bloggang.com mainmenu search


....

สุพรรณบุรีเป็นแหล่งศิลปิน



     สุพรรณบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ เคยเป็นเส้นทางเดินทัพ ของพม่าที่จะยกทัพเข้ามาจากทางด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ในครั้งที่กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง ที่มีชื่อตามพงศาวดารว่า "กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน" สืบต่อยาวนานถึง 417 ปี จนถึงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310

ส่วนดินแดนแถบนี้ ที่เรียกว่าเมืองสุพรรณฯ มักเป็นเส้นทางผ่านของพม่า มาทำศึกกับกรุงศรีอยุธยา เมื่อพม่าเดินทัพผ่านมาทีไรก็จะต้องย่ำยี ฆ่าฟัน หรือกวาดต้อนผู้คนเอาไปเป็นเชลยสงคราม และปล้นเอาทรัพย์สิน ทำลายบ้านเรือน วัดวาอารามไปตลอดเส้นทาง วัดวาอารามส่วนใหญ่ มักเป็นวัดร้าง ไม่ใหญ่โต เพราะถูกพม่า เผ่าผลาญ จนไม่เหลือซาก
ปัจจุบันได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ไปหลายวัดแล้ว แต่ก็ยังเหลือร่องรอยว่ามีวัดร้างอยู่หลายวัดอยู่ คนแถวนี้ จึงต้องคอยระแวดระวัง อพยพ หลบภัยพม่า ตลอดเวลา จึงทำให้เป็นชุมชนที่ไม่หนาแน่นมากนัก บ้านเรือนพักอาศัยอยู่ห่างไกลกัน สิ่งปลูกสร้าง บ้านพักอาศัยจึงค่อนข้างมีขนาดเล็กขนาดใหญ่จึงไม่ใคร่มีให้เห็น

     ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดบรรดาศิลปินด้านเพลงมากมาย เช่น ครูสุรพล สมบัตเจริญ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ขวัญจิต ศรีประจันต์ พุ่มพวง ดวงจันทร์ แม้กระทั่ง แอ๊ด คาราบาว ขวัญใจวัยรุ่นเพื่อชีวิต





     ตามตำนานชาวบ้านในย่านนี้ จะต้องมีการสัญจรไปมากันอยู่เป็นประจำ เพราะจะต้องเดินทางด้วยเท้า มีศาลาให้พักเหนื่อย มีที่ตักน้ำไว้ดื่มแก้กระหายระหว่างเดินทาง และเมื่อผู้สัญจรมาพบปะกัน ณ ศาลาที่พักริมทาง ก็มักจะมีเรื่องราวต่างๆมาเล่าสู่กันฟัง เป็นเรื่องนิทานบ้าง เป็นเรื่องราวในตำบลของแต่ละคนบ้าง และสำหรับผู้ที่มีพรสวรรค์ และมีความสามารถพูดเป็นภาษากวี หรือเสภา ก็จะแต่งเป็นท่วงทำนอง ขับขาน เป็นการฆ่าเวลา และสนุกสนาน เพลิดเพลิน เลยแต่งเป็นเสภาบ้าง เป็นเพลงอีแซวบ้างต่างๆนานา


     ชาวบ้านส่วนใหญ่มักประกอบการหาเลี้ยงชีพ ด้วยการ ทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู สัตว์เลี้ยงประจำบ้าน ก็เห็นจะมี ควาย และ วัว เป็นหลัก เพราะ สามารถเป็นพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง ด้วยการเทียมเกวียน ใช้ในการช่วยไถ คราด นวด ข้าว และการคมนาคมขนส่ง และอื่นๆ อาชีพหลักคือการ ทำนา จับสัตว์น้ำ ผู้คนในย่านนี้มักจะชอบการร้องรำ ทำเพลง ในยามว่างจากการ เก็บเกี่ยว ยิ่งงานบวช มีกลองยาว แห่นาค ได้บุญและสนุกสนาน มีคนเสียงดีมากมาย
งานแต่ง ก็จะมีเครื่องสายบรรเลง มีเพลงเพราะๆ จังหวัดไหนอยากได้วงเล่นงานต่างๆ ต้องมาที่สุพรรณบุรี แม้กระทั่ง ตาของภรรยาครูแจ้ง ก็มีวงปี่พาทย์ และก็สอนให้ บรรดา ลูกๆหลานๆ เป็นนักร้อง เป็นนักดนตรีในวงจนเป็นกันหมด


     ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ครูขับคำหอม ก็เป็นหนึ่ง ในตำนานศิลปินพื้นบ้าน ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากดินแดนนักร้อง ลูกทุ่งที่ต้อง ผ่านการหล่อหลอม บ่มเพาะ จิตวิญญาณ ของ การ เห่ ขับ กรับ ร้อง ในท่ามกลาง ศิลปินพื้นถิ่น ที่มีการถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่น และโดยสายเลือด รายล้อมด้วยสิ่งแวดวงล้อมรอบตัว ที่เต็มไปด้วยบรรดาเหล่าศิลปินพื้นบ้าน มาตั้งแต่เริ่มเกิดลืมตาขึ้นมาดูโลก ก็จะได้ยินเสียงปี่พาทย์ทุกเช้า



ครูแจ้ง คล้ายสีทอง เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2478 ณ บ้านตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 3 และเป็นบุตรชายคนเดียว ของนาย หวัน และนางเพี้ยน คล้ายสีทอง มีพี่น้อง ท้องเดียวกันทั้งหมด 4 คน คือ
1. นางทองหล่อ ขาวเกตุ
2. นางฉลวย คงศิริ
3. นายแจ้ง คล้ายสีทอง
4. นางอร่าม จันทร์หอมกุล


     ครอบครัวของ ครูแจ้ง เป้นครอบครัวศิลปินโดยแท้ เนื่องจากคุณตา เป็นนักสวดโบราณ(สวดคฤหัสถ์) บิดาแสดงโขน พากย์โขน และเป็นตลกโขนที่มีชื่อเสียงในคณะโขนวัดดอนกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี มารดาเป็นนักร้องเพลงไทยเดิม และแม่เพลงพื้นบ้านผู้มีน้ำเสียงไพเราะยิ่งคนหนึ่ง ครูแจ้งจึงมีความผูกพันกับเสียงดนตรีไทยอย่างแน่นแฟ้น ด้วยติดตาม บิดา มารดา ไปตามงานต่างๆ เข้ารับการศึกษา อยู่ที่โรงเรียนวัดโบสถ์ดอนลำแพน ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จนจบชั้น ประถมปีที่ 4 อันเป็นชั้นสูงสุดในขณะนั้น


ชีวิตครอบครัว




ครูแจ้งฯ สมรสกับนางสาวบุญนะ โพธิหิรัญ บุตรีของกำนันสนิท โพธิหิรัญ กับนางลำจียก โพธิหิรัญ มี บุตร ธิดา ทั้งสิ้น จำนวน 6 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 4 คน ได้แก่

นางสาวคะนึงนิจ คล้ายสีทอง
นางสาวเพ็ญพรรณ คล้ายสีทอง
นายสาธิต คล้ายสีทอง
นางสาวขณิษฐา คล้ายสีทอง
นายประทีป คล้ายสีทอง
นางสาววัลภา คล้ายสีทอง












     ปัจจุบัน ครูแจ้ง อาศัยอยู่บ้านไม้ 2 ชั้น อยู่ที่ 108 หมู่ 12 ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ริมแม่น้ำท่าจีน ที่ รายล้อมไปด้วยต้นไม้รอบบ้าน และทิวแถวต้นไม้ เขียวครึ้ม ที่ดูเงียบสงบ ตลอดสองฝั่ง แม่น้ำท่าจีนที่ไหลเอื่อย ริมฝั่งของแม่น้ำ เต็มไปด้วยแพลูกบวบที่ชาวบ้าน ทำไว้เลี้ยงผักบุ้ง ผักกระเฉก ที่ชาวบ้านปลูกไว้ขาย และกินเอง ส่วนในแม่น้ำ ก็อุดมไปด้วย ปลา ต่างๆมากมาย ทั้งปลา ชะโด ปลาช่อน ปลาสวาย ปลาดุก ปลาฉลาด ปลานิล ปลาไน ปลาแรด และปลาที่ขึ้นชื่อ ที่เชื่อว่า มีแต่เฉพาะ ที่อำเภอบางประม้า ก็คือปลาม้า และปลาอื่นๆมากมาย รวมทั้งจระเข้ สองฝั่งของแม่น้ำ มองไปจนสุดลูกหูลูกตาเต็มไปด้วย ต้นไม้ สีเขียวครึ้ม เป็นสายเลือดสายชีวิต ของคนสุพรรณฯ มาตั้งแต่โบราณ ครั้งที่สุพรรณเคยเป็นเมืองหลวง ที่เรียกว่า “เมืองสุพรรณภูมิ”


การใช้ชีวิตตามแบบวิถีชีวิตในชนบท




ชุมชนสมัยสมัยก่อนไม่หนาแน่น บ้านส่วนใหญ่อยู่ห่างๆกัน รอบบ้านเต็มไปด้วย ต้นไม้ใบหญ้า ธรรมชาติยังมี ความอุดมสมบูรณ์ มีการปลูกโสน ชาวย่านนั้น อยู่กันอย่างสงบ เรียบง่าย ย่าจะทำไร่อ้อย ไร่เผือก ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว พืช ผัก ผลไม้กินอย่างอุดมสมบูรณ์ ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องออกไปตลาด
เมื่อก่อน สมัยที่ยังอยุ่กันที่สุพรรณฯ ยังไม่ได้ย้ายออกไปทำงานที่กรุงเทพฯ มีบ่อปลา 2 บ่อ ปีหนึ่งๆ สามารถวิดบ่อได้ 2 ครั้ง ได้ปลาขายได้เงินเป็นหมื่น สมัยที่ทองยังราคาบาทละ 800

สภาพแวดล้อมมีส่วนช่วยให้คนสนใจด้วย ที่สุพรรณบุรี จะแวดล้อมด้วยเสียงดนตรีไทยตลอดเวลา มีหลายปัจจัยที่จะทำให้คนชอบได้ คือต้องชอบ ต้องรัก มีคนสนับสนุนและมีพรสวรรค์



ตำนานรักของ "ครูแจ้ง”



     ไม่ต่างจาก ตำนานรักของชายหนุ่มหญิงสาวหลายๆคู่ในสมัยก่อน ที่ พ่อ แม่ของฝ่ายหญิง จะกีดกันฝ่ายชาย มิยอมให้รักกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ฝ่ายชาย ฐานะความเป็นอยู่ด้อยกว่าฝ่ายหญิง หรือจะเป็นเพราะ ฝ่ายชายไม่เอาถ่าน เอาแต่กินเหล้าเมายา งานการไม่ทำ หรือ ด้วยอื่นใดก็แล้วแต่ สมัยนั้น ถ้า ชาย หญิง รักกันจริง ก็มักจะ แหกม่านประเพณี หอบผ้าหอบผ่อน พากันหนี จน พ่อ แม่ฝ่ายหญิง โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แบกปืนออกมาไล่ยิง สนั่นลั่นทุ่ง และหลังจาก นั้น พอว่าที่พ่อตา แม่ยายหายโกรธ คิดถึงลูกสาวแล้ว ก็จะกลับ มาขอขมาลาโทษ มาให้พ่อ แม่ฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย ผูกข้อไม้ข้อมือ ไม่ต่างจาก รายอื่นๆ ตำนานรักของ ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ก็เช่นกัน ใช้สูตร “รักกันหนา พาลูกสาวหัวหน้าวงหนี” แล้วกลับมาขอขมา ลาโทษ กำนันสนิท และแม่ลำเจียก และก็กลับมาใช้ชีวิต ครอบครัว เฉกเช่น สามี ภริยา จนลูก 6 คนมาจนถึงทุกวันนี้

คุณบุญนะฯ ภริยา ครูแจ้งฯ เธอ มีมารดาชื่อนางลำเจียก โพธิ์หิรัญ เป็นนักร้องเจ้าของวงฯ เป็นครูสอนในโรงเรียนประชาบาล พ่อเป็นกำนันชื่อ สนิท ชาวบ้านเรียกว่า “กำนันหนิท”ส่วน ครูแจ้ง เป็นเด็กข้างบ้านพ่อเสียตั้งแต่ “ครูแจ้ง” อายุยังไม่ถึงขวบ พ่อของกำนันสนิท ซึ่งเป็นครูสอนหนังสือ โรงเรียนประชาบาล ได้ขอมาเลี้ยงเพราะเห็นว่า มีแววตั้งแต่เด็ก ตอนอายุประมาณ 7-8 ขวบ อยู่บ้านก็ไม่มีอะไรทำ ก็เลยฝากให้ไปอยู่ด้วย ตอนแรกก็ยังไปๆมาๆ ไม่ได้อยู่ประจำ ต่อมาภายหลัง เลยมาอยู่เป็นเด็กในบ้าน ช่วยทำงานทุกอย่าง และก็เรียนเรื่อง การร้อง รำ ทำเพลง ไปด้วย



     บรรดาลูกๆ ของ”ครูแจ้ง” ที่พอที่จะมีแววเจริญตามรอยตาม”ครูแจ้ง”ได้ ก็เห็นจะมีลูกสาวอยู่คนหนึ่งที่เรียนจบด้าน คีตศิลป์ไทย จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ ตอนนี้ทำงานประจำอยู่ที่วงดุริยางค์ทหารเรือ ในตำแหน่งนักร้องประจำวง ร้องเพลงในแบบ “สุนทราภรณ์” และก็สามารถขับเสภาได้
ครูแจ้งไม่อยากให้ภรรยาเรียน และร้องเสภาเพราะเห็นว่า หน้าที่ภริยาควรจะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน คอยดูแล ลูก หลาน ดูแลสามี และ ดูแลกิจการบ้านช่อง จะเหมาะสมกว่า เพราะจะได้ไม่ต้อง ตระเวน ไปมา ปล่อยให้เป็นเรื่องของ “ครูแจ้ง” คนเดียวก็พอ


การเข้ารับรับราชการ

     เมื่ออายุ 17 ปี ติดตาม นายสนิท โพธิหิรัญ บุตรเขยของครูแคล้ว เข้าทำงานที่กองยกบัตร สะพานแดง บางซื่อ กรุงเทพมหานคร รับเงินเดือนพอเลี้ยงตัวเองไปได้

เมื่ออายุ 21 ปี ได้เข้ารับราชการทหาร ประจำหน่วยเสนารักษ์

พ.ศ.2508 “ครูแจ้ง เข้าราชราชการ ในตำแหน่ง คีตศิลป์จัตวา หรือตำแหน่ง ขับร้องเพลงไทย แผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร



     ช่วงที่ครูแจ้งรับราชการใหม่ๆ เงินเดือน 3 พันบาทก็พออยู่ได้ ไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากภริยาทำของกินและขายข้าวเหนียวปิ้งตั้งวางแผงขาย แถว "วัดครุใน ตลาดพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ" อยู่ได้ไม่เดือดร้อน ตอนนั้นเช่าบ้านอยู่แถวปากน้ำ สมุทรปราการ ขายของ 2 รอบ เช้ากับเย็น ตื่นตี 5 ติดไฟย่างตอนตี 5 ครึ่ง แม่ค้าที่ขายในโรงงานมารับ ของขายก็ห่อมาจากบ้าน นับว่าทำกันเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว ลูกๆต่างก็ช่วยกัน ช่วงเวลานั้นมีเงินเก็บเป็นแสน มีเงินก็ซื้อทองเก็บไว้ เก็บได้เกือบประมาณ 30 บาททีเดียว ที่เหลือก็เก็บสะสมจนสามารถซื้อที่ดินแปลงที่ปลูกบ้านหลังนี้ได้

ระยะที่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม กำลังคึกคะนอง ครูแจ้งชอบเลี้ยงเหล้า เพื่อนฝูงเป็นประจำ จนบางครั้งก็พลอยทำให้เสียงานเสียการ ขาดงานบ่อยๆเริ่มเป็นหนี้เป็นสิน จนเจ้าหนี้มาตามหักเงินเดือนที่กรมศิลป์ ช่วงนี้พี่ต้องไปทำงานและกลับบ้านพร้อมกับครูแจ้งทุกวัน





     ช่วงชีวิตในขณะที่รับราชการครูแจ้งฯ มีภารกิจที่รัฐบาลได้ส่งไปทำงานเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ และบางครั้งก็ได้มีโอกาสเดินทางไปปักกิ่ง ในสมัยที่หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปแลกเปลี่ยน ศิลปวัฒนธรรม กับประเทศจีน ที่นั่น ได้ไปร้องโขน ร้องละครโชว์


เส้นทางสู่ดนตรีไทยและการร้อง

     เมื่อ ครูแจ้งอายุได้ 11 ปี บิดาถึงแก่กรรม นายแคล้ว คล้ายจินดา ครูดนตรีไทย เจ้าของวงดนตรีปี่พาทย์ ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำท่าจีน ได้มาขอตัว ครูแจ้ง จากมารดา ให้ไปหัดดนตรีไทย ฆ้องวง เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ เด็กชายแจ้งได้เริ่มหัดอย่างจริงจัง โดยบรรเลงเพลงสาธุการและเพลงอื่นๆ และในไม่ช้าก็สามารถออกงานไปพร้อมกับ วงได้ทุกครั้ง
ต่อมา ในวงดนตรีของ ครูแคล้ว ขาดนักร้อง เด็กชายแจ้งจึงมีโอกาสได้เริ่มฝึกหัดขับร้องเพลงกับ ครูเฉลิม คล้ายจินดา ซึ่งเป็นบุตรชายของครูแคล้ว โดยเริ่มจากเพลง 2 ชั้น และเพลงตับราชาธิราช (ตอนสมิงพระรามหนี) จนกระทั่งครูแจ้งขับร้องได้อย่างคล่องแคล่ว และได้เป็นนักร้องวงดนตรีของครูแคล้ว ครูแจ้งได้รู้จักกับ นักดนตรีเอกของบ้านดุริยประณีต คือ นายสืบสุด ดุริยประณีต และ จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต ทั้งสองคนนี้มาช่วยงานในวงดนตรีของครูแคล้วอยู่เสมอ และภายหลังได้รับการชักชวนจากนายสืบสุด ดุริยประณีตให้เป็นนักดนตรีวงดุริยประณีตต่อมา

     ในช่วงที่ครูแจ้งอยู่วงดนตรีดุริยประณีตนั้น ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นยุคสมัยที่มีการสนับสนุนให้แสดงลิเก โดยเปลี่ยนชื่อเป็น นาฏดนตรี มีการแสดงสดส่งกระจายเสียงตามวิทยุต่างๆ จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ลิเกหลายคณะได้ใช้วงปี่พาทย์บ้านบางลำพูในการบรรเลง ต่อมาครูแจ้งก็ได้เลื่อนเป็นนายวง และเป็นคนตีระนาดเอกเอง ส่วนใหญ่จะแสดงประจำสถานีวิทยุที่กรมการรักษาดินแดง

     และเมื่อคณะลิเกขาดตัวแสดงตัวใดตัวหนึ่ง ก็มักจะให้ครูแจ้งแสดงแทน ซึ่งครูแจ้งสามารถแสดงได้ดีในทุกตัวแสดง จนบางคณะต้องติดต่อให้ครูแจ้งแสดงเป็นพระเอก โดยใช้ชื่อในการแสดงว่า "อรุณ คล้ายสีทอง"

     ในยุคแรกๆของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม วงดนตรีดุริยประณีตได้มีโอกาสบรรเลงดนตรีไทยอยู่เป็นประจำ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ครูแจ้งได้มีโอกาสสวมบทและร้องเพลง "บุหลันเถา" แทนตัวจริง เฉพาะในตอนสองชั้นและชั้นเดียว ปรากฏว่าศิลปินผู้ใหญ่ที่นั่งฟังอยู๋ด้วย ได้กล่าวชมน้ำเสียงของครูแจ้ง แต่ก็ได้แนะนำให้ปรับปรุงวิธีการร้องและลีลาการร้องในบางช่วง ครูแจ้งจึงได้มีโอกาาสเรียนวิชาการขับร้องกับ ครูสุดา เขียววิจิตร

     โดยเพลงแรกที่ฝีกร้องก็คือเพลง "เขมรราชบุรีสามชั้น" ต่อจากนั้นก็ได้มีการต่อเพลงอื่นๆอีกหลายเพลง จนสามารถนำไปร้องเข้ากับวงดนตรีในงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และมีความไพเราะ

     พ.ศ.2506 ครูแจังได้ขี้นประกวดขับร้องเพลงไทย และการบรรเลงเครื่องสาย โดยใช้ชื่อว่า นายอภัย คล้ายสีทอง และได้รับรางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องฝ่ายชาย

Create Date :06 พฤษภาคม 2551 Last Update :2 กันยายน 2552 22:27:04 น. Counter : Pageviews. Comments :31