หากป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีนก มีสัตว์ป่า: คนมีความสุข
Group Blog
 
All Blogs
 

@@@ มี "กามเทพแดง" ผีเสื้อแสนสวยมากฝากครับ@@@@



ผีเสื้อ กับดอกไม้เป็นของคู่กัน อย่างเช่น เจ้า "กามเทพแดง" ตัวนี้ บินมาเกาะแป๊บเดียว ดูดน้ำหวานแล้วก็จากไป


ดัวยความงุ่มง่ามของผมจึงถ่ายภาพได้มา 2 รูปเท่านั้นเองครับ เอ้าดูเจ้ากามเทพ น้อยใกล้ๆ ครับ



นับเป็นผีเสื้อแสนสวยที่หาดูได้ยากชนิดหนึ่ง


ชื่อไทย ผีเสื้อกามเทพแดง

วงศ์ ผีเสื้อน้ำเงิน = Lycaenidae

ชื่อวิทยาศาสตร์ Talicada nyseus

ชนิดย่อย เป็นผีเสื้อที่มีถึงสามชนิดย่อย

ชนิดย่อยที่ 1 Talicada nyseus burmana จุดที่สังเกตว่าเป็นชนิดย่อย burmana โดยดูจากใต้ปีกคู่หลัง(ดูในภาพ)มีแต้มสีส้มถึงช่อง 5 เท่านั้น เป็นชนิดย่อยเดียวกับที่พบที่เชียงใหม่ ตัว ในภาพผมถ่ายได้ที่เชิงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

ชนิดย่อยที่ 2 Talicada nyseus macbethi
ลักษณะคล้ายกับชนิดย่อยที่ 1 มาก ปีกคู่หน้ามีจุดดำที่กลาง cell ปีกคู่หลังมีขอบสีดำลงมาแค่ช่อง 7 และช่อง 6เท่านั้นส่วนที่เหลือจะเป็นสีส้มทั้งหมด distal spots ขนาดเล็กกว่า Talicada nyseus burmana ชนิดย่อยนี้พบได้ทางภาคตะวันออก และในประเทศเวียดนาม

ชนิดย่อยที่3 เป็น Talicada nyseus metana ชนิดย่อยนี้ที่ใต้ปีกคู่หลังมีแต้มสีส้มถึงช่อง 6 เคยมีรายงานที่จังหวัดแพร่ ครับ พบในภาคเหนือของไทย หาดูยาก

ท่านใดเชี่ยวชาญผีเสื้อ กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยนะครับ

ขอขอบคุณ อาจารย์พิสุทธิ์ เอกอำนวย ที่ช่วยจำแนกชนิดและให้ข้อมูลครับ
ขอบคุณป้ามด ที่แจกเพลงประกอบ Serenade for strings in G major K.525 ของ Mozart


เลิกสะสมซากผีเสื้อ และหันมาถ่ายภาพผีเสื้อกันเถอะครับ




 

Create Date : 29 มิถุนายน 2549    
Last Update : 1 กรกฎาคม 2549 18:24:15 น.
Counter : 2824 Pageviews.  

ครั้งแรก กับ ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ (Brown Gorgon)





ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ (Brown Gorgon; Meandrusa sciron sukkiti Nakano, 1995) ตัวผู้พบที่ดอยภูคา จังหวัดน่าน ในเดือนมีนาคม




เป็นผีเสื้อที่บินเร็ว และ ว่องไวมาก ไม่สามารถถ่ายภาพปีกด้านบนได้ทัน




ตัวนี้ก็ตัวผู้ แต่ไม่ทราบว่าเป็นตัวเดียวกันหรือไม่ เพราะดูพุงแปลกๆ พุงสีเขียวอ่อนๆ



ชื่อไทย ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้
ชื่ออังกฤษ Brown Gorgon
ชื่อวิทยาศาสตร์ Meandrusa sciron
ชนิดย่อย เท่าที่ทราบพบในประเทศไทย 3 ชนิดย่อย
1. M. s. aribbas พบทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
2. M.s. nagamasai พบทางภาคใต้ของประเทศ และ
3. M. s. sukkiti ในขณะนี้พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ก็คือบนดอยภูคาเท่านั้น นอกจากที่ดอยภูคายังพบในประเทศลาวด้วย

การแพร่กระจาย เป็นผีเสื้อที่พบในไทย ลาว ทางเหนือของพม่า และทางตอนเหนือของเวียดนาม


เดือนที่พบ มกราคม- มีนาคม-พฤษภาคม และ กันยายน (อาจพบในเดือนอื่นๆ ด้วย)

พืชอาหาร ผมยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ หากท่านใดทราบช่วยเพิ่มเติมให้ด้วยนะครับ

เพศ ผีเสื้อในภาพทั้ง 3 เป็นตัวผู้ มีสีน้ำตาล ตัวเมียก็มีสีน้ำตาลดำ แต่ลวดลายที่ปีกแตกต่างกัน เชิญดูความแตกต่างของเพศ และรายละเอียดอื่นๆ ได้ที่ //yutaka.it-n.jp/pap/10500040.html และเว็บที่อธิบายเป็นภาษาไทยพร้อมรูปที่ //www.dnp.go.th/FOREMIC/Protech_insect/Meandrusa_sciron.htm

ผีเสื้อหางดาบตาลไม้จัดเป็นผีเสื้อที่หาดูได้ค่อนข้างยาก เป็นผีเสื้อที่พบบนภูเขา อาจพบได้ไม่ยากหากไปถูกที่ ถูกเวลา และที่สำคัญมันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ชนิดหนึ่งของประเทศไทย ห้ามจับขาย ห้ามมีไว้ในครอบครอง หากใครมีไว้ระวังโทษจำคุก!

ผีเสื้อแสนสวย บินคู่ป่า หากจับมาใส่กรอบก็สิ้นความสวยงามตามธรรมชาติแล้ว

หยุดจับผีเสื้อป่าขายเถอะครับ




 

Create Date : 17 ธันวาคม 2548    
Last Update : 29 มิถุนายน 2549 15:35:36 น.
Counter : 1854 Pageviews.  

ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน (Blue Peacock) คู่แฝดไม่เหมือนของผีเสื้อหางติ่งปารีส



ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน ผีเสื้อแสนสวยอีกชนิดหนึ่งที่พบในบ้านเรา




ผีเสื้อที่พบได้ไม่บ่อยนัก หรืออาจเป็นผีเสื้อที่อาจมองข้ามไปได้ง่ายๆ เพราะคิดว่ามันเป็นผีเสื้อ หางติ่งปารีส ที่พบได้ง่ายและพบเห็นได้ทั่วไป




ชื่อไทย ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน

ชื่อภาษาอังกฤษ Blue Peacock

ชื่อวิทยาศาสตร์ Papilio arcturus

ลักษณะเด่น ผีเสื้อกลางวันที่มีปีกสีเขียว ขอบปีกคู่หลังยื่นยาว หรือเรียกว่ามีหางติ่ง มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หลังมีแถบสีฟ้าอมม่วงน้ำเงิน (มองเห็นได้เล็กน้อยในภาพที่ 2 ครับ) แต่มักมองไม่เห็นขณะเกาะนิ่ง เนื่องจากปีกคู่หน้าจะปิดหมดครับ ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีขลิบสีขาวค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะแตกต่างจากผีเสื้อหางติ่งปารีส ที่มีแถบดังกล่าวสีเขียวอมสีฟ้าขนาดใหญ่ และมักไม่พบขลิบขาวที่ด้านข้างของปีกคู่หลัง

เดือนที่พบ ผีเสื้อหางติ่งแววเลือนพบได้ค่อนข้างน้อย หาดูได้ค่อนข้างยาก โดยทั่วไปพบได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน และ ช่วงเดือนกรกฏาคม ถึงเดือนกันยายน

การแพร่กระจาย พบในสิกขิม จีน และ พม่า ส่วนในบ้านเรา พบได้ในภาคเหนือและภาคตะวันตก

อาหาร ตัวต็มวัย กินน้ำหวานจากดอกไม้ ตอนเป็นตัวหนอนกินใบไม้ครับ

วงจรชีวิตของผีเสื้อ เริ่มจาก
- ไข่
- ฟักออกเป็นตัวหนอน(กินๆๆๆ)
- ดักแด้( หยุดกิน แล้วนอนพักเพื่อแปลงโฉม)
- ออกจากดักแด้ กลายเป็นผีเสื้อแสนสวย ออกโบยบินเพื่อแสวงหาคู่ ขยายพันธุ์(ออกไข่)แล้วตัวเต็มวัยก็ตายจากไป เป็นวงจรชีวิตอย่างนี้มาไม่รู้กี่ล้านปีแล้ว

ผีเสื้อตัวเต็มวัย มักมีอายุไม่ยืนยาวเกิน 1 เดือน ฉะนั้นในช่วงนี้มันจะมีชีวิตเพื่อแสดงความสวยงาม เพื่อแสวงหาความรัก จับคู่ผสมพันธุ์ เพื่อสืบพันธุ์ให้คงอยู่ตลอดไป

ในช่วงนี้อีกเหมือนกันที่ มนุษย์บางพวกชอบออกไล่จับผีเสื้อเพื่อสะสมไว้ดูในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว หรือจับไปสตาฟใส่กรอบสวยๆ ไว้ขายนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและขาวต่างประเทศ

ผมมองว่าคนกลุ่มนี้ หาความสุขบนความตายของสัตว์โลกชนิดอื่น

อย่าจับผีเสื้อมาขายเลยนะครับ หากพบเห็นคนขายผีเสื้อก็อย่าซื้อของจากพวกเขา การซื้อจะทำให้การจับผีเสื้อขายดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ผมขอร้องเถอะครับ เก็บผมไว้ดูสวยๆ ดีกว่านะครับ




 

Create Date : 10 ธันวาคม 2548    
Last Update : 16 ธันวาคม 2548 21:22:05 น.
Counter : 3266 Pageviews.  

จักจั่นงวง แสนสวย มีคนรู้จักชื่อแล้วครับ มีข้อมูลเพิ่มแล้วครับ




จักจั่นงวง

ผมถ่ายภาพจักจั่นงวงคู่นี้มาจากวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ทับกวาง จังหวัดสระบุรี เมื่อ 3 ปีมาแล้ว พบมันเกาะอยู่ตามเปลือกของต้นไม้ มีอยู่มากกว่า 10 ตัว ในภาพจะเห็น 2 ตัวมีลักษณะแตกต่างกัน เข้าใจว่า ตัวทางซ้ายมือที่มีขนาดใหญ่กว่า คงเป็นตัวเมีย และตัวทางขวามือเป็นตัวผู้ นอกจากมีลวดลายแตกต่างกันแล้ว ขนาดยังแตกต่างกันด้วย โดยปรกติในสัตว์จำพวกแมลง ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย

ชื่อไทย ผมไม่ทราบชื่อไทย แต่ขอเรียกว่า "จักจั่นงวง" ไปก่อนนะครับ
ชื่ออังกฤษ Lanternflies หรือ Lantern Bugs
อันดับ Homoptera
วงศ์ Fulgoridae
สกุล Pyrops
ชนิด Pyrops candelaria

การแพร่กระจาย เป็นแมลงที่แพร่กระจายในทวีปเอเชีย

จักจั่นงวง เป็นแมลงที่ไม่มีพิษ มันมีปากแบบดูด ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชเป็นอาหาร ส่วนใหญ่มีงวงที่สามารถเรืองแสงได้ในเวลากลางคืน จึงได้ชื่อว่า "Lanternflies"

ต้องขออภัย ความรู้เรื่องแมลงของผม ส่วนใหญ่คืนอาจารย์ไปเกือบหมดแล้วครับ ผิดพลาดประการใด ช่วยชี้แนะด้วยนะครับ




 

Create Date : 03 ธันวาคม 2548    
Last Update : 6 ธันวาคม 2548 16:43:14 น.
Counter : 6430 Pageviews.  


เปรี้ยวปิ๊ด
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add เปรี้ยวปิ๊ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.