มีปัญหา ปรึกษา Dr.ปาน@com
 
 

บทบาทของห้องสมุด : การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย (ดร. ปาน กิมปี 8 พฤษภาคม 2552 ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กทม)

บทบาทของห้องสมุด : การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย (ดร. ปาน กิมปี 8 พฤษภาคม 2552 ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กทม)
1. แนวคิดและปรัชญา
การศึกษานอกระบบ:: เสริม เติมเต็ม ทดแทนการศึกษาในระบบให้กับประชาชนที่อยู่นอกระบบโรงเรียน
การศึกษาตามอัธยาศัย:: ส่งเสริมสนับสนุนให้โอกาสในการเรียนรู้ในวิถีชีวิตของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย
2. ความมุ่งหมาย
การศึกษานอกระบบ::พัฒนาตนเองเป็นช่วงๆ
การศึกษาตามอัธยาศัย::ส่งเสริมพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
3. หลักสูตร
การศึกษานอกระบบ::มีกรอบหลักสูตรมุ่งสนองต่อผู้เรียนเป็นสำคัญ
การศึกษาตามอัธยาศัย::ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน
4. ผู้เรียน / ผู้รับบริการ
การศึกษานอกระบบ::ประชาชนทุกวัยระบุตัวคนได้ชัดเจนโดยเน้นบุคคลที่พ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ
การศึกษาตามอัธยาศัย::ประชาชนทุกวัย แต่ระบุตัวคนได้ยาก
5. ครู / ผู้สอน
การศึกษานอกระบบ::ได้รับการฝึกอบรมโดยตรง อำนวยความสะดวกในกิจกรรมการเรียนรู้
การศึกษาตามอัธยาศัย::ทุกคนที่มีศักยภาพ ส่งเสริมให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้
6. ความรู้
การศึกษานอกระบบ::ยึดถืองานของผู้เรียนเป็นหลัก และเป็นไปตามกรอบหลักสูตร
การศึกษาตามอัธยาศัย::ตามความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
7. วิธีการเรียนรู้
การศึกษานอกระบบ::มีแบบแผน เน้นให้แสวงหาความรู้ เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ มีการพบกลุ่ม
การศึกษาตามอัธยาศัย::มีวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่มีแบบแผนแน่นอน
8. ระยะเวลา
การศึกษานอกระบบ::เป็นช่วงๆ ตามที่หลักสูตรกำหนด
การศึกษาตามอัธยาศัย::ตลอดเวลา
9. วุฒิการศึกษา
การศึกษานอกระบบ::บางกิจกรรมมีวุฒิการศึกษา บางกิจกรรมมีเกียรติบัตร
การศึกษาตามอัธยาศัย::ไม่มีวุฒิบัตร บางกิจกรรมมีเกียรติบัตร
10. กิจกรรมการเรียนรู้
การศึกษานอกระบบ::กิจกรรมการเรียนรู้เกิดขึ้นตามกรอบหลักสูตร เน้นปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี
การศึกษาตามอัธยาศัย::กิจกรรมการเรียนรู้เป็นไปตามวิธีชีวิต
11. สื่อการเรียนรู้
การศึกษานอกระบบ::สื่อการเรียนรู้มีอยู่แล้ว มีสื่อบุคคลที่เน้นประสบการณ์เป็นหลัก
การศึกษาตามอัธยาศัย::การจัดสาระเพื่อการเรียนรู้
12. การประเมินผล
การศึกษานอกระบบ::การประเมินผลที่ชัดเจน มีเกณฑ์การ ผ่าน-ไม่ผ่าน
การศึกษาตามอัธยาศัย::ไม่มีการประเมินผลที่ชัดเจน แต่บางกิจกรรมอาจมีการประเมินผลเพื่อให้ผลย้อนกลับต่อผู้รอการประเมิน







ข้อเสนอการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
::การจัดแผนการเรียนรู้รายบุคคล::
1. สุ่ม / สำรวจความต้องการของสมาชิก
2. การร่วมมืออย่างสมัครใจของสมาชิก
3. การเลือกสรรสื่อเพื่อการเรียนรู้
4. การบันทึกผลการเรียนรู้ : สมุดบันทึกผลการเรียนรู้
5. การส่งเสริมสมาชิกอย่างต่อเนื่อง
6. การสรุปผลการเรียนรู้ : เกียรติบัตร
7. การจัดทำสัญญาการเรียนรู้เรื่องใหม่

การปรับใช้กับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
::การเรียนเพื่อรู้
::การเทียบระดับการศึกษา
หลายคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็ด้วยข้อคิดภาษิตเพียงบทเดียว “มันคือความจริง”
......ให้ใครจงหมั่นให้ ใครใคร
ให้แล้วอย่าจำใส่ใจ จดไว้
ให้แล้วก็แล้วไป หมดเรื่อง กันนา
แต่รับจงอย่าได้ หมดปลื้มลืมคุณ




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2552   
Last Update : 19 พฤษภาคม 2552 11:27:08 น.   
Counter : 938 Pageviews.  


ประเด็นการอภิปรายในการประชุมสัมมนาภาวะวิกฤตของการศึกษานอกระบบในสังคมไทย โดย ดร.ปาน กิมปี

ประเด็นการอภิปรายในการประชุมสัมมนาภาวะวิกฤตของการศึกษานอกระบบในสังคมไทย

จัดโดยภาควิชาการศึกษาผู้ใหญ่ คณะศึกษาศาสตร์ มศว.ประสานมิตร
วันที่ 21 กันยายน 2550 เวลา 13.00-16.30 น.
ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพมหานคร



หัวข้อการอภิปราย : นานาทัศนะเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ
>ผู้ทรงคุณวุฒิอภิปรายb>
1. ผศ.ดร.ชิดชงค์ ส.นันทนาเนตร หัวหน้าภาควิชาการศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์และสังคม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2. ดร.ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2542
3. คุณประเทือง แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย
ผู้ดำเนินการอภิปราย
ดร.ปาน กิมปี สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน

ช่วงระยะการอภิปรายเป็นช่วงเวลาบ่ายที่ต่อเนื่องมากจากการบรรยายพิเศษของท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.จรวยพร ธรณินทร์) ในหัวข้อ “ภาวะวิกฤตของการศึกษานอกระบบในสังคมไทย” และการบรรยายของ อดีตรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ดร.กล้า สมตระกูล) ในหัวข้อ “พ.ร.บ.การศึกษากับแนวโน้มการศึกษานอกระบบในสังคมไทย”
ฉะนั้น ในช่วงการอภิรายรอบบ่าย ในหัวข้อ “นานาทัศนะเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ” จึงได้ร่างกรอบการอภิปรายไว้เพื่อผู้ทรงคุณวุฒิอภิปรายจะได้อาศัยเป็นกรอบอภิปรายเพื่อเสนอองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นต่อผู้รับฟัง คือ
จากสภาพการดำเนินงาน การจัดการศึกษานอกโรงเรียนของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักบริหารงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) กรมการศาสนา (เช่น ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พิพิธภัณฑ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ห้องสมุด ศูนย์การเรียน รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรชุมชน และอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ควรมีบทบาทและแนวทางในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนในอนาคตช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ และเป็นโอกาสในการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างไร ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่าน อาจจะให้ข้อคิดเห็นในมิติต่าง ๆ ดังนี้
1. การเข้าถึงหรือการให้โอกาสที่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการศึกษานอกโรงเรียนที่ตอบสนองความต้องการได้ และไม่มองว่าการศึกษานอกโรงเรียนเป็นทางเลือกสุดท้าย
2. การสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย เข้ามาร่วมจัดการศึกษานอกโรงเรียน และสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จะมีบทบาทเป็นแกนกลางที่จะประสานหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน ประชาชน ได้อย่างไร
3. การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนให้เป็นวาระแห่งชาติควรจะเป็นอย่างไร

ประเด็นเหล่านี้เพื่อเป็นกรอบในการอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อนานาทัศนะเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ


ดร. ปาน กิมปี
18 กันยายน 2550




 

Create Date : 18 กันยายน 2550   
Last Update : 18 กันยายน 2550 19:47:11 น.   
Counter : 565 Pageviews.  


การพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของ ศบอ. โดย ปัญญา วารปรีดี

การพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน เป็นการศึกษาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน โดยการศึกษาข้อมูล เชิงคุณลักษณะเฉพาะกรณีของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านนา และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากบุคลากร รวมจำนวน 134 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 11 คน ด้วยวิธีการสังเกต และการสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลจากการวิจัย พบว่า ระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษามีองค์ประกอบและคุณลักษณะสำคัญคล้ายคลึงกัน คือ การพัฒนาภาวะผู้นำ พัฒนาความคิดเชิงระบบ และการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมในลักษณะที่เป็นพลวัตจากการปฏิบัติงานจริง โดยใช้วิธีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดการความรู้ ใช้หลักธรรมกัลยาณมิตรในการขจัดปัญหาอุปสรรค ส่วนการพัฒนาระบบการบริหารจัดการของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงาน การศึกษานอกโรงเรียน มีลักษณะเป็นองค์รวม โดยเริ่มจากภาวะผู้นำของผู้บริหารและของทีม การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างวัฒนธรรมขององค์กร เป็นปัจจัยนำเข้าสู่กระบวนการ การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมจากการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ ทุกขั้นตอนการพัฒนาจะมีผลย้อนกลับสู่กระบวนการและปัจจัยนำเข้าเพื่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ และเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร




 

Create Date : 14 มิถุนายน 2550   
Last Update : 14 มิถุนายน 2550 8:43:12 น.   
Counter : 554 Pageviews.  


ผลการฝึกอบรมการวัดและประเมินผลการศึกษานอกโรงเรียนขั้นพื้นฐาน โดย ดร.ปาน กิมปี

ผลการฝึกอบรมการวัดและประเมินผลการศึกษานอกโรงเรียนขั้นพื้นฐาน
ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการ
ระหว่างวันที่ 18-20 เมษายน 2550

ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการได้พิจารณาเห็นความจำเป็นว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ (การศึกษาขั้นพื้นฐาน) จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจรของการพัฒนานักศึกษาให้เรียนรู้ตามหลักสูตรนั้น การวัดและประเมินผลการศึกษาเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จำเป็นต้องมีการทำงานและจัดทำระบบให้มีประสิทธิภาพ ประกอบกับบุคลากรการศึกษานอกโรงเรียนขาดการพัฒนาทางด้านการวัดและประเมินผลมาเป็นช่วงเวลานาน จึงได้จัดดำเนินโครงการพัฒนาผู้บริหารศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ และบุคลากรทางการศึกษานอกโรงเรียนประกอบด้วย อาจารย์ พนักงานราชการ ครูศรช. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน 112 คน โดยได้ประสานวิทยากร ดร.ปาน กิมปี อาจารย์ มนทา เกรียงทวีทรัพย์ และอาจารย์วรวรรณ เบ็ญจนิรัตน์ ส่วนอาจารย์อรทัย ปานขาว (ติดราชการสำคัญไม่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย) ได้มีการฝึกอบรมขึ้นเมื่อวันที่ 18-20 เมษายน 2550 ณ ห้องประชุมของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการ

ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการ ได้กล่าวเปิดการประชุมและได้ให้แนวทางที่สำคัญของเป้าหมายของการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้การดำเนินการวัดและประเมินผลการศึกษาเป็นการประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา กระบวนการวัดและประเมินผลของครูต้องมีความเข้มแข็งและถูกต้องตามหลักวิชา การประเมินผลที่ดีจะเป็นการรับรองคุณภาพของนักศึกษาที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในผลผลิตของกศน. และมีความหวังที่จะจัดระบบงานวัดและประเมินผลการศึกษาของศนจ.ให้มีระบบที่ดีต่อไป

คณะวิทยากรดำเนินการฝึกอบรมตามแผนที่ได้หารือ ประสานงาน และมีการจัดเตรียมงานการฝึกอบรมร่วมกับ ผอ.ศนจ. และอาจารย์ยุพา กิตติดุษฎีธรรม และศึกษาเครื่องมือการวัดผลหรือข้อสอบที่ครูผู้สอนได้สร้างขึ้นในภาคเรียนที่ผ่านๆมา เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานและการจัดกระบวนการฝึกอบรมให้เหมาะสมตามความจำเป็นของผู้เข้ารับการฝึกอบรม (tailor-made) จึงมีการบรรยายเพื่อให้ความรู้เบื้องต้นของความสัมพันธ์หลักสูตร การเรียนการสอนและการประเมินผลการศึกษา ในส่วนเนื้อหาของการประเมินผลได้เน้นให้เห็นความสำคัญของการวัดและประเมินผลการศึกษา ความสำคัญและลักษณะของเครื่องมือวัดผล การฝึกอบรมครั้งนี้ได้เน้นเครื่องมือการวัดผล 2 ชนิดคือ ข้อสอบแบบเลือกตอบ (Multiple choice) และการตอบแบบสั้น (Short answer) เพื่อนำไปสู่เกณฑ์การประเมินผลที่หลักสูตรกำหนดไว้คือ กำหนดสัดส่วนคะแนนระหว่างภาคเรียนและปลายภาคเรียนเป็น 60:40 (คะแนนระหว่างภาคเรียนกำหนดเป็น การเรียนรู้ด้วยตนเอง 30 การทดสอบย่อย 10 และโครงงาน 20 ส่วนคะแนนปลายภาคเรียนกำหนดเป็น ข้อสอบปรนัย 20 และข้อสอบอัตนัย 20) ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมจะนำไปสู่การจัดการเรียนการสอน และการประเมินผลตามเกณฑ์ระหว่างภาคเรียนและปลายภาคเรียน และได้ชี้ให้เห็นว่า การประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษาไม่ใช่อยู่ที่ข้อสอบอย่างเดียว แต่อยู่ที่การประเมินผลในบริบทต่างๆ และสร้างเครื่องมือการวัดผลประเภทต่างๆ ที่ใช้ให้เหมาะสม

แม้คณะวิทยากรได้เตรียมการและดำเนินการด้วยความตั้งใจ แต่ดูเหมือนว่าผู้เข้าอบรมซึ่งเป็นผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษามีความตั้งใจ และร่วมปฏิบัติการตามที่วิทยากรมอบหมายได้เข้มแข็งยิ่งกว่า ได้เห็นบรรยากาศของการเรียนรู้ ความสนใจ ความท้าทายทางวิชาการ และความเอื้ออาทรของฝ่ายบริหารและฝ่ายผู้จัดฝึกอบรมที่น่าประทับใจยิ่ง ถึงแม้ผู้เข้ารับการอบรมดูจะมีจำนวนมาก แต่ความร่วมมือและปฏิบัติงานอย่างดีจึงทำให้กระบวนการฝึกอบรมเป็นไปอย่างราบรื่น ในการแบ่งกลุ่มการปฏิบัติงาน ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา และคณะวิทยากรได้ตกลงกันให้แต่ละสถานศึกษาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเขียนข้อสอบแต่ละระดับการศึกษาและแต่ละรายวิชา หลังจากได้ฟังบรรยายและสนทนาภาคความรู้แล้ว โดยนำสาระการเรียนรู้และมาตรฐาน ที่กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียนพัฒนาไว้ นำมาวิเคราะห์ ต่อถึงพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย(ซึ่งไม่อะไรที่เหลือวิสัยจะวิเคราะห์ไม่ได้) เพื่อให้เกิดกับนักศึกษา ลงมือปฏิบัติ นำเสนอต่อที่ประชุม วิพากษ์ วิจารณ์ เพื่อทำให้องค์ความรู้ด้านการวัดและประเมินผลได้ย่อยในรายละเอียดและเข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้นอีก อนึ่งการฝึกอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ไพบูลย์ โพธิ์หวังประสิทธิ์ อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร มาเป็นวิทยากรพิเศษในการเสนอบทเรียนการสร้างแบบทดสอบที่ใช้กับกลุ่มผู้เริ่มรู้หนังสือ เป็นผลงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน

ผลที่เกิดขึ้นจากการฝึกอบรมการวัดและประเมินผลการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญในช่วงวันที่18-20 เมษายน 2550 ที่สำคัญจากกระบวนการฝึกอบรมที่ผู้เข้าอบรมได้ให้ความสนใจเป็นอย่างดีและร่วมกิจกรรมอย่างเข้มแข็ง คือ
1) ผู้บริหารและบุคลากรการศึกษานอกโรงเรียนได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ แนวคิด ความสำคัญของการวัดและประเมินผลการศึกษา ส่วนเครื่องมือการวัดผลนั้นได้เน้นในเรื่องที่จะทำไปใช้งานหลักๆก่อน คือ ข้อสอบแบบเลือกตอบและข้อสอบแบบตอบสั้น รวมทั้งการจัดทำเป็นชุดข้อสอบ การเฉลย และการตรวจ ตลอดจนจริยธรรมของลักษณะงานการวัดและประเมินผล
2) ผู้บริหารและบุคลากรการศึกษานอกโรงเรียนของ ศบอ.และ ศนจ.รวมทั้งหมด 7 สถานศึกษา รวม 112 คนนั้น ได้มีการตกลงกันและจัดกลุ่มสถานศึกษาละ 3 กลุ่มๆละหนึ่งระดับการศึกษา(ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและ มัธยมศึกษาตอนปลาย) แต่ละกลุ่มนั้นให้เลือกรายวิชาที่จะเขียนข้อสอบ ตามรายวิชาหลักๆที่จะเปิดสอนในภาคเรียนที่ 1/2550 ส่วนศบอ.เมืองและศบอ.พระประแดงสามารถแบ่งได้ทั้ง 4 กลุ่ม จึงมีกลุ่มทั้งหมด 23 กลุ่ม ซึ่งสามารถตกลงกันเขียนข้อสอบได้ทั้ง 23 ชุด(ชุดละ 50 ข้อ) ในระหว่างการฝึกอบรมแต่ละกลุ่มได้เขียนข้อสอบได้แล้วไม่น้อยกว่า 10 ข้อ และได้เอามาวิพากษ์ แก้ไข เป็นตัวอย่างของการพิจารณาข้อสอบ ไปแล้ว จำนวนหนึ่ง
3) เกิดความสัมพันธ์การมีส่วนร่วมของแต่ละกลุ่มของแต่ละสถานศึกษาที่จะวางแผนและเขียนข้อสอบร่วมกัน และเป็นที่น่ายินดีว่า แต่ละสถานศึกษาคาดว่าจะเขียนข้อสอบเสร็จสิ้นและส่งมาที่ ศนจ.ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 โดยใช้ช่วงเวลาก่อนที่จะเปิดเรียนภาคเรียนใหม่ต่อไป เพื่อศนจ.จะนำข้อสอบเหล่านี้ให้ผู้ทรงคุณวุฒิและวิทยากรพิจารณาและกำหนดแนวทางในการฝึกอบรมและปฎิบัติการในขั้นตอนที่ 2 ต่อไป คาดว่าน่าจะเป็นปลายเดือน พฤษภาคม 2550 จำนวน 2 วัน

แผนงานในขั้นตอนที่ 2 และแผนงานต่อไป เพื่อให้การพัฒนาระบบการวัดและประเมินผลการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญมีศักยภาพที่จะพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายของการจัดการศึกษานั้น ประกอบด้วยภารกิจหลักๆ คือ
1) ผู้บริหารและบุคลากรการศึกษานอกโรงเรียนที่ได้รับการฝึกอบรมและปฎิบัติการมีศักยภาพในการพัฒนาการเรียนรู้ ควรนำความรู้การวัดและประเมินผลการศึกษาไปสู่การปฎิบัติให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องให้มากขึ้น
2) ครูการศึกษานอกโรงเรียนที่ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้โดยตรงสามารถใช้ความรู้ มีทักษะ และมีเจตคติที่ดีของการวัดและประเมินผลการศึกษาใช้บูรณาการในการจัดการเรียนการสอนตลอดรายวิชาแต่ละภาคเรียน
3) ข้อสอบส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดสามารถใช้จัดสอบปลายภาคเรียนที่1/2550 ซึ่งจะส่งผลให้การทดสอบปลายภาคเรียนมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และสามารถใช้ผลการสอบมาสู่การพัฒนาของการเรียนการสอนให้ครบวงจรได้ต่อไป
4) การขยายผลการดำเนินงานไปสู่การพัฒนาข้อสอบของหลักสูตรปวช.และกิจกรรมกศน.อื่นๆ
5) การประสานและขอความร่วมมือผู้ทรงคุณวุฒิ ภายนอกองค์กรเช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาค หน่วยงานส่วนกลาง หรือแม้กระทั่งบุคลากรของศนจ. และ ศบอ.เอง ควรได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการพัฒนาข้อสอบแต่ละรายวิชา
6) ระบบการทดสอบของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการและศบอ.จะได้รับการออกแบบและจัดการระบบงานแต่ละส่วนให้เหมาะสมต่อไป

ความเข้าใจในทิศทางการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญเป็นอย่างดี ตลอดจนความมุ่งมั่นของ ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล ผอ.ศบอ.ทุกแห่งและบุคลากรทุกคนในครั้งนี้ มีการเริ่มงานที่ดีและตรงกับประเด็นความจำเป็นให้การพัฒนาคุณภาพ หากได้มีการเชื่อมต่อ การเสริมกำลังใจซึ่งกันและกัน และสร้างระบบงานที่สามารถขับเคลื่อนต่อไปอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะกลายเป็นวัฒนธรรมคุณภาพที่บุคลากรทุกคนมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของและชื่นชมผลงาน อันจะส่งผลกระทบที่ดีในคุณประโยชน์ที่จะเกิดผลต่อนักศึกษา กศน.ทุกคนของเราต่อไป

ผู้บริหาร ฝ่ายผู้จัดและวิทยากรมีความเชื่อมั่นว่าแต่ละกลุ่มจะสามารถมีพลังที่จะร่วมกันทำงานตามภารกิจที่ตกลงกันไว้และกระตือรือร้นที่จะนำผลงาน(ข้อสอบ)มาแสดงตามที่ได้นัดหมายไว้ทั้งๆที่ภารกิจของแต่ลพคนต้องรับผิดชอบมีมากมายและท้าทายอยู่ตลอดเวลาและหวังว่างจะเกิดบรรยายกาศที่ดีๆและบทเรียนอันมีค่าเช่นเดิม
ดร.ปาน กิมปี
23 เมษายน 2550
_______________________________________________________________________
การบันทึกนี้สรุปจากปรากฎการณ์และผลที่เกิดจากการฝึกอบรมและการปฎิบัติการเรื่องการวัดและประเมินผลการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญของศนจ.สมุทรปราการและคณะที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 เมษายน 2550 ณ ห้องประชุมศนจ.จากการประมวลสาระและความคิดเห็นจากคณะวิทยากร(ดร.ปาน กิมปี อ.มนทา เกรียงทวีทรัพย์ อ.วรวรรณ เบ็ญจนิรัตน์ ดร.ไพบูลย์ โพธิ์หวังประสิทธิ์ ) ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล อ.เบ็ญจพร ราชวิริยารักษ์ อ.ยุพา กิตติดุษฎีธรรม รวมทั้งผู้บริหารและคณะ




 

Create Date : 26 เมษายน 2550   
Last Update : 26 เมษายน 2550 21:56:04 น.   
Counter : 541 Pageviews.  


รายงานการอบรมเพื่อพัฒนาผู้บริหารและบุคลากรการศึกษานอกโรงเรียน โดย ดร.ปาน กิมปี

ตามที่สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนได้อนุญาตให้นายปาน กิมปี นายวิรุฬห์ นิลโมจน์ นางสาวจตุพร สุทธิวิวัฒน์ เป็นวิทยากรการฝึกอบรมเรื่อง การประเมินโครงการตามหนังสือขอความร่วมมือของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 4 (ศน.กทม.4) เพื่อพัฒนาผู้บริหารและบุคลากรการศึกษานอกโรงเรียน ในวันที่ 10-11 เมษายน 2550 ณ โรงแรมชาลีน่า เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร
การดำเนินงานการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นความต้องการและความจำเป็นที่ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 4 (ผอ.ลัดดาวัลย์ เลิศเพ็ญเมธา)และคณะ เพื่อพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา อาจารย์ พนักงานราชการ และครูศรช. จำนวน 60 คน และได้รับการติดต่อและประสานงานหลายครั้ง จนเห็นว่าเป็นความต้องการของศน.กทม.4อย่างแท้จริง จึงรับเป็นวิทยากรร่วมกับ ดร.วิรุฬห์ นิลโมจน์ นักวิชาการศึกษา จากกลุ่มแผนงาน และอาจารย์จตุพร สุทธิวิวัฒน์ จากหน่วยศึกษานิเทศก์ เป็นผู้ช่วยในคณะวิทยากรด้วย กระบวนการฝึกอบรมเน้นให้มีความรู้ ความเข้าใจหลักการและแนวทางการประเมินโครงการเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในคำถามหลัก แต่ละคำถามได้อธิบายองค์ความรู้การประเมินโครงการบูรณาการเข้ากับคำถามหลักแต่ละคำถาม คือ
What? โครงการอะไร มีเนื้อหาสาระ รายละเอียดอะไร
Why? ทำไมต้องประเมินโครงการนั้น
When? จะประเมินช่วงใดของโครงการ ก่อน-ระหว่าง-สิ้นสุดโครงการ
Where? พื้นที่ ขนาดของโครงการที่จะประเมิน
Who? Stakeholders เป็นใคร ใครจะเป็นผู้ประเมิน
How? จะมีระเบียบวิธีการประเมินอะไร
หลังจากนั้นวิทยากรได้ให้ความรู้กรอบความคิดการประเมิน(Logical Framework) มอบหมายให้แต่ละสถานศึกษาเสนอรายละเอียดของโครงการที่จะประเมิน(ซึ่งศน.กทม.4และวิทยากรได้ประสานให้แต่ละสถานศึกษาวิเคราะห์โครงการที่จะประเมินและศึกษารายละเอียดมาก่อนแล้ว) วิเคราะห์ลงในกรอบความคิดการประเมินนำเสนอในที่ประชุม วิทยากรให้ความรู้เพิ่มเติม เน้นการสอบถาม และอภิปรายเพิ่มเติม และการให้ความรู้เทคนิคการเขียนรายงาน การประเมินโครงการแต่ละบทที่กระชับและเสนอให้เห็นแนวทางการนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนา
สำหรับผลการฝึกอบรมในขั้นต้นพบว่า
1) ผลการฝึกอบรมผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรการศึกษานอกโรงเรียน ได้นำเสนอโครงการและวิเคราะห์เข้าสู่กรอบความคิดการประเมินโครงการ มีโครงการที่จะประเมิน เช่น
ศบข.บางเขน ประเมินโครงการการยกระดับการศึกษาให้กับทหารกอง
ประจำการ
ศบข.หนองจอก ประเมินโครงการการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ
ศบข.มีนบุรี ประเมินโครงการการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อส่งเสริม
คุณธรรม
ศบข.ลาดกระบัง ประเมินโครงการการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์
ศบข.บึงกุ่ม ประเมินโครงการห้องสมุดประชาชนความร่วมมือของกศน.กับการเคหะแห่งชาติ
ศบข.ดอนเมือง ประเมินโครงการหลักสูตรระยะสั้นวิชาโหราศาสตร์ไทย
ศน.กทม.4 การประเมินโครงการศูนย์แนะแนวการศึกษา
การประเมินโครงการการฝึกอบรมการประเมินโครงการ
ในช่วงท้ายของการฝึกอบรมคณะประเมินแต่ละโครงการได้เสนอตารางปฎิบัติงานในช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2550 ที่มีเป้าหมายจะให้การดำเนินโครงการเสร็จสมบูรณ์
ทั้งนี้ศน.กทม.4 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วย คณะทำงานที่ปรึกษา คณะทำงานฝ่ายวิชาการ คณะทำงานดำเนินการประเมินโครงการ(มี 7 คณะตามจำนวนสถานศึกษา) สำหรับการประมวลสาระและการทบทวนพัฒนากรอบความคิดการประเมินโครงการและการจัดทำแผนงานในภาพรวม คณะทำงานฝ่ายวิชาการจะจัดทำเป็นภาพรวมของศน.กทม.4 มีขั้นตอนของงานหลัก 2 ระยะคือ การรายงานความก้าวหน้า(Progress report) คาดว่าจะเป็นเดือนกรกฎาคม 2550 และรายงานผลสรุปโครงการ (Final report) คาดว่าจะเป็นเดือนกันยายน 2550
2) ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติที่ดีต่อการประเมินโครงการเกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ และเสริมศักยภาพในการทำงานได้เพิ่มขึ้น
3) ผอ.ลัดดาวัลย์ เลิศเพ็ญเมธา(ผอ.ศน.กทม.4)มีความหวังว่าการฝึกอบรมครั้งนี้ ผู้บริหารและบุคลากรการศึกษานอกโรงเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ในการดำเนินโครงการตามที่ได้ ตกลงไว้ในระหว่างการฝึกอบรม การใช้ความรู้ในการประเมินขั้นต้นของการปฎิบัติงานกิจกรรมหรือโครงการสำคัญของสถานศึกษา และการนำไปประยุกต์ใช้ในวิถีการทำงานเกี่ยวกับความคิด การวิเคราะห์ การเขียนรายงานหรือลักษณะงานอื่นๆ
4) ในระหว่างการฝึกอบรมนั้น คณะวิทยากรร่วมกับคณะทำงานฝ่ายวิชาการของศน.กทม.4 ได้มีการใช้หลัก On-going Evaluation (ความรู้ที่ถ่ายทอดในการฝึกอบรม ได้นำมาใช้ประเมินระหว่างการฝึกอบรมครั้งนี้ เช่นกัน) โดยพบว่าองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินโครงการ (Program Evaluation) เพื่อการศึกษาผลของโครงการยังมีองค์ความรู้ ด้านการวิจัย (Research) เพื่อค้นหา องค์ความรู้ใหม่ และการวิจัยประเมินผล (Evaluation Research) เพื่อค้นหา สาเหตุ ปัจจัยที่ทำให้ผลของโครงการเป็นเช่นนั้น คณะวิทยากร จึงได้เพิ่มเติมองค์ความรู้ เบื้องต้นทั้งด้านการวิจัย และด้านการวิจัยประเมินผลและได้ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินงานของสถานศึกษาในระดับศบข.และระดับศน.กทม.นั้นสามารถวิเคราะห์สภาพการณ์ของสถานศึกษา และสามารถใช้องค์ความรู้ทั้ง 3 ด้านนี้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพของสถานศึกษาไปตามบริบทที่เหมาะสม และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
5) นอกจากนี้การเสริมสร้างองค์ความรู้และศักยภาพของผู้บริหารและบุคลากรการศึกษานอกโรงเรียนให้เข้มแข็งมากขึ้น สามารถทำในลักษณะคณะทำงานร่วม(Cross team) จากสถานศึกษาต่างๆ เช่น การพัฒนาการจัดการศึกษาให้กับแขวงนำร่อง สามารถประสานบุคลากรจากแต่ละสถานศึกษามาร่วมเป็นคณะทำงานร่วมกัน จะทำให้มีการพัฒนาที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
6) คณะวิทยากรได้รับรู้และเห็นความสำคัญของคณะศน.กทม.4ในการพัฒนางานในครั้งนี้ และเห็นว่าเป็นความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างมาก ผู้บริหารและบุคลากรการศึกษานอกโรงเรียนมีความพร้อม และความตั้งใจที่ดีที่จะดำเนินงานตามแผนงานขั้นต้นที่ได้ตกลงกันไว้ เกิดบรรยากาศที่ดีในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เมื่อมีแนวทางในการกำกับดูแล(Monitoring) ที่เหมาะสมแล้ว จะทำให้การประเมินโครงการครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดีงามต่อไป
7) หากได้มีการจัดประชุมเพื่อการเสนอรายงานการประเมินโครงการแล้ว ศน.กทม.4และคณะวิทยากรควรมีการทบทวนสรุปบทเรียนหลังจากเสร็จสิ้นโครงการนี้ในลักษณะ After Action Review (AAR) จะทำให้การดำเนินโครงการฝึกอบรมการประเมินโครงการของศน.กทม.4 เสร็จสมบูรณ์และเป็นวิธีการ (Approach) ที่พัฒนาศักยภาพของบุคลากรการศึกษานอกโรงเรียนได้อย่างดี
_____________________________________________________________________
บันทึกประมวลสาระนี้เป็นผลมาจากคณะวิทยากร : ดร.ปาน กิมปี ดร.วิรุฬห์ นิลโมจน์ อาจารย์จตุพร สุทธิวิวัฒน์ และคณะทำงานฝ่ายวิชาการที่มี ผอ.ลัดดาวัลย์ เลิศเพ็ญเมธา เป็นประธาน และอาจารย์พัชยา ทับทิมเป็นเลขานุการในการดำเนินโครงการศึกษาอบรมการประเมินผลโครงการ ของศน.กทม.4 ระหว่างวันที่ 10-11 เมษายน 2550
12 เมษายน 2550




 

Create Date : 23 เมษายน 2550   
Last Update : 26 เมษายน 2550 21:54:36 น.   
Counter : 558 Pageviews.  


1  2  

rokryg
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add rokryg's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com