เหยื่อจากการรักษาผิดพลาดของแพทย์มีอยู่ทั่วโลก เพียงแต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ยอมรับและรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น "ดอน ลูซีย์" ตำรวจอังกฤษเป็นหนึ่งในนั้น เมื่อชนะคดีจนโรงพยาบาลต้องชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้ภรรยาของเขาเสียชีวิตเป็นเงิน 29 ล้านบาท
เหยื่อจากการรักษาผิดพลาดของแพทย์มีอยู่ทั่วโลก เพียงแต่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ยอมรับและรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนั้น ดังกรณีของ "ดอน ลูซีย์ (Don Lucey)" ตำรวจอังกฤษ ที่ภรรยาเสียชีวิตในอ้อมแขน เพราะหมอตรวจไม่พบเนื้อร้ายยาวนานกว่า 12 ปี ในที่สุดกระทรวงกลาโหมอังกฤษ ซึ่งเป็นต้นสังกัดโรงพยาบาล ได้จ่ายค่าทำขวัญให้ครอบครัวกว่า 29 ล้านบาท
ปัจจุบันดอนเขียนหนังสือเรื่อง "ผู้หญิงที่ไม่ควรตาย" (The Woman
Who Wouldn't Die) ออกเดินทางรณรงค์ไปทั่วโลก เพื่อเตือนสติคนไข้อย่าหลงเชื่อว่า "หมอ" คือผู้วิเศษที่ทำทุกอย่างถูกต้อง...ไม่ผิดพลาด
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา "ดอน" และ "รีเบคคา" ลูกสาว วัย 18 ปี เดินทางมาเมืองไทยตามคำเชิญของเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เขาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว "คม ชัด ลึก" ว่า สิ่งที่เขาและลูกสาวอยากป่าวประกาศให้ทั่วโลกรู้มี 2 ข้อ คือ ผู้หญิงต้องหมั่นตรวจมะเร็งปากมดลูกและอย่าไว้ใจหมอทั้งหมด
ดอน เปิดเผยประสบการณ์อันเจ็บปวดจากการไว้วางใจหมอว่า นางคริสติน ลูซีย์ ภรรยาของเขาเป็นพยาบาลทหารประจำโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในเมืองสวินดอน (Swindon) ได้ตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก สเมียร์เทสต์ (Smear Test) ทุกปี ตั้งแต่รู้สึกปวดท้องน้อยครั้งแรกเมื่อปี 2524 แต่หมอก็ยืนยันว่าไม่พบอาการผิดปกติ กระทั่งเวลาผ่านไป 3 ปี ก็มีเลือดออกจากช่องคลอด แต่แพทย์ก็ยังคงตรวจไม่พบความผิดปกติเหมือนเดิม
กระทั่งปี 2530 คริสตินตั้งครรภ์และคลอดในปีถัดมา หลังคลอดลูกมีอาการตกเลือดมากผิดปกติ นรีแพทย์อ้างว่าเลือดออกเพราะหัวเด็กกดทับ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และในปีเดียวกันคริสตินได้เช็คร่างกายทำสเมียร์เทสต์อีก 2 ครั้ง แต่แพทย์ก็ยืนยันว่าไม่พบความผิดปกติเหมือนเช่นทุกครั้งก่อนหน้านี้
กลางดึกคืนหนึ่งขณะลูกสาวอายุได้ 8 เดือน ดอน เล่าว่า ภรรยาเกิดอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง และมีเลือดตกเต็มชามขนาดใหญ่ หลังจากส่งโรงพยาบาลและตรวจร่างกายครั้งใหญ่ จึงรู้ว่าภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูกขั้นที่ 2 แล้ว
"วันนั้นผมส่งคริสตินไปตรวจร่างกายแล้วก็กลับบ้านได้ไม่กี่ชั่วโมง ก็มีโทรศัพท์จากเธอให้ผมไปที่โรงพยาบาลเดี๋ยวนี้ ผมรู้สึกแย่มากตอนที่นั่งฟังหมอบอกว่า คริสตินเป็นมะเร็งปากมดลูก หัวใจผมเต้นกระตุกอย่างแรง เหงื่อออกจนชุ่มมือ คริสตินเอื้อมมือมาจับแขนผมแล้วบอกว่า ไม่เป็นไรดอนมันเป็นขั้นเริ่มต้น ยิ่งรู้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น" ดอนเล่าด้วยสีหน้าเจ็บปวด
ภายใน 14 เดือน ดอนพาคริสตินไปรักษาตามโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญเรื่องมะเร็งปากมดลูกถึง 3 แห่ง แต่อาการไม่ดีขึ้นเลย ระหว่างนั้นมีเพื่อนพยาบาลโทรศัพท์มาเล่าให้ฟังว่า หลังไปค้นผลตรวจเช็คผลสเมียร์เทสต์ของคริสตินอย่างละเอียด ทำให้รู้ว่าเมื่อปี 2530 มีข้อบ่งชี้บางอย่างว่า ในร่างกายคริสตินมีเซลล์มะเร็งแล้ว แต่แพทย์ไม่ได้ให้ความสำคัญในการพิจารณาผลตรวจนั้น
แม้คริสตินจะทำคีโมหลายครั้งเพื่อรักษาเนื้อร้าย แต่ผลออกมาไม่ดีนัก เซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เป็นเวลากว่า 6 ปี ที่ดอนเฝ้ามองคริสตินด้วยความหวาดกลัวว่าเธอจะจากเขาไป
วันที่ 2 พฤษภาคม 2538 คริสตินในวัย 40 ปี ก็จากโลกนี้ไป ขณะอยู่ในอ้อมแขนของดอน !!!
"ตลอด 6 ปี ที่ต่อสู้มะเร็งเคียงข้างคริสติน ผมปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคน ทำให้รู้ว่าหากหมอไม่ผิดพลาดในการอ่านผลตรวจสเมียร์เทสต์ คริสตินจะมีโอกาสรักษาหายถึง 95% เพื่อให้ความจริงชัดเจน ผมไปห้องสมุดหาหนังสือวิชาการแพทย์ เรื่องมะเร็งปากมดลูกมาอ่าน และเดินทางไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อีกหลายคน จนในที่สุดก็รู้ว่าเมียผมตาย เพราะการรักษาผิดพลาดของหมอ ไม่ใช่แค่คนเดียว แต่หลายคน ผมเลยตัดสินใจฟ้องร้องโรงพยาบาลและกระทรวงกลาโหมให้รับผิดชอบ ผมต้องเสียค่าทนายชั่วโมงละ 7,000 บาท" ดอน เล่า
แม้ตอนแรกโรงพยาบาลและแพทย์จะไม่ยอมรับผิด พยายามต่อสู้หักล้างข้อกล่าวหายาวนานถึง 3 ปี ในที่สุดหลักฐานความจริงก็ปรากฏว่า คริสตินตายเพราะความประมาทของแพทย์และโรงพยาบาลจริง ปี 2541 กระทรวงกลาโหมอังกฤษขอเจรจายอมความ จ่ายค่าทำขวัญเป็นเงิน 4.2 แสนปอนด์ หรือประมาณ 29 ล้านบาท ในจำนวนนี้ดอนต้องเสียค่าว่าความเป็นเงิน 14 ล้านบาท ที่เหลือกำลังคิดว่าจะนำไปทำประโยชน์ให้คริสตินอย่างไร
"วันที่ชนะแล้วได้เงินมา 29 ล้านบาท ผมไม่รู้สึกดีใจเลย คิดแต่ว่าควรทำอะไร เพื่อไม่ให้โลกนี้ต้องมีคนสูญเสียแบบผมอีก เลยตัดสินใจเขียนหนังสือเล่าเรื่องความทุกข์ทรมานของคริสติน เป็นอุทาหรณ์ให้คนป่วยและแพทย์ได้รับรู้ ใช้เวลา 3 ปี พอหนังสือเสร็จก็ออกเดินทางโปรโมท และให้คำปรึกษาเรื่องมะเร็งปากมดลูกกับกลุ่มเสี่ยง อยากบอกว่าเราเศร้าเพราะไม่ใช่อยากได้เงิน แต่เศร้าเพราะพวกเขาไม่ยอมรับผิด ตอนแรกผมไม่อยากได้เงิน อยากได้แค่คำขอโทษง่ายๆ แต่ไม่เคยได้รับเลย" ดอน กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบันสามีที่สูญเสียภรรยา เพราะความประมาทของแพทย์ เดินทางไปทั่วโลก เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย นอร์เวย์ ญี่ปุ่น ฯลฯ เพื่อให้กำลังใจผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูก และให้ข้อมูลกับผู้ป่วยหรือญาติที่เป็นเหยื่อความผิดพลาดในการรักษาของแพทย์ โดยหวังว่าจะไม่มีเรื่องโหดร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวใดอีก
"ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา" ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ซึ่งต่อสู้ฟ้องร้อง รพ.พญาไท 1 ฐานทำคลอดบุตรชายจนพิการ ต่อเนื่องยาวนานถึง 15 ปี บอกว่า หลังได้พบดอนกับลูกสาวเพียง 1 ชั่วโมง ก็รู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน เพราะมีประสบการณ์เลวร้ายที่ต้องต่อสู้กับแพทย์และโรงพยาบาล ที่ไม่ยอมรับความผิดพลาดเหมือนกัน
"พวกเราอยากบอกว่า ไม่มีใครโทษว่าหมอไม่ดี แค่อยากให้หมอยอมรับว่า ตัวเองไม่ใช่ผู้วิเศษ ทำงานผิดพลาดได้เหมือนมนุษย์ทั่วไป และเมื่อผิดแล้วก็ยอมรับผิด ไม่ช่วยกันปกปิดความผิดของตนหรือพวกพ้อง นอกจากนี้ประเทศไทยควรตั้งกองทุนชดเชยค่าเสียหาย จากการรักษาผิดพลาดของแพทย์ด้วย เพื่อให้หมอไม่ต้องรับภาระมากจนเกินไป รวมถึงมีองค์กรกลางที่มีความยุติธรรม เพื่อพิจารณาข้อพิพาทระหว่างคนไข้กับแพทย์" นางปรียนันท์ กล่าวทิ้งท้าย
จาก นสพ.คม ชัด ลึก (ทู่ พร่า ตื้น) วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2549
|
Grassroot.BlogGang.com
grassroot
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [ ?]
|
|
|
|
|