิเจน(โอโซน)

อิทธิพลเรือนกระจกส่วนใหญ่จึงมาจาก ไอน้ำ ในวันที่มีเมฆครึ้ม พลังเรือนกระจกโดยรวมของบรรยากาศ เมื่อคิดรวมอิทธิพลของเมฆด้วย จะมากกว่า 90%

อิทธิพลของ ไอน้ำ จะเห็นได้ชัดจากสภาพอากาศในทะเลทราย บรรยากาศในเขตทะเลทรายมีคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ต่างจากที่อื่นในโลก แต่มีความชื้นน้อย และปราศจากเมฆ ในเวลากลางวัน อุณหภูมิในทะเลทรายอาจขึ้นสูงถึง 50 องศา แต่พอตอนกลางคือจะหนาวจัด และในตอนเช้ามืดมักจะมีอุณหภูมิลดต่ำใกล้ถึงจุดเยือกแข็ง ตรงข้ามกับเขตร้อนชื้นอย่างบ้านเรา ที่อุณหภูมิระหว่างกลางวันกับกลางคืนต่างกันประมาณ 10 องศา และถ้าวันใดมีเมฆมาก ก็จะเห็นความแตกต่างได้น้อยกว่านั้น

เนื่องจากปริมาณ ไอน้ำ ในบรรยากาศไม่แน่นอน ขึ้นกับสถานที่ ฤดูกาล และช่วงเวลาของวัน รวมทั้งกลไกการก่อตัว และ สลายตัวของเมฆ ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างประเมินได้ยาก การคำนวณค่าพลังเรือนกระจกโดยรวมของบรรยากาศโลก จึงเป็นเรื่องที่ยากเอามากๆ

นักวิจัยกลุ่มต่างๆ คำนวณสัดส่วนพลังเรือนกระจกโดยเฉลี่ยของ ไอน้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ ในบรรยากาศ ได้ต่างกันค่อนข้างมาก สัดส่วนพลังเรือนกระจก ที่กลุ่มต่างๆคำนวณได้ ให้อิทธิพลไอน้ำระหว่าง 66-85% และ ให้อิทธิพลคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่าง 9-25%

อิทธิพลเรือนกระจกของโอโซนมาเป็นอันดับที่สาม 3-7%




 

Create Date : 03 ตุลาคม 2548    
Last Update : 15 มิถุนายน 2551 17:48:33 น.
Counter : 732 Pageviews.  


กาลามะชน
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add กาลามะชน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.