Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2550
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
14 สิงหาคม 2550
 
All Blogs
 
ภาษานั้นสำคัญไฉน

บทบาทและความสำคัญของภาษา

คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์มีและเป็นระบบทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ทั้งปวง ทำให้มนุษย์สามารถสื่อสาร บอกรัก ขอโทษ ถ่ายทอดประสบการณ์ โกหก หลอกลวง หรือแม้แต่ใส่ร้ายป้ายสีกันได้ จนอาจจะนำไปถึงสงครามระหว่างประเทศกันทีเดียว แต่ถึงแม้ว่าภาษาจะมีความสำคัญเพียงใด คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญ (take it for granted) และบทบาทของภาษาที่พวกเขาใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะว่าพวกเขาสามารถ get by ในชีวิตประจำวันได้ ภาษาคงจะเริ่มมีความสำคัญขึ้นมาก็ต่อเมื่อคนเราแสวงหาประโยชน์ทางรูปธรรม (practical purposes) ของภาษา เช่น การสอบวัดระดับทางภาษา การไปเที่ยวต่างประเทศ หรือการค้นหาข้อมูลที่เป็นภาษาอื่นๆ แต่นั่นก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวของบทบาทที่ภาษามีต่อสังคมและโลกของเรา

บทความนี้มีจุดประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นถึงบทบาทและหน้าที่ของภาษาที่คนทั่วไปอาจจะไม่เห็นเด่นชัดนัก แต่กระนั้นก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความเป็นไปของสังคมและโลกของเรา จนน่าจะกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มีภาษา สังคม และโลกของเราก็ไม่มีอยู่ และบทบาทและหน้าที่ของภาษานี้เอง เป็นสิ่งที่นักภาษาศาสตร์ หรือคนที่เรียนภาษาและวรรณคดีนั้นได้ทำการค้นหา และศึกษามาจนถึงปัจจุบัน (ซึ่งตรงข้ามกับที่คนส่วนใหญ่คิด ว่าการเรียนภาษาคือ การเรียนการใช้ไวยากรณ์ให้ถูกต้อง เช่น ประธานเอกพจน์ กริยาต้องเป็นเอกพจน์ ฯลฯ)

ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่า ภาษาเป็นสิ่งที่ distinguish human beings from all other beings. นั่นคือ ภาษาของมนุษย์เป็นสิ่งที่เป็น ระบบ (system) ถึงแม้สัตว์อื่นๆอาจจะสื่อสารกันได้ (เช่น ผึ้งสื่อสารกันว่าน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ อยู่ทางทิศไหน หรือ มดงานสื่อสารกันถึงแหล่งอาหาร หรือปลาวาฬ ใช้เสียงร้องในการหาอาหาร) แต่การสื่อสารของสัตว์นั้นมีข้อจำกัดต่างๆ เช่น ไม่สามารถสื่อสารถึงสิ่งที่เกิดในอดีตหรือสิ่งที่จะเกิดในอนาคต อย่างมนุษย์ทำได้ นั่นคือ มนุษย์สามารถเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดในอีกหลายร้อย หลายพันปี และมนุษย์มีระบบ (ภาษาเขียน) ที่จะบันทึกสิ่งทีเกิดขึ้นในอดีตหรือจะเกิดในอนาคตซึ่งต่างจากการสื่อสารของสัตว์ที่ไม่มีระบบเหล่านี้

ดังนั้น ถ้ามนุษย์มีความสามารถในการใช้ภาษาดังนี้แล้ว มันก็น่าศึกษาค้นคว้าว่า “ความสามารถในการใช้ภาษา”ที่ว่านั้นมันเป็นอย่างไร มันทำงานอย่างไร หรือ มันมีลักษณะอย่างไร ลองสังเกตว่า เด็กไทยที่มีพ่อแม่เป็นคนไทย แต่เกิดและโตในอเมริกานั้นก็พูดภาษาอังกฤษเป็นคนอเมริกันและถ้าไม่ได้เรียนภาษาไทย ก็ไม่สามารถพูดไทยได้ (ถึงแม้จะมีเชื้อชาติเป็นคนไทย) หรือในทางกลับกัน เด็กอเมริกันที่เกิดและเติบโตที่ไทย ก็พูดภาษาไทยได้เหมือนกับคนไทย ดังนั้น เราจึงสามารถที่จะ “สรุป”ได้ว่า มนุษย์ทุกคนน่าจะถือกำเนิดมาด้วยสมรรถนะทางภาษาที่เท่าเทียมกัน (faculty of language) และตัวสมรรถนะนี้สามารถที่จะทำให้เด็กที่เกิดและโตในสังคมหนึ่งๆ เรียนรู้ภาษาในสังคมนั้นๆได้ นี่จึงเป็นที่มาว่านักภาษาศาสตร์กลุ่มหนึ่งสนใจที่จะบรรยายถึงสรรมถนะทางภาษาของมนุษย์ที่ทุกคนมีร่วมกันว่าเป็นอย่างไร (คือ ลักษณะพื้นฐานร่วมกันของความรู้ทางภาษาของมนุษยชาติ) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะวิวัฒนาการแพทย์ทางปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า ความสามารถทางภาษาของมนุษย์มีลักษณะอย่างไร ถึงแม้การแพทย์จะบอกเราได้ว่าส่วนใดในสมองที่น่าจะรับผิดชอบต่อการใช้ภาษา แต่การแพทย์ก็ไม่สามารถพูดได้ว่าตัว “ต่อมภาษา” นี้ทำงานอย่างไร (หรือแม้กระทั่ง มี “ต่อม” จริงๆหรือไม่) ยังไม่นับว่าการแพทย์อธิบายไม่ได้ถึงกลไกการทำงานของ “ต่อม”ที่ว่า หรือ แม้กระทั่งตัว “ต่อม” นี้ได้รับการ modifyหรือ มีการพัฒนาการอย่างไรจากเด็กเป็นผู้ใหญ่

นักภาษาศาสตร์กลุ่มนี้ ภายใต้การนำของ โนม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) สนใจภาษาในลักษณะที่เป็น abstract system และมีสมมติฐาน (theoretical assumption) ว่า มีสิ่งที่เรียกว่า “หลักภาษาสากล” (universal grammar) ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด (natural endowment) และเหมือนกันในมนุษย์ทุกคน (เพราะไม่เช่นนั้น เด็กไทยเกิดและโตที่อเมริกา จะพูดภาษาอังกฤษเป็นคนอเมริกันได้อย่างไร) ส่วนการค้นหา universal grammar นั้น ทำได้โดยเปรียบเทียบภาษาทุกภาษาว่ามีหลักการทำงานที่ร่วมกันอย่างไร เมื่อได้หลักที่ “ร่วมกัน” (universal) ของทุกภาษา ก็น่าจะสรุปได้ว่า นี่คือสิ่งที่คนทุกคน are born with นั่นเอง

ในขณะที่การศึกษาภาษาแบบ abstract system นี้น่าสนใจในตัวของมันเอง นักภาษาอีกกลุ่มหนึ่งได้โต้แย้งว่า การใช้ภาษาส่วนใหญ่ของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นเพราะอยู่ในเราอยู่ใน สังคม และเราใช้ภาษาเพื่อจุดมุ่งหมายทางสังคม (เช่น ในการเล่าเรื่อง ในการตอบข้อสอบ ในการของบประมาณ ในการซื้อของ ฯลฯ) ดังนั้นการศึกษาภาษาก็ควรที่จะศึกษาสังคมไปพร้อมๆกันด้วย และพิจารณาบทบาทของสังคมที่มีต่อการใช้ภาษาของมนุษย์ร่วมไปด้วย ดังนั้นสำหรับนักภาษากลุ่มนี้ ภาษาไม่ใช่ abstract system ที่เกิดในสุญญากาศ (exist in a vacuum) อีกต่อไป แต่เป็นปรากฎการณ์ทางสังคม เป็นปรากฎการณ์จริงที่พบได้ในทุกเมื่อเชื่อวัน (นั่นคือ ต่างจากกลุ่มแรก เพราะว่ากลุ่มแรกมุ่งที่จะหา ลักษณะร่วมของภาษาที่เกิดมาพร้อมกับมนุษย์ทุกคน ที่อยู่ใน “ต่อมภาษา”ในหัวสมองของคนเรา ซึ่งมัน abstract มาก เพราะยังไงก็ไม่สามารถที่จะขุดค้น หรือ ตัดต่อมนี้มาแยกชิ้นส่วนได้อยู่ดี)

สมมติฐาน (theoretical assumption) ของนักภาษากลุ่มนี้ คือ “ภาษาเป็นสิ่งที่สร้างโลก และในเวลาเดียวกันโลกเป็นสิ่งที่สร้างภาษา” หรือ Language shapes (or constructs), and is shaped (or is constructed) by, the social world we live in หรือ พูดง่ายๆคือ ถ้าไม่มีภาษา ก็ไม่มี “โลก” อยู่นั่นเอง และถ้าไม่มี สังคม ภาษาก็ไม่มีอยู่ นั่นเอง ดังนั้น ขอแยกเป็นสองประเด็น

1. ภาษาสามารถ “สร้าง” โลก หรือ วัตถุ จากสิ่งที่ไม่มีตัวตนได้ และทำให้มนุษย์รับรู้ (perceive) สิ่งที่ไม่มีตัวตนนั้น ราวกับว่ามันมีตัวตน

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของ “เวลา” คนเรามักจะคิดว่า เวลา เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง (reality) แต่จริงๆแล้วเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์ “สร้างขึ้น” เพื่อมาใช้ในการอ้างถึงเพื่อความสะดวกในการนัดพบ นัดเจอ ฯลฯ ใช่หรือไม่ (เช่น การสร้างปฎิทิน ที่ปีหนึ่งมีสิบสองเดือน หรือ การกำหนดให้วันหนึ่งมียี่สิบสี่ชั่วโมง ฯลฯ) แต่ถ้ามองจากลักษณะการใช้ภาษา และย้อนมองดูตัวของเราเอง เรามัก “เผลอ” คิดไป และปฎิบัติต่อเวลาราวกับว่า เวลา เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง จับต้องได้ หรือแม้กระทั่งเป็น “วัตถุ” ที่ถือครองได้ ใช่หรือไม่ เช่น “ผม มีเวลา อยู่ห้านาที” “ผม ฆ่า เวลาด้วยการเดินเล่น” “ผม เสีย เวลากับคุณมาเป็นชั่วโมง” “เวลา เป็นเงินเป็นทอง” “ผม ปล่อย ให้เวลาเดินไปอย่างช้าๆ” จะสังเกตได้จากตัวอย่างการใช้ภาษาเหล่านี้ว่า คนทั่วๆไป เผลอคิดไปว่า เวลาเป็นวัตถุ จับต้องได้ หรือถือครองได้ (นั่นคือ “มี” “ฆ่า” “เสีย” “เป็นเงิน” หรือ “ปล่อย” เวลาไปได้) ทั้งๆที่จริงๆแล้ว เวลา (หรือปฎิทิน หรือฤดูกาล) เป็นสิ่งสมมติที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเท่านั้นเอง ดังนั้นเราสามารถสรุปได้ว่า ภาษาน่าจะมีส่วนที่ทำให้คน “รับรู้” (perceive) ว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีตัวตน ถือครองได้ นั่นก็คือ ภาษามีบทบาทต่อ “โลก”การรับรู้ของมนุษย์นั่นเอง

อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น เรื่องของ “บุญ” “บาป” “กิเลส” แน่นอน ว่า สิ่งเหล่านี้จริงเป็นแค่ religious concept และไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ (เหมือนกับ “เวลา” ข้างต้น) แต่คนก็มักจะคิดว่า “บุญ” “บาป” หรือ “กรรม” เป็นสิ่งที่ “มีตัวตน” อยู่จริง ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่าจะมาจากอิทธิพลจากการใช้ภาษา เช่น เราได้ยินซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า “ทำ กรรมไว้ จะ ได้รับ กรรม นั้น” “รู้สึก อิ่ม บุญ” “อย่า ปล่อย กิเลสให้ เกาะกุมใจ” “อย่า ตกเป็นทาส ของกิเสส” เป็นต้น จะเห็นได้ว่าจากลักษณะการใช้ภาษาข้างต้นนั้น คนเรารับรู้ หรือ “สร้าง” ให้ บุญ บาป กิเลส กรรม เป็นสิ่งที “มีตัวตน” และเป็นวัตถุ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ ไม่มีตัวตน และไม่ได้เป็นวัตถุ (ถึงกับเลยเถิดว่า บุญ เป็น สิ่งที่ รับประทานได้ เพราะเรารู้สึก “อิ่ม”บุญ กันเลยทีเดียว)

เป็นสิ่งที่น่าคิดว่า ถ้าภาษา(ไทย) ไม่มีคำว่า “บุญ” “บาป” “กิเลส” ฯลฯ แล้ว religious concept เหล่านี้ จะมีความหมายในตัวของมันเองหรือไม่ นั่นคือ ถ้ามนุษย์ไม่สามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาได้ หรือ ถ้ามนุษย์ไม่มีภาษา การรับรู้ของคน(ไทย) เราต่อ บุญ บาป หรือ กิเลส จะเป็นไปอย่างไร (ผมสันนิษฐานว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คน “สร้าง”ขึ้น ทำให้มันเป็น “วัตถุ”ขึ้น จากสิ่งที่ไม่มีอะไรต่างหาก)

การมอง “บุญ” “บาป” “กิเลส” แบบที่กล่าวข้างต้น ทำให้คนไทย มีความรู้สึกนึกคิด หรือ ทรรศนคติต่อ บุญ กรรม บาป ไปในทางหนึ่งๆ (เช่น กิเลสไม่ดี เพราะมัน “เกาะกุมใจ” มันทำให้เราเป็น “ทาส” ในขณะที่ “บุญ” เกื้อหนุนให้เราไป “ถึงสวรรค์” ฯลฯ) เพราะฉะนั้น ไม่แปลกที่ ฝรั่งหรือ คนชาติอื่นๆ จะไม่มีทรรศนคติต่อ บุญ บาป หรือ กรรม เหมือนคนไทย เพราะเขาไม่มี คำศัพท์ อย่างนี้ หรือไม่มีลักษณะการใช้ภาษาอย่างนี้นั่นเอง

สรุปว่า ภาษามีผลต่อการ มองโลก และสร้างโลกของผู้ใช้ภาษา

2. จุดมุ่งหมายทางสังคมหรือ ทางโลก เป็นสิ่งที่ สร้างภาษาและมีอิทธิพลกับการใช้ภาษา

คุณเคยสังเกตไหมว่าคนเรา ยกคำพูดคนอื่น (quote) หรือ ยกจาก หนังสือ หรือของตัวเอง มาใช้ในการสนทนาทั่วไป แต่ไม่ว่าเราจะ “ยก” คำพูดเหล่านี้มา ให้ “ตรง”หรือ “เหมือน” กับของดั้งเดิมสักเท่าไร มันก็ไม่เหมือนอยู่วันยังค่ำ เพราะอย่างน้อยๆ บริบท (context) ที่สิ่งที่ยกมาเหล่านี้ปรากฎอยู่ก็เปลี่ยนไป และเราสามารถจะพูดได้ว่าการ “ยก” คำพูดหรือข้อความ มาใช้ในบริบทที่เปลี่ยนไปนี้ เป็นการ “สร้าง”โลกการรับรู้ที่เปลี่ยนไป คนเรามักจะ “ลืม” คิดถึงจุดนี้ว่า ผู้พูดนั้น มีจุดประสงค์ที่ต่างไปในแต่ละบริบท เช่น มีประโยคอยู่สองประโยค 1) ผมกินเหล้าเมา 2) ผมขับรถชน เรามีอยู่หลายวิธีที่จะเรียงประโยค เช่น ผมกินเหล้าเมา ผมเลยขับรถชน หรือ ผมขับรถชน ผมเลยกินเหล้าเมา จะเห็นได้ว่า ประโยคแรก การขับรถชน เป็น ผลโดยตรง ของการกินเหล้าเมา (นั่นคือ เหล้าเป็นสาเหตุ) ในขณะที่ประโยคที่สอง ผมกินเหล้า เนื่องจาก ผมมีความทุกข์ (อันนี้ ความทุกข์จากการขับรถเป็นสาเหตุ) จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อเอาประโยคสองประโยค อาจจะเกิดขึ้นจริงทั้งสองอัน ณ เวลาที่ต่างกัน มารวมกัน หรือ มาเรียงร้อยกันใหม่ และไปปรากฎในบริบทใหม่ จะให้ความหมาย ความเป็นเหตุเป็นผลที่ต่างไป (จริงๆ สองอันอาจจะ ไม่เกี่ยวเนื่องก็ได้ นั่นคือ กินเหล้าเมา อาจเกิด เมื่อสามปีที่แล้ว แต่ ขับรถชน อาจจะเกิดเมื่อวาน แต่พอเอามาเรียงร้อย ด้วยตัวเชื่อมสันธาน “เลย” ทำให้เหตุการดูเป็นเหตุเป็นผลกัน)

ถ้าใครเล่าให้เราฟังว่า “มีคนๆหนึ่ง ชอบทรมานสัตว์โดยการควักลูกตา พอเวลาเค้ามีลูก ลูกเค้าก็ตาบอด” เราเคยคิดหรือไม่ว่า ผู้เล่านั้นได้ “สร้างเรื่อง” (construct a narrative) เพื่อจุดประสงค์ทางสังคมบางประการ (เช่น ให้เราเชื่อเรื่องบุญ บาป ฯลฯ) ผมไม่ได้หมายความว่าผู้เล่า โกหก ผมเชื่อว่า การชอบทรมานสัตว์ นั้นเกิดขึ้นจริง และ ความพิการของลูกเขา เกิดขึ้นจริง แต่อย่าลืมว่า สองเหตุการณ์ (ถึงแม้จะเกิดขึ้นจริง) เป็นเหตุการที่ ต่างวาระ กัน คือ เป็นเหตุการณ์ ที่เกิดห่างกันเป็นเดือนๆ เป็นปี ๆ

แต่ถ้าดูจากลักษณะการใช้ภาษา มันทำให้เราเข้าใจว่า ความพิการเป็น “ผลต่อเนื่องโดยตรง” (a direct consequence of) ของการทรมานสัตว์ (นั่นคือ เป็นกรรมเป็นเวร) เนื่องจากการการใช้ คำวิเศษณ์เชื่อม เช่น “พอเวลาเค้ามีลูก” ซึ่งแสดงถึงความต่อเนื่อง หรือ ผลของการกระทำของประโยคสองประโยค และมากไปกว่านั้น เราซึ่งเป็นผู้ฟัง มักลืมคิดไปว่า ถึงแม้เหตุการณ์สองเหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริง (ทรมานสัตว์ และลูกพิการ) แต่ในความเป็นจริงเหตุการณ์นั้น อาจจะไม่เกี่ยวข้องกันหรือเป็นสาเหตุ และผลลัพธ์ กันก็ได้

เหตุการณ์สองเหตุการณ์ได้กลายมาเป็นสาเหตุ และผลลัพธ์ เมื่อผู้เล่าได้นำมันมาเรียงร้อยด้วยการใช้ภาษา เพื่อจุดมุ่งหมายทางการสอนสั่งเรื่องบุญ บาป เท่านั้นเอง จริงหรือไม่

ยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง สมมติว่าเราไปฟังเทศน์ และพระ “เล่าเรื่อง” เวลาไปทุดงค์ว่า

มีวันหนึ่ง อาตมาไปทุดงค์ในป่า ตอนเวลาพลบค่ำ อาตมาได้เข้าจำศีลที่ถ้ำแห่งหนึ่ง แต่อยู่ๆก็รู้สึกว่า “เอ๊ ทำไม มันร้อนจัง” เมื่อเข้าสมาธิไปปรากฎว่า เห็นเสือมาปรากฎตัว ดวงตามันสีแดง เหมือนมีรอยอาฆาต พอพยายามจะสื่อสาร ถามมันว่า “เจ้าต้องการอะไร” ก็พอจะรับรู้ได้ว่ามันเป็น เจ้ากรรมนายเวรของอาตมาจากชาติที่แล้ว...”

จากมุมมองของนักภาษา พูดได้ว่า เรื่องเล่า(ย่อๆ) อันนี้ เป็นเรื่องเล่าที่พระองค์นี้ “แต่งขึ้น” หรือ “สร้างขึ้น” (construct) โดยผ่านทางภาษา (ปล ผมไม่ได้บอกว่าพระ “โกหก” นะครับ ลองอ่านต่อ) นั่นคือ การไปทุดงค์ของพระ เกิดขึ้นจริง การจำศีลเกิดขึ้นจริง การเห็นเสือในสมาธิ (อาจจะ)เกิดขึ้นจริง และการคุยกับเสือ ทางสมาธิ(อาจจะ)เกิดขึ้นจริง แต่เรื่องราวนี้ได้ผ่านการ “ปรุงแต่ง” หรือ “สร้างสรรค์”ขึ้น โดยการ นำสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มาเรียงร้อยกันต่อกันเป็น “เรื่องราว” (narrative) ทำให้ผู้ฟัง หรือผู้อ่าน คล้อยตามว่าเป็นเหตุผลกัน หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามกัน

พูดง่ายๆ คือ เมื่อคุณ “บรรยาย” สิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลายๆอย่าง (เช่น การไปทุดงค์ การเข้าพักในถ้ำ การนั่งสมาธิ) อย่าง “ต่อเนื่องกัน” มันทำให้ผู้ฟัง คิดว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับ (chronological) ทำให้เกิดความเป็นเหตุเป็นผลกัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์แต่ละอย่างมันเกิดแยกจากกันใช่หรือไม่

มากกว่านั้นผู้เล่าเรื่องนี้ (พระ) ยัง “ปั้นแต่ง”เรื่องราว โดย “สร้างบทสนทนา” (construct the dialogue) ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในความจริง เช่น “แต่อยู่ๆก็รู้สึกว่า “เอ๊ ทำไมมันร้อนจัง” ในความเป็นจริง พระองค์นี้ คงไม่ได้ เอ่ยบทสนทนา ในทำนองนี้ หรือ พูดกับตัวเองด้วยคำพูดเหล่านี้ หรือ ในความเป็นจริง บทสนทนานี้ไม่ได้ถูก “เปล่ง”ออกมา หรือ แม้แต่ “คิด” ในรูปประโยคอย่างนี้ ถูกไหมครับ (ผู้อ่านลองนึกถึงเวลาเราคิดเวลาอยู่คนเดียว เราพูดเป็น dialogue อย่างนี้หรือเปล่า) หรือ แม้แต่ บทสนทนากับ เสือ (“เจ้าต้องการอะไร”) ก็ไม่ใช่บทสนทนาที่เกิดขึ้นจริง หรือ ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นจริงในใจ หรือในสมาธิ ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องใช้คำเหล่านี้หรือ น้ำเสียงในโทนเดียวกัน

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เรามักจะลืมไปอย่างที่กล่าวข้างต้นคือ บริบทที่ต่างไป นั่นคือ ในบริบทปัจจุบัน พระองค์นี้ได้ “สร้างเรื่องราว” (หรือ “เรียงร้อยเหตุการณ์ให้เป็นเรื่องราว”) เพื่อที่จะ สอนหรือเทศน์เราเกี่ยวกับเรื่องบุญ บาป ในขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้น (หรือเรื่องราวจริงๆที่เกิดขึ้นในอดีตที่พระเล่า) นั้น ไม่ได้มีบริบทเป็นไปเพื่อสอน หรือ เทศนาเราเกี่ยวกับเรื่องบุญ บาป พอจะเห็นภาพไหมครับ

นั่นก็คือ พระองค์นี้ เล่าเรื่องราวนี้ บนพื้นฐานของความเป็นจริง แต่ได้มีการแต่งเติมเรื่องราวเพื่อจุดประสงค์ให้ผู้ฟังเข้าใจถึง กรรม เวร หรือ บุญบาป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ฟังส่วนใหญ่มิได้เคยคิดว่า จริงๆสิ่งที่พระเล่า เป็น เรื่องราวที่ผ่านการแต่ง สร้างสรรค์ เพื่อไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น (ที่ไม่ใช่บริบทดั้งเดิมของเหตุการณ์)

ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น มิใช่ว่าจะพูดว่าบุญ บาป ไม่มีจริง หรือ เป็น concept ที่ไร้สาระ เพราะถ้าไม่มี concept เหล่านี้ สังคมคงไม่เป็นสุข แต่จุดประสงค์เพื่อจุดประกายความคิด(ที่แตกต่าง) ว่า สิ่งเหล่านี้ อาจจะเป็นผลมาจากการใช้ภาษาทางสังคมของมนุษย์ เราปฎิเสธไม่ได้ว่า ภาษามีอิทธิพลต่อความคิด และการรับรู้ของผู้ใช้ภาษา เราจะรู้สึกต่อคนๆหนึ่งว่าเป็น “กบฎ” หรือ “ผู้ปลดปล่อย” ก็ขึ้นอยู่กับ คำศัพท์ทางภาษาที่ใช้บรรยายคนๆนั้น ในทางเดียวกัน “กิเลส” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน (อาจจะเป็นอารมณ์ ความรู้สึก หรือ สภาพจิตใจ) ก็อาจจะถูกรับรู้ให้เปรียบเสมือน สิ่งที่มีตัวตน น่ารังเกียจ และเป็นสิ่งที่ต้อง “กำจัด” ทั้งๆที่จริงๆแล้ว สิ่งที่เรียกว่า กิเลส ไม่ได้มีอยู่จริง ก็เป็นได้

เมื่อใดที่เรา “รู้เท่าทัน” และ รู้ “ความเป็นไป” ของธรรมชาติ ของโลกมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่า ภาษาก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้ ว่ามนุษย์ใช้ภาษาในการสื่อสาร หรือ ถ่ายทอด กันอย่างไร เมื่อนั้นเราจะมีความสามารถที่จะพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างปราศจากอวิชชา (หรือ อาจจะมีอวิชชา แต่เราก็ตระหนักถึงการมีอยู่ของมันและ รู้เท่าทันมัน)



Create Date : 14 สิงหาคม 2550
Last Update : 14 สิงหาคม 2550 7:14:02 น. 5 comments
Counter : 16473 Pageviews.

 
ดอกเตอร์ค่ะ ถ้ามีเวลาว่างบ้างน่ะค่ะ ถ้าอยากสอนภาษาอังกฤษให้กับคนไทย ที่ฮุสตันบ้างก็ดีเหมือนกันน่ะค่ะ ติดต่อไปที่วัดพุทธาวาส น่ะค่ะ วันอาทิตย์ถ้าไม่มีอะไรทำอยู่ว่างๆ เจอกันได้น่ะค่ะ


โดย: หมูตัวอ้วน IP: 70.246.26.235 วันที่: 15 สิงหาคม 2550 เวลา:9:29:39 น.  

 
ขอบคุณที่ให้ความรู้ และเปิดมุมมองใหม่ๆให้นะคะ ^_^
แต่ทว่า ขอเสนอความเห็นนิดนึงว่า

ที่ว่า "ภาษา" เป็นตัวสร้าง สิ่งที่เป็นนามธรรม อย่างเช่น "เวลา" น่ะค่ะ
โดยส่วนตัว ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่
เพราะคิดว่า สิ่งต่างๆ ทั้งรูปธรรม และนามธรรม เช่น เวลา, ความดี, สายลม, แสงแดด ฯลฯ
มันมีตัวตนของมันอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่า ภาษา ทำหน้าที่ "ตั้งชื่อ" ให้มันเฉยๆเท่านั้นเอง

พี่คิดว่าไงคะ
พี่มีความเห็นใดๆก็เมล์มาคุยกันนะคะ ที่
kede_na@yahoo.com

ขอบคุณค่ะ


โดย: เกด IP: 202.142.199.93 วันที่: 27 ตุลาคม 2550 เวลา:10:04:22 น.  

 
Dear Dr.Krisdauw

I've just visit your site today from pantip/klaiban link under your outstandingly well-written comments. I really admire your thoughts and opinions. You're so genious and well hard working to be in the current position.

After reading your article, I have some opinions to share with you and other readers.

1. Language is just one of the causes of this world (and universes) existence, as we perceive. Another combined causes are visual, smell, taste and mind.

If we didn't have our mind to think about what we are hearing (or reading), then we couldn't understand what we're talking about.

2. Time is one of the hardly understanding concepts.

"Time is not absolutely defined," as described by Einstein in his theory of special relativity.

Time can be faster or slower depends on your speed and gravitation force that affect on you. So time is not the thing we see on calendar or our watch anymore. But... what time is it?

3. "บุญ & บาป" is not originally taught for tranquil society. Its main purpose is for individual to live a serene mind and lifestyle.

So community with lot of these serene-minded people will be very peaceful and lifely. This is the result that our government need.

4. The examples discussed in the article seem rather across borderline between linguistics, philosophy and medicine. These three clever specialists usually see things differently through their studying concepts and practices.

However, your article is really excellent in described your thoughts and create another's whoever have read.


I'm from a medical field.
Nice to know you.


โดย: Kanitha A. IP: 71.198.0.120 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2550 เวลา:3:47:27 น.  

 
ธุดงค์


โดย: โมนา IP: 203.146.145.186 วันที่: 23 กันยายน 2551 เวลา:14:15:38 น.  

 
ในปัจจุบันนี้ นักภาษาศาสตร์ ส่วนใหญ่มีความเชื่อเกี่ยวกับกำเนิดของภาษาว่าอย่างไร
# ช่วยให้คำตอบด้วยน่ะค่ะ


โดย: ผู้มีความสงสัย IP: 171.4.80.174 วันที่: 25 พฤษภาคม 2558 เวลา:22:07:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

krisdauw
Location :
Washington, Seattle United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




Friends' blogs
[Add krisdauw's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.