bloggang.com mainmenu search

พญากระรอกดำ หรือ กระด่าง จัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ แต่โชคดีสามารถนำมาเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว โดยหากดูแลให้ดีจะมีอายุถึง 10 ปี ...

สภาพโดยทั่วไปของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตำบลภูหลวง อ.วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของพรรณพืช สัตว์ป่านานาชนิด อาทิ นก ไก่ฟ้าพญาลอ เก้ง ไก่ป่า สัตว์ป่าหายากอีกมากมาย ในจำนวนนี้จะมี พญากระรอกดำ รวมอยู่ด้วย

นายทักษิณ อาชวาคม หัวหน้าสถานีวิจัยฯบอกกับ "หลายชีวิต" ว่า พญากระรอกดำ (Black Giant Squirrel) หรือที่บางคนเรียกว่า "กระด่าง" ทางภาคใต้เรียก "พะแมว" เป็นสัตว์กลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ในกลุ่มฟันแทะ มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มกระรอกด้วยกัน มีถิ่นอาศัยอยู่ในเนปาล อัสสัม พม่า จีนตอนใต้ เกาะไหหลำ อินโดจีน มาเลเซีย สุมาตรา ชวา และบาหลี ประเทศไทยจะพบมากทางภาคใต้ ในป่าดงดิบ ตามต้นไม้สูง ยอดไม้ที่รกทึบ โดยเฉพาะแหล่งที่มีลำห้วย

...มีความปราดเปรียวว่องไว ใช้เวลาส่วนใหญ่อาศัย อยู่ตามต้นไม้ บางครั้งอาจพบหากินอยู่ตามพื้นบ้าง นอนในรังเสมอไม่ว่าจะมีหรือไม่มีลูกอ่อนก็ตาม โดยใช้กิ่งกับใบไม้มาขัดสานเป็นที่อยู่คล้ายรังนกขนาดใหญ่ไว้หลายแห่ง แต่จะอาศัยอยู่รังไหนก็แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของป่าบริเวณนั้น หากเห็นคนหรือสัตว์อื่นก็จะส่งเสียงร้อง สามารถกระโดดบนยอดไม้ได้ไกลถึง 22 ฟุต

ออกหากินตัวเดียว ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์ ในเวลากลางวันและหลับพักผ่อนในเวลากลางคืน ซึ่ง อาหารของมันจะเป็นใบไม้ ยอดไม้ ผลไม้ แมลงต่างๆ รวมทั้ง ไข่นก ซึ่งเป็นของที่มันโปรดสุด เสน่ห์ของกระรอกฯ นอกจากหางที่มีลักษณะเป็นพวงยาวใหญ่ สีดำแล้ว หลายคนบอกว่าอยู่ที่ฟันหน้า ซึ่งมีขนาดใหญ่ แข็งแรง

โดยอยู่ด้านบนหนึ่งคู่ ด้านล่างอีกหนึ่งคู่ ไม่มีเขี้ยว ฟันจะงอกยาวขึ้นเสมอ ทำให้พวกมันต้องกัดแทะของแข็งทุกวันเพื่อให้เกิดการสึกกร่อน กันไม่ให้ฟันงอกยาวเกินไป ขนและหางด้านบนมีสีดำสนิท ส่วนบริเวณแก้มและท้องสีจะเหลือง บางตัวอาจมีสะโพก เท้าหน้ามี 4 นิ้ว เท้าหลังมี 5 นิ้ว เล็บยาวและโค้งช่วยในการยึดเกาะต้นไม้

...ตัวโตเต็มที่วัดความยาวลำตัวและหัวได้ 33-37.5 ซม. หาง 42.5-46 ซม. น้ำหนัก 1-1.6 กก. เพศเมียมีเต้านม 3 คู่ จับคู่เมื่ออายุได้ 2 ปี ใช้เวลาตั้งท้อง 28 วัน ตกลูกครอกละ 1-2 ตัว ในวัยละอ่อนจะกินนมแม่ เริ่มจะออกซุกซนอยากเผชิญสู่โลกกว้างเพียงลำพัง เมื่อฟันคู่หน้าเริ่มงอก

ปัจจุบัน สถานะของพญากระรอกดำในธรรมชาติ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดให้อยู่ในสถานะใกล้ สูญพันธุ์ (Endangered) แต่ก็นับว่ายังโชคดีที่เวลานี้สามารถนำมาเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว

และ...หากดูแลอย่างดีพวกมันจะมีอายุยืนยาวถึง 10 ปี.

 เครดิต : //board.postjung.com/684826.html

Create Date :16 มิถุนายน 2556 Last Update :16 มิถุนายน 2556 10:14:34 น. Counter : 4001 Pageviews. Comments :0