วิสาขบูชาพาหลุดพ้น


น้อมถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ล้วนมีวันประสูติ วันตรัสรู้ วันปรินิพพาน เกิดขึ้นในวันเดียวกัน และทุกๆ พระองค์ล้วนทรงสอนธรรมเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์เช่นเดียวกัน ทรงสอนหัวใจพระพุทธศาสนาเหมือนกันทุกๆ พระองค์

เราชาวพุทธย่อมรู้ดีว่า หัวใจพระพุทธศาสนานั้นมีอะไรบ้าง ท่องจำกันจนขึ้นใจและตอบได้คล่องปาก แต่กลับนำไปปฏิบัติได้ไม่ครบทุกข้อ

ส่วนใหญ่แล้วปฏิบัติกันเพียงข้อ ๑ และข้อ ๒ เท่านั้น ก็คิดกันไปเองว่าพอเพียงแล้วสำหรับการปฏิบัติธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น แค่นี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนดีศรีสังคมเหนือบุคคลอื่น บางคนยังหลงภูมิอกภูมิใจในความดีที่ติดอยู่นั้น

และพากันมองเมินในข้อ ๓ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ด้วยความเกียจคร้านที่จะลงมือปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อประคองจิตของตนอย่างจริงจังนั่นเอง เพราะเรื่องปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เหมือนยาขมเป็นความยากลำบากสำหรับปุถุชนคนกิเลสหนา

จิตไม่มีกำลังเพียงพอที่จะปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เป็นกิเลสแขกจรเข้ามา ทำให้จิตของตนถูกครอบงำและหลงใหลไปตามอารมณ์อุปกิเลสที่เป็นแขกจรเหล่านั้นได้ง่าย

แต่กลับหลงใหลได้ปลื้มไปกับภูมิรู้ ภูมิธรรมที่เกิดจากสุตะ จินตะ เป็นความรู้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในจิตของตน เป็นเพียงภูมิรู้ ภูมิธรรมที่เกิดจากความคิดที่นำไปคิดแล้วคิดเล่าเฝ้าแต่คิด จนความคิดนั้นตกผลึก เป็น "สัญญา" ไม่ใช่ "ปัญญา" ที่แท้จริง โดยไม่เคยนำไปพิจารณาเปรียบเทียบกับผลที่เกิดขึ้นจริงเลย ...ฯลฯ...

พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก ล้วนทรงสอนหัวใจพระพุทธศาสนา เหมือนกันหมดทุกๆ พระองค์ดังนี้

๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง
๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกๆ พระองค์


สำหรับผู้ที่ได้เคยผ่านการปฏิบัติธรรมตามพระพุทธโอวาทมาอย่างจริงจัง ย่อมจะแยกออกได้ว่า ในพระพุทธศาสนานั้นมีแต่เรื่องของ "จิตกับอารมณ์" เท่านั้น ไม่มีอะไรอื่น นอกเหนือไปจากการสอนเรื่อง "จิตกับอารมณ์" นี้เลย

ผู้ปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาย่อมเห็นได้เองว่า หัวใจพระพุทธศาสนาในข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวถึงการให้ละความชั่ว ที่เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นที่จิตของตน ในฝ่ายอกุศล (อกุศลจิต) และการให้ทำความดี ที่เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นที่จิตของตน ในฝ่ายกุศล (กุศลจิต) ตามลำดับ

ส่วนในข้อ ๓ นั้น พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า “จิต” ของผู้ปฏิบัติธรรม ย่อมชำระให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากอุปกิเลสทั้งหลาย (กุศลและอกุศล) ได้จริง และพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ก็ทรงตรัสสั่งสอนเช่นเดียวกัน

ปัญหาหลักอยู่ที่ว่า เราจะปฏิบัติธรรมอย่างไร? จึงจะชำระจิตของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว หมดจดหลุดพ้นจากการถูกครอบงำด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่ทำให้จิตของตนเศร้าหมองลงได้

เหตุเพราะจิตของตนที่ยังไม่ได้อบรมฝึกฝนภาวนา เป็นจิตปถุชนคนกิเลสหนา มักชอบแส่ส่าย กวัดแกว่ง กลอกกลิ้ง ดิ้นรน ฯลฯ ออกไปรู้รับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ และยึดถือเอาอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นเข้ามาสู่จิตของตน จนเกิดความความเศร้าหมองขึ้นที่จิตนั่นเอง

การปฏิบัติเพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองได้มากเพียงไร จิตของเราก็จะมีพลังอำนาจมากยิ่งขึ้นในการที่จะต่อสู้ฟาดฟันกับอุปกิเลสทั้งหลาย อันนี้คือผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาเพื่อชำระจิตของตน ในข้อที่ ๓ แห่งหัวใจพระพุทธศาสนานั่นเอง

มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า เดิมทีนั้น จิตมีสภาพประภัสสรผ่องใส ที่เศร้าหมองไป เหตุเพราะมีกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง

ผู้ที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนามาพอสมควร ย่อมรู้ดีว่ามีพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึง ทางอันเอก เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ (คือผู้ที่ติดข้องในอารมณ์) ทั้งหลาย ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง เมื่อยังมีผู้เดินตามทางนี้ (อริยมรรค ๘) อยู่ โลกย่อมไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์

ในการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ในมหาจัตตารีสักกสูตร ทรงเชิดเอา สัมมาสมาธิ เป็นใหญ่เป็นประธานในอริยมรรคทั้งหลาย สัมมาสมาธิของพระอริยมีองค์ประกอบอีก ๗ องค์ ทรงยกให้สัมมาทิฐิ (การรู้เห็นตามความเป็นจริง) เป็นใหญ่เป็นประธาน

องค์แห่งสมาธินั้น ประกอบไปด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นั่นคือ เมื่อทั้ง ๓ องค์ทำหน้าที่ร่วมกัน จิตย่อมรวมตัวลงสงบเป็นสมาธิ ตั้งมั่นชอบโดยลำพังตนเองได้ โดยไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ใดๆ ที่เป็นรูปฌาน และอรูปฌานเลย

เมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบแห่ง องค์สมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ หรือ อธิจิตตสิกขา) เทียบเคียงกับพระโอวาทซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา (ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว) พิจารณาด้วยความรอบคอบไม่ประมาท จะเห็นว่าลงกันได้เป็นอย่างดี ดังรายละเอียด ต่อไปนี้

"สัมมาวายามะ" ย่อมยังความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองตั้งจิตไว้เพื่อที่จะ
-ละบาปที่ยังไม่เกิดขึ้น-ไม่ให้เกิด
-ละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว-ให้หมดไป
-ยังกุศลที่ยังไม่เกิด-ให้เกิดขึ้น
-ยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว-ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

เราพอจะเห็นเค้าเงื่อนได้ว่า องค์แห่ง "สัมมาวายามะ" นั้น
เป็นการปฏิบัติตามหัวใจพุทธศาสนา
ในข้อ ๑ ละบาปทั้งปวง (ละชั่ว)
และข้อ ๒ สร้างกุศลให้เกิดขึ้น (ทำดี)


"สัมมาวายามะ" ความเพียรชอบ เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติภาวนาต้องมี เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อทำให้จิตของเราเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้น และเพื่อให้เข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนาในข้อที่ ๓ ซึ่งต้องอาศัยองค์ธรรมอีกสององค์ประกอบด้วย คือ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ (หรือ อธิจิตตสิกขา)

"สัมมาสติ" ตั้งสติไว้ ณ ที่ฐานกาย เวทนา จิต ธรรม หรือที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ คือ ฐานที่ตั้งของสติที่ต้องเจริญให้เกิดขึ้นที่จิตอย่างต่อเนื่อง เนืองๆไม่ขาดสายในที่สุด โดยต้องเริ่มต้นด้วยการนั่งปฏิบัติธรรมสมาธิภาวนา อานาปานสติ พิจารณาจากกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า...
เพื่อให้เข้าถึงจิตที่เป็นธรรมอันเอก ณ ภายใน ผุดขึ้นมาให้ประจักษ์ชัด


สัมมาสมาธิ หรือ อธิจิตตสิกขา เป็นเรื่องเดียวกัน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มี "สติ" อยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ หรือ อธิจิตตสิกขา

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า
“สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถา ภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
(สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว (สัมมาสมาธิ)
ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ) ดังนี้”


นั่นคือ เมื่อจิตของผู้ปฏิบัติได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างจริงจัง จากการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนามา จนจิตของตนมีฐานที่ตั้งสติ (สติปัฏฐาน) อย่างมั่นคงหรือมีกรรมฐานแล้ว ย่อมต้องคอยประคองจิตของตนไม่ให้แส่ส่าย กวัดแกว่ง กลอกกลิ้ง ดิ้นรน ฯลฯ ออกไปหาอารมณ์อุปกิเลสทั้งหลาย ที่ทำให้จิตของตนเศร้าหมอง ยิ่งประคองจิตของตนได้มากเท่าไหร่ ยิ่งปล่อยวางอารมณ์ได้มากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น

ซึ่งอันนี้ต้องอาศัยความเพียรอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาให้เกิดความชำนาญ เพื่อจะได้รู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) เมื่อมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว (สมาธิอบรมปัญญา) ก็อาศัยพลังปัญญาที่เกิดขึ้นจากการได้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น นำมาเพื่อปล่อยวางอารมณ์อุปกิเลสทั้งหลายออกไปจากจิตของตน (ปัญญาอบรมสมาธิ)

สรุป พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ ล้วนทรงสอนเรื่องอธิจิต (อธิจิตฺเต) เพื่อชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย โดยการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา (อธิจิตตสิกขา) เพื่อให้จิตเกิดปัญญา หลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน ไม่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสเป็นแขกจร


เจริญในธรรมทุกๆท่านครับ
ธรรมภูต





Create Date : 20 พฤษภาคม 2559
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2560 13:59:45 น.
Counter : 688 Pageviews.

0 comments
เป็นขันธ์ที่มีคุณค่า แบ่งเวลา คุณค่าของสิ่งต่างๆ ปัญญา Dh
(19 เม.ย. 2567 23:27:48 น.)
หลักของสติ **mp5**
(16 เม.ย. 2567 12:14:57 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 36 : กะว่าก๋า
(14 เม.ย. 2567 06:17:30 น.)
สมบัติรูป สมบัตินามที่ถูกรูป ปัญญา Dh
(10 เม.ย. 2567 18:24:46 น.)

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]

บทความทั้งหมด