Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
27 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
กรณีของ "แอ๊บแบ๊ว" จากมุมมองของนักภาษาศาสตร์

มุมมองของนักภาษากับ “แอ๊บแบ๊ว”

ต้องยอมรับว่า ผมก็เพิ่งได้ยินคำศัพท์คำนี้ เนื่องจากการนำเสนอของสื่อหลายๆทาง เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งจากพันธ์ทิพย์ ซึ่งมีกระทู้ที่ได้รับคะแนนโหวตจนเป็นกระทู้แนะนำเกี่ยวกับการแบนการตอบกระทู้ที่ใช้คำศัพท์ในทำนองนี้ ความล้าสมัยของผม อาจจะเป็นเพราะว่า ผมไม่ได้อยู่ใน “วงโคจร” (out of loop) ของกลุ่มที่ใช้คำศัพท์คำนี้ เพราะผมอยู่อเมริกามานานและได้กลับเมืองไทยไม่บ่อยมาก แต่ก็เอาล่ะ ในเมื่อมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษา ก็ขอแสดงความคิดเห็นทางวิชาการก็แล้วกัน

ผมกลับคิดว่า รู้สึกเฉยๆกับคำศัพท์คำนี้ (และคำอื่นๆที่ไม่มับัญญัติในพจนานุกรม) เพราะคิดว่าเป็นเรื่อง “ธรรมดา” เป็น “ธรรมชาติ”ของภาษา

ในทางวิชาการ คำชนิด “แอ๊บแบ๊ว” หรือ “โจ๋” หรือ “จ๊าบ” นั้น เป็นคำกลุ่มที่เราเรียกว่า “แสลง” (slang) ซึ่งเป็นการนำคำที่มีอยู่ดั้งเดิมมาให้ความหมายใหม่ หรือ เป็น คำที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ (ด้วยวิธีการอะไรก็แล้วแต่ เช่น ผสมระหว่างไทยกับอังกฤษ อย่างคำ “แอ๊บแบ๊ว” หรือ การยืมจากภาษาอื่นทั้งดุ้น) เป็นคำที่มีอายุสั้น อยู่ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วจะหมดยุคไป และจะใช้อยู่ในกลุ่มคนอายุหนึ่งๆ เท่านั้นครับ (เพราะฉะนั้น คนที่อยู่เมืองนอกอย่างผมหรือ คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอายุที่ใช้คำว่า “แอ๊บแบ๊ว” คงไม่เคยได้ยิน )

ถ้าคิดตามคติทางศาสนาพุทธ อะไรมีเกิด ก็ต้องมีดับ คำแสลง เหล่านี้ก็เหมือนกัน มันก็มีเกิด ใช้อยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ดับไป เป็นวัฎจักรอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถือเป็น “ธรรมชาติ” ของทุกสิ่งในโลกมนุษย์ ไม่ควรที่จะไปตระหนกตกใจหรือเป็นกังวลกับมัน

แต่คนส่วนใหญ่ กลับเป็นมากไปกว่านั้น คือคิดว่ามันเป็น การทำให้ภาษา(ไทย) “วิบัติ” ทำลาย “เอกลักษณ์ของชาติ” ผมว่ามันจะไปกันใหญ่แล้วครับ

แต่จริงๆ ถ้าลองมองถึงสิ่งที่เราเรียกว่า “ภาษา”แล้ว เราจะเห็นได้ว่า เป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้สื่อสารระหว่างและถ่ายทอดความคิดกันเท่านั้น “ตัวภาษา” จริงๆ เราไม่สามารถที่จะไป “ตีค่า” ว่า “สละสลวย” “ไพเราะ” “หยาบคาย” หรือ “วับัติ” หรือ “เป็นเอกลักษณ์”ของชาติได้

สิ่งเหล่านี้ เป็นเพราะ คนเราตีค่า ให้ค่า เอาเองไม่ใช่หรือ เป็นการนำเอาเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องของความเป็นชาติ ความมีวัฒนธรรมมาใส่ลงไปในภาษา ทั้งๆที่ ตัวภาษาจริงๆมันก็มีแค่ระบบเสียง ระบบไวยากรณ์ และระบบการเขียน เท่านั้น จริงหรือไม่

นั่นคือ คนเราสร้างค่านิยม เอาว่า ภาษาที่สุภาพ จะต้องมีรูปแบบและการใช้แบบนี้ (เช่น พูดต้องมีหางเสียง อย่าพูดเหมือนขวานผ่าซาก) ส่วนภาษาที่หยาบคายจะเป็นอีกแบบหนึ่ง (เช่น สรรพนามสมัยพ่อขุนราม) แต่จริงๆ มีใครสามารถหา “เหตุผล”บ้างว่า ทำไมสรรพนามสมัยพ่อขุนราม “หยาบคาย” กว่า "ผม" หรือ "ดิฉัน" หรือ "ข้าพเจ้า" หรือแม้แต่ "กระหม่อมฉัน"

คำตอบก็คือ เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ค่านิยมก็เปลี่ยนไป จากที่เคยสุภาพ หรือเป็นกลางๆกลายมาเป็นหยาบคาย แสดงว่า สิ่งที่เรียกว่า ความสุภาพ ความถูกต้อง ความสละสลวย มันเป็นแค่ค่านิยม ใช่หรือไม่ (นั่นคือ เราไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไม "กู" ถึง "ฟังดู"ไม่สุภาพเท่า "เกล้ากระหม่อมฉัน")

เพราะฉะนั้น การที่ใช้ภาษาเปลี่ยนไปจากสิ่งที่ “ได้รับการยอมรับ” (นั่นคือ ค่านิยม) ของสังคม นั้นไม่น่าจะนำไปสู่ “การวิบัติ” ของภาษา

ลองคิดดูเล่นๆสิครับว่า “ภาษาวิบัติ” จะมีลักษณะอย่างไร?? สมมติว่า ภาษาวิบัติคือ การพูดภาษาอังกฤษคำ ภาษาไทยคำ เอามาผสมกัน นะครับ ผมถามว่า ภาษามัน “วิบัติ” ตรงไหน??

บางท่านอาจจะตอบว่า อ้าว ควรจะเป็นภาษาไทยตลอดสิ เอกลักษณ์ของชาติ คำตอบมันก็จะวน พายเรืออยู่ในอ่างอยู่อย่างนี้ คือว่า เป็นเอกลักษณ์ ต้องรักษาไว้ ให้บริสุทธิ์ ฯลฯ

แต่อย่างที่ผมเรียนไปข้างต้น ตัวภาษา กับเอกลักษณ์ของชาติ หรือความถูกต้องของภาษา นั้นเป็นเรื่องคนละเรื่องกัน “ตัวภาษา”จริงๆ ไม่มีความถูกต้อง หรือเอกลักษณ์ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ มนุษย์นำมาใส่เติมไปเท่านั้น เพื่อสร้าง “ความเป็นตัวตน” ขึ้นต่างหาก

ถ้าวิเคราะห์จริงๆ ภาษาไทย(ในปัจจุบัน) ก็ไม่ได้ บริสุทธิ์อยู่แล้ว คำในไทยเจ็ดสิบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่นๆทั้งสิ้น เช่น จากการสมาส สนธิ ของภาษาบาลี สันสฤต คำราชาศัพท์ก็เป็นภาษาบาลี สันสฤต เขมรซะเป็นส่วนเกือบหมด (เช่น เสวย เสด็จ พระเสาวณีย์) หรือแม้กระทั่งชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งดุ้น ก็ไม่มีคำไทยแท้อยู่เลย

อย่างนี้ ถือว่า ภาษาไทย (แท้ๆ) วิบัติไปแล้วหรือยัง (เพราะว่า เอาหลายภาษามาปนกัน) เพราะฉะนั้น ถ้าพูดไทยสลับอังกฤษ จะกลายเป็นภาษาวิบัติได้อย่างไร (ในเมื่อภาษาไทยที่เรียกว่า มาตรฐาน ในปัจจุบัน มันก็บาลีสลับสันสฤต สลับเขมรอยู่แล้ว)

หรือ การพูดไม่ชัด ก็ไม่ได้ทำให้ภาษา “วิบัติ” อย่าลืมว่า คำที่เป็น “มาตรฐาน” ในปัจจุบัน ก็มาจากการกร่อนเสียง เยอะแยะ เช่น มะม่วง มะขาม ก็มาจาก หมากม่วง หรือ หมากขาม อย่างนี้ภาษาไทยปัจจุบันก็วิบัติอยู่แล้วสิครับ

ผู้ที่ไม่ยอมรับเรื่องธรรมชาติของภาษา (เช่น คำแสลง การเปลี่ยนแปลงของภาษาในรูปแบบต่างๆ เช่น การกร่อนเสียง การเขียนที่เปลี่ยนไป เช่น หนู เป็น นู๋) ถือเป็นคนที่มีอคติในความคิด ถ้ายืมคำท่านพุทธทาสฯมาใช้ก็ต้องบอกว่าเป็นพวกที่ยึดถือ ตัวกู ของกู จะยึดไม่ให้ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ฯลฯ

ต้องยอมรับครับว่าภาษาจะเปลี่ยนไป ก็ต่อเมื่อความต้องการของผู้ใช้ภาษาเปลี่ยนไป: language lives on the lips and fingers of living people. So, as the needs in people’s expressing themselves change, language will change ครับ เช่น เมื่อก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อมีสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้ ก็ต้องมีการสร้างคำศัพท์ใหม่ๆ เพื่อรองรับกับวิทยาการใหม่ๆ เช่น ละมุนภัณฑ์ หรือ กระด้างภัณฑ์ หรือ สมองกล หรือ อาหารการกินของต่างชาติที่ไม่มีในเมืองไทย ก็ต้องมีการสร้างคำเรียกขึ้นมา หรือทับศัพท์ เช่น สตรอร์เบอร์รี่ หรือ เชอร์รี่ หรือ แฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น หรือแม้แต่คำพวก ก๋วยเตี๋ยว มะตะบะ ก็เป็นคำยืมทั้งสิ้น

และบางครั้งเราต้องยอมรับว่า การยืมคำ หรือ การใช้ทับศัพท์ไป มันสื่อสารได้ "ตรง"มากกว่า เสียอีก เช่น คนส่วนใหญ่น่าจะเห็นตรงกับผมว่า ใช้คำว่า ซอฟต์แวร์ สื่อสารได้"ดีกว่า" ใช้คำว่า "ละมุนภัณฑ์" หรือ ฮาร์ดแวร์ สื่อสารได้ดีกว่า "กระด้างภัณฑ์" ใช้คำว่า "คอนเซ็ฟต์" สื่อสารได้"ดีกว่า" ใช้คำว่า "มโนทัศน์" หรือใช้ "คริสมาสต์" สื่อสารได้รวดเร็วกว่า การนั่งบรรยายว่า ผมทำอะไรบ้างเมื่อ "วันเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติกาลของพระเยซูคริสต์" หรือ ผมกินพายเนื้อ น่าจะเข้าใจ กระชับกว่า ผมทาน "อาหารว่างของฝรั่งชนิดที่มีแป้งห่อเนื้อแล้วเอาไปอบ"

หรือแม้แต่การยืมทั้งระบบไวยากรณ์มา เช่น มันเป็นอะไรที่ หรือ บาดเจ็บที่เท้า (แทนที่จะบอกว่า เท้าเจ็บ) ผมไม่เห็นว่าจะเสียหายหรือทำให้ภาษา “วิบัติ” ตรงไหน ใ นภาษาอังกฤษการยืมศัพท์ หรือ การยืมระบบไวยากรณ์นั้น มีปริมาณมากกว่ามาก เพราะว่าภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่คนใช้ทั่วโลก เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่มีในประเทศหนึ่งๆ ก็จะมีการคิดศัพท์ใหม่ หรือยืมศัพท์มา เช่น pajamas ชุดนอน มาจากภาษาอินเดียน บังกาโล ก็เช่นกัน หรือแม้กระทั่งคำว่า เปเรสตรอยกา ก็ยืมมาจากภาษารัสเซีย ส่วนการยืมทั้งระบบไวยากรณ์ เช่น ประโยค they are เป็นคำยืมทั้งสิ้น จากภาษาแสกนดิเนเวียน แต่สิ่งเหล่านี้ก็คือ "ภาษาอังกฤษ"

เพราะฉะนั้นในกรณีของแอ๊บแบ๊ว เป็นการสร้างคำเพื่อมาใช้อธิบายลักษณะทางพฤติกรรมที่มาจาก abnormal กับบ้องแบ๊ว เพราะฉะนั้น ถือว่า ปรกติ ครับ

แต่ผมจะไม่ขอเรียกการเปลี่ยนแปลงของภาษาว่า วิวัฒนาการ หรือ evolution เพราะ วิวัฒนาการคือการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ซับซ้อนกว่า ดีกว่า หรือมีประสิทธิภาพกว่า (เช่น จากลิงมาสู่มนุษย์ เป็นต้น) แต่อย่างที่เรียน ภาษาไม่ได้มีค่าในตัวเองว่า ดีหรือเลว เพราะฉะนั้นเราเปรียบเทียบไม่ได้ว่า ภาษาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่า (หรือวิวัฒนาการ) แต่ผมคิดว่าเป็นแค่การเปลี่ยนแปลง หรือ development เท่านั้นครับ

ปล ผมไม่ได้หมายความว่า ให้ทุกคนหันหลังให้กับสังคม และ สิ่งที่สังคมกำหนดขึ้น เช่น ไม่สนใจว่าอะไรคือความสุภาพ หรือ ไม่สุภาพ หรือสิ่งใดที่สังคม "ถือกันว่า" ถูกต้อง

แน่นอนทุกคนควรจะมี awareness เกี่ยวกับสิ่งพวกนี้ไว้
แต่สิ่งทีผมอยากให้ทุกคนมีมากกว่านั้นคือ ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สิ่งที่ถูกกำหนดทางสังคมพวกนี้ ก็คือ ค่านิยม เท่านั้นเอง และรู้ทันมัน โดยไม่ไป "ยึดติด" และทำให้เกิด ตัวกู ของกูขึ้นมา ซึ่งผลของมันอาจจะกลายเป็นความเข้าใจที่ผิดๆเกี่ยวกับธรรมชาติของภาษา หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิด การแบ่งพรรคแบ่งพวกหรือชนชั้นทางสังคม (ชั้นมีมารยาทมากกว่าเธอ เธอมันพวกไพร่ ประเทศชั้นดีกว่าประเทศเธอ เพราะประเทศชั้นมีภาษาเป็นของตัวเอง ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นต้องพูดภาษาอังกฤษ ฯลฯ) ต่างหาก

สังคมมนุษย์ หรือ ชาติใดชาติหนึ่ง จะวิบัติ หรือ จะเจริญ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม และความคิดของผู้คนในสังคมหรือชาตินั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ "ระบบภาษา" เพราะภาษาเป็นแค่ abstract system ที่รอคนนำไปใช้เท่านั้น ดังนั้น ถ้าจะป้องกันหรือแก้ไข ความ "วิบัติ" จะต้องแก้ที่ตัวบุคคลที่นำภาษาไปใช้ เช่น คำบางคำฟังๆดูก็ดูสุภาพ ดี ถูกไวยากรณ์ เป็นคำไทยแท้ เช่น "พ่อแม่ไม่สั่งสอน" แต่เมื่อถูกนำไปใช้ในบางบริบท โดยบุคคลบางคน ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกดูถูก เสียดสี หรือ ด่าทอบุพการีได้เหมือนกัน หรือ คำบางคำที่ดูจะหยาบคาย เช่น กรู มรึง (เดี๋ยวโดยเซ็นเซอร์) เมื่อนำไปใช้ในบางบริบท เช่น บทละคร หรือ การเล่าการสนทนาระหว่างเพื่อนสนิทสองคน กลับทำให้ดูว่า ผู้พูดคุยนั้นมีมิตรภาพที่แน่นแฟ้น กลับกลายเป็นสิ่งดี

ดังนั้น ภาษาในตัวของมันเอง ไม่มีดี มีเลว มีหยาบ มีสุภาพ มันขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ และทรรศนคติที่มนุษย์นำมาสู่ภาษาเองต่างหากเล่าครับ ถ้าจะปรับปรุงสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ก็ควรจะพัฒนาความคิดที่ถูกต้องและทรรศนคติที่เป็นเหตุเป็นผลไม่ดีกว่าหรือ ทิ้งท้ายไว้เท่านี้ครับ


Create Date : 27 กรกฎาคม 2550
Last Update : 27 กรกฎาคม 2550 14:16:43 น. 12 comments
Counter : 3824 Pageviews.

 
เราอยุ่เมืองไทยเองยังตามไอ้พวกศัพท์พวกนี้ไม่ค่อยจะทันเลยค่ะ มันก่อเกิดกันได้ทุกวัน
ฟังเค้าพูดกันก็ยังงง ว่ามันพูดเรื่องอะไรกัน .....


โดย: cratrina (poockey ) วันที่: 27 กรกฎาคม 2550 เวลา:8:22:15 น.  

 
ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงได้
คงจะดีถ้าอีกหน่อยภาษาไทย หรือ ภาษาไหนๆทั่วโลก ใช้ตัวโรมันเขียน
เหมือนภาษาเวีดดนาม ฟังเหมือนจีน แต่ตัวเขียนเหมือนฝรั่ง
เด็กเวียดนามจึงเรียนภาษาอังกฤษได้เร็ว ยิ่งยุคนี้ด้วย


โดย: moonfleet วันที่: 27 กรกฎาคม 2550 เวลา:9:20:42 น.  

 
ไปอยู่ป่านานค่ะ เพิ่งทราบคำนี้ "แอ๊บแบ๊ว" จาก abnormal
นึกว่ามาจากเวียตนามซะอีก
เพราะระยะนี้ ชาวต่างชาติอบพยมาืทำมาหากินในไทยเป็นจำนวนมาก

ขอบคุณค่ะ ที่ให้ความรู้ครั้งนี้ เพราะไม่มีใึครมานั่งอธิบายให้ฟัง
ถ้าถามก็กลายเป็นว่า "ทำเป็นลึมภาษาไทย" ซะงั้น เลยไม่เคยถามค่ะ


โดย: ELiiCA วันที่: 27 กรกฎาคม 2550 เวลา:10:06:56 น.  

 
เห็นด้วยกับความคิดคุณมากเลยค่ะ เขียนได้โดนใจจริง ภาษาผสมผสานกันได้ไม่ได้ทำให้วิบัติแต่อย่างใด บางครั้งยังอธิบายการสื่อสารได้เข้าใจเร็วขึ้นด้วยค่ะ


โดย: Die vier Jahreszeiten วันที่: 27 กรกฎาคม 2550 เวลา:12:59:31 น.  

 
ติดตามอ่านความเห็นของคุณมานานแล้วค่ะ ได้ความรู้และชื่นชมแนวการให้ความเห็นของคุณมาก มองในลักษณะวิชาการไม่ใส่ทัศนคติส่วนตัว

เราเองก็เฉย ๆ กับเรื่องพฤติกรรมแอ๊บแบ๊วน่ะ ให้ความเห็นในฐานะที่ผ่านวัยนั้นมาแล้ว โตขึ้นเขาก็หายกันไปเอง มันก็เป็นวงจรอย่างนี้มาตลอด คนมีหน้าที่บ่น ก็ บ่นกันไป แต่สำหรับเราแค่เฝ้ามองดูห่าง ๆ ตักเตือนเรื่องเรียน เรื่องที่จะออกนอกลู่นอกทางและกาละเทศะมากกว่า ซึ่งเราว่าเด็กเขาก็ฉลาดกันพอสมควร

ส่วนเรื่องการใช้ภาษา ที่ตั้งกระทู้กันในพันทิพนั้นเรามองว่า ถ้าไม่ใช่นักวิชาการด้านภาษาที่จะมาถกกันในด้านวิชาการจริง ๆ มักจะออกเป็นแนวกระทู้ที่ว่า 'ชั้นไม่ชอบแบบนี้น่ะ ใครไม่ชอบแบบชั้น มารณรงค์ต่อต้านกันดีกว่า' ดูมันเป็นการสร้างกรอบสร้างอาณาเขตกีดกั้นความเข้าใจของคนในสังคมยังไงไม่รู้ และแน่นอนพันเปอร์เซนต์มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราเคยได้ยินว่า controversial issues อย่างพวก linguistic, religion, race อะไรพวกนี้ถ้าไม่ใช่คุยกันในเชิงของนักวิชาการแล้วไม่ควรนำมาเป็นหัวข้อสนทนา มักจะเป็นประเภทน้ำผึ้งหยดเดียวทุกที ก็ไม่รู้ว่าเขาจงใจหรือเปล่า

Best wishes,


โดย: CHLOROPHYLL วันที่: 27 กรกฎาคม 2550 เวลา:14:48:48 น.  

 
อ่า เห็นด้วยค่ะ
ดิฉันน่ะ ขำๆ ทุกทีเวลาคนบอกว่า ภาษาจะวิบัติ

ดีใจที่มีนักภาษาศาสตร์หัวก้าวหน้าอย่าง จขบ.


โดย: grappa วันที่: 27 กรกฎาคม 2550 เวลา:18:54:52 น.  

 
วิเคราะห์ได้น่าสนใจมากเลยค่ะ
อ่านไปคิดตามไปมันก็จริงตามนั้น..

ส่วนคำว่าแอ๊บแบ๊ว ไม่ค่อยจะเข้าใจสักเท่าไหร่
เพิ่งมาทราบก็จากที่อ่านๆ ตามในเน็ตนี่แหละค่ะ
แต่คงเพราะอายุไม่อยู่ในกลุ่มที่จะใช้คำพวกนี้แล้วหน่ะค่ะ


โดย: ปางหวัน วันที่: 27 กรกฎาคม 2550 เวลา:21:05:24 น.  

 
โอโห ชื่นชมความคิดเป็นอย่างมาก เห็นด้วยว่าจะไปคิดมากกลุ้มใจอะไรกับมัน (ภาษา) สื่อสารกันเข้าใจ ทำให้เกิดความรวดเร็ว และบางครั้งยังสามารถสื่อความรู้สึกจากการเปลี่ยนคำสะกดบ้างก็ออกจากเป็นมิติที่ดีกับการใช้ (เพียงแต่ไม่ถูกใจอาจารย์ภาษาไทยบางท่าน) ยังจะพยายามแอ็บแบ๊วต่อไป ทุกครั้งที่นู๋มีโอกาสนะเคอะ


โดย: Nok (nokjeffus ) วันที่: 27 กรกฎาคม 2550 เวลา:21:27:29 น.  

 
I don't think that coining a new word and using it would lead to “ภาษาวิบัติ” either--- (BTW, is there an English term for this "“ภาษาวิบัติ”"?)

If the society doesn't accept it, the word will be died out spontaneously.

As far as I could remember, there are many "fashionable" words coined during the past 20-30 years... Anyway, few of them are still in use in Thai society.

In the contrary, I am always excited that there are new English words added into dictionaries every year...--- just like "to google" and many more.

The more words we have the more a person can convey their thoughts.... I believe in this philosophy...

Well, if my belief is true, I could foresee that Thai language is in a stagnant dynamics... and may be prone to die out.

Just my two cents though.

Last but not least, thanks for your intellectual writing krub.

Take care,
A.T.


โดย: A.T. (amatuer translator ) วันที่: 27 กรกฎาคม 2550 เวลา:22:32:16 น.  

 
ค่อยข้างจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สำหรับมุมมองนี้ เรื่องแบบนี้เถียงกันเป็นวันก็ไม่จบ

ผมว่าบางทีเอกลักษณ์ของภาษาไทยอาจจะอยู่ที่การดัดแปลงคำต่างๆให้มาเป็นภาษาเราได้

แต่สิ่งที่สำคัญคือ ถึงแม้จะมีคำใหม่เกิดขึ้นมากมายแค่ไหน แต่ก้อไม่อยากให้คำเก่าๆต้องสูญหายไปเลย


โดย: winos วันที่: 28 กรกฎาคม 2550 เวลา:0:01:10 น.  

 
ขอมองอีกมุมในฐานะนักสื่อสารนะคะ

(คิดว่าภาษาแอ็บแบ๊วที่พูดถึงกันหมายถึงคำบางคำที่ผู้ใช้มาสะกดให้ต่างไปจากเดิมให้เหมือนเด็กๆพูดน่ะค่ะ อย่าง จาปายทามมายอ่ะ อาจานห้ายกานบ้านมาบานเลย มิรุจิทามด้ายป่าว ไม่ใช่การสร้างคำใหม่นะคะ อย่างโจ๋ จ๋าบ เป็นการสร้างคำใหม่ค่ะ ซึ่งตอนนี้ไม่เห็นมีใครใช้แล้ว)

ถ้าพูดถึงการใช้ภาษาแอ็บแบ๊วในกรณีที่ดิฉันกล่าวถึงคือตั้งใจสะกดอีกอย่างนึง ก็ถือว่าสื่อสารสำเร็จในหมู่ของคนที่ใช้ภาษานี้เหมือนกัน แต่ถ้ามาใช้กับคนหมู่มากอย่างห้องไกลบ้านนี่ถือว่าคนสื่อสารสอบตกค่ะ เพราะคนส่วนใหญ่รู้สึกรำคาญกับการสะกดคำเหล่านี้เลยพาลไม่อ่าน ทำให้คนไม่สนใจสิ่งที่คุณกำลังสื่อค่ะ ไม่ว่าความคิดคุณจะดีแค่ไหนแต่ถ้าวิธีสื่อสารไม่ถูกกับกลุ่มเป้าหมายก็ไม่มีความหมายอะไรค่ะ


โดย: Rive Gauche วันที่: 3 สิงหาคม 2550 เวลา:7:57:48 น.  

 
สวัสดีครับ
ก่อนอื่น ก็ขอขอบคุณสำหรับบทความดีๆที่เกี่ยวกับภาษาศาสตร์ ที่หาอ่านยากเหลือเกินในประเทศนี้

ส่วนเรื่องHarry Potter ผมไม่ได้ตั้งใจอ่าน หรือดูอะไรมากมาย เคยอ่านแค่ครึ่งเล่ม เคยดูหนังไปครึ่งนึงแล้วหลับ เลยไม่ค่อยมีความเห็นครับ

สรุปว่า ขอบคุณครับ

ไว้คุยกันครับ
ปล. ผมกะว่าจะลงเรียนป.โท สาขาภาษาและการสื่อสารที่นิด้า แต่คงเป็นปีหน้ามั่งครับ ขอคำแนะนำด้วยครับ


โดย: bear_moung วันที่: 14 สิงหาคม 2550 เวลา:13:33:50 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

krisdauw
Location :
Washington, Seattle United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




Friends' blogs
[Add krisdauw's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.