ไข้หวัดนก
โรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (Avian Influenza) หรือโรคไข้หวัดนก (Bird Flu)


สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข

ประวัติการเกิดโรค

โรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกหรือโรคไข้หวัดนก เป็นโรคของสัตว์ปีก พบครั้งแรกที่ประเทศอิตาลีเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว ต่อมาพบเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก แบ่งเป็นชนิดรุนแรงและชนิดไม่รุนแรง เชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (H5N1) สามารถแพร่ติดต่อมาถึงคนได้เป็นครั้งแรกที่ฮ่องกงในปี พ.ศ. 2540 มีผู้ป่วย 18 ราย เสียชีวิต 6 ราย ต่อมาในปี 2546 มีผู้ป่วยที่ฮ่องกงอีก 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย นอกจากนั้นพบว่าเชื้อ H9N2 ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่อย่างอ่อนทั้งในสัตว์ปีกและในคน มีผู้ป่วยรวม 3 ราย สำหรับการระบาดในปี 2546 ในเนเธอร์แลนด์ที่เกิดจากเชื้อ H7N7 ทำให้เกิดโรคตาแดงอักเสบ (83 ราย) และมีผู้ป่วยปอดบวมเสียชีวิต 1 ราย ในปี 2547 นี้ ที่เวียดนาม เชื้อ H5N1 ทำให้มีผู้ป่วย 23 ราย เสียชีวิต 16 ราย และในประเทศไทยมีผู้ป่วย 12 ราย เสียชีวิต 8 ราย นอกจากนั้นในสหรัฐอเมริกาก็พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ไม่รุนแรงจากเชื้อ H7N3 รวม 2 รายด้วย

เชื้อสาเหตุ

โรคไข้หวัดนกเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สัตว์ปีกทุกชนิดมีความไวต่อเชื้อนี้ และสุกรอาจติดเชื้อได้ นกน้ำ นกชายทะเล และนกป่าที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการป่วย แต่สามารถแพร่เชื้อทำให้เกิดการระบาดในฝูงสัตว์ปีกทุกชนิด ทั้งในฟาร์ม ตามบ้านเรือน รวมทั้งนกในธรรมชาติได้

การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งอาจทำให้เชื้อมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หรือแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น เชื้อเกิดการกลายพันธุ์โดยการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมกัน ซึ่งในอดีตพบว่าสุกรที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ของสัตว์ปีกและไวรัสไข้หวัดใหญ่ของคนพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดการกลายพันธุ์จนเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ประชากรส่วนใหญ่ไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อใหม่ ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านคน ปัจจุบันเชื่อว่าการกลายพันธุ์ในลักษณะที่เกิดขึ้นในสุกรอาจเกิดขึ้นในมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน

เชื้อไวรัสไข้หวัดนกถูกทำลายได้ด้วยความร้อน แสงแดด และความแห้ง โดยการปรุงอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไปจะฆ่าเชื้อได้ น้ำสบู่หรือน้ำผงซักฟอกจะทำให้ไวรัสสูญเสียความสามารถในการติดเชื้อ และน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไปมีฤทธิ์ทำลายเชื้อได้ดี เช่น น้ำยาฟอกขาว (โซเดียม ไฮโปคลอไรท์) เจือจาง 2–3 เปอร์เซ็นต์ เหมาะสำหรับใช้ตามบ้านเรือน น้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มอื่นๆ เช่น คลอรีน ควอเตอรีแอมโมเนียม และกลุตาราลดีไฮด์ เหมาะสำหรับใช้ฉีดพ่นในฟาร์ม โรงเรือน และพาหนะ เป็นต้น เชื้อไวรัสอาจมีความทนทานมากขึ้นในช่วงอากาศเย็นและความชื้นสูง โดยอาจอยู่ในมูลสัตว์ วัสดุรองพื้นในโรงเรือน น้ำ และสิ่งแวดล้อมได้หลายวันหรืออาจนานเป็นเดือน

ช่องทางการแพร่ติดต่อ

ขณะนี้การแพร่ติดต่อเกิดขึ้นระหว่างสัตว์ปีกด้วยกันและแพร่ต่อมายังคนได้ แต่การแพร่ติดต่อจากผู้ป่วยพบน้อยมากและมักไม่ก่อโรค

การติดต่อในฝูงสัตว์ นกน้ำที่อพยพมาเป็นแหล่งโรคในธรรมชาติโดยมักไม่มีอาการป่วย เชื้อจะถูกขับออกมากับมูลสัตว์หลังติดเชื้ออยู่นานประมาณ 1–2 สัปดาห์ นกอพยพอาจนำเชื้อแพร่ไปยังสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ โดยเฉพาะในโรงเรือนเปิด และอาจแพร่เชื้อให้ไก่ เป็ดที่เลี้ยงปล่อยไว้ตามบ้าน หรือเชื้ออาจถูกนำพาไปโดยสัตว์จำพวกนกในธรรมชาติ เช่น นกกระจอก หนู หรือแมลงชนิดต่างๆ สัตว์ปีกติดเชื้อทางเยื่อบุของทางเดินอาหารและอาจเข้าที่ทางเดินหายใจได้ด้วย

การติดต่อจากสัตว์มาสู่คน การสอบสวนโรคพบว่าผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกเกือบทั้งหมดมีประวัติชัดเจนว่าในช่วง 7 วันก่อนป่วยได้สัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย บางรายมีประวัติสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาด ปัจจุบันยังไม่เคยพบการติดเชื้อจากการกินเนื้อสัตว์ปีกหรือไข่

กลุ่มเสี่ยง

กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดนกได้แก่ ผู้ทำหน้าที่ทำลายสัตว์ปีก ผู้ที่ทำงานในฟาร์ม ผู้ที่ชำแหละไก่ป่วย รวมทั้งเด็กในพื้นที่ระบาด

ระยะฟักตัวของโรค

ระยะฟักตัวทั้งในสัตว์และในคนโดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 3 ถึง 5 วัน สูงสุดไม่เกิน 7 วัน

อาการและอาการแสดง

ในสัตว์ปีก มีไข้ หงอยซึม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง หน้า หงอน เหนียงบวม มีสีแดงคล้ำ มีจุดเลือดออกที่หน้าแข้ง ไอ จาม น้ำมูกไหล อาจท้องเสีย ชัก และไข่ลด หรือไข่มีลักษณะผิดปกติ ตายรวดเร็ว การระบาดมักรุนแรงและทำให้ไก่ตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ไก่และไก่งวงมักป่วยรุนแรง โดยทั่วไปเป็ด ห่านมักทนโรคมากกว่าและมักไม่ป่วย แต่การระบาดในปี 2547 นี้ ทั้งในเวียดนามและในประเทศไทย พบเป็ดป่วยและตายด้วยโรคนี้ด้วย

ในคน จะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน เริ่มจากมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอแห้งๆ และอาจมีตาแดงด้วย ผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวอาจป่วยรุนแรง เกิดอาการหายใจลำบากหรือหอบ จากปอดบวมอักเสบ และอาจมีอาการระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเสียชีวิตได้ ระยะเวลาป่วยนาน 5-13 วัน อัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 70

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคในสัตว์

ใช้การวินิจฉัยอาการสัตว์ป่วย (ต้องแยกออกจากโรคอหิวาต์ไก่ โรคนิวคาสเซิล โรคกล่องเสียง และหลอดลมอักเสบติดต่อ) ร่วมกับการผ่าซากตรวจ จะพบการบวมน้ำใต้ผิวหนังที่หัวและคอ มีจุดหรือจ้ำเลือดออกตามกล่องเสียง หลอดลม กึ๋น ลำไส้ มีจุดเนื้อตายสีขาวที่ตับ ไตบวมแดง การตรวจทางห้องปฏิบัติการทำโดยการแยกเชื้อโดยการฉีดไข่ไก่ฟัก และหาชนิดเชื้อโดยวิธี Hemagglutination (HA) และวิธี Hemagglutination Inhibition (HI) ร่วมกับการตกตะกอนในวุ้น (Agar gel immunodiffusion)

การวินิจฉัยโรคในคน

ใช้การวินิจฉัยอาการทางคลินิก ได้แก่ ไข้ ไอแห้งๆ และปอดอักเสบ ร่วมกับประวัติการสัมผัสกับสัตว์ปีกในพื้นที่เกิดโรคระบาด วิธีวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทำโดยใช้ชุดทดสอบหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (ทราบผลภายใน 15-30 นาที) และตรวจยืนยันโดยวิธีการแยกเชื้อไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง (ทราบผลภายใน 2-10 วัน) และการตรวจหาแอนติเจนโดย PCR (Polymerase chain reaction) ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง และการตรวจหาแอนติบอดีเฉพาะต่อเชื้อไวรัส H5 โดยวิธี Microneutralization assay

การรักษา

การให้ยาต้านไวรัส (Olseltamivir : ชื่อการค้า Tamiflu) ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการป่วย รับประทานตามน้ำหนักตัว (น้ำหนัก 15 ก.ก. ให้ 30 ม.ก., น้ำหนัก 16-23 ก.ก. ให้ 45 ม.ก., และ น้ำหนัก 24-40 ก.ก. ให้ 75 ม.ก.) เช้า-เย็น ติดต่อกันนาน 5 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ รวมทั้งการใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูง จะให้ผลการรักษาดี

การป้องกันควบคุมโรคในสัตว์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 ดำเนินการควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนก ดังนี้

การควบคุมการระบาด

- ในฟาร์มที่ระบาด ต้องทำลายสัตว์ปีกทั้งหมด (culling) รวมทั้งสัตว์ปีกในพื้นที่ควบคุมในรัศมี 1–5 กิโลเมตร โดยรัฐสนับสนุนค่าชดเชยซากให้แก่เกษตรกร ผู้ทำหน้าที่ทำลายสัตว์ต้องสวม อุปกรณ์ ป้องกันร่างกาย เช่น หน้ากาก ถุงมือ ฯ และหมั่นล้างมือบ่อยๆ

- เก็บตัวอย่างมูลสัตว์ (cloacal swab) ในพื้นที่ควบคุมส่งตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ

- ซากไก่ เป็ด ไข่ รวมทั้งมูลสัตว์ในพื้นที่ระบาด ต้องทำลายทิ้งหมดอย่างถูกสุขลักษณะ (ฝังหรือเผา) ห้ามนำมาบริโภค หรือนำไปทำปุ๋ยหรือเลี้ยงสัตว์ พบว่าแมวและเสือที่กินซากไก่ดิบๆ ติดเชื้อไวรัสนี้และมีอาการรุนแรง ส่วนสุกรมีความไวทั้งต่อไวรัสไข้หวัดนกและไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคน จึงมีโอกาสที่เชื้ออาจแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมกัน ทำให้กลายพันธุ์เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ติดต่อจากคนสู่คนได้ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ดังที่เคยเกิดขึ้นเป็นระยะในอดีต ทำให้ประชาชนทั่วโลกเจ็บป่วยล้มตายนับล้านคน

- ทำความสะอาดและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วโรงเรือนและบริเวณโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ

- ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและเฝ้าระวังการติดเชื้อในพื้นที่ควบคุมรัศมี 50 กิโลเมตร

- ในพื้นที่เคยเกิดโรคระบาด ห้ามนำสัตว์ปีกเข้ามาเลี้ยงใหม่จนกว่าจะตรวจสอบไม่พบการติดเชื้อเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน และพิจารณาแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงจากการระบาดซ้ำ โดยเฉพาะต้องมีการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มด้านสุขาภิบาลที่เคร่งครัดก่อน

- ให้สุขศึกษาและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงให้มีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง และให้ความร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรค โดยเฉพาะการปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ไม่นำสัตว์ออกนอกพื้นที่ระบาดโดยเด็ดขาด

- โรคนี้มีวัคซีนป้องกันสำหรับสัตว์ปีก แต่ยังมีข้อถกเถียงถึงผลดีผลเสียในการนำมาใช้ในฟาร์มร่วมกับวิธีการทำลายสัตว์ติดเชื้อเพื่อควบคุมการระบาด

การป้องกันการระบาด

- ป้องกันควบคุมไม่ให้นกอพยพและสัตว์พาหะอื่นๆ เข้ามาในฟาร์ม

- นำไก่อายุเดียวกันเข้าฟาร์มมาทีละชุด และควรแยกขังสัตว์ที่นำเข้ามาใหม่ไว้ก่อนจนพ้นระยะฟักตัวของโรค

- เข้มงวดมาตรการสุขาภิบาลเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเข้ามาในฟาร์ม โดยการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อตามยานพาหนะ วัสดุ อุปกรณ์ รวมทั้งผู้ที่เข้าออกฟาร์ม เช่น ไม่นำวัสดุรองพื้น ถาดไข่ และวัสดุอุปกรณ์จากพื้นที่ระบาดมาใช้ เป็นต้น

- ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังพิจารณาประโยชน์และความคุ้มจากการใช้วัคซีนในสัตว์ปีกที่มีราคาแพง เช่น สัตว์ปีกสวยงาม ไก่ชน ฯ

การป้องกันควบคุมโรคในคน

กระทรวงสาธารณสุขได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 ประกาศให้โรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งไข้หวัดใหญ่จากสัตว์ เป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ และกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก โดยปรับมาตรการมาจากการเตรียมรับโรคซาร์ส ซึ่งประกอบด้วย

1. การแจ้งเตือนสถานการณ์และพื้นที่ระบาด และการสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกชนิด และโดยกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขที่ออกเยี่ยมบ้านทุกหลังคาเรือนทั่วประเทศ

2. การเฝ้าระวังโรคเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มผู้สัมผัสสัตว์ปีกในพื้นที่เกิดโรคระบาด

3. การแยกรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้องโดยเร็วที่สุด รวมทั้งการป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมง และต้องมีการสอบสวนควบคุมโรคโดยเร็วที่สุด ดังนั้นหากพบผู้ป่วยสงสัยเป็นโรคนี้ ต้องรีบรายงานโรคไปยังกรมควบคุมโรคทันที กรุงเทพ ฯ แจ้งที่ สำนักระบาดวิทยา โทร. 0-2590-1882 ต่างจังหวัด แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง

4. การเผยแพร่คำแนะนำวิธีป้องกันการติดเชื้อสำหรับประชาชน

ควรดำเนินงานสุขศึกษาประชาสัมพันธ์เชิงรุกในพื้นที่ เช่น การใช้เทปหอกระจายข่าว และการปฏิบัติงานโดยกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขที่ออกเยี่ยมบ้านทุกหลังคาเรือนทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองและบุตรหลานได้ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานในการป้องกันควบคุมโรคอย่างเต็มที่ โดยเน้นเนื้อหา ดังนี้

- ประชาชนทั่วไปควรติดตามสถานการณ์การระบาดจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เกิดโรคระบาด หากจำเป็นต้องไปในพื้นที่เหล่านั้นต้องป้องกันตนเองอย่างถูกวิธี

- ประชาชนทุกคนควรช่วยกันเฝ้าระวังการระบาดในสัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่ เป็ดที่เลี้ยงอยู่ตามบ้าน และดูแลระมัดระวังเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ไปสัมผัสสัตว์ป่วยหรือสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนเชื้อ และหมั่นสอนสุขนิสัยที่ดี โดยเฉพาะการล้างมือบ่อยๆ ซึ่งปฏิบัติได้ง่าย และมีประโยชน์มากที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ

- กรณีพบสัตว์ปีกตายผิดปกติ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ โดยในกรุงเทพมหานคร แจ้งที่เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของสำนักงานเขตทุกเขต ต่างจังหวัดแจ้งที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัด เทศบาล อบต. หรือศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อขอรับคำแนะนำรวมทั้งวิธีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ปลอดภัย ต้องไม่จับต้องสัตว์ปีกด้วยมือเปล่า ควรใช้ถุงมือควรใช้ถุงมือยางหรือถุงมือพลาสติก ถ้าไม่มีอาจใช้ถุงพลาสติกหนาๆ แทน และกำจัดซากสัตว์ปีกตัวอื่นๆ ที่เหลือ โดยนำไปฝังให้ลึกอย่างน้อย 1 เมตร หรือนำไปเผา และต้องรีบล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทันทีที่ทำงานเสร็จ

- ผู้ที่มีไข้สูงและมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดการสัมผัสสัตว์





Create Date : 16 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2551 2:35:18 น.
Counter : 2916 Pageviews.

1 comments
  
กลุ่มเพื่อน 5.63 โรงเรียนอุตรดิตถ์ ขอแสดงความยินดีกับ นายจิรากร โกศัยเสวี ในโอกาสที่ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2553
โดย: กลุ่มเพื่อน 5.63 อ.ต. IP: 210.246.186.9 วันที่: 1 กันยายน 2553 เวลา:7:11:09 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sopheamai
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



พฤศจิกายน 2551

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
16 พฤศจิกายน 2551