*** วรรณกรรมสลับหน้า (Yellowface) *** ผู้ร้ายที่แท้จริง เขียน: R.F. Kuang <<< เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ สำหรับผู้ที่อ่านจบแล้วเท่านั้น >>> บางที 'จูนิเปอร์ ซอง' ผู้ขโมยผลงานของ 'อธีน่า หลิว' มาเป็นของตัวเอง อาจเป็นแค่เป้าลวงและตัวล่อ เพราะสิ่งที่เป็นเป้าหลักในการโจมตีและแฉให้เห็นความเน่าเฟะก็คือ 'วงการวรรณกรรมอเมริกา ณ ช่วงเวลานี้' ช่วงเวลาแห่งความหลากหลายทางเพศ และความเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม ไม่ต้องคิดให้ลึกซึ้งก็รู้ว่าสิ่งที่จูนิเปอร์ทำคือสีดำแห่งความผิด แต่มันอาจไม่ดำสนิทขนาดนั้น เพราะเมื่อยิ่งอ่านยิ่งพินิจเรื่องราวให้ลึกเราจะพบว่าสีดำที่เราเห็นมันเริ่มกลายเป็นสีเทา อย่างไรก็ตามมันก็ไกลห่างกับคำว่าขาวบริสุทธิ์ ผู้เขียนโยนคำถามท้าทายการตัดสินถูก-ผิด ให้ผู้อ่าน ถ้าการเอาเรื่องที่คนอื่นเขียนมาดัดแปลงเป็นงานของตัวเองเป็นความผิด (จูนิเปอร์เอา 'แนวรบด่านสุดท้าย' ที่ยังเขียนไม่จบของอธีน่ามาเขียนต่อแล้วอ้างสิทธิ์เป็นผู้แต่ง) แล้วการเอาเรื่องจริงของคนอื่นมาเขียนโดยไม่ขออนุญาตเป็นความผิดด้วยหรือไม่ (อธีน่าเอา 'ประสบการณ์ก้ำกึ่งว่าถูกข่มขืน' ของจูนิเปอร์มาเขียนเป็นเรื่องสั้นโดยไม่ขออนุญาต) หลังจากที่กว่าครึ่งเล่ม ผู้เขียนโยนประเด็นเรื่องความผิดของการขโมยผลงานมาเป็นตัวขับเคลื่อน แล้วค่อย ๆ หยอดประเด็นชวนคิดและจิกกัดวงการหนังสือมาตามรายทาง (การใช้นักเขียนเป็นสินค้าที่สำคัญพอ ๆ กับหนังสือ, การหาประโยชน์จากกระแสคลั่งเอเชีย และความหลากหลายทางเพศ, ความไม่เท่าเทียมในการเหยียดพวกเหยียดชนชั้นอีกทีหนึ่ง) ช่วงสุดท้ายผู้เขียนเลือกทิ้งประเด็นเรื่องความ 'ถูก-ผิด' แล้วเผยให้เห็นภาพในวงกว้างที่ใหญ่กว่าของ 'ระบบทุนนิยมที่กลืนกินวงการวรรณกรรม' หลายคนอาจรอตอนจบที่จูนิเปอร์จะได้รับโทษอย่างสาสม แต่อันที่จริงความทุกข์ทรมานทางจิตใจของจูนิเปอร์คือผลกรรมที่เธอได้รับตั้งแต่กลางเล่มแล้ว (แม้ยังไม่มีหลักฐานมัดตัวจนเธอดิ้นไม่หลุดก็ตาม) สิ่งที่ผู้เขียนเปิดโปงในตอนสุดท้ายก็คือผู้ร้ายตัวจริง ไม่ใช่ 'แคนดิซ ลี' เพราะเธอก็คือเหยื่ออีกคน หากแต่เป็น 'วงการวรรณกรรม' ผู้รีดเอาความฝันของเหล่านักเขียนมาเป็นเม็ดเงินมหาศาล ลองพิจารณาดูจะพบว่าแม้แต่ผู้ทำผิดอย่าง จูนิเปอร์ ยังให้ความสำคัญกับความถูกต้อง (เธอแคร์ความถูกต้องจนยอมทนทุกข์ดีกว่ารับว่าเป็นคนผิด) แต่วงการนี้ไม่ได้สนใจความถูกต้องอะไรหรอก มันจะถูกขโมยมาหรือไม่ ใครจะสน ขอแค่เป็นกระแสยอดขายก็เพิ่มสูงขึ้น ขนาดตัวเลขค่าลิขสิทธิ์หนังสือเปิดโปงความผิดของจูนิเปอร์โดยแคนดิซ ยังมีมูลค่าสูงถึงเจ็ดหลักทั้งที่ยังเขียนไม่เสร็จและไม่มีการตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ด้วยซ้ำ ส่วนแรงบีบคั้นส่วนหนึ่งที่ทำให้จูนิเปอร์ขโมยงานมาแล้วไม่ให้เครดิตอธีน่าก็เพราะความไม่เท่าเทียมของวงการที่เน้นแต่จะผลักดันสิ่งที่เป็นกระแสอย่าง 'ความเป็นเอเชีย' ของอธีน่า (มันไม่ใช่ข้ออ้างที่ฟังขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีส่วนในการกระทำของจูนิเปอร์อยู่ไม่น้อย) ก็ใครล่ะจะสนเรื่องราวจากคนขาวธรรมดาในยุคสมัยนี้ แถมยังจะโดนข้อหาฉกฉวยทางวัฒนธรรมอีก แม้แต่ตัวอธีน่าเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น จากคำบอกเล่าของแคนดิซ อธีน่าเองก็โดนสำนักพิมพ์บีบให้เขียนแต่เรื่องที่ 'ขายได้' รวมถึงการเข้ามาบงการความเป็นส่วนตัวเพื่อภาพลักษณ์ที่ 'ขายได้' อีกต่อหนึ่ง เรียกได้ว่าจะรีดเงินจากเธอให้ได้ทุกเม็ด วรรณกรรมสลับหน้า (Yellowface) ของ R.F. Kuang ถือว่าอ่านได้สนุกเพลิดเพลิน แม้เนื้อหาอาจจะยืดย้วยเกินไปบ้าง เพราะประเด็นหลายอย่างถูกใส่เข้ามาแค่ให้ฉุกคิด มากกว่าจะถูกขับเน้น อย่างไรก็ตามประเด็นหลักอันหนักแน่นเกี่ยวกับการขโมยผลงาน ก็ลงลึกจนน่าพอใจ สิ่งที่ถูกกำหนดให้เป็นตัวร้ายที่แท้จริงก็น่าสนใจ มันไม่กล่าวโทษใครอย่างผิวเผิน แต่กลับชี้ให้เห็นว่าระบบโครงสร้างแบบใดที่สร้างความเลวร้ายนี้ออกมา
|
บทความทั้งหมด
|