คนเราสูงเท่ากันเสมอบนเตียงนอนและในหลุมศพ # จงเข้าใกล้ความรักด้วยการปล่อยวาง # หัวใจที่ยิ่งใหญ่จะมีเป้าหมาย ส่วนหัวใจทั่วไปมักมีแต่ความปรารถนา # การให้เป็นทั้งบุญและความดี ซึ่งคนตระหนี่ชอบคัดค้าน และคนพาลชอบขัดขวาง # ความแน่นอนคือความไม่แน่นอนในทุกสิ่ง # ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย ท้อได้แต่อย่าถอย # ความสุขย่อมได้มาจากความสงบ # ความอดทนเป็นสิ่งขมขื่น แต่ผลของมันหวานชื่นเสมอ # ความพอดี ดีกว่ามากเกินไป # นรกของผู้หญิงคือความแก่ # ไม่มีความแน่นอนในสิ่งใด # จงคิดทุกคำที่พูด แต่อย่าพูดทุกคำที่คิด # สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดติดถือมั่น # จงยืนหยัดและยิ้มสู้ สักวันความสำเร็จจะเป็นของเรา
Group Blog
 
 
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
23 มกราคม 2553
 
All Blogs
 
ความเป็นมาของกฐิน

ความเป็นมาของกฐิน
ความหมายของคำว่า "กฐิน"

คำว่า "กฐิน" เป็นภาษาพระหรือภาษาบาลี แต่เราเอามาเรียนมาใช้จนคุ้นกลายเป็นภาษาไทย พอพูดถึงคำว่ากฐิน เป็นอันเข้าใจกัน กฐินหรือกฐินะ คำนี้เป็นชื่อไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับขึงผ้า เป็นสี่เหลี่ยม ขึงผ้าให้ตึงเพื่อเย็บทำเป็นจีวรแบบสมัยโบราณที่เครื่องเย็บปักถักร้อยยังไม่มี ท่านเรียกไม้ชนิดนี้ว่า "กฐิน"

ความเป็นมาของกฐิน

เหตุที่จะเกิดมีการทอดกฐินนั้น เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยพุทธกาล ภิกษุชาวเมืองปาฐา จำนวน ๓๐ รูป ได้เดินทางจากเมืองปาฐาเพื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่พอมาถึงเมืองสาเกตซึ่งอยู่ระหว่างเมืองปาฐากับเมืองสาวัตถี ก็เข้าเขตฤดูฝนเลยต้องพำนักจำพรรษาอยู่ที่นั่น เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็รีบเดินทางต่อไปยังเมืองสาวัตถี ต้องกรำฝนทนแดดตลอดทาง สบงจีวรต่างชุ่มโชกไปด้วยน้ำฝนตาม ๆ กัน

พระพุทธองค์ทรงเห็นความลำบากตรากตรำของภิกษุเหล่านั้น จึงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสอนุญาตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คือให้ภิกษุรับผ้ากฐินเสียก่อน ทั้งนี้เพราะเหตุว่าแม้จะออกพรรษาแล้ว แต่ฝนก็ยังไม่ขาดเสียทีเดียว นางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้รับพุทธานุญาตและได้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก

ประเภทหรือชนิดของกฐิน

กฐินที่นิยมทอด แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ กฐินหลวง กับ กฐินราษฎร์

ประเภทแรก คือ กฐินหลวง ประกอบด้วย

- กฐินเสด็จพระราชดำเนิน คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินทอดถวาย ณ พระอารามหลวงที่กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษ ปัจจุบันนี้มี ๑๖ วัด เช่น วัดพระเชตุพน ฯ, วัดสุทัศนเทพวราราม, วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น

- กฐินต้น คือ พระกฐินที่พระเจ้าแผ่นดิน ทรงมีพระราชศรัทธาพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินทอดถวาย ตามพระอารามที่ทรงพระราชหฤทัย จะเป็นพระอารามหลวง หรืออารามราษฎร์ก็สุดแต่พระราชอัธยาศัย

- กฐินพระราชทาน คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดิน ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชบริพารหรือหน่วยราชการต่าง ๆ นำไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงต่าง ๆ แทนพระองค์ เช่น วัดประยุรวงศาวาส, วัดอนงคาราม, วัดกัลยาณมิตร เป็นต้น

ประเภทที่สอง คือ กฐินราษฎร์ คือ กฐินที่ราษฎรจัดขึ้นเป็นการส่วนตัวหรือเป็นหมู่คณะ แล้วนำไปทอดถวายตามวัดต่าง ๆ ทั้งในเขตกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด และวัดนั้นเป็นวัดที่ราษฎรสร้างขึ้น แบ่งตามลักษณะที่ดำเนินการ ดังนี้ครับ

- กฐินสามัคคี คือ กฐินที่พุทธศาสนิกชนร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้นเป็นหมู่คณะแล้วนำไปทอดยังวัดใดวัดหนึ่งด้วยความพร้อมเพรียงกัน

- กฐินทรงเครื่อง คือ กฐินที่มีผ้าป่าไปทอดสมทบเรียกว่า ผ้าป่าหางกฐิน มีมหรสพสมโภชเป็นที่เบิกบานสำราญใจในบุญพิธีนี้

- กฐินตกค้าง คือ กฐินที่เจ้าภาพนำไปทอดโดยมิแจ้งให้ทางวัดทราบล่วงหน้า ผ่านไปพบวัดใดวัดหนึ่งยังมิมีผู้จองกฐิน และจวนจะสิ้นกาลแล้ว ก็จู่โจมเข้าไปทอดถวายคล้ายโจรบุกปล้นมิให้เจ้าของทรัพย์รู้เนื้อรู้ตัว

- จุลกฐิน คือ กฐินน้อย หมายถึงมีเวลาน้อย ต้องทำด้วยความรีบร้อนด่วนเป็นกฐินฉุกละหุก เพราะต้องทำทุกอย่างให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว นับแต่หาฝ้ายมาปั่นทอทำเป็นด้ายและเย็บย้อมให้สำเร็จเป็นจีวรแล้วนำไปทอดถวายพระสงฆ์

อนึ่ง ผ้ากฐินนั้น ต้องมีผู้ทอดถวายด้วยใจศรัทธา พระจะไปพูดเลียบเคียงหรือชักนำให้เขานำมาทอดเพื่อตนไม่ได้ หากเป็นเช่นนั้นเรียกว่า กฐินเดาะ ผู้ที่จะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินนั้นจะเป็นใครก็ได้ แม้พระวัดหนึ่งจะนำกฐินไปทอดอีกวัดหนึ่งก็ได้

คุณสมบัติของผู้ถวายกฐิน

ในกาลทานสุตตคาถา ได้กล่าวถึงคุณสมบัติผู้ที่จะทอดกฐิน เป็นคาถาว่าด้วยการบำเพ็ญทานตามกาลสมัย สำหรับพระสงฆ์ใช้เป็นบทอนุโมทนาเวลาทอดกฐิน มีพระบาลีตอนหนึ่งว่า กาเล ททนฺติ สปญฺญา วทญฺญู วีตมจฺฉรา กาเลน ทินฺนํ ดังนี้เป็นอาทิ มีใจความเป็นภาษาไทยว่า "ทายกเหล่าใดเป็น ผู้มีปัญญา มีปรกติรู้จักคำพูด ปราศจากความตระหนี่ มีจิตใจเลื่อมใสในกิจของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็น ผู้ตรงคงที่ ทำโอกาสบริจาคทานโดยกาลสมัยให้เป็นของตน ทักษิณาของทายกเหล่านั้นเป็นคุณสมบัติที่มี ผลไพบูลย์ อนึ่ง ชนทั้งหลายเหล่าใด อนุโมทนาหรือช่วยกระทำการขวนขวายในทานนั้น ทักษิณาของเขามิได้บกพร่องเลย เขาย่อมเป็นผู้มีสิทธิในส่วนของบุญนั้น เหตุนี้ทายกไม่ควรย่อท้อการให้อย่างใดมีผลมาก ควรให้อย่างนั้น"

และสรุปด้วยคาถาบทสุดท้ายว่า ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ แปลว่า บุญย่อมเป็นที่พึ่งพิงอิงอาศัยของสรรพสัตว์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า" ดังนี้

จากใจความซึ่งแปลมาจากพระคาถาดังกล่าวนี้ ก็คือ การพรรณนาถึงคุณสมบัติของผู้นำและ ผู้ตาม และผลดีที่จะพึงได้ ซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่จะหยิบยกมาขยาย เพื่อให้ท่านได้สดับศึกษาดังต่อไปนี้

ในตอนแรกท่านกล่าวไว้สำหรับทายก คือ ผู้นำ หมายถึงผู้มีหน้าที่ที่จะชักชวนผู้อื่นให้มาร่วมทำบุญทำกุศลที่เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ทายก ทายกจะต้องมีธรรมะหรือคุณสมบัติอะไรบ้าง ในที่นี้ท่านได้ชี้แจงคุณสมบัติผู้นำทางบุญกุศลไว้ว่า จะต้องมีองค์ธรรม ๔ ประการ คือ

๑. สปัญญา เป็นผู้มีปัญญา รอบรู้ในกิจการทางพระศาสนา รู้ว่าอะไรเป็นกุศล เป็นอกุศล อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป

๒. วทัญญู เป็นผู้มีปรกติฉลาดในการพูด รู้จักชักชวนให้ผู้คนทั้งหลายเห็นด้วยคล้อยตาม สมัครใจมาทำบุญทำกุศลร่วมกับตน

๓. วีตมัจฉรา เป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว คือ ไม่ตระหนี่ คนที่เห็นแก่ตัวย่อมทำประโยชน์ส่วนรวมไม่ได้ หากเอาผู้ที่โลภมากอยากจัดมาเป็นผู้นำ ก็รังแต่จะเอาเปรียบ ทำให้วงการงานนั้นมัวหมอง ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเจริญศรัทธาของสาธารณชนอีกประการหนึ่ง หากผู้นำตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ยอมควักแต่ชักชวนให้ผู้อื่นเสียสละ ก็จะเข้าลักษณะที่ว่า "ตัวผอมมาบอกขายยาพี แม่หม้ายผัวหนีมาอวดดีบอกยาเสน่ห์" มันก็ไม่มีผล

๔. กาเลน ทินนัง อริเยสุ เป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระอริยเจ้าหรือกิจการเพื่อความเป็น อริยชนผู้เจริญ

คุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นคุณสมบัติของทายกคือผู้นำในการบุญการกุศล ปรากฏอยู่ในกาลทานสุตตคาถา ดังกล่าว ณ เบื้องต้น

อานิสงส์ของการถวายกฐิน

การทำบุญหรือถวายทานอย่างอื่นในทางพระพุทธศาสนา ได้อานิสงส์เฉพาะทายกทายิกา ผู้ถวาย ส่วนปฏิคาหก คือ ผู้รับ ได้แต่ปัจจัยไทยธรรมที่เจ้าภาพถวายหามีอานิสงส์ถึงพระผู้รับไม่ แต่บุญกฐินนี้เป็นบุญพิเศษเพราะมีประโยชน์เกื้อกูลตกถึงพระผู้รับกฐินด้วย มีอานิสงส์ได้รับผ่อนผันทางพระวินัยถึง ๕ ประการด้วยกัน คือ

๑. ไปไหนโดยไม่ต้องบอกลาพระภิกษุด้วยกัน (แต่โดยมารยาทควรบอกลาอย่างยิ่ง)

๒. เดินทางไปไหนได้โดยไม่ต้องเอาไตรจีวรไปด้วย

๓. ฉันอาหารล้อมวงกันได้

๔. เก็บจีวรที่ไม่ต้องการไว้ใช้ได้

๕. ลาภที่เกิดขึ้นเป็นของพระภิกษุรูปนั้น ๆ

อานิสงส์ผู้ทอดกฐิน มีดังนี้.-

๑. ได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ถวายกำลังแก่สมณะพระสงฆ์ผู้ดำรงพระศาสนา

๒. ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ตามพระวินัยนิยม บรมพุทธานุญาต

๓. เป็นการรักษาประเพณีเอาไว้มิให้เสื่อมสูญ

๔. เป็นการบูชาพุทธโอวาทของพระบรมศาสดา

๕. ได้ชื่อว่าบำเพ็ญมหาทาน

๖. เป็นปัตตานุโมทนามัย

๗. ทำทรัพย์และชีวิตให้เป็นสาระ

๘. เป็นการสร้างความสามัคคีในระหว่างพุทธบริษัท

๙. เป็นการสั่งสมทุนคือบุญกุศลไว้ในภายภาคหน้า

๑๐. เป็นการสร้างทางไปสวรรค์และนิพพานให้แก่ตนเอง


From:Watkluay.igetweb.com





Create Date : 23 มกราคม 2553
Last Update : 30 มกราคม 2553 21:23:28 น. 5 comments
Counter : 1117 Pageviews.

 
สวัสดียามเช้าอันแสนสดใส เดินทางไปเที่ยวไหนก็ขอให้สนุก และปลอดภัยครับ :)


โดย: ผมชอบกินข้าวมันไก่ วันที่: 23 มกราคม 2553 เวลา:10:27:04 น.  

 
แวะมาทักทายในวันหยุดจ้า


โดย: หน่อยอิง วันที่: 23 มกราคม 2553 เวลา:11:30:41 น.  

 
ตอนเด็กๆ แม่ของแม่ปุ้มจะชอบพาไปทอดกฐินที่บ้านตายาย เคยช่วยแม่พันก้านกฐิน สนุกดี พอโตขึ้นมาก็เริ่มห่างเหินพิธีกรรมเหล่านี้ นานๆได้ไปทีนึง แต่ปีที่ผ่านมาได้ไปร่วมทั้งพิธีทอดกฐินและทอดผ้าป่า ส่วนใหญ่พอถึงหน้าเทศกาลทอดกฐิน พี่ๆน้องๆที่ทำงานก็มักจะมาบอกบุญกันค่ะ ก็ได้ร่วมกันทำคนละนิด คนละหน่อยตามกำลัง แล้วที่เมืองจีนมีวัดไทยมั๊ยจ๊ะนู๋ณัฐ


โดย: แม่ปุ้มปุ้ย วันที่: 23 มกราคม 2553 เวลา:12:07:20 น.  

 
ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ


โดย: Chulapinan วันที่: 23 มกราคม 2553 เวลา:15:41:24 น.  

 
มาอ่านแล้วได้ความรู้ดีดีเลยค่ะ
เราไม่ได้มีโอกาสทอดกฐินมานานมากแล้ว
....
ขอให้มีความสุขกับวันหยุดนะคะ


โดย: Suessapple วันที่: 23 มกราคม 2553 เวลา:18:16:05 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หนึ่งลมหายใจ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีค่ะทุกๆคน ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ เป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึง นิสัยตรงไปตรงมา พูดตรงมากด้วย ยิ้มง่าย กวนนิดๆ พอมันหน่อยๆ ไม่ชอบเครียด สนุกร่าเริง ไม่คิดมาก ชอบกินเป็นชีวิตจิตใจ และก็นอน ชอบความเร็วและชอบความสูง ชอบทะเล มองแล้วกว้างดีในความรู้สึก

เรื่องกินกับเรื่องนอนเนี๊ยะชอบมากๆเลยในชีวิต

และเมื่อถึงเวลาที่ต้องจากโลกนี้ไป อยากจากไปอย่างเงียบๆ โดยไม่มีความเจ็บปวดและไม่ทิ้งความโศกเศร้าไว้กับใคร พร้อมที่จะวางทุกอย่างก่อนจากไป

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกคนต้องเจอ
คนเราต่างกันที่ บุญ-กรรม มีมาต่างกันตั้งแต่เกิด
แต่ทางสงบของชีวิตไม่ใช่ทุกคนที่เจอได้
แต่หวังว่าขอให้ทุกคนเจอนะคะ

ณัฐคนหนึงที่อยากเจอทางสงบของชีวิตค่ะ

สวดมนต์เป็นการทำให้เราเย็นในใจได้มากและมีสติมากขึ้นด้วยค่ะ ดีที่คุณแม่สอนให้เข้าวัดและสวดมนต์มาตั้งแต่ยังเด็ก ยกความดีให้คุณแม่ค่ะ รักแม่มากและรักคนในครอบครัวมากเลยค่ะ คิดถึงทุกคนเลยนะคะ

Thailand google satellite maps
Friends' blogs
[Add หนึ่งลมหายใจ's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.