- Essence's PATTANI -


คุณยายอารีย์เป็นคนจีนที่เกิด และเติบโตในเมืองปัตตานี
คุณยายพูดได้ทั้งภาษาไทยกลาง ภาษามลายูถิ่น และภาษาจีน
บ้านของคุณยายเป็นบ้านห้องแถวครึ่งปูนครึ่งไม้สไตล์ชิโน-โปรตุกีส
บนถนนสายหนึ่งของเมืองปัตตานี

ตอนแรก...เราสบตากันผ่านประตูเหล็กอันแข็งแกร่ง
คุณยายมองอย่างไม่เข้าใจว่าผู้คนมากมาย
เดินสะพายกล้องมาทำอะไรบนถนนสายนี้
หลาย ๆ คนหยุดถ่ายรูปคุณยายที่ยืนเกาะประตูเหล็กแล้วเดินจากไป
แต่ฉันเลือกถ่ายภาพคุณยายหลังประตูเหล็ก...
แล้วเดินเข้าไปคุยกับคุณยาย
ดวงตา

ของคุณยายอารีย์มีบางอย่างเหมือนกับยายของฉันที่เสียไป
แววตาใจดีที่เข้มแข็งในการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้
คุยกันไม่นาน...คุณยายก็เรียกคุณป้าคนหนึ่งให้ออกมาจากหลังบ้าน
แล้วบอกให้คุณป้าไขกุญแจของประตูเหล็ก
เปิดรับฉันเข้าไปคุยกับคุณยายในบ้าน
ฉันเกรงใจคุณยายมาก
แต่คุณยายก็คะยั้นคะยอให้เข้ามาคุยกับคุณยายในบ้าน

คำถามแรกที่คุณยายถามฉันหลังจากเดินเข้าบ้านคือ
"พื้นบ้านยายสวยไหม"
พื้นบ้านชั้นล่างของคุณยายเป็นพื้นที่ปูด้วยกระเบื้องดินเผา
ลวดลายงดงามคล้ายกระเบื้องนำเข้าจากอิตาลีในสมัยรัชกาลที่ ๕
บนพื้นกระเบื้องมีร่องรอยกระเทาะเล็กน้อย
คุณยายบอกว่า...เป็นเพราะน้ำท่วมใหญ่ปัตตานีเมื่อปีก่อน
เข้ามาสร้างความเสียหายให้พื้นกระเบื้องดินเผา
และตู้ไม้โบราณหลายใบ
คุณยายบอกอีกว่า...พื้นบ้านแบบนี้ไม่ใช่จะหาดูได้ง่าย ๆ
ใช่...พื้นบ้านแบบบ้านคุณยายไม่ใช่จะหาดูได้ง่าย ๆ
การเปิดรับคนแปลกหน้าเข้าบ้านก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เช่นกัน
ฉันอยู่สามจังหวัดชายแดนใต้มาหลายปี
สิ่งที่พบเจออย่างหนึ่งคือเรื่องของความหวาดระแวง
เช่น...ที่ตลาดลำใหม่ เจ้าของร้านขายข้าวหมูแดงรู้ว่าฉันเป็นใคร
และฉันก็เป็นลูกค้าประจำของอาแปะ
แต่ในหัวค่ำที่เพิ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงยะลา
ระหว่างรอน้องในสำนักงานขับรถมารับ ฉันปวดฉี่จนทนไม่ไหว
จึงเดินไปขอเข้าห้องน้ำที่อยู่ด้านในของร้าน
ฉันได้รับการปฏิเสธด้วยคำพูดที่ว่า
"บ้านหลังนี้ไม่มีห้องน้ำ"
มันเป็นเรื่องตลกเกินไป เพราะไม่นานมานี่ระหว่างนั่งดื่มกินข้าวที่ร้านนี้
ฉันก็เคยเข้าห้องน้ำที่นี่มาแล้ว
คำตอบนี้เป็นคำตอบเดียวกับร้านโทรศัพท์มือถือที่ฉันคุ้นเคย
และเป็นคำตอบเดียวกับร้านก๊วยจั๊บมุสลิมที่ฉันเป็นลูกค้าประจำ

มันเป็นคำตอบที่ปวดใจ...คำตอบที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจน
ถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในดินแดนมิคสัญญี!!!

คุณยายอารีย์และคุณป้าชี้ชวนฉันให้ดูข้าวของเก่า ๆ ในบ้านอีกมากมาย
ข้าวของที่ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าแห่งวันวานเมืองปัตตานี
ฉันถามคุณยายถึงชีวิตวันนี้...
ชีวิตในความไม่รู้ของสถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนาน

"ไม่กลัว...ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวเลย ตานีเป็นบ้านของยาย
ลูก ๆ หลาน ๆ เค้าย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ กันหมด
ที่นี่เหลือแค่ยายกับลูกสาวอีกคน
แล้วก็หลานชายที่เพิ่งย้ายกลับมาอยู่บ้านได้ไม่กี่วัน
ยายจะไม่ทิ้งบ้านตัวเองไปไหน"
พูดแล้วคุณยายก็หัวเราะเบา ๆ เสียงหัวเราะที่แฝงไปด้วยความเหงา

ฉันปล่อยให้กล้องคล้องคอ ไม่ถือไว้ในมืออย่างที่เคย
แล้วใช้มือทั้งสองข้างบีบมือคุณยาย

"หนูพูดภาษามลายูได้มั้ย"

ฉันส่ายหน้าเป็นคำตอบพร้อมรอยยิ้ม

"เด็กสมัยนี้นี่เหมือนกันหมด หลานชายยายก็เหมือนกัน
แต่คนรุ่นยายนี่พูดมลายูกันได้หมดเลยนะ
ป้าเค้าก็พูดได้ฟังได้ หนูมาอยู่ที่นี่ หนูต้องหัดพูดมลายู
ถ้าหนูพูดหรือฟังมลายูไม่รู้เรื่อง หนูก็จะไม่รู้ว่าเกิดเรื่องราวอะไรบ้าง
หากไปอยู่ท่ามกลางคนมลายู แล้วมีอะไรเกิดขึ้น"

จริงอย่างที่คุณยายบอก...ฉันมาอยู่ที่นี่ ฉันควรเรียนรู้ภาษาถิ่นของคนที่นี่
เพราะอย่างน้อย ภาษาก็คือสื่ออย่างหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น

ฉันตอบรับคำสอนของคุณยาย แล้วขอตัวลากลับไปรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ที่มาเดินถ่ายภาพ

คุณยายเดินออกมาส่งหน้าประตูบ้านแล้วถาม "เพื่อนไปไหนกันหมดแล้ว"
"สงสัยเราจะคุยกันนานค่ะคุณยาย"
"ไม่นานเลย แป๊ปเดียวเอง เดินดี ๆ นะลูก ตานีไม่มีอะไรที่น่ากลัว
ถ้าว่างก็กลับมาคุยกับยายอีกนะ "

เราลาจากกันด้วยรอยยิ้มที่เบิกบานเต็มหัวใจ

ถนนที่คลาคล่ำไปด้วยช่างภาพสมัครเล่นก่อนหน้าที่ฉันจะเข้าไปคุยกับคุณยายว่างโหวง ไร้เงาผู้คน
ฉันก้าวช้า ๆ พลางมองบ้านเก่าริมสองข้างทาง
สายลมเย็นพลิ้วผ่านย่านบ้านเก่าของเมืองปัตตานีอย่างอ่อนโยน

ภาพ ๆ นี้อาจไม่สื่อถึงสันติภาพตามคอนเซปต์การลงทริปถ่ายภาพ
ทว่า...ฉันเห็นความสุข...ความสุขของฉันกับการเรียนรู้อดีตปัตตานี
ผ่านเรื่องเล่าต่าง ๆ ของคุณยายและคุณป้า

เท่านี้...ก็เพียงพอแล้วสำหรับกำลังใจในการก้าวต่อไปบนเส้นทางสายสันติภาพ




Create Date : 03 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2555 15:28:27 น.
Counter : 8604 Pageviews.

7 comments
Osaka 2025 ไร้นาม
(5 ก.ค. 2568 01:29:52 น.)
Kobe ไร้นาม
(29 มิ.ย. 2568 00:27:44 น.)
แจกภาพปฏิทินประจำวัน ครั้งที่ 5 (1-7 กรกฎาคม 2568) ทองกาญจนา
(30 มิ.ย. 2568 08:57:28 น.)
26 เม.ย. 68 ใส่ชุดยูกะตะ+พิธีอำลา kae+aoe
(24 มิ.ย. 2568 05:38:58 น.)
  
อ่านจบแล้ว
ผมนึกไปถึงเรื่องราวในแผ่นดิน 3 จังหวัดชายแดนใต้

การแก้ปัญหาที่แท้จริง
ที่นั่น

อาจต้องเริ่มต้นเหมือนที่คุณยายพูดไว้ในบล็อก

เราต้องเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของกันและกันให้ได้
ไม่เช่นนั้นก็สื่อสารกันไม่รู้เรื่องจริงๆ...


โดย: กะว่าก๋า วันที่: 3 พฤศจิกายน 2555 เวลา:19:42:06 น.
  
คงจะต้องเคยมีปัญหาอะไร
มีคนทำเนียนขอเข้าห้องน้ำแหงเลย
แบบนี้แย่นะคะ

เป็นกำลังใจ พูดมลายูได้เร็วๆ นะคะ





โดย: ปรัซซี่ วันที่: 10 พฤศจิกายน 2555 เวลา:14:02:51 น.
  
ปัญหาที่ตอบยากมาก และก็แก้ยากมาก
โดย: เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย วันที่: 5 พฤษภาคม 2556 เวลา:9:14:28 น.
  
เจอคอมเมนต์คุณเพลงฝน แนะนำวิธีชงชาน้ำเดือดไว้ ใน พันทิป ใคร่ขอรบกวนข้อมูลเพิ่มเติมหน่อยครับผม ขออนุญาต ฝากเมลย์ไว้ น่ะครับ wrw_rb@hotmail.com ครับ
โดย: worawee IP: 118.173.210.102 วันที่: 16 พฤศจิกายน 2556 เวลา:17:17:22 น.
  
คิดถ็งนะ คนบนฟ้า^_^
โดย: สายลม IP: 1.46.66.132 วันที่: 3 กรกฎาคม 2557 เวลา:20:06:21 น.
  
เซียนกระบี่ลุ่มแม่น้ำวัง

โดย: เซียนกระบี่ลุ่มแม่น้ำวัง วันที่: 17 เมษายน 2559 เวลา:20:07:08 น.
  
I am extremely impressed with your writing skills as well as with the layout on your weblog. Is this a paid theme or did you modify it yourself? Either way keep up the nice quality writing, it rare to see a great blog like this one nowadays..
โดย: stabilometry platform 4 IP: 180.110.242.17 วันที่: 9 มิถุนายน 2567 เวลา:5:22:12 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Standalone.BlogGang.com

เพลงฝนต้นลมหนาว
Location :
สงขลา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]