สติ สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันให้เกิดสืบเนื่องกัน


สติ สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันให้เกิดสืบเนื่องกัน


สติ สมาธิ ปัญญา ในแนวทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นอัญญะมัญญะปัจจัย เป็น "ธรรมที่มีอุปการะมาก" เป็นไปเพื่อความสิ้นสุดแห่งทุกข์

เมื่อกล่าวถึง สติ สมาธิ ปัญญา แล้ว มักมีความเข้าใจไปในคนละทิศคนละทาง ตามแต่มติความรู้ความเข้าใจ ที่ได้รับมาจากบุคคลที่เราให้ความเชื่อถือเคารพศรัทธา ถ่ายทอดกันมาอย่างไหร่ ก็เชื่อตามกันไปอย่างนั้น โดยขาดความเฉลียวใจ

บ้างเน้นใหัมี "สติเพียงอย่างเดียว" แค่ให้รู้ตัวทั่วพร้อมก็พอ เดี๋ยวสมาธิปัญญาก็จะตามมาเอง ทั้งๆ ที่โดยสัจจะความจริงแล้ว สติ สมาธิ ปัญญานั้น ล้วนต้องหมั่นเพียรเจริญ เพียรสร้างให้เกิดขึ้น โดยให้รู้จักประคองจิตไว้ที่ฐานอยู่เนืองๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นมาได้เอง เพราะสติ สมาธิ ปัญญาในทางพระพุทธศาสนานั้นเป็น "ภาเวตัพพะ" คือต้องหมั่นเพียรเจริญ เพียรสร้างให้เกิดขึ้น

แต่เมื่อพิจารณาไปแล้ว ก็ยังดีกว่าบางมติที่สอนว่า "เหตุใกล้ทำให้สติเกิด" เป็นมโนมยปัญญา คือเป็นการคิดเองเออเอง เหตุใกล้นั้นทำให้เกิดอาการสะดุ้งรู้ตัว นึกได้ว่าตนเผลอไผลไปแล้วเท่านั้น เป็น "สัญญา" ไม่ใช่สติที่มีมาในสติปัฏฐาน ๔ ที่เรียกว่า "สัมมาสติ" การรู้ตัวแบบนั้นล้วนเป็น "สัญญาอารมณ์" จดจำอารมณ์เหล่านั้นได้อย่างแม่นยำจนเป็น "ถิรสัญญา"

สติ คือ การระลึก ในทางโลกเรามักระลึกจนจดจำอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านั้นได้อย่างแม่นยำ จึงสามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์ได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า "ถิรสัญญา" ฝ่ายที่เชื่อก็ยังพยายามยัดเยียดเรียกสภาวะธรรมนั้นว่า "สติ" ตามความเป็นจริงแล้ว เราจดจำได้อย่างแม่นยำจนขึ้นใจนั้นเป็น "ถิรสัญญา"

ส่วนสติที่จะเป็นสัมมาสติได้ต้องระลึกลงที่กาย เวทนา จิต และธรรมเท่านั้น จนปรากฏธรรมอันเอกเพื่อความหลุดพ้น บริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย ช่วงแรกที่ยังฝึกฝนอบรมอยู่นั้นยังเรียกว่า "สติ" ต่อเมื่อพิจารณาระลึกรู้อยู่ที่กายสังขาร จนกระทั่งเข้าถึงกายในกายเป็นภายใน รู้จักธรรมอันเอกผุดขึ้นที่จิต จึงเรียกว่า "สัมมาสติ" ได้อย่างเต็มภาคภูมิ เป็นการระลึกรู้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร เมื่อจิตผัสสะกับอุปกิเลสที่เป็นแขกจรเข้ามา ระลึกรู้แล้วละ ไม่ใช่รู้แล้วยึดเอามาพิจารณาไว้ก่อนให้ค้างคาใจ ผู้ที่ฝึกฝนอบรมจิตใหม่ๆ ระลึกรู้แล้วมักละได้ช้า ต่อเมื่อหมั่นกระทำให้มาก เจริญให้มาก ชำนาญจนเป็นวสี กระทบปุ๊บวางปั๊บ โดยไม่ต้องเสียเวลา นั่นเป็นองค์ธรรมแห่งปัญญา ไม่ใช่ "ถิรสัญญา"

ส่วนองค์ธรรมที่เชื่อมต่อสติกับปัญญาเข้าด้วยกันในแนวทางพระพุทธศาสนานั้น คือ "สมาธิ" โดยเฉพาะ ในหมวดสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) แห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ซึ่งแวดล้อมไปด้วยมรรคอีก ๗ องค์ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ
อันมีเหตุ มีองค์ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ
อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น
สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน"

(พระพุทธพจน์)


นั่นแหละเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา เมื่อเพียรเพ่งภาวนาไปจนจิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมเกิดขึ้นมาตามลำดับ รู้ว่าสิ่งไหนเป็น "สัมมา" สิ่งไหนเป็น "มิจฉา" จึงนำพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวเชื่อมโยงรับรองไว้ มากำกับ เพื่อให้ผูัศึกษาธรรมเกิดความเข้าใจในหลักธรรมที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"


สภาวะธรรมของสัมมาสมาธินั้น จิตของตนมีสติสงบตั่งมั่นไม่หวั่นไหว ได้โดยลำพังตนเอง ไม่ต้องอาศัยองค์ภาวนาที่เรียกว่า "อามิสสัญญา" อีกแล้ว เป็นจิตที่อ่อน ควรแก่การงานทางจิต พร้อมที่จะโม้นน้อมนำไปสู่ญาณปัญญา (วิปัสสนา) เป็นเบื้องต้น

แปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลับมีการสอนให้เกิดความเชื่อที่ได้ศึกษาเรียนรู้มาให้เดินเข้าไปสู่ปรมัติธรรมโดยเอา "วิปัสสนา" (รู้เห็นตามความเป็นจริง) โดยตรงกันไปเลยทีเดียว ไม่ต้องใส่ใจเสียเวลากับการทำสมาธิภาวนามยปัญญาให้หลังขดหลังแข็ง หรือเดินจงกรมจนส้นเท้าแตก แค่รู้จักวิปัสสนาตามตำราที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา พิจารณาจนความรู้ที่ศึกษามานั้นตกผลึก เดี๋ยวจิตก็จะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เอง เป็นการสอนแบบขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ ทำให้พระสัทธรรมปฏิรูปไป

ดั่งใน "สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร" ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนในข้อที่ ๕ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ

องค์ธรรมของ "สัมมาสมาธิ" ใน "สติปัฏฐาน ๔" รับรองไว้ชัดเจนดังนี้
สมาธิฌานที่ ๔
"เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
เพราะละสุข ละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่"


เป็นความชัดเจนในเนื้อหาพระพุทธพจน์โดยไม่ต้องตีความใดๆ ทั้งสิ้นว่า "จิตของบุคคลนั้น มีสติบริสุทธิ์ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ เช่นสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัสแต่เก่าก่อนลงได้ กุมเฉยอยู่ มีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า ความกระสับกระส่าย สับสน วุ่นวาย เพราะยึดมั่นถือมั่น กับ ความสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวของจิต เพราะปล่อยวางได้ต่างกันอย่างไร"

สรุปสุดท้าย จากหลักฐานที่อ้างอิงข้างต้น พอนำไปพิจารณาตริตรองให้เห็นจริงได้ว่า สติ สมาธิ ปัญญา ในพระพุทธศาสนาที่เป็น "สัมมา" นั้น เป็นเรื่องเดียวกัน ค้ำยันกัน เป็นข้อธรรมที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันให้เกิดสืบเนื่องต่อกัน ตามลำดับความเพียรเพ่งกรรมฐาน (ภาวนามยปัญญา) ที่จำเป็นต้องหมั่นกระทำให้มาก เจริญให้มาก จึงจะบริบูรณ์ได้ดังนี้....สาธุ


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 14 เมษายน 2560
Last Update : 14 เมษายน 2560 13:32:40 น.
Counter : 876 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog