Group Blog
 
All Blogs
 

Life of Pi : พบพระเจ้า .... ในสรรพสิ่งและทุกจังหวะของชีวิต

Lifeof Pi :

พบพระเจ้า .... ในสรรพสิ่งและทุกจังหวะของชีวิต

เมื่อหลายปีก่อนผมเห็นปกหนังสือเรื่อง Life of Pi ครั้งแรก ระหว่างเดินทางไกลครั้งหนึ่ง เหลือบเห็นฝรั่งที่นั่งข้างๆกำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ เป็นหนังสือที่มีหน้าปกสีสันสวยงาม เป็นรูปเสือนอนอยู่บนเรือลำเล็กลอยอยู่กลางทะเลสีน้ำเงินสดต่อมาจึงทราบว่าเล่มนี้เป็นหนังสือยอดนิยมเรื่องหนึ่งและมีแปลเป็นไทยแล้วด้วยแต่ด้วยความเข้าใจผิด เฉกเช่นคนเรามักจะเข้าใจอะไรกันผิดง่ายๆ เพราะมีคำว่าPi ( π)ทำให้คิดไปว่าหนังสือเล่มนี้ต้องเกี่ยวข้องกับเลขคณิตหรือการคำนวณ ซึ่งเป็นวิชาที่ค่อนข้างเข็ดขยาดตั้งแต่สอบตกวิชานี้ตอนมัธยม๓ จึงยังไม่ขวนขวายหามาอ่าน อีกหลายปีต่อมาเมื่อหนังเรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงสู่โลกภาพยนตร์โดยอั้ง ลี่ (Ang Lee) หรือ หลี่อันผู้กำกับชาวไต้หวันที่มาร่ำเรียนจนจบปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกาและทำหนังคุณภาพหลายเรื่องปัจจุบันก็ยังตั้งรกรากในอเมริกา ซึ่งตัวอย่างหนัง Life of Pi ทำออกมาได้สวยงามและน่าจะเป็นหนังผจญภัยที่สนุกเรื่องหนึ่ง จนไม่น่าจะพลาดด้วยประการทั้งปวง

Lifeof Pi ดัดแปลงจากงานเขียนของ ยานน์ มาร์เทล (YannMartel) นักเขียนแคนาเดี้ยน แปลเป็นไทยโดย ตะวัน พงศ์บุรุษในชื่อ “การเดินทางของพาย พาเทล” เล่าเรื่องของเด็กหนุ่ม พิสซีนโมลิตอร์ พาเทล หรือเพื่อนๆ เรียกเขาว่า พาย พาเทล (ตอนเป็นวัยรุ่นแสดงโดยสุรัช ชามาน) เกิดที่เมืองพอนดิเชอร์รี ประเทศอินเดีย คุณพ่อชื่อ สันโดษเป็นผู้อำนวยการสวนสัตว์ของเมือง ส่วนแม่ชื่อ คีตา และมีพี่ชายหนึ่งคนคือ ระวีครอบครัวเขาไม่ได้เคร่งศาสนานัก แต่เด็กชายพาเทลกลับเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาฮินดูและต่อมาก็ได้ทำความรู้จักอีกสองศาสนา คือ ศาสนาคริสต์ คาทอลิก หลังจากได้พูดคุยกับบาทหลวงใจดีคุณพ่อมาร์ติน (แอนเดรียล ดี สเตฟาโน) ตอนที่พ่อแม่พาไปเที่ยวที่เมืองมุนนาร์ ท่านเล่าประวัติของพระเยซูให้ฟังถึงความเสียสละของพระบุตรของพระเจ้า ที่ยอมตายเพื่อไถ่บาปมนุษย์ ตอนแรกแม้จะรับฟังด้วยความสงสัยกังขาแต่ก่อนจะกลับบ้านนั้นเขาได้ขอบาทหลวง ช่วยทำให้เขาเป็นชาวคริสต์ด้วย คุณพ่อตอบว่า “ลูกเป็นชาวคริสต์อยู่แล้ว พิสซีนเอ๋ยในหัวใจนั้นลูกเป็นคริสต์ ผู้ใดมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ผู้นั้นนับเป็นชาวคริสต์ลูกพบพระเยซูคริสต์ในมุนนาร์แล้ว”

ต่อมาเขามีโอกาสศึกษาศาสนาอิสลามจากคุณน้าคนหนึ่งซึ่งเป็นคนทำขนมปัง จากนั้นเขาจึงไปมัสยิดทุกวันศุกร์เข้าโบสถ์วันอาทิตย์ และยังคงไปวัดแขกแม้หลายคนจะไม่เข้าใจว่าเด็กอย่างเขาจะนับถือศาสนาทีเดียวพร้อมกันทั้งสามศาสนาได้อย่างไร ซึ่งเขาตอบข้อสงสัยของทั้ง พราหมณ์บาทหลวงและอิหม่ามที่บ้านเกิดว่า ทำไมเขานับถือถึงสามศาสนาว่า “ท่านลุงคานธี (มหาตมะ คานธี) บอกว่า ‘ทุกศาสนาล้วนเป็นสัจจะ’ ผมแค่อยากจะรักพระเจ้าครับ”

ในประเด็นเกี่ยวกับศาสนานี้ หนังสือ Life of Pi ก็ให้ให้คุณลุงชื่อฟรานซิส อะดิรุบาสามี เล่าเรื่องของพายให้กับนักเขียนชาวแคนาดาที่พบกันในร้านกาแฟที่เมืองพอนดิเชอร์รีโดยเริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า “ฉันมีเรื่องเล่าจะเล่า ฟังแล้วคุณจะมีศรัทธาในพระเจ้านะ” เขาเองให้สัมภาษณ์นิตยสาร TheHollywood Reporter ว่าดีใจมากที่เรื่องจิตวิญญาณหรือเรื่องศาสนาได้รับการถ่ายทอดสู่โลกของภาพยนตร์เพราะว่า “หลายๆคน ยังไม่เข้าใจในความคิดเรื่องของความอดทนอดกลั้น การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ใช่ว่าทุกคนที่นับถือศาสนาจะต้องเป็นพวกคลั่งไคล้แบบสุดโต่งไม่ใช่ว่าคริสตชนทุกคนจะต้องไปฆ่านายแพทย์ที่รับทำแท้ง และไม่ใช่ว่ามุสลิมทุกคนจะต้องติดระเบิดไว้ที่หน้าอกแล้วพร้อมจะดึงสลักเพื่อระเบิดตัวเอง แต่ยังมีศาสนิกชนอีกมากที่นับถือศาสนาด้วยทางสายกลางพวกเขามีความสุขเมื่อได้สัมผัสถึงการดำรงอยู่ของพระเป็นเจ้า เขาไม่นิยมความรุนแรงอย่างแน่นอนและไม่ตัดสินคนอื่นแต่คุณจะไม่ค่อยได้เห็นข่าวของพวกเขามากนัก เพราะส่วนใหญ่จะได้ยินแต่เรื่องของคนที่นับถือศาสนาแบบสุดโต่งมากกว่า”

และในการพูดคุยกับนักอ่านในเว็บไซต์เกี่ยวกับหนังสือที่ชื่อwrittenvoices.com เมื่อถูกถามว่าเขาเป็นคนนับถือศาสนาหรือไม่เขาตอบว่า เขานับถือศาสนาแต่นับถือด้วยใจที่เปิดกว้างแน่นอนว่าเขาเองก็ยังมีความสงสัยบางเรื่องในศาสนาเช่นกันซึ่งก็เป็นเรื่องดีเพราะทำให้ความเชื่อมีชีวิตชีวา ตัวเขาไปร่วมมิสซาทุกวันอาทิตย์แต่ก็ยังรักที่จะไปสุเหร่าด้วยเพราะท่วงทำนองการสวดของมุสลิมสวยงามมาก …..

เรามาติดตามชีวิตของพายกันต่อจุดหักเหในชีวิตก็คือเมื่อกิจการสวนสัตว์ของพ่อประสบปัญหาเทศบาลเมืองไม่อุดหนุนต่อไป พ่อจึงตัดสินใจขายสัตว์ไปให้สวนสัตว์ต่างๆ และครอบครัวจะไปตั้งตนชีวิตใหม่ที่ประเทศแคนาดาแต่ระหว่างการเดินทางบนเรือสินค้าญี่ปุ่นชื่อซิมซัม เรือผจญกับคลื่นลมพายุและจมลงเขาหนีลงเรือชูชีพมาได้และมีสัตว์จำนวนหนึ่งที่หนีขึ้นเรือเล็กมากับเขาด้วย ได้แก่ม้าลายขาหัก,ไฮยีน่า, แม่ลิงอุรังอุตังชรา ชื่อ ออเรนจ์จูซ และตัวที่มาอยู่บนเรืออย่างไม่คาดคิดคือ เจ้าเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลวัยสามปีชื่อว่า “ริชาร์ด พาร์กเกอร์”

บนเรือเล็กกลางทะเลเช่นนี้ไม่ใช่สวนสัตว์ที่สัตว์ทุกตัวจะมีคนดูแลให้ได้กินอิ่มนอนอุ่นเพียงเวลาไม่กี่วันผู้โดยสารจึงเหลือพายกับริชาร์ดเท่านั้น ซึ่งพายต้องทำทุกวิถีทางที่จะรักษาชีวิตรอดให้ได้จนกว่าจะมีเรือสักลำผ่านมาพบหรือได้ขึ้นฝั่ง พายเลือกหาวัสดุที่มีบนเรือต่อเป็นแพแล้วผูกโยงไว้กับเรือเพื่อป้องกันตัวจากเจ้าเสือกินขนมปังและน้ำที่มีบนเรืออย่างจำกัดที่สุด และใช้วิธีเดียวกับคณะละครสัตว์เพื่อควบคุมไม่ให้เจ้าลายพาดกลอนกินเขาเป็นอาหารเช่น ใช้เสียงนกหวีดพร้อมกับให้เรือโคลงเพื่อให้ริชาร์ดเมาคลื่น และกำหนดอาณาเขตบนเรือระหว่างเขากับเสือจากวันเป็นเดือนและหลายเดือน เขายังมีน้ำแก้กระหายจากอุปกรณ์บนเรือที่มีและจากฟ้าฝนแต่ที่เป็นปัญหาก็คืออาหารสำหรับปากท้องของเขาเองและริชาร์ด จากที่กินมังสวิรัติมาตลอดพายจึงต้องกลายร่างมาเป็นชาวประมงจำเป็น ใช้เบ็ดตกปลา ฆ่าเอง กินทั้งสดๆและแตกแห้งเก็บเอาไว้ ทั้งยังต้องไม่ลืมเผื่อแผ่อาหารให้กับเสือด้วย (ในหนังสือบรรยายฉากฆ่าปลาอย่างละเอียดนอกจากปลาแล้วเขายังกินเต่าด้วย)

แต่ในวันที่ย่ำแย่ทั้งร่างกายและจิตใจเขาก็ได้พบเกาะแห่งหนึ่งที่ค่อนข้างแปลกประหลาด มีสาหร่ายขึ้นปกคลุมเต็มเกาะและเต็มไปด้วยตัว เมียร์แคต แต่แทนที่จะเป็นเกาะสวรรค์ที่มีทั้งอาหารและน้ำจืดในที่สุดเขาก็พบความจริงว่าเกาะแห่งนี้เมื่อถึงเวลากลางคืนจะคายกรดออกมาและกลืนกินสรรพสัตว์ทั้งหลาย เขาจึงต้องออกเดินทางต่อและไม่ลืมที่จะเรียกริชาร์ดขึ้นเรือด้วยและในที่สุดก็ได้มาขึ้นฝั่งที่เมืองโตมาตลัน ประเทศเม็กซิโก แต่สิ่งหนึ่งที่พายเสียใจมากคือในวันที่ได้ขึ้นฝั่งนั้น เจ้าริชาร์ดเดินมุ่งตรงเข้าป่าไป โดยไม่แม้แต่จะหันกลับมามองเขาเพื่อร่ำลากันเลย

ผลงานหนังของหลี่อัน หลายเรื่องเราจะพบกับตัวละครที่ต้องมีสองตัวตนในคนเดียวกันหรือไม่อาจแสดงอัตลักษณ์ ความคิด ความรัก ความรู้สึกของตนออกมาได้อย่างเต็มที่เพราะต้องเผชิญกับกรอบกำแพงของสังคม วัฒนธรรม ประเพณี เช่นตัวละคร เอลินอร์แดชวู้ด ใน Sense and Sensibility แม้จะมีความรัก แต่ก็เป็นรักที่ซ่อนเร้นแสดงออกไม่ได้ด้วยสถานะที่เป็นพี่คนโต ต้องเป็นหลักในครอบครัวที่ขาดพ่อ และด้วยฐานะทางการเงินที่ด้อยกว่าฝ่ายชายหรือตัวละครหลักทั้งใน The Wedding Banquet และ BrokebackMountain แม้จะเป็นผู้ชายที่ไม่ได้ชอบเพศตรงข้ามแต่ก็ต้องแสดงให้ครอบครัวหรือสังคมเห็นผ่านการแต่งงานว่าพวกเขาก็มีภรรยา ส่วนใน Hulk เรายิ่งเห็นชัดเจนถึงสองบุคลิกที่อยู่ในตัวของนักวิจัย บรูซแบนเนอร์ ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อในเหตุผล สุขุมรอบคอบปั่นจักรยานมาทำงาน แต่เมื่อถูกกระตุ้นให้โกรธ เขาก็กลายร่างเป็นยักษ์เขียวจอมก้าวร้าวทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า

ส่วนชีวิตของพายในLifeof Pi ในช่วงที่อยู่บ้านเกิดที่เมืองพอนดิเชอร์รีแม้จะไม่ใช่ชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง แต่ก็เป็นครอบครัวชนชั้นกลางที่ค่อนข้างสุขสบายอบอุ่นอยู่กันพร้อมหน้า พ่อ แม่ พี่ชาย มีพ่อแม่ที่สั่งสอนอบรมให้บทเรียนแต่ก็ให้อิสรเสรีกับลูกด้วย ได้พบกับคนดีๆ ในชีวิตเช่นลุงหรือ“มามาจิ” ที่ชื่อ ฟราสซิส อะดิรุบาสามี ที่สอนเขาว่ายน้ำ และมี ครูสาทิสกุมาร เป็นครูในดวงใจ แม้ครูท่านนั้นจะมีแนวคิดอเทวนิยม แตกต่างจากเขา เขาได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติและสัตว์น้อยใหญ่ในสวนสัตว์และได้พบพระเจ้าในสามศาสนา แต่เมื่อคุณค่าทุกอย่างในชีวิตต้องมาอันตรธานไปต่อหน้าต่อตาพร้อมกับการล่มของเรือซิมซัมซึ่งเขาเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมต้องมาพบกับชะตากรรมเช่นนี้เช่นเดียวกับที่เราไม่อาจทราบว่าเหตุใดเรือลำนี้ถึงได้จมลง ในวันที่เหลือแต่เพียงเรือชูชีพอาหารและน้ำจำนวนหนึ่ง เขาจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง แสดงอีกตัวตนหนึ่งออกมา

จากชีวิตที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา ไม่เคยเผชิญความยากลำบากอะไร แต่เพื่อความอยู่รอดของชีวิต จากที่ไม่เคยเบียดเบียนชีวิตใดก็ต้องเป็นผู้ล่าเข่นฆ่าชีวิตในท้องทะเลทุกอย่างที่หาได้เพื่อประทังความหิวโหยและหาวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันกันสัตว์กินเนื้อให้ได้ แต่ก็ยังไม่ละทิ้งความเชื่อในศาสนาเช่น ขอบคุณพระวิษณุที่แปลงร่างมาเป็นปลาเพื่อให้เขาจับกินเป็นอาหาร และเวลายากลำบากในท้องทะเลเช่นนี้เขาก็ยังค้นพบความงดงามของธรรมชาติหรือพบพระเจ้าในสรรพสิ่งทั้งหลาย ในความงดงามยามตะวันขึ้น ตะวันตกยามเมื่อสายฟ้าผ่าเป็นเส้นสายสวยงามลงกลางทะเล ปลาโลมาที่กระโจนขึ้นลงข้างๆ เรือฝูงปลาบินที่พุ่งมาปะทะเรือ ปลาวาฬร่างยักษ์ที่ดวงตาเท่ากับศีรษะของมนุษย์ แมงกะพรุนเรืองแสงยามค่ำคืนแต่แม้จะยากลำบากเจียนตายอย่างไรเขาก็ยังไม่หมดหวังในชีวิต ไม่เคยคิดจะฆ่าตัวตายแม้แต่ครั้งเดียวและยังห่วงใยให้อาหารและน้ำกับริชาร์ดอย่างสม่ำเสมอ ชนิดที่อิ่มก็อิ่มด้วยกัน อดก็อดด้วยกันเพราะริชาร์ดเป็นสิ่งมีชีวิตร่วมชะตากรรมเดียวที่เขามี และเชื่อในพระญาณสองส่องของพระเจ้าที่เฝ้าดูแลเขาอยู่เสมอและมีความหวังว่าจะต้องผ่านบททดสอบแสนยากเข็ญนี้ไปได้ในที่สุด

พายมีชีวิตรอดในท้องทะเลอยู่นานกว่าเจ็ดเดือนแม้หลายครั้งเขาเกือบจะพ่ายแพ้ต่ออุปสรรค ความยากลำบากที่เผชิญอยู่ตรงหน้า แต่เพราะเขาได้ยินเสียงจากหัวใจที่ว่า“ฉันต้องไม่ตาย จะฝ่าฟันฝันร้ายนี้ จะร้ายแค่ไหนก็ไม่หวั่น ฉันอยู่รอดได้นานขนาดนี้นับเป็นเรื่องปาฏิหาริย์จากนี้ไปฉันจะสร้างปาฏิหาริย์ให้เป็นกิจวัตร....จะสู้อย่างสุดความสามารถตราบใดที่พระเจ้ายังสถิตอยู่เคียงข้าง ฉันจะไม่ตาย อาแมน” รวมไปถึงจิตใจที่เข้าถึงการดับทุกข์ตามแนวคำสอนของพุทธศาสนา “ผมรู้แจ้งถึงความทุกข์รู้ว่าทุกข์นั้นมีเกิดก็มีดับ ความรู้นี้ทำให้ใจสงบ ผมตระหนักว่าความทุกข์เกิดที่นี่ ดับที่นี่ ไม่มีที่อื่นอีก เป็นความจริงซึ่งผมยอมรับโดยดุษณี”




 

Create Date : 02 เมษายน 2556    
Last Update : 2 เมษายน 2556 17:30:47 น.
Counter : 3116 Pageviews.  

Silver Lining Playbook --- หลังก้อนเมฆ ยังมีแสงสีเงิน


SilverLining Playbook

หลังก้อนเมฆยังมีแสงสีเงิน

รางวัลอคาเดมี่อวอร์ด หรือ ออสก้าร์ในปีนี้เรียกได้ว่าเฉลี่ยรางวัลกันไปสำหรับหนังที่ได้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมทั้งเก้าเรื่อง ต่างได้ตุ๊กตาทองไม่สาขาเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังโดยมีเพียงเรื่องเดียวที่ไม่ได้ออสก้าร์เลยก็คือ Beasts of the SouthernWind แต่ถือว่าการได้เสนอชื่อเข้าชิงออสก้าร์สี่สาขาก็ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นแต่หนังเรื่องนี้ยังไม่มีโปรแกรมเข้าฉายในบ้านเรา เช่นเดียวกับเรื่อง Lincoln ที่แดเนียล เดย์ ลูว์อิส นักแสดงชาวอังกฤษ คว้าออสก้าร์ตัวที่สามในสาขานักแสดงนำชายไปได้สำเร็จ

เพียงไม่กี่วันก่อนประกาศรางวัลออสก้าร์หนังเรื่อง Silver Linings Playbook เข้าฉายในบ้านเราให้คนดูได้พิสูจน์ว่า เหตุไฉนหนังเรื่องนี้จึงได้เข้าชิงออสก้าร์ถึงแปดสาขา นอกจากหนังยอดเยี่ยมผู้กำกับ บท ลำดับภาพ ในสาขานักแสดงก็ได้เข้าชิงครบทั้งสี่สาขา ทั้งๆ ที่ก่อนดูหนังเรื่องนี้เราอาจจะเรียกชื่อหนังไม่ถูกด้วยซ้ำและยังไม่เข้าใจว่าชื่อหนังหมายความว่าอย่างไรแต่หนังที่มีชื่อของนักแสดงรุ่นเก๋าอย่าง โรเบิร์ต เดอ นีโร มีนักแสดงหญิงที่กำลังรุ่งอย่าง เจนนิเฟอร์ลอว์เลนซ์ ที่เคยเข้าชิงออสก้าร์มาแล้วจาก Winter’s Bone และเป็นขวัญใจวัยรุ่นในThe Hunger Games รวมทั้งยังมี แบรดลีย์ คูเปอร์ ที่หลายคนติดใจบทที่รั่วได้ใจของเขาในThe Hangover ภาคแรก ส่วนผู้กำกับและเขียนบทของหนังเรื่องนี้ก็คือ เดวิด โอ.รัสเซลล์ ซึ่งหนังก่อนหน้านี้ของเขาคือ The Fighter(2010) ก็คว้าออสก้าร์ในสาขานักแสดงสมทบทั้งชายและหญิงมาได้ (คริสเตียนเบล/เมลิสสา ลีโอ)

SilverLinings Playbook ดัดแปลงจากหนังสือของ แมตธิว ควิก เล่าเรื่องของหนุ่มใหญ่ที่ชื่อ แพท (คูเปอร์)มีอาชีพเป็นครู แต่ต่อมาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น bipolar disorder (โรคอารมณ์สองขั้ว) อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย บางวันซึมเศร้า บางวันก็สุขล้น ยากที่จะควบคุมการกระทำของตัวเองโดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนใจที่พบว่า ภรรยาของตนมีชู้และเข้าทำร้ายชายคนนั้นซึ่งก็เป็นครูเช่นกันทั้งยังอายุมากกว่าเขาอีกต่อมายังโทร.ไปบอกตำรวจว่าชายคนนั้นกับภรรยาของตนยักยอกเงินของโรงเรียนซึ่งแพทบอกว่าเขาทำเช่นนั้นเพราะเห็นภาพหลอน หลังจากคำสั่งศาลให้ส่งตัวเขาไปรักษาที่สถาบันสุขภาพทางจิตที่บัลติมอร์อยู่แปดเดือน โดโลเรส (แจ๊กกี้ วีเวอร์) แม่ของเขาก็ไปขอรับตัวลูกชายกลับมาอยู่บ้านแต่ก็มีข้อตกลงว่าเขาต้องกินยา ทั้งที่เมื่ออยู่โรงพยาบาล แพทก็ไม่ยอมกินยาเพราะเขาบอกว่ากินแล้วหัวตื้อๆ และเขาจะต้องไปบำบัดกับจิตแพทย์เป็นประจำ

แพทผู้มีคำขวัญประจำตัวว่าExcelsior ที่หมายถึงยิ่งเจริญ ยิ่งดี เชื่อว่าเขาจะกลับมาดำเนินชีวิตปกติได้อีกครั้งไปเป็นครูสอนที่โรงเรียนเดิม ได้กลับไปอยู่กับ นิกกี้ (บรีอา บี) ภรรยาของเขา แต่เพียงไม่กี่ฉากในหนังเราก็ทราบว่าแพทยังไม่อยู่ในภาวะปกติเช่น ตอนที่แม่ไปรับ เขาก็บอกให้รับเพื่อนที่ชื่อ แดนนี่ (คริส ทักเกอร์ ที่หายหน้าหายตาไปนาน ถ้าไม่นับหนังRush Hour ทั้งสามภาค เขาก็ไม่ได้เล่นหนังเรื่องอื่นเลย) ขึ้นรถไปด้วย โกหกว่าโรงพยาบาลให้กลับบ้านได้ทั้งยังไปจับพวงมาลัยรถจนเกือบประสบอุบัติเหตุ ส่วนสิ่งแรกที่แพทอยากทำเมื่อมาถึงบ้านเกิดก็คือบอกแม่ให้ตรงไปห้องสมุดเพื่อยืมหนังสือของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ เพราะอยากรู้ว่าอดีตภรรยาสอนให้นักเรียนอ่านเกี่ยวกับเรื่องอะไรแต่เมื่ออ่านหนังสือของเฮอร์มิวเวย์ที่ชื่อ A Farewellto Arms (รักระหว่างรบ) ก็หงุดหงิดหัวเสียไม่เห็นด้วยกับคนเขียน ปาหนังสือออกนอกบ้านจนกระจกแตก และเข้าไปบ่นเรื่องนี้ในห้องพ่อแม่ทั้งที่เป็นเวลาตีสี่แล้วหรือเมื่อไปหาจิตแพทย์เชื้อสายอินเดีย ดร.คลิฟฟ์ พาเทล (อนุพัน เคอร์) แล้วได้ยินเพลง MyCherie Amour ของ สตีวี่ วอนเดอร์ ก็รับไม่ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ปิดเพลงนี้ เพราะเป็นเพลงที่ใช้ในวันแต่งงานของเขาแต่กลับเป็นเพลงที่เขาได้ยินตอนที่ภรรยาไปมีอะไรกับครูสอนประวัติศาสตร์ในบ้าน

การที่แพทควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้นึกอยากจะทำอะไรก็ทำทันที อยากจะได้อะไรก็ต้องได้เดี๋ยวนั้น น่าจะเป็นผลจากความสะเทือนใจเรื่องภรรยาและจากครอบครัวเขาเอง โดยเฉพาะพ่อ แพทซีเนียร์ (เดอ นี โร) ที่มีพฤติกรรมรุนแรงอยู่ไม่น้อย เพราะเคยมีเรื่องชกต่อยจนถูกห้ามเข้าสนามอเมริกันฟุตบอลของทีม ฟีลาเดลเฟีย อีเกิ้ลส์ ทั้งที่เขาเป็นแฟนตัวยงของทีมนี้ที่เฝ้าติดตามการแข่งขันของทีมทุกแม็ตซ์ เวลาอยู่บ้านก็ใส่เสื้อโปโลหรือเสื้อแจ็คเก็ตของทีมตลอด ปัจจุบันก็หารายได้ด้วยการรับแทงพนันฟุตบอล และมีความฝันที่จะเปิดร้านอาหารและพ่อยังมีอาการย้ำคิดย้ำทำด้วย ส่วนพี่ชายของแพทคือ เจค (เชีย วิคแฮม) ก็ไม่น่าจะมีส่วนช่วยเขาได้มากนักฉากสั้นๆ ที่พี่น้องคุยกัน พี่ก็มีแต่เรื่องที่ยกขึ้นมาคุยข่มน้อง คนที่ปกติที่สุดในบ้านจึงเหลือเพียงแต่แม่

แต่แพทก็ยังมีเพื่อนที่ไม่ทอดทิ้งเขาคือรอนนี่ (จอห์น ออร์ทิซ) แม้จะดูกลัวอาการผิดปกติของเขาอยู่บ้างแต่ก็เอ่ยปากชวนแพทมากินข้าวเย็นที่บ้านกับภรรยา เวโรนิก้า (จูเลีย สไตลส์)และเชิญน้องสาวของภรรยาที่ชื่อ ทิฟฟานี่ (ลอเรนซ์) มาด้วยซึ่งทิฟฟานี่เองก็ได้รับความกระทบกระเทือนใจเช่นกันเพราะเพิ่งสูญเสียสามีไปจากอุบัติเหตุเธอมีความฝันว่าจะเข้าแข่งขันเต้นรำ แต่ต้องมีคู่เต้นจึงเอ่ยปากชวนเขา ซึ่งแพทเองแม้จะไม่ได้อยากเต้นรำเลยแต่ก็ยอมเป็นคู่เต้นให้เพราะทิฟฟานี่สัญญาว่าจะช่วยติดต่อนิกกี้ให้เพราะเขาเข้าใกล้อดีตภรรยาไม่ได้เนื่องจากคำสั่งศาล

แม้หนังจะเล่าเรื่องของคนที่ต้องเป็นทุกข์จากอาการทางประสาทที่หลายครั้งกลับมานั่งเสียใจถึงสิ่งที่ทำลงไปด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผลแต่หนังก็ให้ความหวังกับเราว่า เขาเหล่านั้นจะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อได้รับความเข้าใจ ดูแลเอาใจใส่จากคนในครอบครัวจากเพื่อนสนิทและเมื่อได้รักใครสักคน ขณะที่เราๆ ท่านๆ ที่คิดว่าตนเองปกติดีบ่อยครั้งก็ทำอะไรหลายอย่างที่เหมือนกับไร้สติได้เช่นกัน เช่น แพต ซีเนียร์ที่ทุกลมหายใจเป็นทีมอเมริกันฟุตบอล หรือพฤติกรรมการเหยียดชาติพันธุ์และการใช้ความรุนแรงต่อกันเมื่อเข้าไปดูกีฬา แต่ก็เช่นเดียวกับชื่อหนังที่ให้ความหวังมองโลกในแง่ดีว่าตราบที่เรายังมีชีวิต เราย่อมมีความหวัง เฉกเช่นหลังก้อนเมฆดำเราก็ยังเห็นขอบแสงสีเงิน ทอประกายระยิบระยับ รอคอยเวลาที่จะทอแสงสดใสอีกครั้งหลังหมู่เมฆเคลื่อนคล้อยไป .....




 

Create Date : 02 เมษายน 2556    
Last Update : 2 เมษายน 2556 17:21:32 น.
Counter : 679 Pageviews.  

A Simple Life : ความรัก ....ให้ชีวิต


A Simple Life

ความรัก ....ให้ชีวิต

ในช่วงวัยเยาว์หนังกำลังภายในจากฮ่องกง คือความบันเทิงของเด็กในยุคที่ไม่มีสมาร์ท โฟนอินเตอร์เน็ต โลกออนไลน์ หลังเตะบอลหรือเล่นโป้งแปะกันรอบวัดจนเหน็ดเหนื่อยแล้ว ช่วงหัวค่ำเราก็เฝ้าจดจ่อรอดูฮุ้นปวยเอี๊ยงพระเอกกระบี่ไร้เทียมทาน และตามติดอีกหลายเรื่องเช่น นักสู้ผู้พิชิต,ชอลิ้วเฮียง - จอมโจรจอมใจ รวมไปถึงหนังฮ่องกงที่เล่าเรื่องสมัยใหม่พร้อมกับคำถามในใจว่าทำไมละครไทยไม่ทำให้สนุกน่าติดตามแบบนี้บ้าง เมื่อโตขึ้นเริ่มเข้าโรงหนังตลาดหนังฮ่องกงในโรงภาพยนตร์ก็มีให้เลือกชมอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะจากค่ายนนทนันท์จำได้ว่าดูเรื่อง “ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ” ที่มี หลิวเต๋อหัว (AndyLau) นำแสดง ที่โรงราม่าตรงข้ามตลาดสามย่าน

ถึงแม้จะไม่ใช่แฟนคลับของพี่หลิวแต่มีโอกาสได้ดูหนังของเฮียเขาอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องดัง InfernalAffairs ที่เฮียรับบทลูกน้องมาเฟียที่แอบแทรกซึมเข้ามาเป็นตำรวจโดยเชือดเชือนบทกับ เหลียวเฉาเหว่ย อีกเรื่องที่เฮียหลิวเล่นเป็นผู้ร้ายคือเรื่องProtégé แสดงเป็นพ่อค้ายาเสพติดแต่ก็มีมิติความเป็นมนุษย์ที่รักครอบครัว รักลูกน้อง หนังเรื่องหนึ่งพี่หลิวแสดงเป็นนักมวยคือเรื่องFighter’s Blues ที่มาถ่ายทำเมืองไทยกันทั้งเรื่องและมีดาราและนักมวยไทยร่วมแสดงด้วย

นานๆเราจะได้เห็นหลิวเต๋อหัวเล่นหนังดราม่าหรือหนังชีวิตสักเรื่องอย่างเช่น ASimple Life เรื่องนี้ ซึ่งเป็นผลงานของผู้กำกับหญิงแกร่งของฮ่องกงแอนน์ ฮุย ต้องสารภาพว่าผมไม่เคยดูหนังที่เธอกำกับเลย (หรืออาจเคยดูแต่ไม่รู้ว่าใครกำกับ)ในเรื่องนี้เฮียหลิวรับบทเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หรือที่เราเรียกกันตามภาษาฝรั่งว่าเป็นโปรดิวเซอร์นามว่า โรเจอร์ ลี หนังไม่ได้ต้องการถ่ายทอดเบื้องหลังการสร้างหนังแม้จะมีฉากดังกล่าวให้เราได้ดูบ้าง เช่นการประชุมระหว่างคนออกเงินกับผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ที่มีฉีเคอะและหงจินเปา มาเข้าฉากด้วย เพราะหนังต้องการถ่ายทอดสายสัมพันธ์ระหว่างโปรดิวเซอร์หนุ่มใหญ่ที่ยังไม่มีครอบครัวคนนี้กับอาเต๋า (ดินนี ยิป หรือ เยี่ยเต๋อเสียน) คนรับใช้ประจำครอบครัวที่ดูแลเขามาตั้งแต่ยังเด็กจนบัดนี้ แต่ขณะนี้มีโรเจอร์อยู่คนเดียวในบ้านเพราะสมาชิกคนอื่นไปอยู่ต่างประเทศกันหมดแล้ว

หนังค่อยๆเล่าเรื่องอย่างเรียบๆนิ่งๆ โรเจอร์มีอาเต๋าช่วยดูแลทุกอย่างมานาน จนอาจไม่เห็นความสำคัญของเธอ และสะท้อนถึงความเอาแต่ใจของโรเจอร์ที่บอกกับอาเต๋าว่าอยากกินลิ้นวัวตุ๋นแต่เธอก็หวังดีเตือนเขาว่าเป็นอาหารที่ไม่เหมาะกับสุขภาพของเขาที่เคยผ่าตัดหัวใจมาแล้วแต่ในที่สุดก็ยอมตามใจทำให้เขากิน ด้วยหน้าที่การทำงานของโรเจอร์ทำให้เขาต้องเดินทางอยู่ไม่ค่อยติดบ้านและในค่ำวันหนึ่งเมื่อกลับมาถึงบ้านแต่ลืมกุญแจ เขาโวยวายเสียงดังเรียกอาเต๋ามาเปิดประตูให้แต่ในที่สุดก็พบว่าที่เธอมาเปิดประตูให้เขาไม่ได้ก็เพราะเธอเป็นลมหมดสติไปเมื่อเข้ารับการรักษาจนอาการดีขึ้นแต่ยังเดินไม่สะดวก อาเต๋าจึงตัดสินใจหยุดหน้าที่ที่เธอทำมาเกือบทั้งชีวิตเพราะไม่อยากให้เป็นภาระของโรเจอร์ โดยเธอจะไปอยู่บ้านพักคนชราเพราะเธอตัวคนเดียวไม่มีญาติพี่น้องอื่นใดที่ไหนอีก

บ้านพักคนชรา(หรือจากสภาพที่เห็นเหมือนโรงพยาบาลขนาดเล็ก) เป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตเพราะฮ่องกงมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกที ที่นี่ไม่ใช่ชีวิตที่ง่ายนักสำหรับคนที่เคยอยู่ในบ้านที่เป็นสัดเป็นส่วนและเป็นคนรักความสะอาดชนิดที่ว่าฝุ่นผงไม่ให้มีจับตามเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เธอต้องกินอาหารใช้ห้องน้ำร่วมกับคนสูงวัยที่ไม่รู้จัก และเมื่อมาอยู่ในบ้านพักคนชรานี้เองที่เราได้เห็นคุณธรรมสำคัญที่ทำให้โลกมนุษย์ยังดำรงอยู่ได้คือความกตัญญูรู้คุณของโรเจอร์ที่หมั่นมาเยี่ยมเยือนอาเต๋าทุกครั้งที่เขาว่างจากงาน คอยเอาใจใส่ให้เธอมีความสุขสบายมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เฉกเช่นเดียวกับที่อาเต๋าเคยดูแลเขาเมื่อครั้งวัยเยาว์ พาไปเดินเล่นออกกำลัง กินอาหารอร่อยๆ พูดให้กำลังใจและในวันที่หนังของเขาอำนวยการสร้างฉายรอบปฐมทัศน์ อาเต๋าก็ได้แต่งตัวแต่งหน้าสวยที่สุดเพื่อไปดูหนังกับเขา

ไม่เพียงแต่โรเจอร์เท่านั้นที่จะตอบแทนการเอาใจใส่ดูแลของอาเต๋า แม่ของโรเจอร์ก็บอกให้เขาไปจัดการยกห้องเช่าของครอบครัวที่ว่างอยู่ให้อาเต๋าได้พำนักในบั้นปลายชีวิตหรือพี่สาวของเขาที่บอกว่า ถ้าวันหนึ่งอาเต๋าต้องจากไปจริงๆเธอจะรับผิดชอบเรื่องงานศพให้เองหรือแม้แต่เพื่อนในวัยเยาว์ของเขาก็จดจำความใจดีและอาหารจานอร่อยที่อาเต๋าทำให้กินทุกครั้งที่มาเที่ยวบ้าน

หลายชีวิตในบ้านพักคนชราให้บทเรียนสอนใจเราไม่น้อยมีผู้เฒ่าที่ถูกทอดทิ้งโดยไม่มีลูกหลานมาเยี่ยมแม้แต่ครั้งเดียวหน้าที่การดูแลจึงเป็นของรัฐบาล หญิงชราที่เฝ้ารอให้ลูกชายมาเยี่ยมแต่ก็มีเพียงลูกสาวขี้หงุดหงิดมาหาเธอและแม่บางคนก็ต้องมาคอยดูแลลูกที่มีอาการเจ็บป่วยรบกวน หรืออย่าง ลุงคิน (ฉินเฟ่ยพี่ชายของเดวิด เจียง) ที่เที่ยวขอเงินใครต่อใครด้วยข้ออ้างสารพัดเพียงเพื่อไปหา“รักชั่วคราว” เพราะไม่ได้รับความรักจากคนใกล้ชิด

กับใครบางคนแม้จะไม่ได้เชื่อมสัมพันธ์กันทางสายเลือด ไม่ได้มีแซ่หรือนามสกุลเดียวกันแต่ด้วยความรัก ความหวังดี น้ำใจไมตรี ความช่วยเหลือเกื้อกูล คอยยืนเคียงข้าง ยื่นมือมาฉุดเราขึ้นยืนยามเราก้าวพลั้งพลาด เราก็พร้อมเสมอที่จะตอบแทนคุณความดีของใครคนนั้นโดยเฉพาะในวันที่เขาหรือเธออยู่อย่างเดียวดายและต้องการความรักความเอาใจใส่จากใครสักคน ก่อนที่วันพักผ่อนนิรันดร์จะมาถึง




 

Create Date : 04 กันยายน 2555    
Last Update : 4 กันยายน 2555 12:36:03 น.
Counter : 1194 Pageviews.  

Of Gods and Men ----- ชีวิตนี้ เพื่อพระเจ้า และเพื่อนมนุษย์


Of Gods and Men
ชีวิตนี้ เพื่อพระเจ้า และเพื่อนมนุษย์

หนังเรื่องนี้มีชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า Des Hommes et des Dieux ผลงานกำกับของXavier Beauvois ซึ่งเขาร่วมเขียนบทกับ Etienne Comar แม้จะไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเรา แต่คนไทยคุ้นเคยชื่อหนังเรื่องนี้พอสมควร เพราะในปีที่หนังไทยเรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ของผู้กำกับ อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล สร้างชื่อเสียงด้วยการคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) ของเทศกาลหนังชื่อดังของโลก คือเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อสองปีก่อน ในปีเดียวกันนั้น หนังฝรั่งเศสเรื่องนี้ได้รางวัล Grand Prix หรือรางวัลรองชนะเลิศ ต่อมาได้เข้าชิงรางวัล BAFTA สาขาหนังที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ในการประกวดรางวัลหนังยอดเยี่ยมของอังกฤษ ทั้งยังเป็นเจ้าของรางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมของสถาบันนักวิจารณ์ National Board of Review ของสหรัฐอเมริกา

Of Gods and Men สร้างโดยอิงจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศอัลจีเรีย ปี 1996 โดยเล่าเรื่องนักบวชคาทอลิกชาวฝรั่งเศส ที่ชื่อคณะว่า Trappist Order of the Cistecians of the Strict Observance พวกเขาอาศัยอยู่ในอารามชื่อว่า Notre – Dame de l’ Atlas ตั้งอยู่ที่ Tibhirine ของอัลจีเรีย ประเทศซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมาก่อน ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่พูดภาษาฝรั่งเศสได้ หนังเล่าเรื่องแบบเรียบๆ นิ่งๆ ค่อยเป็นค่อยไป ตามเอกลักษณ์ของหนังยุโรป ให้เห็นวิถีชีวิตของคุณพ่อและภราดาคณะนี้ที่ชีวิตแวดล้อมอยู่กับธรรมชาติ ตื่นแต่เช้าเพื่อสวดภาวนาทำวัตร ร้องเพลงสดุดีด้วยเสียงชวนศรัทธา ร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ศึกษาหาความรู้ ทั้งคริสต์ศาสนา โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในประเทศมุสลิม เราได้เห็นอธิการของอารามคือ คริสเตียน (Lambert Wilson) ศึกษาคัมภีร์ของอิสลามอย่างจริงจังด้วย นักบวชคณะนี้ใช้ชีวิตแบบสมถะเรียบง่าย ทำงานใช้แรงงาน ปลูกพืชปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงผึ้งและนำน้ำผึ้งไปขายที่ตลาด

และผู้อุทิศตนติดตามพระเยซูเจ้าเหล่านี้ ไม่ได้ใช้ชีวิตปิดตัวอยู่แต่ในอารามเท่านั้น พวกเขาใจกว้างให้คนท้องถิ่นมาช่วยงาน เข้าร่วมพิธีทางศาสนาของเพื่อนต่างความเชื่อ มีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้นำชุมชนมุสลิมที่ไปมาหาสู่กันอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะ ภราดาลุค (Michael Lonsdale) ที่เป็นนายแพทย์ด้วย ชาวบ้านหลายหมู่บ้านในละแวกนั้นต่างมาให้ภราดาลุคช่วยรักษา และหลายครั้งก็ไม่ได้ช่วยรักษาโรค ความเจ็บป่วยเท่านั้น เช่น แม่กับลูกที่มาหาหมอรองเท้าเกิดขาด ภราดาก็ต้องช่วยหารองเท้าคู่ใหม่ให้ด้วย ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาให้กับเด็กผู้หญิงที่กำลังสับสนในเรื่องความรัก


แม้ศาสนากับการเมืองจะแยกขาดออกจากกัน แต่ในช่วงเวลานั้น อัลจีเรียเกิดกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ ก่อการอุกอาจ สังหารผู้บริสุทธิ์มากมาย ความรุนแรงค่อยๆ คืบคลานใกล้อารามนักบวชแห่งนี้มากขึ้นทุกที โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ที่คนงานโครเอเชียถูกสังหารอย่างเลือดเย็น รัฐบาลอัลจีเรียเสนอที่จะนำกำลังทหารมารักษาความปลอดภัยให้ แต่อธิการคริสเตียนไม่ยินยอมให้มีกำลังติดอาวุธเข้ามาอยู่ในอาราม แต่แล้วในคืนวันคริสต์มาสอีฟ ผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งก็บุกเข้ามาจนได้ พวกเขาต้องการหมอไปรักษาคนเจ็บ ไม่เช่นนั้นก็ขอยา คริสเตียนเผชิญหน้ากับผู้คนสะพายปืนเหล่านั้นอย่างกล้าหาญและชาญฉลาด แต่ก็เกิดความเห็นที่แตกต่างในสมาชิกในบวชกลุ่มนี้ บางคนเห็นว่าก่อนที่คริสเตียนจะตัดสินใจเรื่องความปลอดภัยของพวกเขา ก็น่าจะมาถามความเห็นจากทุกคนก่อน และจากเหตุการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธบุกเข้ามาในอาราม ทำให้บางคนคิดว่าควรที่จะย้ายออกไปอยู่ยังพื้นที่ที่อันตรายน้อยกว่านี้ หรือกลับไปประเทศบ้านเกิดก่อนจะดีกว่าไหม

ฉากสำคัญของหนังที่ติดตาตรึงใจผู้ชมคือ ในเย็นที่พวกเขาดื่มไวน์ด้วยกัน พร้อมกับเปิดเพลง Swan Lake บทประพันธ์ของ ปีเตอร์ อิลิช ไชคอฟสกี ทุกคนต่างมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นเศร้า บางคนถึงกับร้องไห้ และในคืนวันหนึ่ง สิ่งที่พวกเขากลัวว่าจะเกิดขึ้นก็มาถึงเข้าจนได้ เมื่อมีกองกำลังติดอาวุธบุกเข้ามาและจับตัวพวกเขาไปเป็นตัวประกัน โดยต้องการแลกตัวนักบวชกับเพื่อนที่ถูกทางการจับตัวไป โดยมีนักบวชเพียงสองคนที่ไม่ได้ถูกจับเพราะซ่อนตัวได้สำเร็จ

ทุกวันนี้เรื่องราวการถูกลักพาตัวไปของนักบวชคณะนี้ ยังเป็นเรื่องที่ไม่กระจ่างชัดนัก และเพราะเหตุใดผู้ก่อการร้ายที่จับพวกเขาไปถึงต้องสังหารผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประชาชนอัลจีเรีย แต่ที่แน่ๆ คือ นักบวชกลุ่มนี้ได้แสดงให้เห็น การดำเนินชีวิตตามจิตตารมณ์นักบวชที่แท้จริง ของศิษย์ผู้ติดตามพระคริสต์เจ้า ใช้ชีวิตสมถะ เรียบง่าย พึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด รับใช้คนยากจน คนเจ็บป่วย ช่วยทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ยืนยันในหลักการแห่งสันติ และเอาใจใส่ช่วยเหลือดูแลกันในหมู่คณะ โดยเฉพาะในวันเวลาที่พวกเขาต้องเสี่ยงชีวิต ที่ไม่รู้ว่าจะเป็นคนดีหรือคนร้ายที่จะเข้ามายังประตูอาราม และสิ่งหนึ่งที่เป็นวัตรปฏิบัติของนักบวชคือ สวดภาวนา สวดภาวนา และสวดภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสวดพร้อมเพียงกันหรือสวดส่วนตัว โดยเฉพาะในโมงยามที่สับสนจะอยู่ที่นี่ต่อไป หรือจากไป เราได้เห็นอธิการคริสเตียน ใช้เวลาเงียบๆ ส่วนตัว อยู่กับพระเจ้าและธรรมชาติ เดินไปตามทุ่งหญ้า เนินเขา สัมผัสต้นไม้สูงใหญ่ที่เกินกว่าหนึ่งคนจะโอบ เดินท่ามกลางฝูงเกาะ และนั่งนิ่งๆ เงียบๆ อยู่ริมทะเลสาบ ......




 

Create Date : 19 มีนาคม 2555    
Last Update : 19 มีนาคม 2555 16:22:54 น.
Counter : 773 Pageviews.  

That’s What I Am ---- ค้นพบคุณค่าในตัวเราและคนอื่น


That’s What I Am
ค้นพบคุณค่าในตัวเราและคนอื่น

หากย้อนกลับไปคิดถึงช่วงเวลาตอนเป็นนักเรียน คงมีประสบการณ์หลายสิ่งหลายอย่างให้ระลึกถึง ทั้งความทรงจำในห้องเรียน บางวิชาที่ไม่ชอบเลยแต่ทุกวันนี้กลับยังได้ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น วิชาเย็บผ้า กิจกรรมหลักของเด็กผู้ชายคือเตะฟุตบอลพลาสติกกับเพื่อนๆ แทบทุกเวลาพักที่โรงเรียนมี พระคุณของคุณครูที่ไม่ได้สอนวิชาความรู้เท่านั้น แต่ยังให้ข้อคิดดีๆ ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต ด้วยหวังให้ลูกศิษย์เติบโตเป็นคนดีของสังคม และแน่นอนชีวิตนักเรียนไม่ได้มีแต่รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หลายช่วงเวลาเราพบกับความยากลำบาก ต้องเรียนบางวิชาที่เราไม่ถนัด เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือโดนเพื่อนที่ตัวโตกว่ากลั่นแกล้ง เช่นเดียวกับชีวิตของ แอนดี้ นิโคล (เชส เอลลิสัน) นักเรียนเกรด ๘ ในโรงเรียนแห่งหนึ่งทางใต้ของแคลิฟอร์เนีย ช่วงปี ๑๙๖๕ ในหนังเรื่อง That’s What I Am (๒๐๑๑) ผลงานกำกับและเขียนบทของ ไมเคิล พาโวเน่

ช่วงเวลาในหนังคือทศวรรษ ๑๙๖๐ สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงหลายประการ และเกิดเหตุสะเทือนใจครั้งใหญ่ เมื่อประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ถูกลอบยิงเสียชีวิตที่ดัลลัส, เท็กซัส เมื่อเดือน พฤศจิกายน ๑๙๖๓, มีการรวมตัวของคนหนุ่มสาวรวมเพื่อประท้วงสงครามเวียดนาม และสิ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงนั้น เช่น อิทธิพลของโทรทัศน์ที่เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะโฆษณาขายสินค้า รายการละครและการ์ตูน หนังเองเล่าประวัติย่อๆ ของอเมริกาช่วงนี้ผ่านภาพขาวดำในช่วงเปิดเรื่อง

แอนดี้หนุ่มน้อยวัยมัธยมก็ได้พบประสบการณ์หลากหลายในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะจากคุณครูของเขา มิสเตอร์ไซม่อน (เอ็ด แฮร์ริส) และเพื่อนร่วมชั้น สแตนลี่ย์ (อเล็กซานเดอร์ วอลเตอร์ส) ครูไซม่อนสอนนักเรียนให้รู้จักกับชีวิตของ นักบุญโยนออฟอาร์ค จากหนังสือที่ชื่อ Personal Recollections of Joan of Arc ซึ่งเขียนโดยนักเขียนอเมริกันชื่อดัง มาร์ค ทเวน ให้เด็กๆ ฟัง (เหมือนหนังมีนัยถึงเรื่องราวในหนังที่จะเล่าถึงคนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ทั้งๆ ที่เป็นผู้บริสุทธิ์) ครูมอบหมายการบ้านให้นักเรียนเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับคำใดคำหนึ่งที่ประทับใจ โดยให้ทำกันเป็นคู่ โดยจับให้แอนดี้คู่กับสแตนลี่ย์ หรือที่เพื่อนๆ เรียกเขาว่า บิ๊ก จี เขาเป็นเด็กที่มีผมออกสีส้ม รูปร่างสูงใหญ่กว่าเด็กทุกคน ทั้งยังหัวโตและมีหูที่ใหญ่มาก เพื่อนสนิทคนเดียวในชั้นของบิ๊ก จีคือ นอร์แมน (ดาเนียล เยลสกาย) เด็กร่างอ้วนที่มักถูกเพื่อนแกล้งเป็นประจำ บิ๊ก จีเองแม้จะตัวสูงใหญ่แต่ก็ถูกเพื่อนแกล้งเช่นกัน โดยเฉพาะหัวโจ๊กอย่าง ริคกี้ (จอร์แดน เรย์โนลด์ส) เช่น ใช้ปืนฉีดน้ำฉีดใส่หน้าและกางเกงของบิ๊ก จี แต่เขาไม่เคยตอบโต้คนที่แกล้งเขา แอนดี้เองไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมครูถึงจับเขาให้ทำการบ้านคู่กับบิ๊ก จี เพราะเขาไม่อยากร่วมกลุ่มกับนักเรียนที่เหมือนเป็นตัวประหลาดในโรงเรียนที่เพื่อนๆ ไม่ค่อยคบ ที่มีพื้นที่เฉพาะของตัวเองในโรงเรียน ที่เรียกว่า Geek Corner นอกจากนี้แอนดี้เองกำลังเริ่มรู้จักกับรักครั้งแรกเมื่อเขาปิ๊งสาวสวยเพื่อนร่วมชั้น แมรี (มีอา โรส แฟรมป์ตัน) ที่เธอก็เหมือนจะมีใจให้เขาเสียด้วย

เวลาอยู่บ้าน เขามีแม่คือ เชอร์รี (มอลลี่ พาร์คเกอร์) เป็นที่ปรึกษาที่พูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ครั้งหนึ่งเขาถามแม่ด้วยความสงสัยว่า ทำไมพระเจ้าต้องสร้างคนอย่างบิ๊ก จี ด้วย เพราะทุกคนต่างเห็นเขาเป็นตัวตลก ชอบแกล้งเขาอยู่เรื่อย แม่ตอบว่า เพราะพระเจ้าไม่ได้เห็นว่ามีสิ่งใดผิดปรกติในตัวเขาตั้งแต่แรกแล้ว และแอนดี้ ....ชื่อของเขาคือ สแตนลี่ย์ .... ส่วนพ่อก็เป็นด้านตรงข้ามกับแม่ที่ไม่เข้าใจในตัวเด็กเช่นเขา และต้องการให้เขาทำตามแบบแผนหรือมาตรฐานที่พ่อคิดว่าถูกต้อง เช่น ต้องตัดหญ้าตามแบบที่พ่อตัด หรือเวลาที่เขาประกอบโมเดลเครื่องบินของเล่น พ่อก็เข้ามาจัดแจงต่อตามแบบของพ่อ

ต่างจากครูไซม่อนเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่เข้าใจเด็ก ไม่เคยดุด่าว่านักเรียนด้วยอารมณ์ แต่จะสอนให้นักเรียนได้ค้นพบความสามารถที่มีอยู่ในตัว เช่นที่ครูบอกกับแอนดี้ว่า เขาเขียนหนังสือได้ดี แสดงให้เห็นว่าเป็นนักสังเกตการณ์ที่กระตือรือร้น ด้วยมุมมองที่มีสีสัน แม้จะเขียนผิดไวยากรณ์หรือสะกดผิดไปบ้าง และให้เขามีความเชื่อมั่นในตัวเองว่า จะทำการบ้านที่ครูให้ทำกับสแตนลี่ย์ได้สำเร็จ โดยให้เขาพูดกับตัวเองว่า “I am a writer. That’s what I am.”

แม้จะเป็นครูดีเด่นเป็นขวัญใจของนักเรียนทุกคน แต่เมื่อนักเรียนคนหนึ่งคือ เจสัน (คามิลล์ โบร์เจดีส) บังเอิญไปได้ยินเพื่อนของแอนดี้คนหนึ่งพูดว่า พ่อของเขาบอกว่าครูไซม่อนเป็น โฮโม (เซ็กชวล) ทั้งๆ ที่เด็กในวัยเช่นเขาโดยเฉพาะในช่วงเวลานั้น ยังไม่เข้าใจความหมายของคำนี้แต่อย่างใด (ข่าวลือนี้น่าจะมาจากที่ภรรยาเขาเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว แต่เขาไม่ได้แต่งงานใหม่) จากที่เขาไม่พอใจครูไซม่อนที่ทำให้เขาถูกพักการเรียนเพราะไปทำร้ายนักเรียนหญิงที่ชื่อ คาเรน (ซาร่าห์ เซลาโน) หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม Geek Corner เจสันนำเรื่องนี้ไปบอกผู้ปกครอง พ่อของเขาคือ เอ็ด (แรนดี้ ออร์ตัน) ก็เชื่อตามข่าวลือโดยไม่ได้สนใจที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง ไปขอพบ ครูใหญ่เคลเนอร์ (เอมี่ มาดิแกน ภรรรยาในชีวิตจริงของเอ็ด แฮร์ริส ที่พบรักกันในกองถ่ายหนังเรื่อง Places in the Heart – ๑๙๘๔) เพื่อกดดันให้ครูไซม่อนลาออกไป ไม่เช่นนั้นจะนำเรื่องนี้ไปฟ้องหนังสือพิมพ์ ครูใหญ่ไม่เชื่อว่าครูไซม่อนจะเป็นเช่นว่า แต่ต้องการคำยืนยันจากปากของครูไซม่อน แต่ครูไซม่อนเห็นว่า เขาจะเป็นโฮโมฯ หรือไม่ ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน้าที่การเป็นครูแต่อย่างใด และไม่เห็นความจำเป็นที่จะยืนยันในเรื่องนี้ และแม้จะต้องลาออก เขาก็ยังเป็นครูอยู่ชั่วชีวิตเพราะว่า I’m a teacher. That’s what I am.

ชั้นเรียนเกรด ๘ ในปีนั้น แอนดี้ได้เรียนรู้อะไรมากมาย การที่ครูไซม่อนให้เขาทำการบ้านกับสแตนลี่ย์ ทำให้เขาค้นพบว่า เพื่อนร่วมห้องที่เหมือนตัวประหลาดของใครต่อใคร แต่เขาก็มีความเป็นคน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับทุกคน แม้จะถูกแกล้ง ถูกล้อเลียน แต่เขาไม่เคยตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่มี ความอดทนอดกลั้น (tolerance) ที่จะไม่ตอบโต้คนที่แกล้งเขา เช่นเดียวกับเรื่องสั้นในหัวข้อ Tolerance ที่ทั้งสองช่วยกันทำส่งคุณครู ซึ่งเป็นคุณธรรมที่สังคมสมัยนี้ของเราลดน้อยลงไปอย่างยิ่ง (ทั้งสองเขียนการบ้านโดนได้แรงบันดาลใจจากบทกวีที่ชื่อ I Dream a World ของ Langston Huges กวีผิวสีชาวอเมริกัน) ทั้งยังช่วยเพื่อนที่ถูกรังแกทั้งตอนที่คาเรนถูกเจสันใช้เสื้อแจ็กเก็ตฟาด หรือแอนดี้เองที่ถูกริคกี้มาหาเรื่อง เพราะไม่พอใจที่เขาไปสนิทกับแมรี่ ซึ่งเป็นแฟนเก่าของเขา ส่วนสแตนลี่ย์เองก็แสดงให้เห็นว่า เขาก็มีความสามารถ มีพรสวรรค์ในตัวที่ไม่มีใครรู้มาก่อน ในคืน Talent Show ที่ให้นักเรียนได้แสดงความสามารถของตน สแตนลี่ย์ร้องเพลงที่ชื่อว่า Go Ahead and Dream เพราะเขาเชื่อมั่นว่า I’m a singer. That’s what I am.

ครูไซม่อนเองก็มีความอดทนอดกลั้นเช่นกันที่จะไม่โกรธเครียดแค้นคนที่แพร่ข่าวลือหาว่าเขาเป็นโฮโมฯ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นนักเรียนหรือผู้ปกครองก็ตาม เฉกเช่นข้อความที่ครูไซม่อนส่งไปประกวดในหัวข้อว่า โลกเราจะมีสันติภาพได้อย่างไร โดยให้เขียนไม่เกิน ๒๕ คำ และชนะรางวัลมาได้ โดยครูไซม่อนเขียนสั้นๆ เพียงว่า Human Dignity (ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์) + Compassion (ความเห็นอกเห็นใจ) = Peace (สันติภาพ)






 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2555    
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2555 17:06:53 น.
Counter : 1184 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

minkitti
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add minkitti's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.