bloggang.com mainmenu search

คอลัมน์ : 108-1000 - ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน



Jacques-Louis David: เจ้าหน้าที่ลิกเตอร์นำศพบุตรชายของบรูตุสมาส่งให้ที่บ้าน, 1789, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 323x422 ซม. Louvre, Paris

       สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ย่อมรักลูกที่ตนให้กำเนิดด้วยกันทั้งนั้น แต่มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่ความผูกพันทางสายเลือดซับซ้อน ลึกซึ้ง ฝังรากลึก และยาวนานหลายชั่วอายุคน ไม่ว่ายุคใดสมัยใด มนุษย์จะปกป้องและเข้าข้างพ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน และคนในสายเลือดเดียวกัน โดยมักไม่คิดคำนึงถึงความถูกผิด หลักการ หรือเหตุผลใดใดทั้งสิ้น
       
       แต่นั่นเป็นวิถีของคนธรรมดาสามัญ ที่ใครใครก็สามารถเข้าใจและพอจะให้อภัยได้ แต่สำหรับประมุขของประเทศและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งสำคัญและมีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชนและผลประโยชน์ของแผ่นดิน ความคาดหวังของมหาชนต่อบุคคลกลุ่มนี้ย่อมสูงกว่าและแตกต่างไปจากสิ่งที่พวกเขาคาดหวังจากสามัญชนคนธรรมดา และสิ่งนั้นมักจะหนีไม่พ้นคุณสมบัติที่เหนือกว่าคนธรรมดาและมีค่าควรให้พวกเขาศรัทธา ยกย่องสรรเสริญ และกราบไหว้บูชาได้อย่างเต็มใจและสนิทใจ นั่นก็คือ การรักษาคุณธรรมเหนือสิ่งอื่นใด
       
       ดังนั้น วันนี้ดิฉันจึงใคร่ขอนำภาพจิตรกรรมของ ฌาคส์ หลุยส์ ดาวิด์ (Jacques-Louis David / 1748-1825) จิตรกรเอกของฝรั่งเศสแห่งศิลปะยุคคลาสสิกใหม่ (Neo-Classicism) มาให้ท่านชมเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจอีกครั้งหนึ่ง
       
       เจ้าหน้าที่ลิกเตอร์นำศพบุตรชายของบรูตุสมาส่งให้ที่บ้าน (The Lictors Bring to Brutus the Bodies of His Sons / ภาพที่ 1) เป็นอีกภาพหนึ่งของดาวิด์ ที่นำเสนอเรื่องราวจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ของโรมันโบราณ ซึ่งสะท้อนให้เห็นเกียรติ ศักดิ์ศรี และคุณธรรมของนักการเมืองหรือผู้ปกครอง ที่ยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตนอันน้อยนิดเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่แห่งรัฐ
       
       เรื่องมีอยู่ว่า บุตรชาย 2 คนของ ลูซิอุส ยูนิอุส บรูตุส (Lucius Junius Brutus) วีรบุรุษ ผู้โค่นล้มทรราช คืนเสรีภาพแก่ปวงประชา และสถาปนาสาธารณรัฐโรมันเมื่อ 509 ปีก่อนคริสตกาล ถูกจับได้ว่าร่วมกันคิดก่อการกบฏเพื่อล้มล้างระบอบสาธารณรัฐและชิงอำนาจคืนให้กับทาร์ควินิอุส (Tarquinius) กษัตริย์แห่งโรมพระองค์สุดท้าย หลักฐานสำคัญที่มัดตัว ติตุส (Titus) และ ติเบริอุส (Tiberius) อย่างแน่นหนา คือพระราชสาสน์หลายฉบับของกษัตริย์ทาร์ควินิอุสที่ส่งตรงถึงพี่น้อง 2 คนนี้

ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า บรูตุส ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกงสุล ประมุขแห่งโรม เป็นผู้อ่านคำพิพากษาโทษบุตรชายทั้งสองด้วยตัวเอง ติตุสและติเบริอุสถูกลงโทษด้วยการจับมัดไว้กับหลักและเฆี่ยนด้วยแซ่ จากนั้นจึงถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ ท่ามกลางสายตาประชาชนนับพันนับหมื่นบรูตุสเฝ้ามองกระบวนการลงโทษเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเองด้วยสีหน้าอันเรียบเฉยและไม่แสดงอาการหวั่นไหวใดๆ ให้ผู้ใดเห็น ทั้งๆ ที่ภายในใจสะอื้นไห้ด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว
       
       ดาวิด์เลือกนำเสนอภาพเหตุการณ์หลังจากการประหารติตุสและติเบริอุส เมื่อเหล่าลิกเตอร์ เจ้าหน้าที่ประจำตัวกงสุล แบกร่างอันไร้วิญญาณของบุตรชายทั้ง 2 คนเข้ามาในบ้าน บรูตุสกำลังนั่งจมอยู่กับความโศกเศร้าภายใต้เงามืดของเทวรูปแห่งโรม (ภาพที่ 2) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการเสียสละอันใหญ่หลวงของวีรบุรุษแห่งโรม ผู้ยอมพลีชีพบุตรชายอันเป็นที่รักทีเดียวพร้อมกันถึง 2 คนเพื่อแลกกับการดำรงอยู่ของสาธารณรัฐ ถึงแม้ใบหน้าอันเคร่งขรึมของบรูตุสจะไม่แสดงอาการทุกข์โศก แต่มือซ้ายที่กำจดหมายซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญไว้แน่น อีกทั้งอาการเกร็งของเท้าทั้งสองข้างที่วางไขว้กัน ก็เผยให้เห็นความทุกข์โศกที่อัดแน่นภายในใจของประมุขแห่งโรม บรูตุสวางข้อศอกขวาบนฐานเทวรูป มือและนิ้วที่หันเข้าหาศีรษะ บ่งบอกถึงอาการของผู้ที่ตกอยู่ในห้วงคิดคำนึง
       
       ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งของภาพ ท่ามกลางแสงสว่างอันเจิดจ้า ดาวิด์นำเสนอภาพอันน่าเศร้าสังเวชของกลุ่มสตรี เมื่อได้เห็นร่างอันไร้วิญญาณของสองพี่น้องถูกหามเข้ามาภายในบ้าน (ภาพที่ 3) ผู้เป็นมารดาร่ำไห้น้ำตานองหน้า เธอยกแขนทอดไปข้างหน้าราวกับจะเอื้อมมือไปสัมผัสร่างบุตรชายอันเป็นที่รัก แขนซ้ายของเธอโอบประคองร่างบุตรสาวที่สิ้นสมประดีด้วยความเศร้าสะเทือนใจ ขณะที่บุตรสาวอีกคนหนึ่งยกมือทั้งสองข้างขึ้นบังสายตาให้พ้นจากความประหวั่นพรั่นพรึงต่อภาพอันน่ากลัวที่เห็นอยู่เบื้องหน้า

รายละเอียดจากภาพที่ 1

 

       เรื่องราวการเสียสละประโยชน์ส่วนตนด้วยการตัดสินใจอย่างมั่นคงและเด็ดขาดเพื่อธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายบ้านเมืองก็เคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยด้วยเช่นกัน เมื่อครั้งที่ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี / พ.ศ. 2320-2392) ขุนพลแก้วในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม่ทัพไทยผู้สร้างชื่อเสียงเกริกไกรในสงครามกับเขมร ลาว และญวน ได้รับแจ้งพร้อมหลักฐานแน่นหนาว่า นายสนิทหรือแสง มหาดเล็กหุ้มแพร บุตรชายของท่าน ลักลอบค้าฝิ่น ซึ่งเป็นความชั่วที่รัชกาลที่ 3 ทรงรังเกียจยิ่งนัก เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีบัญชาให้จับตัวบุตรชายมาลงโทษโดยการมัดมือมัดเท้าโยงกับหลักปักคา

และให้ราชมัลทะลวงฟันเฆี่ยนหลัง 100 ที แต่หลังจากเฆี่ยนไปได้ 84 ที นายสนิทก็สลบคาหวายอยู่กับคา จมื่นสรรเพชรภักดี (ปาน) บุตรชายอีกคนหนึ่งของท่าน จึงนำความไปกราบเรียนท่านเจ้าพระยาว่า ถ้าต้องเฆี่ยนอีก 16 ที จนครบ 100 ทีตามคำบัญชาของท่าน เห็นทีนายสนิทจะตายในคา ท่านกลับตอบว่า “ตายก็ช่างมันเถิด จะได้ไปเกิดใหม่ให้เป็นคนดีๆ” อันที่จริงในวันที่นายสนิทถูกลงโทษ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่สนิทสนมกับท่านเจ้าพระยาตั้งใจจะไปขอท่านยกโทษให้นายสนิท แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาท่านรู้ทัน จึงได้พูดกันเอาไว้ก่อน ดังนี้
       
       “เราเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ ต่างพระเนตรพระกรรณล้นเกล้าล้นกระหม่อม เราเห็นว่าผู้ใดเป็นเสี้ยนหนามหลักตอต่อทางราชการแผ่นดินแผ่นทราย ประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายแล้ว เรามีอำนาจอันชอบธรรมที่จะลงโทษผู้กระทำผิดได้เช่นครั้งนี้อ้ายแสงประพฤติผิดกฎหมายลักลอบขายฝิ่น ที่เป็นของต้องห้ามตามพระราชประสงค์นั้น เราจึงจะลงโทษเฆี่ยนหลังอ้ายแสง 100 ที ตามมีในพระราชบัญญัติในรัชกาลปัจจุบันนี้ ถ้าผู้ใดไม่เป็นคนทนสาบานต่อน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้ว คงจะไม่มาเกี่ยวข้องขัดขวางทางที่จะลงโทษอ้ายแสงนี้ ถ้าผู้ใดเป็นใจร่วมคิดด้วยอ้ายแสงผู้กระทำความผิดแล้ว ผู้นั้นคงจะมากีดขวางขัดข้องด้วยการจะลงโทษอ้ายแสงนี้บ้าง”
       
       เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระกรรณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงตรัสว่า “พี่บดินทรแกฉลาดล้นเหลือ แกพูดเผื่อแผ่เกียดกันกั้นกางเสียก่อนหมดแล้ว” แล้วทรงพระสรวล ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อนายสนิทมหาดเล็กหุ้มแพรเข้าเฝ้าใกล้พระแท่นบรมราชอาสน์ ช่วงนั้นยังเป็นฤดูร้อน ข้าราชการจึงไม่ได้สวมเสื้อเข้าเฝ้าตามพระราชนิยม รัชกาลที่ 3 ทอดพระเนตรเห็นแผลที่หลังนายสนิทเป็นรอยหวายแตกยับเหมือนสับฟากสับเขียง ทรงพระสังเวชสลดพระราชหฤทัยในความเด็ดขาดและซื่อตรงต่อหน้าที่ของเจ้าพระยาบดินทรเดชายิ่งนัก จึงทรงมีพระราชดำรัสสั่งขุนธนศักดิ์ว่า “ไอ้ธนศักดิ์ มึงเอาเงิน 5 ชั่งในคลังให้แก่อ้ายแสงมันไปเจียดยามารักษาแผลที่หลังมันด้วย”
       
       เรื่องราวในประวัติศาสตร์ทั้ง 2 เรื่องที่เล่ามาเป็นอุทาหรณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายบ้านเมืองจะคงความศักดิ์สิทธิ์ได้ก็เพราะมนุษย์ยึดมั่นในคุณธรรมประจำใจ แต่เมื่อใดที่ผู้นำของประเทศเห็นแก่ความอยู่รอดและผลประโยชน์ของโคตรเง่าตนจนกล้าพูดโกหกและบิดเบือนความจริงต่อหน้าสาธารณชนคนทั้งโลกอย่างหน้าด้านๆ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของประเทศชาติและส่วนรวม บ้านเมืองคงต้องถึงกาลพังพินาศฉิบหายเข้าสักวัน
       
        ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คนดีผู้รักชาติในบ้านนี้เมืองนี้จะออกมายึดอำนาจอธิปไตยของพวกเราทุกคนคืน และช่วยกันขจัดเสี้ยนหนามหลักตอของแผ่นดินให้สิ้นซาก ก่อนที่พวกมันจะรุมทึ้งทำลายประเทศไทยไปมากกว่านี้
       
       หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ

รายละเอียดจากภาพที่ 1

 

ขอบคุณ
ผู้จัดการออนไลน์
คอลัมน์:108-1000 - ศิลป์ 
รศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน

สวัสดิ์สิริศนิวารค่ะ

Create Date :08 มิถุนายน 2556 Last Update :8 มิถุนายน 2556 12:02:16 น. Counter : 1462 Pageviews. Comments :0