Group Blog
 
All Blogs
 

การแยกขยายแคทลียา

การขยายพันธุ์แคทลียา
การขยายพันธุ์แคทลียานั้นมีเหตุผลหลายประการ ที่เด่นชัดที่สุดคือการแยกขยาย เพื่อเพิ่มจำนวน หรือเครื่องปลูกของตัวแคทลียาเองมีสภาพทรุดโทรม เพราะเมื่อเลี้ยงไปนานเข้า แคทลียาก็จะมีจำนวนเพิ่มขยายมากขึ้น ซึ่งทำให้แคทลียาโทรม เพราะส่งอาหารไปเลี้ยงได้ไม่เพียงพอ และลำเก่า(ลำแก่) ก็ยังเป็นตัวถ่วงลำหน้า(ลำใหม่) เนื่องจากรากเสื่อมโทรมไม่สามารถหาอาหารให้ตัวเองได้ ทั้งนี้การขยายพันธุ์แคทลียาแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1. การขยายพันธุ์โดยไม่มีการผสมเกสร 2. การขยายพันธุ์โดยการผสมเกสรหรือการเพาะเมล็ด

การขยายพันธุ์โดยไม่มีการผสมเกสร
การแยกขยายแบบนี้ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการแบ่งส่วนใดส่วนหนึ่ง(ในที่นี้หมายถึงหน่อ หรือตะเกียง) ออกมาปลูกใหม่ ทั้งนี้เราจะได้ลักษณะเหมือนต้นเดิมทุกประการ
แคทลียา (Cattleya) นั้นมีการเจริญเติบโตแบบแบบแตกกอ หรือแบบซิมโพเดียล วิธีสังเกตง่ายๆ คือการเพิ่มจำนวนเหมือนแบคทีเรีย จาก 1 ไป 2 จาก 2 ไป 4 เป็นต้น แต่แคทลียา หรือญาติๆสกุลใกล้เคียง ใน 1 ลำต้นมักจะมีจำนวนตา(ส่วนที่จะเจริญไปเป็นลำต้นต่อๆไป)จำนวนประมาณ 3 ตาด้วยกัน คือมี 2 ตาหลัก และอีก 1 ตาเล็ก ซึ่งโดยมากแล้วจะมีเพียง 1 หรือ 2 ตาที่จะเจริญไปเป็นหน่อ แต่ส่วนใหญ่แคทลียาก็มักจะแตกกอแบบ 1 ต่อ 1 ออกไปเรื่อยๆ เหมือนตัว JJJJJJJJ และมีการแตก 2 ตาบ้าง การแตกออกไปแบบนี้มักเรียกกันว่า “2หน้า” พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ มีการแตกหน่อเจริญออกไป 2 ทาง และอาจจะแตกหน้าได้มากกว่านี้ ส่วนการแยกขยาย มี 2 วิธีใหญ่ๆ ก็คือ การตัดแยกลำหน้า และการตัดแยกลำหลัง

@@@ มาทำความเข้าใจเรื่อง ลำหน้า และลำหลังกันก่อน @@@
- หน่อแคทลียา รูปร่างของหน่อหน่อนึงนั้น จะมีลักษณะคล้ายตัว L เวลาตัดแยกขยายก็ควรตัดให้ครบส่วน เช่นลำ LLLLLLLLL เราควรตัดออกมาเป็น LLL แบบนี้ถูกต้อง แต่การตัดแบบ LLl แบบนี้ไม่ถูกต้อง

- ลำหน้า คือส่วนหน่อใหม่ล่าสุดที่กำลังเจริญเติบโต หรือกำลังให้ดอก ซึ่งแคทลียาส่วนใหญ่จะออกดอกที่ลำหน้านี้เท่านั้น พูดให้เข้าใจก็คือ คนงานกำลังก่อสร้างถนน A 1เส้นใหญ่ พอผ่านไป 1 ปี ถนนเส้นนี้ยาวไป 10 กิโลเมตร ซึ่งตอนนี้ส่วนถนนที่คนงานกำลังก่อสร้างอยู่ในช่วง 10 เมตรคือลำหน้า แต่ตอนนี้ท่านนายกสั่งให้สร้างถนนแยกออกไปเป็น 2 ทางคือถนน B และ C อีก พอผ่านไปอีก 6 เดือนส่วนขยายถนนทั้ง 2 ถนนก็ยาวได้ 6 กิโลเมตร ตอนนี้ช่วง 6 เมตรสุดท้ายของทั้ง 2 ถนน C และ B ก็คือลำหน้า ทางด้านกิโลเมตรที่ 10 ถนน 1 เส้นแรกก็กลายเป็นลำเก่าไปโดยปริยาย ทีนี้ท่านนายกก็มีโครงการสร้างถนน B ยาวออกไปเรื่อยๆไม่มีกำหนด ส่วนถนน C ก็อาจจะให้แตกออกไปอีก 2 เส้นทางในอณาคตเป็นถนน D และ E หวังว่าเพื่อนๆคนจะพอเข้าใจการแตกกอของแคทลียา และการดูลำหน้า และลำหลัง เพราะผมเองก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายยังไงอีก +_+ ส่วนท่านที่มีกล้วยไม้สกุลแคทอยู่แล้ว คงจะพอทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น


การตัดแยกลำหน้า
ส่วนของลำหน้านั้นเป็นส่วนที่นิยมตัดแยกขยายมากที่สุด เพราะว่าลำนั้นยังสดใหม่ สามารถแตกราก และหน่อได้ดี ควรที่จะตัดลำที่เดินออกไปหน้าเดียวกัน ในลักษณะเป็นตัว L ติดกัน LLL ถ้าตัดส่วนที่เป็นลำหน้าไป 2 ลำในรูปแบบตัว Y ก็จะไม่ดีเพราะลำเก่าเพียงลำเดียวต้องส่งอาหารไปเลี้ยงถึง 2 ลำ หรือแย่งกันกินอาหาร ส่วนจำนวนความเหมาะสมที่จะตัดแยกขยายคือ 2 หรือ 3 ลำ เราก็ตัดโดยนับจากลำหน้าถอยมาอีก 2 ลำ รวมเป็น 3 ลำ ทั้งนี้เพราะถ้ามากกว่านี้จะทำให้ลำเก่าหลังๆที่ไม่สามารถหาอาหารเองได้ กลายเป็นตัวถ่วง คอยแย่งอาหารจากลำหน้า แถมลำเก่าๆยังไงก็ไม่ออกดอกอยู่แล้วเปลืองเนื้อที่มากๆ สรุปคือแยกจำนวนยิ่งน้อยยิ่งดี จำนวนที่เหมาะสมก็คือ 2 -3 ลำดังที่กล่าวไว้ข้างต้น หลายคนสงสัยอีกว่า 1 ลำได้ไหม ? คำตอบคือได้ แต่ต้องเลี้ยงดูให้ดี เพราะหน่อใหม่ที่จะเจริญจากตาของลำๆนี้ จะได้ขนาดประมาณเพียงครึ่งเดียวของลำๆนี้เท่านั้น และในลำต่อๆไปอาจจะใหญ่ขึ้นจากเดิมไม่มาก แต่การแยก 2-3 หน่อ หรือมากกว่านั้นนิดหน่อย ลำใหม่ที่เจริญมาจากตาของลำหน้านั้น จะมีขนาดใกล้เคียงลำเก่า และขนาดจะคงที่ หรือใหญ่กว่าในลำต่อๆไป


การตัดแยกลำหลัง
ในส่วนของลำหลัง หรือลำเก่า มักไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่ เพราะลำที่แก่มากๆ หรือลำที่มีอายุประมาณ 2-3 ปี หรือมากกว่านั้น(อาจจะมีอายุน้อยกว่านี้แต่ก็โทรมแล้ว) มักจะแตกรากได้มีดี เท่าลำหน้า และตาที่จะเจริญไปเป็นหน่อก็แทบไม่มีแล้ว หรือหน่อฝ่อไปแล้ว ทีนี้เราก็ต้องตัดแยกจำนวนลำเผื่อๆไว้ และไม่สมควรที่จะแยกลำท้ายลำเดียวไปปลูกอย่างยิ่ง เพราะโอกาสตายจะมีสูงมาก ลำท้ายที่สุดนี่จะมีโอกาสแตกราก หน่อน้อยที่สุดเลย เราก็ต้องดูความเป็นไปได้ โดยลำต่อๆไปจากลำท้ายสุด ก็จะมีโอกาสแตกรากมากกว่าขึ้นไปเรื่อยๆ ทีนี้จำนวนที่นิยมในการขยายพันธุ์สำหรับลำเก่าคือ 3 – 4 ไม่ควรน้อยกว่านี้ และไม่ควรมากกว่านี้ (จำนวนลำที่ควรแยกขยายนั้นไม่ได้ตายตัวนัก ผู้เลี้ยงอาจจะปรับเปลี่ยนได้ตามความสามารถ)



ข้อควรระวัง
- เวลาตัดแยกขยายแคทลียาควรระวังให้ดี ควรตัดให้เป็นแผลเดียว และให้แผลเรียบ ในส่วนของรากก็ควรแต่งให้เรียบ และไม่ต้องไว้ให้ยาวเกินความจำเป็น ตัดๆทิ้งไปบ้างให้เหลือประมาณ1-2 นิ้ว ส่วนรากที่ตายแล้ว(รากแห้งๆ) ก็ควรตัดทิ้ง หลังจากแยกขยายแคทลียาแล้วก็ควรรีบนำมาทำการแช่ยากันโรคต่างๆ หรือใช้แอลกอฮอลทาที่แผล และในท้ายที่สุดคือการปิดแผลโดยเอาปูนแดงมาทาแล้วรอให้แห้ง ส่วนถ้าใครหาปูนแดงไม่ได้ก็วางผึ่งไว้ให้แห้งโดยเร็ว(อย่าตากแดดนะ - -‘)


ข้อแนะนำก่อนนำไปปลูก
- พอเราตัดแต่งทำความสะอาด ทาปูนแดงปิดแผลเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการปลูก ไม่จำเป็นต้องรีบปลูกลงกระถาง และเอาไปผึ่งแดดตามปรกติ ทำแบบนี้ถ้าโรงเรือนมีความชื่นไม่พอกล้วยไม้ที่พึ่งตัดมาก็จะโทรมลงไปอีก ส่วนตัวผมเองก็มีวิธีการแก้ไขอยู่ คือ ให้เอาตระกร้าที่มีรูระบายน้ำได้มาเตรียมไว้ แล้วนำกาบมะพร้าวสับที่แช่น้ำแล้ว(หรือยังก็ได้) มาวางๆเอาไว้หนาๆ แล้วรดน้ำซ้ำลงไปอีก จากนั้นค่อยเอาแคทลียาที่พึ่งแยกออกมา มาวางไว้ โดยให้ส่วนโคนลำ(ส่วนที่จะแตกราก) ติดกับกาบมะพร้าว(ส่วนตัวผมใช้สแฟกนั่มมอส) จากนั้นก็รดน้ำทุกๆวัน หรือพอเห็นว่ากาบมะพร้าวเริ่มแห้งค่อยรดน้ำก็ได้ วิธีการนี้จะช่วยให้แคทลียารากแตกดี และเร็วขึ้น พอรากเริ่มงอกซัก 2 เซนติเมตร+ เราค่อยนำไปปลูก การที่เรานำไปไว้ในโรงเรือนเลย จะทำให้สูญเสียความชื้น และได้รับแสงแดดมากไป แคทลียาก็จะโทรมเพราะรากยังไม่งอก เลยยังหาอาหารเองไม่ได้

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (mericlone)
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือที่ชอบเรียกกันว่า “ปั่นตา” นั้นคือการ clone กล้วยไม้ต้นนั้นๆ ออกมา ซึ่งลักษณะจะเหมือนต้นแม่ทุกประการ แต่ก็อาจจะมีการกลายพันธุ์ไปบ้าง การปั่นตาจะสามารถทำให้ได้กล้วยไม้ชนิดนี้เพิ่มจำนวนขึ้นได้จำนวนมากๆ หรือตามต้องการ โดยการนำเนื้อเยื่อจากส่วนต่างๆ ของกล้วยไม้ เช่น ตายอด ตาข้าง ปลายใบอ่อน มาเลี้ยงด้วยอาหารสังเคราะห์ ในสภาพปลอดเชื้อและมีการควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต
ในส่วนของระยะเวลานั้นไม่แน่นอน แต่จะประมาณไว้ที่ 1 ปีอาจจะเร็วกว่านี้ หรือช้ากว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของส่วนที่นำมาปั่นตา อาการที่ใช้เพาะเลี้ยง สภาพของสถานที่เพาะเลี้ยง
ขั้นตอบปฏิบัติการ เริ่มจากการนำส่วนที่จะนำมาเพาะเนื้อเยื่อ ไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ผ่านำส่วนที่เหมาะสมมานำไปเลี้ยงในอาหารสูตรที่เหมาะสม ตานั้นจะมีส่วนที่เป็นโปรโตคอม โปรโตคอมนี้จะเจริญต่อเป็นใบ และลำต้น ต้องไม่ให้ส่วนที่นำมาเพาะเจริญไปเป็นต้น โดยจะให้เจริญไปเป็นโปรโตคอมต่อๆไปเรื่อยๆ ส่วนที่จะเจริญเป็นใบก็จะตัดทิ้ง ทั้งนี้ต้องเปลี่ยนอาหารทุกๆ 1-3 สัปดาห์ พอได้จำนวนโปรโตคอมที่ต้องการ เราก็นำโปรโตคอมเหล่านี้ไปถ่ายปลูกในขวดต่อไป และเมื่อมีใบ และลำต้นงอก ก็จะไปสู่กระบวนการถ่ายขวดอีกขั้นนึง





การขยายพันธุ์โดยการผสมเกสรและเพาะเมล็ด
(ให้ไปดูที่หมวดของหลักการผสม)




 

Create Date : 16 ตุลาคม 2548    
Last Update : 18 ตุลาคม 2548 17:55:37 น.
Counter : 11844 Pageviews.  

วิธีการปลูกแคทลียา

การปลูกนั้นจะส่งผลต่อการเจริญเติบต่อของแคทลียา ควรที่จะทำความเข้าใจในความต้องการของกล้วยไม้ชนิดนั้นๆ หรือถึงแม้จะเป็นกล้วยไม้ประเภทเดียวกัน ก็ยังมีความต้องการไม่เหมือนกัน จึงต้องปรับแปลงวิธีการปลูกให้เหมาะสม

ภาชนะปลูก
ประเทศไทยเราที่เห็นนิยมมากๆ ก็จะมีอยู่ 2 อย่างคือ กระถางดินเผา กับกระถางพลาสติก ส่วนพวกขอนไม้ หรือเครื่องปลูกต่างๆ นั้นไม่ค่อยนิยมสำหรับแคทลียาซักเท่าไหร่

กระถางดินเผา - กระถางดินเผาก็มีหลายขนาดด้วยกัน แล้วแต่ขนาดของแคทลียาด้วย โดยมากนิยมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-6 นิ้ว ส่วนความสูง ไม่ควรสูงมากสำหรับแคทที่ใช้เครื่องปลูกด้วยถ่าน หรือวัสดุปลูกที่แห้งๆ กักความชื้นได้น้อย ขนาดที่เหมาะสมควรสูงราวๆ 2-4 นิ้วก็เพียงพอ

กระถางพลาสติก - อันนี้เป็นที่นิยมมาก ในกลุ่มของกล้วยไม้เศรษฐกิจ เพราะขนส่งง่าย ราคาไม่แพง และมีหลายขนาดให้เลือก แต่ก็เก็บความชื้นได้น้อย ควรหาเครื่องปลูกที่เหมาะสมด้วย ส่วนตัวแล้วคิดว่ากาบมะพร้าวเกมาะสมที่สุด



วัสดุปลูก
วัสดุที่ใส่ลงไปในภาชนะที่ใช้ปลูกกล้วยไม้ เป็นที่เก็บอาหาร เก็บความชื้น หรือปุ๋ยของกล้วยไม้ และเพื่อให้รากของกล้วยไม้เกาะ ลำต้นจะได้ตั้งอยู่ได้ เครื่องปลูกที่เหมาะสมกับลักษณะการเจริญเติบโตของรากกล้วยไม้จะทำให้กล้วยไม้เจริญเติบโตได้ดีและแข็งแรง เครื่องปลูกที่นิยมใช้มีดังนี้

ออสมันด้า - เป็นส่วนรากของเฟิร์นบางชนิด ลักษณะเป็นเส้นดำๆ ออสมันด้าสามารถกักความชื้นได้ดีปานกลาง เครื่องปลูกนี้เป็นที่นิยมมากในประเทศไต้หวัน และไทยก็เช่นกัน แต่ก็เริ่มลดความนิยมลงไปเรื่อยๆด้วย ข้อเสียคือ มักจะเป็นราได้ง่าย ก่อนใช้ให้นำไปแช่ยากันรา หรือต้มเสียก่อน

กาบมะพร้าว - เครื่องปลูกชนิดนี้เป็นที่นิยมในไทยมากๆ ราคาถูก เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อการค้าขาย เพราะกาบมพะร้าวจะเสื่อมเร็ว กาบมะพร้าวสามารถกักความชื้นได้ดี แต่ถ้าไม่ระวังก็อาจจะเกิดราขึ้นได้ง่ายด้วย ต้องรดยากันเชื้อราตลอดระหว่างการปลูกเลี้ยง กาบมะพร้าวเหมาะมากที่จะใช้กับวัสดุปลูกอย่าง กระถางพลาสติก เพราะจะทำให้ระบายความชื้นได้ดีไปแฉะเกินไป ก่อนนำมาใช้ให้แช่น้ำไว้ 1 หรือ 2 วัน ให้น้ำซึมซับไปได้ทั่ว

ถ่าน - ในความเห็นส่วนตัว คิดว่าถ่านเป็นเครื่องปลูกที่เหมาะที่สุดในการปลูกเลี้ยงแคทลียา ในสภาพแวดล้อมของไทย เพราะมีอายุการใช้งานยาวนาน กักความชื้นได้พอสมควร ภาชนะปลูกที่เหมาะสม คงเป็นกระถางดินเผา ถ้าเป็นพลาสติกก็จะแห้งเกินไป ถ่านขนาดที่เหมาะสมควรจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 1 นิ้ว เพื่อจะให้รากกล้วยไม้เกาะได้ดี และกระจายไปได้ทั่วกระถาง (ไม่ควรใช้เศษๆถ่านที่เล็กกว่านี้ เพราะจะกระเด็นหล่นหมดเมื่อรดน้ำ และทำให้รักษาความชื้อได้ไม่ดีด้วย) ก่อนนำมาใช้ ให้นำไปแช่น้ำซัก 1 อาทิตย์ เพื่อขจัดเศษๆผงถ่าน และลดความเป็นด่างด้วย)

เศษอิฐ หรือเศษกระถางดินเผา - คุณสมบัติจะคล้ายๆกับถ่าน แต่จะกัก และระบายความชื้นได้ดีกว่าถ่าน ควรใช้กับกระถางดินเผา

สแฟกนั่มมอส - เป็นเฟิร์นชนิดนึงที่ตายแล้ว เป็นเส้นๆ ซึ่งผ่านการอบฆ่าเชื้อมาแล้ว เครื่องปลูกชนิดนี้กำลังเป็นที่นิยม เพราะสามารถกักความชื้อได้ดีมาก แคทลียาจะแตกรากเร็วมาก เหมาะสำหรับปลูกแคทลียาแบบในโรงเรือนปิด คือสามารถควบคุมน้ำได้ เพราะถ้าฝนตกจะทำให้แฉะเกิน และจะมีการเน่าตามมา แต่ผู้เขียนทดลองปลูกกับไม้ size นิ้วแล้วไม่มีปัญหา สามารถใช้ได้ ส่วนข้อเสียที่เด่นๆเลยก็คือ.... มันแพงอะ.. T_T


วิธีการปลูก
การออกขวดแคทลียา
เริ่มจากเตรียมถ่างน้ำตื้นๆ ใส่น้ำเอาไว้ จากนั้นดูว่ากล้วยไม้ในขวดเติมโตได้ขนาดเหมาะสม ถ้าใช้ได้ให้นำขวดมาทุบบริเวณส่วนของก้นขวด ก่อนทุบให้เขย่าๆ ให้กล้วยไม้ดันมาที่หัวขวด ซึ่งบริเวณที่จะทุบกล้วยไม้จะได้ไม่ช้ำ แล้วค่อยๆเทกล้วยไม้ออกมาใส่ในอ่างที่เตรียมไว้ แล้วค่อยๆแยกวุ้นออกจากรากกล้วยไม้ ควรระวังไม่ให้รากกล้วยไม้ช้ำ หรือหลุด จากนั้นก็อาจจะนำไปแช่ยากันราต่อ หรือใส่ยากันเชื้อราลงไปเลยในขั้นตอนแยกวุ้นออก

การปลูกกล้วยไม้ขนาดเล็ก
ภาชนะปลูกที่เหมาะสมกับขนาด คงเป็นกระถางดินเผาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว การปลูกโดยการนำวัสดุปลูกมาพันรอบๆ รากกล้วยไม้ให้อยู่ตรงกลาง ระวังอย่าให้ช้ำเกินไป และกะจำนวนวัสดุปลูกให้ใส่ลงไปในภาชนะปลูกได้พอดี โดยที่กล้วยไม้ไม่ขยับหลุดออกมาได้ จากนั้นก็ยัดลงไปในกระถางดินเผา

การปลูกกล้วยไม้ขนาดใหญ่
สำหรับกระถางที่ใช้วัสดุปลูกเป็นกาบมะพร้าว ให้ทำแบบเดียวกับวิถีของการปลูกกล้วยไม้ขนาดเล็ก เพียงแต่จะต้องแน่ใจว่า ลำกล้วยไม้ที่แยกขยายมามีรากติดมาด้วยเล็กน้อย เพื่อจะได้เอาไว้หนีบกับกาบมะพร้าว หรือจะไม่ต้องมีรากก็ได้ แต่ต้องมัดลำกล้วยไม้ติดกับลวดแขวนด้วย ส่วนตำแหน่งที่วาง ควรจะให้ลำหน้าสุดอยู่บริเวณตรงกลาง เพื่อจะได้ไม่แตกหน่อ ออกไปนอกกระถางเร็วถ้าเอาลำหน้าไว้ริมๆ และบริเวณส่วนโคนไม่ควรจมลงไปในกาบมะพร้าว ควรจะวางให้ห่างซักเล็กน้อย หรือวางทับลงไป
สำหรับกระถางดินเผาที่เหมาะใช้กับวัสดุปลูกเป็นพวกถ่าน เศษอิฐ หรือเครื่องปลูกผสมอื่นๆ นำกระถางมาเตรียมใส่ลวดแขวนให้เรียบร้อย จากนั้นให้เอากาบมะพร้าวสับรองก้นกระถางซัก 0.5-1 นิ้ว เพื่อเพิ่มความชื้น แต่ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง หรือฝนตกบ่อย อย่างภาคเหนือ และใต้ ไม่จำเป็นต้องใช้กาบมะพร้าวสับก็ได้ จากนั้นก็นำถ่านขนาดพอเหมาะ(เส้นถ่านศูนย์กลาง 1 นิ้วขึ้นไป) ใส่ๆลงไปในกระถาง โดยเหลือพื้นที่ไว้ซัก 0.5 หรือ 1 นิ้วบริเวณขอบกระถาง จากนั้นก็วางตำแหน่งลำหน้าให้ดี คือให้อยู่บริเวณตรงกลางกระถาง และใช้ลวดยึดลำกล้วยไม้ไว้กับลวดแขวน ส่วนบริเวณโคนลำสามารถวางติดกับวัสดุปลูกได้เลย

ข้อแนะนำ
- กล้วยไม้ที่พึ่งผ่านำมาปลูก ไม่ต้องใจร้อนรีบนำมาปลูกลงกระถาง ให้ทำตามวิธีข้อควรระวังในหมวดการตัดแยกลำหน้า และหลัง




 

Create Date : 16 ตุลาคม 2548    
Last Update : 18 ตุลาคม 2548 18:02:02 น.
Counter : 5052 Pageviews.  


Darth Zomo
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Darth Zomo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.