หากป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีนก มีสัตว์ป่า: คนมีความสุข
Group Blog
 
All Blogs
 

ปริศนา ?? โฮย่า จากเขาใหญ่

โฮย่า ปริศนา ที่พบบนเขาใหญ่

ปลายตุลาคม 2549 ผมเดินทางไปดูนกที่เขาใหญ่ ระหว่างเดินไปตามทางก็พบคนงานกำลังถาง ตัดฟันต้นไม้ที่ขึ้นรกๆ รวมทั้งเถาวัลย์ต่างๆ ที่เลื้อยออกมาริมทางเดิน เป็นการตัดฟัน ถางทางเดินปรกติ หลังหน้าฝน บังเอิญว่า 1 ในเถาวัลย์ที่ถูกตัดฟันนั้นมีเถาโฮย่าชนิดหนึ่งรวมอยู่ด้วย ผมก็หยิบเถาที่ขาดนั้นมาพิจารณา แล้วก็บอกกับตัวเองว่า เป็นโฮย่า แน่ๆ แต่พันธุ์ไหนหว่า Hoya parasitica ก็ไม่ใช่ Hoya rigida ก็ไม่ใช่อีก เมื่อไม่รู้ ก็อยากรู้จึงหยิบเอาเถาโฮย่านั้น กลับมาเลี้ยงดูที่บ้านเผื่อว่าจะช่วยไขปริศนาในใจให้ได้บ้าง (ไม่ควรนำสิ่งใดๆ ออกมาจากพื้นที่อนุรักษ์ เช่น ในอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น) เถาโฮย่าที่ว่านั้นก็ยาวน้อยกว่า 1 ฟุต ผมตัดแบ่งเถาโฮย่าออกเป็น 2 ท่อน แล้วก็ปลูกมันลงในกระถางกาบมะพร้าวสับ ด้วยความตั้งใจ และก็ไม่ผิดหวัง เพียง 1 เดือนผมก็เห็นมันแทงยอดอ่อนออกมา แล้วมันก็เจริญเติบโตค่อนข้างดี แต่ก็ไม่มีวี่แววว่ามันจะออกดอกแต่อย่างใด เมื่อเห็นใบหลายๆใบ มันทำให้ผมคิดถึง Hoya erythrostemma ขึ้นมา แต่เมื่อปรึกษากับนักพฤกษศาสตร์ที่รู้เรื่องโฮย่า ท่านก็บอกว่าเจ้า Hoya erythrostemma ไม่น่าจะแพร่กระจายขึ้นมาถึงเขาใหญ่ โดยปรกติเราพบมันเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมก็สังเกตเห็นว่าต้นโฮย่าจากเขาใหญ่ที่ผมเลี้ยงไว้นั้น มีช่อดอดเล็กๆ โผล่ออกมา 1 ช่อ ผมเฝ้าดูมันเกือบทุกวัน
แล้วโดยไม่คาดฝัน ต้นไม้ในบ้านผมก็ถูกโจมตีโดย "หนู" ด้วยว่ารอบๆ บ้านผมเป็นทุ่งนาเก่าเวลาฝนตกหนักน้ำจะท่วม พวกหนูมันไม่มีที่อยู่ ก็จะเข้ามาอาศัย และทำความดือดร้อนให้บ้านผมเป็นประจำ แล้วคราวนี้มันก็ชอบมากัดยอดอ่อนและเถาโฮย่าบางต้น รวมทั้งมาดึงเอากาบมะพร้าวในกระถางไปทำรังด้วย ผมก็ไม่ว่าอะไรมัน มันคงจะคันฟัน อยากกัดๆๆ กัดเล่นๆ





ดอกโฮย่าปริศนาที่ยังตูมๆ ครับ

แล้วในเช้าวันหนึ่ง ผมก็ต้องโมโหอย่างมาก เพราะหนูมันมากัดเถาโฮย่าหลายต้น รวมทั้งต้นที่มาจากเขาใหญ่ มันกัดขาดทั้ง 2 เถารวมทั้งเถาที่มีช่อดอกอยู่ด้วย ควันออกหูเลย แล้วผมก็ประกาศสงครามกับหนูโดยไปซื้อกับดักหนูแบบตีตาย 1 โหล กุนเชียง ครึ่งกิโลเอามาเป็นเหยื่อ ภายใน 5 วันผมกำจักหนูไปได้ 12 ตัว ส่วนใหญ่เป็นหนูวัยรุ่น รวมถึงวันนี้ผมกำจัดหนูไปแล้วเกือบ 20 ตัวแล้ว แต่มันก็ยังไม่หมดนะครับ แต่ไม่มีตัวไหนมากัดเถา หรือยอดอ่อนของโฮย่าอีกต่อไป เถาโฮย่าที่ถูกหนูกัด ผมก็เอากาบมะพร้าวมาดามแล้วรดน้ำ เผื่อว่าดอกมันจะได้ไม่โรยไปเสียก่อน




ดอกทางด้านหลังครับ


แม้เถาโฮย่าจะถูกหนูกัดแต่ดอกมันก็เจริญเติบโตต่อไปได้(แม้จะไม่ปรกติ) มีดอกร่วงไปบ้าง ใบมันเริ่มนิ่มๆ ปรกติใบมันจะแข็ง
แล้วตอนเย็นของวันที่ 13 มิถุนายน ผมก็เห็นว่าดอกมันเริ่มปริออก และเริ่มบานแล้วครับ



ดอกที่กำลังบาน ดูสวยไปอีกแบบหนึ่ง


มีบางดอกคงจะไม่บาน หรือบานไม่สุด (หมดแรงเสียก่อน) แต่ผมก็พยายามบันทึกภาพเอาไว้เพราะมันน่าจะเป็นหลักฐานที่มีประโยชน์แก่การศึกษาพันธุ์ไม้ในสกุลโฮย่าในประเทศไทย

หลังจากเห็นดอกบาน ตอนนี้ผมคิดว่ามันคือ Hoya erythrostemma 100% แล้วละครับ แต่เป็นชนิดย่อย หรืออย่างน้อยก็มีความผันแปรของสีที่แตกต่างไปจากโฮย่าชนิดเดียวกันที่เคยรู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แต่การจำแนกก็ต้องมีใบให้ดูด้วย ลองดูใบนะครับ จะเห็นเถาที่ผมเอากาบมะพร้าวดามไว้ในมุมทางซ้ายมือครับ



ภาพสุดท้ายแล้วครับ เป็นภาพที่ถ่ายเมื่อเช้าวันที่ 14 มิถุนายน 2550 จะพบว่าดอกบางดอกยังบานไม่สุด แต่ผมว่ามันคงบานต่อไปไม่ได้แล้วครับ และอีก 2 ดอกก็บานไม่ออก คงร่วงไปในไม่ช้านี้




ผมดีใจที่ไขปริศนาที่รอคอยมานานเกือบ 1 ปี ได้สำเร็จ และเป็นการพิสูจน์ได้ว่า Hoya erythrostemma มีการแพร่กระจายขึ้นมาสูงกว่าภาคใต้แล้ว หากมีการสำรวจเพิ่มขึ้นเราอาจพบมันในพื้นที่อื่นๆ ที่ไกลออกไปจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก็เป็นไปได้นะครับ

ขอบคุณครับ




 

Create Date : 10 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 10 กรกฎาคม 2550 19:31:22 น.
Counter : 2490 Pageviews.  

แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมสนใจพรรณไม้ในสกุล Hoya เป็นพิเศษ



ผมเคยเรียนชีววิทยา และเน้นหนักไปทางต้นไม้ แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะหางานทำได้จากการเรียนพวกต้นไม้ จึงเบนเข็มไปเรียนทางสัตว์ป่า แต่ก็เช่นกัน ผมก็คิดว่ามันหางานทำยากเสียจริงๆ ในที่สุดผมก็หางานให้ตัวเองได้ โดยใช้ความรู้เรื่องต้นไม้และสัตว์ป่าผสมกัน เป็นงานที่ผมชอบ และทำมามากกว่า 20 ปีแล้ว จึงนับว่าไม่เสียแรงที่ร่ำเรียนมาทั้งพืชและสัตว์มีประโยชน์ทั้งนั้น

ผมเคยรู้จักพรรณไม้ชื่อ "นมตำเรีย" หรือ "Hoya" มาก่อน แต่นั่นก็นานมาแล้ว เคยพบเห็นโฮย่าบ้างตอนที่ไปเที่ยว หรือไปทำงานในป่า แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากไปกว่า "อ๋อ นั่น พวกสกุล(Genus)โฮย่า" แค่นั้นเอง จนกระทั่งวันที่ 5 เดือนเมษายน 2548 ขณะที่ผมตามพวกน้องๆ ขึ้นไปดูนกบนเขาขะเจอหล่า(ภาษากะเหรี่ยง แปลว่าเขาเขียว) ที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ผมจึงได้ถ่ายรูปดอกโฮย่าชนิดหนึ่ง(เนื่องจาก กิ่งไม้ที่โฮย่ามันเกาะ หักตกลงมาบนพื้นใกล้ๆ กับแคมป์ที่เรานอนกัน) เป็นความโชคดีที่มีดอกติดมาด้วย ผมเห็นมันน่ารักจึงนำภาพดอกโฮย่านั้น ไปถามใน "ห้องต้นไม้" ห้องย่อยของห้องจตุจักร ใน Pantip.com และไม่น่าเชื่อว่าคำตอบที่ได้ก็คือ มันเป็นโฮย่าที่ค่อนข้างหาดูได้ยาก(ของคนในห้องต้นไม้ ในขณะนั้น) มันมีชื่อว่า Hoya siamica แต่ไม่มีชื่อภาษาไทย และจากโฮย่า ดอกนั้น(ด้วยความช่วยเหลือเรื่องความรู้หลายอย่างที่เกี่ยวกับโฮย่าจากคุณศา (คนที่ชอบโฮย่าก็รู้ว่าเธอเป็นใคร))และภาพดอกโฮย่าสวยๆ จากชาวห้องต้นไม้ ทำให้ผมรู้ว่าในบ้านเรานั้นมีโฮย่ามากกว่า 35 ชนิด (ในขณะนั้น) มีบางชนิดที่ยังจำแนกชนิดไม่ได้ และมีอีกหลายชนิดที่ยังไม่มีใครพบว่ามีในบ้านเรา เท่าที่รู้มา มากกว่าครึ่งหนึ่งของโฮย่าที่พบในบ้านเราก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่กลับมีโฮย่าพันธุ์ที่มาจากต่างประเทศ เข้ามาขายในตลาดต้นไม้บ้านเราหลากหลายชนิด แต่ละชนิดก็สวยๆ ทั้งนั้น มีทั้งดอกเล็ก ดอกใหญ่ สีขาว สีเหลือง สีแดง สีส้ม มีทั้งดอกที่ มีกลิ่นหอม มีกลิ่นหอมมาก(จนฉุน) หลายชนิดไม่มีกลิ่น และ โฮย่าบางชนิดก็มีกลิ่นเหม็น
สิ่ิ่งเหล่านี้เองเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเริ่มสนใจใคร่รู้จักโฮย่ามากขึ้นๆ

ด้วยเหตุที่โฮย่าส่วนใหญ่เลี้ยงดูง่าย ไม่ต้องการการดูแลมากนัก ฉะนั้นโฮย่าจึงเป็นพรรณไม้ที่ไปกับผมและงานของผมได้ดี



นี่แหละครับ โฮย่าชนิดแรกของผม




 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 7:34:52 น.
Counter : 984 Pageviews.  


เปรี้ยวปิ๊ด
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add เปรี้ยวปิ๊ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.