ต้อง สมถะและวิปัสสนา ไม่ใช่ สมถะหรือวิปัสสนา


ต้อง "สมถะและวิปัสสนา" ไม่ใช่ "สมถะหรือวิปัสสนา"


เรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อผู้ศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติธรรมให้ได้ผลในทางพระพุทธศาสนา สืบเนื่องจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากตำรา ที่รจนาเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาในภายหลังนั้น ตีความผิดไปจากความเป็นจริง เป็นความรู้ที่ไม่สามารถนำมาตริตรองให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้เสียแล้ว ย่อมทำให้พระพุทธศาสนาเรียวลง เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว คือสัทธรรมปฏิรูปไป เพราะผู้ศึกษาขาดความฉลาดรอบคอบ ไม่นำสิ่งที่ศึกษาเรียนรู้มา ไปตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงว่าลงกันได้กับพระธรรม พระวินัยหรือไม่ และยังขาดความเคารพยำเกรงต่อสิกขาบทที่มีอยู่ในชั้นต้นๆ ที่เรียกว่า "ใบไม้กำมือเดียว"

"กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์
อาศัยความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย
กิจนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ
เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท
อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง
นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ" (พระพุทธพจน์)

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้


ใน "สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร" ว่าด้วยสัทธรรมปฏิรูป เพราะเหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการ ดังนี้

"ดูกรกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้
ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน
เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม
เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้
ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้
ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ๑
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้
ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ๑
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้
ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา ๑
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้
ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ ๑

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล
ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน
เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม ฯ"



เฉพาะข้อที่ ๕ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ สมาธิในข้อดังกล่าวนี้ เป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา คือ "สัมมาสมาธิ" เป็นหนึ่งในหมวด "สมาธิ" แห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาในตัวเอง ซึ่งแตกต่างออกไปจากสมาธิที่มีอยู่ก่อนพระพุทธองค์จะได้ทรงอุบัติขึ้นมา สมาธิเหล่านั้นเป็นเพียงแค่สมถะ หรือที่เรียกสมถะยานิก เป็นองค์ฌานที่ไม่ทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ไม่เกิดปัญญา ที่เรียกว่า "วิปัสสนา" ได้เลย

ส่วน "สัมมาสมาธิ" นั้น ประกอบด้วย "สัมมาวายามะ" "สัมมาสติ" เป็นสติที่มีมาในสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น เป็นองค์ฌานที่ทำให้จิตรู้เห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง ทำให้เกิดวิปัสสนาญาณปัญญา

ปัจจุบันได้มีสิกขาบทที่รจนาเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาใหม่มากมาย ทำให้ผู้ศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติธรรม รู้ผิด เห็นผิด ไปจากความเป็นจริง ได้มีการตีความตามมติของตนเองแยกสมถะยานิกและวิปัสสนายานิกออกจากกันโดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติธรรมของพวกพราหมณ์ที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมา

ส่วนที่เป็นวิธีปฏิบัติธรรมในแนวทางของพระพุทธศาสนานั้น สมถะและวิปัสสนาเป็นของคู่กัน เป็นองค์ธรรมที่แยกออกจากกันไม่ได้ อุปมาดังสติและปัญญาในทางพระพุทธศาสนาเช่นกัน เมื่อพูดถึงสติ ต้องมีปัญญาเป็นเบื้องต้น เมื่อพูดปัญญา ต้องมีสติเป็นเบื้องต้น "เมื่อบุคคลเจริญสติ สมาธิ ปัญญา มรรคย่อมเกิด เมื่อเจริญให้มาก กระทำให้มาก ย่อมละสังโยชน์ได้"

พระพุทธองค์ได้ทรงเน้นไว้ในที่ต่างๆ ว่า "สติ สมาธิ ปัญญา" นั้น เป็นอัญญะมัญญะปัจจัย เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก ล้วนต้องเพียรเจริญ เพียรสร้างให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นมาได้เอง ด้วยความรู้สึกนึกคิดที่คิดแล้วคิดอีก จนความคิดนั้นได้ตกผลึกเป็นสัญญา-ไม่ใช่ปัญญา เพราะสติ สมาธิ ปัญญานั้นเป็น "ภาเวตัพพะ" คือต้องเพียรเจริญ เพียรสร้างให้เกิดขึ้น

การปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนี้ มีการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ด้วยคติธรรมความเชื่อของตนเองที่มีอยู่กับผู้ที่ให้ความรู้การศึกษาแก่ตน ขาดความฉลาดรอบคอบ ไม่มีการพิจารณานำเอาความรู้ที่ได้ศึกษาเรียนรู้มานั้น นำไปตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง กับพระสูตรชั้นต้นๆ ที่เรียกว่า "ใบไม้กำมือเดียว" เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นแห่งจิต เมื่อมีใครมาพูดในสิ่งที่ไม่เหมือนกับที่ตนเองได้ศึกษาเรียนรู้มา ก็นำอคติที่ตนมีอยู่ กล่าวหาว่าร้ายไว้ก่อน นั่นไม่ใช่วิสัยทัศน์ของชาวพุทธที่ดี ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสั่งสอนไว้ดีแล้ว เป็นการปิดธรรมทัศน์ของตนเอง แบบไม่น่าให้อภัยเลย


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 09 เมษายน 2560
Last Update : 9 เมษายน 2560 14:15:56 น.
Counter : 914 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog