รำพึงรำพันเกี่ยวกับเพลง (6)

ผมขอสลับฉากนำเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องมาให้อ่านครับ อุปกรณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับเพลงตั้งแต่ยุคแรกๆเป็นต้นมา คงหนีไม่พ้น "แผ่นเสียง" หรือคนไทยสมัยก่อนเขาเรียกว่า "จานเสียง" นั่นแหละครับ


ถ้าจะเล่าประวัติความเป็นมาของแผ่นเสียงในโลกนี้ คงจะต้องใช้เวลามากมายและเกินกว่าสติปัญญาของผมจะกระทำได้ เอาเป็นว่าวันนี้ขอประเดิมภาพแผ่นเสียงของไทยในยุคแรกๆก่อนก็แล้วกัน เชิญชมครับ
 
 


ดูกันเป็นกระสายยาเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ต่อไปนี้เป็นประวัติความเป็นมาของแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์
 


แผ่นเสียงที่ท่านเห็นในภาพนี้ ถือได้ว่าเป็นแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์แผ่นแรกของสยามประเทศ โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ของเรานั้น ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านดนตรีสากลโดยเฉพาะดนตรีแจ๊สมาก โดยได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้มากมายหลายทำนอง เช่นทำนองแจ๊ส บลูส์ ฯ
เมื่อราวพ.ศ. ๒๔๘๙ จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นก็คือเพลงแสงเทียนขึ้น แต่ด้วยยังไม่ทรงมั่นใจในรสนิยมการฟังเพลงของคนไทย กอร์ปกับนักฟังเพลงในยุคนั้นก็ไม่คุ้นเคยกับทำนองเพลงที่มีครึ่งเสียงของเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ เพลงแสงเทียนนี้จึงมิได้บันทึกเสียงไว้ ทั้ง ๆ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นเพลงแรก ดังนั้นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในช่วงแรกจึงมิได้บรรเลงและขับร้องกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ใช้บรรเลงและขับร้องภายในพระราชฐานในงานรื่นเริงส่วนพระองค์ วงดนตรีที่ได้เข้าไปบรรเลงถวายก็คือ วงดนตรีสากลกรมโฆษณาการหรือวงดนตรีสากลกรมประชาสัมพันธ์ในเวลาต่อมา ซึ่งในขณะนั้นมีครูเอื้อ สุนทรสนาน ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เป็นผู้ควบคุมวง ผู้ขับร้องในยุคนั้นก็คือคุณมัณฑนา โมรากุลและคุณวินัย จุลบุษปะ เป็นต้น
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเพิ่มขึ้นอีกหลายเพลง อาทิ เพลงใกล้รุ่ง สายฝน ชะตาชีวิตและยามเย็น เพลงพระราชนิพนธ์จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งได้จัดให้มีงานเต้นรำขึ้นเป็นประจำทุกวันศุกร์และเสาร์ที่เวทีลาศสวนอัมพร ทุกครั้งที่วงดนตรีบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์นี้ ฟลอร์ลีลาศจะคึกคักด้วยนักเต้นรำเป็นพิเศษ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งเพลงพระราชนิพนธ์ดังกล่าวนี้ ล้วนแต่เป็นเพลงจังหวะวอลซ์ทั้งสิ้น และเป็นที่ชื่อชอบแก่นักลีลาศในยุคนั้นเป็นอันมาก เพราะเป็นจังหวะที่เต้นได้ง่ายและมีความไพเราะ
ถัดมาพ.ศ. ๒๔๙๐ บริษัทนำไทย ถนนสี่พระยา บางรัก ได้รับพระบรมราชานุญาตให้บันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ยังความปลาบปลื้มยินดีมาสู่คุณประไพ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เจ้าของบริษัทเป็นอันมาก ในการบันทึกเสียงครั้งนี้ มจ.จักรพันธ์เพ็ญศิริและหม่อมวิภา จักรพันธ์ ได้เป็นผู้ประสานงานจนงานสำเร็จเรียบร้อยเป็นอย่างดี
การบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ในครั้งนี้ บรรเลงโดยวงดนตรีสากลกรมโฆษณาการ ทำการบันทึกเสียงภายในบ้านของคุณพระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจรติกุล) พระสนมเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เพราะเดิมที่ห้องอัดเสียงนั้น เคยใช้เป็นที่ทำการของเสรีไทยมาก่อน ภายหลังจึงเปลี่ยนมาใช้เป็นห้องบันทึกเสียงแทน การบันทึกแผ่นเสียงครั้งนี้คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ขับร้องเพลงสายฝนในจังหวะวอลซ์ ซึ่งต่อมาเพลงสายฝนนี้ ครูบิลลี่ (คีติ คีตากร) ได้ขอพระบรมราชานุญาตแยกเสียงประสานขึ้นใหม่และเปลี่ยนให้เป็นจังหวะสวิง ก็ได้รับความนิยมอีกเช่นกัน ส่วนเพลงใกล้รุ่งนั้นครูเอื้อ สุนทรสนานเป็นผู้ขับร้อง เพลงชะตาชีวิต คุณวินัย จุลบุษปะ ขับร้องและเพลงสุดท้ายคือเพลงยามเย็น คุณชวลี ช่วงวิทย์ เป็นผู้ขับร้อง ซึ่งเพลงนี้ต้องใช้เสียงสูงมากแต่คุณชวลีก็แสดงความสามารถในการขับร้องได้เป็นที่พอพระราชหฤทัย
แผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ชุดแรกนี้จึงมีด้วยกัน ๒ แผ่น เป็นแผ่นเสียงตราสุนัขหน้าสีขาว ตัวหนังสือสีทองพิมพ์ไว้อย่างสวยงาม เป็นแผ่นครั่งสปีด ๗๘ ที่มีความงดงามและประณีตสมพระเกียรติยศมากที่สุด เป็นที่น่าสังเกตประการหนึ่งว่าแผ่นเสียงตราสุนัขนั้น เป็นแผ่นเสียงที่มีระบบการบันทึกเสียงที่ไม่สู้จะดีมาก เป็นแผ่นเสียงที่เริ่มเข้ามาบันทึกเสียงตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ ๖ โดยเริ่มบันทึกเสียงเพลงพื้นบ้าน และเพลงไทยเดิม หน้าตรานั้นเป็นสีดำและสีเหลือง ต่อมาได้มีการบันทึกเสียงเพลงไทยสากลขึ้นก็เปลี่ยนเป็นตราสีเขียว และสีแดงเป็นลำดับสุดท้าย ส่วนตราสีขาวนั้นมีเพียงแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ ๒ แผ่นที่ได้กล่าวมาเท่านั้นเองและมีคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด รองลงมาก็คือสีเขียว สีแดง สีเหลืองและสีดำตามลำดับ
เรื่องราวของแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์นี้ ยังคงมีอีกมากมายเหลือจะพรรณา และยังได้มีการบันทึกเสียงไว้ในรูปแบบของแผ่นเสียงอีกหลายแผ่น ซึ่งโอกาสอำนวยคราใดก็จักนำมาบันทึกไว้ให้ทราบโดยทั่วกัน แต่ที่สำคัญอย่าหลงไปกับวัตถุหายากต่าง ๆ จนลืมคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าวิตกมากสำหรับวงการแผ่นเสียงในปัจจุบัน แทนที่ท่านอ่านแล้วจะบังเกิดความปิติสุขก็จะกลับกลายเป็นความทุกข์ที่ต้องแสวงหาสิ่งเหล่านี้ ถ้าสนใจอยากฟังก็ส่งความจำนงมาได้ ผู้เขียนยินดีอย่างยิ่งที่จะเห็นท่านมีความสุขกับบทเพลงพระราชนิพนธ์แผ่นนี้ ถึงแม้ว่าจะได้มาด้วยการที่ต้องแลกกับของรักที่สุดในชีวิตสิ่งหนึ่งก็ตาม.

เอกสารประกอบการเขียน
หนังสือลำนำแห่งสยาม โดยน.พ.พูนพิศ อมาตยกุล
แผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์เพลงสายฝน ห้องสมุดเสียงวาฑิตการดนตรี


Posted by :วาฑิต วัน/เวลา :16/3/2549 0:31:23

จาก https://www.thaigramophone.com

 



Create Date : 03 มิถุนายน 2551
Last Update : 1 เมษายน 2566 7:24:39 น.
Counter : 1316 Pageviews.

2 comments
ข้าวหมูแดงสุณี ตลาดพลู & ข้าวหมูแดงศิริพร โภชนา เสาชิงช้า & ขนมครกไข่ เจริญกรุง103 peaceplay
(24 เม.ย. 2567 06:22:08 น.)
สุขสันต์วันปีใหม่ไทย ๒๕๖๗ haiku
(13 เม.ย. 2567 10:13:33 น.)
โจทย์ถนนสายนี้มีตะพาบหลักกิโลเมตรที่ 349 โจทย์โดยคุณ กะว่าก๋า สมาชิกหมายเลข 3902534
(9 เม.ย. 2567 15:31:45 น.)
Henryfry: ไก่ทอดในตำนาน รอคอยมานาน กว่าจะได้กิน peaceplay
(6 เม.ย. 2567 11:06:32 น.)
  
อะโห........................
เข้ามาแล้วได้รับความรู้เยอะจังเลยค่ะ

ชอบจังเลย
ขอบคุณมากๆ เลยนะคะที่แวะไปทักทาย แจง
และมีบล๊อกที่มีความรู้แบบนี้ให้พวกเราอ่านด้วย...

ปล.ทำบล๊อกเก่งมากๆ เลยค่ะ : )
โดย: jme@bloggang IP: 203.156.32.43 วันที่: 4 มิถุนายน 2551 เวลา:20:28:02 น.
  
โปรดอย่าชมผมมากไปเลยครับ ก็ทำบล็อกและเขียนบล็อกเท่าที่สติปัญญาอันน้อยนิดของผมจะทำได้ โอกาสหน้าเชิญอีกนะครับ
โดย: หนุ่มร้อยปี (หนุ่มร้อยปี ) วันที่: 4 มิถุนายน 2551 เวลา:21:18:18 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Century.BlogGang.com

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]

บทความทั้งหมด