bloggang.com mainmenu search

 "หญ้าแฝก เป็นพืชที่มีระบบรากลึก แผ่กระจายลงไปในดินตรง ๆ เป็นแผงเหมือนกำแพง ช่วยกรองตะกอนดิน และรักษาหน้าดินได้ดี จึงควรนำมาศึกษาและทดลองปลูก"

    "การปลูกหญ้าแฝก ปลูกเป็นแถวเดี่ยวระยะต้นห่างกัน 10 – 15 เซนติเมตร ทำให้ไม่เปลืองพื้นที่ การดูแลรักษาง่าย ควรทำการทดลองปลูกในร่องน้ำ และบนพื้นที่ลาดชันสูงให้มากเพื่อช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน"

    "การ ปลูกหญ้าแฝก เป็นแนวคิดใหม่ อยากจะให้ปลูกโดยไม่ต้องหวังผลอะไรมากนัก แต่ผลที่ได้จะดีมาก และการปลูกไม่จำเป็นต้องไปปลูกในที่ของเกษตรกร ขอให้ปลูกกันในสถานีพัฒนาที่ดิน เพื่อเป็นแบบอย่างเพื่อคัดพันธุ์ หาพันธุ์ที่ดีไปขยายพันธุ์โดยดอก ต้องดูว่าปลูกแล้วมีพันธุ์ไหนที่ทนแล้งในหน้าแล้งยังเขียวอยู่ก็ใช้ได้ โดยขอให้ปลูกก่อนฤดูฝน จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงเห็น"

    พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    20 กุมภาพันธ์ 2535

    หญ้าแฝก (Vetiveria spp.)

    หญ้าแฝก เป็นพืชตระกูลหญ้าที่พบอยู่ทั่วไปตามภาคต่างๆ ของประเทศ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง ความเปียกแฉะและสภาพน้ำท่วมขังใด้ดี เพราะมีระบบรากลึกและใบแคบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vetiveria spp. หญ้าแฝกขึ้นเป็นกอใหญ่ ขนาดของกอประมาณ 5-20 เซนติเมตร มีความสูงของลำต้นประมาณ 1-1.5 เมตร ใบแคบยาวประมาณ 75 เซนติเมตรกว้าง 4-10 มิลลิเมตร มีรากเป็นกระจุกเหมือนใยฟองน้ำ สามารถดูดซับน้ำได้ดี ถ้านำมาปลูกเป็นแถวจะช่วยในการดักตะกอนดินและป้องกันการพังทลายของดินได้ดี

    วัตถุประสงค์

    การปลูกหญ้าแฝกเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

         + เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
         + เพื่อป้องกันการกัดชะการพังทลายของดิน
         + เพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่เสื่อมโทรม

    ชนิดพันธุ์หญ้าแฝก

    หญ้าแฝกที่นิยมปลูกกันมากในประเทศมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่สามารถเจริญเติบได้ดีบนพื้นที่สูง ที่พบตามหน่วยจัดการต้นน้ำมี 6 สายพันธุ์ ได้แก่

         + พันธุ์แม่ลาน้อย
         + พันธุ์ศรีลังกา
         + พันธุ์อินเดีย
         + พันธุ์แม่ฮ่องสอน
         + พันธุ์เชียงใหม่
         + พันธุ์สุราษฎร์ธานี

    การขยายพันธุ์หญ้าแฝก

    การขยายพันธุ์หญ้าแฝกที่นิยมกันมาก ง่าย และรวดเร็วได้แก่การแยกหน่อแล้วนำไปชำในแปลงเพาะหรือในถุงชำ ซึ่งมีวิธีการดังนี้

    1. นำหญ้าแฝกที่เป็นกอมาตัดใบออกให้เหลือความยาวของต้นประมาณ 20 เซนติ เมตร และความยาวของรากประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วแยกออกเป็นต้นๆ คัดเลือกต้นที่สมบูรณ์มีรากติดนำลงปลูกในถุงชำขนาด 5 x 8 นิ้วที่มีส่วนผสมของดินร่วนปนทรายและขี้เถ้าแกลบ จากนั้นนำถุงชำมาวางเรียงในที่แจ้งให้เป็นแถว แถวละประมาณ 10 ถุง ระหว่างแถวห่างกัน 1เมตร รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ

    2. การเพาะชำในแปลงเพาะแบบยกร่อง โดยการนำหญ้าแฝกที่เตรียมไว้ในข้อที่ 1 มาปลูกในแปลงขยายพันธุ์ที่เตรียมดินโดยการทำเป็นแปลงยกร่องกว้างขนาด 1-1.5 เมตร ความห่างระหว่างแปลงประมาณ 1 เมตร ความยาวของแปลงแล้วแต่ความเหมาะสม โดยนำหญ้าแฝกมาปลูกห่างกันระหว่างต้น 20 เซนติเมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกหญ้าแฝกได้ประมาณ 3,200 กอ รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ หญ้าแฝกจะเจริญเติบอย่างรวดเร็ว และสามารถแตกหน่อได้ประมาณ 40-50 เท่าในระยะเวลา 4-5 เดือน

    การปลูกหญ้าแฝก

    หญ้าแฝกสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ โดยเฉเพาะภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร และมีปัญหาเกี่ยวกับการพังทลายของหน้าดิน (Soil-erosion) การปลูกหญ้าแฝกแบ่งตามสภาพพื้นที่ได้ 3 ประเภท ได้แก่

            * ปลูกในพื้นที่ป่าที่ล่อแหลมต่อการกัดชะการพังทลายของดิน
            * ปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม
            * ปลูกในพื้นที่อื่นๆที่มีล่อแหลมต่อการกัดชะการพังทลายของดิน

    รูปแบบการปลูกหญ้าแฝก

        1. ปลูกในพื้นที่ป่าที่ล่อแหลมต่อการกัดชะการพังทลายของดินเพื่อใช้ในการป้องกันการพังทลายของดิน และใช้ในการดักตะกอน มีหลายรูปแบบ เช่น

            1.1 การปลูกหญ้าแฝกขวางแนวความลาดชันเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทลายของดินและใช้กรองตะกอนดิน

            นำหญ้าแฝกที่ชำไว้มาปลูกขวางแนวความลาดชันให้เป็นแถว ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 15-20 เซนติเมตร ระหว่างแถวขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่ ถ้าความลาดชันมากแถวควรจะถี่ประมาณ 3-5 เมตร ถ้าความลาดชันต่ำแถวควรจะห่างประมาณ 10-20 เมตร

            1.2 การปลูกหญ้าแฝกสองข้างฝั่งลำห้วยเพื่อใช้ดักตะกอนดินและใช้กรองเศษวัชพืช

            นำหญ้าแฝกที่ชำไว้มาปลูกสองฝั่งลำห้วยให้เป็นแถวแบบสลับฟันปลา ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 15-20 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30 เซนติเมตรประมาณ 5-10 แถวแล้วแต่สภาพพื้นที่

            1.3 การปลูกหญ้าแฝกขวางลำห้วยเพื่อชะลอการไหลของน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน

                 นำหญ้าแฝกมาปลูกขวางลำห้วยแห้ง ระยะห่างระหว่างต้น 10-15 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่ (Slope) จำนวนแถวขึ้นอยู่กับความยาวของลำห้วย

            1.4 การปลูกหญ้าแฝกเพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่ที่เสื่อมโทรมอันเนื่องเกิดจากการชะล้าง พังทลายของดิน (Land-slide)

                 นำหญ้าแฝกมาปลูกเป็นแถวแบบสลับฟันปลา ระยะห่างระหว่างต้น10-15 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-50 เซนติเมตร จนเต็มพื้นที่

            1.5 การปลูกหญ้าแฝกเพื่อใช้เป็นแนวกันชน

                 นำ หญ้าแฝกมาปลูกรอบพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่แปลงปรับปรุงระบบนิเวศและ พื้นที่สวนป่าปลูกเพื่อเป็นแนวกันชนไม่ให้ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ โดยปลูกเป็นแถวระยะห่างระหว่างต้น 10-15 เซนติเมตร

            1.6 การปลูกหญ้าแฝกร่วมกับการสร้างฝายต้นน้ำเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทลายของดิน

                 นำหญ้าแฝกมาปลูกบนขอบสันฝายต้นน้ำด้านนอก ระยะห่างระหว่างต้น 15-20 เซนติเมตร ความยาวเท่ากับความยาวของฝาย

        2. การปลูกในพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ

            2.1 การปลูกหญ้าแฝกตามแนวขั้นบันไดดินเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน

    นำหญ้าแฝกมาปลูกตามแนวขอบขั้นบันไดดินควบคู่กับวิธีกล ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5-20 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวขึ้นอยู่กับจำนวนขั้นบันไดดิน

            2.2 การปลูกหญ้าแฝกขวางแนวความลาดชันเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และป้องกันการ ชะล้างพังทลายของดิน

                 นำหญ้าแฝกมาปลูกเป็นแถวขวางแนวความลาดชัน ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 10-15 เซนติเมตร ระหว่างแถว 5-10 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่ ถ้าความลาดชันสูง ระยะห่างระหว่างแถวควรจะถี่ขึ้น

            2.3 การปลูกหญ้าแฝกตามแนวคูรับน้ำขอบเขาเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทะลายของดินและกรองตะกอนดิน

                 นำหญ้าแฝกมาปลูกตามแนวคูรับน้ำขอบเขา ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 15-20 เซนติเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับคูรับน้ำเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทลายของดินและกรองตะกอนดิน

           2.4 การปลูกหญ้าแฝกรอบโคนต้นไม้เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและเพิ่มธาตุอาหารในดิน

                 นำหญ้าแฝกมาปลูกรอบๆ โคนต้นไม้ผล จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินและเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดินด้วย

            2.5 การปลูกหญ้าแฝกเสริมรายได้เพื่อใช้ในการทำน้ำหอมและยาป้องกันแมลงศัตรูพืช

                 นำหญ้าแฝกหอมมาปลูกเป็นแถวในแปลงขนาดใหญ่ ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 20 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-50 เซนติเมตร แล้วนำรากมาสกัดน้ำหอมเพื่อใช้ในการไล่แมลงศัตรูพืช

        3. ปลูกในพื้นที่อื่นๆที่หล่อแหลมต่อการกัดชะการพังทะลายของดิน เช่นพื้นที่ในการสร้างเขื่อน สร้างฝายและสร้างถนน

            3.1 การปลูกหญ้าแฝกเหนือเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทะลายของดินและดักตะกอนดิน

                  นำหญ้าแฝกมาปลูกเป็นแปลงเหนือเขื่อน ระยะห่างระหว่างต้น 15-20 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-50 เซนติเมตรจนเต็มพื้นที่

            3.2 การปลูกหญ้าแฝกเหนืออ่างเก็บน้ำเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทลายของดินและกรองตะกอนดิน

                 นำหญ้าแฝกมาปลูกเป็นแปลงเหนืออ่างเก็บน้ำ ระยะห่างระหว่างต้น 15-20 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-50 เซนติเมตร จนเต็มพื้นที่

            3.3 การปลูกหญ้าแฝกสองข้างไหล่ถนนเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทลายของดิน

                 นำหญ้าแฝกมาปลูกสองข้างไหล่ถนน ระยะห่างระหว่างต้น 10-15 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-50 เซนติเมตร จนเต็มพื้นที่

    การบำรุงดูแลรักษา

    1. ระยะเวลาในการปลูกหญ้าแฝก ควรปลูกในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

    2. การใส่ปุ๋ยจะช่วยทำให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น โดยปกติจะใสปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ใช้ปุ๋ยไดแอมโมเนี่ยมฟอสเฟต (DAP) และปุ๋ยสูตร 15:15:15: ในอัตราครึ่งช้อนชา/ต้น

    3. การตัดแต่งต้นหญ้าแฝก ควรมีการตัดแต่งใบอย่างสม่ำเสมอทุก 3-4 เดือน เพื่อป้องกันมิให้หญ้าแฝกออกดอก ช่วยให้หญ้าแฝกแตกหน่อเพิ่มขึ้น และยังช่วยควบคุมไม่ให้หญ้าแฝกสูงเกินไป ทำให้หญ้าแฝกชิดติดกันเป็นกำแพงแน่นและ ทำหน้าที่กรองตะกอนดินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

    4. การดายวัชพืชในระยะแรกที่ปลูก ควรมีการดายวัชพืชช่วย จะทำให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้ดีและแตกหน่อเร็วขึ้น

    ประโยชน์ของหญ้าแฝก

    หญ้าแฝกเป็นพืชมหัศจรรย์ ทุกส่วนของลำต้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น

        ต้นและใบ

                * ช่วยกรองเศษพืชและตะกอนดิน
                * ใช้ทำวัสดุมุงหลังคา
                * ใช้ทำเชือก หมวก ตะกร้า ฯลฯ
                * ใช้เป็นวัสดุคลุมดิน
                * ใช้ทำปุ๋ยหมัก

        ราก

                * ดูดซับน้ำและช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน
                * ดูดซับแร่ธาตุและอาหาร
                * ดูดซับสารพิษ
                * ช่วยปรับปรุงสภาพดินทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น
                * ใช้ทำเครื่องสมุนไพรและเครื่องประทินผิว
                * ใช้กลั่นทำน้ำหอม
                * ใช้ป้องกันแมลงศัตรูพืช

ที่มา : //www.dnp.go.th/watershed/vetiver.htm

Smileyขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมครับSmiley

Create Date :14 กรกฎาคม 2555 Last Update :14 กรกฎาคม 2555 10:36:49 น. Counter : 1669 Pageviews. Comments :0