16.8 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬโคสิงคสาลสูตร
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
16.7 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬโคสิงคสาลสูตร

ความคิดเห็นที่ 9-88
ฐานาฐานะ, 4 พฤษภาคม เวลา 14:50 น.   

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า จูฬสัจจกสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=7323&Z=7551

             พระสูตรหลักถัดไป คือมหาสัจจกสูตร [พระสูตรที่ 36].
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
             มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             มหาสัจจกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=7552&Z=7914
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=405

             จูฬตัณหาสังขยสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=7915&Z=8040
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=433

             มหาตัณหาสังขยสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=8041&Z=8506
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=440

ความคิดเห็นที่ 9-89
GravityOfLove, 4 พฤษภาคม เวลา 14:59 น.

             คำถามมหาสัจจกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=7552&Z=7914
             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ พวกเหล่านั้นละทุกกรกิจอย่างก่อนแล้ว บำรุงกายนี้ภายหลัง
เมื่อเป็นอย่างนั้น กายนี้ก็มีความเจริญและความเสื่อมไป.

             ๒. [๔๓๐] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรารู้เฉพาะอยู่ว่า เป็นผู้แสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย.
ถึงแม้บุคคลคนหนึ่งๆ สำคัญเราอย่างนี้บ้างว่า พระสมณโคดมแสดงธรรมปรารภเราเท่านั้น. ท่าน
อย่าพึงเห็นอย่างนั้น พระตถาคตย่อมแสดงธรรมแก่บุคคลเหล่านั้นโดยชอบ เพื่อประโยชน์ให้รู้
แจ้งอย่างเดียว. เราประคองจิต สงบตั้งมั่น ทำให้เป็นสมาธิ ณ ภายใน ในสมาธินิมิตเบื้องต้น
จนจบคาถานั้นทีเดียว เราอยู่ด้วยผลสมาธิเป็นสุญญะ ตลอดนิตยกาล.
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 9-90
ฐานาฐานะ, 5 พฤษภาคม เวลา 04:50 น.  

GravityOfLove, 13 ชั่วโมงที่แล้ว
             คำถามมหาสัจจกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=7552&Z=7914
             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ พวกเหล่านั้นละทุกกรกิจอย่างก่อนแล้ว บำรุงกายนี้ภายหลัง
เมื่อเป็นอย่างนั้น กายนี้ก็มีความเจริญและความเสื่อมไป.
             อธิบายว่า
             พวกเหล่านั้น คือ พวกที่เป็นผู้เปลือยกาย ปล่อยมารยาทดีเสีย ...
             ละทุกกรกิจอย่างก่อนแล้ว คือ ละการทำตัวให้ลำบากเปล่า
             บำรุงกายนี้ภายหลัง คือ เคี้ยวของควรเคี้ยวอย่างดีๆ กินโภชนะอย่างดีๆ ลิ้มของลิ้มอย่างดีๆ
             กายนี้ก็มีความเจริญและความเสื่อมไป. คือกายนี้ก็กลับฟื้นฟูคืนมาได้
กล่าวคือ กายนี้สลับความเจริญและความเสื่อม ตามสภาพดีเลวของอาหาร (ในกรณี)
             กายนี้มีความเจริญและเสื่อมไปตามสภาพของสังขารธรรม
             แต่นัยข้อนี้ แสดงเฉพาะเรื่องอาหารดีเลว เป็นปัจจัยแก่ความเจริญความเสื่อมของกาย.

             ๒. [๔๓๐] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรารู้เฉพาะอยู่ว่า เป็นผู้แสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย.
ถึงแม้บุคคลคนหนึ่งๆ สำคัญเราอย่างนี้บ้างว่า พระสมณโคดมแสดงธรรมปรารภเราเท่านั้น. ท่าน
อย่าพึงเห็นอย่างนั้น พระตถาคตย่อมแสดงธรรมแก่บุคคลเหล่านั้นโดยชอบ เพื่อประโยชน์ให้รู้
แจ้งอย่างเดียว. เราประคองจิต สงบตั้งมั่น ทำให้เป็นสมาธิ ณ ภายใน ในสมาธินิมิตเบื้องต้น
จนจบคาถานั้นทีเดียว เราอยู่ด้วยผลสมาธิเป็นสุญญะ ตลอดนิตยกาล.
             ขอบพระคุณค่ะ
2:59 PM 5/4/2013
             สันนิษฐานว่า
             บางคนอาจจะเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเฉพาะแก่เขาเท่านั้น
ไม่ได้แสดงธรรมแก่บุคคลอื่นๆ
             ซึ่งไม่ควรเห็นอย่างนั้น เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่บริษัทจำนวนมาก
             และเมื่อแสดงธรรมจำนวนมากก็ตาม ไม่ได้มีจิตฟุ่งซ่านแสดงธรรม
พระผู้มีพระภาคสงบตั้งมั่น จิตเป็นสมาธิ ตลอดการแสดงธรรม.

ความคิดเห็นที่ 9-91
GravityOfLove, 5 พฤษภาคม เวลา 15:15 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             ๔. มหายมกวรรค          
             ๖. มหาสัจจกสูตร สัจจกนิครนถ์ทูลถามปัญหา
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=7552&Z=7914&bgc=seashell&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี
             สัจจกนิคันถบุตร (สัจจกนิครนถ์) ได้เข้าไปที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
             มีสมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งหมั่นประกอบกายภาวนาอยู่
(อัตตกิลมถานุโยคของพวกนิครนถ์) แต่หาได้หมั่นประกอบจิตภาวนาไม่
             สมณะและพราหมณ์พวกนั้น ย่อมประสบทุกขเวทนาอันเกิดในสรีรกาย
             เมื่อบุคคลประกอบกายภาวนา ย่อมเกิดทุกขเวทนาทางกาย เช่น ปวดขา หัวใจจะแตก
เป็นบ้า จิตฟุ้งซ่าน จิตหันไปตามกาย เป็นไปตามอำนาจกาย เพราะไม่อบรมจิต
             เมื่อบุคคลประกอบจิตตภาวนาอยู่ ย่อมเกิดทุกขเวทนาในจิต ส่งผลต่อกาย เช่น
ปวดขา ฯลฯ กายหันไปตามจิต เป็นไปตามอำนาจจิต เพราะไม่อบรมกาย
             ตนมีความคิดว่า หมู่สาวกของพระโคดมย่อมหมั่นประกอบจิตตภาวนา
แต่ไม่ได้หมั่นประกอบกายภาวนา
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อัตตกิลมถานุโยค&detail=on

             พระองค์ตรัสถามว่า กายภาวนา ท่านฟังมาแล้วอย่างไร?
             สัจจกนิครนถ์ทูลว่า ท่านนันทะผู้วัจฉโคตร ท่านกิสะผู้สังกิจจโคตร ท่านมักขลิผู้โคสาล
             ท่านเหล่านี้เป็นผู้เปลือยกาย ไม่มีมารยาท เช็ดอุจจาระที่ถ่ายด้วยมือ ฯลฯ
กลืนอาหารที่เก็บไว้เจ็ดครึ่งเดือนบ้าง
             ตรัสถามว่า บุคคลเหล่านั้นเลี้ยงตนด้วยอาหารเช่นนั้นเท่านั้นหรือ?
             ทูลตอบว่า ไม่เป็นดังนั้น บางทีท่านเหล่านั้นเลี้ยงตนด้วยอาหารอย่างดี
ให้ร่างกายนี้มีกำลัง เจริญ อ้วนพีขึ้นๆ
             ตรัสว่า พวกเหล่านั้นละทุกกรกิจอย่างก่อน (ละทุกรกิริยาที่ประพฤติมาก่อน)
แล้วบำรุงกายนี้ภายหลัง เมื่อเป็นอย่างนั้น กายนี้ก็มีความเจริญและความเสื่อมไป
(กายนี้สลับความเจริญและความเสื่อม ตามสภาพดีเลวของอาหาร)
             ตรัสถามว่า จิตตภาวนา ท่านได้ฟังมาแล้วอย่างไร?
             สัจจกนิครนถ์ ไม่อาจทูลบอกได้
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ก่อนนั้นท่านเจริญกายภาวนา อันไม่ประกอบด้วยธรรมในอริยวินัย
ท่านจึุงยังไม่รู้จักแม้กายกายภาวนา แล้วจะรู้จักจิตตภาวนาได้อย่างไร
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ทุกรกิริยา

             ตรัสแสดงบุคคลที่มีกายไม่ได้อบรม มีจิตไม่ได้อบรม (ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ)
             และที่มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว (อริยสาวกผู้ได้สดับ) ดังนี้

บุคคลที่มีกายไม่ได้อบรม มีจิตไม่ได้อบรม
             ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ เมื่อมีสุขเวทนาเกิดขึ้น
             เขาถูกสุขเวทนากระทบเข้าแล้ว มีความยินดีนักในสุขเวทนา
และถึงความเป็นผู้ยินดีนักในสุขเวทนา
             เมื่อสุขเวทนาดับ ก็มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น
             เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็เศร้าโศก ลำบากใจ รำพัน คร่ำครวญ
ตบอก ถึงความหลงไหล
             เพราะ :-
             สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ครอบงำจิตอยู่ เพราะไม่ได้อบรมกาย
             ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นแล้วครอบงำจิตอยู่ เพราะไม่ได้อบรมจิต

บุคคลที่มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว
             อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับ เมื่อมีสุขเวทนาเกิดขึ้น
             เขาถูกสุขเวทนากระทบเข้าแล้ว ไม่มีความยินดีนักในสุขเวทนา
และไม่ถึงความเป็นผู้ยินดีนักในสุขเวทนา
             เมื่อสุขเวทนาดับ ก็มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น
             เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่รำพัน
คร่ำครวญ ตบอก ไม่ถึงความหลงไหล
             เพราะ :-
             สุขเวทนานั้นแม้เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ครอบงำจิต เพราะได้อบรมกาย
(วิปัสสนาภาวนา คือการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริง)
             ทุกขเวทนาแม้เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ครอบงำจิต เพราะได้อบรมจิต
(สมถภาวนา คือการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ (ฝึกสมาธิ))
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ภาวนา_2

             สัจจกนิครนถ์ทูลว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ ตนก็เลื่อมใสต่อพระองค์
เพราะพระองค์ทรงมีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว
             ตรัสว่า ท่านนำวาจานี้มาพูดกระทบกระเทียบกับเราโดยแท้
เมื่อพระองค์เป็นบรรพชิตแล้ว ก็มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา
             แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ให้ครอบงำจิตพระองค์ได้
             สัจจกนิครนถ์ทูลว่า พระองค์คงไม่มีเวทนาทั้ง ๒ นี้
             ตรัสว่า ทรงมีเวทนาทั้ง ๒ นี้
             เมื่อทรงยังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ได้มีความดำริดังนี้ว่า
             ฆราวาสเป็นที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี
(เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส อันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่น ราคะ)
             บรรพชาเป็นช่องว่าง จึงทรงออกผนวช เสาะหาว่า อะไรเป็นกุศล
แสวงหาทางอันสงบ อย่างประเสริฐเยี่ยม
             จึงเข้าไปถึงสำนักท่านอาฬารดาบสกาลามโคตร แล้วตรัสว่า
             ทรงปรารถนาจะประพฤติหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้
             อาฬารดาบส กาลามโคตรทูลเชิญพระองค์ประทับอยู่ แล้วกราบทูลว่า
             ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงบรรลุ เพราะทำให้แจ้ง
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองตามแบบอาจารย์ของตน เข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน
             ทรงเรียนธรรมนั้นได้รวดเร็ว ต่อมาไม่นาน ก็ทรงสามารถตรัสญาณวาท
และเถรวาทได้ และทั้งพระองค์ทั้งผู้อื่นก็ทราบชัดว่า เรารู้ เราเห็น
             (ญาณวาท คือลัทธิที่ว่า ข้าพเจ้ารู้ชัด, เถรวาท คือลัทธิที่ว่า ข้าพเจ้ามั่นคง)
             พระองค์จึงทรงดำริว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรย่อมบอกธรรม
เพราะรู้เห็นธรรมนี้อยู่
             ไม่ใช่เพราะความเชื่ออย่างเดียว แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรทำให้แจ้ง
ซึ่งธรรมนี้ เข้าถึง บอกได้ เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง (รู้ทั้งปริยัติและได้สมาบัติ ๗)
             จากนั้น จึงทรงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วตรัสถามว่า
             เพราะอะไรท่านจึงประกาศว่า ท่านทำให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ เข้าถึง บอกได้
เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง
             อาฬารดาบส กาลามโคตร จึงทูลบอกอากิญจัญญายตนสมาบัติแก่พระองค์
             ต่อมาไม่นานนัก พระองค์ก็ทรงทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น เข้าถึง บอกได้
เพราะรู้ยิ่งโดยตนเอง
             อาฬารดาบส กาลามโคตร จึงสรรเสริญพระองค์ และยกย่องพระองค์
ผู้เป็นศิษย์ให้เสมอกับตน และบูชาพระองค์อย่างดี
             แต่พระองค์ทรงดำริว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา (หน่าย)
วิราคะ (คลายกำหนัด) นิโรธะ (ดับ) อุปสมะ (สงบ) อภิญญา (รู้ยิ่ง) สัมโพธะ (ตรัสรู้)
และนิพพาน
             เพียงเป็นไปเพื่อเข้าถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น
             ทรงไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงทรงลาจากไป
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อากิญจัญญายตน&detail=on
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ลักษณะตัดสินธรรมวินัย_7

             ทรงเข้าไปหาอุททกดาบส รามบุตร ...
(นัยเดียวที่ทรงไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร)
             อุททกดาบส รามบุตร ทูลบอกเนวสัญญานาสัญญายาตนสมาบัติ
(สมาบัติ ๘) แก่พระองค์
             ต่อมาไม่นานนัก พระองค์ก็ได้ทรงทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น เข้าถึงอยู่ได้
เพราะรู้ยิ่งโดยตนเอง
             อุททกดาบส รามบุตร สรรเสริญพระองค์ ยกย่องพระองค์ไว้ในฐานะอาจารย์
และบูชาพระองค์อย่างดี
             แต่พระองค์ก็ทรงดำริว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธะ อุปสมะ
อภิญญา สัมโพธะ และนิพพาน
             เพียงเป็นไปเพื่อเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น
             ทรงไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงทรงลาจากไป
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=เนวสัญญานาสัญญายตน&detail=on

             เสด็จจาริกไปในมคธชนบทโดยลำดับ ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงดำริว่า
             ที่นี่น่ารื่นรมย์เหมาะสม จึงทรงนั่งบำเพ็ญเพียร (บำเพ็ญทุกรกิริยา) ณ ที่นั้น

อุปมา ๓ ข้อ
             ตรัสว่า ครั้งนั้น อุปมา ๓ ข้อ อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เราไม่เคยได้ยินมาก่อน
มาปรากฏแจ่มแจ้งแก่เรา
อุปมาข้อที่ ๑
             เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่เขาแช่ไว้ในน้ำ บุรุษถือเอาไม้สีไฟมาสีเพื่อจะก่อไฟ
             ไฟย่อมไม่ติดเพราะไม้สดนั้นมียางทั้งยังแช่ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อย
ลำบากเปล่า ฉันใด
             สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่ยังไม่หลีกออกจากกามด้วยกาย
             ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวาย
เพราะกาม ในกามทั้งหลายที่ยังไม่ได้ละ และไม่ได้ระงับอย่างเด็ดขาดในภายใน
             สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน
อันเกิดขึ้นเพราะความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี
             ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อความตรัสรู้อันประเสริฐ ฉันนั้น

อุปมาข้อที่ ๒
             เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่เขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ
บุรุษถือเอาไม้สีไฟมาสีเพื่อจะก่อไฟ
             ไฟย่อมไม่ติดเพราะไม้สดนั้นมียาง บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อย
ลำบากเปล่า ฉันใด
             สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้หลีกออกจากกามด้วยกายแล้ว
             แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และความกระวน
กระวายเพราะกาม ในกามทั้งหลายที่ยังไม่ได้ละ และไม่ได้ระงับอย่างเด็ดขาดในภายใน
             สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน
อันเกิดขึ้นเพราะความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี
             ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อความตรัสรู้อันประเสริฐ ฉันนั้น

อุปมาข้อที่ ๓
             เปรียบเหมือนไม้อันแห้งสนิทที่เขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ
บุรุษถือเอาไม้สีไฟมาสีเพื่อจะก่อไฟ
             ไฟย่อมติดเพราะไม้แห้งสนิท ทั้งเขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ ฉันใด
             สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง หลีกออกจากกามด้วยกายแล้ว
             ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความระหาย และความกระวน
กระวายเพราะกาม ในกามทั้งหลายได้อย่างเด็ดขาดในภายในแล้ว
             สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน
อันเกิดขึ้นเพราะความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี
             ก็เป็นผู้ควรเพื่อรู้ เพื่อเห็น และเพื่อความตรัสรู้อันประเสริฐ ฉันนั้น

             ทรงดำริว่า
             ๑. ถ้ากระไร เราพึงกดฟันด้วยฟัน เอาลิ้นดันเพดานไว้ให้แน่น
เอาจิตข่มคั้นจิตให้เร่าร้อน เมื่อทำดังนั้น เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง
             เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง จับบุรุษที่มีกำลังน้อยกว่า แล้วบีบคั้นรัดไว้ให้แน่น
             ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ได้ฟั่นเฟือน
             แต่มีกายกระวนกระวายไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทง
             แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมากขนาดนี้ก็ไม่ได้ครอบงำจิตเรา

             ๒. ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌานอันไม่มีลมปราณ จึงกลั้นลมหายใจออก
และลมหายใจเข้าทางปากและทางจมูก
             ลมก็ออกทางช่องหูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอู้ๆ เหมือนเสียงสูบช่างทองที่เขาสูบอยู่
             ปรารภความเพียร ... ก็ไม่ได้ครอบงำจิตเรา
(มีต่อ)

ความคิดเห็นที่ 9-92
(ต่อ)
             ๓. ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌานอันไม่มีลมปราณ จึงกลั้นลมหายใจออก
และลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู
             ลมเป็นอันมากก็เสียดแทงศีรษะ เหมือนบุรุษที่มีกำลัง เอามีดโกนที่คมเชือดศีรษะ
             ปรารภความเพียร ... ก็ไม่ได้ครอบงำจิตเรา

             ๔. ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌานอันไม่มีลมปราณ จึงกลั้นลมหายใจออก
และลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู
             ก็มีทุกขเวทนาในศีรษะเป็นอันมาก เหมือนบุรุษที่มีกำลังเอาเชือกหนัง
อันมั่นรัดเข้าที่ศีรษะ
             ปรารภความเพียร ... ก็ไม่ได้ครอบงำจิตเรา

             ๕. ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌานอันไม่มีลมปราณ จึงกลั้นลมหายใจออก
และลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู
             ก็มีลมเป็นอันมากบาดท้อง เหมือนคนฆ่าโคเอามีดเถือแล่ท้อง
             ปรารภความเพียร ... ก็ไม่ได้ครอบงำจิตเรา

             ๖. ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌาน อันไม่มีลมปราณ จึงกลั้นลมหายใจออก
และลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู
             ก็มีความเร่าร้อนในร่างกายเป็นอันมาก เหมือนบุรุษที่มีกำลัง ๒ คนช่วยกัน
จับบุรุษคนหนึ่งที่มีกำลังน้อยกว่า ให้อยู่ใกล้หลุมถ่านเพลิง
             ปรารภความเพียร ... ก็ไม่ได้ครอบงำจิตเรา
             เทวดาทั้งหลายเห็นดังนั้นก็กล่าวว่า พระองค์ทำกาละแล้ว
             บ้างก็กล่าวว่า ยังไม่ได้ทำกาละ แต่กำลังจะทำกาละ
             บ้างก็กล่าวว่า จะไม่ทำกาละ จะทรงเป็นพระอรหันต์ นั่นเป็นวิหารธรรม
ของพระอรหันต์

             ๗. ถ้ากระไร เราพึุงอดอาหารทั้งปวง แต่พวกเทวดาจะแทรกอาหารทิพย์
ตามขุมขนพระองค์
             ทรงดำริว่า การปฏิญญาไว้นั้นก็เป็นมุสาแก่ตนเอง จึงกล่าวห้ามเทวดาเหล่านั้น
             ทรงฉันอาหารให้น้อยลงๆ จนมีร่างกายซูบผอม เหลือแต่อวัยวะใหญ่น้อย
เหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมาก ฯลฯ
             ทรงดำริจะลูบหนังท้อง แต่คลำถูกกระดูกสันหลัง จะลูบกระดูกสันหลัง
แต่คลำถูกหนังท้อง
             จะถ่ายพระบังคนหนัก พระบังคนเบา ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้นนั่นเอง
             เมื่อจะทรงลูบพระวรกายให้สบายตัว ขนทั้งหลายซึ่งมีรากเน่า ก็หลุดร่วง
ออกมาเพราะมีอาหารน้อย
             ผิวพรรณที่เคยบริสุทธิ์เปล่งปลั่งก็คล้ำเสียไป
             ทรงดำริว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต ในอนาคต
หรือในปัจจุบันนี้ ที่เสวยทุกขเวทนากล้า หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะความเพียร
             ทุกขเวทนานั้น อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่เกินกว่านี้ขึ้นไป
             ทรงปฏิบัติทุกรกิริยา ก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะอันวิเศษ
ที่พอแก่พระอริยะซึ่งยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์
             ทรงดำริว่า ทางแห่งความตรัสรู้คงเป็นทางอื่น

             ทรงดำริถึงคราวงานของท้าวสักกาธิบดีซึ่งเป็นพระบิดา (พิธีแรกนาขวัญ)
ทรงประทับนั่งอยู่ใต้ร่มต้นหว้าอันเย็น
             ได้สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
             บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่
             ทรงดำริว่า ทางนั้นคงเป็นทางแห่งความตรัสรู้
             จึงทรงดำริว่า เรากลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายหรือไม่
(ความสุขในอานาปานสติปฐมฌาน)
             ก็ทรงดำริต่อไปว่า เราไม่กลัวสุขเช่นนั้นเลย
             แต่ผู้มีกายซูบผอมจะบรรลุความสุขเช่นนั้นไม่ง่ายเลย จึงเริ่มฉันอาหาร
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน_8

             ครั้งนั้น ภิกษุทั้ง ๕ (ปัญจวัคคีย์) ที่เฝ้าอุปฐากด้วยหวังว่า
ถ้าพระองค์ทรงบรรลุธรรมใด จะทรงบอกธรรมนั้นแก่พวกตน
             ก็จากพระองค์ไปเพราะคิดว่า พระองค์ทรงมักมาก คลายความเพียร
เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
(ทรงได้กายวิเวกแล้วตรัสรู้หลังจากที่ปัญจวัคคีย์จากไปได้ครึ่งเดือน)
             ทรงฉันอาหารให้กายมีกำลังแล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
             บรรลุฌาน ๑ ถึงฌาน ๔ ตามลำดับ
             แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นนี้ ก็ไม่ได้ครอบงำจิตของพระองค์
             เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน
ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ก็โน้มน้อมจิตไปบรรลุวิชชา ๓ ตามลำดับ
             แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นนี้ ก็ไม่ได้ครอบงำจิตของพระองค์
             ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ไม่เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
             ทรงแสดงธรรมโดยชอบ เพื่อประโยชน์ให้รู้แจ้งอย่างเดียว
             ทรงประคองจิต สงบตั้งมั่น ทำให้เป็นสมาธิ ณ ภายใน ในสมาธินิมิตเบื้องต้น
จนจบคาถานั้น ทรงอยู่ด้วยผลสมาธิเป็นสุญญะ ตลอดนิตยกาล
             (พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่บริษัทจำนวนมาก
             และเมื่อแสดงธรรมจำนวนมากก็ตาม ไม่ได้มีจิตฟุ่งซ่านแสดงธรรม
พระผู้มีพระภาคสงบตั้งมั่น จิตเป็นสมาธิ ตลอดการแสดงธรรม)
             สัจจกนิครนถ์ทูลว่า
             ควรเชื่อท่านพระโคดมผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
             แต่ท่านพระโคดมทราบดีอยู่หรือว่า พระองค์เป็นผู้หลับในเวลากลางวัน?
(เขาเข้าใจว่าพระองค์ทรงมีถีนมิทธะอยู่ แต่พระองค์ทรงละถีนมิทธะแล้วด้วยอรหัตตมรรค)
             ตรัสว่า หลังจากกลับจากบิณฑบาต หลังภัต ทรงปูสังฆาฏิให้เป็น ๔ ชั้น
มีสติสัมปชัญญะ นอนตะแคงข้างเบื้องขวา (เป็นกระแสภวังคจิตเท่านั้น)
             ทูลว่า สมณะและพราหมณ์เหล่าหนึ่งกล่าวว่า
การปฏิบัติแบบนั้นเป็นการอยู่ด้วยความหลง
             ตรัสว่า บุคคลเป็นผู้หลงหรือเป็นผู้ไม่หลง ไม่ได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้

ตรัสความเป็นผู้หลงและไม่หลง
บุคคลเป็นผู้หลง คือ
             ผู้ที่ยังละไม่ได้ซึ่งอาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่
ให้เกิดความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ให้มีชาติชรามรณะต่อไป
บุคคลเป็นผู้ไม่หลง คือ
             ผู้ที่ละเสียได้ซึ่งอาสวะทั้งหลาย ...
             ทรงละได้แล้วซึ่งอาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่
ให้เกิดความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ให้มีชาติชรามรณะต่อไป
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ถีนมิทธะ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สีหไสยา

             สัจจกนิครนถ์ทูลว่า เรื่องที่พระองค์ทรงเล่ามาน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี
             แม้ตนสนทนากระทบกระทั่งและไต่ถามพระองค์ๆ ก็ยังมีพระฉวีวรรณผ่องใส
ทั้งมีพระพักตร์เปล่งปลั่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
             ตนเคยโต้ตอบวาทะกับท่านปูรณะ กัสสป
             แม้ท่านปูรณะ กัสสปนั้น ปรารภโต้ตอบวาทะกับตนไม่ได้
ก็เอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนเสีย และชักนำให้พูดนอกเรื่อง ทั้งยังโกรธอีกด้วย
             ... ท่านมักขลิ โคศาล ... ท่านอชิตะ เกสกัมพล ... ท่านปกุธะกัจจายนะ ...
ท่านสัญชัย เวลัฏฐบุตร ... ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร
             แม้ท่านนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น ปรารภโต้ตอบวาทะกับตนไม่ได้ ก็เอาเรื่องอื่นมาพูด
กลบเกลื่อนเสีย และชักนำให้พูดนอกเรื่อง ทั้งยังโกรธอีกด้วย
             ครั้งนั้น สัจจกนิครนถ์ผู้นิคันถบุตร ชื่นชม อนุโมทนา พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ลุกจากอาสนะ แล้วทูลลาไป

แก้ไขตาม #9-93

ความคิดเห็นที่ 9-93
ฐานาฐานะ, 6 พฤษภาคม เวลา 16:44 น.   

GravityOfLove, เมื่อวานนี้ เวลา 15:15 น.
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             ๔. มหายมกวรรค
             ๖. มหาสัจจกสูตร สัจจกนิครนถ์ทูลถามปัญหา
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=7552&Z=7914&bgc=seashell&pagebreak=0

             ย่อความได้ดี เก็บประเด็นได้ครบถ้วน
             มีข้อติงดังนี้ :-
             ไม่ใช่เพราะความเชื่ออย่างเดียวว่า ตนทำให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ เข้าถึง
บอกได้ เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง (รู้ทั้งปริยัติและได้สมาบัติ ๗)
             อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจนักว่า จะแสดงนัยอย่างไร?
             ไม่ใช่เพราะความเชื่ออย่างเดียว แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรทำให้แจ้ง
ซึ่งธรรมนี้ เข้าถึง บอกได้ เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง (รู้ทั้งปริยัติและได้สมาบัติ ๗)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
             บ้างก็กล่าวว่า จะไม่ทำกาละ จะทรงเป็นพระอรหันต์ นั่นเป็นวิหารธรรม
ของพระอรหันต์ (คือสมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ อันเป็นโลกิยะ)
             ส่วนของคำในวงเล็บ ไม่ต้องมี เพราะเหตุว่า ทุกกรกิริยาไม่ใช่วิหารธรรม
ของพระอรหันต์ เป็นการกล่าวของเทวดาบางพวกเท่านั้น.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
(เขาเข้าใจว่าพระองค์ทรงมีถีนมิทธะอยู่ แต่พระองค์ทรงละถีนมิทธแล้วอรหัตตมรรค )
             ควรแก้ไขเป็น
(เขาเข้าใจว่าพระองค์ทรงมีถีนมิทธะอยู่ แต่พระองค์ทรงละถีนมิทธะแล้วด้วยอรหัตตมรรค)
             1. สระอะ 2. ด้วย 3. ช่องว่างก่อนวงเล็บปิด.

ความคิดเห็นที่ 9-94
ฐานาฐานะ, 6 พฤษภาคม เวลา 16:51 น.

             คำถามในมหาสัจจกสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=7552&Z=7914

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             2. เมื่อจบพระสูตรนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ได้บรรลุมรรคผล อย่างไรหรือไม่?

ความคิดเห็นที่ 9-95
GravityOfLove, 6 พฤษภาคม เวลา 22:18 น.

             ตอบคำถามในมหาสัจจกสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=7552&Z=7914

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             ๑. ทำอย่างไรจึงเป็นผู้มีกายอันเจริญแล้ว เป็นผู้มีจิตอันเจริญแล้ว

             ๒. สมถะ/จิตตภาวนา/สมาธิ - เป็นข้าศึกต่อทุกข์ ใกล้สุข คือเข้าสมาบัติแล้วมีความสุข
             วิปัสสนา/กายภาวนา - เป็นข้าศึกต่อสุข ใกล้ทุกข์ คือเจริญวิปัสสนาทรมานจนร่างกายเกิดทุกข์

             ๓. พระอรหันต์ก็มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ให้ครอบงำจิตได้

             ๔. ตอนที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญเพียรที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมก่อนตรัสรู้
              เกิดอุปมา ๓ ข้อแก่พระองค์

              ๕. ตอนที่ทรงบําเพ็ญทุกกรกิริยาโดยกลั้นลมหายใจเข้าออก
เทวดาบางพวกเข้าใจว่าพระองค์ตายแล้ว

             ๖. ทรงบรรลุปฐมฌานครั้งแรกในงานของท้าวสักกาธิบดีซึ่งเป็นพระบิดา
(พิธีแรกนาขวัญ) ขณะทรงประทับนั่งอยู่ใต้ร่มต้นหว้า

             ๗. ความเป็นผู้หลงและไม่หลง

             ๘. เทวดาที่สถิตอยู่ที่สุดทางจงกรม เห็นพระโพธิสัตว์ ล้มบนทางจงกรม
เข้าใจว่าพระองค์ตาย จึงไปบอกแก่พระราชบิดา (พระเจ้าสุทโธทนมหาราช)

             ๙. ความเพียร ๕ ประการ

             ๑๐. ทรงแสดงธรรม เพื่อเป็นวาสนา แก่สัจจกนิครนถ์เพราะในอนาคต อีก 200 ปี
หลังพุทธปรินิพพาน เขาจะไปเกิดที่ตัมพปัณณิทวีป (ศรีลังกา) และได้บวชบรรลุ
พระอรหันต์ ชื่อกาลพุทธรักขิต
-----------------------------------------------------------             
             2. เมื่อจบพระสูตรนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ได้บรรลุมรรคผล อย่างไรหรือไม่?
             ไม่ได้บรรลุมรรคผล

             อรรถกถา
             พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ๒ พระสูตรนี้แก่นิครนถ์นี้. พระสูตรต้น (จูฬสัจจกสูตร) มีภาณวารเดียว
พระสูตรนี้มีภาณวารครึ่ง
             ถามว่า นิครนถ์นี้แม้ฟัง ๒ ภาณวารครึ่งแล้ว ยังไม่บรรลุธรรมาภิสมัย ยังไม่บวช ยังไม่ตั้งอยู่ในสรณะ
ดังนี้แล้ว เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรมแก่เขาอีก.
             ตอบว่า เพื่อเป็นวาสนาในอนาคต.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=405&bgc=floralwhite

ความคิดเห็นที่ 9-96
ฐานาฐานะ, 7 พฤษภาคม เวลา 05:21 น.  

GravityOfLove, 5 ชั่วโมงที่แล้ว
             ตอบคำถามในมหาสัจจกสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=7552&Z=7914
10:18 PM 5/6/2013

             ตอบคำถามได้ดีครับ มีคำถามในข้อ 9 ว่า
             ๙. ความเพียร ๕ ประการ <<< คืออะไร?
             วิปัสสนา/กายภาวนา - เป็นข้าศึกต่อสุข ใกล้ทุกข์ คือเจริญวิปัสสนาทรมานจนร่างกายเกิดทุกข์
แก้ไขเป็น
             วิปัสสนา/กายภาวนา - เป็นข้าศึกต่อสุข ใกล้ทุกข์ คือเจริญวิปัสสนา นานจนร่างกายเกิดทุกข์.

ย้ายไปที่



Create Date : 25 มิถุนายน 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 6:39:01 น.
Counter : 513 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



มิถุนายน 2556

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
27
28
29
30
 
 
All Blog