
พระบรมศพ และพระศพที่เคยประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เป็นที่ทราบกันดีว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นสถานที่สำหรับประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระศพพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระเกียรติยศเป็นพิเศษ ซึ่งเท่าที่ปรากฏหลักฐานรอยใบลานรวบรวมมาได้ ดังนี้
พระองค์ที่ ๑ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒
พระองค์ที่ ๒ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗
พระองค์ที่ ๓ พระบรมศพสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙
พระองค์ที่ ๔ พระบรมศพสมเด็จกรมพระศรีสุลาไลย พระบรมราชนนีพันปีหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐
พระองค์ที่ ๕ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔
พระองค์ที่ ๖ พระศพสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมอรรคราชเทวี ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕
พระองค์ที่ ๗ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑
พระองค์ที่ ๘ พระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘
พระองค์ที่ ๙ พระศพพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ (ในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร)
พระองค์ที่ ๑๐ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๔
พระองค์ที่ ๑๑ พระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๒ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๓
พระองค์ที่ ๑๒ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๙
พระองค์ที่ ๑๓ พระศพสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐
พระองค์ที่ ๑๔ พระศพสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑
พระองค์ที่ ๑๕ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระประเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ๒๔๙๓
พระองค์ที่ ๑๖ พระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ ๒๔๙๙
พระองค์ที่ ๑๗ พระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ ๒๕๒๘
พระองค์ที่ ๑๘ พระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๙
พระองค์ที่ ๑๙ พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
พระองค์ที่ ๒๐ พระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๕๔ ปัจจุบัน

หมายเหตุ
๑. กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จสวรรคตในรัชกาลที่ ๓ ขณะนั้นทรงอยู่ในฐานะ สมเด็จพระพันวสา และประทับอยู่กับพระราชโอรส ณ พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี เมื่อเสด็จสวรรคตจึงเชิญพระบรมศพประดิษฐานไว้ยังท้องพระโรง เมื่อถึงคราวถวายพระเพลิงจึงเชิญพระบรมศพมายังพระเมรุมาศท้องสนามหลวง พระบรมศพของพระองค์จึงไม่ได้ประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
๒. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่พระบรมศพไม่ได้ประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องจากเสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษ
๓. เจ้านายฝ่ายในที่ประดิษฐานพระบรมศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จะเห็นว่าในระยะแรกล้วนแต่เป็นพระบรมวงศ์ที่ทรงศักดิ์เป็น สมเด็จพระพันปีหลวง หรือ สมเด็จพระพันวสา ทั้งสิ้น จะมีพระอัครมเหสีพระองค์แรก ก็คือ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมอรรคราชเทวี ในรัชกาลที่ ๔ ทั้งนี้เนื่องจากในเวลานั้น หอธรรมสังเวช ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งพระศพของเจ้านายฝ่ายในยังซ่อมไม่แล้วเสร็จ จึงได้เชิญพระศพขึ้นประดิษฐานยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนางเธอรำเพยภมราภิรมย์ สิ้นพระชนม์ ก็โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพที่หอธรรมสังเวชเช่นเดิม ต่อมาในรัชกาลปัจจุบันพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๗ จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทอีกวาระหนึ่ง
๔. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นเจ้านายฝ่ายหน้าเพียงพระองค์เดียวที่เคยได้ประดิษฐานพระบรมศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในฐานะที่ทรงรับรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ และดำรงพระเกียรติยศเสมอด้วยสมเด็จพระมหาอุปราชฝ่ายหน้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
๕. พระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ก็เป็นเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่พระราชทานพระเกียรติยศเป็นพิเศษ ด้วยทรงอุปถัมภ์คำชูพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเคารพเสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว จึงโปรดให้เจ้าพนักงานจัดพระเศวตรฉัตร ๗ ชั้น กางกั้นเหนือพระโกศ และในหมายของทางราชการนั้นโปรดให้ใช้คำว่า สวรรคต เหมือนอย่างงานพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชชนนี อย่างไรก็ดี ในหมายของทางราชการก็ยังคงใช้คำว่า พระศพ มิได้ใช้คำว่า พระบรมศพ
๖. นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นต้นมา พระบรมวงศ์ฝ่ายในบางพระองค์ที่ดำรงพระอิสริยยศสูง และเป็นที่เคารพแห่งพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นกรณีพิเศษ เช่น สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ และในรัชกาลที่ ๘ สมเด็จเจ้าฟ้าฝ่ายในพระองค์แรก คือ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรนธร
ข้อมูลทั้งหมดมิได้เป็นข้อยุติ หากท่านใดต้องการแลกเปลี่ยนทรรศนะกันเชิญเลยนะครับ
Free TextEditor