สื่อใหม่ สังคมใหม่ การเมืองใหม่? ชื่อของแม็คลูฮาน (Mcluhan) อาจไม่เป็นที่คุ้นหูนักสำหรับวงวิชาการรัฐศาสตร์ แต่สำหรับในแวดวงวารสารศาสตร์แล้ว ชื่อของเขาถือเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักทฤษฎีสื่อสารมวลชนคนสำคัญ โดยเฉพาะกับคำกล่าวของเขาที่ว่า เพียงแค่ตัวสื่อก็เป็นสารแล้ว (Medium is the Message) ในแบบจำลองการสื่อสารพื้นฐานนั้น ถือว่าการสื่อสารต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 4 อย่างคือ ผู้ส่งสาร (Sender) สาร (Massage) สื่อ (Medium) และผู้รับสาร (Reciever) โดยสื่อนั้นจะทำหน้าที่เป็นช่องทางในการส่งและลำเลียงสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร แต่สำหรับแม็คลูฮานแล้ว สื่อหาได้ทำหน้าที่เป็นเพียงช่องทางไม่ แต่ยังส่งผลถึงตัวเนื้อหาสาร รวมถึงตัวผู้ส่งสารและผู้รับสารอีกด้วย หากเทคโนโลยีสื่อเปลี่ยนไปแล้ว ลักษณะของการสื่อสารก็จะเปลี่ยนตาม และท้ายที่สุดก็จะส่งให้ในระดับสังคมเปลี่ยนไปด้วย แนวคิดนี้ในวงวิชาการวารสารศาสตร์ถือเป็นส่วนหนึ่งของ ทฤษฎีเทคโนโลยีสื่อสารเป็นตัวกำหนด (Communication Technology Determinism) ตัวอย่างที่มักถูกอ้างถึงคือ เมื่อกูเตนเบิร์กคิดค้นแท่นพิมพ์โลหะแบบเรียงพิมพ์ได้ในปี ค.ศ.1456 ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลหรือหนังสือเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น เป็นผลให้ระบบรวมศูนย์อำนาจที่คริสตจักรแต่เดิมต้องล่มสลายลง คำถามที่น่าสนใจก็คือ หากลักษณะสื่อที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบต่อสังคมแล้ว การเกิดขึ้นของ สื่อใหม่ นั้นจะส่งผลอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของ สังคมและการเมือง คำว่า สื่อใหม่ นี้แม้ในปัจจุบันนี้จะยังไม่มีขอบเขตการนิยามที่แน่ชัด แต่เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าหมายถึงสื่อดิจิตอล ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถแสดงผลเป็นเลขฐานสองคือ 0 กับ 1 ได้ (Numerical Representation) โดยสื่อดิจิตอลที่ถือว่ามีบทบาทและอิทธิพลในการสื่อสารมากที่สุดในปัจจุบัน ก็คือสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่เกิดขึ้นในเครือข่ายการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์แบบหนึ่งที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ต จากจุดกำเนิดเพื่อการวิจัยทางการทหาร เมื่อ ปี ค.ศ.1969 ก่อนจะเปิดเอกชนให้เข้าใช้ได้ในปี ค.ศ.1988 เพียงชั่วระยะเวลาแค่ 2 ทศวรรษ อินเทอร์เน็ตได้กลายมาเป็นสื่อหนึ่งที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและทรงอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการพัฒนาแนวคิด Web 2.0 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ที่เปลี่ยนแปลงเว็บไซต์ที่เป็นการสื่อสารทางเดียว (อ่านได้อย่างเดียว) มาเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ใช้มีส่วนร่วมสามารถโต้ตอบกับผู้ให้บริการหรือระหว่างผู้ใช้ด้วยกันเองได้ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นบริการ Web Service หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นกระดานข่าว (Web board) ห้องสนทนา (Chartroom) บล็อก (Blog) รวมไปถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ทั้งหลายแหล่ คุณสมบัติสำคัญของสื่อออนไลน์นอกจากความรวดเร็วแล้ว ก็คือการที่ทำให้ผู้ส่งสารสามารถทำการ สื่อสารมวลชน (Mass Communication) ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวกลางอย่าง สื่อมวลชน (Mass Media) อีกต่อไป เราสามารถส่งสารอะไรก็ที่อยากส่งไปยังผู้รับจำนวนมากได้ ในขณะที่ถ้าเป็นสื่อมวลชน สารของเราอาจถูกคัดทิ้งได้ด้วยเหตุผลด้านข้อจำกัดพื้นที่ข่าวหรือนโยบายของสื่อนั้นๆ ขณะเดียวกันอินเทอร์เน็ตยังทำให้ผู้ใช้เกิดความ กล้า ในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เพราะคิดว่าปลอดภัย ไม่มีผลต่อชีวิตจริง เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใคร หรือหากต้องการจะรู้ก็ไม่ง่ายนัก ลักษณะเช่นนี้เมื่อผนวกรวมกับการที่รัฐยังไม่สามารถเข้ามาควบคุมได้อย่างเต็มที่ เหมือนสื่อประเภทอื่นๆ เนื่องจากยังก้าวไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ต เหล่านี้ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสื่อที่ทรงพลังและส่งผลถึงสังคมในแง่ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ สังคมและการเมือง ผลที่ว่ามีทั้งที่ดีและไม่ดี ส่วนดีคือสื่อออนไลน์ทำให้ข้อมูลข่าวสารไม่ถูกจำกัดการรับรู้ผ่านสื่อมวลชน (ซึ่งควบคุมโดยรัฐ) อีกต่อไป เกิดข้อมูลทางเลือกใหม่ๆ มากมาย ทั้งยังเสริมสร้างช่องทางในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม จนหลายฝ่ายกล่าวว่านี่จะเป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งในการพัฒนาสังคมและประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันด้วยความรวดเร็วของสื่อชนิดนี้ ก็ทำให้ผู้ใช้มุ่งแสดงออกอย่างรวดเร็ว จนขาดการพิจารณาไตร่ตรองสารอย่างรอบคอบ กลายเป็นปัญหาตามมาในหลายๆ กรณี ด้านสื่อมวลชนเองก็จะประสบปัญหาด้านความน่าเชื่อถือ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของรัฐ (ที่น่าขันคือสื่อมวลชนเองก็โจมตีสื่อใหม่เหล่านี้ว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะขาดความเป็น มืออาชีพ) นอกจากนี้การที่สื่อมวลชนต้องนำเสนอสารแบบ โดยรวม เพื่อตอบสนองมวลชนที่หลากหลายให้มากที่สุด ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่ายังตอบสนองความต้องการเฉพาะของพวกเขาได้เพียงพอ จึงเกิดการรวมกลุ่มในสังคมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งก็ทำได้โดยสะดวก เพราะอินเทอร์เน็ตช่วยทลายข้อจำกัดด้านระยะทางไปให้ แต่ก็เกิดผลข้างเคียงคือ คนมุ่งจะฝังตัวเองอยู่กับเฉพาะกลุ่ม และไม่รับข้อมูลข่าวสารจากนอกกลุ่มอีกเลย จนสุดท้ายอาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม และหลายครั้งที่ความขัดแย้งนี้หลุดออกมาในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย ไม่ว่าจะดีหรือร้ายอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตก็ได้ทำให้เกิดสังคมและการเมืองแบบ ใหม่ และมีทีท่าว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่หยุดลงง่ายๆ เพราะผลสถิติของ //www.internetworldstats.com ซึ่งรวบรวมสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก พบว่าในปี ค.ศ.2010 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกประมาณ 1,966 ล้านคน แม้จะคิดเป็นแค่ร้อยละ 28.7 ของประชากรทั้งโลกที่มีเกือบ 7 พันล้านคน แต่เมื่อเทียบกับสถิติเมื่อปี ค.ศ.2000 ที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียงประมาณ 360 ล้านคน จะพบว่าจำนวนผู้ใช้เพิ่มสูงขึ้นอย่างพุ่งพรวดภายในเวลาแค่ 10 ปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อันจะทำให้อินเทอร์เน็ตเพิ่มบทบาทในการสื่อสารมากขึ้น และเปลี่ยนสังคมและการเมืองมากยิ่งขึ้น คำถามคือ เราจะรับมือกับความ สิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคตนี้อย่างไร การรับมือกับสิ่งใหม่ของสื่อที่จะัเข้ามาในอนาคต คือ ต้องเข้าใจภาษาอย่างลึกซึ้ง และเหนียวแน่นต่อภาษาที่ดีที่สุด และใช้ได้ง่าย สะดวก ในทางพุทธศาสนามีคำว่าปฏิรูปเทศ อันเหมาะแก่ภพภูมิซึ่งผู้นั้นมาถือกำเนิด ภาษาไทยเหมาะแก่คนที่เกิดบนแผ่นดินไทย รัชกาลที่ 5 ทรงทำแบบเรียนหลวงด้วยตัวหนังสือไทยภาคกลาง(กรุงเทพฯ)แล้วส่งเสริมให้ทุกท้องที่ มีโรงเรียน(วัด)และใช้แบบเรียนหลวงสอนการอ่านแก่ทุกผู้คนในประเทศไทย เราจึงรวมเป็นปึกแผ่นมาได้ แต่นับจนถึงทุกวันนี้มีเรื่องระหองระแหงอันเป็นปัญหา เพราะเรา(กระทรวงศึกษาฯ)ไปรับแนวคิดของจอห์น ดิวอี้นักการศึกษาของอเมริกันมาใช้ โดยเฉพาะในเรื่องการอ่านหนังสือ ดิวอี้ว่าให้เน้นความสำคัญของเนื้อหามากกว่าอักขรวิธี ซึ่งใช้ไม่ได้กับวิธีอ่านหนังสือไทย เพราะของไทยมีเสียงวรรณยุกต์และรูปวรรณยุกต์ดูรายละเอียดที่ //vanchana-vanchana.blogspot.com
โดย: kamalvichitsarasatra IP: 58.11.179.48 วันที่: 24 เมษายน 2555 เวลา:9:29:42 น.
|