bloggang.com mainmenu search
การประชาสัมพันธ์


เมื่อพูดถึงการประชาสัมพันธ์ ที่บางคนเรียกแบบอังกฤษว่า public relations หรือเรียกแบบอเมริกันว่า public affairs ดูจะเป็นศาสตร์ที่มีผู้สนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

นักศึกษารุ่นใหม่ๆ จำนวนมาก เมื่อเลือกคณะนิเทศศาสตร์ หรือเลือกวิชาเอกประชาสัมพันธ์ ก็มักจะคิดถึงการทำประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทำโฆษณาวิทยุ โฆษณาทีวี หรือที่เรียกกันว่า สปอต ทำหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เรื่องสั้น เล่าเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจสู่สายตาหรือสู่การรับรู้ของผู้รับข่าวสาร ซึ่งหากโฆษณาชิ้นใด โดนใจผู้คน หรือโดนใจสังคม ผู้ผลิต หรือครีเอทีฟก็มีสิทธิดังได้ง่ายๆ เพียงชั่วข้ามคืน

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวไปไกล แบบก้าวกระโดด ส่งผลให้การประชาสัมพันธ์ในยุคดิจิตอลมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างชนิดที่เรียกว่า ห้ามหยุด หยุดคือแพ้

เรื่องราวที่จะนำมาเสนอใน blog นี้ จะเป็นการเปรียบเทียบการประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ ที่ได้รับรู้มาจากการฝึกร่วมกับสหรัฐอเมริกา การเดินทางไปดูงานที่มลรัฐมิชิแกน สหรัฐฯ กับที่วอชิงตัน ดี ซี รวมถึงประสบการณ์จากการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจกับสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก

ผู้เขียนจะพยายามเปรียบเทียบการประชาสัมพันธ์ของไทย กับสหรัฐอเมริกา โดยใช้กรณีศึกษาของไทยจาก สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผู้เขียนเคยเป็นรองหัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ และผู้ช่วยโฆษกกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปรียบเทียบกับการประชาสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาในอิรัก

ข้อเขียนทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับองค์การใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งข้อเขียนนี้ จัดทำขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับผู้ที่ผ่านมาเยี่ยมชม มิได้ประสงค์ที่จะให้เป็นตำราหรือเอกสารอ้างอิงทางวิชาการแต่อย่างใด

การประชาสัมพันธ์ยุคดิจิตอล


ศัพท์ใหม่วงการประชาสัมพันธ์ "CNN EFFECT"


เมื่อผมมีโอกาสเดินทางไปศึกษาปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศนิวซีแลนด์ และมีโอกาสไปศึกษาเพิ่มเติมทางด้านการประชาสัมพันธ์ ที่มลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 911 ทำให้ได้พบว่า ปัจจุบัน ประเทศโลกตะวันตก ตื่นตัวกับการประชาสัมพันธ์ยุคใหม่มากพอๆกับโลกตะวันออก

คำว่า CNN EFFECT เป็นคำที่เกิดขึ้นในแวดวงการประชาสัมพันธ์ของกองทัพสหรัฐอเมริกา เป็นคำที่แสดงถึง ผลกระทบจากการเสนอข่าวของ CNN หรือถ้าจะเรียกให้ถูกก็คือ ผลกระทบจากสื่อมวลชน นั่นเอง

คงจำกันได้ว่า ในสมัยที่สหรัฐอเมริกา ส่งกำลังทหารเข้าสู่ประเทศอิรัก สื่อมวลชนของสหรัฐฯ ได้เสนอข่าวกันอย่างละเอียดถี่ยิบ บางสำนักข่าวลงทุนส่งผู้สื่อข่าวเดนตาย เกาะติดไปกับทหารสหรัฐฯ ที่กำลังรุกเข้าสู่ประเทศอิรัก

เชื่อหรือไม่ว่า ภาพข่าวการสัมภาษณ์ทหารเพียงคนใดคนหนึ่ง หรือการรายงานข่าวที่ปรากฏทางโทรทัศน์ข่าวใดข่าวหนึ่ง ข่าวสารต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่มีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ แทบทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย



ภาพเชลยศึกอัฟกานิสถานที่เรือนจำอาบูกาหลิบ (the Abu Ghraib prison) ที่ถูกพลทหารหญิง ลินดี้ อิงค์แลนด์ (Linndie England) ล่ามเชือกที่คอชุดนี้ เมื่อถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน สู่สาธารณะแล้ว ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลสหรัฐเป็นอย่างมาก และพลทหารองค์แลนด์ ก็ถูกตั้งกรรมการสอบสวนจากการกระทำดังกล่าว



ผลกระทบจากการเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือที่สหรัฐฯ เรียกว่า CNN EFFECT นั้น มีมากมาย มากจนอาจกล่าวได้ว่า แม้กระทั่งรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เองยังต้องฟัง เมื่อฟังแล้วยังต้องนำไปปรับปรุงนโยบายการบริหารประเทศของตน แม้ข่าวที่นำเสนอไปนั้น อาจจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ หรืออาจเป็นการนำเสนอจากมุมมองที่จำกัดก็ตาม จึงอาจกล่าวได้ว่า ผลกระทบของสื่อนั้น มีมากมายมหาศาลจริงๆ



การเสนอข่าวของสื่อมวลชน เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงแรกๆ ในปี 2546 - 2548 นั้น จัดว่าเป็น CNN EFFECT อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเสนอข่าวการก่อความไม่สงบ ด้วยการแข่งขันเชิงพาณิชย์ โดยเน้นจำนวนครั้งของการก่อเหตุ เน้นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐ เพื่อการขายข่าว มีผลทำให้กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) และกองทัพภาคที่ 4 มีการเปลี่ยนตัวผู้บังคับบัญชานับครั้งไม่ถ้วน อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้น

แต่ใช่ว่า CNN EFFECT จะมีผลเฉพาะในแง่ลบเท่านั้น ผลในแง่บวกก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ดังเช่นเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ 911 หรือการโจมตีตึก World Trade Center ของสลัดอากาศในครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในแง่บวกต่อชาวอเมริกันอย่างมาก




เหตุการณ์ 911 เกิดขึ้นท่ามกลางความตื่นตระหนกของคนอเมริกัน และคนทั้งโลก สื่อมวลชนอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ต่างร่วมกันแสดงศักยภาพของ CNN EFFECT ให้โลกได้ประจักษ์

คงจำกันได้ว่า กรณีตึกเวิร์ดเทรดมีผู้เสียชีวิตนับพันคน ก่อนที่ตึกทั้งสองตึกจะถล่มลงมาเป็นกองอิฐ มีคนโดลงมาจากตึกที่เพลิงกำลังเผาผลาญแทบทุกนาที ศพที่ตกลงมา มีสภาพแหลกเหลว ไม่มีชิ้นดี นอกจากนี้สภาพศพคนอเมริกันที่เสียชีวิตในซากตึกอีกนับไม่ถ้วน ก็น่าอเนจอนาถไม่น้อยไปกว่ากัน

แต่ภาพศพที่น่าสยดสยองเหล่านั้น ไม่เคยปรากฏทางสื่อ หรือปรากฏต่อสาธารณชนเลยแม้แต่น้อย ทั้งนี้เพราะสื่ออเมริกันต่างลงความเห็นว่า ภาพศพหรือภาพคนบาดเจ็บล้มตายเหล่านั้น เป็นการตอกย้ำถึงความสูญเสียและความพ่ายแพ้ของสหรัฐอเมริกา



ในขณะเดียวกัน มีการวิเคราะห์กันว่า ชาวอเมริกันได้เห็นภาพของเครื่องบินที่พุ่งชนตึกเวิร์ดเทรดเซนเตอร์ ในรอบปีนั้น ไม่ต่ำกว่าคนละ 700 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชนในมุมซ้าย มุมขวา มุมล่าง ทำไม..... ภาพเหล่านั้นถึงถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก

คำตอบก็คือ.... สื่อของอเมริกาต้องการนำภาพเครื่องบินชนตึก มาเผยแพร่ให้คนได้ชมครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อย้ำว่า อเมริกากำลังถูกโจมตีจากผู้ก่อการร้าย ถึงเวลาแล้ว ที่คนอเมริกันต้องลุกขึ้นมาปกป้องแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของตน

นี่คือ CNN EFFECT ในแง่บวกที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน

ปูมหลังการประชาสัมพันธ์ที่น่าสนใจ


หากจะกล่าวถึงการประชาสัมพันธ์ในอดีต ภาพที่ผมประทับใจมากก็คือ การประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซีเยอรมัน ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงปี ค.ศ. 1934 - 1945 ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตร มักจะเรียกการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวว่า การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ในขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกการโฆษณาชวนเชื่อของตนเองว่า การปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological operations)

ไม่ว่าจะมีการกำหนดชื่อเรียกขานการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบใดก็ตาม โดยพยายามขีดเส้นบางๆ เพื่อแบ่งแยกการปฏิบัติการจิตวิทยา การประชาสัมพันธ์ และการโฆษณาชวนเชื่อ ออกจากกัน ไม่ว่าจะเป็นต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ปฏิบติ หรือสร้างความไม่ชอบธรรมให้กับฝ่ายตรงข้าม เราก็คงยอมรับว่า การประชาสัมพันธ์นั้น เป็นเครื่องที่ทรงประสิทธิภาพอย่างยิ่ง หากอยู่ในมือของผู้ที่มีความรู้ความสามารถ




ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler) คือบุคคลที่ผมกล่าวถึง เขาเป็นผู้ที่ใช้การประชาสัมพันธ์ในการโน้มน้าวจิตใจของชาวเยอรมันส่วนใหญ่ ให้สนับสนุนพรรคนาซีเยอรมัน (NAZI - ในภาษาเยอรมันคือ Nationalsozialismus หรือในภาษาอังกฤษคือ National Socialism) ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคนาซีเยอรมัน

การประชาสัมพันธ์ที่อาศัยลัทธิชาตินิยม (Nationalism) เป็นพื้นฐาน ได้ก่อให้เกิดกระแส "การรวมเป็นหนึ่ง" หรือ unity ขึ้นในชาติ ชาวเยอรมันผู้พ่ายแพ้และเจ็บปวดจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และจากสนธิสัญญาแวร์ซาย กลับมาผงาดเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง

การประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซีเยอรมัน ทำให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชายออสเตรีย ผมดำ ร่างเล็ก กลายเป็นผู้นำที่ชาวอารยัน ผมสีทอง ที่ฮิตเลอร์พยายามสร้างให้เป็นเชื้อชาติที่บริสุทธิ์ของโลก บูชาและเทิดทูนอย่างสุดหัวใจ ทั้งที่ฮิตเลอร์เองก็มิใช่เชื้อชาติอารยันบริสุทธิ์ (Aryan) แม้จะมีความพยายามในการประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซีว่า ฮิตเลอร์มีเชื้อสายอารยันก็ตาม



ที่สำคัญที่สุดก็คือ การประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซีเยอรมัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้คำว่า "ชาตินิยม" ข้ามไปสู่ "ความหลงชาติ" และ "ความคลั่งชาติ" ในที่สุด

"ความหลงชาติ" และ "ความคลั่งชาติ" ผ่านการปลุกเร้าผ่านสื่อการประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซี ส่งผลให้ชาวเยอรมันมองว่า ชนชาติตนเหนือกว่าชนชาติอื่น ถึงขนาดกล่าวว่า บางชนชาติ เช่น โปแลนด์ คือพวกที่ด้อยกว่ามนุษย์ (sub human) และต้องทำลายล้างให้หมดไป

นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์อันทรงประสิทธิภาพของพรรคนาซีเยอรมัน ยังทำให้ชาวเยอรมัน ต่อสู้เพื่อปกป้องอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และอาณาจักรไรซ์ที่สามของพรรคนาซี จนวินาทีสุดท้าย ต่างจากเบนิโต มุสโสลินี แห่งพรรคฟาสซิสต์ของอิตาลี ที่ถูกชาวอิตาเลียนร่วมกันโค่นล้ม และถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในช่วงปลายสงครามโลก

จากที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่อดีต ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มาจนถึงแม้ในยุคปัจจุบัน และทำให้หลักการประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซีเยอรมัน ถูกนำไปศึกษากันอย่างกว้างขวาง


การประชาสัมพันธ์ของกองทัพสหรัฐ


บทเรียนจากเวียดนามถึงอิรัก


ในช่วงสงครามเวียดนาม ในปี ค.ศ. 1965 - 1975 สหรัฐอเมริกาส่งกำลังทหารเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อทำสงครามต่อต้านการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนามใต้

ในอีกยี่สิบปีต่อมา สหรัฐอเมริกาก็ได้ส่งกำลังทหารเข้าไปยึดครองดินแดนในตะวันออกกลาง แหล่งพลังงานสำคัญของโลกอีกครั้ง

มีผู้เปรียบเทียบสงครามในสมรภูมิเวียดนาม และในอิรักว่า มีความเหมือนกันอย่างน่าอัศจรรย์ สหรัฐอเมริกากำลังจมปรักในหล่มแห่งสงครามที่ไม่มีชัยชนะอย่างเด็ดขาด นับวันความสูญเสียของทหารหนุ่มสาวจากอเมริกัน ก็จะทวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามบทเรียนที่สหรัฐฯได้รับจากสงครามเวียดนาม เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเรียนด้านการประชาสัมพันธ์ ที่จะดำรงการสนับสนุนจากมหาชนชาวอเมริกันต่อการทำสงครามในอิรักที่ยืดเยื้อยาวนาน




บทความในบทนี้ จะแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ เรียนรู้อะไรบ้างจากการประชาสัมพันธ์ในเวียดนาม และสหรัฐฯ นำบทเรียนเหล่านี้มาใช้อย่างไรในอิรัก


ในช่วงแรกของสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐฯ มองผู้สื่อข่าวเป็นเพียงนักข่าวที่ทำหน้าที่รายงานข่าวทั่วๆไป ความสำคัญของผู้สื่อข่าวในสายตาของทหารสหรัฐฯ มีน้อยมาก น้อยจนกระทั่ง แทบไม่มีการเข้าหาผู้สื่อข่าว ปล่อยให้ผู้สื่อข่าวแต่ละคน แต่ละสำนักรายงานข่าวข้ามทวีปกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกากันตามยถากรรม และตามแต่ผู้สื่อข่าวจะมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมมองของตน

ในทางตรงกันข้าม เวียดนามเหนือกลับมองเห็นคุณค่าของการเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวสหรัฐฯ ที่ต้องการเสนอข่าวการรบที่น่าสนใจ เวียดนามเหนือจึงไม่รีรอที่จะสร้างข่าวที่น่าสนใจ ให้สื่อมวลชนตะวันตกได้เสนอข่าวแบบไม่เว้นแต่ละวัน

แน่นอน.... ภาพของสงครามไม่ใช่ภาพที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครอบครัวของเด็กหนุ่มอเมริกัน ที่เฝ้ารอคอยการกลับมาสู่อ้อมกอดของครอบครัวและคนทางบ้าน

เมื่อสื่อมวสชนตะวันตกไม่ได้รับความสนใจจากกองทัพสหรัฐฯ สื่อจึงตกเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์จของฝ่ายเวียดนามเหนืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้




ภาพที่สื่อมวลชนต่างนำเสนอข้ามโลกกลับไปยังสหรัฐอเมริกา จึงเป็นภาพแห่งเนื้อแท้ของสงคราม เต็มไปด้วยภาพผู้บาดเจ็บ ล้มตาย ความท้อแท้ โดดเดี่ยว เรื่องราวที่ถูกนำไปเสนอก็มักจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ เช่น การติดยาเสพติดของทหารอเมริกันที่อยู่ในสมรภูมิ ความล้มเหลวของระบบการปกครองของเวียดนามใต้ ที่เต็มไปการคอร์รับชั่น



การเสนอข่าวของสื่อมวลชนสหรัฐฯ ในเวียดนามก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ทหารสหรัฐมาตายที่เวียดนามเพื่ออะไร ปกป้องประชาธิปไตยหรือระบอบอันเน่าเฟะของรัฐบาลเวียดนามใต้กันแน่

การเสนอข่าวดังกล่าวทำให้สาธารณชนในสหรัฐฯ เกิดความคลางแคลงใจในการดำเนินนโยบายปกป้องเวียดนามใต้ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา


ภาพทหารสหรัฐฯและรถถังแบบ M 48 กำลังกวาดล้างทหารเวียดกง ระหว่างการรบในวันตรุษญวณ


ในที่สุดก็มาถึงจุดสำคัญที่สุดจุดหนึ่งในสงครามเวียดนาม ที่สื่อมวลชนมีผลต่อผลลัพธ์ของสงครามได้อย่างน่าอัศจรรย์ นับเป็นผลกระทบจากการเสนอข่าวหรือ CNN EFFECT อย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ การรุกในวันตรุษญวน (Tet Offensive)

การรุกในวันตรุษญวน เปิดฉากขึ้นในวันที่ 31 มกราคม 1968 เมื่อกองกำลังเวียดกง หรือ National Front for the Liberation of South Vietnam (กองกำลังประจำถิ่น ซึ่งไม่ใช่ทหารประจำการ) และทหารเวียดนามเหนือ หรือ the North Vietnamese army ทำการรุกในเมืองต่างๆ ทั่วเวียดนามใต้ เช่น กรุงไซง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ นครเว้ และเมืองท่าดานัง เป็นต้น

ภาพการรุกในเทศกาลตรุษญวน ถูกเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภาพการโจมตีสถานฑูตสหรัฐอเมริกากลางกรุงไซง่อน ที่สื่อสามาถจับภาพได้อย่างละเอียดถี่ยิบ เนื่องจากสื่อมวลชนส่วนใหญ่พำนักอยู่ที่กรุงไซง่อน

สิ่งที่ตอบกลับมาจากสาธารณชนในสหรัฐอเมริกา ต่อภาพข่าวการรบในเทศกาลตรุษญวน ก็คือ ความสับสนต่อความคิดของชาวอเมริกัน ที่เห็นศักยภาพของเวียดนามเหนือ ในการต่อสู้แบบฟันต่อฟันกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา



ความสับสนต่อมาคือ ความไม่แน่ใจในชัยชนะของอเมริกาต่อสงครามเวียดนาม ภายหลังที่อเมริกันชนเชื่อมาตลอดว่า เวียดนามเหนือกำลังพ่ายแพ้ และอเมริกากำลังมุ่งหน้าไปสู่ชัยชนะ แต่ภาพที่ปรากฏคือ สงครามกลางเมืองใหญ่ของเวียดนามใต้ที่เต็มไปด้วยซากศพทหารอเมริกัน

แม้ว่าทหารสหรัฐฯ และทหารเวียดนามใต้จะสามารถกำชัยชนะ และกำจัดทหารเวียดกง และทหารเวียดนามเหนือ ออกไปจากเมืองต่างๆ ได้ในที่สุด แต่ในทางการเมืองแล้ว ภาพที่สื่อมวลชนนำเสนอออกไปสู่สาธารณชนในสหรัฐอเมริกา เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสการต่อต้านสงครามในสหรัฐอเมริกา และนำไปสู่การถอนทหารอเมริกันออกจากเวียดนามใต้ และนำไปสู่การล่มสลายของเวียดนามใต้ในปี ค.ศ. 1975 ในที่สุด

ภายหลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ภาพลักษณ์ของทหารผ่านศึกเวียดนามติดลบอย่างมาก ชาวอเมริกันมองว่า ทหารเหล่านี้คือผู้พ่ายแพ้สงคราม เป็นการพ่ายแพ้สงครามครั้งแรกของอเมริกา นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมา

ทหารผ่านศึกเหล่านี้ถูกทอดทิ้ง บ้างกลายเป็นคนจรจัด ตกงาน ไร้ญาติขาดมิตร หากใครเคยชมภาพยนตร์ เรื่อง First Blood ที่ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน แสดงเป็น จอห์น แรมโบ้ ในภาคแรก ก็คงจะอธิบายถึงการถูกทอดทิ้งจากสังคมของทหารผ่านศึกเวียดนาม

อเมริกาพยายามลืมสงครามเวียดนามจากความทรงจำอันเจ็บปวด แต่ในที่สุด สังคมก็เริ่มหันกลับมายอมรับเหล่านักรบเหล่านี้อีกครั้ง อนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกอเมริกันถูกสร้างขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี ขบวนพาเหรดทหารผ่านศึกเวียดนามถูกจัดขึ้นอย่างภาคภูมิ ที่เกาะแมนฮัตตัน ในปี ค.ศ. 1985

.....หลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง 10 ปี .........


ภาพขบวนพาเหรดทหารผ่านศึกเวียดนามที่แมนฮัตตัน ปี 1985


นี่คือ ผลจากการขาดการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ ที่ส่งผลให้การสนับสนุนการทำสงครามเวียดนาม จากสังคมอเมริกันตกต่ำจนถึงขีดสุด และต้องถอนทหารออกจากเวียดนามใต้

บทเรียนอันทรงคุณค่านี้ กลับมาสู่แนวทางการประชาสัมพันธ์ของกองทัพสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เมื่อทหารอเมริกันกรีธาทัพเข้าสู่กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เพื่อโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน และอาณาจักรของเขา

สหรัฐฯ ติดหล่มสงครามอีกครั้ง ประวัติศาสตร์ที่คุ้นตาจากเวียดนาม กลับมาปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนอีกครั้งในสมรภูมิอิรัก



เด็กหนุ่ม เด็กสาวอเมริกัน ต้องจากครอบครัวที่แสนอบอุ่นของเขา เดินทางข้ามทวีป มุ่งหน้าสู่ทะเลอันร้อนระอุ ในยามกลางวันและหนาวเหน็บในยามค่ำคืนของตะวันออกกลาง

เด็กหนุ่มสาวเหล่านี้ จำนวนมากต้องสังเวยชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย สงครามในอิรัก เริ่มดำเนินไปตามรอยเท้าของอเมริกาในสงครามเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็น .... ความสูญเสีย ...... ความยืดเยื้อ .......... ความท้อแท้ ......และการสนับสนุนจากมหาชนชาวอเมริกัน




ทุกอย่างช่างไม่แตกต่างจาก เวียดนาม ปี ค.ศ. 1965 - 1975 เลย

ต่างกันเพียงแต่ ครั้งนี้ สหรัฐอเมริกามีบทเรียนอันทรงคุณค่าด้านการประชาสัมพันธ์อยู่ในแผนการประชาสัมพันธ์แล้ว บทเรียนนี้แหละ ที่จะทำให้สงครามในอิรัก แตกต่างจากสงครามในเวียดนาม

(โปรดติดตามรายละเอียดจาก "การประชาสัมพันธ์กับกองทัพสหรัฐฯ")


Create Date :04 พฤศจิกายน 2551 Last Update :9 สิงหาคม 2553 9:45:45 น. Counter : Pageviews. Comments :4