มีปัญหา ปรึกษา Dr.ปาน@com
 
ผลการประชุมเพื่อนำเสนอการรายงานการประเมินผลตนเอง (SAR) ของสถานศึกษาในกลุ่มภาคตะวันออก by Dr.ปาน

ผลการประชุมเพื่อนำเสนอการรายงานการประเมินผลตนเอง (SAR)
ของสถานศึกษาในกลุ่มภาคตะวันออก
ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออก จ.ระยอง
***************************
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออก ได้เชิญ ศนจ. ทุกแห่งและ ศบอ. ที่เป็นตัวแทนของ ศบอ. ในจังหวัด เข้าประชุม ณ ศนภอ. เพื่อปรึกษาหารือกันและระดมพลังในการประกันคุณภาพการศึกษา และเสนอ SAR ของแต่ละ ศบอ. ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเร่งรัด การปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการในปีงบประมาณ 2550 ด้วย
การประชุมครั้งนี้ แต่ละสถานศึกษาได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก มี ผอ.ศนจ. หลายแห่งที่ไม่ติดราชการอื่น เข้าประชุมด้วยตนเอง เช่น ผอ.ฉันทะ พ่วงชิงงาม ผอ.สุรพงษ์ จำจด ผอ.ศิลป์ชัย ศรีธัญญา ผอ.ทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ เป็นต้น มี ศบอ. รวม 28 แห่ง เข้าประชุม ส่วนใหญ่ ผอ.ศบอ.มาด้วยตนเอง บางแห่งได้มอบหมายผู้รับผิดชอบโดยตรงเข้าประชุม ทั้งนี้ได้มีบุคลากรทั้ง ศนภอ. ศนจ. และ ศบอ. รวมทั้งอาจารย์พรทิพย์ กล้ารบ และอาจารย์นันฐิณี ศรีธัญญา กพ. ตลอดจนศึกษานิเทศก์กลุ่มภาคตะวันออกเข้าร่วมประชุมด้วย
ผลการประชุมครั้งนี้ ในความคิดของศึกษานิเทศก์เห็นว่า ศบอ.ทั้ง 28 แห่ง มีการดำเนินการประกันคุณภาพและจัดทำ SAR ในปีงบประมาณ 2550 ได้สอดคล้องและบรรลุแนวทางของการประกันคุณภาพ อาจมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันกับช่วงเวลาการทำงาน และผลงานที่ปรากฏซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีนั้น ก็ด้วยความเอาใจใส่ของ ผอ.ศนจ. และบุคลากรทุกคน ในลักษณะ Together for Quality นอกจากนี้จะเห็นว่ามีการใช้ระบบเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมาก โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการนำเสนอสาระของเนื้อหาการประชุม พร้อมทั้งบุคลากรของ ศนภอ.สามารถอำนวยความสะดวกได้อย่างมีศักยภาพ
นอกจากนี้ศึกษานิเทศก์ได้ให้ความเห็นที่อาจเป็นข้อสังเกตเพิ่มเติม คือ
1. การเก็บรวบรวมข้อมูล
1.1 การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินแต่ละมาตรฐาน โดยอาศัยตัวบ่งชี้และเกณฑ์การพิจารณานั้น ข้อมูลของบางกิจกรรมและโครงการต้องเก็บรวบรวมมาเป็นระยะตามลักษณะของกิจกรรมและโครงการ เช่น จัดตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ควรเก็บรวบรวมไว้ในช่วงเวลานั้น กิจกรรมที่จัดในพื้นที่ต่าง ๆ ต้องจัดเก็บรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่นั้นเลย รวมทั้งสอบถามจากภาคีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมจัดหรือสอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) การเก็บรวบรวมข้อมูลควรจัดเก็บให้ทันกับข้อมูล
ข้อมูลลักษณะต่าง ๆ ควรมีวิธีการ และเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลให้เหมาะสม ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะได้จากผลการดำเนินกิจกรรม/โครงการนั้น ๆ รวมทั้งผลของการประเมินผลและติดตามผลในแต่ละโครงการ/กิจกรรม
1.2 การกำหนดเกณฑ์จัดระดับคุณภาพ ควรจะต้องกำหนดให้เท่า ๆ กัน ในทุกสถานศึกษาและยึดหลักสากลที่ใช้กันอยู่
1.3 การนำเสนอระดับคุณภาพ ควรจะเรียงลำดับจากน้อยไปหามาก หรือมากไปหาน้อยให้เหมือนกัน ทั้งนี้อาจใช้การเรียงลำดับจากน้อยไปหามากคือ ปรับปรุง พอใช้ ...
2. การนำเสนอข้อมูลรายมาตรฐาน
2.1 ข้อมูลด้านความตระหนัก และข้อมูลความพยายามในการปฏิบัติ นำมาจากการจัดกิจกรรม/โครงการที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า กิจกรรม/โครงการนั้นจะก่อให้เกิดมาตรฐานใด
2.2 ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ในการเสนอผลแต่ละเกณฑ์การพิจารณาและตัวบ่งชี้ จะต้องเป็นข้อมูลที่มีความตรง (Validity) และมีความเชื่อมั่น (Reliability) ซึ่งได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
3. การสังเคราะห์ประเด็นสำคัญ
การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การสรุปประเด็นต่าง ๆ นั้น จะต้องมีน้ำหนัก มีข้อมูลยืนยัน และครบตามหัวข้อนั้นจริง ๆ กรณี จุดเด่น สามารถที่วิเคราะห์กิจกรรม โครงการที่ปฏิบัติ เชื่อมโยงมาได้ เช่น
กลุ่ม ศบอ.ฉะเชิงเทรา สามารถที่จะเชื่อมโยงการจัดทำ KM โดยใช้ระบบ Internet มาพัฒนาบุคลากรสู่การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานได้
ศบอ.บ้านนา นครนายก สามารถที่จะเสนอการจัดค่ายทักษะชีวิตการดำเนินงานแผนพัฒนาชุมชน มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.สระแก้ว สามารถที่จะเชื่อมโยง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.สมุทรปราการ สามารถที่จะเชื่อมโยง การจัดการศึกษาในสถานประกอบการ กลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรทุก ๆ ระดับ การพัฒนาแนวทางการสร้างระบบการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.ชลบุรี สามารถที่จะเชื่อมโยงการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการงาน กศน. มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.ระยอง สามารถที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาระบบการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนของภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.จันทบุรี สามารถที่จะเชื่อมโยงการจัดกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ โดยเน้นกลุ่มเกษตรกรมาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.ปราจีนบุรี สามารที่จะเชื่อมโยง การใช้คูปองเพื่อการศึกษามาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.ตราด สามารถที่จะเชื่อมโยง การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ห้องสมุดประชาชนและศรช.เป็นฐานการดำเนินกิจกรรมได้ รวมทั้งการพัฒนาระบบเจ้าหน้าที่ห้องสมุดอาสาสมัคร มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
ซึ่งแนวทางการสังเคราะห์และสรุปประเด็นสำคัญนี้ จะใช้ในการสังเคราะห์ประเด็นอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น จุดที่ควรพัฒนา ทิศทางการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา
4. การมีส่วนร่วม
กระบวนการประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนของสถานศึกษาระดับอำเภอ รวมทั้งสถานศึกษาอื่น ๆ นั้น น่าจะพิจารณาเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายมีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพและการประเมินคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม สถานศึกษาใดดำเนินการได้ดี จะเป็นแนวทางของสถานศึกษาอื่น ๆ ต่อไป
การประชุมครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและเร่งรัดการประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน และการจัดทำรายงานการประเมินผลตนเอง (SAR) ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผู้บริหาร ศนจ. ศบอ. บุคลากรทุก ๆ ส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพ โดย ผอ.ประถม สมัครพงศ์ ศนภอ. และคณะ เป็นแกนกลางในการระดมประสบการณ์และการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ขอชื่นชมความตั้งใจและความสำเร็จของงานในครั้งนี้ด้วย
ปาน กิมปี
จตุพร สุทธิวิวัฒน์
14 พฤษภาคม 2550



Create Date : 18 พฤษภาคม 2550
Last Update : 18 พฤษภาคม 2550 15:44:50 น. 0 comments
Counter : 523 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

rokryg
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add rokryg's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com