เริ่มต้นเล็กๆ แค่พอไปได้ แต่ต้องเรียนรู้อย่างฉับไว
ผมตั้งหมวดค้าๆ ขายๆ ขึ้นมาในบล็อกนี้เพื่อจะเขียนเกี่ยวกับการเริ่มต้นทำธุรกิจโดยเฉพาะ แรงบันดาลใจก็มาจากการที่มีผู้สนใจบริการที่ผมทำอยู่สอบถามกันเข้ามาบ่อยๆ จึงคิดว่าน่าจะรวบรวมสิ่งละอันพันละน้อยที่ผมพอจะรู้หรือพอจะเสาะหามาได้ไว้ที่นี่ เผื่อมีใครถามมาจะได้ส่งเรื่องที่มีอยู่แล้วให้อ่าน 

ช่วงนี้ผมก็เลยหาบทความเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้อ่านเยอะหน่อย อย่างวันก่อนก็ไปโหลด App นิตยสารออนไลน์ Entrepreneur Startup มาอ่าน ก็ไปเจอบทสัมภาษณ์อันนึงที่ผมคิดว่าน่าสนใจดี แม้ว่าจะเก่าไปสักหน่อย คือลงไว้ในเว็บ Entrepreneur ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่เนื้อหาน่าจะยังใช้เป็นแนวคิดในการเริ่มต้นธุรกิจได้อยู่ จึงอยากจะแปลและเรียบเรียงให้ได้อ่านกันครับ 

บทสัมภาษณ์นี้เป็นการสัมภาษณ์ Eric Ries ผู้ริเริ่มแนวคิด The lean startup (เริ่มธุรกิจแบบเล็กๆ) ครั้งแรกในบล็อกที่เขาเขียนเมื่อสามสี่ปีก่อน ซึ่งเขาได้ให้แนวทางใหม่ในการสร้างธุรกิจไว้ว่าต้อง ถูก (cheaply) มีประสิทธิภาพ (efficiently) และที่สำคัญที่สุด ต้องฉับไว (quickly) 

หลังจากนั้น แนวคิดนี้ก็แพร่หลายออกไปจนกลายเป็นกระแส มีผู้ติดตามนับพันคน มีการจัดประชุมสัมนาย่อยนับร้อยครั้ง ประชุมใหญ่หนึ่งครั้ง และกลายมาเป็นหนังสือเล่มนึงที่ชื่อว่า The Lean Startup 

ต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์ที่ผมนำมาเรียบเรียงเองนะครับ ผมไม่ไ้ด้ติดตามเรื่องนี้มาแต่ต้น ถ้าถอดความมาผิดไปบ้างก็ขออภัยด้วยครับ 

คุณว่าอะไรคือแบบแผนเก่าๆ ในการเริ่มธุรกิจ 
รูปแบบดั้งเดิมที่ทำๆ กันมาก็คือ ดูผู้ประกอบการใหญ่ๆ แล้วพยายามเลียนแบบพวกเขา บางครั้งเรามีไอเดียที่แจ่มแจ๋ว กับคนที่ฉลาดสุดๆ แต่แล้วยังไง ผมเคยผ่านโปรเจ็ค Social Network มาแล้วมากมาย แล้วส่วนใหญ่ก็เหลวเป๋ว และเราก็จะบอกว่ามันเป็นไอเดียที่เลิศแต่แผนธุรกิจห่วย พอเราธุรกิจมันแป้ก เราก็มีข้อแก้ตัวแถมให้เป็นออพชั่นเสริมอยู่แล้วว่าดวงเราไม่เฮง หรือจังหวะเราไม่ดี 

และนั่นคือวิธีที่ผิดหรือเปล่า
อืม เอาอย่างนี้ดีกว่า ลองคิดถึง Facebook ดูก็แล้วกัน มันไม่ใช่ social network เจ้าแรก ไม่ใช่ social network ในมหาวิทยาลัยเจ้าแรกด้วย แต่เมื่อคุณเจาะลึกเข้าไปดูว่ามันถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร คุณก็จะเห็นว่า Mark Zuckerberg ได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างถูกต้องตามกระบวนการ 

แล้วอะไรคือกระบวนการที่เรียกว่า lean startup 
คิดให้ใหญ่ เริ่มต้นทำเล็กๆ (think big, start small) การเริ่มต้นแบบ lean startup คือการมองหาอะไรก็ได้ที่จะช่วยสร้างให้เกิด minimum viable product หมายถึงสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่พอใช้การได้ก่อน แล้วเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้และสร้างสรรค์ร่วมกับลูกค้าทันที ดังนั้น คุณจะสามารถล้มเหลวและก้าวต่อไปได้เร็วขึ้น 

แปลว่าความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้ามันเกิดขึ้นแต่เนิ่นๆ 
ประเด็นมันอยู่ที่ความเร็วในการสร้างคุณค่าระยะยาว มันจึงไม่มีไอเดียอะไรที่จะเจ๋งเป้งโดยสมบูรณ์แต่แรก อย่างเวอร์ชั่นแรกของ Paypal หรือระบบดั้งเดิมของ Groupon มันเคยเป็นไอเดียที่แย่มาก่อน และไม่เวิร์คเลยตอนที่มันถูกสร้างขึ้นมา คุณต้องหาให้เจอว่าองค์ประกอบไหนเวิร์คและอันไหนเฟอะฟะ เพื่อที่คุณจะค้นพบข้อด้อยในผลิตภัณฑ์ได้เร็วขึ้น เพ่งเล็งมันและแก้ไขมันในที่สุด 

คุณเทียบเคียงกระบวนการนี้กับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์รึเปล่า
หลักการเดียวกันกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทุกๆ กลยุทธการตลาด ทุกๆ คุณสมบัติใหม่ๆ ของผลิตภัณฑ์ที่ถูกเพิ่มขึ้นมา มันคือการทดลอง และเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ว่าลูกค้าหรือผู้บริโภคอยากได้อะไร ต้องทดสอบอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ปรับปรุงและทดลองซ้ำ และต้องทำอย่างฉับไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

มีอะไรที่ผู้ประกอบการควรจะกลัวบ้างมั้ย
ความสูญเปล่า สำหรับธุรกิจแบบ Facebook ทุกๆ เจ้า มันมีความล้มเหลวมากเกินไปแล้ว อยากให้คุณมองดูที่จำนวนของบุคลากร สติปัญญา ศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์มากมายที่ถูกเทลงไปในการเริ่มต้นธุรกิจที่ล้มเหลวในรอบหลายปีที่ผ่านมา แล้วลองถามตัวเองดูว่าสังคมได้อะไรกลับคืนมาบ้าง ผมว่ามันทับถมกองพูนอย่างสาหัส เรามีปัญหาใหญ่ และจำเป็นต้องให้คนเก่งๆ ของเราได้ทำงานที่มีคุณค่า 

---

ผมอาจจะถอดความมาไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ และบริบทของการสัมภาษณ์น่าจะพูดถึงการเริ่มต้นธุรกิจอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก เห็นพูดถึง Facebook อยู่หลายครั้ง บางอย่างอาจจะไม่ค่อยเข้าเรื่องเข้าราวกับการทำมาค้าขายแบบบ้านๆ อย่างเราก็ได้ 

แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมอยากจะเน้นก็คือ กระบวนการแบบ lean startup คือ เริ่มต้นเอาแค่พอใช้ได้ก่อน ไม่ต้องเอาหรู แล้วรีบเรียนรู้จากลูกค้าว่าอันไหนเวิร์ค อันไหนห่วย ที่สำคัญ ต้องฉับไวในการปรับปรุงแก้ไขให้สินค้าหรือบริการดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ 

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังคิดอยู่ว่าจะเริ่มต้นธุรกิจของตนยังไงดีนะครับ 




Create Date : 24 กรกฎาคม 2555
Last Update : 24 กรกฎาคม 2555 23:34:48 น.
Counter : 1470 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Afterwork.BlogGang.com

PoojeeChunn
Location :
ภูเก็ต  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]