~+O> ...Violino...
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
4 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 

VioL!NisT ::: Niccolo Paganini

พอดีจะนอนแล้วแต่ก็อดไม่ได้ รินเคยอ่านเจอที่ลุงขีดเขียนในบอร์ด รินก็เลยเอามาลงเสียเลย 
(สามหาวแล้วนะเนี่ย) ขอบคุณ เครดิต
ลุงขีด@30violin กะจะแวะมาอ่านของตัวเองเรื่องนี้อยู่เหมือนกันรู้สึกว่าจะยังไม่ได้อ่านเลย เหอะๆ ไม่ไหวแล้วง่วงมาก

Niccolo Paganini (1782-1840)
ปากานินี่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักไวโอลินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล เขาเกิดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 1782 ที่เมืองเจนัวประเทศอิตาลี บิดาของเขาประกอบอาชีพค้าขายทางเรือ ขึ้นชื่อว่าเป็นคนใจคอโหดร้ายทารุณเลี้ยงดูบุตรชายด้วยการดุด่าว่ากล่าว เมื่อตอนเด็กๆ ปาปานินี่ป่วยหนักด้วยโรคหัดจนใครๆ นึกว่าเขาตายแล้ว ร่างของเขาถูกห่อด้วยผ้าพันศพแต่ยังโชคดีที่ไม่ได้ฝังเขาไปเสียก่อน อาการป่วยในครั้งนี้ทำให้สุขภาพของเขาไม่สู้ดีนักตลอดช่วงชีวิตเลยทีเดียว

เขาเริ่มหัดเล่นไวโอลินตั้งแต่เด็กๆ พ่อของเขาใฝ่ฝันว่าอัจฉริยะภาพของลูกชายคนนี้จะนำมาซึ่งความร่ำรวย จึงบังคับบุตรชายให้เล่นดนตรีด้วยความทารุณและลงโทษเขาอย่างหนักทุกครั้งที่เล่นผิดและไม่อนุญาตให้ไปเที่ยวหรือเล่นกับเด็กอื่นๆ เลย ภายใต้การสอนของครูคนแรกๆ คือ Giovanni Servetto และ Giacomo Costa เขาสามารถพัฒนาทักษะการเล่นไปได้ดี ปากานินี่ทำให้ใครต่อใครทึ่งในความสามารถด้วยการแต่งเพลงไวโอลินโซนาต้าเมื่ออายุเพียง 8 ขวบเท่านั้น อีก 6 เดือนต่อมาเขาก็สามารถเล่นเพลงคอนแชร์โตของ Pleyel ในพิธีของทางโบสถ์ได้เป็นอย่างดีและยังคงแสดงต่อมาเรื่อยๆ พ่อของเขาเริ่มตระหนักถึงความฝันที่ใกล้ความจริงเข้ามาทุกขณะและเริ่มผ่อนปรนมากขึ้นไม่เข้มงวดเหมือนเมื่อก่อนเพราะนึกถึงผลประโยชน์ที่จะตามมาในไม่ช้า

ในปี 1795 ปากานินี่มีอายุได้ 13 ขวบ เขาได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ชมในการแสดงคอนเสิร์ทที่โรงละครเมืองเจนัว จึงได้รับฉายาว่า ”เด็กมหัศจรรย์” พ่อของเขาตัดสินใจส่งบุตรชายไปเรียนกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่เมืองปาร์มาแต่ครูของเขากล่าวว่าคงไม่มีอะไรที่จะสอนเขาได้อีกแล้ว เขาจึงเริ่มฝึกฝนด้วยตนเองอย่างหนักวันละ 15 ชั่วโมง หลังจากนั้นได้เริ่มเรียนการประพันธ์เพลงกับ Ferdinando Par ที่เมือง Leghorn ในปี 1797 ปากานินี่ตระเวนแสดงคอนเสิร์ทในเมืองมิลาน โบโลญญ่า ฟลอเรนซ์ ปิซ่า และ Leghorn เขาเริ่มการแสดงด้วยการโชว์เทคนิคการเล่นที่แปลกประหลาดให้คนดูได้ตื่นตะลึง ในช่วงนี้เองที่เขาตัดสินใจเด็ดขาดที่จะเป็นอิสระจากอิทธิพลของพ่อที่กดขี่เขามานาน ในเดือนพฤศจิกายนปี 1798 เขาได้เดินทางไปยังเมือง Lucca พร้อมกับพี่ชายเพื่อร่วมแสดงดนตรีในเทศกาล St. Martin Festival ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี จากเมือง Lucca เขาได้เดินทางไปยังเมืองใกล้เคียงและประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันมีรายได้เป็นจำนวนมากพอ ทำให้เขาตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะไม่กลับไปหาบิดาอีกเลย

แม้ว่ามีชีวิตที่เป็นอิสระแล้วก็ตามแต่เขาก็เป็นแค่เด็กอายุ 16 ปีเท่านั้น แต่กลับใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย หมดไปกับการพนันและผู้หญิง เงินที่เขาต้องใช้เวลาแสดงคอนเสิร์ทหลายอาทิตย์กว่าจะได้มาอันตรธานหายไปกับการพนันเพียงไม่กี่ครั้ง หลายครั้งทีเดียวที่เขาจำเป็นต้องจำนำไวโอลินเพื่อชดใช้หนี้สิน ครั้งหนึ่งเขามีโปรแกรมต้องแสดงคอนเสิร์ทแต่ว่าไวโอลินยังอยู่ในโรงจำนำ เพื่อนของเขาคือ Livron เสนอที่จะให้ยืมไวโอลินล้ำค่าของ Guarneri del Gesu การแสดงในครั้งนั้นสร้างความประทับใจให้กับเพื่อนของเขาเป็นอย่างมากและปฏิเสธที่จะรับคืนแต่ได้มอบไวโอลินตัวนั้นให้เป็นของขวัญแก่ปากานินี่ แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาเกือบต้องเสียมันไปเนื่องจากการพนันอีกครั้ง หลังจากวันนั้นเขาได้สาบานกับตัวเองว่าจะไม่กลับไปเล่นการพนันอีกเลยและเขาสามารถรักษาสัญญาไว้ได้



ในช่วงปี 1801-1805 เป็นช่วงที่เขาไม่ได้ปรากฎตัวต่อสาธารณชนเลยเชื่อกันว่าเขาได้พักฟื้นตัวอยู่ที่ปราสาทของหญิงผู้สูงศักดิ์ท่านหนึ่งแห่งแค้วนทัสคานี่ ในช่วงนี้เขาได้อุทิศเวลาให้กับการเล่นและแต่งเพลงสำหรับกีตาร์ แต่ในปี 1805 เขาได้กลับมาเล่นคอนเสิร์ทอีกครั้ง ได้รับความสำเร็จตลอดปีนั้นเลยทีเดียว ต่อมาเขาได้รับการว่าจ้างจากเจ้าหญิง Elisa Bacciocchi แห่งเมือง Lucca น้องสาวของจักพรรดินโปเลียนเพื่อเป็นนักเดี่ยวไวโอลินประจำราชสำนัก ณ ที่นี้เองที่เขาได้ทุ่มเทคิดค้นเทคนิคการเล่นไวโอลินแบบแปลก ๆ เช่นปรับสายไวโอลินสายใดสายหนึ่งให้สูงกว่าครึ่งเสียง เทคนิคดับเบิ้ลสต็อป การเล่นพิซซิคาโตด้วยมือซ้ายและการเล่นไวโอลินด้วยสายน้อยกว่า 4 สายด้วยเทคนิคฮาร์โมนิคและยังได้แต่งเพลงโซนาต้าโดยใช้สาย G เพียงสายเดียวอีกด้วย เขาทำงานอยู่ในราชสำนักจนกระทั่งถึงปี 1813 ช่วง 2-3 ปีต่อมาเขาได้ตระเวนแสดงคอนเสิร์ททั่วอิตาลี ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเขาคือนักไวโอลินเอกแห่งยุคโดยแท้จริง แต่เนื่องจากสุขภาพที่ย่ำแย่ทำให้เขาไม่สามารถเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ทที่ต่างประเทศได้อยู่หลายปีทีเดียว ในปี 1828 หลังจากที่เขาพักรักษาตัวที่ชิซิลีอยู่หลายปี สุขภาพของเขาก็แข็งแรงขึ้นหลังจากนั้นได้เดินทางไปเวียนนาซึ่งชื่อเสียงของเขาโด่งดังมากแล้ว เสื้อผ้า อาหาร สิ่งของต่าง ๆ ล้วนตั้งชื่อตามเขาทั้งสิ้น ภาพเขาในอริยาบทกำลังถือไม้เท้าและกล่องยานัตถุ์เป็นภาพที่ชาวเวียนนาเห็นกันจนชินตา ในปี 1831 ชื่อเสียงของเขาขจรขจายจากเวียนนาไปถึงปารีส Franz List นักเปียโนชื่อดังชาวฮังกาเรียนได้บรรยายถึงความชื่นชมของผู้คนที่มีต่อเขาเป็นอันมากในความมหัศจรรย์และเทคนิคการเล่นไวโอลินที่แสดงออกอย่างเข้าถึงอารมณ์ทั้งความโศกเศร้าและความไพเราะ บ่อยครั้งทีเดียวที่เขาสามารถเรียกน้ำตาจากผู้ชมได้เช่นเดียวกับการเล่นที่เปี่ยมด้วยพลังและความรวดเร็ว

ในช่วงนี้เองที่ชื่อของเขาได้กลายเป็นตำนานแห่งวงการดนตรี ไม่เพียงแต่เทคนิคการเล่นที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ชมเท่านั้นแต่ยังรวมถึงภาพลัษณ์ด้วยหน้าตาที่ซีดขาวคล้ายศพเดินได้รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับปีศาจในตัวเขา หนังสือพิมพ์ Castil-Blaze ในปี 1831 ได้บรรยายถึงบุคลิกของเขาไว้ว่า “สูงราว 5 ฟุต 5 นิ้ว รูปร่างที่ดูผอมเพรียว ใบหน้าเรียวยาวขาวซีดแต่คมชัด จมูกที่ยื่น ตาที่เหมือนเหยี่ยว ผมหยักศกยาวประบ่าและลำคอที่เล็กมาก ๆ เส้นจมลึกที่โหนกแก้มดูคล้ายกับตัว f ของไวโอลิน” รอยยิ้มที่คล้ายกับรอยยิ้มของซาตาน แววตาที่ยิ้มของเขาคล้ายกับถ่านไฟที่ลุกโชน ทำให้ผู้คนต่างพากันร่ำลือกันว่าเขาเป็นทายาทของปีศาจจริง ๆ ถ้าใครบังเอิญไปถูกตัวเขาเข้าจะต้องทำสัญญลักษณ์ไม้กางเขนทันทีเพราะความกลัวอาถรรพ์ร้าย มีอยู่ครั้งหนึ่ง มารดาปากานินี่ถูกบังคับให้เขียนจดหมายเพื่อรับรองว่าเขาเป็นลูกแท้ ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไรผู้คนก็ยังหวาดกลัวเขาอยู่ดี ที่ปารีสเขามีฉายาว่า Cagliostro ในไอร์แลนด์เขามีฉายาว่ายิวพเนจร (Wandering Jew) และในฮอลแลนด์ผู้คนกล่าวกันว่าเขาเดินทางมาถึงที่นั่นด้วยเรือเหาะในตำนานชาวดัทช์คือ Flying Dutchman

ปากานินี่ยังคงตระเวณแสดงคอนเสิร์ทของเขาโดยไม่สนใจสุขภาพของตัวเองนักซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงเหมือนเช่นเคย ในปี 1836 เขาได้ลงทุนเปิดบ่อนคาสิโนขึ้นชื่อว่า “Casino Paganini" ในกรุงปารีสเพื่อเป็นรีสอร์ทคาสิโนและเป็นที่แสดงคอนเสิร์ทของเขาเอง แต่กิจการกลับประสบความล้มเหลวขาดทุนมหาศาล ทำให้อาการป่วยของเขาทรุดหนักลงอีก หลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปยังเมืองมาร์กเซย์และนีซเพื่อพักผ่อนฟื้นฟูสภาพจิตใจ แต่โชคร้ายที่อาการป่วยของเขากลับทรุดหนักลง ไม่สามารถใช้เสียงได้อีกต่อไป เขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 1840

2-3 วันก่อนการตายของเขา พระบิชอปแห่งเมืองนีซได้ถูกเชิญมาเพื่อรับศีลแต่เขาปฏิเสธที่จะพบเพราะเชื่อว่าตนเองยังไม่ตาย ดังนั้นเมื่อเขาเสียชีวิตลงโดยไม่ได้รับศีลครั้งสุดท้าย ทางโบสถ์จึงปฏิเสธที่จะทำพิธีฝังศพให้เขา ศพของเขาได้เก็บไว้ที่โรงพยาบาลเมืองนีซเป็นเวลานาน หลังจากนั้นจึงได้ย้ายไปที่หมุ่บ้านแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส จนกระทั่ง 5 ปีต่อมาบุตรชายของเขาจึงได้ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อองค์พระสันตปาปาเพื่อขอให้มีพิธีฝังศพเขาที่โบสถ์แห่งหนึ่งใกล้ ๆ กับเมืองเจนัว

ตลอดชีวิตของเขาต้องทรมานกับโรคไข้ประสาทมาโดยตลอด ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตด้วยการเดินทาง ต่อมาอาการของโรคได้กำเริบหนักขึ้นจนเขาไม่สามารถเล่นดนตรีได้อยู่นาน และเพราะสุขภาพที่ย่ำแย่นี่เองทำให้เขาต้องควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด ในแต่ละวันเขารับประทานเพียงแค่ซุป 1 ถ้วย ช็อคโกแล็ตและน้ำชาดอกคาโมมายล์อย่างละ 1 แก้วเท่านั้น นอกนั้นเขาจะใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการนอนพักผ่อน


ประสาทหูของเขาไม่ปกตินักแม้ว่าจะเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ก็ตาม เขาสามารถได้ยินเสียงกระซิบเบาๆ ที่อยู่ไกลๆ ได้ ดังนั้นถ้ามีเสียงดังๆ จะทำให้เขาเจ็บปวดและทรมานมาก แม้ว่าเขาจะเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองและไร้ระเบียบวินัยโดยสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นการปรากฎตัวสาธารณชนหรือแม้แต่ที่บ้านของเขาเอง แต่เพื่อน ๆ ของเขากล่าวว่าปกติเขาเป็นคนที่เงียบขรึมไม่ค่อยพูดจา แต่เมื่อเป็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้วเขาจะกลายเป็นคนโลภทันที

Robert Schumann นักประพันธ์เพลงที่มีความชื่นชมในตัวปากานินี่มาก เขากล่าวว่าดนตรีของ Paganini นั้นเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์และคุณค่าที่ยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับ Hector Berlioz ที่กล่าวถึงผลงานของ Paganini ว่า ผลงานของเขาได้แสดงถึงจินตนาการและความสร้างสรรค์ที่แหวกแนวแต่เปี่ยมด้วยความสามารถ ด้วยแบบแผนทางดนตรีที่สง่างามและยิ่งใหญ่ การเรียบเรียงเสียงประสานที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุคนั้น บทประพันธ์ของเขาทำให้ดนตรีอิตาเลียนเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง เพลงของเขาเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์อย่างหาได้ยากในนักดนตรีอิตาเลี่ยนด้วยกัน ดนตรีของเขาชัดเจน เรียบง่าย แต่ไม่ธรรมดา เต็มไปด้วยความสดใสและเปี่ยมด้วยพลังที่ไม่โฉ่งฉ่างจนเกินไป

แน่นอนว่าผลงานที่ยอดเยี่ยมของเขานั้นก็คือบทเพลงเกี่ยวกับไวโอลินที่เขาได้สร้างขึ้นจากอัจฉริยะภาพที่ทำให้ที่นักไวโอลินอื่น ๆ ต้องศึกษาผลงานของเขา ผลงานที่ถือว่ามีชื่อเสียงที่สุดของเขาก็คือบทเพลง 24 Caprices สำหรับเดี่ยวไวโอลิน ถือเป็นเพลงแม่บทของนักไวโอลินทั้งหลาย เป็นบทเพลงที่ประกอบด้วยจินตนาการและความโรแมนติคที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่เป็นเลิศทั้งทางด้านไวโอลินและการประพันธ์เพลง เขายังได้ประพันธ์บทเพลงที่ท้าทายความสามารถนักดนตรีรุ่นหลังอีกเช่น 12 Sonatas for violin and guitar ผลงาน Violin concerto อีก 6 บท และ 6 Quartet for violin, viola, cello และ guitar

ทั้ง List และ Schumann ต่างก็ได้เรียบเรียง 24 Caprices ขึ้นใหม่สำหรับบรรเลงด้วยเปียโน ส่วน Johannes Brahms นั้นได้แต่ง Variations บทต่างๆ สำหรับเปียโนไว้ด้วยเช่นเดียวกับ Sergei Rachmaninov




 


ปีศาจหรือนักไวโอลิน ?
สาธารณชนเริ่มรู้จักปากานินี่เริ่มในฉายาว่า "Hexensohn” หรือทายาทปีศาจ ชื่อเสียงด้านผีสางและความลึกลับของเขาได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว พรสวรรค์และความสามารถของเขาเชื่อกันว่าได้รับมาจากซาตาน

ปากานินี่เริ่มออกแสดงดนตรีทั่วยุโรปเมื่อตอนที่เขาอายุได้ 40 เศษ ๆ ในช่วงเวลานั้นยังไม่เคยมีใครได้ฟังดนตรีหรือได้เห็นใครที่เหมือนกับเขามาก่อน ปากานินี่จึงอาศัยข่าวลือเกี่ยวกับตัวเขาเรื่องพลังลึกลับให้เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องปกติสำหรับเขาทีเดียวสำหรับเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ทด้วยรถเทียมม้าและม้าสีดำ ปกติตัวเขาเองก็นิยมใส่ชุดดำอยู่แล้ว เขามักจะปรากฎตัวบนเวทีช้ากว่าปกติเล็กน้อยคล้าย ๆ กับการปรากฎตัวของวิญญาณหลังจากนั้นจึงโค้งให้กับผู้ชม การปรากฎตัวบนเวทีแบบพิสดารของเขายิ่งทำให้ข่าวลือเรื่องอำนาจมืดของเขาน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น เรื่องที่กล่าวถึงกันมากเรื่องหนึ่งคือการเล่นไวโอลินด้วยการตัดสาย 3 สายบนทิ้งทีละสายเหลือเพียงสาย G เพียงสายเดียว แม้ว่าในภายหลังปากานินี่พยายามที่จะลบล้างข่าวลือเรื่องลึกลับต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวเขา แต่ก็ดูเหมือนว่าจะสายเกินไปเสียแล้ว ชื่อเสียงของเขาจึงเป็นที่รู้จักในฐานะ "Technical wizard”

เทคนิคการเล่นของเขานั้นโดดเด่นและผิดธรรมดามาก แต่สาเหตุให้ผู้คนหลั่งไหลมาชมการแสดงของเขาคงเป็นเพราะเรื่องราวลึกลับเกี่ยวกับปีศาจนี่เอง มีผู้กล่าวไว้ว่าสิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้สนใจมีมากกว่าเทคนิคการเล่นดนตรีที่มหัศจรรย์ แต่มันคือพลังของปีศาจที่แฝงอยู่ในบทเพลงที่เขาบรรเลงออกมา ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงเทคนิคอันเยี่ยมยอดของเขาที่พาให้ผู้คนพากันเข้าใจผิดว่าเป็นพลังเหนือธรรมชาตินั่นคือการ 'ดวล' ระหว่าง Lafont นักไวโอลินชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นกับปากานินี่ ทั้งที่จริงแล้ว Lafont ต้องการเพียงแค่ร่วมแสดงในคอนเสิร์ทของเขาเท่านั้น แต่สาธารณชนต้องการชมการประลองกันมากกว่าซึ่งปากานินี่เป็นผู้ชนะอย่างไม่เป็นทางการ กล่าวกันว่าปากานินี่ชนะโดยการโชว์การเล่นอิมโพรไวส์คู่แปด ขั้นคู่สามและขั้นคู่หก ตัวเขาเองก็มีความกระตือรือร้นที่จะโชว์เทคนิคแปลก ๆ อยู่เสมอ ในคอนเสิร์ทของเขาครั้งหนึ่งที่กรุงปารีส ปี 1832 ในขณะที่เขากำลังบรรเลงบทเพลง Sonata a movement peretual ด้วยเทคนิคสุดมหัศจรรย์ในอัตรา 12 ตัวโน้ตใน 1 วินาที สำหรับผู้ชมแล้วมันเป็นการยากที่จะเชื่อว่าจะมีใครทำได้เช่นนั้น ในเวลาเท่า ๆ กันที่ปากานินี่เล่นโน้ต 12 ตัวแต่นักดนตรีอื่น ๆ แค่อ่านก็แทบจะไม่ทันแล้ว ความสามารถของเขานั้นพัฒนาถึงขั้นไร้ขีดจำกัดทางด้านเทคนิคใด ๆ ทั้งสิ้น

ปากานินี่นั้นถือเป็นผู้คิดค้นเทคนิคการเล่นไวโอลินสมัยใหม่ ความแปลกพิสดารที่ทำให้ชื่อเสียงของเขาเริ่มเป็นที่กล่าวถึงคือ นักไวโอลินในยุคก่อนหน้าปากานินี่นั้นมักจะมีดนตรีเล่นประกอบการแสดง แต่ปากานินี่นั้นตรงกันข้าม เขาจะเดินออกมาหน้าเวทีด้วยความมั่นใจพร้อมกับสบัดเส้นผมที่เรียวยาวดำสลวยไปข้างหลัง บรรจงวางไวโอลินไว้ใต้คางและเริ่มบรรเลงโดยไม่ต้องมีดนตรีอื่นใดประกอบเลย สร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก พวกเขาต่างพากันประหลาดใจกับผู้ชายและไวโอลินเพียงตัวเดียวที่สามารถสร้างความประทับใจได้ตลอดการแสดงคอนเสิร์ท อีกเรื่องราวที่ยังเป็นที่กล่าวขวัญก็คือความสามารถในการเล่นไวโอลินที่เหนือธรรมดาของเขา ในต้นปี 1829 นักไวโอลินชาวเยอรมัน Guhr Schwarz ได้สรุปทฤษฎีการเล่นไวโอลินของปากานินี่ไว้ 6 ข้อดังนี้

- Scordatura การตั้งสายไวโอลินให้ผิดไปจากปกติ ซึ่งทำให้เขาสามารถเล่นคีย์อื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนโพสิชั่นเลย (สรีระร่างกายของปากานินี่นั้นแตกต่างจากคนปกติคือมีช่วงขาและช่วงแขนที่ยาวกว่าปกติ เฉพาะมือนั้นยาวเกือบถึงหัวเข่าเลยทีเดียว เขามีนิ้วมือที่เรียวยาวมาก ว่ากันว่าเขาสามารถวางตำแหน่งนิ้วโป้งของมือซ้ายที่โพสิชั่น 1 แต่สามารถเลื่อนนิ้วชี้ขึ้นมาเล่นในโพสิชั่น 3 โดยที่นิ้วโป้งซ้ายยังอยู่ที่โพสิชั่นเดิมถ้าจะมีใครเล่นไวโอลินด้วยเทคนิคเดียวกับปากานินี่อาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้ไวโอลินที่มีขนาดเล็กกว่าปกติหรือมิฉะนั้นก็ต้องเรียบเรียงใหม่เพื่อให้เล่นได้ง่ายขึ้น (นักไวโอลินเอกอย่าง Jascha Heifetz ก็ไม่นิยมเล่นผลงานของปากานินี่เท่าใดนัก)
- เทคนิคการใช้คันชักที่แปลกพิสดารเช่น การใช้คันชักกระแทกสาย (bouncing) เป็นต้น
- เทคนิคการ Pizzicato ด้วยมือซ้าย ทำให้นักไวลินสามารถเล่นเทคนิคนี้ได้โดยไม่ต้องใช้มือขวาที่ถือคันชักเลย
- การใช้เทคนิคฮาร์โมนิคได้อย่างไร้ขอบเขต
- การใช้สาย G เพียงสายเดียวบรรเลงทั้งบทเพลง
- เทคนิคการวางนิ้วที่แปลกประหลาดกว่านักไวโอลินทั่วไป

เทคนิคดังกล่าวข้างบนถือเป็นสิ่งใหม่ ให้สุ้มเสียงไวโอลินที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุคนั้น ปากานินี่ต้องการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ชมที่เข้ามาชมการแสดงของเขา แม้ว่าทุกคนจะคิดว่าเขาถูกซาตานเข้าสิงก็ตาม ผมที่ดำสลวยตัดกับใบหน้าที่ขาวซีดดูเหมือนมีรังสีประหลาดแผ่อยู่รอบตัว ในปี 1828 ฟันหน้าเขาร่วงยิ่งทำให้ใบหน้าของเขาตอบลึกลงไปอีกทำให้ภาพลักษณ์ของปีศาจดูเด่นชัดมากขึ้น ในบางคอนเสิร์ทของเขาสามารถตรึงผู้ชมให้อยู่กับที่โดยไม่มีใครกล้าลุกไปไหนเลย Boerne กวีชาวเยอรมันได้เขียนแสดงความประทับใจในคอนเสิร์ทของเขาไว้ว่าราวกับทั้งสวรรค์และนรกที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนเลยทีเดียว ความสามารถของเขาเป็นที่กล่าวขวัญถึงเสมอๆ เช่นเดียวกับหน้าตาและเทคนิคที่มหัศจรรย์ แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตในวันที่ 27 พฤษภาคม 1840 แล้วก็ตาม นับตั้งแต่เขาปฏิเสธพิธีรับศีลครั้งสุดท้ายทำให้เขาไม่สามารถประกอบพิธีฝังศพตามประเพณีได้ ศพของเขาถูกเก็บไว้ในห้องใต้ดินนานถึง 5 ปีจนกระทั่งครอบครัวเขาได้ยื่นคำร้องต่อทางโบสถ์เพื่อขอประกอบพิธีทางศาสนาให้แก่เขา ผู้คนต่างโจษจันถึงเหตุผลในการปฏิเสธของทางศาสนจักร บ้างก็เชื่อว่าเขายังไม่ตายและมีคนเชื่อว่าเขาเป็นพวกนอกรีตและการที่เขาปฏิเสธการรับศีลครั้งสุดท้ายยิ่งทำให้ข่าวลือเรื่องที่มาของเขากลับมาเป็นร่ำลือกันยิ่งขึ้น

ปากานินี่นั้นไม่ใช่ปีศาจดังที่หลาย ๆ คนเชื่อกัน ความสำเร็จของเขามาจากการฝึกซ้อมอย่างหนัก บวกกับพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์ดนตรีที่งดงามและเพื่อสร้างสรรค์ความบันเทิงให้กับผู้ชม ในช่วงที่เขารุ่งเรืองถึงขีดสุดนั้นตั๋วคอนเสิร์ทของเขาขายหมดเกลี้ยงทุกรอบ แม้ว่าในบั้นปลายอาชีพของเขาจะไม่รุ่งโรจน์นักก็ตาม ก่อนการเสียชีวิตเพียง 2-3 ปีเขาก็ไม่ได้สร้างภาพลักษณ์เหมือนเมื่อก่อน แต่ไม่ว่าจะมีข่าวลืออย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าปากานินี่ได้สร้างสรรค์เอกลักษณ์ทางดนตรีที่ยังคงอยู่จวบจนทุกวันนี้




ไวโอลินของปากานินี่
หลายปีต่อมาปากานินี่ได้เซ็นสัญญาเป็นครั้งแรกกับ Neapolitan ผู้ผลิตสายและคันชักไวโอลิน ต่อมาเขาได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบคันชักเพื่อผลิตขาย โดยความช่วยเหลือของเพื่อนและผู้จัดการชาวเจนัว Luigi Guglielmo Germi แต่คันชักที่เขาใช้ประจำไม่เคยเปลี่ยนเลยสร้างโดย Tartini ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าคันชักในปัจจุบัน

สำหรับปากานินี่แล้วไวโอลิน Guarneri ถือเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและของชีวิตเขาเลยทีเดียว ในช่วงที่เขาป่วยหนักจนไม่สามารถเล่นไวโอลินได้เขาเคยเขียนบันทึกไว้ว่าไวโอลินคงโกรธเขามาก "The violin was very angry with me"
ในปี 1828 ที่เมืองเวียนนานั้นเองปากานินี่ได้ว่าจ้าง C.Nickolaus Sawicki ช่างทำไวโอลินให้เปลี่ยนฟิงเกอร์บอร์ดไวโอลินคู่ใจเพราะเชื่อว่าจะทำให้เสียงดีขึ้นและรองรับต่อเทคนิคการเล่นที่โลดโผนของเขาได้ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี

ในช่วงต้นดือนพฤศจิกายน 1833 ที่กรุงปารีส ปากานินี่ได้มอบให้ Vuillaume เป็นผู้ซ่อมไวโอลิน Guarneri ของเขา การซ่อมแซมในครั้งที่ 2 นี้ประสบผลสำเร็จเช่นกัน เมื่อการซ่อมเสร็จสิ้นลงปากานินี่ต้องการนำไวโอลินของเขาออกแสดงคอนเสิร์ทเพื่อทดสอบ ในโอกาสนี้เอง Vuillaume ได้สร้างไวโอลินเลียนแบบจาก Guarneri ต้นแบบทุกประการ ปากานินี่ได้ซื้อไปในราคา 500 ฟรังก์ หลังจากนั้นเขาได้มอบให้กับ Camillo Sivori ลูกศิษย์ของเขา ซึ่งต่อมาได้บริจาคคืนให้กับทางสภาเมืองเจนัว ไวโอลินทั้ง 2 ตัวจึงได้ถูกนำมาจัดแสดงไว้คู่กัน

ในปี 1834 ไวโอลิน Guaneri มีอายุ 92 และปากานินี่ 52 ปี แม้ว่าเขาตัดสินใจที่จะเกษียณแล้วก็ตามแต่ก็ยังตระเวณแสดงคอนเสิร์ทอยู่ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยมแม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จมากนักก็ตาม

หลังจากนั้นไม่กี่ปีเสียงของ 'The Cannone' เริ่มเพี้ยนไปเช่นเดียวกับเสียงของเขา ในที่สุดเขาก็ไม่สามารถใช้เสียงได้อีกเนื่องจากอาการหลอดลมอักเสบที่ทรมานเขามานาน เมื่อเขาถึงแก่กรรมลงในปี 1840 ที่เมืองนีซประเทศฝรั่งเศส ไวโอลิน Guarneri และบรรดาเครื่องสายฝีมือช่างที่มีชื่อเสียงรวมทั้งไวโอลินของ Sradivari ได้ตกเป็นของ Achille บุตรชายของเขา แต่ในพินัยกรรมที่เขียนขึ้นในปี 1837 ระบุไว้ว่าไวโอลิน 'The Cannone' ของ Guarneri นั้นมอบให้กับสภาเมืองเจนัวเพื่อเก็บรักษาไว้ แต่ด้วยปัจจัยต่าง ๆ มากมายทั้งจากทางศาสนจักร ข้อกฎหมายต่างๆ และจากทางทางราชการ พิธีการรับมอบไวโอลินตัวนี้จึงมีขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1851 ต่อมาในปี 1937 ไวโอลินตัวนี้ได้รับการบูรณะอีกครั้งหนึ่งโดยช่างฝีมือชาวเจนัว Cesare Candi ปัจจุบันไวโอลินของ Guarneri "The Cannone” เก็บรักษาไว้ในตู้โชว์คู่กับตัวที่ทำโดย Vuillaume ที่ Palazzo Tursi (ศาลากลางเมืองเจนัว) จวบจนปัจจุบัน

'The Cannone' ฝีมือของ Giuseppe Guarnerius 'del Gesu'




 sheet 24 caprinces ของ ปากานีนี่
//www.4shared.com/file/13938975/3959c246/paganini_24_caprices.html



ถูกเพลงเปล่าก่าม่ายรุ๊
นี่คือชื่อเพลง แต่คนละเพลงกันน่ะ La campanella
by Niccolo' Paganini
ข้างล่างนี้ sheet มัน
//www.4shared.com/file/16648178/58b5ae21/Paganini_-_Violin_Concerto_n2_in_B_minor_Op7_La_Campanella__Violin_solo_and_piano_.html






Free TextEditor




 

Create Date : 04 ตุลาคม 2551
1 comments
Last Update : 4 ตุลาคม 2551 18:07:51 น.
Counter : 429 Pageviews.

 

ประวัติยาวยืด

แต่อ่านได้เพลินดีนะคับ

 

โดย: Ozakii IP: 124.122.157.63 17 ตุลาคม 2551 12:01:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


karinne
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




โชคชะตา...ทำให้เราสองคนมาพบกัน ท่ามกลางผู้คนนับล้าน และ โชคชะตา...ก็ทำให้ราสองคนจากกัน โดยไม่ทันรู้ตัว < style> table {background-color: transparent;border-style: none;border-spacing: none;}td {border: none;border-color: none;background: none;}< /style>
Friends' blogs
[Add karinne's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.