ศาสนาพุทธกับการพัฒนาสังคมมนุษย์


ศาสนาพุทธกับการพัฒนาสังคมมนุษย์


🌷 น้อมถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

เนื่องในวาระวันวิสาขบูชาได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง วันวิสาขบูชา เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้ง ๓เหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ"

แล้วพระพุทธองค์ทรงตรัสว่ารู้เรื่องอะไร? จึงสามารถทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเครื่องขวางกั้นทางที่นำจิตไปสู่ความดับทุกข์ทั้งปวงได้

อวิชชา คือ ความไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ไม่กำหนดรู้ว่านั่นทุกข์ ไม่เพียรพยายามละเหตุแห่งทุกข์ จิตของตนจึงหลงไหลได้ปลื้มไปกับรูป-นาม (ขันธ์ ๕) หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอารูป-นาม (ขันธ์ ๕) ที่จิตของตนอาศัยอยู่นั้น ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน จึงมีความทะยานอยาก (ตัณหา) ออกไปสู่อารมณ์ที่รัก ชอบ ชัง แล้วเกิดอุปาทานรับเอาอารมณ์เหล่านั้นมายึดมั่นถือมั่นไว้ที่จิตของตน

เมื่อจิตของตนไม่หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูป-นาม (ขันธ์ ๕) ก็ไม่มีการปรุงแต่ง (วิสังขาร) เมื่อไม่มีการปรุงแต่ง เวทนาต่างๆ เช่น สุข-ทุกข์ ก็ไม่เกิดขึ้นที่จิต เมื่อเวทนา สุข-ทุกข์ ไม่เกิดขึ้นที่จิต จิตก็ไม่ต้องไปจดจำ (สัญญา) มาเป็นอารมณ์ เมื่อไม่ต้องไปจดจำมาเป็นอารมณ์ จิตก็ไม่แจ้งในอารมณ์นั้นๆ (วิญญาณ)

มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรับรองไว้ดังนี้
"วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่า
จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว"


ในอนัตตลักขณสูตร พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสอนพระปัญจวัคคีย์ว่า รูป-นาม-ขันธ์ ๕ (นั่น)ไม่ใช่เรา เราไม่เป็นนั่น (รูป-นาม-ขันธ์ ๕) รูป-นาม-ขันธ์ ๕ (นั่น)ไม่ใช่ตัวตนของเรา ในครั้งกระนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ เพราะรู้เห็นตามความเป็นจริง จิตเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตจึงหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในรูป-นาม-ขันธ์ ๕

แล้วสุข ทุกข์ รัก ชอบ ชังเกิดขึ้นที่ไหน? ถ้าไม่ใช่เกิดขึ้นที่จิตของตน จิตคือผู้รู้ อารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เมื่อจิตสิ้นการปรุงแต่งสิ่งที่ถูกรู้ดับไป จิตรู้มั้ย? ย่อมต้องรู้แน่นอน

เมื่อพระพุทธองค์ทรงรู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงแล้ว ทำให้พระพุทธองค์ทรงรู้จักเหตุ และความสิ้นไปของเหตุแห่งธรรมทั้งหลายนั้น เพราะจิตของพระองค์ไม่หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอารูป-นาม-ขันธ์ ๕ ที่จิตยึดครองอยู่นั้น ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน

โดยความเป็นจริง จิตของทุกๆ คน ที่ยังยึดมั่นถือมั่นเอารูป-นาม-ขันธ์ ๕ อยู่นั้น ล้วนมีทั้งสุข ทั้งทุกข์ รัก ชอบ ชัง หมุนเวียนเปลี่ยนไป แปรปรวนไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่เข้ามาครอบงำจิตของตนอยู่ในขณะนั้นๆ เป็นทุกข์ไปกับการเปลี่ยนแปลงแปรปรวน แต่กลับมองไม่ออก เพราะการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนที่เป็นทุกข์โดยปรมัติที่เกิดขึ้นนั้น ยังมีทั้งรัก ชอบ ชัง ที่ทำให้เป็นสุขอันประกอบด้วยอามิสเจืออยู่ เป็นเครื่องฉาบทาไว้เพื่อลวงตา


แล้วศาสนาพุทธมีประโยชน์อย่างไร? ในการช่วยพัฒนาจิตใจให้สังคมดีขึ้นอย่างทุกวันนี้ เราลองมาเดินตามรอยพระพุทธองค์ดูว่าปฏิบัติตามได้จริงแค่ไหน

เดินตามรอยพระบาท (โอวาท) ในวันวิสาขบูชา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ล้วนมีวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน เกิดขึ้นในวันเดียวกัน และทุกๆ พระองค์ล้วนทรงสอนธรรมเพื่อความหลุดพ้นเช่นเดียวกัน

พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมานั้น ล้วนทรงสอนเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนา เหมือนกันหมด ดังนี้ คือ

๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง
๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกๆ พระองค์


เราลองนำมาเทียบเคียงดู ลัทธิและศาสนาอื่นทั่วๆไปนั้น ล้วนสอนเหมือนกันหมด มีการสอนเพียง ข้อ ๑ และ ข้อ ๒ คือ ให้ละชั่ว ทำความดี ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไปของสังคมที่ยังสับสนวุ่นวาย การละชั่วก็เพียงต่อหน้าบุคคลที่มองอยู่ เมื่อคล้อยหลังอาจไปทำในสิ่งคาดคิดไม่ถึงก็ได้ แต่ก็ยังมีบุคคลบางคนที่สามารถยับยั้งชั่งใจละเว้นความชั่วที่หยาบๆ ได้ เพราะจิตมีพละมากพอ ส่วนการละความชั่วที่ละเอียดซ่อนลึก เช่น อวิชชา ตัณหา อุปาทานนั้น มีเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น

การละชั่วนั้น ย่อมทำได้ยากยิ่งกว่าการทำความดี ยิ่งในปัจจุบัน การละชั่ว ทำดี ไม่ได้กระทำที่จิตของตน เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ให้คนทั่วไปได้รู้ ได้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น แต่ภายในจิตของตนไม่ได้เป็นดังเช่นที่ว่านั้นเลย เพราะยังขาดข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นตัวกำกับให้ข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ ที่แสดงออกไปนั้นถูกต้องเที่ยงตรงตามความเป็นจริง

ส่วนในข้อ ๓ นั้น พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า "จิต" ของผู้ปฏิบัติ สามารถชำระให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากอุปกิเลสทั้งหลาย (กุศลและอกุศล) ได้จริง ทำให้บุคคลในสังคมที่หันมาสนใจปฏิบัติธรรมกรรมฐานตามรอยพระองค์ รู้จักกับความสงบตั้งมั่นของจิต บุคคลที่จิตมีความสงบตั้งมั่นดีแล้ว กระทำการสิ่งใดๆ ลงไปนั้น ย่อมตั้งอยู่ในความถูกต้องเที่ยงธรรมเป็นประโยชน์ต่อสังคม มีจิตใจที่เมตตาเอื้ออารีต่อคนในสังคมด้วยกัน ทำให้สังคมดีขึ้น น่าอยู่ยิ่งขึ้น

แตกต่างไปจากจิตใจคนในสังคมที่มีแต่ความสับสนวุ่นวายเป็นที่ตั้ง ความสงบที่เกิดขึ้นมีขึ้นให้เห็นชั่วครั้งชั่วคราวนั้น เกิดจากการรู้จักเปลี่ยน (ข่ม) อารมณ์ของตนไปสู่ความรู้สึกปลอดภัย เป็นการสร้างภาพพจน์จนคุ้นชิน เป็นสัญญาอารมณ์ที่ได้ถูกกำหนดไว้ก่อน ทำบ่อยๆ จนเป็นถิรสัญญา ในขณะที่จิตใจของตนนั้น ยังรู้สึกอึดอัด ขัดข้อง สับสนอยู่ แต่ภายนอกนั้นดูเหมือนสงบ

สิ่งที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่นั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนอารมณ์ ไมใช่เกิดจากการปล่อยวางอารมณ์ ที่ได้จากการปฏิบัติธรรมจนจิตของตนบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว การเปลี่ยนอารมณ์นั้น อาจทำให้เกิดภัยขึ้นมาได้ในภายหลัง ส่วนการปล่อยวางอารมณ์นั้น ปลอดภัยจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลัง เปรียบเช่นปัญญาที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด ย่อมแตกต่างไปจากปัญญาที่เกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริง รู้โดยไม่ต้องคิด


ปัญหาหลักอยู่ตรงที่ว่า เราจะทำอย่างไร? จึงจะชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว หลุดพ้นจากการถูกครอบงำด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทานที่ทำให้จิตของเราเศร้าหมอง

เหตุเพราะจิตของเราชอบแส่ส่าย กวัดแกว่ง กลอกกลิ้ง ดิ้นรน ฯลฯ ออกไปรู้รับอารมณ์ต่างๆ และยึดถือเข้ามาสู่จิตของตน จนเกิดความความเศร้าหมองขึ้นที่จิตนั่นเอง

การปฏิบัติธรรมเพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองได้นั้น ย่อมทำให้จิตของเรามีพลังอำนาจมากยิ่งขึ้น ในการที่จะต่อสู้ฟาดฟันกับอุปกิเลสทั้งหลาย อันนี้คือผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาเพื่อชำระจิตของเรา ในข้อที่ ๓ นั่นเอง

มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า จิตนั้นมีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่ที่ต้องเศร้าหมองไป เหตุเพราะมีกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง

จะทำอย่างไร? ให้จิตไม่เศร้าหมองเพราะกิเลสเป็นแขกจร

ผู้ที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนามาพอสมควร ย่อมรู้ดีว่ามีพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึง ทางอันเอกเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ (คือผู้ที่ติดข้องในอารมณ์) ทั้งหลาย ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง เมื่อยังมีผู้เดินตามทางนี้ (อริยมรรค ๘) อยู่ โลกย่อมไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์

ในการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น พระองค์ทรงกล่าวไว้ในมหาจัตตารีสักกสูตร ทรงเชิดเอา สัมมาสมาธิ เป็นใหญ่เป็นประธานในมรรคทั้งหลาย และที่เหลือจากนั้นอีก ๗ องค์ ทรงให้สัมมาทิฐิ (รู้เห็นตามความเป็นจริง) เป็นใหญ่เป็นประธาน บุคคลที่จิตมีสติสงบตั้งมั่น กระทำการใดๆ ล้วนเป็นไปโดยชอบทั้งสิ้น

องค์แห่งสมาธินั้น ประกอบไปด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นั่นคือ เมื่อทั้ง ๓ องค์ทำหน้าที่ร่วมกัน จิตย่อมรวมตัวลงเป็นสมาธิ ตั้งมั่นชอบโดยลำพังตนเองได้ โดยไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ใดๆ (รูปฌาน อรูปฌาน) ทั้งสิ้น

เมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบแห่ง องค์สมาธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ หรือ ที่เรียกว่า "อธิจิตตสิกขา" เทียบเคียงกับพระโอวาทซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา (ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว) แล้ว โดยความรอบคอบไม่ประมาท จะเห็นว่าลงกันได้เป็นอย่างดี ดังรายละเอียด ต่อไปนี้


สัมมาวายามะ เป็นไฉน
ย่อมยังความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองตั้งจิตไว้เพื่อที่จะ
-ละบาปที่ยังไม่เกิดขึ้น-ไม่ให้เกิด
-ละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
-ยังกุศลที่ยังไม่เกิด-ให้เกิดขึ้น
-ยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว-ให้เจริญงอกงาม


เราพอจะเห็นเค้าเงื่อนได้ว่า องค์แห่ง สัมมาวายามะ นั้น เป็นการปฏิบัติตามหัวใจพุทธศาสนา
ในข้อ ๑ ละบาปทั้งปวง (ละชั่ว)
และข้อ ๒ สร้างกุศลให้เกิดขึ้น (ทำดี)

สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติภาวนาต้องมีเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อทำให้จิตของเราเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้น และเพื่อให้เข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนาในข้อที่ ๓ ซึ่งต้องอาศัยองค์ธรรมอีก ๒ องค์ประกอบด้วย คือ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ (อธิจิตตสิกขา)


สัมมาสติ เป็นไฉน
ตั้งสติไว้ ณ ที่ฐานกาย เวทนา จิต ธรรม ที่เรียกว่า มหาสติปัฏฐาน ๔ คือ ฐานที่ตั้งของสติที่ต้องเจริญให้เกิดขึ้นที่จิตอย่างต่อเนื่องเนืองๆไม่ขาดสายในที่สุด โดยต้องเริ่มต้นด้วยการนั่งปฏิบัติธรรมสมาธิภาวนา "อานาปานสติ" พิจารณาจากกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า ?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

(เพื่อให้เข้าถึงจิตที่เป็นธรรมอันเอก ณ ภายใน ผุดขึ้นมาให้ประจักษ์ชัด)


สัมมาสมาธิ เป็นไฉน (หรือที่เรียกอีกชื่อว่า อธิจิตตสิกขา)
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ


มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า
"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถา ภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว (สัมมาสมาธิ) ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ) ดังนี้"


นั่นคือ เมื่อจิตของผู้ปฏิบัติได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างจริงจัง จากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา จนจิตของตนมีฐานที่ตั้งสติ (สติปัฏฐาน) อย่างมั่นคงหรือมีกรรมฐานแล้ว ย่อมต้องคอยประคองจิตของตนไม่ให้แส่ส่าย กวัดแกว่ง กลอกกลิ้ง ดิ้นรน ฯลฯ ออกไปหาอารมณ์อุปกิเลสทั้งหลาย ที่ทำให้จิตของตนเศร้าหมอง ยิ่งประคองจิตของตนได้มากเท่าไหร่ ยิ่งปล่อยวางอารมณ์ได้มากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น

ซึ่งอันนี้ต้องอาศัยความเพียรอย่างยิ่งในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาให้เกิดความชำนาญ เพื่อจะได้รู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) เมื่อมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว (สมาธิอบรมปัญญา) ก็อาศัยพลังปัญญาที่เกิดขึ้นจากการได้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น นำมาเพื่อปล่อยวางอารมณ์อุปกิเลสทั้งหลายออกไปจากจิตของตน (ปัญญาอบรมสมาธิ)

สรุป พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ ล้วนทรงสอนเรื่องอธิจิตสิกขา (อธิจิตฺเต) หรือการชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย โดยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (อธิจิตตสิกขา) เพื่อให้จิตเกิดปัญญา หลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน ไม่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสเป็นแขกจร

สังคมที่มีการปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมนำความสงบสุข สันติร่มเย็น มาสู่สังคมนั้น


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 29 พฤษภาคม 2561
Last Update : 29 พฤษภาคม 2561 12:38:13 น.
Counter : 559 Pageviews.

0 comments
봄 처녀(Virgin spring) by 홍난파(NanPa Hong) ปรศุราม
(17 เม.ย. 2567 10:09:12 น.)
การหา เติมความมี ปัญญา Dh
(16 เม.ย. 2567 18:08:16 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 36 : กะว่าก๋า
(14 เม.ย. 2567 06:17:30 น.)
อยาก อยากได้ กฎที่ถูกที่ดี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 05:37:27 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]