All Blog
ชีวิตที่ไม่เคยยอมแพ้ของ ตุ๊กตา อุบลวรรณ บุญรอด
ชีวิตที่ไม่เคยยอมแพ้ของ ตุ๊กตา อุบลวรรณ บุญรอด

ชีวิตที่ไม่เคยยอมแพ้ของ ตุ๊กตา อุบลวรรณ บุญรอด

นิตยสาร Secret

สนับสนุนเนื้อหา

ชีวิตที่ไม่เคยยอมแพ้ของ ตุ๊กตา อุบลวรรณ บุญรอด

คงมีหลายฉากหลายตอนที่เราคาดไม่ถึง แม้ว่าภาพลักษณ์ของเธอดูแรง แต่แท้จริงแล้วเธอคือผู้หญิงแกร่งที่ไม่เคยยอมแพ้แก่โชคชะตาและรักครอบครัวเหนือสิ่งอื่นใดเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเธอไม่ใช่เงินทองแต่คือการช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยากเหมือนเธอครั้งในอดีตชีวิตของเธอยากลำบากมากแค่ไหนทำไมความตั้งใจสูงสุดคือการแบ่งปันสู่สังคมเรื่องราวชีวิตที่ไม่เคยคิดจะปิดบังของเธอคือคำตอบที่ดีที่สุด

วิมานสังกะสี
ครอบครัวของตุ๊กตามีกันอยู่ 3 คน คือพ่อ แม่ และตุ๊กตา จริงๆ แล้วมีพี่ชายหนึ่งคน แต่พี่ชายหนีออกจากบ้านไปตั้งแต่ตุ๊กตายังเด็กมาก แล้วก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย พ่อแม่ของตุ๊กตาเป็นกรรมกร อยู่ในไซต์งานก่อสร้าง เราสามคนกินอยู่ในบ้านสังกะสีของคนงาน ไม่เคยอยู่ที่ไหนเป็นหลักเป็นแหล่งงานที่ไหนเสร็จก็ย้ายไปที่อื่น ไปสร้าง “วิมานสังกะสี” กันใหม่

ชีวิตความเป็นอยู่เป็นไปอย่างลำบากอดมื้อกินมื้อ อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์หรือก๋วยเตี๋ยวไม่ต้องนึกถึงเลย เพราะถือว่าแพงมาก อาหารที่กินเป็นประจำคือข้าวคลุกน้ำมันเจียวกากหมู เหยาะซอส ใส่น้ำตาล และถั่วลิสงคั่วเกลือ หลายครั้งที่ไม่มีเงินแม่ต้องไปเอาข้าวบูดที่เขาทิ้งแล้วไปตากให้แห้งเพื่อให้กลิ่นบูดหายไป แล้วเอามาต้มน้ำเป็นข้าวต้มกินกัน

ครั้งหนึ่งตุ๊กตาเห็นคนซื้อไก่ย่างให้หมาพอเขาเดินคล้อยหลังไป เราก็รีบไล่หมาไปแล้วหยิบไก่ขึ้นมาปัดดินออก จากนั้นรีบเอากลับบ้านไปให้พ่อกับแม่กิน ท่านถามว่าไปเอามาจากไหน เราก็ตอบไปตามประสาเด็กว่า

“หนูเห็นหมามันกิน แล้วอยากกินจังแต่หนูรู้ว่ามันแพง ไม่มีตังค์ซื้อ เลยแย่งมันมา หนูไม่บาปเนอะแม่เนอะ”

ตั้งแต่วันนั้น ตกกลางคืนพ่อแม่ก็ไม่ค่อยอยู่บ้าน จนตุ๊กตาสงสัยจึงพยายามถามจนได้รู้ว่าพ่อกับแม่ไปรับจ้างทำงานหารายได้พิเศษตอนกลางคืน เพื่อจะได้มีเงินซื้ออาหารให้เรากิน ตุ๊กตาจึงขอตามไปทำงานด้วย งานที่พ่อแม่ไปทำคืองานเชือดไก่ ซึ่งเป็นงานที่สร้างความทุกข์ใจอย่างมาก แต่จำยอมทำเพื่อแลกเงิน เราสามคนทำไปร้องไห้ไปเสมอ เพราะรู้ว่าเป็นงานบาปที่ทำให้หลายชีวิตต้องตายไปต่อหน้าต่อตา ภาพเหล่านั้นยังคงติดตาเสมอมา จนโตขึ้นมาตุ๊กตาไม่กินเนื้อไก่อีกเลย

อีกหนึ่งงานที่ถ้ามีมาแล้วเราสามคนจะดีใจกันมากคืองานตักส้วม สมัยก่อนตามชนบทที่รถดูดส้วมเข้าไม่ถึง เมื่อถังส้วมเต็มต้องหาคนตักออก ตอนแรกพ่อกับแม่ไม่ให้ตุ๊กตาตามไปด้วยเพราะไม่อยากให้เห็นภาพการทำงานแบบนี้ แต่ตุ๊กตารู้สึกว่านี่คืองานสุจริตที่ทำให้เรามีเงินไปซื้ออาหารดีๆ ทำให้เราได้กินไข่ กินเนื้อหมู กินปลาทูกันตุ๊กตาไม่เคยเห็นว่างานพวกนี้ต้อยต่ำ ภูมิใจด้วยซ้ำที่พ่อแม่ยอมเหนื่อยเพื่อเลี้ยงเราให้ดีที่สุด และคิดเสมอว่า ถ้าวันหนึ่งทำงานหาเงินได้ด้วยตัวเอง จะไม่ให้พ่อแม่ทำงานใดๆ ทั้งสิ้น จะดูแลให้ท่านอยู่อย่างสบายที่สุด

ปากกัดตีนถีบ
สิ่งที่เห็นตั้งแต่เด็กคือ พ่อกับแม่ทำงานหนักมาก ตุ๊กตาจึงช่วยพ่อแม่ทำงานทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ตอนหกขวบเริ่มช่วยแม่พับถุงปูน เก็บตะปูไปชั่งกิโลขาย โตขึ้นมาหน่อยก็เก็บผักบุ้ง ตำลึง ดอกโสน ดอกกระถินไปขายที่ตลาด และรับจ้างทำงานทุกอย่างที่ได้เงิน

ตุ๊กตาไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง แล้วก็ต้องย้ายโรงเรียนบ่อยมาก เพราะต้องย้ายไปตามไซต์งานก่อสร้างของพ่อแม่ จึงทำให้เรียนไม่ต่อเนื่อง ผ่านแต่ละชั้นมาด้วยความรู้งูๆ ปลาๆ แต่ถ้ามองในแง่ดีคือ ทำให้เราพยายามมากขึ้นเพื่อตามเพื่อนให้ทัน ถึงคะแนนด้านทฤษฎีไม่ดีนัก แต่คะแนนด้านปฏิบัติเต็มตลอด ไม่ว่าจะเป็นกีฬา งานฝีมือกิจกรรมทุกอย่าง เราพยายามทำหมดทุกอย่างเพื่อให้การเรียนผ่านไปได้ด้วยดี

ไม่ว่าไปเรียนที่ไหน ตุ๊กตาต้องมีของติดไม้ติดมือไปขายเพื่อนตลอด ต้องตื่นแต่เช้าตรู่มานั่งล้างมะม่วง มะยม ลูกหว้าแล้วแต่จะหามาได้ เอามาจัดใส่ถุง คู่กับพริกเกลือที่ทำเอง แล้วเอาไปขายที่โรงเรียนเพื่อนกินเสร็จมักชอบถุยเมล็ดทิ้งตามพื้นก็ต้องตามไปเก็บทำความสะอาด กลัวว่าถ้าทำให้โรงเรียนสกปรกแล้วครูจะไม่ให้มาขายของอีก

ตุ๊กตามักถูกล้อว่าเป็นพวกลูกก่อสร้างเสมอ แต่ก็ไม่โกรธนะ เพราะเราเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมแบบนี้จริงๆ แต่ถ้ามีใครมารังแกก่อน มักโต้ตอบแบบไม่กลัวว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และอีกเรื่องที่ไม่มีวันยอมแน่ๆ คือ การพูดจาพาดพิงพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ใคร ใครก็รัก ทำให้มีเรื่องชกต่อยอยู่บ่อยๆ เรียกว่าเป็นสายโหดเลยแหละ ทุกครั้งที่มีเรื่อง แม่จะถูกเชิญไปพบครูที่โรงเรียนพอแม่มาถึง แม่ก็จะฟาดตุ๊กตาแบบไม่ยั้งโดยไม่ถามว่าใครถูกหรือผิด ซึ่งแม่บอกว่า
“แม่ขอตีลูกเองดีกว่า เพราะแม่ทนไม่ได้ที่จะเห็นคนอื่นมาตีลูก แล้วก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าลูกจะผิดหรือถูก แม่ก็ได้ทำโทษลูกไปแล้ว”


ท้อแท้ที่สุดในชีวิต
พอตุ๊กตาเริ่มโตเป็นสาว อายุประมาณ12 - 13 ปี พ่อก็เริ่มเป็นห่วง ไม่อยากให้เติบโตในไซต์งานก่อสร้าง จึงไปกู้เงินมาซื้อที่ดินตาบอด น้ำไฟเข้าไม่ถึง ปลูกบ้านหลังเล็กๆ อยู่กันสามคน เมื่อเป็นหนี้พ่อจึงต้องทำงานพิเศษ รับเหมาต่อเติมบ้านกับหัวหน้าคนงานแต่หัวหน้าคนงานกลับโกงเจ้าของบ้านแล้วหนีไป เจ้าของบ้านแจ้งความจับและมาตามพ่อที่บ้าน พอเห็นอิฐหินปูนทรายที่กองอยู่ที่บ้านพ่อจึงติดคุกเพราะจำนนด้วยของกลางที่อยู่กับเรา

ตอนนั้นตุ๊กตากับแม่ตกใจมาก แม่เครียดจนช็อกแล้วล้มลงไป พอฟื้นก็เป็นอัมพฤกษ์ ขยับร่างกายไม่ได้ เรายังเด็ก ไม่รู้จะทำอย่างไร และก็ไม่มีเงินพาแม่ไปหาหมออาศัยเพียงยาหม้อที่มีคนหามาให้ และดูแลแม่ไปตามอาการ กลางวันก็ต้องแว็บออกจากโรงเรียนมาป้อนข้าวป้อนน้ำแม่ แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าแม่จะอาการดีขึ้น

เมื่อขาดเสาหลักของครอบครัวไปตุ๊กตาต้องพยายามหาเงินมาใช้จ่าย เก็บผักไปนั่งขายที่ตลาด ขายไปร้องไห้ไป ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร จึงไปที่วัด ตั้งใจไปขอพระท่านเป็นเด็กวัด เพราะอยากได้ข้าวมาให้แม่กิน แต่พระท่านบอกว่าเด็กผู้หญิงเป็นเด็กวัดไม่ได้ จึงนั่งร้องไห้ไม่หยุด ท่านถามไถ่จนตุ๊กตาเล่าความจริงทั้งหมดให้ฟัง พระท่านก็เมตตานำข้าวและกับข้าวที่ได้จากการบิณฑบาตมาแขวนไว้ที่หน้าบ้านทุกวัน

แม้มีอาหารประทังชีวิตแล้ว แต่ก็ยังไม่มีเงินพอใช้หนี้ เจ้าหนี้ก็มาตะโกนด่าหน้าบ้าน ขู่จะยึดบ้านบ้าง ตุ๊กตาก็หลบอยู่ในบ้าน ไม่กล้าออกไปรับหน้า เมื่อเจอปัญหาหลายด้านถาโถมเข้ามา บางครั้งก็รู้สึกท้อแท้ จนไม่อยากมีชีวิตอยู่

วันหนึ่งขณะขายผักอยู่ที่ตลาด ตุ๊กตาก็นั่งร้องไห้ไม่หยุด จู่ๆ ได้ยินคนถามว่า“หนูเป็นอะไร ร้องไห้ทำไม” พอหันไป เห็นลุงขอทานขาขาดทั้งสองข้างและมีแขนอยู่ข้างเดียว นั่งอยู่บนไม้กระดานที่มีล้อเข็น แกไสกระดานมาอยู่ข้างๆ ตุ๊กตาจึงเล่าเรื่องพ่อกับแม่ให้ฟัง พลางร้องไห้ไม่หยุด

“หนูไม่รู้จะทำยังไง หนูอยากตายแล้วทำไมหนูอายุเท่านี้ต้องมาเจออะไรอย่างนี้ด้วยลุง”

“ใจเย็นๆ นะหนู หนูดูลุงนะ ลุงไม่ได้พิการมาตั้งแต่กำเนิด แต่ลุงโดนรถชน ชนแล้วหนีด้วย ลุงมีเมียและลูกอีกสองคนที่ต้องดูแล แต่ดูสิ วันนี้หนูมีอะไรที่แย่กว่าลุงไหม ลุงมีมือข้างเดียว ขาก็ไม่มี อายุก็เหมือนไม้ใกล้ฝั่งแล้ว แต่ลุงยังสู้ เพราะถ้าลุงไม่อยู่ ลูกเมียจะอยู่ยังไง หนูมีมือเท้าครบ ทำไมไม่ลุกขึ้นสู้ล่ะลูก”

ได้ยินอย่างนี้ตุ๊กตาเหมือนถูกตบหน้าฉาดใหญ่ คำพูดของลุงเรียกสติกลับมาตั้งแต่วันนั้นตุ๊กตาเลิกร้องไห้ ลุกขึ้นมาสู้กับทุกอย่าง พอเจ้าหนี้มาก็ออกไปยกมือไหว้เขาพูดกับเขาอย่างจริงใจว่าเราไม่ได้คิดจะโกงและสัญญาว่าถ้าหาเงินได้เท่าไหร่จะแบ่งไปใช้หนี้ให้เขาทุกวัน บางวันขายผักได้ 20 บาท ก็กำเงินไปให้เขา กลายเป็นว่าเจ้าหนี้สงสารไม่กล้ารับเงิน ตุ๊กตาจึงขอไปทำงานบ้านให้เขาแทน ซึ่งเขาก็สงสารให้มาทำงาน และให้เงินค่าจ้างเรากลับมาอีก

เหตุการณ์นี้สอนให้ได้คิดว่า คนเราไม่ควรหนีปัญหา แต่ต้องเผชิญหน้าต่อสู้กับมัน เอาความจริงเข้าสู้ เพราะทุกปัญหาต้องมีทางออก ไม่ว่าจะเป็นทางลัดหรือทางอ้อมถ้ามีสติจะหาทางออกเจอ เพราะโลกนี้ไม่ได้โหดร้ายไปเสียทุกอย่าง

แม้ชีวิตจะพบแต่เรื่องที่โหดร้าย แต่ตุ๊กตาไม่เคยยอมแพ้ และเชื่อว่าต้องมีวันที่เป็นของเรา

Secret BOX
เราไม่มีหน้าที่ทุกข์
แต่เรามีหน้าที่รู้จักทุกข์
ป.อ. ปยุตฺโต

 

อัพเดทเรื่องราวมากมายที่ผู้หญิงห้ามพลาดได้ที่ อินสตาแกรม :  sanookwomen

นิตยสาร Secret

เนื้อหาโดย : นิตยสาร Secret




Create Date : 19 มีนาคม 2559
Last Update : 19 มีนาคม 2559 15:54:12 น.
Counter : 1275 Pageviews.

1 comments
  
สวัสดีนะจ้ะ เราแวะมาเยี่ยมนะจ้ะ ^____^ สักคิ้ว 6 มิติ ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้วลายเส้น เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ
ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ขิง น้ำมันมะพร้าว ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ
โดย: peepoobakub วันที่: 15 มีนาคม 2560 เวลา:17:27:30 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 3057794
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



Alise ยินดีให้คำปรึกษาเรื่องความงาม
https://www.facebook.com/aliseshopping/