Group Blog
 
All Blogs
 

Arctic Oscillation (AO)

“ต่อไปเป็นการพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอากาศจะเริ่มเย็นลงเพราะมีลิ่มความกดอากาศสูงจากไซบีเรียแผ่ปกคลุมพื้นที่ตอนบนของประเทศ บรา บรา บรา...”

เคยสังเกตบ้างไหมครับว่าบางปีจะมีลิ่มความกดอากาศสูงที่มีกำลังแรง แผ่ลงมาถึงประเทศไทยหลายครั้งหลายระลอก แต่บางปีกลับไม่ค่อยมี หรือมีมาถึงแต่ก็แค่ทำให้รู้สึกเย็นๆเท่านั้น เพราะหมดกำลังไปก่อน

บรรยากาศเหนือขั้วโลกนั้นคือโดมความกดอากาศสูงขนาดมหึมา มีกระแสลมพัดออกจากขั้วโลกทุกทิศทาง บางครั้งจะรวมกันเป็นกระแสมวลอากาศขนาดใหญ่เรียกว่าลิ่มความกดอากาศสูง

ลิ่มความกดอากาศสูงจากขั้วโลกมีไม่สม่ำเสมอ บางปีมีมาก บางปีมีน้อย
ความผันแปรนี้เรียกว่า Artic Oscillation (AO) มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศของ ซีกโลกเหนือในช่วงฤดูหนาวค่อนข้างมาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แต่ละปีหนาวไม่เท่ากัน ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกกระเพื่อมขึ้นลง

Arctic Oscillation มีสาเหตุมาจากความผันแปรของกระแสลมแรง ที่พัดวนรอบขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นเหมือนเขื่อนกั้นมวลอากาศเย็นให้จำกัดอยู่ในเขตขั้วโลก



กระแสลมนี้มีความผันแปรความเร็ว และเปลี่ยนแปลงแบบเดือนต่อเดือน

ช่วงที่กระแสลมรอบขั้วโลกมีกำลังแรง เรียกว่า Positive phase มวลอากาศเย็นจะถูกบีบอยู่ที่เหนือขั้วโลก แผ่กระจายออกไม่มาก ทำให้ขั้วโลกหนาวกว่าปกติ แต่พื้นที่ในละติจูดที่ต่ำลงมาจะไม่ค่อยหนาว และทำให้ซีกโลกเหนือโดยรวมอุ่นกว่าปกติ

ช่วงที่กระแสลมรอบขั้วโลกมีกำลังอ่อน เรียกว่า Negative phase มวลอากาศเย็นจะแผ่กระจายออกจากขั้วโลกมากกว่า เขตขั้วโลกจึงไม่ค่อยหนาว แต่ประเทศแถบละติจูดต่ำลงมาจะหนาวกว่าปกติ และซีกโลกเหนือเย็นกว่าปกติ



สาเหตุที่ทำให้กระแสอากาศเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าเกี่ยวพันกับความแรงของหย่อมความกดอากาศต่ำที่ซึ่งอยู่ประชิดกับแนวกระแสอากาศ มีสองบริเวณ คือหย่อมความกดอากาศต่ำเหนือหมู่เกาะอลิวเชียน (Aluetian) ในมหาสมุทรแปซิฟิค และหย่อมความกดอากาศต่ำเหนือเกาะไอซ์แลนด์ (Iceland) ในมหาสมุทรแอตแลนติคตอนเหนือ



Trend ในอดีตของ Arctic Oscillation มองไม่เห็นความผูกพันกับการเพิ่มของ CO2 หรือสภาวะโลกร้อน (global warming) แต่ดูเหมือนจะผูกพันกับวัฏจักรทางสมุทรศาสตร์ Pacific Decadal Oscillation (PDO) และ North Atlantic Oscillation (NAO) ซึ่งมีผลต่อความแรงของหย่อมความกดอากาศต่ำ

วัฎจักร Arctic Oscillation ในอดีต



ในช่วงปี 2005-2007 Atlantic Oscillation เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเหตุการณ์ตามมาสองเรื่อง ซึ่งมีความเกี่ยวกับ AO โดยตรง เรื่องแรกคือการละลายของน้ำแข็งในมหาสมุทธ Artic มากเป็นประวัติการณ์ในช่วงปลายฤดูร้อนปี 2007 ส่วนเรื่องที่สองคือฤดูหนาว 2007-2008 ที่เยือกเย็นอย่างผิดปกติ (cold spell)

การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ ปี 2007

บรรยากาศเหนือขั้วโลกเป็นโดมอากาศเย็นขนาดใหญ่ กระแสลมจะพัดออกจากขั้วโลกเสมอ โดยมีมวลอากาศจากบรรยากาศชั้นสูง(stratosphere)จมตัวลงมาแทนที่ อากาศที่ขั้วโลกจึงมีอุณหภูมิต่ำ ตามปกติอุณหภูมิเหนือแพน้ำแข็งยากที่จะขึ้นสูงกว่า 0 องศาแม้ในท่ามกล่างฤดูร้อน

กราฟอุณหภูมิเฉลี่ย Arctic circle ของปี 2009 เทียบกับค่าเฉลี่ย 1958-2002



ตามปกติน้ำทะเลในมหาสมุทรอาร์กติกจะมีอุณหภูมิ 2 ถึง 3 องศาหนือจุดเยือกแข็ง น้ำทะเลจึงถ่ายเทความร้อนให้กับแพน้ำแข็ง และแพน้ำแข็งถ่ายเทความร้อนให้กับอากาศเย็นที่ต่ำกว่าศูนย์อีกที น้ำแข็งที่ขั้วโลกจึงละลายจากทางด้านล่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ

ความหนาของน้ำแข็งขึ้นกับสมดุลเทอร์โมไดนามิก ถ้าอากาศเย็นจัด แพน้ำแข็งจะถ่ายเทความร้อนให้อากาศได้มากกว่าความร้อนที่ได้รับจากน้ำทะเล แพน้ำแข็งก็จะก่อตัวหนาขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าอากาศไม่เย็นมาก แพน้ำแข็งถ่ายเทความร้อนให้อากาศได้ช้ากว่า น้ำแข็งก็จะละลาย

มหาสมุทรอาร์กติกนั้น มีกระแสน้ำไหลเวียนตามภาพข้างล่าง กระแสน้ำที่น่าสนใจคือ Beaufort Gyre และ Transpolar drift





ตามปกติน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 2-3 ปี ก็จะพลัดหลุดออกนอกเขตขั้วโลก ทำให้ไม่ทันก่อตัวจนมีความหนาถึงจุดสมดุลทางเทอร์โมไดนามิก (ระหว่างอากาศที่หนาว กับน้ำทะเลที่อุ่นกว่า)

วังวน Beaufort Gyre นั้นเทียบได้กับสะดือมหาสมุทรอาร์กติก น้ำแข็งที่ก่อตัวในวังวนนี้ จะคงอยู่ในเขตขั้วโลกได้นานหลายปี มีความหนาถึงขีดจำกัดทางเทอร์โมไดนามิก

น้ำแข็งที่ก่อตัวในทะเลแถบขั้วโลกเหนือนอกเขตทะเล Beaufort จะค่อยๆถูกผลักดันให้ไหลไปตามกระแสน้ำ Transpolar Drift เข้าปะทะเกาะกรีนแลนด์ ที่นั่นน้ำแข็งจะถูกอัดและเกาะกันเข้าเป็นก้อนที่ใหญ่ขึ้น และไหลออกจากเขตขั้วโลกเลาะไปตามชายฝั่งของเกาะกรีนแลนด์ ไปละลายในทะเลที่อบอุ่นทางใต้

แต่การเคลื่อนที่ของก้อนน้ำแข็งไม่ได้ขึ้นกับกระแสน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับกระแสลมด้วยเช่นกัน ตามปกติลมในเขตขั้วโลกมักจะมีความเร็วสูงเข้าขั้นพายุ ทิศทางและความเร็วของก้อนน้ำแข็ง จึงเป็นผลรวมของอิทธิพลกระแสน้ำและลม

ภาพแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ของน้ำแข็งโดยเฉลี่ย



ในปี 2007 กระแสลมในเขตขั้วโลกเหนือมีความแรงผิดปกติ ทางหนึ่งผลักดันกระแสน้ำอุ่นให้รุกเข้ามาทางช่องแคบแบริ่งมากกว่าปกติ กดดันบีบอัดวังวน Beaufort Gyre ให้เข้าชนฝั่งคานาดา แลพัดน้ำแข็งจำนวนมากกว่าปกติออกไปนอกเขตขั้วโลก ทำให้เหลือน้ำแข็งในขั้วโลกน้อยเป็นประวัติการณ์

รูปขั้วโลกเหนือในเดือนกันยายนของปี 2004 เทียบกับของปี 2007 จะเห็นน้ำแข็งไหลออกนอกขั้วโลกทางกระแสน้ำกรีนแลนด์ตะวันออก



แต่พอย่างเข้าฤดูหนาว กระแสลมแรงที่เป็นสาเหตุพัดน้ำแข็งออกนอกขั้วโลก ก็กลายเป็นตัวการที่ก่อให้เกิด cold spell ที่หนาวเป็นประวัติการณ์ในหลายพื้นที่ของซีกโลกเหนือ




 

Create Date : 02 มิถุนายน 2551    
Last Update : 23 สิงหาคม 2552 21:35:05 น.
Counter : 3072 Pageviews.  


กาลามะชน
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add กาลามะชน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.