เล่าเรื่องสระบุรี : ทางรถไฟสายประวัติศาสตร์
 
          “ผาเสด็จ”  คือ สถานที่แห่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดสระบุรี  จังหวัดที่มีสถานที่ทางประวัติศาสตร์หลายแห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ทางพุทธศาสนา หรือ ประวัติศาสตร์การพัฒนาของชาติไทย
 
85
          “ผาเสด็จ”   คือ  หน้าผาชง่อนหินที่แทบจะยื่นเข้าไปในบริเวณทางรถไฟ  อยู่ที่หมู่ 5 ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ในด้านการคมนาคม โดยเฉพาะสำหรับกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นทางผ่านของเส้นทางรถไฟที่ใช้เดินทางมุ่งเข้าสู่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย คือ ทางรถไฟสายพระมหานคร-นครราชสีมา ซึ่งก่อสร้างโดยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่5
 
85
 
ตำนานของผาเสด็จ
 
          ปี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งกรมรถไฟขึ้นในสยามประเทศ หลังจากที่ตั้งกรมรถไฟขึ้นมาแล้ว ปี พ.ศ. 2434 ได้มีการดำเนินการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพถึงอยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 ก็ได้ให้มีการดำเนินก่อสร้างเส้นทางรถไฟต่อไปยังจังหวัดนครราชสีมา
 
85
          เส้นทางดังกล่าวนี้จะต้องผ่านจังหวัดสระบุรี ซึ่งในสมัยก่อนเส้นทางจากสระบุรีไปอำเภอแก่งคอยต้องใช้เวลานานมากเพราะถนนหนทาง  เช่น ถนนมิตรภาพยังไม่มี มีเพียงเส้นทางโบราณเป็นถนนลูกรัง  ซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อแทบตลอดทางแถมยังคดเคี้ยวไปมาจากระยะทางจริง  12 กิโลเมตร กลายเป็น 16 กิโลเมตร เส้นทางคมนาคมอีกทางหนึ่งคือทางรถไฟสายตะวันนอกเฉียงเหนือ สายแก่งคอย-มวกเหล็ก ซึ่งตัดผ่านเข้าดงพญาเย็นไปทะลุทางภาคอีสาน ซึ่งมีเทือกเขาอยู่หลายแห่งขวางเส้นทางที่จะต้องดำเนินงาน และภูเขาแห่งนี้มีเงื้อมชะโงกหินยื่นออกมาเป็นก้อนโตมหึมา ความจริงจะตัดหรือระเบิดอ้อมไปด้านข้างเคียงก็พอจะทำได้ แต่เส้นทางจะคดเคี้ยวเลี้ยวลดดูไม่สวยงาม จึงต้องทำการระเบิดภูเขาแห่งนั้น
 
85
          วิศวกรชาวฝรั่งเศส พยายามจะระเบิดหินเพื่อจะทำทางรถไฟผ่านอยู่หลายครั้งหลายคราแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เป็นความหนักใจให้แก่บรรดานายช่างเป็นอย่างยิ่ง เกือบจะพากันหมดอาลัยล้มเลิกความตั้งใจเสียแล้ว จึงปรึกษากันว่าควรทำอย่างไรดี ขณะนั้นมีท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำในทางไสยศาสตร์ว่า สถานที่แห่งนี้ คงมีผีเจ้าป่าหรือเจ้าที่เจ้าทาง ควรทำบัตรพลีเซ่นสรวง บนบานศาลกล่าวให้องค์เทพารักษ์อนุญาตตามประเพณีไทยแต่โบราณ แต่ไม่มีใครเห็นด้วยเพราะนายช่างเป็นคนหัวใหม่ ปรากฏว่า การระเบิดภูเขาก็ไม่เป็นผลสำเร็จอยู่ดี
 
          ชาวบ้านแห่งนั้นบอกว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เคยแสดงมหิทธิฤทธิ์ปรากฏแก่ชาวบ้านและพรานให้เห็นมาแล้วหลายครั้ง เช่น ถ้ามีคนตัดไม้ทำลายป่าบริเวณนั้น หรือ ปัสสาวะบริเวณโคนไม้ใหญ่ ก็จะมีอันเป็นไป คือ ล้มป่วย เจ็บเนื้อเจ็บตัว ปวดหัว เป็นไข้ หรือเป็นลมชักน้ำลายฟูมปาก ตาเหลือก ต้องหาคนไปทำกระทงบัตรพลีเซ่นสรวงขอขมา ถ้าใครไม่เชื่อล้มเจ็บถึงตายก็มี 
84
 
          ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) พระองค์จึงโปรดให้นำตราแผ่นดินไปประทับตรงโคนต้นไม้ใหญ่บริเวณนั้นเป็นการเอาเคล็ด เล่ากันว่า พอต้นไม้ใหญ่แห่งนั้นถูกตราแผ่นดินพระราชทานตีประทับลงที่โคนแล้ว ก็ให้มีอันกิ่งใบแห้งเหี่ยวยืนต้นตายไป และมีพระราชกระแสรับสั่งให้นายช่างระเบิดหินต่อไป แต่ก็มีการเล่ากันว่าชาวบ้านบางคนกลัวไม่กล้าระเบิดต่อ เนื่องจากมีนายช่างและคนงานบางคนเป็นไข้ป่าเจ็บหนักจนถึงเสียชีวิต พระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) จึงโปรดเกล้าให้สร้างศาลเพียงตาขึ้นที่ใกล้เงื้อมผา การระเบิดทำทางรถไฟ จึงดำเนินต่อไปโดยไร้อุปสรรค 
84
 
          ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2439 (ร.ศ.๑๑๕) พระองค์จึงเสด็จประพาสต้นมาพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ตามลำน้ำป่าสักและเสด็จขึ้นบก เสด็จฯ ต่อโดยรถไฟจากที่ประทับแรมเข้าในดงถึงที่สุดทางรถไฟในเวลานั้น (ตำบลหินลับ) เวลาบ่าย 3 โมงเศษ เสด็จลงจากรถไฟเสด็จพระราชดำเนินต่อไปตามทางที่ยังไม่ได้วางเหล็กรางข้ามห้วยสองแห่ง เสด็จต่อมาถึงศิลาใหญ่ ณ ผาแห่งนี้ เวลาบ่าย 5 โมง ทรงได้โปรดให้มีการจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.”  หมายถึง พระปรมาภิไธยของพระองค์ , “ส.ผ.”  หมายถึงพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และเลข “๑๑๕” หมายถึงปีที่เสด็จมา  และพระราชทานนามศิลาตำบลนี้ว่า “ผาเสด็จพัก”  ติดไว้บนชะง่อนหินแห่งนั้น พอเวลาจวนค่ำ ก็เสด็จกลับมาประทับยังที่พักรถไฟ เสด็จขึ้นรถไฟกลับมาถึงพลับพลาที่ประทับเวลาทุ่มเศษ” เมื่อประชาชนทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) ได้เสด็จมาถึงผาแห่งนี้ก็พากันชื่นชม และผู้คนต่างพากันเรียกเงื้อมผาแห่งนี้ในเวลาต่อมาว่า “ผาเสด็จ” ซึ่งประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะพนักงานรถไฟ ได้ให้ความเคารพบูชาเป็นอย่างสูง ตลอดมาถึงทุกวันนี้
84
 
           จากตำนานที่กล่าวมา นับได้ว่า “ผาเสด็จ” ได้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทย หากได้เดินทางมายังภาคอีสานโดยทางรถไฟแล้ว จะต้องผ่าน “ผาเสด็จ” แห่งนี้แน่นอน
84
 
 
           ในปัจจุบัน สถานีรถไฟผาเสด็จ เป็นสถานีรถไฟชั้น 3 อยู่ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพเป็นระยะทาง 138 กิโลเมตร  ทางจังหวัดสระบุรี ได้ทำการบูรณะ และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณสถานีรถไฟ เพื่อให้เป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่ง ของจังหวัดสระบุรี นักท่องเที่ยวท่านใดสนใจผ่านมาเที่ยวชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ สามารถเดินทางมาได้โดยทางรถไฟ และทางรถยนต์ โดยผาเสด็จนั้น ตั้งอยู่ริมทางรถไฟ ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 30 กิโลเมตร ไปตามถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ประมาณ 25 กิโลเมตร ระหว่าง กม.ที่ 132-133 หากไปจากสระบุรีเลี้ยวซ้ายตรงบริเวณโรงเรียนบ้านซับบอนไปประมาณ3กิโลเมตร ผาเสด็จอยู่เลยจากสถานีรถไฟไปประมาณ 50 เมตร 

#ผาเสด็จ  #เล่าเรื่องสระบุรี  




Create Date : 03 ตุลาคม 2559
Last Update : 24 มิถุนายน 2564 18:40:29 น.
Counter : 531 Pageviews.

0 comments
แคดเมียม Cadmium ความอันตรายของมัน สมาชิกหมายเลข 4149951
(8 เม.ย. 2567 07:11:22 น.)
อย่ามาบ้ง!นะ peaceplay
(5 เม.ย. 2567 15:53:18 น.)
สรุปวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.5) เรื่องเอกซ์โพเนนเชียล & ลอการิทึม นายแว่นขยันเที่ยว
(27 มี.ค. 2567 00:52:25 น.)
เรื่อง ที่เตือนมาจากทนายความ ควรหลีกหนี 20 เรื่องเหล่านี้เพราะ..... newyorknurse
(28 มี.ค. 2567 02:09:48 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Tawanclub.BlogGang.com

ป้าทุยบ้านทุ่ง
Location :
สระบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]

บทความทั้งหมด